Hero Image: พระกฤษณะทรงประทานอนุศาสน์ "ภควัทคีตา" ให้แก่อรชุน, ที่มา: bvgoswami.com, วันที่เข้าถึง: 17 ตุลาคม 2566.
ก. บทนำ: ภควัทคีตา
First revision: Nov.15, 2016
Last change: Oct.16, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง แปล และปริวรรตโดย: อภิรักษ์ กาญจนคงคา
1.
2.
สำหรับมหาคัมภีร์ภควัทคีตา หรือลำนำภควัทคีตานี้ ผมได้ใช้หนังสือที่เรียบเรียงโดย ฯพณฯ สรวปัลลี ราธากฤษณัน (Servepalli Radhakrishnan) นักปราชญ์และประธานาธิบดีคนที่ 2 ของประเทศอินเดีย (14 พฤษภาคม พ.ศ.2505 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2510) เป็นแกนหลักในการแปล อธิบายเรียบเรียง. (THE BHAGAVADGITA, S. RADHAKRISHNAN, HarperCollins Publishers India Pvt Ltd. Printed in India, 14th impression 2000). หนังสือเล่มนี้ผมได้มาเมื่อวันสงกรานต์ ปี พ.ศ.2544 คราวไปสัมมนาด้าน SMEs Development ในนามผู้แทนจากสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่กรุงนิวเดลลี ประเทศอินเดีย และได้เล่มฉบับตีพิมพ์ครั้งที่สอง (พ.ศ.2492) เมื่อปี พ.ศ.2560 จากการสั่งซื้อทางออนไลน์ ใคร่ขอแปลเป็นภาษาไทย และขออัญชลีต่อผู้ประพันธ์ เหล่ามหาปราชญ์ที่ได้รจนาลำนำภควัทคีตาแต่เก่ากาล และ ฯพณฯ ราธากฤษณัน รวมทั้งผู้ประพันธ์ปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับลำนำนี้ อันจะได้กล่าวต่อไปในเบื้องหน้า ด้วยความเคารพยิ่ง.
ปกหลังของหนังสือ01
"ภควัทคีตา หรือ ลำนำหรือเพลงศักดิ์สิทธิ์" ถือเป็นแหล่งสถิตเพื่อการสร้างความมั่นใจท่ามกลางมหาคัมภีร์ที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายในโลก ชาวฮินดูศรัทธาในภควัทคีตา ดั่งเช่นชาวคริสต์เคารพรักและศรัทธาในพระวรสาร ดั้นด้นค้นหาสิ่งประเสริฐภายในและความรู้แจ้ง ในหนึ่งพันสี่ร้อยบรรทัดของลำนำนั้น ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า-ด้วยพลังแห่งปิติและความเมตตาของพระองค์-นำไปสู่ความแม่นยำและสละสลวยของภาษา.
คีตาเป็นรจนาที่มาจากการสนทนาระหว่างอรชุนและพระกฤษณะในวันมหายุทธ์. กฤษณะได้สอนอรชุนผู้กำลังตื่นกลัว ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องรบ และเป็นสิ่งที่ได้ลิขิตไว้แล้ว ว่าเขา-เฉกเช่นมนุษย์ทั้งหลาย-ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ตนในโลกด้วยความรักและความศรัทธา. ทั้งนี้เพียงเพื่อค้นหาพระเจ้าและสิ่งสมบูรณ์ นั่นคือความจริงแท้ของชีวิตตนก็จะถูกค้นพบ.
ในการจัดพิมพ์ภควัทคีตาครั้งนี้01 ได้พิมพ์เป็นภาษาสันสกฤต พร้อม ๆ กับแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย ฯพณฯ ศาสตราจารย์ราธากฤษณัน และการอธิบายแต่ละโศลกนั้นได้กลายเป็นสิ่งทรงคุณค่า. ด้วยความตกผลึกต่อปรัชญาที่ผนึกในลำนำนี้นั้น เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้อ่าน ในการเกิดจินตภาพอันกระจ่างแจ้งอย่างเท่าเทียม ตระหนักถึงพลานุภาพของคีตา และสารที่เป็นอมตะนี้. สารนี้ไม่เคยล้มเหลว หากได้สัมผัสถึงจิตใจและวิญญาณของชนทั้งหลาย ผู้ที่ได้อ่านลำนำนี้."
โดย ส. ราธากฤษณัน
มุมมองของนักอุดมคติเกี่ยวกับชีวิต
การบรรยายต่าง ๆ ที่ฮิบเบิร์ต
การตีพิมพ์ครั้งที่สาม
ปรัชญาอินเดีย 2 เล่ม
ห้องสมุดแห่งปรัชญา
ปรับปรุงครั้งที่สอง
มุมมองของฮินดูเกี่ยวกับชีวิต
การบรรยายต่าง ๆ ที่อัพตั้น อ๊อกซ์ฟอร์ด
พิมพ์ครั้งที่เจ็ด
ศาสนาในโลกตะวันออกและตะวันตก
กัลกี หรืออนาคตแห่งอารยธรรม
การเถลิงถวัลย์ของศาสนาอันมีรูปแบบร่วมกัน
ปรัชญา
ปรัชญาของรพินทรนาถ ฐากุร
พิมพ์ครั้งที่สอง
ศาสนาและสังคม
ศาสนาต่าง ๆ ในโลกตะวันออกและแนวคิดในโลกตะวันตก
โคตมะ พระพุทธเจ้า
อินเดียและจีน
ภควัทคีตา01
ด้วยถ้อยความบทนำ
ภาษาสันสกฤต, การแปลเป็นภาษาอังกฤษ
และหมายเหตุ
โดย
ส. ราธากฤษณัน
ลอนดอน
จอร์จ อัลเลน และ อันวิน จำกัด
พิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ.2491
พิมพ์ครั้งที่สอง ปี พ.ศ.2492
แด่
มหาตมะ คานธี
สงวนลิขสิทธิ์
พิมพ์ในบริเทนใหญ่
ด้วยรูปแบบเดิม 11-จุด
โดย อันวิน บราเธอร์ส์ จำกัด
โวกิ้ง
1
หน้าแรกถัดจากปก01
ภควัทคีตา01
หนึ่งในบุตรที่ยิ่งใหญ่ของอินเดียยุคใหม่ ศาสตรจารย์ ส. ราธากฤษณัน (พ.ศ. 2431-2518) เป็นนักปราชญ์ที่โดดเด่น นักเขียน และนักการศึกษา. ท่านมีความสมดุลทางความคิด อันเป็นฐานคติระหว่างวัฒนธรรมแบบยุโรปและแบบเอเชีย ท่านอุทิศพละกำลังอันไพศาลมิรู้ประมาณในการแปลศาสนา วัฒนธรรมและปรัชญาของอินเดียให้แก่มนุษย์ทั้งหลายในโลก. ท่านเป็นศาสตราจารย์รับเชิญให้ไปบรรยายยังมหาวิทยาลัยในต่างประเทศหลายแห่ง และได้รับเกียรติให้เป็นทูตพิเศษของอินเดียยังสหภาพโซเวียต ในระหว่างปี พ.ศ.2492-2495. ต่อมาท่านได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีของอินเดีย เมื่อปี พ.ศ.2500 ทั้ง ๆ ที่ท่านได้พยายามอยู่ห่าง ๆ จากการเมืองอินเดียแล้ว. ท้ายที่สุด ท่านได้รับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของอินเดียในปี พ.ศ.2504 ท่านดำรงตำแหน่งนี้จนกระทั่งปี พ.ศ.2510 และออกไปใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างอิสระ.
ท่านได้เขียนหนังสือไว้หลายเล่มสนองนักอ่านทั่วทุกมุมโลก. มีหนังสืออันโดดเด่นที่ท่านได้เขียนขึ้นมา ประกอบด้วย: มุมมองของศาสนาฮินดูที่เกี่ยวกับชีวิต อุดมคติในการมองชีวิต ปรัชญาอินเดีย เล่มหนึ่งและสอง.
ท่านได้อุทิศงานแปลทั้งหลายนี้แด่... มหาตมะ คานธี.
ที่มา: popgazine.com, วันที่สืบค้น 24 กุมภาพันธ์ 2560.
คำนำผู้เขียน ฉบับพิมพ์ครั้งแรก (พ.ศ.2491)
ช่วงสงครามและหลังสงครามที่ผ่านมานั้น ได้นำไปสู่คุณค่าอันเอกอุของวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง. นับเป็นความสำคัญยิ่งของสงคราม และได้สร้างความสะดวกสบายแก่มวลมนุษย์ในยามสงบ. แต่ทว่าหากเราได้มอบความไพศาลและภูมิปัญญาแก่มนุษย์ด้วยมุมมองในเรื่องชีวิตด้วยแล้วเล่า ก็สามารถผ่อนคลายความเขม็งเกลียวของบรรดามนุษยชาติได้อีกด้วย. ความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับความเป็นมนุษย์นั้น อาจได้กำหนดไว้แล้วว่าเป็นหนึ่งในวิถีที่นำไปสู่เป้าหมายได้ และด้วยความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์นี้เป็นสิ่งที่ต้องจับตาไม่อาจมองข้ามได้ ด้วยหลักที่ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิดนั้น ไม่ได้มาจากกรอบวิธีทางวิทยาศาสตร์เสียทั้งหมด. เราควรศึกษาแก่นแท้แกนกลางว่าการกระทำของมนุษย์นั้น ในท้ายที่สุดแล้ว ความสุข มันขึ้นอยู่กันสิ่งใดกันแน่. แน่นอนว่า ด้วยวัฒนธรรมที่สมดุลของทั้งสองสิ่งที่ดีงามนั้น จะนำไปสู่ความกลมกลืน. ด้วยภควัทคีตา อันเป็นลำนำแห่งพระเจ้า จะเป็นคุณค่าที่ช่วยให้เราเกิดความตระหนักชัดถึงบั้นปลายของชีวิตที่สมบูรณ์นั้นเป็นเช่นไร.
มีการจัดพิมพ์คัมภีร์ภควัทคีตากันหลายครั้ง และหลายครั้งที่มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างสละสลวย ซึ่งจะไม่มีการวิพากษ์หรือตัดสินกันว่าใครพิมพ์และแปลได้ดีกว่ากัน หากว่าได้มีการพิมพ์และแปลกันตรง ๆ คำต่อคำ หรือ ประโยคต่อประโยค ผู้ที่อ่านคีตาในฉบับภาษาอังกฤษจะมีหมายเหตุหรือเชิงอรรถอย่างน้อย ก็เท่ากับผู้ที่อ่านในภาษาสันสกฤต หากพวกเขาที่แปลนั้นไม่พลาด. เราก็จะได้ซึมซับกับการรจนาของผู้เขียนคัมภีร์นี้ในอดีตจากรุ่นสู่รุ่น. ทุกคัมภีร์นั้นมีสองประเภท ประเภทแรกเป็นสิ่งชั่วคราวไม่คงทน ผุพังเปื่อยยุ่ยไปตามกาลเวลา ประดับในจิตใจผู้คนช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ตามถิ่นฐานที่คัมภีร์นั้นกำเนิดขึ้น ส่วนอีกประเภท เป็นคัมภีร์ที่นิรันดร์ คงทน ทุกผู้ทุกวัยและทุกถิ่น สามารถน้อมนำไปใช้ได้. การแสดงให้เห็นถึงความปราชญ์เปรื่องทางปัญญาและสำนวนโวหารที่เผยมาจากจิต อันเวลาได้รังสรรค์ขึ้นมา ในขณะที่ความจริงแท้ในการดำรงอยู่ของชีวิตดำเนินอยู่นั้น สูงส่งกว่าจินตภาพทางปัญญามาโดยตลอด. พลังของสิ่งที่ทรงคุณค่าซึ่งอยู่ภายในลำนำเองนั้น ได้สร้างสรรค์จำเนียรกาลผ่านมา ชนรุ่นแล้วรุ่นเล่าได้ยืนยันและกลั่นกรองให้สมบูรณ์ พร้อมกำหนดความจริงจากประสบการณ์ไว้ในลำนำนี้แล้ว. นักวิจารณ์ได้กล่าวเรา ด้วยมุมมองเชิงประสบการณ์และแสดงออกด้วยรูปแบบใหม่ ๆ ในแบบที่สนองต่ออายุและความประสงค์ของภูมิปัญญาโบราณที่จารึกในพระคัมภีร์. หลักคำสอนอันงดงามทั้งหลายนั้น มีสีสันขึ้นมาจากการกล่าวซ้ำ ๆ ของปราชญ์มาหลายศตวรรษ. ด้วยช่วงเวลาที่แตกต่าง อุปนิสัยทางความคิด ภูมิหลังด้านจิตวิญญาณที่สัมพันธ์กับประสบการณ์ของเรา แตกต่างจากสิ่งที่ปราชญ์ในยุคดั้งเดิมได้ชี้แนะไว้แก่นปัญหาที่เราเผชิญในวันนี้ก็คือ...
6
...การปรองดองกันของมนุษยชาติ. ลำนำหรือคีตานี้เหมาะยิ่งและเป็นคำตอบ เนื่องด้วยความพยายามที่จะเปลี่ยนรูปแบบที่แตกต่างกันและความตระหนักรู้ทางศาสนา และเน้นแนวคิดอันเป็นรากเหง้าของศาสนาซึ่งอยู่เหนือกาลเวลาของมนุษยชาติ. สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วได้ก่อปัญหาให้เรา เราจำต้องเรียงร้อยหลักการเดิมให้เป็นในรูปแบบใหม่. การเรียงร้อยความจริงแท้อันนิรันดร์ด้วยสำเนียงของเวลานั้น นับเป็นหนทางเดียวที่มหาคัมภีร์นี้ได้สร้างคุณค่าแก่มนุษยชาติ. ณ จุดนี้ บทนำและหมายเหตุอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านที่ฉลาดล้ำ. ด้วยการแปลลำนำนี้ในขั้นรายละเอียดของผู้แปลที่ทรงภูมิทั้งหลาย ทำให้หลายจุดหลายประเด็นของลำนำนี้แตกต่างกันไป. ฉันไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการเรียกร้องให้ผู้อ่านศึกษาหมายเหตุในหนังสือที่แปลลำนำนี้ (ผู้อ่าน) ซึ่งประสงค์จะแผ่ซ่านสภาวะด้านจิตวิญญาณมากกว่าที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญ.
การแปลเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายต้องชัดเจนและกระจ่างเท่าที่จะเป็นไปได้. อ่านแล้วไม่รู้สึกตื้นเขิน ไม่ล้าหลังและกลมกลืน. ทว่าไม่อาจมีการแปลลำนำใด ๆ ที่สามารถถอดศักดิ์ศรีและความสง่างามของต้นฉบับออกมาได้ทั้งหมด. ท่วงทำนองและความอัศจรรย์ของวลีนั้น ยากที่จะผลิเผยให้ประจักษ์ได้ด้วยสื่ออื่นใด. ผู้แปลมักจะวิตกในการถ่ายทอดความคิดของลำนำ แน่นอนว่าผู้แปลไม่อาจถ่ายทอดจิตวิญญาณของลำนำนี้ได้ทั้งหมด. ผู้แปลไม่อาจทำให้ผู้อ่านเข้าถึงอารมณ์และความคิดในลำนำที่บังเกิดขึ้นได้ และไม่อาจกระตุ้นให้เกิดปิติต่อภาพหรือนิมิตที่ผู้ประพันธ์ลำนำนี้ได้ถ่ายทอดออกมา. ซึ่งข้าพเจ้าตระหนักดีว่า ไม่ว่าด้วยอัตราหรือระดับใด ๆ มันยากยิ่งที่จะเผยออกมา ด้วยสื่อที่เป็นภาษาอังกฤษ ด้วยศักดิ์ศรีแห่งวลีและความผนึกแน่นของถ้อยคำ ข้าพเจ้าได้สำแดงถ้อยคำด้วย (ตัวอักขระ) ที่เป็นภาษาโรมัน เพื่อให้ผู้ที่รู้จักและเข้าใจคีตานี้ ได้ครุ่นคำนึงถึงต้นฉบับที่เป็นภาษาสันสฤตได้. สำหรับผู้ที่ไม่รู้จักภาษาสันสกฤตก็จะได้รับแนวคิดด้านจิตวิญญาณที่ถูกต้องจากบทกวีหรือโศลกจากบทสนทนาภาษาอังกฤษอันงดงามซึ่งรจนาโดย เซอร์เอ็ดวิน อาร์โนลด์. ลำนำนี้เต็มไปด้วยความไหลลื่นสง่างาม พร้อมทั้งมีรสเฉพาะในตัวของลำนำเอง ผู้ที่เคร่งครัดระมัดระวังในความถูกต้องเชิงวิชาการเท่านั้น ที่สามารถยอมรับลำนำนี้ได้ทั้งหมด.
เซอร์เอ็ดวิน อาร์โนล (Sir Edwin Arnold) ที่มา: www.magnoliabox.com, วันที่สืบค้น 2 พฤษภาคม พ.ศ.2560
ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณท่านศาสตราจารย์ไมซอร์ หิริญาณนะ ผู้อ่านต้นฉบับลำนำนี้ และท่านศาสตราจารย์แฟรงคลิน เอ็ดเกอร์ตัน ผู้ตรวจทานบทความต้นฉบับ พร้อมทั้งจากการให้คำแนะนำและความช่วยเหลืออันทรงคุณค่า
ศาสตราจารย์ ไมซอร์ หิริญาณนะ (Professor Mysore Hiriyanna - maisoor hiriyaanna), ที่มา: karnatakahistory.blogspot.com, วันที่สืบค้น 3 พฤษภาคม 2560.
ศาสตราจารย์ แฟรงคลิน เอ็ดเกอร์ตัน (Professor Franklin Edgerton), ที่มา: www.sanskrit-input.com, วันที่สืบค้น 3 พฤษภาคม 2560.
ส.ร.
คำนำผู้เขียน ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง
ข้าพเจ้ารู้สึกปิติที่ได้ทราบว่ามีการร้องขอให้จัดพิมพ์เป็นครั้งที่สอง อันเป็นการเปิดโอกาสให้ข้าพเจ้าได้แก้ไขข้อผิดพลาด (จากการพิมพ์ครั้งแรก) และก่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้นตามคำแนะนำของศาสตราจารย์เฟรดเดอริกค์ วิลเลี่ยม โทมัส ผู้เป็นสหาย และเป็นผู้ที่ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณยิ่ง.
ส.ร.
แหล่งอ้างอิง คำศัพท์และคำอธิบาย:
01. ภควัทคีตา (พะ-คะ-วัด-คีตา) เป็นชื่อคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู โดยสำหรับนิกายไวษณพ04 หรือผู้ที่ยกย่องพระวิษณุ (พระนารายณ์) เป็นพระเจ้าสูงสุด ชื่อคัมภีร์ ภควัทคีตา (ภควตฺ + คีตา) แปลว่า "บทเพลง (หรือลำนำ) แห่งพระผู้เป็นเจ้า" นำเรื่องราวส่วนหนึ่งมาจากมหากาพย์มหาภารตะหรือมหาภารตยุทธ05 ประกอบด้วยบทกวี 700 บท.02
การดำเนินเรื่อง
คัมภีร์นี้มิได้มีลักษณะเป็นเอกเทศ คือมิได้แต่งขึ้นมาอย่าโดดเดี่ยวเป็นเล่มเฉพาะเหมือนดังคัมภีร์พระเวท06 แต่ละเล่ม แท้ที่จริงเป็นเพียงบทสนทนาโต้ตอบระหว่างบุคคลสองคน ซึ่งเป็นข้อความที่แทรกเข้ามาในบรรพที่หก (รายละเอียดดูใน 06. ภีษมบรรพ) แห่งมหากาพย์มหาภารตะ.
ในบทสนทนาโต้ตอบดังกล่าวนี้ ฝ่ายที่ถามปัญหาคือพระอรชุน07 เจ้าชายฝ่ายปาณฑพ08 แห่งจันทรวงศ์ ซึ่งเป็นผู้นำกองทัพใหญ่มาทำสงครามแย่งชิงเมืองหัสตินาปุระจากฝ่ายเการพ09 แห่งจันทรวงศ์เช่นเดียวกัน ซึ่งมีเจ้าชายทุรโยธน์และกองทัพพันธมิตรมากมายเป็นศัตรูคู่สงครามด้วย ฝ่ายที่ตอบปัญหาทั้งหมดและเป็นผู้อธิบายตลอดทั้งเรื่องก็คือ พระกฤษณะ10 ซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายราชสกุลจันทรวงศ์ สาขายาทพ.
ในขณะที่ตอบปัญหาอันล้ำลึกดังกล่าวนั้น พระกฤษณะกำลังทำหน้าที่เป็นสารถีขับรถศึกให้พระอรชุน บทสนทนาโต้ตอบนี้ถ่ายทอดออกมาโดยสญชัย (บ้างก็เรียก สัญชัย และบ้างก็เรียก สันชัย) ผู้เป็นเสวกามาตย์ของท้าวธฤตราษฎร์ พระราชาเนตรบอดแห่งเมืองหัสตินาปุระ โดยมหาฤษีวฺยาสหรือพระฤษีกฤษณไทวปายนเป็นผู้ให้ตาทิพย์แก่สญชัย เพื่อแลเห็นเหตุการณ์รบพุ่งในมหาสงครามครั้งนั้นอย่างแจ่มแจ้งทั้ง ๆ ที่นั่งอยู่ในพระราชวัง และคอยกราบทูลท้าวธฤตราษฎร์ให้ทราบการเคลื่อนไหวทุกขณะในสมรภูมิ
เพราะฉะนั้นข้อความสนทนาระหว่างบุคคลทั้งสองในสนามรบก่อนจะเริ่มมหาสงครามจึงเป็นถ้อยคำที่สญชัยเรียบเรียงทูลถวายท้าวธฤตราษฎร์ และมาให้ชื่อกันภายหลังว่า ภควัทคีตา ทั้ง ๆ ที่ชื่อเดิมในมหาภารตยุทธ เรียกข้อความตอนนี้ว่า ภควัทคีโตปนิษัท (ภควตฺ + คีตา + อุปนิษทฺ) ด้วยเหตุที่มีข้อความหลายตอนคัดลอกมาจาก คัมภีร์อุปนิษัท ฉบับต่าง ๆ อันเป็นหมู่คัมภีร์รุ่นสุดท้ายในสมัยพระเวท ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เวทานตะ (ที่สุดแห่งพระเวท) ตลอดจนความคิดเรื่องอาตมัน ปรมาตมัน พรหมัน อันเป็นแก่นหรือสาระสำคัญที่สุดในคำสอนของอุปนิษัททุกเล่ม ก็มีกล่าวถึงหลายต่อหลายครั้งในภควัทคีตา จะแตกต่างกันเล็กน้อยก็ตรงที่ว่าข้อความในคัมภีร์อุปนิษัทนั้นแต่งเป็นภาษาร้อยแก้ว แต่ในคัมภีร์ภควัทคีตาแต่งเป็นบทร้อยกรอง
ถ้าจะกล่าวโดยแท้จริงแล้ว คำสอนในคัมภีร์ภควัทคีตา เกือบครึ่งเล่มเป็นคำสอนในคัมภีร์อุปนิษัท และอีกกว่าครึ่งเล่มเป็นคำสอนแบบของพวกภาควตะ ซึ่งบูชาพระกฤษณะเป็นเทพสูงสุดในนิกายของตน และคำสอนแบบดังกล่าวนี้มีมานานแล้วในหมู่พวกภาวตะอันเป็นชนอารยันอินเดียเผ่าหนึ่ง ต่อมาพวกนิกายไวษณพ หรือพวกที่นับถือพระวิษณุเป็นพระเจ้าสูงสุดได้ผนวกเอาพระกฤษณะเข้าไปเป็นพระวิษณุอวตาร หรือนารายณ์อวตารปางที่ 8
คำสอนของพวกภาควตะซึ่งเน้นในเรื่องความนับถือพระกฤษณะเป็นเทพสูงสุดก็ถูกกลืนเข้าไปผสมผสานกับแนวความคิดของพวกไวษณพที่มีส่วนในการแต่งมหากาพย์มหาภารตะอยู่มากมายหลายตอน จึงปรากฎออกมาในรูปภควัทคีตาดังที่ปรากฎเป็นที่รู้จักกันทุกวันนี้ และการที่จะเรียกหนังสือศักดิ์สิทธิ์เล่มนี้ว่า ภควัทคีโตปนิษัท หรือ ภควัทคีตา หรือ คีตา เฉย ๆ ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึงคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของคนอินเดียนิกายไวษณพ ในรูปแบบของบทสนทนาที่มีข้อความเกือบทั้งหมด เป็นคำอธิบายเรื่องวิถีทางไปสู่พระผู้เป็นเจ้าอันสูงสุด ส่วนบทที่เป็นคำถามของพระอรชุนในเรื่องความลึกลับและวิถีทางแห่งพระผู้เป็นเจ้านั้น ก็เป็นเพียงส่วนประกอบที่เล็กน้อยเหลือเกิน คล้าย ๆ กับเป็นบทเชื่อมต่อระหว่างคำอธิบายอันยืดยาว แต่ละตอนของพระเจ้าในร่างมนุษย์หรือพระกฤษณะเท่านั้นเอง.
ภควัทคีตาฉบับภาษาสันสกฤต คัดลอกสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 พบทางเหนือของภารตะ.
1.
1.
ภาพปกหนังสือจาก www.amazon.com, วันที่สืบค้น 17 ตุลาคม 2566.
1.
02. จาก. THE BHAGAVADGITA, S. RADHAKRISHNAN, HarperCollins Publishers India Pvt Ltd. Printed in India, 14th impression 2000.
ภาพซ้าย: ภาพถ่าย ฯพณฯ สรวปัลลี ราธากฤษณัน (Servepalli Radhakrishnan) เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2505,
ภาพขวา: ภาพถ่ายขณะสนทนากับประธานาธิบดีสหรัฐ จอหน์ เอฟ. เคนเนดี้ ที่ทำเนียบขาว เมื่อ พ.ศ.2506
1.
03. จาก. th.wikipedia.org/wiki/ภควัทคีตา, วันที่สืบค้น 15 พ.ย.2559.
04. นิกายไวษณพ ไวษณพนิกาย หรือ ลัทธิไวศณพ (Vishnav) เป็นหนึ่งในนิกายของศาสนาฮินดู ที่สืบเนื่องมาจากศาสนาพราหมณ์ นับเป็นศาสนาที่มีความเก่าแก่มากที่สุด, ลัทธิไวษณพนี้ นับถือพระวิษณุเจ้าเป็นเทพองค์สูงสุด เชื่อว่าวิษณุสิบปาง หรือนารายณ์ 10 ปางอวตารลงมาจุติ มีพระลักษมีเป็นมเหสี มีพญาครุฑเป็นพาหนะ นิกายนี้มีอิทธิพลมากในอินเดียภาคเหนือและภาคกลางของประเทศ นิกายนี้เกิดเมื่อ พ.ศ.1300 สถาปนาโดยท่านนาถมุนี (Nathmuni), ที่มา: th.wikipedia.org/wiki/ศาสนาฮินดู, วันที่สืบค้น 09 ก.พ.2560.
รูปปั้นท่านนาถมุนี, ที่มา: www.indianetzone.com, วันที่สืบค้น 10 กุมภาพันธ์ 2560.
05. มหากาพย์มหาภารตะ มหาภารตะ หรือ มหาภารตยุทธ รายละเอียดดูใน A01.บทนำ มหาภารตยุทธ
06. คัมภีร์พระเวท หมายถึง คัมภีร์ที่เก่าแก่ของพวกอินโด-อารยัน เป็นแหล่งกำเนิดของวรรณกรรมอินเดีย คำว่า "เวท" แปลว่า ความรู้ มาจาก วิทฺ ธาตุ ที่แปลว่ารู้ ซึ่งหมายถึงความรู้ทางศาสนา หรือความรู้ทางด้านจิตใจของชาวฮินดู คัมภีร์พระเวท มิใช่ผลงานของนักปราชญ์ หรือของศาสดาคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ หากเป็นที่รวมปัญญาความนึกคิดของบรรพบุรุษของชาวอินเดียหลายชั่วอายุคน ที่สืบทอดกันมาโดยวาจาเป็นเวลาหลายร้อยปี จนในที่สุดก็รวบรวมจารึกลงเป็นลายลักษณ์อักษร
"พระเวท" นั้นประกอบด้วยคัมภีร์สามประเภทด้วยกัน คือ:
หนึ่ง) คัมภีร์สังหิตา หรือ มันตระ คำว่า "สังหิตา" แปลว่าที่รวมหรือชุมชน ในที่นี้หมายถึง ชุมนุมบทสดุดีเทพเจ้า บทสวดขับร้องมนต์หรือคาถาและสูตรสำหรับใช้ในพิธีบูชายัญ บทประพันธ์ทั้งหมดในคัมภีร์สังหิตาเป็นร้อยกรองกล่าวคือแต่งเป็นฉันท์.
สอง) คัมภีร์พราหมณะ ได้แก่ข้อความร้อยแก้ว อธิบายความหมายของบทสดุดีเทพเจ้า บัญญัติว่าบทสดุดีใดควรใช้ในที่ใด พรรณนาถึงกำเนิดของบทสดุดีในส่วนที่เกี่ยวกับกำเนิดของพิธีบูชายัญ ตลอดจนอธิบายความหมายของพิธีบูชายัญด้วย.
สาม) คัมภีร์อารัณยกะ และอุปนิษัท ได้แก่ บทประพันธ์ที่ว่าด้วยความนึกคิดทางด้านปรัชญาหรืออีกนัยหนึ่ง คือความนึกคิดที่เกี่ยวเรื่องวิญญาณ หรืออาตมัน เรื่องพระเป็นเจ้า เรื่องโลก และเรื่องมนุษย์ ข้อความบางตอนในคัมภีร์อารัณยกะและอุปนิษัท ซ้ำกับที่มีอยู่ในคัมภีร์พราหมณะ.
คัมภีร์สังหิตา หรือ มันตระ ดังที่ได้กล่าวข้างต้นนั้น คงจะมีการแพร่หลายอยู่มากมายตามสำนักและอาจารย์ต่าง ๆ และที่พอจะจำแนกออกเป็นประเภทต่าง ๆ สามารถจำแนกได้ดังนี้:
หนึ่ง) ฤคเวทสังหิตา เป็นสังหิตาหรือชุมนุมบทประพันธ์ที่ว่าด้วยบทสดุดีเทพเจ้า
สอง) ยชุรเวทสังหิตา เป็นสังหิตาหรือชุมนุมประพันธ์ที่ว่าด้วยสูตรสำหรับใช้ในพิธีบูชายัญ ซึ่งยังแยกออกอีกเป็นสองแขนง คือ กฤษณะยชุรเวท แปลว่ายชุรเวทดำ และศุกละยชุรเวท แปลว่า ยชุรเวทขาว
สาม) สามเวท เป็นสังหิตาหรือชุมนุมบทประพันธ์ที่ว่าด้วยบทสวดขับร้อง
สี่) อาถรรพเวทสังหิตา เป็นสังหิตาหรือชุมนุมบทประพันธ์ที่ว่าด้วยมนต์หรือคาถาต่าง ๆ
สังหิตาสี่ประเภทข้างต้นนี้นั้น เป็นพื้นฐานอันก่อให้เกิดคัมภีร์พระเวททั้งสี่ ที่เรียกว่า "จตุรเวท" อาจกล่าวได้ว่าคัมภีร์พระเวทแต่ละคัมภีร์นั้น ต่างก็มีคัมภีร์พราหมณะ อารัณยกะ และอุปนิษัทเป็นบริวาร ในทำนองเดียวกันกับคัมภีร์ยชุรเวท สามเวท และอาถรรพเวท ก็มีคัมภีร์พราหมณ์ะ อารัณยกะและอุปนิษัท เป็นบริวาร
คัมภีร์ทั้งสี่หมวด ที่กล่าวมาแล้วนี้คือ เวท พราหมณะ อารัณยกะ และอุปนิษัทนั้น มีอายุกาลเรียงตามลำดับและเรียกรวม ๆ ว่าเป็น "ศรุติ" แปลว่าสิ่งที่ได้ยินมา หมายถึงได้ยินมาจากพระเจ้า โดยผ่านสื่อกลางคือ ฤๅษีมุนี และด้วยเหตุนี้จึงเป็น "อเปารุเษยะ" (ไม่ใช่เป็นของมนุษย์สร้างขึ้น) บรรดาฤๅษีมุนีผู้ได้ยินได้ฟัง "ศรุติ" เรียกว่า "มันตทรรษฎา" แปลว่า ผู้ที่ได้เห็นหรือได้รับมนตร์จากพระเจ้า.
{ที่มา: www.gotoknow.org, วันที่สืบค้น 13 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งอ้างอิงมาจาก หนึ่ง) จำลอง สารพัดนึก, ประวัติวรรณคดีสันสกฤต, กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2546, หน้าที่ 7. สอง) กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, ภารตวิทยา พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพมหานคร: ศยาม, 2547, หน้าที่ 25-29. สาม) กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, อินเดีย อนุทวีปที่น่าทึ่ง กรุงเทพมหานคร: ศยาม, 2542, หน้า 60.}
07. พระอรชุน (Arjuna) เป็นหนึ่งในตัวละครเอกแห่งมหากาพย์มหาภารตะ ชื่อนี้หมายถึง สว่าง ส่องแสง ขาว หรือเงิน อรชุนเป็นนักยิงธนูที่มีฝีมือสูงส่ง ไม่มีใครเทียบได้ เป็นพี่น้องคนที่สามในบรรดาภราดาปาณฑพทั้งห้า เป็นลูกของนางกุนตี ภรรยาคนแรกของท้าวปาณฑุ และเป็นคนเดียวในพี่น้องปาณฑพที่ได้รับพรและอาวุธวิเศษจากเทพเจ้ามากที่สุดด้วย.
รูปปั้นฆโฏตกัจ (Ghaṭotkacha Statue - Sanskrit घटोत्कच) กำลังสู้กับกรรณะ, ใกล้สนามบินนานาชาติ Ngurah Rai, บาหลี, อินโดนีเซีย, ที่มา: www.thetripjournal.com, วันที่สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2560.
อรชุนเป็นลูกของพระอินทร์ที่ประทานมาให้นางกุนตี เพราะท้าวปาณฑุต้องคำสาป จึงไม่สามารถมีลูกได้ อรชุนมีพี่สองคนคือ ยุธิษฐิระกับภีมะ และมีน้องอีกสองคน คือ นกุลกับสหเทพ อรชุนเป็นคนรูปงามมีฝีมือในการรบ และพรสวรรค์ในการยิงธนูมากที่สุด. (ที่มา: th.wikipedia.org/wiki/อรชุน, วันที่สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2560).
08. ฝ่ายปาณฑพ (อ่านว่า ปาน-ดบ) หากเขียนเป็นสันสกฤตว่า ปาณฑว (ให้อ่านว่า ปาน-ทะ-วะ) เป็นกลุ่มพี่น้องห้าคน ที่สืบเชื้อสายจากท้าวปาณฑุ (ปาน-ดุ) ประสูติจากพระนางกุนตีและพระนางมาทรี ที่ร่ายเวทมนตร์อัญเชิญเทพมาประทานโอรส
หนึ่ง) ยุธิษฐิระ นางกุนตีอัญเชิญพระธรรมเทพ (พระยายม) มาประทานโอรส (พี่คนโตได้รับการยกย่องมากที่สุดว่ามีคุณธรรมสูง ถูกแต่งตั้งให้เป็นมหากษัตริย์ตัวจริงดูแลน้อง ๆ ที่เป็นกษัตริย์ผู้ช่วย) เป็นสามีที่นางกฤษณา* ให้ความเคารพมากที่สุด.
สอง) ภีมะ นางกุนตีอัญเชิญพระพายมาประทานโอรส (มีกำลังมากที่สุดในหมู่พี่น้อง ชำนาญในการต่อสู้ประชิดตัว การใช้คทา และมวยปล้ำ) เป็นสามีที่รักนางกฤษณามากที่สุด.
สาม) อรชุน นางกุนตีอัญเชิญพระอินทร์มาประทานโอรส (เก่งที่สุดในบรรดาพี่น้องด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่องการยิงธนู) เป็นสามีที่นางกฤษณาแอบรักมากที่สุด เพราะเป็นผู้ประลองยิงธนูแล้วได้นางมา.
สี่) นกุล นางมาทรีอัญเชิญพระอัศวินมาประทานโอรส เป็นฝาแฝดกับสหเทพ ชำนาญในการรบบนหลังม้า เป็นคนที่นางกฤษณาชมว่ารูปงามที่สุดในบรรดาพี่น้อง.
ห้า) สหเทพ นางมาทรีอัญเชิญพระอัศวินมาประทานโอรส เป็นฝาแฝดกับนกุล ชำนาญในโหราศาสตร์ มีความสุภาพอ่อนโยน มีความชำนาญในการเลี้ยงปศุสัตว์ ทำหน้าที่แฝงตัวในราชสำนักของท้าววิราฎ.
จากซ้ายไปขวา: ภีมะ, อรชุน, ยุธิษฐิระ, ฝาแฝดนกุลและสหเทพ และนางเทฺราปตี, ที่มา: www.cours-colledge.com, วันที่สืบค้น 16 กุมภาพันธ์ 2560.
1.
หมายเหตุ *นางกฤษณา เป็นชื่อหนึ่งของนางเทฺราปที แปลว่า ตัวดำ ผิวคล้ำ บางครั้งก็เรียกรวมกันว่า "นางกฤษณา เทฺราปที".
{ที่มา: oknation.nationtv.tv (เขียนโดย ดร.วรเดช มีแสงรุทรกุล-เมื่อ 17 กรกฎาคม 2557), วันที่สืบค้น 16 กุมภาพันธ์ 2560}
09. ฝ่ายเการพ เป็นกลุ่มพี่น้อง 101 คน ที่สืบเชื้อสายจากท้าวธฤตราษฎร์ ประสูติจากพระนางคานธารีธิดาแห่งนครคันธาระ พี่น้อง 101 คน (ดูใน 01.001 รายละเอียดบรรพที่ 1 อาทิบรรรพ: เหล่าบุตรและบุตรีแห่งฝ่ายเการพ) ประกอบด้วย:
1) ทุรโยธน์ พระราชโอรสองค์โตและเป็นผู้นำเหล่าพี่น้องเการพ ชิงชังพวกพี่น้องปาณฑพมาก และเป็นผู้ชักนำไปสู่งสงครามทุ่งกุรุเกษตร
2) ทุหศาสัน พระราชโอรสองค์ที่สอง ชิงชังพวกปาณฑพมากเช่นเดียวกัน และพยายามดูหมิ่นเหยียดหยามพระนางเทฺราปที พระชายาของเหล่าปาณฑพด้วยการเปลื้องผ้าและประจานกลางสภา เมื่อพวกปาณฑพแพ้พนันสกากับทุรโยชน์
3) วิกรรณะ พระราชโอรสองค์เดียวที่มีคุณธรรม และเป็นองค์เดียวที่บอกว่านางเทฺราปตี ยังไม่ตกเป็นทาสจากการพนันสกา
4) พระอนุชาอีก 97 องค์ ไม่มีบทบาทในมหากาพย์มหาภารตะมากนัก ไม่ทราบพระนาม
5) ทุหศาลา เป็นพระธิดาองค์สุดท้อง และเป็นชายาของชัยทรัถ.
(ปรับปรุงจาก. th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2560).
ทุรโยธน์ กำลังแสดงกองกำลังของตนต่อโทรณะหรือโทรณาจารย์, ที่มา: www.wikiwand.com, วันที่สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2560.
1.
10. พระกฤษณะ ดูรายละเอียดใน http://huexonline.com/knowledge/20/88/
11. เซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์ (Sir Edwin Arnold) (10 มิ.ย. พ.ศ.2375 - 24 มี.ค. พ.ศ.2447) เป็นกวีและนักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษ เป็นที่รู้จักจากผลงานหนังสือ ประทีปแห่งเอเซีย (The Light of Asia). ท่านเกิดที่เมืองเกรฟเซนด์ (Gravesend) เป็นบุตรชายคนที่สองของผู้พิพากษา โคเบิร์ต คอลเลส (Robert Coles Arnold) ท่านได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนหลวงโรเชสเตอร์ (King's School, Rochester), ราชวิทยาลัยแห่งลอนดอน (King's College London) และมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด (University College, Oxford) หลังจากไปทำงานที่อินเดีย ท่านได้เป็นคอลัมนิสต์และได้เขียนบทความถึงความเสื่อมโทรมของพุทธสถานโบราณในอินเดีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านได้เขียนหนังสือ "ประทีปแห่งเอเชีย" (The Light of Asia) ในปี พ.ศ.2434 ซึ่งทำให้ท่านเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก, ปรับปรุงและที่มา: th.wikipeida.org และ en.wikipedia.org/wiki/Edwin_Arnold, วันที่สืบค้น 2 พฤษภาคม 2560.
1.
2.
3.