MENU
TH EN

ปรัชญาอินเดีย เล่มที่ 1.004 - ยุคพระเวท: บทสวดแห่งฤคเวท (ต่อ 1)

ภาพขนาดย่อ: ความลี้ลับของพระมนู: ฤคเวท, ที่มา: tamilandvedas.com, วันที่เข้าถึง: 5 เมษายน 2565, Hero Image "เรื่องราวของสัพตฤๅษี - เจ็ดนักพรตในปกรณัมอินเดีย" ที่มา: indianastrology.co.in, วันที่เข้าถึง: 7 พฤศจิกายน 2565.
ปรัชญาอินเดีย เล่มที่ 1.004 - ยุคพระเวท: บทสวดแห่งฤคเวท (ต่อ 1)
First revision: Apr.05, 2022
Last change: Apr.15, 2023

สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
72 (ต่อ)
 
V
ทววิทยา

     การเติบโตทางศาสนาในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมานั้น เรายังไม่สามารถเชื่อได้ว่ามันดำเนินไปอย่างเรียบ ๆ และโปร่งใส ในอันที่จะยอมรับคำจำกัดความและการจำแนกที่ง่าย ๆ . แง่มุมที่โดดเด่นของบทสวดก็คือลักษณะที่นับถือพระเจ้าหลายองค์. มีการตั้งชื่อและบูชาเทพมากมาย. ทว่าบทสวดสรรเสริญบางบทนั้น ทำให้เราตกใจด้วยปรัชญาที่เป็นนามธรรมขั้นสูง และก่อให้เกิดลัทธิพระเจ้าหลายองค์ตั้งแต่แรกเริ่ม จนถึงปรัชญาที่เป็นระบบ อันเป็นหนทางที่ยาวไกล. ในศาสนาของบทสวดในฤคเวทนั้น เราสามารถแยกระดับชั้นของความคิดได้สามระดับ ซึ่งเป็นลัทธิพหุเทวนิยมที่เป็นธรรมชาติ การนับถือพระผู้เป็นเจ้าเพียงองค์เดียว เอกนิยม (ทฤษฎีทางปรัชญาที่ถือว่าความแท้จริงคือปฐมธาตุเพียงอย่างเดียว).
       ประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการพิจารณาถกเถียงนี้คือคำว่า "เทพ หรือ เทวะ" นั้น มีลักษณะที่เข้าใจได้ยากและมีไว้เพื่อบ่งบอกถึงสิ่งต่าง ๆ มากมาย1. "เทพคือผู้ซึ่งประทาน (สิ่งต่าง ๆ) แก่มนุษย์."2. พระผู้เป็นเจ้าเป็นเทพด้วยเพราะพระองค์ทรงประทานโลกทั้งใบ. บัณฑิตผู้ให้ความรู้แก่ผู้คน ก็นับว่าเป็นเทพด้วยเช่นกัน3. พระอาทิตย์ พระจันทร์ และท้องนภาก็เป็นเทวะ ก็เป็นเพราะประทานความสว่างแก่สิ่งที่สร้างสรรค์ไว้ทั้งปวง. บิดาและมารดาและการแนะนำทางจิตวิญญาณก็ถือว่าเป็น
---------------

1 ใน นิรุกตะ01 กล่าวไว้ "เทโว ทานาท วา ทิพนาท วา ทโยทนาท วา ทยัสทาโน วา ภวติ." บทที่ 7 หน้า 15.
2 เราอาจเปรียบเทียบสิ่งนี้กับคำว่า "เลดี้ - ท่านผู้หญิง หรือ สุภาพสตรี" ในภาษาอังกฤษ แรก ๆ นั้นดูเหมือนจะหมายถึงคนนวดแป้ง ส่วนลอร์ดหรือขุนนางนั้นมีที่มาคล้าย ๆ กัน - ผู้ปกป้องก้อนแป้ง.
3. วิดวามโส หิ เทวาหฺ.

หมายเหตุ การขยายความ
01 นิรุกตะ (nirukta); สันสกฤต - निरुक्त, แปลว่า "อธิบายตีความ" เป็นหนึ่งในหกของ "เวทานคะ" อันเป็นศาสตร์ที่เชื่อมต่อกับพระเวท, นิรุกตะ คือการสร้างอภิธานศัพท์อย่างเป็นระบบและกล่าวถึงวิธีการทำความเข้าใจคำโบราณที่ไม่ธรรมดา, ปรับเสริมจาก en.wikipedia.org, และ hmong.in.th สืบค้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565.

 

73
เทวะด้วย1. แม้แต่อาคันตุกะผู้มาเยือนก็เป็นเทวะ. เราจำต้องพิจารณาแนวคิดเฉพาะของเทวะ ซึ่งอย่างน้อยก็ตอบคร่าว ๆ ถึงแนวคิดอันทันสมัยของพระผู้เป็นเจ้า. ซึ่งแปลว่า ความสว่างไสว.
       กระบวนการสร้างพระผู้เป็นเจ้าในโรงผลิตด้านจิตใจของมนุษย์นั้น ไม่สามารถมองเห็นได้แจ่มชัดจากที่อื่นใดเลยเฉกเช่นเดียวกับฤคเวท. เราต่างมีความสดชื่นและแจ่มใสในยามรุ่งอรุณของจิตใจมนุษย์ หากแต่หลงเหลือเพียงกิจวัตรที่ผ่านมาและกิจวัตรทั่วไปทุกเมื่อเชื่อวัน. มันไม่มีจุดเริ่มต้นใด ๆ ในประวัติศาสตร์แห่งความคิด และต้องมีการเริ่มต้นจากที่ไหนสักแห่ง. เราอาจเริ่มต้นด้วยการระบุตัวตนของพระเวทเทพยดาในบางแง่มุมด้วยพลังแห่งธรรมชาติ และชี้ให้เห็นว่าเหล่าเทวานี้ ได้รับการกล่อมเกลาให้มีศีลธรรมและเหนือมนุษย์อย่างไร. ผู้หยั่งรู้เก่ากาลที่สุดในบทสวดพระเวทนั้น ต่างยินดีกับทิวทัศน์ของธรรมชาติโดยไม่รู้สึกตัว. ด้วยอารมณ์ของกวีที่มีความสำคัญนี้ เหล่ากวีจึงมองเห็นธรรมชาติสรรพสิ่งด้วยความรู้สึกดื่มด่ำและพลังแห่งจินตนาการ จนทำให้สิ่งต่าง ๆ นั้นมีจิตวิญญาณแผ่ซ่านกระจายออกไป. พวกเขารู้ว่าการรักธรรมชาตินั้นเป็นอย่างไร และหลงพะวงอยู่ในความอัศจรรย์แห่งยามรุ่งอรุณและพระอาทิตย์ขึ้น อันเป็นกระบวนการที่ลึกลับที่ส่งผลต่อการหล่อหลอมของจิตวิญญาณและธรรมชาติ. สำหรับเหล่ากวีแล้ว ธรรมชาติคือการดำรงอยู่ที่พวกเขาสามารถเชื่อถือได้. ในแง่มุมแห่งความรุ่งโรจน์บางอย่างของธรรมชาติได้กลายเป็นหน้าต่างแห่งสวรรค์ ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าได้มองลงมายังพื้นโลกที่มิได้นับถือพระองค์. พระจันทร์และเหล่าดารา ท้องทะเล และท้องฟ้า อรุณรุ่ง และรัตติกาลนั้น ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์. การบูชาธรรมชาติดังกล่าวนี้เป็นรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุดของศาสนาพระเวท.
       ไม่นานนักสภาพสะท้อนอันเย็นเยือกก็ย่างกรายเข้ามา. มีความพยายามอันไม่รู้ตัว เพื่อเข้าถึงธรรมชาติภายในอันเป็นผลลัพธ์ของสิ่งต่าง ๆ นั้น. มนุษย์กำลังยุ่งเหยิงกับการสร้างเทพเจ้าในรูปแบบของเขา. ศาสนาของมนุษย์ที่ล้าหลังที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกนั้น เป็นแบบมานุษยวิทยา (พระผู้เป็นเจ้า สัตว์ หรือวัตถุต่างได้ถูกลอกเลียนจากคุณลักษณะหรือพฤติกรรมของมนุษย์). เราไม่สามารถยอมรับความโกลาหลของโลกทางกายภาพ. เราพยายามที่จะเข้าใจโลกไม่ว่าในทางใดก็ทางหนึ่ง และเมื่อได้พิจารณาถึงทฤษฎีบางอย่างของชีวิตด้วยความเชื่อมั่นว่ามีสมมติฐานบางอย่างก็ดีกว่าการไม่มีสมมติฐานเอาเสียเลย. โดยทั่วไปแล้ว เราคาดการณ์ถึงสิทธิเสรีของเราเองและอธิบายปรากฎการณ์ตามสาเหตุทางจิตวิญญาณของธรรมชาติ.2  เราตีความทุกสรรพสิ่งเกี่ยวกับ
---------------

1. มาตฤเทโว ภวะ, ปิตฤเทโว ภวะ, อาจารยเทโว ภวะ.
2. ดังที่เทย์เลอร์กล่าวไว้ "การดำเนินไปของโลกดูเหมือนจะถูกวิญญาณอื่น ๆ นำพาไป เฉกเช่นเดียวกับที่ร่างกายมนุษย์ถูกยึดเหนี่ยวไว้เพื่อมีชีวิตอยู่และการทำความดีงาม



74
ความคล้ายคลึงในธรรมชาติของเราเอง และเจตจำนงวางอยู่เบื้องหลังของทางกายภาพ. หลักการนี้ไม่ควรนำไปปะปนกับแนวคิดด้านวิญญาณนิยม ด้วยเพราะหลักการนี้มิได้ถือเอาภาพเคลื่อนไหวของธรรมชาตินั้นเป็นเรื่องสากล. นับเป็นลัทธิพหุเทวนิยมประเภทหนึ่งที่แสดงถึงปรากฎการณ์ธรรมชาติอันน่าทึ่ง ซึ่งมีอยู่เปี่ยมล้นในอินเดีย. สัญชาตญาณทางศาสนาได้เผยออกมาในลักษณะนี้. ในช่วงเวลาแห่งความรู้สึกลึกซึ้งทางศาสนา เมื่อมนุษย์ได้รับการปลดปล่อยจากภยันตรายที่ใกล้เข้ามา (รู้สึกปลอดภัย) หรือตระหนักว่าตนเองต้องพึ่งพาพลังอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติได้เต็มที่ เขารู้สึกถึงความเป็นจริงของการดำรงอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า เขาได้ยินเสียงพระผู้เป็นเจ้าในพายุและเห็นพระหัตถ์ของพระองค์ในเกลียวคลื่นที่นิ่งอยู่. ช่วงปลายยุคสโตอิก (Stoics) เราพบกับแนวความคิดที่คล้ายคลึงกัน. "พระอาทิตย์ พระจันทร์ และหมู่ดาว กฎหมายและมนุษย์ได้กลายเป็นเทพเจ้า."1. นับเป็นเรื่องที่ดีที่ชาวอารยันยุคพระเวทมีศรัทธาในความจริงของโลกที่เร้นลับ. เขาไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้. พระผู้เป็นเจ้านั้นดำรงอยู่. ลัทธิธรรมชาตินิยมและมานุษยวิทยาดูเหมือนจะเป็นขั้นตอนแรกของศาสนาพระเวท.
       ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วที่ชาวอารยันในยุคพระเวทและชาวอิหร่านที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลเดียวกัน มีความสัมพันธ์และมีความคล้ายคลึงกันมาก. พวกเขาลงมาจากเหย้าเรือนที่อาศัยร่วมกันเข้าสู่อินเดียและดินแดนอิหร่านที่เป็นชาวโซโรแอสเตอร์ (บูชาไฟ) ในเหย้าเรือนกลางนั้นพวกเขาอาศัยอยู่เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันไม่มีการแบ่งแยก แม้กระทั้งสิ่งที่จำเป็นในชีวิต ห้องพัก ด้วยจิตวิญญาณแห่งการผจญภัยปลุกเร้าให้พวกเขาต้องออกจากมาตุภูมิและเร่ร่อน เพื่อหาพื้นที่โล่ง ๆ ในทิศทางที่ต่างออกไป.2. นั่นคือเหตุผลที่เราพบความสัมพันธ์มากมายในศาสนาโบราณและแนวคิดทางปรัชญาของอินเดียและเปอร์เซีย.

---------------
ด้วยจิตวิญญาณที่อาศัยในร่างตน" (วัฒนธรรมเก่ากาล). ในหนังสือประวัติศาสตร์ธรรมชาติของศาสนาต่าง ๆ  (National History of Religions) ซึ่งโฮมได้เขียนไว้ว่า "มีแนวโน้มสากลในหมู่มนุษย์ ที่จะกอปสิ่งมีชีวิตทั้งมวลให้เหมือนตนเอง....อันเป็นสาเหตุที่ไม่รู้จักในการใช้ความคิดอย่างต่อเนื่อง. มักปรากฎในลักษณะเดียวกันนี้เสมอ ล้วนถูกจับได้ว่าเป็นชนิดหรือสายพันธุ์เดียวกัน. และไม่นานก่อนที่เราจะอธิบายถึงความคิด เหตุผล ความหลงใหล และบางครั้งก็แม้แต่แขนขาและร่างกายของมนุษย์.
1. ไครซิเพส (Chrysippus - ปราชญ์ชาวกรีก สำนักสโตอิก ราว 279-206 ก่อนคริสตกาล). ดูงานของ กิลเบิร์ต เมอร์เรย์ Four Stages of Greek Religion. หน้า 17.
2. ชาวอินเดียและชาวอิหร่านได้รับการกล่าวขานว่าเป็นต้นตระกูลใหญ่ของชาวอินโด-ยูโรเปียน โดยมีการแบ่งออกเป็นเผ่าพันธุ์ย่อยของทยู-ท็อน (Teutonic) เซลติก สลาโวนิก เฮเลนนิก อาร์เมเนีย. จากการเปรียบเทียบความเชื่อและการปฏิบัติของกลุ่มชนนี้ นักวิชาการสรุปได้ว่าเป็นประเภทหนึ่งของศาสนาอินโด-ยูโรเปียน. ความเชื่อเรื่องผีและเวทมนตร์ การบูชาบรรพบุรุษ และความเชื่อในความเป็นอมตะ กล่าวได้ว่าเป็นองค์ประกอบหลักของศาสนาอินโด-ยูโรเปียน. นักชาติพันธุ์วิทยาในปัจจุบัน เช่น ริปลีย์ ดูเหมือนจะยอมรับการจำแนกเชื้อชาติที่แตกต่างกันบ้าง


 
75
ดร.มิลส์กล่าวว่า: "อเวสตะ01. อยู่ใกล้พระเวทมากกว่าตัวพระเวทที่เป็นมหากาพย์สันสกฤต." มันมีความต่อเนื่องทางภาษาหลัก. เมื่อชาวอารยันมาถึงอินเดียโดยผ่านแคว้นปัญจาบ02 พวกเขาพบว่าชาวพื้นเมืองของอินเดีย ซึ่งเหล่าชาวอารยันเรียกพวกเขาว่า "ทศยุส - Dasyus" ซึ่งต่อต้านการรุกคืบอย่างอิสระของพวกเขา1. ทศยุสมีผิวสีเข้ม รับประทานเนื้อวัว ชอบบูชาภูตผี เมื่อชาวอารยันพบเข้า จึงต้องการที่จะอยู่ห่าง ๆ พวกทศยุส. จิตใจอันพิเศษของชาวอารยันนี้ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในเชื้อชาติตนและความเหนือกว่าทางวัฒนธรรมซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นจิตวิญญาณด้านวรรณะขึ้นในกาลต่อมา. มีความกังวลที่จะต้องรักษาศาสนาของตนให้บริสุทธิ์จากการปนเปื้อน ทำให้ชาวอารยันรวบรวมวรรณกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของตน คำว่าสัมหิตา (สังหิตา-บาลี - saṁhitā) แปลว่า "การรวบรวม" แสดงให้เห็นว่าได้มีการรวบรวมบทสวดของฤคเวทขึ้น ในช่วงเวลาที่ชาวอารยันและไม่ใช่ชาวอารยันมาพบกันบนแผ่นดินอินเดีย. เราจะเริ่มทำโครงร่างเกี่ยวกับเทพเจ้าด้านพระเวทกับเทพเจ้าอินโด-อิหร่านที่พี่น้องสองเผ่าพันธุ์มีเหมือนกันก่อนที่จะแยกออกจากกัน.
       ความรู้สึกถึงความไม่สมบูรณ์ของโลกนี้ ความอ่อนแอของมนุษย์ ความรู้สึกที่จะเข้าถึงจิตวิญญาณที่สูงกว่า แนวทาง มิตรสหาย การเอื้อให้มนุษย์ได้พักผ่อน ผู้ที่สามารถขอความช่วยเหลือได้ในยามทุกข์ยาก อันเป็นธรรมชาติของหัวใจที่ป่วยไข้ของมนุษย์. ยามเยาว์วัยนั้นไม่มีสิ่งใดสามารถตอบความรู้สึกนี้เกี่ยวกับความไม่มีที่สิ้นสุดและท้องฟ้าอันใสกระจ่างและไร้ขอบเขตได้. พระอาทิตย์ พระจันทร์ และหมู่ดาวอาจเปลี่ยนแปลงได้ พายุสลายลง เมฆเคลื่อนตัวไป แต่ท้องฟ้ายังคงอยู่ตลอดไป.
หมายเหตุ การขยายความ
01. อเวสตะ (Avesta) เป็นคัมภีร์สำคัญในศาสนาโซโรอัสเตอร์ แบ่งออกเป็น 4 หมวด คือ 1). ยัสนา (Yasna) แปลว่า การบูชาหรือพลีกรรม เป็นคัมภีร์ที่เก่าแก่สุด และสำคัญที่สุดของศาสนาโซโรอัสเตอร์ ประกอบด้วย 17 คาถา และเชื่อว่าโซโรอัสเตอร์เป็นผู้ประพันธ์เอง 2). วิสเปรัท (Visperad) เป็นบทสวดอ้อนวอนต่อพระเจ้า เป็นบทสั้น ๆ นิยมใช้กับยัสนา นอกจากนี้ยังว่าด้วยศาสตร์ต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และแพทยศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งมีลักษณะคล้ายเวทางคศาสตร์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู 3). เวทิทัท (Vendidad) กฎที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหมู่มาร เป็นระเบียบวินัยและพิธีกรรมของพระ นอกจากนี้ยังว่าด้วยเรื่องจักรวาล ประวัติศาสตร์ และนรก สวรรค์อีกด้วย 4). โขรทะ อเวสตะ (Khorta Avesta หรือ Khordeh Avesta) หรืออเวสตะน้อย เป็นหนังสือคู่มือสำหรับศาสนิกชนทั่วไปใช้สวดมนต์, ที่มา: ฟื้น ดอกบัว, รองศาสตราจารย์.ศาสนาเปรียบเทียบ (พิมพ์ครั้งที่ 3) กรุงเทพฯ : โสภณการพิมพ์, 2549. หน้า 84.
02. ดินแดนที่มีแม่น้ำห้าสายไหลประกอบด้วย แม่น้ำเฌลัม (R.Jhelum), แม่น้ำจนาพ (R.Chenab), แม่น้ำราวี (R. Ravi), แม่น้ำบีอัส (R.Beas), แม่น้ำสตลุช หรือ ศตทรุ - शतद्रु (R.Satluj or R.Sutlej) แล้วมาผนวกรวมกับแม่น้ำสินธุ (R.Indus) ที่อยู่ทางทิศตะวันตกไหลรวมลงสู่ทะเลอาหรับ

---------------
บางท่านก็ระบุว่าเป็นเผ่าพันธุ์อารยันเต็มตัวหรือไม่ก็ชาวนอร์ดิก. ซึ่งเรามีได้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้. ประวัติศาสตร์ความคิดของอินเดียเริ่มต้นขึ้นก็ต่อเมื่อชาวอารยันในเอเชียกลางได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเดินทางผ่านอัฟกานิสถานมายังอินเดีย และอีกกลุ่มหนึ่งแผ่ขยายไปทั่วดินแดนที่เรียกว่าอิหร่าน.
1. รายละเอียดเกี่ยวกับการพเนจรของชาวอารยันท่านแรกนั้น จากข้อมูลที่มีอยู่ขณะนี้ ไม่สามารถตัดสินใจได้แน่ชัดได้. บทสวดพระเวทได้เผยให้เห็นถึงช่วงหลังของชีวิตทางสังคม เมื่อภาษาสันสกฤตเป็นภาษาพูด และเผ่าพันธุ์อารยันได้แบ่งออกเป็นหลายสาขา. เราไม่พร้อมที่จะยอมรับว่าชาวดราวิเดียนเป็นชนพื้นเมืองของอินเดีย. ดูเหมือนว่าพวกดราวิเดียนจะมาถึงอินเดียเร็วกว่าวันที่พวกอารยันเข้ามา. แท้จริงแล้วพวกดราวิเดียนรับเอารูปแบบชีวิตของชาวอารยันมาใช้ แต่ในทางกลับกันพวกเขากลับมีอิทธิพลต่ออารยธรรมของชาวอารยันอีกด้วย. ยังมีชนเผ่าจำนวนมากที่ยังคงอาศัยในพื้นที่ภูเขาที่ยากต่อการเข้าถึง บางทีก็อาจเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของอินเดีย.


76
ทโยษะ1 ไม่เพียงเป็นแค่อินโด-อิหร่านเทพ แต่เป็นอินโด-ยูโรเปียนเทพอีกด้วย มีชีวิตอยู่ในกรีซด้วยฐานะมหาเทพซุส ในอิตาลีเป็นมหาเทพจูปิเตอร์ (พระบิดาแห่งสรวงสวรรค์) และให้ชนเผ่าทยู-ท็อนในฐานะไทร์01. และไท02. เทวาหรือเทพ หมายถึงความสว่างในเบื้องต้น ต่อมาได้ใช้กับสิ่งที่สว่างทั้งหมด เช่น ดวงอาทิตย์ ท้องฟ้า ดวงดาว รุ่งอรุณ กลางวัน ฯลฯ . ได้กลายเป็นคำทั่วไปที่สื่อถึงลักษณะทั่ว ๆ ไปของสิ่งที่ส่องแสงทั้งหมด. มันกลายเป็นคำทั่วไปที่บ่งบอกถึงคุณสมบัติมาตรฐานของแสงทั้งหมด. ในไม่ช้าผืนโลกก็จะกลายเป็นเทพ. ในเบื้องต้นนั้น สวรรค์และโลกอาจมีเพียงลักษณะทางกายภาพของความกว้างใหญ่ โอ่อ่า และก่อให้เกิดผลผลิตเท่านั้น.2 มีคุณสมบัติที่ได้กำหนดให้ไว้แก่โลก ได้แก่ "น้ำผึ้งที่ให้ผลผลิต" และ "น้ำนมที่เปี่ยมล้น" แต่ในระยะแรก ๆ นั้น สวรรค์และโลกก็มีคุณสมบัติเหมือนเช่นมนุษย์ อาทิ "ความไม่เน่าเปื่อย" "พ่อ" และ "แม่" คุณลักษณะทางศีลธรรม เช่น ความเมตตา ความรู้แจ้ง (สัพพัญญู) และความชอบธรรม เพิ่มเข้ามาด้วย.3 อาจมีความเป็นไปได้ถึงความก้าวหน้าอย่างแข็งแกร่งถ่ายเทจากบุคคลไปสู่สวรรค์. โลกและสวรรค์เป็นสิ่งเคารพบูชาสิ่งแรกของโลก แม้ว่าในช่วงแรก ๆ นั้นมนุษย์ถูกมองว่าเป็นอิสระชน แต่ในไม่ช้าก็มีการเชื่อมโยงผูกสัมพันธ์กัน. โลกเป็นเหมือนมารดาผู้ออกดอกออกผล สวรรค์ตั้งครรภ์ให้กำเนิดโลก ในบทสวดของมหากวีโฮเมอร์03. โลกได้รับการกล่าวถึงว่า "มารดาแห่งเหล่าเทพ ภริยาแห่งสรวงสวรรค์."4. โลกและสรวงสวรรค์เป็นบิดามารดาที่ครอบจักรวาลผู้ให้ชีวิตและมอบปัจจัยแก่การยังชีพแก่เหล่าสรรพสัตว์ทั้งปวง. ในฤคเวทนั้น โดยทั่วไปจะเรียกทั้งสองสิ่งนี้เป็นเลขคู่ ซึ่งก่อตัวเป็นแนวคิดเดียว เพราะระหว่างสองสิ่งนี้ พระอาทิตย์ รุ่งอรุณ ไฟ ลม และฝน ล้วนเป็นลูกหลานของโลกและสวรรค์. ท่านทั้งสองเป็นบุพการีของเหล่ามนุษย์และบรรดาเทพยดา.5 เมื่อจำนวนเทพเพิ่มขึ้น ก็เกิดคำถามว่า ใครหนอที่สร้างสวรรค์และโลก. "เขาผู้นี้คือช่างที่ชาญฉลาดที่สุดในหมู่ทวยเทพ ผู้รังสรรค์ที่ปราดเปรื่อง (สวรรค์และโลก) ทำให้ทุกสิ่งล้วนเบิกบาน;
หมายเหตุ การขยายความ
01. ไทร์ (Tyr) เป็นเทพของพวกนอร์ดิก เทพเจ้าแห่งสงคราม กฎหมาย ความยุติธรรม และเกียรติศักดิ์.
02. ไท (Tyi) หมายถึง หัวหน้า (Chief) เป็นภาษาเดิมของชนพื้นเมืองในอเมริกา.
03. โฮเมอร์ (Homer) มหากวีชาวกรีก ผู้ประพันธ์ อีเลียดและโอเดสซี ท่านมีชีวิตราว 850 ปีก่อนคริสตกาล.

---------------
1 ดี วี, ได้เปล่งประกาย.
2 บรรพที่ 1. สรรคที่ 160.2; บรรพที่ 1. สรรคที่ 187. 5; บรรพที่ 4. สรรคที่ 56. 3; บรรพที่ 6. สรรคที่ 70, 1-2.

3 บรรพที่ 1. สรรคที่ 159, 1; บรรพที่ 1. สรรคที่ 160. 1; บรรพที่ 4. สรรคที่ 56. 2; บรรพที่ 6. สรรคที่ 70. 6.
4 ดูใน มัคส์ มึลเล่อร์: India; What can it teach us? หน้า 156.
5 บรรพที่ 1
. สรรคที่ 185. 4; บรรพที่ 1. สรรคที่ 159. 1-2; บรรพที่ 1. สรรคที่ 106. 3; บรรพที่ 3. สรรคที่ 3. 11; บรรพที่ 4. สรรคที่ 56. 2; บรรพที่ 6. สรรคที่ 17. 7; บรรพที่ 7. สรรคที่ 53. 1-2; บรรพที่ 9. สรรคที่ 85, 12; บรรพที่ 10. สรรคที่ 1. 7; บรรพที่ 10. สรรคที่ 35. 3; บรรพที่ 10. สรรคที่ 64. 14; บรรพที่ 10. สรรคที่ 65. 8; บรรพที่ 10. สรรคที่ 11.9.


 
77
พระองค์ทรงตวงความสว่างไสวทั้งสองนี้ด้วยปัญญา และทรงจัดวางทั้งโลกและสวรรค์ด้วยความเกื้อกูลอันนิรันดร์."1. พลังสร้างสรรค์นี้ได้มอบให้พระอัคนี2. พระอินทร์3. หรือ โสม4. ทวยเทพองค์อื่น ๆ ก็ได้รับเกียรตินี้เช่นกัน5.

ยูเรนัส, ไกอา และ คาปริ, ศิลปะโมเสคยุคกรีโค-โรมัน ราวคริสตศตวรรษที่ 3, กไลพโตเธค มิวนิค, ที่มา: theoi.com/Protogenos/Ouranos.html, วันที่เข้าถึง 7 เมษายน 2565.
 

เทพเจ้าอาฮูรา มัซดา, ที่มา: balkhandshambhala.blogspot.com, วันที่เข้าถึง 7 เมษายน 2565.

       พระวรุณเป็นเทพเจ้าแห่งท้องฟ้า ชื่อมาจากรากศัพท์ "วร" หมายความว่า "ครอบคลุม" หรือ "ขอบเขต." พระองค์เหมือนเทพกรีกที่ชื่อยูเรนัส (Uranus บ้างก็เขียนว่า Ouranos) และเทพเจ้าอาฮูรา มัซดา ในคัมภีร์อเวสตะ. ต้นกำเนิดทางกายภาพของพระองค์เป็นที่ปรากฎชัด. พระองค์เป็นผู้ปกและผู้ห่อหุ้ม. พระองค์โอบกอดดวงดาราที่กระจายบนสวรรค์ "ทรงเหมือนเสื้อคลุม โอบสิ่งมีชีวิตและที่พำนักของเหล่าสรรพสัตว์ทั้งมวลไว้."6. พระมิตราทรงเป็นสหายที่มั่นคงของพระวรุณ. พระวรุณและพระมิตรานั้น เมื่อใช้คู่กัน จะแสดงถึงทิวาและราตรี ความมืดและความสว่าง. ร่างของพระวรุณมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเนื่องและมีความเป็นอุดมคติ จนกระทั่งพระองค์เป็นเทพเจ้าที่มีคุณธรรมสูงสุดในคัมภีร์พระเวท. พระองค์ทรงดูแลโลก ลงโทษผู้ผิดบาป และให้อภัยต่อการกระทำผิดแก่ผู้ที่ทูลขอการอภัยโทษจากพระองค์. พระวรุณทรงมีพระอาทิตย์เป็นดวงเนตร มีท้องฟ้าเป็นอาภรณ์ และพายุเป็นลมหายใจ7. กระแสน้ำเป็นคำบัญชาของพระองค์8. พระอาทิตย์ส่องสว่าง ดวงดาวและพระจันทร์ก็อยู่ในทิศและที่ทางอันเหมาะสม ด้วยเกรงกลัวบารมีของพระองค์.9 โดยกฎที่พระองค์กำหนดไว้ สวรรค์และโลกต้องแยกออกจากกัน. พระองค์ทรงรักษาระเบียบทางร่างกายและศีลธรรมไว้มั่น. มิได้ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าตามอำเภอใจ แต่เป็น "ธฤษฏาวรตะ - dhṛtavrata"01. หนึ่งในปณิธานที่แน่วแน่. เทพองค์อื่น ๆ เชื่อฟังคำสั่งของพระองค์. พระวรุณทรงเป็นสัพพัญญูและรู้การเหินของเหล่าวิหค เส้นทางการเดินเรือในท้องสมุทร และทิศทางกระแสลม. ไม่ใช่นกกระจอกที่ตกลงมาโดยพระองค์ไม่รู้. พระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด ทรงเป็นมหาเทพของเหล่าทวยเทพ ทรงแข็งกร้าวต่อผู้กระทำผิด และทรงมีเมตตาต่อผู้สำนึกผิด. พระองค์ทรงปฏิบัติตามกฎอันเป็นนิรันดร์ตามที่ทรงบัญญัติขึ้น. ทว่าด้วยความเมตตาของพระองค์ ๆ ก็พร้อมที่จะให้อภัยแก่ผู้ที่ล่วงเกิน. "พระองค์ทรงเมตตาแม้กระทั่งผู้กระทำบาปช้า."10. แทบทุกบทสวดแด่พระวรุณ เราพบว่าเป็นบทสวดเพื่อการยกโทษบาปให้

พระพิรุณ หรือ พระวรุณ, ที่มา: sreenivasaraos.com, วันที่เข้าถึง 17 กุมภาพันธ์ 2566.

หมายเหตุ การขยายความ
01. ธฤษฏาวรตะ (धृतव्रत -
dhṛtavrata) - การปฏิญาณตน ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา อุทิศตน ตามกฎหมายหรือคำสั่งที่ตายตัว.
---------------
1 ฤคเวท, บรรพที่ 1. สรรคที่ 160.4; ควรศึกษาเพิ่มในบรรพที่ 4 สรรคที่ 56. 3.
2 บรรพที่ 1. สรรคที่ 60. 3.
3 บรรพที่ 10. สรรคที่ 89. 4.
4 บรรพที่ 9. สรรคที่ 101. 15.
5 บรรพที่ 3. สรรคที่ 31. 12.
6 บรรพที่ 8. สรรคที่ 41.
7 บรรพที่ 7. สรรคที่ 87. 2.
8 บรรพที่ 1. สรรคที่ 24. 8; บรรพที่ 2. สรรคที่ 28. 4. บรรพที่ 7. สรรคที่ 87. 5.
9 บรรพที่ 1. สรรคที่ 24. 10. บรรพที่ 1. สรรคที่ 25. 6. บรรพที่ 1. สรรคทึ่ 44. 14. บรรพที่ 2. สรรคที่ 28. 8. บรรพที่ 3. สรรคที่ 54. 18. บรรพที่ 8. สรรคที่ 25. 2.
10 บรรพที่ 7. สรรคที่ 87. 7.



78
เต็มไปด้วยการสารภาพผิดและการกลับใจ1 อันแสดงให้เห็นว่ากวีชาวอารยันรู้สึกภาระของบาปเคราะห์และการสวดอ้อนวอน.
       ลัทธิเทวนิยมของบรรดาผู้ศรัทธาในไวษณพนิกายและภาควตะ โดยเน้นที่ภักตินั้นสืบย้อนไปถึงการบูชาพระเวทของพระวรุณ ด้วยความสำนึกในบาปและวางใจต่อการให้อภัยจากสวรรค์. ศาสตราจารย์แมคโดเนล กล่าวว่า "อุปนิสัยของพระวรุณ ละม้ายกับผู้ปกครองอันศักดิ์สิทธิ์ ในความเชื่อแบบเอกเทวนิยมในระดับที่สูงส่ง."2.
       กฎที่พระวรุณทรงอภิบาลปกป้อง เรียกว่า "ฤทธา" (Ṛta - ऋत) แปลว่า "ความจริงแท้ของสรรพสิ่ง" มันหมายถึงกฎโดยทั่วไปและการดำรงอยู่ของความยุติธรรม. ความสม่ำเสมอในการเคลื่อนตัวของพระอาทิตย์ พระจันทร์ และหมู่ดาว การสลับสับเปลี่ยนของกลางวันและกลางคืน รวมทั้งฤดูกาล ซึ่งจักต้องได้รับคำแนะนำในเบื้องต้นสำหรับแนวคิดนี้.
---------------

1 บทสวดสรรเสริญพระวรุณต่อไปนี้ได้แปลโดย มูเออร์ เป็นร้อยกรอง เล่มที่ 5 ตัวอักษรภาษาสันสกฤตดั้งเดิม หน้าที่ 64. แม้ว่าจะนำมาจากอรรถรเวท (บรรพที่ 4 สรรคที่ 16. 1-5) ก็ได้นำเสนอความคิดอันสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้าที่ชาวอารยันผู้นับถือพระเวทห่วงแหน:
       "พระผู้เป็นเจ้าอันยิ่งใหญ่ทรงประทับบนที่สูง การกระทำของเรานั้น ดูราวกับว่าพระองค์กำลังเฝ้าดูอยู่:
       เหล่าทวยเทพรู้ว่ามนุษย์ทุกผู้นามได้ แม้ว่าเหล่ามนุษย์จะปลอมแปลงการกระทำของตน.
       ผู้ใดยืนอยู่ ผู้ใดเคลื่อนไหว หรือลักทรัพย์จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง
       หรือซ่อนตนไว้ในห้องเร้นลับ - เหล่าทวยเทพก็ยังตามติดการกระทำของพวกเขา.
       แห่งหนใดก็ตามที่สองคนได้ร่วมวางแผน และถือว่าพวกเขาอยู่ตนเดียว
       กษัตริย์พระวรุณทรงประทับ ณ ที่นั้น หนึ่งในสามส่วน และรู้แผนการทั้งหมดของพวกเขา.
       โลกเป็นของพระองค์ ท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ไร้ขอบเขตนั้นก็เป็นของพระองค์
       ทะเลทั้งสองสงบนิ่งอยู่ในตัวพระองค์ ทรงพักเอนกายในแอ่งน้ำเล็ก ๆ นั้น.
       ผู้ใดที่อยู่ใกล้โพ้นฟ้าได้หาทางติดปีก
       แต่เขาก็ไม่สามารถรอดพ้นไปจากเงื้อมมือของกษัตริย์พระวรุณได้.
       จารบุรุษของพระองค์ได้ถลาลงมาจากท้องฟ้าแล้วเหินไปทั่วทั้งโลกนี้
       ดวงตานับพันได้กวาดสายตาไปยังขอบเขตที่ห่างไกลสุดขอบโลก.
       ทั้งสิ่งที่มีอยู่บนสวรรค์และโลก ทั้งสิ่งอื่นใดที่อยู่เหนือท้องฟ้า
       มาอยู่เบื้องพระพักตร์กษัตริย์พระวรุณ เพื่อเผยเรื่องมดเท็จหลอกลวง.
       พระองค์ทรงนับการขยิบตาอย่างไม่หยุดหย่อนของมนุษย์ทุกคนได้:
       พระองค์มีกรอบแบบแผนสากลในที่ผู้เล่มเกมโยนสกา.
       ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า รู้สึกเป็นห่วงกับปมที่พระองค์จะเหวี่ยงขึ้นไปนั้น --
       ปล่อยให้ผู้กล่าวเท็จรุดหน้าไปก่อน แต่จะละเว้นแด่ผู้ที่กล่าวความจริง."
   อีกครั้ง: "ฉันจะเข้าใกล้พระวรุณได้อย่างไรหนอ พระองค์จะรับข้อเสนอของฉันโดยปราศจากความไม่พึงพอใจหรือ เมื่อไรหนอ ที่ฉันจักเห็นผู้ทุศีลด้วยใจสงบ"
       "ข้าแต่พระวรุณ ใคร่ขอทราบความบาปนี้ ฉันได้ถามปราชญ์ เหล่าปราชญ์ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า พระวรุณทรงพิโรธเจ้า."
       "หากเป็นบาปเก่า โอ พระวรุณ เทพผู้ไร้เทียมทาน และฉันจะรีบรุดหันหาพระองค์กล่าวสรรเสริญ เพื่อให้ฉันหลุดพ้นจากบาป."
       "โปรดยกโทษให้เราจากบาปที่บรรดาบรรพชนเราได้กระทำไว้ และจากบาปที่เราได้กระทำไว้เอง."
       "มันไม่ใช่การกระทำของเรา พระวรุณ มันเป็นความผิดพลาด ความมึนเมา ความหลงไหล สกา ความไม่ยับยั้งช่างใจ."
2 ปกรณัมวิทยา: พระเวท (Vedic Mythology), หน้า 3.


 
79
ฤทธา หมายถึงระเบียบโลก. ทุกสิ่งที่ได้จัดเรียงไว้ในเอกภพ โดยมีฤทธาเป็นหลักการ. ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นสากลของเพลโต.1 โลกแห่งประสบการณ์คือเงาหรือภาพสะท้อนของฤทธา ความเป็นจริงถาวรซึ่งคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ท่ามกลางการกลายพันธุ์ของสิ่งทั้งมวล. จักรวาลมาก่อนสิ่งเฉพาะ ดังนั้นนักพรตพระเวทจึงคิดว่าฤทธา มีอยู่ก่อนการปรากฎตัวของปรากฎการณ์ทั้งหมด. ลำดับการเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นการแสดงออกที่แตกต่างกันของฤทธาอันคงที่. ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าฤทธาเป็นพระบิดาของทั้งมวล. "พวกมารุตนั้นมาไกลโพ้นจากแท่นที่ประทับของฤทธา."2. พระวิษณุเป็นทารกในครรภ์ของฤทธา.3 สวรรค์และโลกที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะฤทธา.4. มีแนวโน้มไปสู่ความคิดอันลึกลับของความเป็นจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสัญญาณแรกขึ้นที่นี่. ความจริงคือกฎที่ไม่เปลี่ยนแปลง. เป็นการแสดงที่ไม่คงตัว เป็นการคัดลอกที่ไม่สมบูรณ์. ความจริงเป็นสิ่งเดียวที่ไม่มีชิ้นส่วนและการเปลี่ยนแปลงใด ในขณะที่มีการเปลี่ยนผ่านไปมากมาย. ไม่ช้าระเบียบแห่งจักรวาลนี้ ก็จะกลายเป็นเจตจำนงของพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด กฎแห่งศีลธรรม และความชอบธรรมก็เช่นกัน. แม้แต่ทวยเทพก็มิอาจล่วงละเมิดได้. เราเห็นถึงแนวคิดแห่งฤทธา พัฒนาการจากกายภาพไปสู่สรวงสวรรค์. เดิมทีฤทธาหมายถึง "เส้นทางที่ได้กำหนดขึ้นของโลก ของพระอาทิตย์ พระจันทร์ และหมู่ดาว เช้าและเย็น กลางวันและกลางคืน." มันค่อย ๆ กลายเป็นวิถีแห่งศีลธรรมที่มนุษย์ต้องปฏิบัติตามและกฎแห่งความชอบธรรมที่แม้แต่เหล่าทวยเทพก็พึงปฏิบัติ. "รุ่งอรุณนั้น ได้ดำเนินตามวิถีแห่งฤทธา อันเป็นวิถีที่ถูกต้อง ราวกับเธอรู้จักสิ่งเหล่านี้มาก่อน. เธอไม่เคยก้าวล่วง. พระอาทิตย์ได้ดำเนินตามวิถีแห่งฤทธา."5. จักรวาลทั้งหมดตั้งอยู่บนฤทธา และเคลื่อนไปในจักรวาลนั้น.6 แนวคิดเรื่องฤทธานี้ ได้เตือนเราถึงคำวิงวอนต่อหน้าที่ของคำกล่าวที่คุ้มค่าที่ว่า.
      
พระองค์ทรงรักษาหมู่ดาวจากอธรรม
        และสวรรค์ที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งจะสดใสและแข็งแกร่ง โดยผ่านสูเจ้า.

---------------
1 เฮเกลได้แสดงลักษณะของหมวดหมู่หรือความเป็นสากลของตรรกะว่า "พระผู้เป็นเจ้านั้น ทรงมีก่อนการสร้างโลกหรือดวงดาวใด ๆ " ข้าพเจ้าขอบคุณ ศาสตราจารย์ เจ.เอส. แมคเคนซี่. เล่าจื้อ นักปราชญ์ชาวจีนที่ตระหนักถึงระเบียบแห่งจักรวาลหรือ เต๋า ซึ่งทำหน้าที่เป็นรากฐานสำหรับจริยธรรม ปรัชญา และศาสนาของปราชญ์ท่านนี้.
2 บรรพที่ 4 สรรคที่ 21. 3.
3 บรรพที่ 1 สรรคที่ 156. 3.
4 บรรพที่ 10 สรรคที่ 121. 1.
5 บรรพที่ 1. สรรคที่ 24. 8 เฮอราคลิตัส กล่าวว่า "เฮลิออส (พระอาทิตย์) จะไม่ (
เคลื่อนตัว) เกินขอบเขต."
6 บรรพที่ 4. สรรคที่ 23. 9.


80
       กฎใดอยู่ในโลกทางกาย คุณความดีก็จักอยู่ในโลกธรรม. แนวคิดกรีกเกี่ยวกับชีวิตทางศีลธรรมนั้น ถือเป็นความกลมกลืนหรือระเบียบทั้งมวลที่ได้รับการเสนอแนะไว้ในที่นี่. พระวรุณซึ่งเป็นเทพองค์แรกผู้รักษาระเบียบเชิงกายภาพนี้ไว้ ก็ได้กลายมาเป็นเทพผู้รักษาระเบียบทางศีลธรรม ฤทธสยะ โคปา (Ṛtasya gopa)01. และผู้ลงโทษต่อบาป. การอธิษฐานต่อเหล่าทวยเทพนั้นมีหลายกรณี เพื่อให้เราอยู่บนวิถีอันถูกต้อง. "ข้าแต่องค์อินทร์ โปรดทรงนำพาเราไปสู่วิถีแห่งฤทธา อันเป็นหนทางที่ถูกต้องเหนือสิ่งชั่วร้ายทั้งปวงด้วยเถิด."1.
       ทันทีที่แนวคิดเกี่ยวกับฤทธาได้รับการยอมรับ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของบรรดาทวยเทพขึ้น. โลกนี้มิใช่ความโกลาหลอันเป็นตัวแทนของความพิโรธอันมืดบอดที่เป็นองค์ประกอบของโอกาสต่าง ๆ อีกต่อไป แต่จักเป็นการทำงานเพื่อจุดประสงค์ที่สอดคล้องต้องกัน. ด้วยศรัทธานี้นั้นทำให้เราสบายใจและปลอดภัย จวบจนความละจากศรัทธานั้นได้ล่อลวงเรา เรารู้สึกได้ว่ามีกฎแห่งความชอบธรรมซึ่งอยู่ในโลกที่มีศีลธรรม อันจะตอบสนองต่อระเบียบแห่งธรรมชาติอันงดงามนี้ได้. เป็นที่แน่ใจได้ว่า ยามพระอาทิตย์อุทัยในวันรุ่งขึ้น คุณความดีก็จะประสบชัยชนะ. ฤทธานั้นเป็นที่เชื่อถือได้.
       พระมิตระทรงเป็นสหายกับพระวรุณ และมักได้รับการอัญเชิญไปพร้อมกับพระวรุณเสมอ. พระมิตระนั้นบางครั้งก็เป็นตัวแทนของพระอาทิตย์ บางครั้งก็เป็นตัวแทนแห่งแสง. นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมองเห็นทุกสิ่ง เป็นเทพเจ้าที่รักความจริงแท้. พระมิตระและพระวรุณทรงยังรักษาฤทธาไว้ร่วมกัน และเป็นผู้ให้อภัยต่อบาป. พระมิตระค่อย ๆ เชื่อมโยงกับแสงในยามอรุณรุ่ง และพระวรุณกับท้องฟ้ายามค่ำคืน. พระวรุณและพระมิตระได้รับการกล่าวขานว่าเป็นอาทิตยะ (the Ādityas) หรือบุตรแห่งอทิติ (Aditi) ร่วมกับพระอารยมัน (Aryaman) และพระภคะ (Bhaga).
       พระสูรย์ หรือ พระสูรยะ (Sūrya) คือพระอาทิตย์. มีบทสวดร่วมสิบบทที่กล่าวสรรเสริญถึงพระองค์. การบูชาพระอาทิตย์นั้นเป็นธรรมชาติของจิตใจมนุษย์. เป็นส่วนสำคัญของศาสนากรีก. เพลโตได้ให้แนวคิดในการบูชาพระอาทิตย์ในสาธารณรัฐ (กรีก) ขึ้น. สำหรับเพลโตแล้ว พระอาทิตย์เป็นสัญลักษณ์ของความดีงาม. ในเปอร์เซียเรามีพิธีบูชาพระอาทิตย์ พระผู้ให้กำเนิดแสงสว่างทั้งมวลและสรรพชีวิตในโลก ทรงมีพละกำลังที่ได้รับมอบหมายอันเหนือธรรมชาติ. พระองค์ทรงเป็นชีวิตของ "ทุกสิ่งที่เคลื่อนไหวและยืนตรงขึ้นได้". (ทุกความเคลื่อนไหว) พระองค์ทรงเห็นทั้งสิ้น ทรงเป็นจารบุรุษแห่งโลก. ปลุกเร้าให้ทุกคนมีกิจกรรม ปัดเป่าความมืดมิด และให้ความสว่างไสว. "พระสูรยะทรงอุทัย เพื่อก้าวทันโลกทั้งสอง ทรงเฝ้ามองมนุษย์ ทรงเป็นผู้พิทักษ์ให้แก่การเดินทางและการเข้าสู่ที่พำนัก เฝ้าดูความผิดชอบชั่วดีในหมู่มนุษย์."2. พระสูรย์ทรงกลายเป็นผู้สร้างโลก และกำกับดูแลโลกไว้.

หมายเหตุ การขยายความ
01. ฤทธสยะ โคปา (Ṛtasya gopa - ผู้รักษาระเบียบกฎเกณฑ์) โดย ṛtasya < ṛta แปลว่า truth, order fixed order, gopa มาจาก cowboy, defender.

---------------
1 บรรพที่ 10. สรรคที่ 133. 6.
2 ฤคเวท บรรพที่ 7. สรรคที่ 60.


 
81
       พระสวิตฤ บ้างก็เรียก พระสวิต์ฤ (Savitṛ - सवितृ) ทรงโดดเด่นในบทสวดทั้งสิบเอ็ดบท ทั้งยังเป็นสุริยเทพอีกด้วย. มีคำพรรณาถึงพระองค์ว่ามีนัยน์ตาสีทอง พระกรสีทอง และพระชิวหาก็สีทอง. บางครั้งพระองค์ก็แตกต่างจากพระอาทิตย์1. แม้ว่าจะพบพระองค์บ่อยครั้ง พระสวิตฤนั้นไม่เพียงแต่เป็นตัวแทนของพระอาทิตย์ที่เจิดจ้าด้วยลำแสงสีทองเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแทนของพระอาทิตย์ที่มองไม่เห็นในยามราตรีอีกด้วย. พระองค์มีศีลธรรมอันสูงส่ง มีคนหยาบช้าที่กลับใจวิงวอนขออภัยบาป: "ไม่ว่ามีความผิดใด ๆ ที่เราอาจกระทำต่อทวยเทพบนสวรรค์ ด้วยความด้อยทางความเข้าใจ หรือโดยความอ่อนแอ หรือโดยความจองหองทะนงตน หรือโดยธรรมชาติของมนุษย์ โอ สวิตฤ โปรดนำบาปนี้ออกจากเราเถิด."2. ในบทสวดคายตรี หรือ คายตรีมนตร์ (Gāyatrī or Gāyatrī Mantra - गायत्री) ส่งยังพระสูรยะ ในรูปแบบของพระสวิตฤนั้น "ให้เราตรึกตรองถึงความงดงามความน่ารักของพระสวิตฤ ขอพระองค์ทรงเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในจิตใจเราเถิด." และมีบทสวดที่ยกมาจากยชุรเวทดังนี้ "ข้าแต่องค์เทพสวิตฤ ผู้รังสรรค์ทุกสรรพสิ่ง โปรดขจัดปัดเป่าสิ่งกีดขวางและทรงประทานพรด้วยเทอญ." อันเป็นบทสวดที่ส่งตรงยังพระสวิตฤ.

พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ (ผู้เคลื่อนไหวในน้ำ)

     พระสูรยะซึ่งในรูปแบบของพระวิษณุ ทรงคอยค้ำจุนโลกทั้งมวลไว้.3พระวิษณุทรงเป็นเทพแห่งการย่างสามขุม01. พระองค์ทรงคุ้มครองโลก สวรรค์ และโลกสูงสุดที่มนุษย์มองเห็นได้. ไม่มีใครสามารถไปถึงขีดจำกัดของความยิ่งใหญ่แห่งพระองค์ได้. "ข้าแต่พระองค์ เรารู้จากพื้นโลกได้เพียงสองอวกาศ (โลก และสวรรค์) ของพระองค์เท่านั้น ข้าแต่พระวิษณุ มีเพียงพระองค์เท่านั้นที่รู้ถึงที่พำนักสูงสุดแห่งพระองค์เอง."4. ในฤคเวทนั้น พระวิษณุมีตำแหน่งเป็นเทพในระดับรอง ๆ อย่างไรก็ดี พระองค์จะมีอนาคตที่ยิ่งใหญ่อยู่เบื้องหน้า. ซึ่งพื้นฐานของไวษณพนิกายนั้นก็พบได้ในฤคเวท โดยพระวิษณุได้รับการอธิบายว่าเป็น พฤหัทศะรีระห์ - พฤหัสสรีระ (bṛhatśarīrah - बृहत् शरीरम् - Large body) ผู้เป็นใหญ่ในเรือนร่าง หรือมีโลกสำหรับเรือนร่างของพระองค์  พรัทเตย อาหัท (pratyety āhavam - प्रत्यय आहट) พระผู้ซึ่งเสด็จมาตามคำเชิญของผู้ศรัทธา.5. กล่าวกันว่าพระองค์ได้เดินทางข้ามพื้นโลกถึงสามครั้ง เพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก.6.
       พระปูษัน บ้างก็เรียก พูษาน (Pūṣan หรือ Pushan - पूषन् - เทียบได้กับ Pan หรือ Hermes เทพกรีก) ทรงเป็นสุริยเทพอีกองค์หนึ่ง. เห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงเป็นเพื่อนกับมนุษย์ เป็นเทพผู้อภิบาลและผู้พิทักษ์สัตว์เลี้ยง. พระองค์ทรงเป็นเทพแห่งนักเดินทางและชาวนา.
       รัสกิน02 กล่าวว่า "สำหรับข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว จะไม่มีความซ้ำซากจำเจใด ๆ ที่ลึกล้ำเฉกเช่นเดียวกับอรุณรุ่ง." แสงอรุณอันไร้ขอบเขตที่สาดส่องในทุกเช้านั้น แสงและชีวิตก็จะกลายเป็นเทพีอุษา อีออสของกรีก เป็นบ่าวยามเช้าผู้ปราดเปรื่องอันเป็นที่รักของเทพอัศวิน03.และพระอาทิตย์ ทว่าได้หายสาบสูญไปต่อหน้าต่อตาในขณะที่เทพ (พระอาทิตย์) พยายามโอบกอดเธอด้วยลำแสงสีทองของเขา.
หมายเหตุ การขยายความ
01. ย่างสามขุม รายละเอียดแสดงในนารายณ์อวตาร ตอนที่ 5: วามนาวตาร.
02. จอห์น รัสกิ้น (John Ruskin) (8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2362 - 20 มกราคม พ.ศ.2443) นักประพันธ์ นักปรัชญา นักวิจารณ์งานศิลปะ ชาวอังกฤษ ยุควิคตอเรีย.
03. อัศวิน (The Aśvins - अश्विन्) เป็นเทพฝาแฝดมีศีรษะเป็นม้า เป็นเทพที่เกี่ยวกับการแพทย์ สุขภาพ รุ่งอรุณ และวิทยาศาสตร์ ในฤคเวทนั้นอธิบายว่า เทพฝาแฝดผู้เยาว์วัยทั้งสอง เดินทางด้วยรถม้าที่ลากโดยม้าที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และแสดงตนเป็นเทพผู้พิทักษ์ที่คอยปกป้องและช่วยเหลือผู้คนในสถานการณ์ต่าง ๆ . ในมหากาพย์มหาภารตะกล่าวว่าเทพอัศวินเป็นบุตรแห่งพระอาทิตย์และนางสัญญา (Sanjna) ภราดาปาณฑพฝาแฝด นกุล และสหเทพนั้น เป็นบุตรของเทพอัศวิน.

---------------
1 ฤคเวท บรรพที่ 7. สรรคที่ 63.
2 บรรพที่ 4. สรรคที่ 54. 3.
3 บรรพที่ 1. สรรคที่ 21. 154
4 บรรพที่ 1. สรรคที่ 22. 18; บรรพที่ 7. สรรคที่ 59. 1-2.
5 บรรพที่ 1. สรรคที่ 155. 6.
6 Mānave bādhitāya (नवे बाधित), บรรพที่ 4. สรรคที่ 6.
          
ภาพจากซ้ายไปขวา: เทพฝาแฝดอัศวินมีพระพักตร์เป็นม้ากำลังนั่งบนรถ ตามคติโบราณไทยที่ได้รับจากชมพูทวีปในกาลต่อมา, เก็บเป็นแฟ้มรวบรวมไว้เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ.2503 ไม่ทราบชื่อจิตรกร,ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 30 มีนาคม 2566, และเทวีอทิติ (กำลังนมัสการพระพรหม ๆ ให้พร) ภาพเขียนราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 จาก Saraswati Mahal Library Collection เมืองตันจอร์ อินเดีย, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 30 มีนาคม 2566.


82
       เรื่องราวของเทพฝาแฝดอัศวิน ปรากฎอยู่ในบทสวดราว 50 บท และในบางส่วนของบทสวดอื่นอีกมาก1. ทั้งสองแยกจากกันไม่ออก เป็นเจ้าแห่งความสว่างไสวและความวิภา (ความเป็นเงา ความแวววาว) แข็งแกร่ง ว่องไว และปราดเปรียวดุจนกอินทรี. ทั้งสองเป็นโอรสแห่งสวรรค์ และมีรุ่งอรุณ (The Dawn) เป็นกนิษฐา. สันนิษฐานว่าเป็นปรากฎการณ์ในช่วงพลบค่ำที่พิจารณาจากพื้นฐานทางวัตถุ. นั่นคือเหตุผลที่เรามีอัศวินฝาแฝดที่ตรงกับรุ่งอรุณและพลบค่ำ. ทั้งสองค่อย ๆ กลายเป็นแพทย์ของทวยเทพและมนุษย์ ผู้ทำงานอันน่ามหัศจรรย์ ผู้พิทักษ์ความรักและชีวิตสมรส ตลอดจนปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้พ้นจากความทุกข์ทนทุกกรณีทุกประการ.
       เราได้กล่าวถึงเทวีอทิติ (Aditi - अदिति) แล้ว ซึ่งมีเทพหลายองค์ได้กำเนิดขึ้นที่เรียกกันว่า อาทิตยา (Ādityas). อทิตินั้นมีความหมายตามตัวอักษรว่า "ไม่มีขอบเขตหรือไร้ขีดจำกัด." ดูเหมือนจะเป็นชื่อเรียกสิ่งที่มองไม่เห็น ความไม่สิ้นสุดที่ล้อมรอบเราทุกด้าน และยังหมายถึงความเวิ้งว้างที่ไร้ขีดจำกัด เหนือพื้นดิน ก้อนเมฆ และท้องฟ้า. มันเป็นรากฐานอันยิ่งใหญ่ของทุกสิ่งที่อยู่ที่นี่และที่อื่น ๆ "อทิติคือท้องฟ้า อทิติคือพื้นที่ตรงกลาง อทิติคือบิดาและมารดาและบุตร อทิติคือเหล่าทวยเทพทั้งมวลและทั้ง 5 เผ่า!!!??? อทิติคือทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และอทิติคือสิ่งที่จะกำเนิดขึ้น."2. ที่นี่เรามีความมุ่งหวังของธรรมชาติในอันที่จะโอบล้อมทุกสิ่งที่เป็นสากล ธรรมชาติได้ก่อกำเนิดขึ้นเองทั้งหมด ด้วยศักยภาพอันยิ่งใหญ่หรือประกฤตแห่งปรัชญาสางขยะ. ที่สอดคล้องกับความเป็นอนันต์ของอแน็กซิแมนเดอร์.01.
       ปรากฎการณ์สำคัญของธรรมชาติที่ถูกยกให้เป็นเทพ นั่นคือไฟ. อัคนี (Agni)03. มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากพระอินทร์  โดยได้รับการกล่าวถึงในบทสวดอย่างน้อย 200 บท. แนวคิดของอัคนีเกิดขึ้นจากดวงอาทิตย์ที่แผดเผา ซึ่งความร้อนของพระองค์ได้ประทุยังสารไวไฟ. พระอัคนีมาจากเมฆขณะที่มีฟ้าแลบ. พระองค์มีต้นกำเนิดมาจากหินเหล็กไฟ (flintstone).4. มาจากแท่งไฟ.5. ซึ่งมาตริศวัน02. เหมือนเช่นโพรเมธิอุส03. ซึ่งควรนำไฟกลับมาจากท้องฟ้าและมอบหมายให้ผู้ดูแลเหล่าสกุลภฤคัส (the Bhṛgus).6. พระอัคนีจะมีเคราสีน้ำตาลอ่อน กรามคมและฟันที่ไหม้เกรียม.

หมายเหตุ การขยายความ
01. อแน็กซิแมนเดอร์ (Anaximander) นักปรัชญาชาวกรีกก่อนยุคโซกราติส
(มีชีวิตช่วงก่อนคริสตกาลปี 610-546 สิริราว 64 ปี) นักปรัชญาด้าน อภิปรัชญา ดาราศาสตร์ เรขาคณิตและภูมิศาสตร์.
02. มาตริศวัน (
Mātariśvan) แปลว่าเติบใหญ่ไปสู่การเป็นพระมารดาซึ่งในฤคเวทนั้น หมายถึงชื่อของพระอัคนี (ไฟสำหรับยัญพิธี คำว่ามารดา หมายถึงเปลวไฟที่กำเนิดมาจากการจุดจากแท่งไฟ)
03. โพรเมธิอุส (Prometheus) เทพไทันแห่งไฟ (Titan God of Fire) ดูใน 2. เทพปกรณัมกรีกและโรมันโบราณ - ยุคทองแห่งการกินคน
---------------
1 ฝาแฝดอัศวินมีศีรษะเป็นม้า.
2 ฤคเวท บรรพที่ 1. สรรคที่ 89.
3 ลาติน เรียก อิกนิส (Ignis).
4 บรรพที่ 2. สรรคทึ่ 12. 3.
5 สันสกฤต อรณิส (araṇis)
6 ชื่อแซ่ นามสกุล.


 
83
เยื้อไม้และเนยเป็นอาหารของพระองค์. พระอัคนีส่องสว่างเหมือนดวงอาทิตย์ ทรงขับไล่ความมืดมิดในยามราตรี. เมื่อได้ทรงล้ำรุกเข้าไปในป่าแนวดำเนินของพระองค์จะเป็นสีดำ และเสียงของพระองค์เหมือนท้องฟ้าบนสวรรค์กำลังกัมปนาท ทรงเป็นธุมเกตุ (หมอกธุมเกตุ หรือ ธูมเกตุ) ทรงมีควันเป็นธง. "ข้าแต่ พระอัคนี โปรดรับท่อนซุงนี้ที่ข้าพเจ้านำเสนอแด่พระองค์ โปรดเปล่งแสงเจิดจ้าและควันอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ขึ้นไป สัมผัสท้องฟ้าที่สูงสุดด้วยแผงคอของพระองค์ พร้อมผสมกับลำแสงของพระอาทิตย์."1 ไฟจึงถูกมองว่าไม่ได้อยู่แต่บนโลกในเตาไฟและแท่นบูชาเท่านั้น แต่ยังอยู่ในท้องฟ้าและชั้นบรรยากาศ เช่นเดียวกับดวงอาทิตย์และรุ่งอรุณ และเหมือนฟ้าแลบในก้อนเมฆ. ในไม่ช้าพระอัคนีก็กลายเป็นเทพเจ้าสูงสุด ขยายทั้งในสวรรค์และโลกออกไป. เมื่อแนวคิดเริ่มเป็นนามธรรมขึ้นเรื่อย ๆ พระองค์ก็กลายเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่มากขึ้นตามลำดับ พระองค์ทรงเป็นตัวกลางระหว่างเทพกับมนุษย์ ทรงเป็นผู้ช่วยเหลือทั้งหมด. "ข้าแต่พระอัคนี โปรดนำพระวรุณมาที่นี่เพื่อถวายรับการถวายเครื่องบูชาจากข้าพเจ้า. โปรดนำพระอินทร์ลงมาจากฟากฟ้า ให้เหล่าพระมารุตเสด็จลงมาจากอากาศ"2 "ข้าพเจ้าถือเอาพระอัคนีเป็นบิดา ข้าพเจ้าถือว่าพระองค์เป็นญาติ เป็นพี่เป็นน้อง และเป็นสหายของข้าพเจ้าด้วย."3.
         พระโสม ผู้เป็นเทพแห่งแรงบันดาลใจ ผู้ประทานชีวิตอมตะ เปรียบได้กับพระเฮาโอมา01. แห่งคัมภีร์อเวสตะ02. และไดอะไนซัส03. แห่งกรีซ เทพเจ้าแห่งไวน์และองุ่น. ทั้งหมดนี้คือลัทธิของบรรดาเหล่าชนที่ชอบการมึนเมาซึ่งทำให้เบิกบานใจ. ผู้ทุกข์ทนต้องการบางสิ่งเป็นกลบความโศกเศร้า. เมื่อเขาได้ดื่มเครื่องดื่มที่ทำให้เขามึนเมาเป็นครั้งแรก ความปีติยินดีก็เข้าครอบงำ. ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขานั้นบ้า แต่เขากลับคิดว่าเป็นความบ้าคลั่งอันศักดิ์สิทธิ์. เป็นสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นการมองภาพเห็นเส้นทางด้านจิตวิญญาณ การส่องสว่างอย่างฉับพลัน การหยั่งรู้ที่ลึกขึ้น ความเป็นกุศลที่ขยายใหญ่ขึ้นและความเข้าใจที่ขยายระนาบกว้างขึ้น - ทั้งหมดนี้มาพร้อมกับสถานะของจิตวิญญาณที่ได้รับการดลใจ. จึงไม่น่าแปลกใจที่เครื่องดื่มซึ่งยกระดับจิตวิญญาณจะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์. ศาสตราจารย์วิทนี่ย์ตั้งข้อสังเกตว่า: "ชาวอารยันที่มีจิตใจเรียบง่าย ผู้ซึ่งบูชาพลังอันวิเศษและปรากฎการณ์ธรรมชาติอันเป็นศาสนาทั้งมวลของกลุ่มตนนั้น ไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยว่าของเหลวมีพลังยกระดับจิตวิญญาณและสร้างความคลั่งไคล้ได้ชั่วคราวภายใต้อิทธิพลของแต่ละบุคคลนั้น จะเป็นการกระตุ้นและสามารถกระทำสิ่งที่เกินกำลังตามธรรมชาติของเขาได้ กว่าที่พวกเขาจะพบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในนั้น เครื่องดื่มมึนเมานี้เป็นเสมือนพระผู้เป็นเจ้าที่เข้าใจพวกเขา ทรงมอบกำลังให้แก่เหล่าผู้ที่เข้ามาดื่มด้วยพลังที่เสมือนพระผู้เป็นเจ้า:

หมายเหตุ การขยายความ
01. พระเฮาโอมา (Haoma) เป็น
เทพโบราณ ปกรณัมเปอร์เซีย ของพวกลัทธิบูชาไฟ (ศาสนาโซโรอัสเตอร์ - Zoroastrianism) เป็นเทพแห่งพืชพันธุ์ เชื่อมโยงกับพระโสม - Soma ของศาสนาพระเวท.
02. อเวสตะ (Avesta) หรือ เซนต์ อเวสตะ เป็นคัมภีร์สำคัญของศาสนาโซโรอัสเตอร์.

03. ไดอะไนซัส (Dionysos) เป็นเทพกรีก เทพเจ้าแห่งการเก็บเกี่ยวองุ่น การทำไวน์ และไวน์.
---------------
1 ฤคเวท, บรรพที่ 2. สรรคที่ 6.
2 ฤคเวท, บรรพที่ 10. สรรคที่ 70. 11.
3 ฤคเวท, บรรพที่ 10. สรรคที่ 7. 3.



84
พืชที่เพาะปลูกไว้ได้กลายเป็นราชาแห่งพันธุ์พืชสำหรับพวกเขา ได้มีขั้นการตระเตรียมเป็นเครื่องบูชาอันศักดิ์สิทธิ์ เครื่องมือที่ใช้จึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามไปด้วย ความเก่าแก่ของลัทธินี้ได้รับการยืนยันโดยการอ้างอิงไว้ซึ่งพบในอเวสตะของเปอร์เซีย; อย่างไรก็ตามแนวคิดความเชื่อนี้ก็ได้รับแรงกระตุ้นขึ้นมาใหม่ในอินเดีย."1. พระโสมก็มิได้เป็นแบบอย่างส่วนตัวที่สมบูรณ์นัก. พืชและผลไม้ปรากฎอยู่ในห้วงความคิดของกวีอย่างแจ่มชัด จนกวีมิอาจรจนาออกมาเป็นให้เป็นจริงได้. บทสวดที่ส่งถึงพระโสมนั้น มีความตั้งใจที่จะร้องสวดในขณะที่คั้นน้ำผลไม้ออกจากต้น. "ข้าแต่พระโสม โปรดหลั่งริน (เครื่องดื่มนี้) ให้แก่พระอินทร์ได้ดื่มด่ำอย่างหมดจดจากกระแสเครื่องดื่มอันหอมหวานและชื่นใจยิ่งนักนี้ด้วยเทอญ."2. ในบรรพที่ 8 สรรคที่ 48. 3 ผู้บูชาเป็นอมตะ เราได้ดื่มน้ำโสมแล้ว เราทราบว่าความมึนเมานั้นมิได้เป็นเรื่องแปลกสำหรับผู้คนในยุคพระเวท. วิลเลี่ยม เจมส์ บอกกับเราว่าจิตสำนึกของคนเมานั้นเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยของความศักดิ์สิทธิ์ที่ผ่านความมึนเมาทางร่างกาย. ตัวน้ำโสมเองค่อย ๆ ซึมซับพลังทางเวชภัณฑ์ ช่วยให้คนตาบอดมองเห็นได้ และคนที่ง่อยเปลี้ยสามารถเดินได้.3. ในบทสวดอันไพเราะของพระโสม ดังต่อไปนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ที่เขาได้ครอบครองถึงความเสน่หาของเหล่าชาวอารยันยุคพระเวทนั้น มีความสำคัญเพียงใด.
       ที่ใดมีแสงสว่างอันเป็นนิรันดร์ ในโลกที่ซึ่งดวงอาทิตย์ตั้งอยู่ ในโลกที่เป็นอมตะและไม่มีวันเสื่อมสลายนั้น จงวางข้าพเจ้าเถิด ข้าแต่พระโสม.
       ที่ซึ่งพระโอรสแห่งองค์เทพ
วิวัสวัต01.เสวยราชสมบัตินั้น เป็นที่ลี้ลับของสวรรค์ ที่ซึ่งผืนน้ำอันกว้างใหญ่นี้ ทำให้ข้าพเจ้าเป็นอมตะ.
       ที่ซึ่งชีวิตเป็นอิสระ ในสวรรค์ชั้นที่สามนั้น เป็นที่ซึ่งโลกอำไพ ณ ที่นั้นทำให้ข้าพเจ้าเป็นอมตะ.
       ที่ซึ่งความประสงค์และความปรารถนาตั้งอยู่ ที่ซึ่งชามแห่งพระโสมอันเจิดจ้าวางอยู่นั้น ที่ซึ่งมีภักษาหารและความปรีดา ณ ที่นั้นทำให้ข้าพเจ้าเป็นอมตะ.
       ที่ซึ่งมีความสุขและความยินดี ที่ ๆ มีความสุขสันต์และความเพลิดเพลินตั้งอยู่ ที่ซึ่งความต้องการตามปรารถนาแห่งข้าพเจ้าได้บรรลุ ณ ที่นั้นทำให้ข้าพเจ้าเป็นอมตะ.
4.
       ในบทสวดพระโสมที่ได้ยกมานั้น มีการอ้างถึงพระโอรสของเทพวิสวัต นั่นคือพระยม (พระยมราช หรือ พญายม) ตามที่ปรากฎในฤคเวท ที่ได้ตอบกลับไปยังยิมะ02.

หมายเหตุ การขยายความ
01. เทพวิวัสวัต (Vivasvat - विवस्वत्)
หมายถึงพระสูรยะ หรือ พระสูรย์ หรือ พระสุริยะ หรือ พระอาทิตย์.
02. ยิมะ (Yima) เป็นมนุษย์คนแรกตามความเชื่อของศาสนาอิหร่านโบราณ เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ เป็นบุตรแห่งพระสูรยะ ต่อมาในวรรณกรรมเปอร์เซียได้กล่าวถึงยิมะในชื่อของจัมชีด (Jamsh
īd).
---------------

1.  วารสารอเมริกันตะวันออกศึกษา, เล่มที่ 3. หน้า 292.
2.  เล่มที่ 9 หน้า i.
3. บรรพที่ 7. สรรคที่ 68. 2 และบรรพที่ 10. สรรคที่ 25. 11.
4. หนังสือหายากแห่งตะวันออก, บทสวดพระเวทตอนที่ 1 ดูงานแปล the Baachæ of Euripides ของกิลเบิร์ต เมอร์เรย์, หน้าที่ 20.

 

พระยม, ภาพจากนครวัด กัมพูชา ระเบียงคดทิศใต้ปีกตะวันออก - สรวงสวรรค์และนรกภูมิ (Heavens and Hells) ถ่ายไว้เมื่อ 20 ตุลาคม 2561.
 
85
บุตรแห่งเทพวิวันห์วันท์แห่งคัมภีร์อเวสตะ. มีสามบทสวดที่ได้กล่าวถึงพระยม พระองค์เป็นเทพแห่งความตาย ทรงไม่เป็นเพียงแต่เป็นเทพเท่านั้น ยังทรงเป็นผู้ปกครองของคนที่ตายไปแล้วอีกด้วย. พระองค์เป็นหนึ่งในมนุษย์กลุ่มแรกที่ตายและหาหนทางไปโลกอื่น เป็นคนแรกที่เดินตามรอยบรรพชน.1. ต่อมาพระองค์ทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านที่ต้อนรับอาคันตุกะที่มาใหม่ พระองค์เป็นกษัตริย์ในอาณาจักรแห่งความตาย ด้วยประสบการณ์ของพระยม บางครั้งพระองค์ก็ได้รับการขนานพระนามว่าเทพเจ้าแห่งพระอาทิตย์อัสดง.2. ในคัมภีร์พราหมณ์ พระยมเป็นผู้พิพากษาและเป็นผู้ลงทัณฑ์เหล่ามนุษย์. แม้แต่ในฤคเวท พระยมยังเป็นกษัตริย์ของมนุษย์เหล่านี้. พระยมทรงได้อธิบายถึงความจริงของคำพูดที่ลูเชียน01. ที่ย้อนกลับและเสียดสี เฮอราคลิตุส02. ว่า "มนุษย์คืออะไร. เทพแห่งมฤตยู (และ) เหล่าเทพเจ้าคืออะไร (และ) มนุษย์อมตะ (คืออะไร).".
       เทพปรรชันยะ03. ทรงเป็นเทพเจ้าแห่งท้องฟ้าของชาวอารยัน. หลังจากที่ชาวอารยันได้ทะยอยเข้ามาในอินเดียแล้วนั้น พระองค์ก็ได้กลายเป็นพระอินทร์. แต่ก็ยังมีชาวอารยันกลุ่มอื่น ๆ ที่ยังไม่รู้จักพระอินทร์. ในพระเวทนั้น เทพปรรชันยะมีอีกชื่อหนึ่งว่าท้องฟ้า. "พระแม่ธรณีเป็นมารดา ข้าพเจ้านั้นเป็นบุตร โดยมีเทพปรรชันยะเป็นบิดา ขอพระองค์จงช่วยเราด้วยเถิด."3. ในอรรถรเวทนั้นได้เรียกพระแม่ธรณีเป็นชายาของเทพปรรชันยะ.4. เทพปรรชันยะเป็นเจ้าแห่งก้อนเมฆและฝน.5. พระองค์ทรงปกครองโลกเสมือนพระผู้เป็นเจ้า ทุกสรรพสัตว์อยู่ในอ้อมกอดของพระองค์ พระองค์คือชีวิตของทั้งมวลที่เคลื่อนไหวและที่พักผ่อนคลาย.6. นอกจากนี้ยังมีข้อความที่กล่าวว่าคำว่าเทพปรรชันยะนั้นถูกนำมาใช้กับก้อนเมฆและฝน.7. มัคส์ มึลเล่อร์04. ท่านได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเทพปรรชันยะว่าคล้ายกับเทพของลิธัวเนียน (ชาวลิธัวเนีย) เจ้าแห่งฟ้าร้องที่มีนามว่า เปอร์คูนัส.05,8.
       ในบรรดาปรากฎการณ์ธรรมชาติที่กระตุ้นความประหวั่นพรั่นพรึงและความหวาดกลัวนั้น ไม่มีสิ่งใดจะท้าทายเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับพายุฝนฟ้าคะนองได้. พระอินทร์ตรัส "ใช่แล้ว เราเองได้ส่งฟ้าร้องและฟ้าแลบ." "เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เจ้าจงเชื่อในเรา.". เมื่อได้พิจารณาจากบทสวดที่ส่งถึงพระองค์ จึงตัดสินได้ว่าพระอินทร์เป็นเทพเจ้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในคัมภีร์พระเวท. เมื่อชาวอารยันเข้ามายังอินเดีย พวกเขาก็พบว่า ณ ขณะนั้นความรุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมของพวกเขา ก็เป็นเพียงการเดิมพันท่ามกลางสายฝน. เทพเจ้าแห่งสายฝนได้กลายเป็นเทพประจำชนชาติอินโด-อารยัน. พระอินทร์ทรงเป็นเทพเจ้าแห่งท้องฟ้าสีคราม พระองค์คือมหาเทพซูสแห่งอินเดีย.

หมายเหตุ การขยายความ.
01. ลูเชียน (Lucian)
มีชีวิตราว ค.ศ.125 - หลัง ค.ศ.180 เป็นชาวซีเรียภายใต้จักรวรรดิโรมัน เป็นนักเขียนนิยาย นักเสียดสี นักวาทศิลป์.
02. เฮอราคลิตุส (Heraclitus) มีชีวิตราว 535-475 ปีก่อนคริสต์กาล นักปรัชญายุคก่อนโสกราติสชาวกรีก มาจากเอเฟซัล ไอโอเนีย บนฝั่งทะเลอานาโตเลีย ปัจจุบันเป็นประเทศตุรเคีย
เฮราคลิตุสเป็นที่รู้จักกันในปรัชญาของความเปลี่ยนแปลงที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล และกฎจักรวาล (Logos) เป็นพื้นฐานของทุกสิ่งทุกอย่าง ในปัจจุบันเฮราคลิตุสมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้มีอิทธิพลต่อฟรีดริช นีทเชอในปรัชญาของ space และ time จากประโยค “ท่านไม่สามารถจะก้าวลงไปในแม่น้ำเดียวกันเป็นครั้งที่สองเพราะแม่น้ำสายอื่นไหลมาสู่ตัวท่าน”, ที่มา: th.wikipedia.org และ en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 9 เมษายน 2566.
03. ปรรชันยะ (Parjanya -
पर्जन्य) - ในสันสกฤตพระเวท ปรรชันยะ หมายถึง ฝน หรือ เมฆฝน ซึ่งมีบทสวดกล่าวไว้ในอรรถรเวท.
04. มัคส์ มึลเล่อร์ (Max M
üller) รายละเอียดดูใน ระบบทั้งหกของปรัชญาอินเดีย 1.
05. เปอร์คูนัส (Perkunas หรือ Perkūnas) เป็นหนึ่งเทพที่สำคัญของชาวแถบทะเลบอลติกโบราณ.
---------------
1. ปิติญาณ หรือ ปิตฤญาณ - पितृयान - Pitṛyāna, บรรพที่ 10 สรรคที่ 2. 7.
2. บรรพที่ 10. สรรคที่ 14.
3. อรรถรเวท บรรพที่ 7 สรรคที่ 1. 12.
4. บรรพที่ 7 สรรคที่ 1. 42.
5. ฤคเวท บรรพที่ 5 สรรคที่ 83.
6. ฤคเวท บรรพที่ 7 สรรคที่ 101. 6.
7. ดูใน ฤคเวท บรรพที่ 1 สรรคที่ 164. 5 บรรพที่ 7 สรรคที่ 61.
8. อินเดีย; ได้สอนอะไรเรา การบรรยายที่ 6.


86
องค์อินทร์กำเนิดขึ้นตามธรรมชาติอย่างชัดเจน. พระองค์ถือกำเนิดจากมวลน้ำและก้อนเมฆ พระองค์ทรงควงสายฟ้าและเข้าพิชิตความมืดมิด. พระองค์ประทานความสว่างไสวและให้ชีวิตแก่เรา รวมทั้งให้กำลังวังชาและความสดชื่นแก่เรา. สรวงสวรรค์โค้งคำนับต่อพระองค์และผืนแผ่นดินก็สั่นสะเทือนเมื่อพระองค์เข้ามาใกล้. ความสัมพันธ์ระหว่างพระอินทร์กับท้องฟ้าและพายุฝนฟ้าคะนองก็ค่อย ๆ ลืมเลือนลง. องค์อินทร์ได้กลายเป็นพระวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์. ทรงเป็นผู้ปกครองโลกและสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ผู้มองเห็นและได้ยินทุก ๆ สิ่ง และทรงเป็นแรงบันดาลใจให้เหล่ามนุษย์ด้วยความคิดและแรงเร้ากระตุ้นที่ยอดเยี่ยม.1. จากการที่ทรงเป็นเทพแห่งพายุฝนฟ้าคะนองพิชิตเหล่าปีศาจแห่งความแห้งแล้งและความมืด ก็กลายเป็นเทพแห่งชัยชนะในการต่อสู้ของชาวอารยันกับเหล่าชนพื้นเมืองอินเดีย. ในห่วงเวลานี้มีความเคลื่อนไหวมากมาย และเหล่าชนต่างก็มีส่วนร่วมในการเข้าผจญเพื่อพิชิตและครอบครอง. พระองค์จะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องเลยกับชนพื้นเมืองผู้ซึ่งนับถือความเชื่อความศรัทธาที่แตกต่างออกไป. "เทพวีรชนผู้กำเนิดขึ้นทันเหล่าทวยเทพ ก่อนมาเพี้ยงสั่นสะเทือนทั้งสองโลก - เหล่าชนเอ๋ย นี่คือองค์อินทร์ ผู้ทรงบันดาลให้โลกและภูเขาสูงเสียดฟ้า ทรงวัดห่วงอากาศ ทรงค้ำจุนสวรรค์ - เหล่าชนเอ๋ย นี่คือองค์อินทร์ ผู้สังหารพญานาคและปลดปล่อยสายน้ำทั้งเจ็ด ช่วยฝูงโคที่ติดหล่มอยู่ในศึก - เหล่าชนเอ๋ย นี่คือองค์อินทร์ เทพที่น่าเกรงขาม ที่เรามักสงสัยว่าพระองค์อยู่แห่งหนใด และเยาะเย้ยพระองค์ว่า พระองค์มิใช่ผู้กวาดริบทรัพย์ของศัตรู จงศรัทธาในพระอินทร์ - เหล่าชนเอ๋ย นี่คือองค์อินทร์ ผู้ยืนบนหลังม้า สัตว์เลี้ยง หรือกองทัพติดอาวุธ ทรงยืนตระหง่านบนแนวรบ - เหล่าชนเอ่ย นี่คือองค์อินทร์ หากไร้ซึ่งการช่วยเหลือของพระองค์ มนุษย์ก็ไม่มีวันจะพิชิตได้ แม้ลูกศรของพระองค์อาจจะดูน้อยนิดที่จะสังหารเหล่าทรชนก็ตาม - เหล่าชนเอ่ย นี่คือองค์อินทร์."2. เทพผู้มีชัยองค์นี้มีคุณลักษณะศักดิ์สิทธิ์สูงสุด ทรงปกครองท้องนภา ปฐพี นทีธาร และทิวเขา.3. และพระอินทร์ก็ค่อย ๆ แทนที่พระวรุณจากตำแหน่งสูงสุดในวิหารแห่งพระเวท. พระวรุณผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เที่ยงธรรมและเยือกเย็น ทรงมีจุดมุ่งหมายเสมอ พระองค์นั้นไม่เหมาะสำหรับช่วงเวลาที่ชาวอารยันต้องดิ้นรน มุ่งพิชิต และต้องเข้มแข็ง. ดังนั้นเราจึงได้ยินเสียงสะท้อนของการปฏิวัติครั้งใหญ่ในโลกของพระเวท ซึ่งปรากฎในบทสวดบางบท.4.
---------------

1. บรรพที่ 8 สรรคที่ 37. 3; บรรพที่ 8 สรรคที่ 78. 5.
2. ฤคเวท บรรพที่ 2 สรรคที่ 12.
3. บรรพที่ 10 สรรคที่ 89. 10.
4. (พระวรุณกล่าว) "ข้าฯ คือกษัตริย์. สิ่งที่ข้าฯ มีคืออำนาจ. ทวยเทพทั้งมวลอยู่ใต้อาณัติแห่งข้าฯ ข้าฯ เป็นผู้ประทานชีวิตทั่วทั้งจักรวาล และต้องปฏิบัติตามจารีตธรรมเนียมแห่งพระวรุณ. ข้าฯ ปกครองวิหารศักดิ์สิทธิ์สูงสุด - ข้าฯ คือกษัตริย์วรุณ - ตัวข้าฯ เอง, โอ้พระอินทร์ ข้าฯ คือพระวรุณ และข้าฯ คือโลกที่กว้างขวาง ลึก ผู้ได้รับพรทั้งสองโลก. ผู้รังสรรค์ที่ชาญฉลาด (คือข้าฯ ) ข้าฯ ได้สร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาทั้งหมด ข้าฯ ได้ธำรงรักษาสวรรค์และโลกไว้. ข้าฯ ทำให้สายน้ำไหลเชี่ยวกราก. ข้าฯ ได้สถาปนาสวรรค์ที่ประทับอันศักดิ์สิทธิ์ไว้ให้พวกเขา (เหล่าทวยเทพ). ข้าฯ (คือ) พระอาทิตยาผู้ศักดิ์สิทธิ์ ได้แผ่จักรวาลไตรภาคีออกไป" (สวรรค์ โลก และชั้นบรรยากาศ).
   (พระอินทร์กล่าว) "ข้าฯ ถูกเรียกร้องโดยเหล่าชนที่มีม้า (ศึก) เมื่อถูกกดดันอย่างหนักในการต่อสู้ ข้าฯ คือผู้ยิ่งใหญ่ที่ยุยงให้เกิดการต่อสู้และหมุนผงคลีด้วยกำลังอันเหลือล้นของข้าฯ . ทุกสิ่งที่ข้าฯ ได้ทำลงไป ฤทธานุภาพของทวยเทพทั้งหลายก็มิอาจยับยั้งข้าฯ (แม้ขณะนี้) ยังไม่มีชัยชนะได้ เมื่อข้าฯ อิ่มเอมด้วยการดื่มสุราและการอธิษฐานแล้ว (ข้าฯ ) ก็จะเขย่าโลกอันไร้ขอบเขตทั้งสองนี้เสีย."
   พระฤๅษีกล่าว: "ที่เจ้าทำสิ่งทั้งหมดนี้ คนทั้งปวงรู้ดี และบัดนี้ เจ้าได้ประกาศแก่พระวรุณแล้ว ข้าแต่ผู้ปกครอง องค์อินทรานั้น เหล่าชนได้ยกย่องว่าเป็นผู้สังหาร
วฤตรสูร01. เจ้าเป็นผู้ปล่อยน้ำที่ขังเอ่อล้นออกเสีย." (บรรพที่ 4 สรรคที่ 42).
   "ตอนนี้ข้าฯ ขอกล่าวอำลาบิดา จอมอสูร ข้าฯ ลาจากพระองค์โดยไม่มีการอัญชลีบูชาใด ๆ พระองค์ผู้เสียสละ - ในการเลือกพระอินทร์ ข้าฯ ยอมสละบิดา แม้ว่าข้าฯ ได้อยู่กับพระบิดาหลายปีด้วยมิตรภาพ พระอัคนี พระวรุณ และพระโสมก็ต้องหลีกทาง พลังได้ย้ายไปที่อื่น ข้าฯ เห็นมาดั่งนี้.". (บรรพที่ 10 สรรคที่ 124)

หมายเหตุ การขยายความ.
01. วฤตรสูร (Vṛtra หรือ Vritra - वृत्र) เป็นตัวแทนแห่งความแห้งแล้ง อยู่ในเผ่าพันธุ์อสูร (the asuras) วฤตรสูรมักปรากฎตัวเป็นนาคหรืองูที่มีรูปร่างคล้ายมนุษย์ ได้ขวางทางน้ำของแม่น้ำฤคเวท ต่อมาถูกสังหารโดยพระอินทร์ด้วยวัชระที่เพิ่งจะหลอมตีประกอบขึ้นมาใหม่ (The newly-forged vajra).

พระกฤษณะ, ที่มา: www.iskconmysore.org, วันที่เข้าถึง: 13 เมษายน 2566.
87
       พระอินทร์ยังต้องต่อสู้กับเทพเจ้าองค์อื่น ๆ ที่บูชาโดยชนเผ่าต่าง ๆ ที่ตั้งถิ่นฐานในอินเดีย. มีเหล่าผู้บูชาน้ำ.1 ต้นอัสวัตถา.2. มีปีศาจหลายตนที่เป็นเทพประจำเผ่า ซึ่งพระอินทร์จะต้องต่อกรด้วย อาทิ วฤตรสูร พญานาค.3. อริของพระอินทร์อีกองค์หนึ่งในช่วงเวลาของฤคเวท นั่นก็คือ พระกฤษณะ วีรบุรุษที่ได้ถูกยกขึ้นมาเป็นเทพ มีนามว่ากฤษณะ. มีโศลกที่อ่านได้ว่า: "กองเรือของพระกฤษณะจอดทอดรออยู่ ณ ริมฝั่งแม่น้ำอันศูมตี (अंशुमती - aṁśumatī) (Jamna หรือ Yamunā- ยมุนา) พร้อมด้วยทหารหนึ่งหมื่นนาย. พระอินทร์รู้แจ้งด้วยปัญญาตน. พระองค์จึงบุกทำลายกองทัพที่จะปล้มสะดมเพื่อประโยชน์ของพวกเรา."4. นี่คือการตีความที่แนะนำโดยสายณะ (Sāyaṇa)01. และเรื่องราวนี้มีความน่าสนใจบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับลัทธิกฤษณะ. ในคัมภีร์ปุราณะระยะหลังกล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างพระอินทร์กับพระกฤษณะ. อาจเป็นไปได้ว่าพระกฤษณะซึ่งเป็นเทพเจ้าของเผ่าอภิบาลซึ่งถูกพิชิตโดยพระอินทร์ในยุคฤคเวท ต่อมาในยุคของแนวคิดด้านภควัทคีตา (ลัทธิ) พระกฤษณะได้ฟื้นฟูความนิยมที่สูญเสียไปคืนมาได้มาก และได้รับเสริมความศรัทธาโดยกลายเป็นวาสุเทพแห่งภควัทตา และเป็นพระวิษณุในลัทธิไวษณพนิกาย. ด้วยเป็นต้นกำเนิดแห่งปกิณกะของเรื่องดั้งเดิมและประวัติศาสตร์ ทำให้พระกฤษณะได้กลายเป็นผู้ประพันธ์ภควัทคีตา บุคคลผู้กระทำการอันสมบูรณ์
หมายเหตุ การขยายความ.
01. สายณะ (Sāyaṇa) หรือ สายณาอาจารยะ รายละเอียดดูใน ปรัชญาอินเดียเล่มที่ 1.003 หมายเหตุและการตีความ หน้าที่ 68.

---------------
1. บรรพที่ 10 สรรคที่ 9. 1-3.
2. ฤคเวท บรรพที่ 1 สรรคที่ 135. 8.
3. ฤคเวท บรรพที่ 6 สรรคที่ 33. 2; บรรพที่ 6 สรรคที่ 29. 6.
4. บรรพที่ 8 สรรคที่ 85. 13-15.



88
เฉกเช่นเดียวกับโคบาลที่เป่าขลุ่ยอยู่ ณ ริมฝั่งน้ำยมุนา.1.
       ฝ่ายข้างพระอินทร์นั้นมีเทพไม่มากนักที่เป็นตัวแทนของปรากฎการณ์ในชั้นบรรยากาศ วาตะหรือวายุ ลม, มารุต เทพแห่งพายุร้าย, และรุทธร์ ผู้โหยหวน. กวีได้กล่าวถึงลมว่า "ไม่ว่าพระองค์จะเกิดหรือผุดขึ้นมาจากที่ไหน นี่คือชีวิตของทวยเทพและเชื้อของโลกหรือ ไม่ว่าเทพองค์นี้จะเคลื่อนตัวไปที่ใด ที่ซึ่งพระองค์ทรงได้ยิน พระสุรเสียงที่ได้สดับ ทว่าไม่มีผู้ใดเห็นพระองค์."2. วาตะเป็นเทพเจ้าของชาวอินโด-อารยัน. ส่วนมารุตนั้น เป็นเทวรูปของพายุใหญ่ที่เกิดทั่วไปในอินเดีย "เมื่อท้องฟ้ามืดครึ้มด้วยผงฝุ่นและก้อนเมฆ เมื่อชั่วขณะต้นไม้ก็เหี่ยวเฉา กิ่งก้านสั่น ลำต้นหักสะบั่น แผ่นดินดูราวกับจะม้วนตัว ภูเขาสั่นสะเทือน และชลนทีก็ซัดเป็นฟอง และเดือดดาล."3. มารุตนั้นก็มีพละกำลังและมักจะทำลายล้าง แต่บางโอกาสเหล่ามารุตก็กรุณาและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่. เหล่ามารุตเข้าโจมตีโลกตั้งแต่ต้นจนจบ หรือล้างอากาศและนำสายฝนมาให้.4. เหล่ามารุตเป็นสหายของพระอินทร์และเป็นบุตรของทโยษะ. บางครั้งก็มีการเรียกพระอินทร์ว่าเป็นพี่คนโตของเหล่ามารุต. แต่เนื่องจากลักษณะที่ดุร้ายของบรรดามารุต พวกเขาถูกมองว่าเป็นบุตรของรุทธร์ เทพผู้กระทำสงคราม.5. ในฤคเวท รุทธร์เป็นเทพในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยมีการเฉลิมฉลองเป็นบทสวดรวมทั้งหมดเพียงสามบทสวดเท่านั้น. พระองค์ถือสายฟ้าไว้ในอ้อมแขนและปล่อยสายฟ้าลงมาจากห้วงอากาศ. ต่อมารุทธร์ก็กลายมาเป็นพระศิวะผู้มีเมตตา ด้วยประเพณีที่ได้ก่อตัวพัฒนาขึ้นรอบ ๆ กายของพระองค์.6.
       นอกจากนี้เรายังพบความคล้ายคลึงกันของเทวีบางองค์ที่พัฒนาขึ้นมา. อุษาและอทิติได้พัฒนาหล่อหลอมขึ้นเป็นเทวี.

---------------
1. ต่อมาลัทธิกฤษณะ ก็มีความเหนือกว่าการบูชานาคและงูซึ่งมีรูปแบบการบูชาที่ต่ำกว่า (รายละเอียดแสดงในอาทิบรรพแห่งมหาภารตยุทธ The Snake Sacrifice ซึ่งจะแสดงรายละเอียดต่อไป...!!!!) และการบูชาพระเวทของพระอินทร์. ซิสเตอร์ นิเวดิต้า ได้เขียนไว้ว่า "พระกฤษณะทรงพิชิตนาคกาลิยะและทิ้งรอยเท้าไว้บนศีรษะ. นี่คือการต่อสู้แบบเดียวกับที่เราสามารถติดตามได้ในบุคลิกภาพของพระศิวะ ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นนาเกศวระ (Nāgesvara) ที่อยู่ระหว่างความเชื่อที่ให้ข้อคิดทางวิญญาณแบบใหม่กับการบูชานาคและงูแบบดั้งเดิม. พระกฤษณะได้ชักชวนคนเลี้ยงแกะให้ละทิ้งการบูชายัญต่อองค์อินทร์. ณ ที่นี่พระองค์ได้แทนที่เทพแห่งพระเวทที่มีอายุมากกว่าโดยตรง ซึ่งดูเหมือนว่าในบางส่วนของเทือกเขาหิมาลัยในปัจจุบัน จะไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการสอดแทรกลงในคัมภีร์พระพรหม." (Footfalls of Indian History หน้าที่ 212).
2. บรรพที่ 10 สรรคที่ 168. 34.
3.
มัคส์ มึลเล่อร์: อินเดีย; ได้สอนอะไรเรา หน้าที่ 180.
4. ฤคเวท บรรพที่ 1 สรรคที่ 37. 11; สรรคที่ 64. 6; บรรพที่ 1 สรรคที่ 86. 10; บรรพที่ 2 สรรคทึ่ 34. 12.
5. บรรพที่ 1 สรรคที่ 64. 2.
6. ฤคเวท บรรพที่ 7 สรรคที่ 46. 3; บรรพที่ 1 สรรคที่ 114. 10; บรรพที่ 1 สรรคที่ 114. 1.


 
89
แม่น้ำสินธุได้รับการลือเลื่องว่าเป็นเทพีในบทสวดหนึ่ง1. และพระสรัสวดีซึ่งเป็นชื่อแรกของแม่น้ำ ก็ค่อย ๆ กลายมาเป็นเทพีแห่งการเรียนรู้2. วาก01. เป็นเทพีแห่งคำพูด. อรัญญยานีเป็นเทพีแห่งป่าเขา.3. ในระบบศากตะ02.นั้น ในภายหลังได้ใช้เทพีแห่งฤคเวท. ชาวอารยันยุคพระเวทได้สวดภาวนาถึงศากติ (Śākti) หรือพลังงานของพระผู้เป็นเจ้า ในขณะที่เหล่าชาวอารยันรำพึงถึงแสงแห่งสวรค์ที่น่าพิสมัยซึ่งประทานคำอธิษฐานของเหล่าผู้สวด พระองค์ผู้ไม่มีวันพินาศ ทรงเท่าเทียบกับพราหมณ์.4.
       เมื่อความคิดก้าวหน้าจากวัตถุไปสู่จิตวิญญาณ จากกายหยาบไปสู่ความเป็นส่วนตน มันจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าใจถึงเทพเจ้าที่เป็นนามธรรม. เหล่าทวยเทพดังกล่าวส่วนใหญ่จะปรากฎอยู่ในเล่มสุดท้ายของคัมภีร์ฤคเวท ซึ่งบ่งชี้ถึงต้นกำเนิดที่ค่อนข้างช้า. เรามีเทพที่ชื่อ มันยุ03,5. ศรัทธา04,6. เป็นต้น. คุณสมบัติบางประการที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้านั้นได้นำยกขึ้นไว้บูชา. ทวาษทฤ
05.บางครั้งก็เรียกพระสวิตฤ (Savitṛ)7. คือ "ผู้สร้าง" หรือผู้สร้างโลก. พระองค์ทรงสร้างสายฟ้าแห่งอินเดีย ลับขวานของพระพรหมนัสปติ06. ทำถ้วยที่เหล่าทวยเทพดื่มโสม และสร้างรูปร่างให้กับสิ่งมีชีวิตทั้งหมด. พระพรหมนัสปติเป็นเทพที่ผ่านพ้นไปแล้ว (ไม่เป็นที่นิยม) เป็นเทพที่อยู่ในยุคสมัยที่นิยมการสังเวยบูชา. เดิมทีพระองค์เป็นเทพแห่งคำอธิษฐาน ในไม่ช้าพระองค์ก็กลายเป็นเทพแห่งการบูชายัญ. เราจะเห็นพระองค์ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงระหว่างจิตวิญญาณของศาสนาพระเวทบริสุทธิ์กับศาสนาพราหมณ์ในภายหลัง.8.

หมายเหตุ การขยายความ.
01. วาก (Vāk) - วากยกรรม - การพูดจา.
02. ระบบศากตะ (Śākta systems) เป็นระบบหลักคำสอนเรื่องพลังงาน พลัง เทพีนิรันดร์ เป็นหนึ่งในนิกายหลักของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูหลายนิกาย โดยที่ความเป็นจริงทางอภิปรัชญาถือเป็นผู้หญิงในเชิงอุปมา และศากติ (มหาเทวี) ประกอบด้วยเทพีหลายองค์ โดยพิจารณาจากลักษณะของเทพีสูงสุดองค์เดียวกันทั้งหมด ลัทธิศากติ (Śāktism) มีประเพณีย่อยที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ประเพณีที่เน้นเรื่องพระทุรคาที่ได้รับการบูชามากที่สุด พระแม่ปารวตีที่สง่างาม ไปจนถึงพระแม่กาลีที่ดุร้าย, ปรับจาก en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 15 เมษายน 2566.
03. มันยุ (Manyu - मन्यु) เป็นเทพแห่งสงคราม.
04. ศรัทธา (Śraddhā - श्राद्ध) - เป็นเทพแห่งการกระทำใด ๆ ที่ทำด้วยความจริงใจและศรัทธาอย่างสุดซึ้งในการกระทำนั้น ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นพิธีกรรมที่แสดงความเคารพต่อ 'บรรพบุรุษ' (สันสกฤต: Pitṛs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อบุพการีที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว.
05. ทวาษทฤ (Tvaṣtṛ -
त्वष्टृ) หมายถึง พระวิศวกรรม (Viśvakarman) ในคัมภีร์อรรถรเวท หมายถึง ช่างไม้ ช่างก่อสร้าง.
06.
พระพรหมนัสปติ (Brahmaṇaspati) หมายถึง เทพแห่งการอธิษฐานของพราหมณ์หรือพระเวท เป็นเทพแห่งการควบคุมเมฆและฝน ตลอดจนช่วยโลกด้วยการปกป้องพืชพันธุ์ มีเหตุผลที่พอจะเชื่อได้ว่า พระพรหมนัสปติ เป็นอีกชื่อหนึ่งของ พระพฤหัสปติ (Bṛhaspati) พระอุปัชฌาย์ของทวยเทพ. อ้างอิงจาก www.hindupedia.com, วันที่เข้าถึง 15 เมษายน 2566.
---------------
1. บรรพที่ 10 สรรคที่ 75. 2. สรรคที่ 4, 6.
2. บรรพที่ 6 สรรคที่ 61.
3. บรรพที่ 10 สรรคที่ 146.
4. อายาตุ วรดา เดวี, อักษรัม พรหมสัมมิทัม. ไตติรียะ อุปนิษัท, อารัญยกะ, บรรพที่ 10 สรรคที่ 34. 52.
5. แรธ, บทที่ 10 หน้าที่ 83. 4.
6. ศรัทธา, บทที่ 10 หน้าที่ 151.
7. บรรพที่ 3 สรรคที่ 55. 19.
8. ร็อธ ได้บันทึกว่า "ชื่อของเหล่าทวยเทพที่ประกอบด้วยคำว่า ปติ (pati) นั้น จะต้องนับรวมกับเทพองค์ที่ใหม่กว่า. เพราะเหล่าทวยเทพนี้เป็นผลผลิตจากการสะท้อนกลับ." อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้นั้นไม่ถูกต้องนัก. เปรียบเทียบกับคำว่า วาสโตษปติ (Vāstoṣpati). ด้วยข้อมูลนี้ ข้าพเจ้าเป็นหนี้ศาสตราจารย์คีธ.


 
humanexcellence.thailand@gmail.com