ฤๅษีนารทมุนีกล่าวเตือนพญากังสะ ภาพเขียนราว ค.ศ.1800-1820 ขนาด 12.5*18.5 นิ้ว, ที่มา: art.kunstmatrix.com, วันที่เข้าถึง 25 กันยายน 2565.
หริวงศ์: บทนำเรื่องราวของพระกฤษณะ 101, 02, 03, 04, 05.
First revision: Sep.25, 2022
Last change: Jun.15 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
สามารถดูเพิ่มเติมได้จาก นารายณ์วตาร ตอนที่ 8 กฤษณาวตาร ของเว็บไซต์นี้.
หริวงศ์ (हरिवंश - Harivamsha or Harivamśa) แปลว่า "พงศาวดารแห่งพระหริ" นับเป็นงานเขียนชิ้นสำคัญในวรรณกรรมภาษาสันสกฤต มีความยาว 16,374 โศลก เอกสารนี้เป็นที่รู้จักอีกชื่อหนึ่งว่า หริวงศปุราณะ ซึ่งเชื่อกันว่าหริวงศ์เป็น ขิละ (Khila Kāṇda - ภาคผนวก หรือส่วนเสริม) ของมหาภารตะ ซึ่งบทนี้เป็นบทที่ กฤษณะ ไทฺวปายนะ วยาส เขียนไว้เช่นกัน ซึ่งหริวงศ์นี้ประกอบด้วยบรรพย่อยทั้งหมด 3 บรรพ รวมโองการทั้งสิ้น 12,000 คำ ซึ่งถึงแม้จะเป็นส่วนเสริม แต่ก็ยังรวมอยู่ในมหากาพย์มหาภารตะ.
ด้วยแนวคิดการศรัทธาของศิษยานุศิษย์ สาวกของพระกฤษณะที่มีมากนับหลายล้านคนทั่วโลกนี้นั้น ขอให้ผู้ศึกษาพึงพิจารณาด้วยความสงบ ใจเปิดรับเปิดกว้าง รับรู้ ทำความเข้าใจในแนวคิดปรัชญาตะวันออก (หริวงศ์) ชุดนี้ พิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อประโยชน์ในการนำมาปรับใช้กับชีวิต เสริมสร้างความเข้าถึงแก่นแท้ของสรรพสิ่งและทางจิตวิญญาณของตัวท่านเองด้วยเทอญ.
เนื้อเรื่อง และบรรพย่อย
หริวงศบรรพ มีเนื้อหา 55 ตอน กล่าวถึงการสร้างจักรวาลและประวัติศาสตร์ในตำนานของกษัตริย์สุริยวงศ์และจันทรวงศ์ที่นำไปสู่การกำเนิดของกฤษณะ ลำดับวงศ์ตระกูลของพระเจ้าชเนมชยะ การกำเนิดต้นตระกูลของพระกฤษณะ ต้นราชวงศ์กุรุ ไปจนถึงการอวตารของพระผู้เป็นเจ้า.
วิษณุบรรพ มีเนื้อหา 115 ตอน กล่าวถึงประวัติของพระกฤษณะถึงเหตุการณ์ก่อนมหาภารตะ การอวตารของพระนารายณ์ลงมาเป็นพระกฤษณะ เพื่อมาปราบพญากังสะผู้ชั่วร้าย ไปจนถึงการปราบท้าวชราสันธ์ และการวิวาห์ระหว่างเจ้าหญิงอุษา (Ūṣā) กับอนิรุทธ์ (Aniruddha).
ภาวิสยบรรพ มีเนื้อหา 135 ตอน กล่าวถึงลำดับวงศ์ตระกูลของพระเจ้าชนเมชยะ (King Janamejaya) และการทำพิธีอัศวเมธ ไปจนถึงการบรรยายความดีงามทางศาสนาที่ผู้อ่านจะได้รับจากการฟังปุราณะนี้ มีการกล่าวถึง ภาวิสยุค (Bhavishya Parva) รวมถึงทฤษฎีการสร้างทางเลือกทั้งสองทาง เพลงสวดของพระศิวะและพระวิษณุ และให้คำอธิบายเกี่ยวกับกลียุค (Kali yuga).
สามารถเรียงลำดับเรื่องราวของหริวงศ์เป็นตอน ๆ ได้ดังนี้:
1. การกำเนิดแนวคิดเกี่ยวกับพระกฤษณะ.
2. คำอธิษฐานของบรรดาเทวดาที่มีต่อพระกฤษณะขณะอยู่ในครรภ์มารดา.
3. พระกฤษณะถือกำเนิด.
4. การวางอำนาจข่มเหงของพญากังสะ.
5. การประชุมกันระหว่างท้าวนันทะกับท้าววสุเทวะ.
6. การสังหารรากษสีปูตนา (Pūtanā Rakshasi).
7. การสังหารอสูรตรีนะวัตร (Tṛṇāvarta Demon).
8. ภาพนิมิตแสดงรูปแบบสากลจักรวาล.
9. มารดายโศดา (Yaśodā) มัดตรึงพระกฤษณะไว้.
10. การปลดปล่อยยักษ์นลคูบระ (Nalakūvara yakṣa) และ มณิครีพ (Maṇigrīva yakṣa).
11. การสังหารวัตสาสูร (Vatsāsura Demon) และบากาสูร (Bakāsura Demon).
12. การสังหารอุกราสูร (Ugrāsura or Aghāsura).
13. พระพรหมขโมยทารกและลูกวัว.
14. คำอธิษฐานที่พระพรหมประทานให้แก่พระกฤษณะ.
พระกฤษณะสังหารเดนุกาสูร, ที่มา: theharekrishnamovement.org, วันที่เข้าถึง: 25 ธันวาคม 2565.
15. การสังหารเดนุกาสูร (Dhenukāsura หรือ Dhenuka).
16. การปราบนาคกาลิยะ (Subduing Kāliya).
17. การดับไฟป่า.
18. การสังหารปรลัมบาสูร (the Demon Pralambāsura).
19. การกลืนกินไฟป่า.
20. ฤดูใบไม้ร่วงพรรณนา.
21. ใช้ขลุ่ยดึงดูงเหล่านางโคปี.
22. การขโมยเสื้อผ้าเหล่านางโคปีสาวโสด.
23. การส่งภรรยาของพราหมณ์ผู้กระทำการบูชายัญ.
24. การบูชาเขาโควรรธนะ.
25. ฝนตกหนักที่วฤนทาวัน (Vṛndāvana).
26. มหัศจรรย์พระกฤษณะ.
27. บทสวดของพระอินทร์ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์.
28. การปลดปล่อยนันทะ มหาราช จากเงื้อมมือของพระพิรุณ.
พระกฤษณะและนางราธาเต้นรำ "ราสลีลา", ภาพเขียนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 รัฐราชสถาน อินเดีย, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 26 ธันวาคม 2565.
29. บทนำ: ราสลีลา (หรือสุนทรียลีลา - Aesthetics dance).
30. พระกฤษณะซ่อนตัวจากเหล่านางโคปี.
31. เหล่านางโคปีร้องลำนำเพลง.
32. พระกฤษณะกลับไปยังเหล่านางโคปี.
33. คำอธิบายเกี่ยวกับราสลีลา.
34. วิทยาธร (Vidyādhara) ได้รับการปลดปล่อย และการสังหารอสูรศังคากูฑะ (Śaṅkhacūḍa).
35. ความรู้สึกพลัดพรากของเหล่านางโกปี.
36. พญากังสะส่ง อกรูรสูร (Akrūra) มาสังหารพระกฤษณะ.
37. การสังหารอัศวสูร (ปีศาจม้า) "เกศี" (Keśī) และวโยมาสูร (อสูรแห่งท้องฟ้า) (Vyomāsura).
38. การมาถึงวฤนทาวัน (Vṛndāvana) ของอกรูรสูร.
39. การเดินทางกลับของอกรูรสูร และนิมิตของอกรูรสูรเกี่ยวกับวิษณุโลกที่อยู่ภายในแม่น้ำยมุนา.
40. คำอธิษฐานของอกรูรสูร.
41. พระกฤษณะเสด็จเข้าเมืองมถุรา.
42. การหักคันธนูในสนามบูชายัญ.
พระกฤษณะสังหารพญาคชสารกุวัลยาปีฑ, ที่มา: harekrsna.com, วันที่เข้าถึง: 28 ธันวาคม 2565.
43. การสังหารพญาคชสารกุวัลยาปีฑ (कुवलयापीड - the Elephant Kuvalayāpīḍa).
44. การสังหารพญากังสะ.
45. พระกฤษณะนำบุตรของพระอาจารย์กลับคืนมา.
46. อุทธพ หรือ อุทธว (उद्धव - Uddhava) มาเยี่ยมพระกฤษณะที่วฤนทาวัน.
47. พระกฤษณะส่งสารไปยังเหล่านางโคปี.
48. พระกฤษณะสร้างความพึงพอใจแก่เหล่าสาวก.
49. ท้าวธฤตราษฎร์ทรงมีแรงจูงใจในแง่ลบ.
50. พระกฤษณะทรงสร้างป้อมทวารกา.
51. การปลดปล่อยมุคุกุนท (मुचुकुन्द - Mucukunda).
52. พระกฤษณะ ผู้ออกจากสมรภูมิรบแล้ว (รณโกระ - the Raṇacora).
53. พระกฤษณะลักพาตัวนางรุกมิณี.
54. พระกฤษณะเอาชนะเจ้าชายทั้งหมดและนำนางรุกมิณีกลับที่พำนักของพระองค์, กรุงทวารกา.
55. พระกฤษณะและนางรุกมิณีทรงให้กำเนิดพระโอรสประทุมนะ (प्रद्युम्न - Pradhyumna - the eminently mighty one - ผู้ยิ่งใหญ่เกรียงไกร).
56. เรื่องราวของรัตมณี (ทับทิม) ชยัมตักกะ (श्यामन्तक - Syamantaka Jewel).
57. สัทราชิต (Satrājit) ถูกลอบสังหาร และการสังหารศตธันพา (Śatadhanvā).
58. พระกฤษณะทรงอภิเษกสมรสกับห้าราชินี.
59. การปลดปล่อยเภามาสูร (Bhaumāsura).
60. การสนทนาระหว่างพระกฤษณะกับนางรุกมิณี.
61. ลำดับตระกูลวงศ์วานของพระกฤษณะ.
62. การพบกันของเจ้าหญิงอุษา (Ūṣā) และพระอนิรุทธ์ (Aniruddha).
พระกฤษณะรบกับพาณาสูร, จิตรกร: ไม่ทราบนาม และปีที่วาด, ศิลปะในสมัยราชวงศ์โมกุล อินเดีย, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง: 29 ธันวาคม 2565.
63. พระกฤษณะทรงรบกับพาณาสูร (बाणासुर - Bāṇāsura).
ภาพสลักหินทราย "พาณาสูร" ระเบียงด้านนอกทิศเหนือปีกตะวันออก นครวัด เสียมเรียบ กัมพูชา, ถ่ายไว้เมื่อ 20 ตุลาคม 2561.
64. เรื่องราวของกษัตริย์นฤกะ (Nṛga) หรือ นรริกะ (Nrriga).
65. ท้าวพลรามเยี่ยมวฤนทาวัน.
66. การปลดปล่อยเพาณฑรกะ (पौण्ड्रक - Pauṇḍraka) และกษัตริย์แห่งแคว้นกาสี (Kāśī).
67. การปลดปล่อยเหล่าพวกของอสูรทวิวิด (Dvivida - เป็นอสูรที่ดูคล้ายวานรซึ่งมีฤทธิ์มาก).
68. การอภิเษกของศามพะ (Sāmba - โอรสองค์หนึ่งของพระกฤษณะที่เกิดจากนางชามพวดี - Jambavati).
69. ฤๅษีนารทมุนีเข้าเยี่ยมชมวังต่าง ๆ ของพระกฤษณะ.
70. กิจกรรมในแต่ละวันของพระกฤษณะ.
71. พระกฤษณะในนครอินทรปรัสถ์.
72. การปลดปล่อยท้าวชราสันธ์ (King Jarāsandha - กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ).
73. พระกฤษณะเสด็จกลับยังเมืองหัสตินาปุระ.
74. การปลดปล่อยศิศุปาละ (Śiśupāla).
75. เหตุใดทุรโยธน์จึงรู้สึกถูกสบประมาทในตอนท้ายของการสังเวยราชาสุยะ (the Rājāsuya Sacrifice).
76. สงครามระหว่างศาลวะกับราชนิกุลแห่งราชวงศ์ยาดู (Yadu Dynasty).
77. การปลดปล่อยศาลวะ.
78. การสังหารทันตวกระ วิธูรธา และโรมหรศณะ.
79. การปลดปล่อยให้พลวละ และท้าวพลราม ออกจาริกแสวงบุญไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธื์ต่าง ๆ .
80. การสนทนากันระหว่างพระกฤษณะกับสุดามาพราหมณ์ (सुदामा - Sudāmā Brāhmaṇa). - พราหมณ์ท่านนี้เคยเป็นเพื่อนเล่นกับพระกฤษณะในวัยเยาว์กันมา (รายละเอียดแสดงใน ภควตะ ปูรณะ)
81. พระกฤษณะกล่าวอำนวยพรแด่สุดามาพราหมณ์.
82. พระกฤษณะและท้าวพลรามพบปะกับประชาชนชาววฤนทาวัน.
83. นางเทราปตีพบบรรดาเหล่าราชินีของพระกฤษณะ.
84. พิธีบวงสรวงซึ่งดำเนินพิธีกรรมโดยท้าววสุเทวะ.
85. พระกฤษณะให้คำแนะนำทางจิตวิญญาณแก่ท้าววสุเทวะ และการกลับมาจากความตายของบุตรทั้งหก01. ที่กำเนิดจากนางเทวกี.
86. การลักพาตัวนางสุภัทรา (โดยอรชุน) และการเสด็จของพระกฤษณะในการเยี่ยมเยียน ศรุตเทวะ (श्रुतदेव - Śrutadeva) และ พหุลาศวะ (बहुलाश्व - Bahulāśva).
87. คำอธิษฐานด้วยมนตร์พระเวทประจำตัว.
88. การปลดปล่อยของพระศิวะ.
89. พลังอันยอดเยี่ยมยิ่งของพระกฤษณะ.
90. คำอธิบายโดยย่อเกี่ยวกับสันทนาการหรืองานอดิเรกของพระกฤษณะ.
หมายเหตุ การขยายความ
01. บุตรทั้งหกของนางเทวกี ที่ถูกพญากังสะสังหาร ก่อนที่จะให้กำเนิดพลราม และพระกฤษณะ คือ Kirttimat, Sushena, Udayin, Bhadrasena, Rijudasa, and Bhadradeha (ที่มา: The Vishnu Purna เล่มที่ 4 หน้าที่ 438.).
หน้าที่ 1
คำนำ
สำหรับผู้คนในประเทศทางตะวันตกแล้ว เมื่อได้เห็นปกหนังสือที่มีรูปพระกฤษณะ เขาเหล่านั้นจะถามทันทีว่า "พระกฤษณะคือใคร?".
คำตอบในปัจจุบันทันด่วนก็คือ พระกฤษณะ คือบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระผู้เป็นเจ้า. อย่างไรเล่า? เพราะด้วยพระองค์ทรงสอดคล้องกับคำอธิบายของสิ่งมีชีวิตสูงสุด กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ด้วยพระกฤษณะมีแรงดึงดูดใจทั้งมวล. ซึ่งคำว่าพระผู้เป็นเจ้านั้นจะเป็นไปได้อย่างที่จะมีแรงดึงดูดใจ (ซึ่งจะมีคำตอบในบทต่อ ๆ ). เราสามารถสังเกตได้ว่าผู้ที่มีแรงดึงดูดใจนั้น มาจากสาเหตุ 6 ประการดังนี้
1. ความมั่งคั่ง
2. อำนาจ
3. ชื่อเสียง
4. ความงดงาม
5. สติปัญญา และ
6. การเสียสละ
พระกฤษณะ ครอบครองทั้งหกประการนี้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นการครอบครองในระดับที่ไม่จำกัด อันมาจากคำอธิบายของมหาเวทผู้ใหญ่ ปราศระ มุนี (Parāśara Muni). พระกฤษณะโลดแล่นอยู่บนโลกมนุษย์เมื่อ 5,000 ปีมาแล้ว พระองค์มีพระชนม์ชีพ 125 ปี และโลดแล่นผาดโผนเฉกเช่นมนุษย์ มีวีรกรรมที่หาใครเสมอเหมือนได้ยาก. ช่วงเวลาที่พระองค์ไม่สถิตแล้วนั้น ก็ไม่มีใครทัดเทียมเทียบกับวีรกรรมของพระองค์ที่ผ่านมาได้ ไม่มีใครยิ่งใหญ่กว่าพระองค์ "พระผู้เป็นเจ้านั้น ทรงยิ่งใหญ่ - God is great."
มีผู้กล่าวถึงพระผู้เป็นเจ้าในรูปแบบต่าง ๆ กัน แต่เมื่อพิจารณาตามที่ปรากฎในคัมภีร์พระเวทและตามอาจารยาผู้ยิ่งใหญ่ มีบุคคลที่ได้รจนาด้วยความรู้ถึงพระผู้เป็นเจ้าอันที่เป็นยอมรับกันหลายยุคสมัย อาทิ ศังกราจารย์, รามานูชาจารย์, มหาฤษีมาธวะ, พระฤๅษีวิษณุ สวามี, ศรีไจตันยะ มหาประภุ01. และเหล่าสาวกทั้งหลายที่ได้สืบทอดต่อกันมาอย่างเคร่งครัด เหล่าอาจารยาล้วนเห็นพ้องเอกฉันท์ว่าพระกฤษณะนั้นเป็นพระบุคลิกภาพสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้า เท่าที่เราทราบ เหล่าศิษยานุศิษย์ของอารยธรรมพระเวทนั้นมีความกังวลใจ เรายอมรับถึงประวัติศาสตร์พระเวทอันเกี่ยวกับจักรวาลทั้งมวล ซึ่งประกอบด้วยระบบดาวเคราะห์ต่าง ๆ ที่เรียกว่า
- สวรรคโลกา (Svargaloka) หรือ ระบบดาวเคราะห์ที่สูงส่งกว่า
- มัธยโลกา (Martyaloka) หรือ ระบบดาวเคราะห์ในขั้นกลาง และ
- ปาตาลโลกา (Pātālaloka) หรือ ระบบดาวเคราะห์ในขั้นต่ำ.
นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่นี้ไม่สามารถแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 5,000 ปีก่อนได้ และนักมานุษยวิทยาก็กล่าวว่าเมื่อ 40,000 ปีก่อน มนุษย์โฮโมเซเปียนส์ ยังไม่ปรากฏตัวบนโลกใบนี้ ด้วยเพราะวิวัฒนาการยังมาไม่ถึงจุดนั้น แต่ประวัติศาสตร์พระเวท เช่น ปุราณะ และ มหาภารตะ เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ซึ่งขยายเวลานับล้านพันล้านปีในอดีต (รายละเอียดยุคต่าง ๆ ตามแนวคิดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ดูเพิ่มเติมได้ในโลกของมหาฤๅษีวาลมีกิ: ภูมิหลังรามายณะ หน้าที่ 3-4.)
หมายเหตุ การขยายความ
ศรีไจตันยะ มหาประภุ (Caitanya Mahāprabhu), ที่มา: learn.culturalindia.net, วันที่เข้าถึง 18 สิงหาคม 2566.
01. ศรีไจตันยะ มหาประภุ (Lord Caitanya) หรือ ไจตันยะมหาปรภู (Caitanya Mahāprabhu) หรือ ศรีเจตันยะ มหาประภุ (Shri Chaitanya Mahaprabhu) ท่านเป็นสันตะชาวอินเดียในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 15 และผู้ก่อตั้ง อจินตย เภท อเภท สาวกของท่านเชื่อว่าท่านเป็นอวตารของพระกฤษณะและพระนางราธา ลักษณะการบูชาของเจตนยะ มหาประภูมีอิทธิพลอย่างมากต่อลัทธิไวษณพในภูมิภาคเบงกอล นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ริเริ่มหลักปรัชญาเวทันตะกลุ่มอจินตย เภท อเภท และลัทธิโคทิยไวษณพ (Gaudiya Vaishnavism หรือรู้จักกันในชื่อ พรหมโสมปรัทย์ Brahma Sampradaya) ท่านเป็นผู้สาธก (อธิบาย - expound) ภักติโยคะ (Bhakti yoga) และเป็นผู้สร้างความนิยมให้กับเหรกฤษณะมนตระ (Hare Krishna Mahamantra) รวมถึงประพันธ์ ศิกษาศตกัม (Shikshashtakam - บทสวดบูชาแปดประการ - eight devotional prayers), ที่มา: th.wikipedia.org และ en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 6 เมษายน 2566.
หน้าที่ 2
ตัวอย่างเช่นจากการวรรณกรรมนี้ เราได้ทราบถึงภูมิหลังของพระกฤษณะในการปรากฎตัวและการหายไปของพระองค์เมื่อหลายล้านปีก่อน. ในบทที่ 4 ของลำนำภควัทคีตา พระกฤษณะกล่าวกับอรชุนว่าทั้งพระองค์และอรชุนต่างได้กำเนิดขึ้นมาหลายชาติแล้ว และพระองค์ก็จำพวกเขา (เหล่านักรบในทุ่งกุรุเกษตร) ได้ทั้งหมด แต่อรชุนนั้นจำไม่ได้. สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างความรู้ของพระกฤษณะกับอรชุน. อรชุนอาจเป็นนักรบที่เก่งกาจมาก เป็นสมาชิกของการที่มีวัฒนธรรมที่ดีของราชวงศ์คุรุ แต่ท้ายที่สุดแล้ว เขาก็เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาความทรงจำมีขีดจำกัด ในขณะที่พระกฤษณะทรงมีความจำที่ไร้ขอบเขต อันเป็นบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระผู้เป็นเจ้า ผู้ครอบครองความรู้อันไร้ขีดจำกัด.
ในขณะที่องค์ความรู้ของพระกฤษณะนั้นสมบูรณ์มาก จนทรงจำเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ทั้งหมดจากการปรากฎของพระองค์เมื่อหลายล้านและหลายพันล้านปีก่อนได้. ในบทที่ 4 ของลำนำฯ พระกฤษณะกล่าวว่าพระองค์ทรงจำได้ว่าได้สอนบทเรียนของภควัทคีตา เมื่อหลายล้านปีก่อนแก่เทพแห่งดวงอาทิตย์ วิวัสวาน01. ทุกวันนี้เราอาจจะมองได้ว่าเป็นเรื่องของแฟชั่น (หรืออาจเป็นความเชื่อที่มีอยู่ต่อไปก็ได้) ของกลุ่มคนที่ไม่เชื่อในเรื่องพระเจ้า หรือพวกอเทวนิยมที่มองการทำสมาธิ การมีวินัย รักษาศีลอย่างเคร่งครัด การประกอบกรรมดี ละการเบียดเบียน จิตปล่อยวาง สละลดความมีตัวตน ก็สามารถบรรลุญาณเข้าถึงความสงบ เข้าถึงและเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้าได้. พระกฤษณะไม่ใช่เป็นพระผู้เป็นเจ้าเช่นที่มาจากการสร้างกระบวนการทำสมาธิ ฯ ข้างต้น และมิได้มาจากความเคร่งครัดอย่างยิ่งของการฝึกโยคะ พระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้า (อยู่แล้ว) ในทุก ๆ สถานการณ์.
ในระวังที่พญากังสะผู้เป็นอา ได้กุมขังพระบิดาและพระมารดาของพระองค์อยู่นั้น พระกฤษณะได้ปรากฎกายนอกร่างของมารดาในฐานะที่ทรงเป็นพระวิษณุ-นารายณ์สี่กร. จากนั้นพระองค์จึงแปลงร่างเป็นทารก และกล่าวให้พระบิดาพาพระองค์ไปยังบ้านพักของนันทะมหาราชา และนางยโสดาผู้เป็นภริยา ขณะที่พระกฤษณะเป็นเพียงทารกตัวเล็ก ๆ อยู่นั้น ปีศาจหญิงร่างมหึมา "รากษสีปูตนา - Pūtanā Rakshasi" พยายามสังหารพระองค์ แต่เมื่อพระองค์ดื่มนมจากทรวงอกนาง นางปีศาจร่างใหญ่โตก็สิ้นชีพไปพลัน นั่นคือความแตกต่างระหว่างพระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริง (ตามแนวคิดของพราหมณ์-ฮินดู) กับพระผู้เป็นเจ้าที่สร้างขึ้น (ผู้เขียนบางท่านใช้คำว่า "โรงงานลึกลับ") (ตามแนวคิดของพวกอเทวนิยม). พระกฤษณะไม่มีโอกาสได้ฝึกโยคะอันลึกลับ. ตั้งแต่ทารกจนถึงวัยเยาว์ จากวัยเยาว์สู่วัยรุ่น จากวัยรุ่นสู่วัยหนุ่มฉกรรจ์ กิจกรรมทั้งหมดของพระองค์ในฐานะที่เป็นมนุษย์จะได้อธิบายไว้ในเบื้องหน้าของบล็อกนี้ แม้ว่าพระกฤษณะจะเล่นเหมือนเช่นมนุษย์ แต่พระองค์ก็จะรักษาเอกลักษณ์ตนไว้ในฐานะที่เป็นบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระผู้เป็นเจ้าเสมอ.
ด้วยพระกฤษณะนั้นเป็นเทพที่มีเสน่ห์ เราควรทราบว่าความปรารถนาทั้งหมดของพระองค์มุ่งไปที่องค์พระกฤษณะ. ในภควัทคีตาได้กล่าวไว้ว่าบุคคลแต่ละคนล้วนเป็นเจ้าของหรือเจ้านายของร่างกายตน ทว่าพระกฤษณะนั้น เป็นดวงวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ที่อยู่ในใจของทุกคน เป็นเจ้าของและเป็นนายขั้นสูงสุดในเรือนร่างของแต่ละคน. ดังนั้น หากเรามุ่งความสนใจไปยังพระกฤษณะเพียงเท่านั้น ความรักอันเป็นสากล ความสามัคคีที่หลอมรวมเป็นหนึ่ง และความสงบก็จะบังเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ. เมื่อมีผู้รดน้ำต้นไม้ ก็เหมือนว่าเขาได้ก็จะรดกิ่งก้านใบและดอกไม้ไปด้วย เมื่อป้อนอาหารจากปากลงท้อง ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายก็จะอิ่มไปด้วย.
ศิลปะของการมุ่งความสนใจไปยังองค์ภควาน02. และมอบความรักต่อพระองค์ซึ่งเรียกกันว่า จิตสำนึกต่อพระกฤษณะ (Kṛṣṇa consciousness).เราได้เปิดหัวขบวนแห่งจิตสำนึกยังพระกฤษณะ เพื่อให้ทุกคนสามารถสนองความต้องการของเขาในการมอบความรักให้ผู้อื่นได้ เพียงแค่ส่งความรักไปที่องค์พระกฤษณะ. โลกทั้งใบต่างกระตือรือร้นที่จะตอบสนองความรักที่มีต่อผู้อื่น. ถึงกระนั้น วิธีการต่าง ๆ ที่ได้ประดิษฐ์พัฒนาขึ้น อาทิ สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ความเห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่น (Altruism) มนุษยธรรมนิยม และชาตินิยม ตลอดจนสิ่งอื่นใดที่ได้รังสรรค์ขึ้นเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของโลก ล้วนไร้ประโยชน์และดูน่าหงุดหงิด เพราะความไม่รู้แจ้งทั้งหมดเกี่ยวกับศิลปะแห่งความรักของพระกฤษณะ. ผู้คนทั่วไปมักคิดว่าตนจะมีความสุขได้ก็ด้วยการทำบุญตามหลักศีลธรรม และพิธีกรรมทางศาสนา ในขณะที่คนอื่น ๆ อาจคิดว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจสามารถบรรลุความสุขได้ แต่คนอื่น ๆ อีกก็คิดว่าเพียงแค่รู้สึกพึงพอใจ พวกเขาจะมีความสุข. แต่ความจริงก็คือ ผู้คนสามารถมีความสุขได้ด้วยการรักพระกฤษณะเท่านั้น.
หมายเหตุ การขยายความ
01. วิวัสวาน ( Vivasvān ) รายละเอียดดูใน หน้าที่ 84 หมายเหตุการขยายความ ปรัชญาอินเดีย เล่มที่ 1.004.
02. ภควาน หรือ ภควัต หรือ ภควันต์ หรือ ภควา (Bhagavān - (สส.) भगवान् - Lord) หมายถึง นามพระเป็นเจ้า นามพระพุทธเจ้า พระผู้เป็นเจ้า.
หน้าที่ 3
ในบทที่เก้าของ ลำนำภควัทคีตา นั้น นั่นคือศาสตร์แห่งจิตสำนึกของพระกฤษณะ ที่เรียกกันว่าราชาแห่งองค์ความรู้ทั้งปวง ราชาแห่งสิ่งที่ปกปิดเป็นความลับทั้งหมด และเป็นศาสตร์สูงสุดแห่งการหยั่งรู้ทิพย์. ถึงกระนั้น เราสามารถสัมผัสผลลัพธ์ได้โดยตรงของความเป็นวิทยาศาสตร์แห่งจิตสำนึกต่อพระกฤษณะได้ เพราะปฏิบัติได้ง่ายและเป็นที่น่าพึงพอใจมาก. ไม่ว่าสัดส่วนของจิตสำนึกต่อพระกฤษณะที่เราสามารถทำได้นั้นมากน้อยเพียงไร ก็จะกลายเป็นทรัพย์สินนิรันดร์สำหรับชีวิตของเรา เพราะเป็นสิ่งที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้ในทุกสถานการณ์. มีผู้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยอาจจะสับสนและผิดหวังกับแนวคิดของประเทศทางตะวันตก ปัจจุบันได้หันมานับถือและแสดงความรักที่มีต่อพระกฤษณะ แต่เพียงผู้เดียว. กล่าวกันว่าเพียงแม้บุคคลหนึ่งจะบำเพ็ญความเพียร สมถะ ตบะ และเสียสละอย่างจริงจัง แต่หากเขาล้มเหลวที่จะปลุกความรักอันซ่อนเร้นที่เขามีต่อพระกฤษณะแล้วไซร้ การบำเพ็ญต่าง ๆ ที่ผ่านมาทั้งหมดของเขาจะถือว่าไร้ประโยชน์.
การเคลื่อนไหวของจิตสำนึกต่อพระกฤษณะนั้น เป็นของขวัญพิเศษที่ศรีไจตันยะ มหาประภุ มอบให้แก่ดวงวิญญาณที่ตกสู่บาปเคราะห์ในยุคนี้. มีการดำเนินงานในโลกตะวันตกระยะหนึ่ง แน่นอนว่าการเคลื่อนไหวนี้สามารถตอบสนองแนวโน้มความรักที่ซ่อนตัวอยู่ของมนุษยชาติ. มีบทที่กล่าวไว้ใน ลำนำภควัทคีตา ว่าแม้แต่ความพยายามเพียงเล็กน้อยที่ใช้ไปบนเส้นทางของจิตสำนึกต่อพระกฤษณะ ก็สามารถช่วยคนให้พ้นจากอันตรายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดได้ ผู้ประพันธ์ (หริวงศ์) ร่วมกันหลายท่านจึงขอให้ทุกคนใช้ประโยชน์จากวรรณกรรมที่ยอดเยี่ยมนี้ เราจะพบว่าเมื่ออ่านทีละหน้า ขุมทรัพย์แห่งความรู้อันยิ่งใหญ่ในด้านศิลปะ วิทยาศาสตร์ วรรณกรรม ปรัชญา และศาสนาจะถูกเปิดเผย การอ่านวรรณกรรมนี้ พระกฤษณะ ผู้เป็นกลีบแห่งพระผู้เป็นเจ้าก็จะงอกออกผล.
ต้องขอขอบคุณศรีมานจอร์จ แฮริสัน01. ซึ่งได้สวดมนต์ ฮะเร กฤษณะ ไว้ พร้อมทั้งได้บริจาคเงินจำนวนหนึ่งแก่ผู้ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับพระกฤษณะตามข้อ 03.
หมายเหตุ การขยายความ
01. ศรีมาน (श्रीमन् - Śrīmān - เป็นคำกล่าวนำที่ให้ความเคารพอย่างสูง) จอร์จ แฮริสัน (George Harrison - หนึ่งในสี่ของสมาชิกวงเดอะบีตเติ้ลŚrīmān George Harrison) ได้แต่งเพลง My Sweet Lord เมื่อปี พ.ศ.2513 (ค.ศ.1970) ตอนสร้อยมีสรรเสริญถึงพระกฤษณะ ฮะเร กฤษณะ (Hare Kṛṣṇa).
หน้าที่ 4
บทนำ
การรวบรวมเขียนเป็นหนังสือเกี่ยวกับพระกฤษณะได้นี้ ข้าพเจ้า (และผู้ประมวลเรื่องของพระกฤษณะทั้งหลาย) ขอถวายความเคารพต่อบูรพมหาอาจารยาทางจิตวิญญาณก่อน รวมทั้งขอถวายสักการะต่อผู้เป็นดั่งมหาสมุทรแห่งความเมตตาด้วยความเคารพยิ่ง ศรีไจตันยะ มหาประภุ ด้วยท่านเป็นองค์ภควานแห่งพระกฤษณะ ได้ปรากฎตัวในฐานะศิษยานุศิษย์เพื่อเผยแผ่หลักการสูงสุดของการอุทิศตนในการเสียสละรับใช้. ซึ่งท่านได้เริ่มเทศนาจากดินแดนเบงกอลตะวันตก (गौडदेश - Gauḍadeśa เป็นภูมิภาคโบราณ เริ่มตั้งแต่เมืองวังคะ (Vaṅga) ตอนกลางของเบงกอล ไปจนถึงชายขอบเมืองโอริสสา (Orissa)) ในอินเดียก่อน. มีคุรุปราชญ์ที่สำคัญเกี่ยวเนื่องกับการสอนแนวคิดพระกฤษณะมาหลายรุ่น ผู้สืบเนื่องที่ขยายผลได้มากคือ มธวะ เกาฑียะ สัมปรทายะ (Madhva-Gauḍīya-sampradāya) หรือมักจะเรียกว่า พราหมณ์ สัมประทายะ (Brahma-sampradāya) ด้วยการสืบทอดอย่างเคร่งครัดนั้น เริ่มต้นจากพระพรหม พระพรหมได้สั่งสอนพระฤๅษีนารทมุนี ต่อมาพระฤๅษีนารทมุนีก็ได้อบรมสั่งสอนฤๅษีวยาส หรือ วยาสเทวะ (Vyāsadeva) และวยาสเทวะก็ได้ได้สั่งสอนมธวะมุนี หรือ มธวาจารยะ (Madhva Muni or Madhvācārya). มีท่านศรี มธว-เกาฑิยะ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มมธวะ เกาฑียะ สัมปรทายะ ท่านเป็นสันยาสี01. (ผู้สละสิทธิ์) ซึ่งเป็นสมาชิกของมธวาจารย ผู้สืบทอดตำแหน่งสาวก. ท่านมีศิษยานุศิษย์ที่มีชื่อหลายคน อาทิ นิตยานันทะ ปรภู, อทไวตะ ปรภู, และ อิศวร ปุรี. ซึ่งท่านอิศวร ปุรีนี้ ประจวบเหมาะต่อมาได้เป็นปรมาจารย์ทางจิตวิญญาณของศรีไจตันยะ มหาประภุ. ดังนั้นขอให้เราท่านทั้งหลายได้แสดงความเคารพต่อท่านอิศวร ปุรี, นิตยานันทะ ปรภู, ศรี อทไวตะ อาจารยะ ปรภู, ศรีวาสะ บัณฑิต, และศรี กทาธระ บัณฑิต. ลำดับต่อไปขอให้เราท่านทั้งหลายให้ความเคารพต่อ สวรูปะ ทาโมทระ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการส่วนตัวของ ศรีไจตันยะ มหาประภุ และให้ความเคารพต่อศรี วาสุเทวะ ทัตตะ และผู้ถวายตนเป็นบริวารโดยตลอดแก่ ศรีไจตันยะ มหาประภุ นั่นคือศรี โกวินทะ และสหายผู้มั่งคั่งของศรีไจตันยะ มหาประภุ นั่นคือ มูกุนทะ และมูราริ คุปตะ และขอให้เราท่านทั้งหลายแสดงความเคารพต่อพระโกสวามีทั้งหกแห่งวฤนทาวัน ประกอบด้วย ศรีณูปะ โกสวามี, ศรี สนาตนะ โกสวามี, ศรีราฆุนาธ ภัฏฏะ โกสวามี, ศรี โคปาละ ภัฏฏะ โกสวามี, ศรี ชีวะ โกสวามี และ ศรี ราฆุนาธ ทาสะ โกสวามี.
พระกฤษณะได้อธิบายไว้ในลำนำภควัทคีตาว่า พระองค์เป็นบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระผู้เป็นเจ้า และเมื่อใดก็ตามที่มีความคลาดเคลื่อนในหลักข้อบังคับของกิจกรรมการทางศาสนาของมนุษย์ไซร้ พระองค์จะทรงปรากฎบนโลกใบนี้. กล่าวอีกนัยหนึ่ง การที่พระศรีกฤษณะปรากฎตัวขึ้น ก็หมายความว่า มีความจำเป็นที่ต้องลดภาระของกิจกรรมบาปที่สะสมบนโลกใบนี้หรือในจักรวาลนี้ให้เหลือน้อยที่สุด.
สำหรับเรื่องการสร้างสรรค์ทางวัตถุนั้น มหาเทพวิษณุ ซึ่งเป็นส่วนที่สมบูรณ์ของพระกฤษณะจะเป็นผู้รับผิดชอบ. เมื่อมหาเทพวิษณุพระผู้เป็นเจ้าได้จุติเคลื่อนมายังโลกมนุษย์. ในลัทธิเกาทิยะ ไวษณพนิกาย (Gaudīta Vaishnavism) พระวิษณุได้ขยายตนที่สมบูรณ์ ออกเป็นสามพระองค์ดังนี้02.
- มหาวิษณุ (Mahā Viṣhṇu) - ทรงสร้างพลังงานทางวัตถุทั้งหมด ที่เรียกว่า มหัต-ทัตตวะ (mahat-tattva)
- กรโพทกศายี วิษณุ (Garbhodakaśāyī Viṣhṇu) - พระวิษณุเข้าสู่จักรวาลทั้งหมดเพื่อสร้างความหลากหลาย และ
- กฤษิโรทกศายี วิษณุ (Kṣirodakaśāyī Viṣhṇu) - พระวิษณุได้กระจายตัวในฐานะดวงวิญญาณที่แผ่ซ่านไปทั่งจักรวาลทั้งหมด ในหัวใจของทุกชีวิต ที่เรียกว่า ปรมาตมา (Paramātmā)
พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ (Viṣṇu or Nārāyaṇa - नारायण), ที่มา: www.pinterest.com, วันที่สืบค้น 4 สิงหาคม 2561.
เป้าหมายของชีวิตคือการรู้จักพระกฤษณะ ผู้ประทับอยู่ในหัวใจของสิ่งมีชีวิตทั้งปวงในฐานะปรมาตมา รูปพระวิษณุสี่กร.
โดยทั่วไป การอวตารทั้งหมดที่ปรากฎในจักรวาลอันเป็นวัตถุนี้เป็นการขยายตัวที่สมบูรณ์จากกฤษิโรทกศายี วิษณุ ดังนั้นการลดปริมาณกิจกรรมที่เป็นบาปมหันต์บนโลกมนุษย์นั้น จึงไม่ใช่เป็นขององค์ภควานพระกฤษณะแต่อย่างใด. ครั้นเมื่อพระกฤษณะปรากฎขึ้น พระวิษณุทั้งหมดก็เข้าร่วมกับพระองค์ มีการขยายตัวที่แตกต่างกันของพระกฤษณะ - อาทิ พระนารายณ์, การขยายตัวสี่เท่าของพระวาสุเทวะ, พระสังการษณะ, พระปรัดยุมนะ, และพระอนิรุทธ์ เช่นเดียวกับการขยายบางส่วน เช่น มัตสยาวตาร (ดูเพิ่มเติมได้ใน นารายณ์อวตารตอนที่ 1) และยุค-อวตาร03. (อวตารสำหรับล้านปี) และมันวันตระ-อวตาร04. (อวตารที่เกี่ยวข้องกับการครองราชย์ของพระมนู) - ทั้งหมดนี้รวมกันและปรากฎพร้อมกับร่างของพระกฤษณะ ผู้เป็นบุคลิกภาพสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้า. พระกฤษณะจึงมีความสมบูรณ์พร้อม การขยายตัวและการอวตารทั้งหมดจึงอยู่กับพระองค์เสมอ.
หมายเหตุ ขยายความ
01. สันยาสี (sannyasi) - เพียรภิกขาจาร เลี้ยงชีพด้วยการขอเขากิน และตั้งจิตมุ่งอยู่ตรงพระปรพรหมและนฤพาน (รายละเอียดดูใน หมายเหตุ ขยายความ 1 หน้าที่ 41 อาทิบรรพ มหาภารตยุทธ.)
02. แสดงไว้ในส่วนการบรรยายของลำนำภควัทคีตา บทที่ 7.
03. เป็นส่วนที่ศรีไจตันยะ มหาประภุได้อธิบายเสริมเกี่ยวกับยุคต่าง ๆ (รายละเอียดเกี่ยวกับยุค ดูในหมายเหตุ การขยายความ 1 หน้าที่ 3 ของรามายณะ B01. โลกของมหาฤๅษีวาลมีกิ: ภูมิหลังรามายณะ).
04. มันวันตระ-อวตาร (manvantara-avatāras) ได้อธิบายไว้ในลำนำภควัทคีตา บทที่ 1-6 และ ในศรีมัด-ภควันตัม ส่วนหนึ่งบทกลอน (Canto) ที่ 4.
หน้าที่ 5
ดังนั้น เมื่อพระกฤษณะปรากฎกายขึ้น พระวิษณุก็จะเสด็จพร้อมมาด้วย. และ ณ วฤนทาวัน พระกฤษณะจะแสดงกิจกรรมยามว่าง และด้วยวิธีการนี้ก็เป็นการเชื้อเชิญดึงดูดดวงวิญญาณที่มีโชคให้กลับสู่บ้านเรือนตน กลับสู่ (เป็นหนึ่งเดียวหลอมรวมกับ) พระผู้เป็นเจ้า. การสังหารเหล่าอสูรปีศาจต่าง ๆ ที่วฤนทาวันนั้น เป็นการดำเนินการของพระวิษณุซึ่งเป็นส่วนของพระกฤษณะเท่านั้น.
ในลำนำภควัทคีตา บทที่แปด โศลกที่ 20 ได้อธิบายไว้ถึงที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าว่า มีธรรมชาตินิรันดร์อย่างหนึ่ง คือท้องฟ้าของเหล่าวิญญาณซึ่งอยู่เหนือธรรมชาติของสิ่งที่ปรากฎนี้และไม่มีสิ่งปรากฎให้เห็น. โลกที่ประจักษ์นั้นสามารถมองเห็นได้ในรูปแบบของดวงดาวและระบบดาวเคราะห์อีกมากมาย เช่นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ แต่นอกเหนือจากนี้ยังมีส่วนที่ไม่ปรากฎ ซึ่งใครก็ตามในร่างกายนี้ (กายหยาบ) ไม่อาจเข้าถึงได้. นอกเหนือจากนั้น วัตถุสสารที่มิได้ปรากฎก็คืออาณาจักรด้านจิตวิญญาณ. ซึ่งอาณาจักรนั้น ได้กล่าวไว้ในลำนำภควัทคีตาว่า เป็นอาณาจักรสูงสุด และเป็นนิรันดร์ ไม่มีวันถูกทำลายล้าง. ธรรมชาติของสสารนี้ได้ถูกสร้างขึ้น และถูกทำลายซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ส่วนนั้นซึ่งคือธรรมชาติด้านจิตวิญญาณจะคงอยู่ดังที่ปรากฎชั่วนิรันดร์.
พระกฤษณะและพระนางราธา, กษัตริย์และราชินีแห่งโคโลกะ, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง: 25 สิงหาคม 2566.
ที่สถิตของพระกฤษณะผู้ทรงมีบุคลิกสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้านั้น ได้อธิบายไว้ในคัมภีร์พราหมณ์-สังหิตา (the Brahma-saṁhitā) ว่าเป็นเหย้าเรือนของจินดามณี (cintāmaṇi) หรือที่รู้จักในนามของ โคโลกะ วฤนทาวัน (Goloka Vṛndāvana) - (Goloka = World of cow) อันเป็นพระราชวังที่สร้างด้วยหินคุณภาพดี. เหล่าต้นไม้ก็เรียกว่าเหล่าต้นปรารถนา ฝูงโคก็เรียกว่า สุรภี (Surabhi). ณ ที่นั่น พระองค์ได้รับการปรนนิบัติจากเทพีแห่งโชคลาภนับร้อยนับพัน. ในอีกพระนามของพระองค์คือ โควินทะ (Govinda) เป็นองค์ปฐมกาล และพระองค์เป็นต้นเหตุแห่งเหตุทั้งปวง. ณ ที่วฤนทาวัน พระกฤษณะทรงเป่าขลุ่ย ดวงพระเนตรสวยงามดั่งกลีบบัว สีพระวรกายก็ดุจดังเมฆอันสวยงาม. บนศีรษะมีขนนกยูงประดับอยู่ พระองค์มีเสน่ห์มากทรงเป็นเลิศเทียบเท่ากับกามเทพนับพันองค์. ในลำนำภควัทคีตานั้น พระกฤษณะได้บอกเป็นนัยเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับที่ประทับของพระองค์. อันเป็นดาวเคราะห์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาณาจักรด้านจิตวิญญาณ. ทว่าในคัมภีร์ศรีมัด-ภาควตัมนั้น พระกฤษณะปรากฎพระองค์พร้อมกับสิ่งของเครื่องใช้ของพระองค์จริง ๆ และทรงแสดงกิจกรรมต่าง ๆ ในวฤนทาวัน ต่อด้วยมธุรา และเมืองทวารกา. เนื้อหาในบล็อคและเว็บไซต์ huexonline.com นี้จะค่อย ๆ เปิดเผยกิจกรรมต่าง ๆ ของพระกฤษณะ.
วงศ์ของพระกฤษณะนั้นเรียกว่าราชวงศ์ยาดู (Yadu dynasty) ซึ่งสืบสายราชวงศ์มาจากพระโสม (Soma) - เทพแห่งดวงจันทร์. ในวงศ์กษัตริย์นั้นมีความแตกต่างแบ่งออกเป็นสองราชวงศ์หลัก คือราชวงศ์ที่สืบเชื้อสายมาจากเทพแห่งดวงจันทร์ (จันทรวงศ์) และอีกราชวงศ์ที่สืบเชื้อสายมาจากเทพแห่งดวงอาทิตย์ (สูรยวงศ์). เมื่อบุคลิกภาพสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้าปรากฎนั้น โดยทั่วไปแล้ว พระองค์จะต้องไปบังเกิดในราชวงศ์หรือวรรณะกษัตริย์ เพราะจะต้องสถาปนาหลักศาสนาหรือชีวิตที่มีคุณธรรม. ตามแนวคิดและระบบพระเวทนั้น ราชวงศ์กษัตริย์จะเป็นผู้ปกป้องเผ่าพันธุ์มนุษย์. เมื่อพระวิษณุได้อวตารปรากฎร่างเป็นองค์พระราม ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่สืบเชื้อสายมาจากเทพแห่งดวงอาทิตย์ มีสายสกุลสูรยวงศ์ที่ย่อยแตกมาเป็นราฆุวงศ์ (Raghu-vaṁśa) และเมื่อพระกฤษณะทรงปรากฎ ก็ทรงเป็นสมาชิกในราชวงศ์ยาดู (Yadu-vaṁśa) ซึ่งก็เป็นสาขาย่อยที่แตกมาจากจันทรวงศ์. มีลำดับสาแหรกที่ยาวเหยียดของราชวงศ์ยาดู ปรากฎในส่วนหนึ่งของบทกลอนที่ 9 (canto) บทที่ 24 ของศรีมัด-ภาควตัม. ล้วนเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่และทรงอำนาจ บิดาของพระกฤษณะชื่อวสุเทพ หรือ วสุเทวะ (Vasudeva) (พระกฤษณะ มีอีกชื่อหนึ่งว่า วาสุเทพ - Vāsudev - อย่าสับสน) ซึ่งเป็นบุตรของศุรเสนะ (Śurasena) อันสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ยาดู. โดยแท้จริงแล้ว บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระผู้เป็นเจ้านี้ ไม่ได้เป็นของราชวงศ์ใด ๆ ในโลกอันเป็นวัตถุ (กายหยาบ) นี้แต่อย่างใด แต่ราชวงศ์ที่พระองค์ปรากฎก็มีชื่อเสียงโด่งดังด้วยพระคุณของพระผู้เป็นเจ้า. ตัวอย่างเช่น ไม้จันทน์ผลิตในรัฐมาลายา ไม้จันทน์มีคุณสมบัติเป็นของตัวเองนอกเหนือจากมาลายา แต่เนื่องจากบังเอิญไม้ชนิดนี้มีการผลิตส่วนใหญ่ในรัฐมาลายา จึงเรียกว่าไม้จันทน์มลายา ในทำนองเดียวกัน พระกฤษณะ ผู้เป็นบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระผู้เป็นเจ้า ทรงเป็นของทุกคน แต่เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นจากทิศตะวันออก แม้ว่าจะมีทิศทางอื่นที่จะขึ้นได้ ดังนั้นโดยการเลือกของพระองค์เอง องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงทรงปรากฏในวงศ์ใดวงศ์หนึ่ง และนั่นทำให้วงศ์นั้นมีชื่อเสียง.
ดังที่ได้อธิบายไว้ก่อนแล้ว เมื่อพระกฤษณะปรากฎกายขึ้น การขยายตัวทั้งหมดก็ปรากฎขึ้นพร้อม ๆ กับพระองค์. พระกฤษณะปรากฎตัวพร้อมกับพระเชษฐาพลรามหรือพลเทพ (Balarāma or Baladeva) พลรามนี้เป็นต้นกำเนิดแห่งสังกรษณะ (Saṅkarṣaṇa) ซึ่งเป็นการขยายตัวขึ้นสี่เท่า. พลรามนั้นเป็นส่วนหนึ่งในการขยายตัวของพระกฤษณะ ซึ่งต่อไปเบื้องหน้า เราก็จะทราบถึงพระกฤษณะปรากฎตัวอย่างไรในราชวงศ์ยาดู และพระองค์ทรงแสดงคุณลักษณะทิพย์ของพระองค์อย่างไร.
โดยทั่วไปแล้วผู้คนทั่วไปจะทราบและเพลิดเพลินกับกิจกรรมยามว่างของพระผู้เป็นเจ้าและเพลิดเพลินจากจิตวิญญาณอิสระ. ผู้ที่มีจิตวิญญาณที่ได้รับการปรับสภาพแล้ว มักสนใจที่จะทราบเรื่องราวเกี่ยวกับกิจกรรมปกติในโลก (หยาบ) ของมนุษย์ทั่วไปบางคน แม้ว่าคำบรรยายที่คล้ายกันซึ่งบรรยายถึงกิจกรรมทิพย์ของพระผู้เป็นเจ้าจะพบได้ในศรีมัด-ภาควตัมและปุราณะอื่น ๆ ก็ตาม ดวงวิญญาณที่ได้รับการปรับสภาพแล้วยังคงชอบที่จะศึกษาคำพรรณนาธรรมดา ๆ พวกเขาไม่สนใจที่จะศึกษาคำพรรณนาเกี่ยวกับงานยามว่างของพระกฤษณะมากนัก แต่คำอธิบายเกี่ยวกับกิจกรรมยามว่างของพระกฤษณะนั้น มีเสน่ห์มากจนเป็นที่ชื่นชอบของเหล่ามนุษย์ทุกระดับ ในโลกนี้มีมนุษย์อยู่สามประเภท กลุ่มชนแรกประกอบด้วยดวงวิญญาณที่ได้รับการปลดปล่อย อีกกลุ่มชนหนึ่งประกอบด้วยผู้ที่พยายามได้รับการปลดปล่อย และกลุ่มชนสุดท้ายประกอบด้วยมนุษย์ที่ชื่นชอบวัตถุนิยม ไม่ว่าบุคคล ๆ หนึ่งจะได้รับการปลดปล่อยหรือกำลังพยายามที่จะได้รับการปลดปล่อย หรือแม้แต่กลุ่มชนที่ชื่นชอบวัตถุนิยมอย่างรุนแรง ต่างถือว่ากิจกรรมยามว่างของพระกฤษณะนั้น ก็คุ้มค่าที่จะศึกษา.
พระกฤษณะ, ที่มา: Facebook เพจ "Kishan bisi," วันที่เข้าถึง 31 สิงหาคม 2566.
จิตวิญญาณที่ได้รับการปลดปล่อยจะไม่มีความสนใจในกิจกรรมทางวัตถุใด ๆ . จากทฤษฎีที่ว่าเราจะไม่มีตัวตนหลังจากการปลดปล่อย มนุษย์จะเกียจคร้านไม่รับฟังสิ่งใด ๆ เลย ก็มิได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นเช่นนั้น. วิญญาณที่มีชีวิตจิตใจไม่สามารถนิ่งเฉยได้. แต่จะกระตือรือร้นไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะที่มีเงื่อนไขหรือแม้ในสภาวะที่ได้รับการปลดปล่อย. ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีโรคภัยก็ยังคงกระตือรือร้น แต่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด. เมื่อพ้นจากโรคภัยแล้ว เขาผู้นั้นก็กระฉับกระเฉง กิจกรรมที่กระทำล้วนมีความสุขในยามสุขภาพดี. ผู้ที่ได้รับการปลดปล่อยอย่างแท้จริงและมีความรู้ครบถ้วนก็พร้อมที่จะรับทราบกิจกรรมของพระกฤษณะ การมีส่วนร่วมนี้เป็นกิจกรรมทางวิญญาณอันบริสุทธิ์.
มันมีความจำเป็นสำหรับผู้ที่ได้รับอิสรภาพอย่างแท้จริง ที่ได้รับทราบถึงกิจกรรมยามว่างของพระกฤษณะ. นับเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับผู้ที่อยู่ในสภาวะหลุดพ้น. นอกจากนี้หากผู้พยายามที่จะได้รับการปลดปล่อยดังกล่าวนี้ มีเรื่องเล่าขาน เช่น ภควัทคีตา และศรีมัด-ภาควตัม แล้วไซร้ เส้นทางการหลุดพ้นของพวกเขาก็จะชัดเจนมากขึ้น. ในลำนำภควัทคีตาถือเป็นการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับศรีมัด-ภาควตัม. บุคคลจะตระหนักรู้ถึงตำแหน่งของพระกฤษณะอย่างสมบูรณ์โดยการศึกษาคีตา และเมื่อเขานั่งอยู่แทบเบื้องพระบาทดอกบัวของพระกฤษณะ เขาจะเข้าใจถึงคำบรรยายของพระกฤษณะตามที่ได้อธิบายไว้ในศรีมัด-ภาควตัม. ดังนั้นท่านศรีไจตีนยะ มหาประภุ จึงได้แนะนำเหล่าศิษยานุศิษย์ว่ากิจธุระของพวกเขาคือการเผยแพร่ กฤษณะกถา (kṛṣṇa-kathā).
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 19 ธันวาคม 2565.
02. จาก. "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic," ISBN: 978-0-2412-6434-8, สำนักพิมพ์เพนกวินเฮ้าส์, พ.ศ.2560, ตีพิมพ์ในสาธารณรัฐประชาชนจีน, www.dk.com.
03. จาก. "KṚṢṆA: THE SUPREME PERSONALITY OF GODHEAD," His Divine Grace, A.C. Bhaktivedanta Swami Prabhupāda, Founder-Ācārya of the International Society for Krishna Consciousness, อีบุ๊กฉบับที่หนึ่ง: ธันวาคม พ.ศ.2561, ISBN 978-91-7769-109-9.
04. จาก. "Srimad Bhagavatam: The Wisdom of God," แปลโดย Swāmi Prabhavānanda, สำนักพิมพ์ศรีรามากฤษณะ แมธ, 30 มกราคม พ.ศ. 2499, เมืองไมลปอร์ มัทราส (เจนไน), อินเดีย.
05. จาก. "THE COMPLETE LIFE OF KRISHNA: Based on the Earliest Oral Traditions and the Sacred Scriptures," เขียนโดย Vanamali, ISBN 978-1-59477-475-1, สำนักพิมพ์ Inner Traditions, พ.ศ.2555, ตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา.
06. จาก. Harivamsha, แปลโดย Bibek Debroy, ISBN 9780143425984, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนซัม เฮ้าส์ อินเดีย, ตีพิมพ์ในภารตะ พ.ศ.2559.