MENU
TH EN

A03. บทนำ - บุคลิกลักษณะ รายละเอียดตัวละครสำคัญในรามายณะ

หนุมานสังหารขุนทหารรากษส และอินทรชิตจับตัวหนุมานได้, ภาพเขียนบนกำแพงภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร, ถ่ายไว้เมื่อ 2 กรกฎาคม 2566.
A03. บทนำ - บุคลิกลักษณะ รายละเอียดตัวละครสำคัญในรามายณะ
First revision: Jun.04, 2023
Last change: Sep.10, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง แปล และปริวรรคโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

เหล่ารากษสยักษา

       เมื่อกิจกรรมในมหากาพย์ได้เปลี่ยนจากอาณาจักรของเหล่าวานร ไปเป็นตัวแทนของจักรวาลทางศีลธรรมที่ดูคล้ายกับสภาพ "ธรรมชาติ" ที่สังเกตได้ของเหล่ามนุษยชาติมากขึ้น ซึ่งมีการแก่งแย่งชิงอำนาจเกินเหตุ มีความรุนแรง และมีการแข่งขันระหว่างพี่น้อง ไปสู่อาณาจักรที่เป็นเกาะ "กรุงลงกา" เราก็จะประสบกับอีกสิ่งหนึ่ง และแท้จริงแล้วนั่นคือการเปลี่ยนแปลงขั้นสูงสุดและความเสื่อมโทรมของบรรทัดฐานแห่งธรรมะ "ความชอบธรรมหรือสิทธิธรรม" ดังที่สังเกตได้และถือปฏิบัติกันอยู่ในกรุงอโยธยา. กรุงลงกาเป็นอาณาจักรของพวกรากษส ใช้ความรุนแรง กระหายเลือด และหมกหมุ่นทางกามารมณ์ ล้อเลียนอุดมคติทางวัฒนธรรมและสังคมของชาวอารยันที่มหากาพย์ได้พยายามประกาศ. เหล่านี้คือผู้กระหายเลือด (रुधिराशन - rudhirāśana - รุธิราศานต์) ผู้ท่องราตรี (निशाचर - niśācara - นิศาจาร) เป็นรากษสที่อยู่ภายใต้การปกครองอย่างกดขี่ของท้าวราพณ์ ผู้ซึ่งอยู่ตรงข้ามอย่างสุดขั้วกับพระราม และเป็นผู้เหยียบย่ำบรรทัดฐานและคุณค่าของอารยธรรมพระเวท-ฮินดูทั้งหมด. ก็มิใช่ว่ารากษสหรือรากษสีทุกตนจะชั่วร้าย รากษสีสตรีบางตนก็ช่วยเหลือและสนับสนุนนางสีดาในยามหวาดกลัวอ้างว้าง ขณะที่เจ้าชายของเหล่ารากษสตนหนึ่ง (พิเภก) ก็ได้รับความเคารพในฐานะตัวอย่างที่ดีเลิศของความชอบธรรมและการอุทิศตนต่อพระราม. หรือแม้แต่ท้าวราพณ์เอง แม้ว่าจะเลวร้ายอย่างที่สุด ในบางโอกาสเขาก็มีเหตุผลที่น่าสนใจสำหรับธรรมชาติที่ชั่วร้ายของเขา และในท้ายที่สุด เมื่อท้าวราพณ์สิ้นชีพ ก็ได้รับความเห็นอกเห็นใจจากพระรามผู้เป็นอริอย่างน่าประหลาด.

       เราอาจพึงระลึกไว้ด้วยว่ากวี (อาทิ ฤๅษีวาลมีกิ กาลิทาส และ อคัสตยะ เป็นต้น) พรรณนาถึงรากษสสองประเภทที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก ซึ่งทั้งสองประเภทถูกมองว่าเป็นภัยต่อสังคม วัฒนธรรม และอารยธรรมของชาวอารยัน. ในอีกแง่หนึ่ง มีหลายสิ่งที่เราอาจคิดว่าเหล่ารากษสที่เป็นชนชั้นนำและชนชั้นสูงในกรุงลงกา ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในวังและคฤหาสน์อันส่องประกายระยิบระยับนั้น และดูเหมือนว่าจะมีบรรทัดฐานทางการเมืองและแม้แต่ศาสนาร่วมกันกับศัตรูที่เป็นมนุษย์ของพวกเขา. เหล่านี้รวมถึงท้าวราพณ์ทศกัณฐ์ พระประยูรญาติ ตลอดจนเหล่าอมาตย์เสนา. ในทางกลับกัน บทกวีรามายณะยังแสดงให้เราเห็นถึงรากษสที่เถื่อนดิบ น่ากลัวดุร้าย คอยหลอกหลอนมนุษย์ในถิ่นกันดารป่าเขา กัดกินเลือดเนื้อมนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ ที่ผ่านไปมา.

ทศกัณฐ์ หรือท้าวราพณ์, ภาพเขียนบนกำแพงภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร, ถ่ายไว้เมื่อ 2 กรกฎาคม 2566.

 
หน้าที่ 2
ท้าวราพณ์ หรือทศกัณฐ์
ท้าวราพณ์ (दशकण्ठ - Dashakanth or Todsagan or Thotsakan or Daśagrīva "Ten-necked," - ทศกัณฐ์ - ผู้มีสิบคอ หรือ สิบหัว) หรือ (रावण - Rāvaṇa or Raavan - ท้าวราพณ์ หรือ ราวณะ) ศัตรูตัวฉกาจและมีความโหดร้ายสำหรับวีรบุรุษในมหากาพย์นี้ อย่างน้อยก็อยู่ในรูปลักษณ์ที่ฤๅษีวามีกิได้บรรยายสาธกมา เป็นบุคคลที่น่าสนใจและซับซ้อนกว่าความที่เป็นผู้หยาบคาย โหดเหี้ยม และเจ้าเล่ห์ ในตำราและสื่อต่าง ๆ ที่ได้แสดงในยุคหลัง ๆ นั้น มีจำนวนนับไม่ถ้วน รวมทั้งในสื่อที่แสดงถึงจินตนาการอันเป็นที่นิยม. แม้ว่าเขาจะมีความเย่อหยิ่ง หมกหมุ่นในตัณหาราคะ และการใช้กำลังเข้าหักหาญทางเพศมากเกินพอ รวมทั้งการสร้างความหายนะอันเกิดจากความก้าวร้าวของเขาที่ก่อตัวขึ้นทั้งสามโลก แต่กระนั้นเขายังถูกนำเสนอในสุนทรกัณฑ์ในฐานะผู้มีอำนาจที่ค่อนข้างรุ่งโรจน์ เร่าร้อนทางเพศ มีภรรยาหลายคนที่คร่ำครวญถึงเขา และ ณ การบรรยายจุดหนึ่งในยุทธกัณฑ์ ในขั้นสุดท้ายท้าวราพณ์ก็ตระหนักถึงความโง่เขลาในการกระทำที่ผ่านมาของตน. แต่ในเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ตามภารกิจของท้าวราพณ์ที่ปรากฎในกัณฑ์สุดท้ายของมหากาพย์ อุตตรกัณฑ์นั้น เราได้เห็นแง่มุมต่าง ๆ ของตัวละครท้าวราพณ์ผู้ซึ่งเป็นแอนตี้ฮีโร่ที่ยิ่งใหญ่มีเสน่ห์น่าหลงใหล และน่าสนใจนี้ มีข้อมูลเชิงลึกที่ก่อตัวขึ้น.

       สิ่งแรกที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับท้าวราพณ์ในเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนที่เขาจะถือกำเนิดขึ้นมา และสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องหล่อหลอมลักษณะนิสัยของท้าวราพณ์อย่างมาก. นางไกกาสี01. เป็นมารดาของท้าวราพณ์ ซึ่งนางเป็นบุตรีของสุมาลิน (Sumālin) หรือท้าวมาลีวราช (ในรามเกียรติ์) บ้างก็เรียกท้าวสุมาลีรากษส. สุมาลินนั้นเป็นนักพรตรากษสที่มีอิทธิฤทธิ์ ไม่สนอกสนใจในเรื่องการแต่งงานของลูกสาวตน. เขาได้ส่งนางไกกาสีเด็กหญิงผู้ใสซื่อไปสู่ขอพราหมณ์ที่เป็นปราชญ์นามว่า วิศรวา (विश्रव - Viśravas) ตามลำพัง ซึ่งพราหมณ์วิศรวานี้เป็นบุตรของศาสดาพยากรณ์หรือมหาฤๅษีผู้มีฤทธิ์นามว่า ปุลัสตยะ02. และเป็นหลานของพระพรหมให้แต่งงานกับนาง. ด้วยคำสั่งของบิดา นางไกกาสีจึงได้เข้าไปหาพราหมณ์วิศรวา แม้ว่าขณะนั้นเขาอยู่ในสภาพที่อุทิศตนแล้วในขณะทำพิธีด้านพระเวท "อัคนิโหตระ"03. กวีได้พรรณนาถึงช่วงเวลานี้ว่าเป็นช่วงที่น่ากลัว ("ทารุณเวลา - dāruṇā velā").

       พราหมณ์วิศรวาทราบทันทีด้วยพลังจิตเหนือธรรมชาติว่านางไกกาสีปรารถนาจะแต่งงานกับเขาและให้กำเนิดบุตรและบุตรี ซึ่งเขาได้ยินยอมแต่ก็กล่าวเตือนนางว่า ด้วยนางเข้ามาใกล้เขาในเวลาที่น่ากลัวเช่นนี้ นางไกกาสีจะให้กำเนิดบุตรรากษสที่น่ากลัวและโหดร้าย. ด้วยคำประกาศิต นางจึงวิงวอนว่าบุตรที่น่าสะพีงกลัวเช่นนี้จะไม่คู่ควรกับการเป็นวงศ์พระพรหม ปู่ของวิศรวา ซึ่งพราหมณ์จอมปราชญ์วิศรวาจึงยินยอมบางส่วน โดยสัญญาว่าบุตรชายคนสุดท้องของนางเท่านั้น พิเภก จะเป็นผู้ทรงธรรมและคู่ควรกับสายเลือดวงศ์วานอันสูงส่งของเขา ดังนั้นในเวลาที่เหมาะสม นางไกกาสีจึงให้กำเนิดบุตรสามตน คือ ท้าวราพณ์ กุมภกรรณ และพิเภกผู้ทรงธรรม รวมทั้งบุตรีตนหนึ่ง ชื่อ นางสำมนักขา (शूर्पणखा, ศูรฺปณขา - śūrpaṇakhā) ซึ่งการกำเนิดของท้าวราพณ์บุตรคนโตของนางมาพร้อมกับลางร้ายดังที่ฤๅษีอคัสตยะกล่าวไว้ในภายหลัง:

       หลังจากนั้นไม่นาน พระรามเอ่ย... หญิงสาวที่ได้กล่าวถึง ก็ให้กำเนิดทารกที่น่าสะพึงกลัวขึ้นมา มีรูปร่างเหมือนรากษส.
       ทารกนั้นมีสิบเศียร มีเขี้ยวขนาดใหญ่ และดูเหมือนถ้วยล้างตาสีดำ ทารกนั้นมีริมฝีปากเป็นสีทองแดง มียี่สิบแขน
       มีปากขนาดใหญ่ และมีผมคล้ายเปลวเพลิง. ในช่วงเวลาที่ทารกราพณ์ถือกำเนิดขึ้นนั้น สุนัขจิ้งจอกได้ปล่อยเปลวไฟออกมาทางปาก
       และเหล่าสัตว์ที่กินเนื้อต่างได้บินหรือวิ่งวนตามเข็มนาฬิกา. ฝนตกลงมาเป็นเลือด และเมฆส่งเสียงดังกึกก้อง.
       ดวงอาทิตย์ลับหายไปจากท้องฟ้า และเกิดอุกกาบาตขนาดใหญ่ตกลงสู่พื้น.

      
       ในตอนนี้ถือเป็นเรื่องราวที่ชวนสงสัยและขัดข้อง ซึ่งความผิดพลาดอย่างไร้เดียงสาของเด็กสาวทำให้เกิดผลที่ตามมาอย่างน่ากลัวต่อบุตรที่ยังไม่ได้ถือกำเนิดของนาง ซึ่งถูกกำหนดโดยบิดาของพวกเขาเอง. ดังนั้นตามนิยาย (ที่เล่าต่อ ๆ กันมา) ท้าวราพณ์จึงยากที่จะรับผิดชอบเสียทั้งหมดสำหรับความชั่วร้ายอันเป็นธรรมชาติของเขา ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการล่วงละเมิดเล็ก ๆ น้อย ๆ และไม่ได้ตั้งใจของมารดา และปฏิกิริยาที่น่ากลัวและโหดร้ายเกินควรของบิดาของท้าวราพณ์เอง. ยิ่งไปกว่านั้น ความยากลำบากในการเป็นบุพการีของท้าวราพณ์นั้น ไม่ได้จบลงด้วยคำสาปประกาศิตของบิดาก่อนที่เขาจะเกิด. แม้ว่าท้าวราพณ์จะถูกสาปมาให้มีธรรมชาติที่ชั่วร้าย รวมทั้งมารดาของเขาเองที่ด้วยความโลภและความทะเยอทะยานของเธอ กระตุ้นให้เขาเข้าสู่ภาวะแห่งความอิจฉาริษยาอันขมขื่นและท้ายที่สุด ท้าวราพณ์ก็เป็นอริกับท้าวกุเวร เทพแห่งความมั่งคั่ง เป็นเชษฐาต่างมารดาของเขา. ในการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นระหว่างภราดาพี่น้อง ท้าวราพณ์สาบานว่าจะมีอำนาจและเกียรติยศเทียบเท่าหรือเหนือกว่าท้าวกุเวร และนี่คือภารกิจสำคัญที่กำหนดให้เขาเข้าสู่วิถีและการบำเพ็ญตบะที่น่ากลัว อันส่งผลให้เขาได้ประโยชน์ที่จะทำให้ท้าวราพณ์สามารถพิชิตและข่มขวัญได้ทั้งสามโลก โดยเริ่มจากท้าวกุเวรเป็นอันดับแรก.

ท้าวกุเวร (Kubera), ท้าวเทพผู้เป็นใหญ่เหนือยักษ์ รากษส และกินนร เทพแห่งทรัพย์สมบัติ โชคลาภและความมั่งคั่ง, ที่มา: www.silpathai.net, วันที่เข้าถึง: 13 มิถุนายน 2566.
 
หมายเหตุ คำอธิบาย
01. นางไกกาสี (Kaikashi or Kaikasī บ้างก็เรียกนางนิกษา) เป็นมารดา และมีท้าววิศรวา (Vishrava หรือ Viśravas) เป็นบิดาของท้าวราพณ์ (ในรามเกียรติ์นั้น บิดามารดาของทศกัณฐ์คือ ท้าวลัสเตียนกับนางรัชฏา).
02. มหาฤๅษีปุลัสตยะ (पुलस्त्य - Pulastya) เป็นหนึ่งในฤๅษีเจ็ดตน (सप्तर्षि - สัปตฤๅษี - Saptarṣi) ที่พระพรหมสร้างขึ้นด้วยความคิด เป็นบิดาของพราหมณ์วิศรวา ผู้เป็นบิดาของท้าวราพณ์ ดังนั้นท้าวราพณ์หรือทศกัณฐ์ จึงถือว่าตนเป็นวงศ์ของพรหม.
03.
อัคนิโหตระ (अग्निहोत्र - Agnihotra) หวนะ (हवन) หรือ โหมะ (होम) อินเดียทางใต้จะเรียกว่า "โฮมัม" เป็นการบูชาไฟ พิธีกรรมของพราหมณ์-ฮินดู เป็นการถวายสิ่งของเครื่องบัดพลี (เป็นทั้งไม้มงคล สมุนไพร ธัญพืช ดอกไม้ เนย น้ำผึ้ง เป็นต้น) ลงไปในกองไฟศักดิ์สิทธิ์ เพื่อถวายบูชาพระผู้เป็นเจ้าที่เรานับถือโดยผ่านพระอัคนี ในคัมภีร์พระเวทได้ระบุไว้ว่าเป็นพิธีกรรมของเหล่าพราหมณ์เท่านั้น.

 
หน้าที่ 3
       ความก้าวร้าวและการหาประโยชน์จากการต่อสู้ของท้าวราพณ์นั้น ถือได้ว่าเป็นตำนาน เขาไม่ละเลยที่จะท้าทายตัวแทนแห่งอำนาจและผู้ทรงฤทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ ทวยเทพ พญานาค ปีศาจ หรือแม้แต่พระศิวะผู้เป็นเทพขั้นสูงสุด. แม้แต่พระญาติ ท้าวกุเวร ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างมารดา ท้าวราพณ์ก็เอาชนะและสังหารท้าวกุเวรเสียในการรบอย่างบ้าคลั่ง เขาสังหารน้องเขยชิวหา (दानव विद्युज्जिह्वा - dānava Vidyujjihva) ผู้เป็นสามีของนางสำมนักขาหรือขนิษฐาน้องสาวของตน. เขาไม่ลังเลที่จะลวนลาม ยั่วยวน ลักพาตัว และข่มขืนผู้หญิงคนใดก็ตามที่เขาพบเจอ. แม้ด้วยธรรมชาติของยักษารากษสที่คอยกินเนื้อมนุษย์ของเขา แต่เขาก็ไม่มีปัญญาที่จะกลืนกินผู้ส่งสาร (น่าจะหมายถึงผู้ส่งสารระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับมนุษย์ นั่นคือพราหมณ์) และกลุ่มผู้หยั่งรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่มารวมตัวกันเพื่อทำพิธีบูชายัญอันศักดิ์สิทธิ์ได้.

       เรื่องราวการต่อสู้ การข่มขืน และการกระทำชั่วร้ายของท้าวราพณ์ มีมากมาย แต่บางครั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับการลักพาตัวสตรีของเขา ข้อมูลในมหากาพย์ก็ขัดแย้งกันเอง. ตัวอย่างเช่นในสุนทรกัณฑ์นั้น เมื่อกวีพรรณนาถึงสาวงามในวังชั้นในของท้าวราวณะหรือท้าวราพณ์แล้ว กวีได้บรรยายว่านางต่าง ๆ ล้วนได้รับการปรนเปรออย่างดี (ไม่มีนางใดถูกชิงไปจากความประสงค์ของพวกนาง - หากแปลตรง ๆ ตาม 02.) แต่ได้รับชัยชนะโดยคุณธรรมของท้าวราพณ์ และสาวงามเหล่านี้ไม่เคยเป็นของชายใดมาก่อน. ในอุตตรกัณฑ์ กวีได้บรรยายว่า ท้าวราวณะได้ฉุดกระชากลากถูเหล่านางในของตนอย่างโหดเหี้ยม มีเสียงร้องไห้คร่ำครวญจากบรรดาสามี (ก่อนฉุดคร่าไป) พี่น้อง และบิดา จากนั้นพวกเขาก็สาปแช่งให้ท้าวราพณ์ไปตายซะ ด้วยเพราะผู้หญิงและการปล้มสะดมของเขา.

       แม้ว่าจอมรากษสตนนี้จะประกอบการฆาตกรรม ข่มขืน และประทุษร้ายผู้อื่นมายาวนาน และการลักพาตัวนางสีดาอันเป็นที่รักของพระราม (Rāma หรือ
Adipurush) วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ แต่พระรามก็ปฏิบัติต่อท้าวราพณ์ทศกัณฐ์อย่างอ่อนโยนและน่าทึ่ง. ไม่เพียงแต่พระรามเสนอที่จะไว้ชีวิตจอมรากษส หากเขาส่งคืนนางสีดาด้วยความเต็มใจ. แต่ในระหว่างการเผชิญหน้าเพื่อต่อสู้กันครั้งแรกนั้น เจ้าชายผู้เที่ยงธรรมเห็นว่าศัตรูของพระองค์กำลังเหน็ดเหนื่อย พระรามจึงใช้ศรยิงมงกุฏของท้าวราพณ์ทิ้งลง และไล่ให้เขาออกจากสนามรบเพื่อพักผ่อน สำหรับการเผชิญหน้าครั้งต่อไป. ท้ายที่สุดเมื่อพระรามสังหารท้าวราพณ์ทศกัณฐ์ได้แล้ว เขาก็สั่งให้พิเภกยักษาจัดพิธีศพอย่างสมเกียรติตามความเชื่อในแนวคิดแบบพระเวท ยกย่องท้าวราพณ์ในฐานะนักรบผู้ยิ่งใหญ่ และประกาศก้องว่าท้าวราพณ์ผู้สิ้นชีกตักษัยไปแล้วนั้น ตนได้นับถือแบบแทบจะเป็นพี่น้องกัน.

ทศกัณฐ์หรือท้าวราวณะ กำลังโยกเขาไกรลาส, มุมระเบียงคดทิศใต้ปืกตะวันตก, ปราสาทนครวัด เสียมราฐ กัมพูชา, ถ่ายไว้เมื่อ 20 ตุลาคม 2561.

      เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้โดยทั่วไปราชาแห่งรากษสนั้น เป็นที่สะพึงกลัว ดูน่าเกรงขามและมีอำนาจเหนือกว่าสรรพชีวิตอื่น ๆ ทั้งหมดในสามโลก แต่ในที่สุดก็ยอมสยบต่อพระวิษณุผู้เป็นเทพสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว ในอุตตรกัณฑ์ได้บันทึกเหตุการณ์ไว้สามครั้งว่า ท้าวราพณ์สามารถเอาชนะคู่แข่งที่เหนือกว่าได้ และเขาก็จับมือร่วมกันเป็นพันธมิตรกับคู่แข่งนั้นแทน. ซึ่งครั้งแรกและเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดเกิดขึ้นเมื่อท้าวราพณ์เหาะข้ามเทือกเขาหิมาลัย มีการพบความเคลื่อนไหวของพาหนะของท้าวราพณ์ขณะพยายามข้ามผ่านป่า (อันเป็นที่ตั้งของเขาไกรลาส) ในขณะที่พระศิวะกับหยอกล้อกับมเหสีพระแม่อุมาเทวี. จอมรากษสคำราม พยายามโยกถอนภูเขา (เขาไกรลาส) ทั้งลูกด้วยพละกำลังที่หาใครเสมอเหมือน. อย่างไรก็ตาม พระอิศวรจอมเทพก็รู้สึกขบขันกับความทะนงอวดดีของพญารากษสตนนี้ และได้กดนิ้วเท้าลงบนยอดเขา ทำให้ท้าวราพณ์เปล่งเสียงกึกก้องด้วยความเจ็บปวดยิ่ง. พระอิศวรทรงพอพระทัยในพละกำลังและความกล้าหาญของจอมอสูร และเพื่อรำลึกถึงเสียงร้องคำรามอันทรงพลังของพญารากษสที่ดังกึกก้องไปทั่วทั้งจักรวาล พระศิวะท้าวเธอจึงประทานนามแก่เขาว่า ราวณะ "ผู้ทำให้โลกสั่นสะเทือนด้วยเสียงร้องคำรามของตน" มาแทนที่ด้วยจุดประสงค์ในทางปฏิบัติเสียทั้งหมด จากชื่อเดิมของจอมรากษส อันเป็นชื่อแรกเกิดของเขาคือ ทศกัณฑ์ (दशकण्ठ - Daśagrīva) "สิบคอ." ซึ่งตอนนี้ก็พบว่าในภายหลังมีการอ้างอิงถึงเพียงเอกสารชิ้นเดียว ที่ได้กล่าวถึงการบูชาศิวลึงค์ทองคำของท้าวราวณะ ซึ่งน่าจะเป็นแรงบันดาลใจสำหรับประเพณีนี้ ซึ่งมหาฤๅษีวาลมีกิก็มิได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า ท้าวราพณ์เป็นสาวกของพระศิวะ.

 
หน้าที่ 4
       ท้าวราพณ์ได้เผชิญกับคู่ต่อสู้ที่มีนามว่า พญาพาลี และกษัตริย์ฮายฮายา01. ท้าวอรชุน การตวีรยะ ซึ่งทั้งสองได้เอาชนะเขาในการแข่งขันมวยปล้ำ และจับเขาเข้ากรงขัง. จากการพบกับทั้งสองคู่ต่อสู้ จบลงด้วยการที่ท้าวราพณ์ได้เป็นพันธมิตรกันกับทั้งสองพญา. สืบความย้อนไปก่อนหน้านี้ ก็สามารถอธิบายได้ว่าทำไมพระรามถึงเลือกที่จะเป็นพันธมิตรกับสุครีพแทนที่จะเป็นพญาพาลี ซึ่งเป็นเชษฐาที่มีอำนาจมากกว่า.

ภาพโขนไทยตอน "พิเภกสวามิภักดิ์", ที่มา: www.thairath.co.th, วันที่เข้าถึง: 19 มิถุนายน 2566.

 
พิเภก
พิเภก (विभीषण - Vibhīṣaṇa - วิภีษณะ) มีกายเป็นสีเขียว มีความรู้ทางโหราศาสตร์ เป็นรากษสหรือยักษ์ที่ไม่มีฤทธิ์ บุตรผู้ทรงคุณธรรมเพียงตนเดียวของนาง
ไกกาสี เป็นอนุชาตนสุดท้องของท้าวราวณะ เป็นหนึ่งในบุคคลเพียงไม่กี่ท่านที่มีความสำคัญ เป็นตัวอย่างบุคคลในวรรณคดีซึ่งโดยธรรมชาติแล้วควรจะชั่วร้าย แม้จะเป็นอสูร แต่ก็กลับกลายเป็นผู้มีคุณธรรมโดยได้สวามิภักดิ์ (ต่อพระราม) ได้รับการลี้หลบภัยก่อน (śaraṇam - ศฺราณัม สส. - สรณะ – บฬ. ที่พึ่ง ที่ระลึก ที่ยึดเหนี่ยว ที่เหนี่ยวรั้งใจ) จากนั้นจึงอุทิศตนเพื่อผู้นำ (พระราม) หรือเป็นการภักดีอีกรูปแบบหนึ่งแด่พระวิษณุผู้เป็นเทพขั้นสูงสุด. ในเรื่องนี้นั้น รากษสตนนี้ (พิเภก) จัดอยู่ในอันดับที่เท่าเทียมกับสาวกเทพอสูรที่มีชื่อเสียง คือ ประหลาดกุมาร (प्रह्लाद - Prahlāda) (ดูเพิ่มเติมใน นารายณ์อวตาร ตอนที่ 4 "นรสิงหาวตาร") ผู้ซึ่งบูชาองค์พระผู้เป็นเจ้าในทศวตารหรือนารายณ์อวตารปางที่ 4 "นรสิงหาวตาร" ( (Narasiṃha - the Man-Lion avatāra). พิเภกไม่สามารถทนต่อความชั่วร้ายของพระเชษฐาได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลักพาตัวและกักขังนางสีดาไว้ พิเภกกล่าวตำหนิท้าวราพณ์อย่างอาจหาญไม่สะทกสะท้าน ทำให้ท้าวราพณ์โกรธกริ้วอย่างที่สุด ราชารากษสจึงขับไล่พิเภกออกจากราชสำนักกรุงลงกา.

       จากนั้นโหราพิเภกหรือวิภีษณะก็เหาะ02.ไปพร้อมกับรากษสผู้ติดตามสี่ตน ข้ามทะเลไปยังชายฝั่งทางตอนใต้ของอนุทวีปอินเดีย ซึ่งพระรามและกองกำลังเหล่าวานรตั้งค่ายอยู่ที่นั่น พิเภกลี้ภัย (ศฺราณัม) หรือสวามิภักดิ์แทบเท้าของพระราม นับเป็นแบบอย่างของความรอดจวบจนปัจจุบัน. เมื่อพิเภกยักษาได้รับการยอมรับแล้ว เขาได้ให้คำปรึกษาแนะนำในด้านกลยุทธ์และยุทธวิธีหลายประการ ด้วยความเข้าใจในลักษณะการสู้รบของเหล่ารากษสกรุงลงกา เข้าใจแนวความคิด วิธีคิด เล่ห์เหลี่ยม การล่อหลอกของเหล่ายักษารากษส อันเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายพระรามเป็นอย่างมาก. พระรามได้เถลิงถวัลย์เป็นราชาแห่งรากษส ก่อนที่พระองค์จะพิชิตและสังหารท้าวราวณะเสียด้วยซ้ำ และพิเภกรากษสผู้นอบน้อมก็ยินดีให้พระรามใช้วังที่เหาะเหินได้ ซึ่งก็คือบุษบก03. ในตอนท้าย พิเภกก็เหมือนกับหนุมาน ผู้ซึ่งเคารพสักการะพระรามอย่างสูงสุด พิเภกไม่ได้รับอนุญาตให้ติดตามพระผู้เป็นเจ้าของเขาไปสู่สรวงสวรรค์ไวกูณฐโลก (वैकुण्ठ - ไวกูณฐ์ - Vaikuṇṭha) เนื่องจากพระรามได้บัญชาให้เขาอยู่บนโลกเพื่อปกครองเหล่ารากษสที่เกเร. ด้วยวิถีนี้ โหราวิภีษณะก็เป็นเฉกเช่นกำแหงหนุมาน นั่นคือเข้าร่วมกลุ่มจิรชีวินเจ็ดตน (รายละเอียดแสดงในหมายเหตุ คำอธิบายท้ายหน้าที่ 7 ของ A02. บทนำฯ ).

หมายเหตุ คำอธิบาย
01. ฮายฮายา (Haihaya หรือ Heheya Kingdom) เป็นอาณาจักรโบราณที่ปกครองโดยพวกยาดพ สืบเชื้อสายจากจันทรวงศ์ (Chandravamsha) เมืองหลวงชื่อมาหิชมาติ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำนรรมทา (नर्मदा - Narmada) หรือ เรวา (रेवा - Reva) ปัจจุบันอยู่ในมัธยประเทศ ภารตะ.
02. มีข้อมูลขัดแย้งกันระหว่างรามายณะกับรามเกียรติ์ ซึ่งในรามเกียรติ์ระบุว่าพิเภกเป็นยักษ์ที่ไม่มีฤทธิ์

บุษบก, ที่มา: www.wisdomlib.org, วันที่เข้าถึง 21 มิถุนายน 2566.

 
03. บุษบก (पुष्पक - Puṣpaka) ในประเพณีของไทยถือว่า เป็นงานคุรุภัณฑ์ นิยมสร้างขึ้นสำหรับประดิษฐานสิ่งที่ควรสักการะทางพระพุทธศาสนา เช่น พระพุทธรุป พระธาตุ หรือใช้เป็นธรรมาสน์สำหรับพระภิกษุใช้ขึ้นสวดในวันธรรมสวนะ หรือเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังที่พระมหากษัตริย์ อุปราชประทับออกว่าราชการ ส่วนในรามายณะนั้น บุษบก หมายถึง เทียมรถหรือพระราชวัง (विमान - วิมาน- vimāna) อันศักดิ์สิทธิ์ที่เหาะบินได้ เดิมเป็นสมบัติของท้าวกุเวร, แต่ท้าวราพณ์ทศกัณฐ์ได้ยึดไว้.
 

หน้าที่ 5
      อย่างไรก็ตาม ด้วยคุณลักษณะของพิเภกนั้น มิได้มีความสับสนแต่ประการใด. แม้ว่าเขาจะได้รับการยกย่องอย่างสูงในเรื่องคุณธรรมและความกล้าหาญในการอยู่ข้างฝ่ายพระรามในช่วงที่มียุทธสงครามก็ตาม แต่จอมโหรพิเภกก็ได้รับการตำหนิในระดับหนึ่งตามบริบททางวัฒนธรรมอินเดีย ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับพี่น้องเครือญาติและความภักดีต่อครอบครัวสูง จากการทรยศของเขา ไม่ว่าพี่ชายเชษฐาตน ทศกัณฐ์จะชั่วร้ายเพียงใด เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ ดังนั้นแม้แต่ในยุคสมัยปัจจุบัน บางครั้งก็มีการเปรียบเปรยถึงผู้ที่ทรยศต่อครอบครัวของเขาเอง ในภาษาเบงกาลีที่กล่าวว่า "โกร์ ช็อตตรู ไบบีซ่อน - ghore śotru bibhīṣon" [เขาคือ] ศัตรูในบ้าน วิภีษณะ.
 

ภาพแสดงถึง เหล่ารากษสพยายามปลุกกุมภกรรณ ด้วยการตีเขาด้วยอาวุธ กระบอง และการตะโกนใส่หู, ไม่ทราบชื่อจิตรกร, คริสต์ศตวรรษที่ 17, บริติชมิวเซียม, ที่มา: www.wikiwand.com, วันที่เข้าถึง 22 มิถุนายน 2566.

กุมภกรรณ
กุมภกรรณ (कुम्भकर्ण - Kumbhakarṇa) แปลว่า หูหม้อ - pot-eared ด้วยเพราะมีร่างกายใหญ่โตถึงขนาดนำหม้อมาเป็นต่างหูได้. เขาเป็นอนุชาร่างมหึมาของท้าวราพณ์ ถือเป็นตัวอย่างของการเชื่อมโยงที่น่าทึ่งของฤๅษีวาลมีกิ (หรือวัชมฤคี) ระหว่างความน่าสะพรึงกลัวกับความขบขันในตัวละครเดียว. กุมภกรรณมีความละโมบมาก จนเหล่าทวยเทพต่างกลัวว่าหากเขาได้รับพลังเพิ่มเติม (เพื่อให้เขาหยุดความโลภลงบ้าง) เขาอาจจะกลืนกินโลกทั้งใบได้จริง ๆ . เพื่อป้องกันความหายนะนี้ ทวยเทพได้หลอกกุมภกรรณโดยให้พระแม่สรัสวดี (Sarasvatī) เข้าไปในปากของรากษสร่างมหึมาตนนี้ ควบคุมอวัยวะเปล่งเสียง และเลือกหาสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เขา ด้วยการให้กุมภกรรณหลับเป็นนิตย์ เป็นประโยชน์ที่พระผู้สร้างได้ส่งมอบให้อย่างมีความสุข (ต่อชาวโลกทั้งมวล).

       ในช่วงยุทธสงคราม บรรดารากษสทหารกล้าของท้าวราวณะได้ถูกสังหารเกือบหมดสิ้น กุมภกรรณจึงถูกบังคับให้ตื่นจากหลับใหล การตื่นของเขาได้รับการพรรณนาในฉากที่เกินจริงและตลกขบขัน ซึ่งแสดงถึงความรุนแรงที่ไม่ธรรมดาที่จำเป็นในการปลุกสัตว์ประหลาดตนนี้ และปริมาณอาหารตลอดจนเครื่องดื่มที่ไร้สาระที่จำเป็นในการทำให้เขาลุกขึ้นและไปต่อ. เมื่อมหึมารากษสตื่นขึ้นแล้ว เขาได้รายงานต่อท้าวราพณ์พระเชษฐาได้ทราบถึงความตั้งใจของเขา และค่อนข้างเป็นที่น่าแปลกใจที่คำสอนของเขาเกี่ยวกับรัฐกุศโลบาย ความชอบธรรม และความโง่เขลาในวิถีของกุมภกรรณเอง. มีเพียงสิ่งเดียวที่กระตุ้นให้ท้าวราพณ์ยอมรับคือ การลักพาตัวนางสีดานั้น ถือเป็นความผิดที่ร้ายแรงและปฏิเสธข้อเรียกร้องของพระรามในการส่งนางสีดากลับคืนไป. อย่างไรก็ตามในฐานะอนุชาผู้ซื่อสัตย์ กุมภกรรณก็เดินทัพเข้าประจัญและสร้างความหายนะอย่างใหญ่หลวงแก่เหล่ากองทัพวานร ก่อนที่เขาจะถูกศรของพระรามหั่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แม้กระนั้นตอนที่เขาสิ้นชีพแล้ว กุมภกรรณก็สามารถทำลายล้างได้อย่างมโหฬาร ศีรษะและลำตัวของเขาถูกตัดขาด ตามคำพรรณนาของกวีที่สาธกไว้อย่างเหลือเชื่อ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงเมื่อเหล่าอวัยวะของกุมภกรรณได้ตกลงมา.

 

อินทรชิต, ที่มา: www.culture.go.th, วันที่เข้าถึง: 23 มิถุนายน 2566.

อินทรชิต
อินทรชิต (इन्‍द्र जीत อินฺทฺร ชีต Indrajit) ในรามเกียรติ์เรียก รณพักตร์ อินทรชิต มีอีกชื่อหนึ่งว่า เมฆนาท (मेघनाद - Meghanāda) หรือบ้างก็เรียก ราวณิ (रावणी - Rāvaṇi) หรือเรียกรวมว่า เมฆนาท ราวณิ (मेघनाद रावणी - Meghanāda Rāvaṇi) อินทรชิตนั้น นับได้ว่าเป็นพันธมิตรที่ทรงพลังที่สุด บุตรแห่งทศกัณฐ์และนางมณโฑ ซึ่งมักเรียกในชื่อสงคราม (nom de guerre - นอม เดอ แกร์) ว่า อินทรชิต "ผู้พิชิตพระอินทร์". เขาเป็นร่างที่ผสมผสานระหว่างทักษะ ความแข็งแกร่งของนักรบที่ยอดเยี่ยมเข้ากับพลังเวทมนตร์ของจอมคาถา. ในช่วงที่เหล่าปราชญ์ ผู้หยั่งรู้ ฤๅษีต่าง ๆ ได้มาแสดงความยินดีในการอุทิศตนเพื่อปราบเหล่ารากษสของพระราม พวกเขาได้กล่าวว่าอินทรชิตนั้น เป็นศัตรูที่น่ากลัวกว่าท้าวราพณ์ผู้บิดาเสียอีก. รณพักตร์ได้รับประโยชน์ พลัง พร้อมทั้งอาวุธจากเทพขั้นสูงหลายองค์ พระพรหมได้ประทานศรนาคบาศแก่เขา ด้วยการสังเวยบูชายัญในด้านมืดตามแนวคิดของพระเวท อินทรชิตสามารถจับหนุมาน ผูกมัดรวมกับพระรามและพระลักษมณ์ด้วยนาคบาศ (อันเป็นขดลวดอาวุธอสรพิษที่มีอันตรายมาก) อินทรชิตได้ต่อสู้ตะลุมบอนกับพระรามพระลักษมณ์หลายครั้ง (ศึกนาคบาศ และศึกพรหมาสตร์) และกองทัพไพร่พลรากษสของอินทรชิต เคลื่อนทัพจากเทียมรถที่เหาะบินได้. ครั้นเมื่อพระลักษมณ์ทำลายพิธีกุมภนิยา (เป็นพิธีกรรมด้านมืด) ได้แล้ว และอินทรชิตหมดสิ้นอาวุธที่จะต่อกร ท้ายที่สุดอินทรชิตก็ถูกพระลักษมณ์สังหาร หลังจากการรบที่ยาวนานและน่าสยดสยอง.

       ด้วยความที่อินทรชิตเป็นบุคคลพิเศษมีอิทธิฤทธิ์ที่ไม่ธรรมดานั้น แต่เขาก็อยู่ภายในจิตใจและจินตนาการของคนอินเดียระดับหนึ่ง ที่ซึ่งพ่อแม่มักจะตั้งชื่อให้กับบุตรชายของพวกเขาว่าอินทรชิต และเขาได้ถูกทำให้เป็นวีรบุรุษด้านฝ่ายอธรรมและเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีนักเขียนบทละครชาวเบงกาลีที่ชื่อ ไมเคิล มธุสุทนะ ด็อตโต (เบงกาลี: মাইকেল মধুসূদন দত্ত -
Michael Madhusudana Dutt) ได้นำกวีมหากาพย์ภาษาเบงกาลีที่เขาประพันธ์ขึ้นนั้นชื่อ กาพย์เมฆนาทบาศ (Meghnad Badh Kāvya) มาปริวรรตเขียนเป็นบทละครว่า การสังหารเมฆนาท "The Killing of Meghanāda."


 
หน้าที่ 6
บรรดาเหล่ายักษารากษสอื่น ๆ
นอกเหนือจากร่างกายอันสูงใหญ่ของท้าวราพณ์และเหล่ายักษาประยูรญาติ ตลอดจนอำมาตย์ขุนทหารบางส่วนแล้ว ยังมีรากษสอีกหลายตนที่มีบทบาทหลากหลายในเรื่องราวมหากาพย์รามายณะ ที่อยู่นอกราชสำนักกรุงลงกา. มีกองทัพกองหนึ่งที่เป็นด่านหน้าของอาณาจักรรากษส ที่ตั้งอยู่ในป่าทัณฑกะ (दण्डक - Daṇḍaka)01. ของคาบสมุทรอินเดีย. กองกำลังรากษสนี้นำโดยสามพระอนุชาของท้าวราพณ์ ประกอบด้วย พระยาขร02. พระยาทูษณ์03. และพระยาตรีเศียร04. ได้ก่อกวนระรานเหล่านักพรตฤๅษีในป่าศักดิ์สิทธิ์นี้ ซึ่งพระรามได้ให้สัญญาว่าจะปกป้องป่าทัณฑกะนี้ไว้. และเหล่ารากษสพร้อมพลพรรคนี้พยายามที่จะล้างแค้นเอาคืนพระราม ในฐานที่พระลักษมณ์ได้ตัดจมูกนางศูรปณขา หรือ นางสำมนักขา ซึ่งเป็นพระขนิษฐาของพญารากษสทั้งสาม. มีบุคคลสำคัญอีกสองตนคือ รากษสมารีศ (Mārīca) และ รากษสสวาหุ (Subāhu) ผู้เป็นพี่ชาย ได้เข้ามาก่อกวนอาศรมและขัดขวางการประกอบพิธีบูชายัญตามแนวทางพระเวทของพระฤๅษีวิศวามิตร (ดูรายละเอียดในพาลกัณฑ์) ซึ่งทำให้ฤๅษีวิศวามิตรต้องเผชิญกับความวิบากในการเดินทางเข้าสู่กรุงอโยธยา. พระรามได้สังหารสวาหุ และไว้ชีวิตมารีศ (ดูรายละเอียดในอรัณยกัณฑ์) ต่อมามารีศได้เข้าเฝ้าท้าวราพณ์ พญารากษสแห่งกรุงลงกาบังคับให้มารีศแปลงกายเป็นกวางทอง ไปล่อให้พระรามออกตามล่า และล่อให้พระลักษมณ์ออกติดตามกวางทองและพระเชษฐาด้วย ซึ่งทำให้นางสีดาต้องอยู่ในเรือนโดยลำพัง ท้ายที่สุดมารีศก็ถูกพระรามใช้ศรสังหารเสีย.

พระลักษมณ์ตัดจมูกนางศูรปณขา, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 27 มิถุนายน 2566.

       นอกจากนี้ยังมีเหล่ารากษสสุดแสนพิสดารและโดดเดี่ยว พำนักสถิตอยู่ในพงไพร หมกมุ่นอยู่กับการละเล่นและการทำร้ายสังหารมนุษย์. มีบางตนที่ไม่ได้เป็นรากษสที่แท้จริง แต่เป็นเทวดาเทพสวรรค์ที่กระทำผิดต้องถูกลงโทษต้องคำสาป มาชดใช้กรรมจุติยังโลกมนุษย์ ใช้ชีวิตที่วนเวียนเสื่อมโทรม จนกว่าเหล่ารากษสที่ต้องคำสาปนี้ได้ถูกปลดปล่อยด้วยน้ำมือและด้วยศรของพระราม ก็จะกลับร่างคืนสู่สวรรค์อันเป็นการหมดสิ้นเวรกรรมนั่นเอง. ในอรัณยกัณฑ์นั้น เราจะพบรากษสเหล่านี้ ได้แก่ ยักษ์วิราธ05. ซึ่งมีระยะหนึ่งได้พยายามจับตัวนางสีดา (แต่ไม่สำเร็จ) ได้บอกเป็นนัยให้แก่พระรามพระลักษมณ์ถึงการที่ท้าวราวณะจะลักพาตัวนางสีดา และ กาบัณฑ์06. อสูรผู้อัปลักษณ์ ซึ่งก่อนสิ้นใจก็ได้แนะนำให้พระรามไปพบพญาวานรสุครีพ เพื่อจะได้ช่วยเหลือพระองค์ในการตามหานางสีดาต่อไป. และในอุตตรกัณฑ์นั้น ก็ได้แสดงให้เราเห็นถึงรากษสผู้โดดเดี่ยว ลวณะ (Lavaṇa) หรือ ลวณาสูร (लवणासुर - Lavaṇāsura) ผู้น่าสะพรึงกลัว ซึ่งต่อมาก็ถูกสังหารโดยพระศัตรุฆน์.
หมายเหตุ คำอธิบาย
01. ป่าทัณฑกะ (दण्डक - Daṇḍaka) หรือ ทัณฑการัณย์ (दण्डकारण्य - Daṇḍakāraṇya) เป็นภูมิภาคประวัติศาสตร์ในอินเดียที่กล่าวถึงในรามายณะ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 92,200 ตารางกิโลเมตรซึ่งรวมถึงเนินเขาอบูชมาร์ (अबूझमाड़ - Abujhmar) ทางตะวันตกและฆาต (Ghats) ตะวันออกทางตะวันออก รวมถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐมหาราษฏระและ รัฐฉัตตีสครห์ (Chhattisgarh) และบางส่วนของรัฐโอฑิศา (Odisha) และรัฐเตลังกานา (Telangana) มีระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร จากเหนือจรดใต้ และประมาณ 500 กิโลเมตร จากตะวันออกไปตะวันตก คำว่าทัณฑะ
(Daṇḍa) หมายถึงโอรสแห่งกษัตริย์อิกษวากุ (इक्ष्वाकु - Ikṣvāku) อันเป็นปฐมกษัตริย์แห่งสุริยวงศ์. (ดูเพิ่มเติมใน A01. บทนำ หน้าที่ 2)
02.
พระยาขร (खर - Khara) เป็นรากษสคู่แฝดกับพระทูษณ์ มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับท้าวราพณ์ (รามเกียรติ์ระบุว่าเป็นน้องชายร่วมบิดามารดากับทศกัณฐ์) ต่อมาได้ถูกสังหารโดยพระรามพระลักษณ์.
03.
พระยาทูษณ์ หรือ พญาทูษณ์
(दूषण - Dūṣaṇa) (รามเกียรติ์ระบุว่าเป็นน้องชายร่วมบิดามารดากับทศกัณฐ์) เป็นรากษสคู่แฝดกับพญาขร ปกครองป่าทัณฑกะ สิ้นชีพไปด้วยกันกับพญาขร.
04.
พระยาตรีเศียร (त्रिशिर - Triśiras) หรือ ท้าวตรีเศียร  (รามเกียรติ์ระบุว่าเป็นน้องชายร่วมบิดามารดากับทศกัณฐ์ และสิ้นชีพด้วยการแผลงศรของพระราม) เป็นรากษสบุตรของท้าวราพณ์.

05. ยักษ์วิราธ (विराध - Virādha) เป็นรากษสที่พยายามลักพาตัวนางสีดา แต่ท้ายที่สุดก็ถูกสังหารโดยพระรามพระลักษมณ์ ซึ่งในประเทศไทย ได้เรียกเพี้ยนไปว่าพระพิราพ ซึ่งมีคติเดิมมาว่าพระไภรวะ ซึ่งเป็นอวตารปางดุร้ายของพระอิศวร เมื่อไทยได้รับอิทธพลดุริยางคศิลป์มาจากอินเดีย คติการนับถือพระอิศวรนารายณ์ทวยเทพ ตลอดจนพระไภรวะจึงติดตามมาด้วย ถือว่าพระไภรวะเป็นครูสูงสุดทั้งฝ่ายนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ ต่อมานิยมเรียกเพี้ยนเป็นยักษ์พิราพ จึงเกิดความสับสน ปัจจุบันกรมศิลปากรได้มีการชำระประวัติของพระพิราพ แต่การประชาสัมพันธ์ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย.

พระรามและพระลักษมณ์กำลังนั่งบนสองแขนของกาบัณฑ์, ที่มา: www.britishmuseum.org, วันที่เข้าถึง: 30 มิถุนายน 2566.

 
06. กาบัณฑ์ บ้างก็เรียก กบัณฑา (कबन्ध - Kabandha) เดิมเป็นคนธรรพ์ (Gandharva) นามว่า วิศวาวสุ (Vishvavasu) แต่ได้ไปกระทำการขัดใจ พระอินทร์ จึงถูกสาปให้เป็นอสูรหน้าตาอัปลักษณ์ คอยหากินอยู่ในป่า เมื่อพระรามพระลักษมณ์หลงป่า ได้เผชิญกับกาบัณฑ์ที่กำลังดุร้าย หิวโหย เกิดการต่อสู้กัน กาบัณฑ์ถูกตัดแขนทั้งสองข้าง ก่อนสิ้นใจ ได้ขอให้พระรามพระลักษมณ์ช่วยเผาร่างของตนเป็นเถ้าถ่าน เพื่อคลายคำสาป ขณะที่ร่างกำลังเป็นเถ้าถ่านนั้น กาบัณฑ์ได้กล่าวถึงหนุมาน และสุครีพ ให้พระรามพระลักษมณ์ทราบเรื่องราวต่าง ๆ เป็นจุดเริ่มต้นให้พระรามพระลักษมณ์ต้องเดินทางสู่เมืองขีดขินธ์ หรือ ขีดขิน (หรือ กิษกินธ์- Kishkindha) นั่นเอง ปรับปรุงจาก: soccersuck.com, วันที่เข้าถึง 20 มกราคม 2563.

 
หน้าที่ 7
บรรดาเหล่าสตรียักษีและรากษสีอื่น ๆ
เช่นเดียวกับบุรุษยักษาและรากษสที่ได้กล่าวมาข้างต้น เหล่าสตรียักษีและรากษสี ก็ได้แสดงอุปนิสัยและคุณลักษณะที่หลากหลายอย่างชัดเจนในหมู่อสูรา. การทดสอบความกล้าหาญครั้งแรกของพระราม ก็คือการแผลงศรสังหารนางอสูรตาฏะกา (ดูเพิ่มเติมในหมายเหตุ คำอธิบายใน 01. พาลกัณฑ์ หน้าที่ 3) ยักษีชราผู้มักก่อกวนการบำเพ็ญญาณของฤๅษีวิศวามิตร. เช่นเดียวกับรากษสีป่าตนอื่น ๆ ตาฏะกานั้นได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นสตรียักษีที่งดงาม แต่ด้วยการสาปแช่ง นางจึงได้แปรเปลี่ยนเป็นอสูรประหลาดที่น่าสะพรึงกลัว. ในรามายณะมิได้อ้างถึงแต่อย่างใดว่านางได้รับการปลดปล่อยเพราะการสังหารของพระราม.

       ส่วนนางรากษสีตนอื่น ๆ ที่พำนักพระราชฐานชั้นในของกรุงลงกานั้น ดูเหมือนว่าจะแบ่งออกเป็นสองพวก พวกแรก: เป็นสตรีผู้งามสง่าและงดงามแห่งพระราชฐานชั้นในที่ชื่อว่า อันตปุรัม (अन्तः पुरम् - antaḥpuram) และเหล่ารากษสีที่มีเสื้อผ้าอาภรณ์เฉพาะเป็นชุดทำงานสำหรับทำงานต่าง ๆ ภายในพระราชฐานชั้นใน ดูแลรับใช้นางสีดาในระหว่างที่ถูกจองจำในป่าอโศกของท้าวราพณ์. เหล่ามเหสี นางในของท้าวราพณ์นั้น มีทั้งที่เป็นรากษสี มนุษย์ และเทพ ซึ่งล้วนแต่มีการบรรยายไว้หลายครั้งในมหากาพย์รามายณะว่าเป็นสตรีที่งดงามที่สุดในโลก ซึ่งท้าวราวณะได้ลักพา ฉุดคร่ามาจากบ้านและครอบครัวของพวกเธอ. นอกจากนี้ท้าวราพณ์ยังมีมเหสีเอกที่ได้อภิเษกสมรสอย่างเป็นทางการ เป็นหัวหน้าของเหล่ามเหสี สนม นางในน้อยใหญ่ในพระราชวังกรุงลงกาก็คือ นางมณโฑ (मंदोदरी - มนโททรี - Mandodarī) ผู้งดงาม นางเป็นเจ้าหญิงแห่งอสูร พระบิดาของนางมณโฑเป็นสถาปนิกชั้นเยี่ยมผู้ยิ่งใหญ่เหนือธรรมชาตินามว่า มายา หรือ มายาสูร (Mayasura). นางมณโฑได้แสดงทั้งความหึงหวงและเห็นอกเห็นใจต่อนางสีดา และครั้งหนึ่งนางมณโฑได้ทำให้ท้าวราพณ์สวามีของนาง หันเหความสนใจจากการล่วงละเมิดอย่างต่อเนื่องต่อนางสีดาที่เป็นเชลยของเขา. เมื่อสวามีของนางสิ้นชีพลง นางมณโฑก็ร้องไห้คร่ำครวญพิลาปรำพัน (vilāpa) นางได้ตัดพ้อด่าทอท้าวราพณ์แม้สิ้นชีพไปแล้วว่า เป็นเพราะเขาหลงใหลในตัวนางสีดา ได้กระทำการที่ชั่วร้าย ลักพาตัวนาง.

       จากนั้นก็มีขนิษฐาสุดท้องของท้าวราพณ์ นางศูรปณขา หรือนางสำมนักขา ซึ่งมีบทบาทสำคัญไม่น้อยในมหากาพย์รามายณะนี้ กล่าวคือการที่นางได้ไปร้องเรียนต่อท้าวราพณ์พระเชษฐาองค์โตที่นางโดนทำร้ายจิตใจและร่างกาย (พระรามบอกบัดไม่รับข้อเสนอ และนางถูกพระลักษมณ์ตัดจมูกทิ้งเสีย) ทำให้ท้าวราพณ์มีอคติต่อพระราม กอปรกับจอมราชารากษสเองก็หลงใหลในตัวนางสีดาเองด้วย. นางสำมนักขาเป็นตัวละครสำคัญและเป็นที่นิยมในรามายณะหลายเรื่องราว บางครั้งนางได้รับการพรรณนาว่าเป็นหญิงสาวสวย และบางครั้งในเรื่องราวของฤๅษีวาลมีกิ นางดูเหมือนเป็นแม่มดผู้น่าเกลียด. ซึ่งในอุตตรกัณฑ์นั้นได้แสดงถึงประวัติส่วนตัวของนาง ซึ่งได้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับพฤติกรรมก้าวร้าวทางเพศของนาง. มีประการหนึ่งเหมือนดั่งเช่นท้าวราวณะ และกุมภกรรณ ก็คือนางสำมนักขาก็ตกเป็นเหยื่อจากการสาปแช่งก่อนกำเนิดของพระบิดาพราหมณ์วิศรวาด้วยเช่นกัน. แต่ข้อเท็จจริงที่ว่านางได้ตกเป็นเหยื่อสองครั้งสองครานั้น ยังไม่มีใครรู้จักกันมากนัก. ครั้งหนึ่งนางเป็นหญิงที่สมรสแล้วได้อยู่กินอย่างมีความสุข แต่ในระหว่างสงครามการสู้รบกับเหล่าอสูรกัลกยา ทานพ (Kālakeya dānavas) นั้น ท่ามกลางหมอกควันแห่งสงคราม ท้าวราพณ์ได้สังหารชิวหา (Dānava Vidyujjihva) ผู้เป็นน้องเขยหรือสามีนางด้วยเหตุบังเอิญ "ยิงกันหรือฆ่าฟันกันเอง - friendly fire." เพื่อชดเชยจากการที่ทำให้นางเป็นม้าย ท้าวราพณ์จึงส่งนางไป ณ ป่าทัณฑกะภายใต้การดูแลของพระยาขร เพื่อทำให้นางลืมเลือนความทุกข์ มีความเพลิดเพลิน ได้ทำสิ่งที่นางต้องการโดยไม่มีข้อจำกัด. นางได้ท่องไปในป่าและได้พบที่พำนักอันร่มรื่นของพระราม พระลักษมณ์และนางสีดาเข้า ด้วยรูปแบบการแสดงออกแบบรากษสีด้านความรักและทางเพศที่มีต่อพระรามของนางนั้น นางสำมนักขาพยายามเกลี้ยกล่อมพระราม ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์อันเศร้าสลดดังเป็นที่ทราบกันดี.

       ในกรุงลงกานั้น มีรากษสีหลายลักษณะที่นางสีดาประสบ ทั้งรากษสีที่มียศศักดิ์ ทั้งที่เป็นสามัญชน รากษสีที่อารักขาดูแลนางสีดา และที่พยายามข่มเหงนางสีดา ทั้งยั่วยวน และขู่เข็ญนางสลับกัน. โดยทั่วไปแล้วบรรดารากษสีมักจะแสดงตัวเป็นแม่มดรูปร่างน่าเกลียดน่าชังที่มีหัวและแขนขาของสัตว์ต่าง ๆ . เหล่านางรากษสีก็ขู่ว่าจะแยกชิ้นส่วนและกลืนกินนางสีดาผู้ทนทุกข์ทรมานมานาน และจะจัดงานเลี้ยงฉลองหักแขนขา (disjecta membra) ของนางอย่างเมามัน. ถึงกระนั้นก็ยังมีรากษสีที่แตกต่างออกไปจากพวก ซึ่งมีความเมตตากรุณาต่อนางสีดา. ดังเช่นนางสรมา01. เธอรับรู้ถึงความเจ็บปวดของนางสีดาและเปิดโปงให้นางสีดาทราบถึงภาพลวงตาอันสยดสยองที่ท้าวราพณ์และเหล่าสมุนคิดขึ้น เพื่อทำให้นางขวัญเสีย. นางสรมาได้สอดแนมการประชุมของท้าวราพณ์กับเหล่าที่ปรึกษาผู้ใกล้ชิดในเรื่องนาสีดา จากนั้นก็มีเรื่องโด่งดังอันเป็นที่นิยม นางตรีชฎา02. รากษสีสูงวัยคอยปกป้องนางสีดาไว้จากคนรอบข้าง และแจ้งแก่บรรดารากษสีคนอื่น ๆ ถึงภาพลางพยากรณ์ที่นางมี โดยนางตรีชฎาได้นิมิตเห็นถึงชัยชนะของพระรามและการล่มสลายของท้าวราวณะ. (เรื่องราวของนางสรมาและนางตรีชฎานั้น มีความแตกต่างกันทั้งในรามายณะ รามเกียรติ์ และบางเรื่องราวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

ภาพจากซ้ายไปขวา: นางสีดาและนางสรมา, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 5 กรกฎาคม 2566.
หมายเหตุ คำอธิบาย
01.
างสรมา (सरमा - Saramā) ในรามายณะนั้น นางเป็นภริยาของพิเภก (วิภีษณะ) มีบุตรีชื่อนางตรีชฎา (Trijaṭā) ซึ่งตอนนี้แตกต่างจากรามเกียรติ์ กล่าวคือ ในรามเกียรติ์นั้น นางตรีชฎาเป็นภริยาของพิเภก เมื่อพิเภกได้สวามิภักดิ์ต่อพระราม นางตรีชฎาจึงถูกถอดยศเป็นข้ารับใช้ ซึ่งนางเป็นมิตรสหายที่น่ารักและเมตตากรุณาต่อนางสีดา และนางมีบุตรีชื่อนางเบญจกาย ในรามเกียรติ์มิได้กล่าวถึงนางสรมาแต่อย่างใด และส่วนในรามายณะนั้น ก็ไม่ได้กล่าวถึงนางเบญจกายด้วยเช่นกัน.
02. นางตรีชฎา (त्रिजटा -
Trijaṭā) ในรามายณะระบุว่านางเป็นอสุรีหรือรากษสีชราที่จิตใจดี เป็นบุตรสาวของพิเภก บางเรื่องราวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่านางเป็นภริยาของหนุมาน.

 
หน้าที่ 8
        ท้ายที่สุด ลักษณะเด่นประการสำคัญในการตีความเรื่องพระรามของฤๅษีวาลมีกิก็คือ ความเมตตา ความเป็นมนุษย์ และความเห็นอกเห็นใจของตัวเอกและตัวนาง คือพระรามและนางสีดาที่มีต่อเหล่ายักษารากษสชาย-หญิงแม้ว่าได้กระทำผิดต่อพวกเขาอย่างร้ายแรงก็ตาม. หลังการสิ้นชีพของท้าวราพณ์แล้วนั้น พระรามได้ส่งหนุมานไปส่งข่าวแก่นางสีดาว่าจะปลดปล่อยนาง กำแหงหนุมานได้ขออนุญาตนางสีดาในการสังหารบรรดารากษสีที่น่าสะพรึงกลัวทุกตนที่ได้ทรมานนางมาตลอด. แต่นางสีดาปฏิเสธ โดยกล่าวว่าความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นนั้นเป็นชะตากรรมของนางเอง และได้แย้งว่าผู้มีคุณธรรมสูงส่งนั้น ไม่ควรตอบแทนความชั่วด้วยความชั่ว และไม่ควรลงโทษเหล่ายักษีรากษสีซึ่งได้กระทำไปเพราะคำสั่งของเจ้านาย. นางตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีผู้ใดไร้เดียงสาเสียทั้งสิ้น และไม่ควรกระทำการใด ๆ ต่อผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไปตามธรรมชาติของเหล่าพงศ์พันธุ์ตน ซึ่งบรรดายักษารากษสชาย-หญิงก็กระทำไปตามลักษณะพฤติกรรมอันดุร้ายพื้นฐานของเผ่าพันธุ์ตนเท่านั้น. ด้วยแนวคิดคุณธรรมของนางสีดานี้ นางสีดาได้แสดงตนพร้อมทั้งปันอุปนิสัยที่มีเมตตาและไม่พยาบาทของพระรามแก่เหล่าขุนทหารและไพร่พลฝ่ายพระราม นางไม่ยอมให้พระลักษมณ์กำจัดเหล่ารากษส ทั้งนี้เป็นการละเมิดกฎสงครามการต่อสู้ และนางสีดาก็ยืนกรานที่จะจัดพิธีศพตามแนวทางแบบพระเวทที่เหมาะสมสำหรับเหล่าศัตรูที่สิ้นชีพตักษัยไปแล้ว.


แหล่งอ้างอิง:
01จาก. "The Illustrated Ramayana: The Timeless Epic of Duty, Love, and Redemption," ISBN: 978-0-2414-7376-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดอม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "The Rāmāyaṇa of Vālmīki - THE COMPLETE ENGLISH TRANSLATION," แปลโดย Robert P. Goldman, Sally J. Sutherland Goldman, Rosalind Lefeber, Sheldon I. Pollock, และ Barend A. van Nooten, ตรวจทานโดย Robert P. Goldman และ Sally J. Sutherland Goldman, ISBN 978-0-6912-0686-8, พ.ศ.2564, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยปริ้นซ์ตัน, พิมพ์ในสหรัฐอเมริกา.
03จาก. "บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์," พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6, ISBN 978-616-437-150-7, สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, มีนาคม 2565, นนทบุรี.

04จาก. "รามเกียรติ์ ร้อยแก้ว ประกอบคำกลอน," พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ฉบับสมบูรณ์, ถอดความโดย พิกุล ทองน้อย, ISBN 978-616-437-071-5, พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ.2562, สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, นนทบุรี.






 
info@huexonline.com