MENU
TH EN

ราคาของความเหลื่อมล้ำ

หนังสือเล่มนี้ เขียนโดย "โยเซฟ อี. สติ๊กลิตซ์" แปลโดย คุณสฤณี อาชวานันทกุล

         ต้องขอขอบคุณคุณสฤณี พร้อมทั้งขออนุญาตในการคัดย่อบทความ ประเด็นที่น่าสนใจ มาบันทึกในบล๊อกนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้สนใจทั่วไปที่ต้องการให้มนุษยชาติในโลก ควรจะมีโอกาสทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เท่าเทียมกัน พร้อมนี้ใคร่ขอขอบพระคุณมาล่วงหน้า

                                                             อภิรักษ์ กาญจนคงคา
                                                            ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖

 
First revision: July 31, 2013
Last revision: Aug. 19, 2014

 
 
ราคาของความเหลื่อมล้ำ (The Price of Inequality)
  • จาก 99 เปอร์เซ็นต์ เพื่อ 99 เปอร์เซ็นต์ โดย 99 เปอร์เซ็นต์.
  • แนวคิด 3 ประการที่ก้องกังวานไปทั่วโลก
  1. ตลาดไม่ได้ทำงานอย่างที่ควรทำ เพราะมันไม่มีทั้งประสิทธิภาพและเสถียรภาพอย่างชัดเจน.
  2. ระบบการเมืองไม่ได้แก้ไขข้อบกพร่องของตลาด.
  3. ระบบเศรษฐกิจและการเมืองไร้ความเป็นธรรมในระดับฐานราก.
  • ประวัติศาสตร์ (ในเชิงเศรษฐกิจ) ที่ผ่านมา เราแทบไม่เคยเห็นประเทศไหนฟื้นตัวจากวิกฤตด้วยการรัดเข็มขัดเลย.
  • โดยเฉลี่ยแล้วประเทศที่ระบบภาษีมีความก้าวหน้าต่ำกว่าจะมีความเหลื่อมล้ำมากกว่าประเทศอื่น.
  • ลอส อินดิกนาดอส (los indignados) หมายถึง ผู้โกรธแค้นหรือเจ็บแค้น นั่นมาจาก ผู้ประท้วงหนุ่มสาวชาวสเปนในการชุมนุมเริ่มต้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2008 เจ็บแค้นจากการที่คนจำนวนมากต้องเดือดร้อนแสนสาหัส มีคนว่างงานกว่าร้อยละ 40 ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมอันเลวร้ายของคนในภาคการเงินในสหรัฐอเมริกา "ขบวนการยึดวอลล์สตรีท" (Occupy Wall Street) ก็สะท้อนความไม่พอใจในลักษณะเดียวกัน.
  • ครอบครัวอเมริกันส่วนใหญ่มีรายได้หักผลของเงินเฟ้อต่ำกว่าที่พวกเขาเคยได้เมื่อหนึ่งทศวรรษก่อน.
        
  • ตำนานที่สอดคล้องกันบอกว่า "คนปีนจากดินสู่ดาวได้ในสามช่วยอายุคน" นี่หมายความว่า คนที่อยู่บนสุดต้องทำงานหนักหากต้องการรักษาความร่ำรวยของตัวเองไว้ ถ้าไม่ทำงานหนัก พวกเขา(ลูกหลาน) จะจนลงอย่างรวดเร็ว.
  • เราไม่ควรคาดหวังให้สถาปนิก (นักการเงินการธนาคารที่ทำให้เศรษฐกิจล้มสลาย) ของระบบที่ใช้การไม่ได้มาฟื้นฟูระบบให้ใช้การได้ใหม่.
  • ตลอดช่วงเวลาที่เลวร้ายนี้ (2008) คนรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ ยังคงครอบครองส่วนแบ่งมหาศาลในรายได้ประชาชาติ (หนึ่งในห้า) ถึงแม้มูลค่าเงินลงทุนของพวกเขาจะลดลงไปบ้างก็ตาม.
  • คนที่มั่งคั่งที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ครอบครองสินทรัพย์มากกว่าหนึ่งในสามของสินทรัพย์ทั้งประเทศ.
  • ราวสามสิบปีที่แล้ว คนที่รวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์มีส่วนแบ่งรายได้เพียงร้อยละ 12 ของรายได้ประชาชาติ.
  • งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ชี้ว่า การล้มป่วยของสมาชิกในครอบครัวเป็นสาเหตุของการล้มละลายส่วนบุคคลที่มีสัดส่วนสูงสุด.
  • งานวิจัยจากสถาบันนโยบายเศรษฐกิจ
  1. เด็กยากจนที่เรียนดีมีโอกาสจบมหาวิทยาลัยน้อยกว่าเด็กรวยที่เรียนแย่กว่า.
  2. ต่อให้พวกเขาจบมหาวิทยาลัยได้ เด็กจากครอบครัวยากจนก็ยังแย่กว่าเด็กจากครอบครัวร่ำรวยที่เรียนแย่กว่า.

Jean-Baptiste Colbert, French
(August 29, 1619 - September 6, 1683)
  • ว่ากันว่า ฌอง-แบบทิสต์ โคลแบร์ต (Jean-Baptiste Colbert) ที่ปรึกษาพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่แห่งฝรั่งเศส เคยกล่าวว่า "ศิลปะของการเก็บภาษีนั้นอยู่ที่การถอนขนห่านให้ได้มากที่สุด โดยห่านขู่ฟ่อน้อยที่สุด" ศิลปะแห่งการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจก็เหมือนกัน.
  • ค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) เป็นตัววัดมาตรฐานของความเหลื่อมล้ำตัวหนึ่ง อธิบายได้ว่า ถ้าหากรายได้แบ่งสรรไปตามสัดส่วนประชากรอย่างเท่าเทียม เช่น คนที่จนที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์มีส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 10 คนที่จนที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์มีรายได้ร้อยละ 20 ฯลฯ ค่าสัมประสิทธิ์จีนีก็จะเท่ากับศูนย์ ทั้งประเทศจะไม่มีความเหลื่อมล้ำ ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากรายได้ทั้งประเทศเป็นของเศรษฐีที่รวยที่สุดเพียงคนเดียว ค่าสัมประสิทธิ์จีนีก็จะเท่ากับหนึ่ง หรือก็คือความเหลื่อมล้ำ "สมบูรณ์แบบ" สังคมที่มีความเท่าเทียมกันมากกว่ามีค่าสัมประสิทธิ์จีนีราว 0.3 หรือค่าต่ำกว่านั้น ประเทศเหล่านี้ได้แก่ สวีเดน นอร์เวย์ และเยอรมนี ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดมีค่าสัมประสิทธิ์จีนีราว 0.5 หรือสูงกว่า.
  • "ความถูกต้องในโลกนี้เป็นเรื่องของผู้ที่มีอำนาจทัดเทียมกันเท่านั้น คนแข็งแรงทำอะไรก็ได้ ส่วนคนอ่อนแอก็จำต้องทนทุกข์ทรมาน" คำกล่าวของ "ธูไซดิเดส" (Thucydides) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกโบราณ.
                                     
Thucydides ( c.460 - c. 395 BC)        Adam Smith, (June 5, 1723 - July 17, 1790)
  • อดัม สมิธ ตระหนักถึงสถานการณ์ที่ผลตอบแทนส่วนตัวแตกต่างจากผลตอบแทนต่อสังคม เขาอธิบายว่า "คนที่ค้าขายในธุรกิจเดียวกันแทบไม่เคยมาพบปะกัน ต่อให้เป็นไปเพื่อการสังสรรค์บันเทิงก็ตาม แต่บทสนทนาของพวกเขามักลงเอยด้วยการสมคบคิดกันโกงประชาชนหรือพยายามหาเหตุขึ้นราคา".
  • เมื่อมองคนที่อยู่บนสุดของการกระจายรายได้ เราก็รู้สึกถึงธรรมชาติความเหลื่อมล้ำของอเมริกาในมิตินี้ได้ มีอภิมหาเศรษฐีน้อยคนที่เป็นนักประดิษฐ์ผู้พลิกโฉมเทคโนโลยี หรือนักวิทยาศาสตร์ที่ยกระดับความเข้าใจในกฎธรรมชาติ ลองนึกถึง อลัน ทูริง (Alan Turing) ผู้ซึ่งอัจฉริยภาพของเขามอบกฎเกณฑ์คณิตศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ หรือนึกถึงไอน์สไตน์ หรือผู้ค้นพบรังสีเลเซอร์ [ชาร์ลส์ ทาวน์ส (Charles Townes) มีบทบาทสำคัญในการค้นพบ] หรือจอห์น บาร์ดีน (John Bardeen) วอลเตอร์ บราทเทน (Walter Brattain) และวิลเลียม ช็อคลีย์ (William Shockley) ผู้ประดิษ์ทรานซิสเตอร์ หรือ วัตสันกับคริก (Watson and Crick) ผู้เผยความลับของรหัสพันธุกรรมซึ่งเป็นรากฐานของการแพทย์สมัยใหม่แทบทุกแขนง คนเหล่านี้มีส่วนสร้างความอยู่ดีมีสุขของเรามากเหลือเกิน แต่ไม่มีใครเลยที่อยู่ในกลุ่มคนที่ได้รับผลตอบแทนมหาศาลจากระบบเศรษฐกิจของเรา.
  • ปัจเจกที่อยู่บนยอดปิระมิดการกระจายความมั่งคั่งคืออัจฉริยะด้านธุรกิจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง บางคนอาจอ้างว่า สตีฟ จ๊อบส์ (Steve Jobs) หรือนักนวัตกรรมแห่งเซิร์ซเอนจิ้นบนเว็บหรือโซเชียลมีเดียก็เป็นอัจฉริยะในแบบของพวกเขา ก่อนที่ สตีฟ จ๊อบส์ จะเสียชีวิต เขารั้งอันดับที่ 110 ในรายชื่อเศรษฐีพันล้านที่รวยที่สุดในโลกตามการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes ส่วน มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) อยู่ในอันดับที่ 52 แต่ "อัจฉริยะ" เหล่านี้หลายคนก่อร่างสร้างธุรกิจขึ้นมาบนแผ่นหลังของคนอื่น เช่น ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี (Tim Berners-Lee) ผู้คิดค้นเวิร์ล ไวด์ เว็บ แต่กลับไม่เคยปรากฎบนรายชื่อของ Forbes เลย ที่จริงเบอร์เนอร์ส-ลี สามารถเป็นเศรษฐีพันล้านได้ถ้าต้องการ แต่เขาเลือกให้คนใช้ความคิดของเขาโดยเสรี ซึ่งช่วยส่งเสริมให้อินเทอร์เน็ตพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว.
  • แต่เดิมคนจนหลายคนใช้ชีวิตใกล้ชิดกับคนรวย ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขารับใช้คนรวย ปรากฎการณ์นี้ทำให้นักเรียนในโรงเรียนรัฐมีภูมิหลังทางสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน งานวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ของ เคนดรา บิสชอฟ (Kendra Bischoff) กับ ฌอน เรียร์ดอน (Sean Reardon) จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว คนจนน้อยลงอยู่ใกล้กับคบรวย และคนรวยน้อยลงอาศัยอยู่ใกล้กับคนจน.
  • แต่กระทั่งก่อนหน้านี้ก็ชัดเจนแล้วว่า ความเชื่อมโยงระหว่างค่าตอบแทนกับประโยชน์แก่สังคมนั้นอ่อนมาก ผมชี้ให้เห็นว่านักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ ผู้ค้นพบสิ่งที่กลายเป็นรากฐานสังคมสมัยใหม่ของเรานั้น มักจะไม่ได้กอบโกยอะไรมากกว่าส่วนเสี้ยวเดียวของประโยชน์ที่สร้าง พวกเขาได้ค่าตอบแทนน้อยนิดเมื่อเทียบกับรางวัลที่พ่อมดการเงินได้รับ พ่อมดที่ลากโลกไปยังปากเหวแห่งหายนะ.
  • การย้ายเงินจากคนที่อยู่ล่างสุดไปยังคนที่อยู่บนสุดลดระดับการบริโภคลง เพราะผู้มีรายได้สูงใช้จ่ายเงินเป็นสัดส่วนต่อรายได้น้อยกว่าผู้มีรายได้น้อย (คนที่รวยที่สุดออมเงินร้อยละ 15 ถึง 25 ของรายได้ ส่วนคนที่จนที่สุดใช้เงินทั้งหมดที่หาได้.
  • แน่นอนว่าฟองสบู่นี้มีฐานที่แท้จริงอยู่ นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจากการปฏิวัติด้านการสื่อสารและคอมพิวเตอร์ ถูกแล้วที่เรามองว่าอินเทอร์เน็ตเป็นนวัตกรรมพลิกโลก แต่ความลิงโลดไร้เหตุผลของนักลงทุนไปไกลเกินจุดที่มีเหตุผล.
           
Dominique Strauss-Kahn, Managing director of IMF (In office: Nov.01, 2007 - May 18, 2011)
  • ในงานวิจัยปี 2011 ไอเอ็มเอฟสรุปว่า "เราพบว่า ระยะเวลาการเติบโตที่ต่อเนื่องยาวนานนั้น คือ ช่วงเวลาที่การกระจายรายได้มีความเท่าเทียมกันมากกว่า ... ถ้ามองดูช่วงเวลาที่นานกว่านั้น ความเหลื่อมล้ำที่ลดลงกับการเติบโตที่มั่นคงอาจเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน" ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน โดมินค สเตราส์-คาห์น (Dominique Strauss-Kahn) ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟในขณะนั้นย้ำว่า "ถึงที่สุดแล้ว การจ้างงานและความเท่าเทียมของโอกาส คือรากฐานของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความรุ่งเรืองคือรากฐานของเสถียรภาพทางการเมืองและสันติภาพ ประเด็นนี้คือพันธกิจหลักของไอเอ็มเอฟ และต้องได้รับความสำคัญในการออกแบบวาระทางนโยบาย".
  • บริษัทบัตรเครดิตได้รับค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมสูงกว่ากำไรที่ร้านขายของชำทำได้จากการขายสินค้า แม้ว่าต้นทุนในการที่อิเล็กตรอนวิ่งผ่านเวลารูดบัตรเครดิตมีเพียงไม่กี่สตางค์ แต่บริษัทการเงินก็ได้รับเงินเท่ากับที่ร้านค้าได้จากการจัดการกระบวนการอันซับซ้อนที่ทำให้เราได้ซื้ออาหารหลากหลายในราคาย่อมเยา
  • ภาคการเงินไม่ใช่เป็นบ่อเกิดของค่าเพียงแหล่งเดียวในระบบเศรษฐกิจ สิ่งที่น่าตกใจคือการจำกัดการแข่งขันและการแสวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจได้แพร่หลายไปในธุรกิจหลักหลายสาขา ในบทก่อนหน้าเราได้พูดถึงสาขาไฮเทค (ไมโครซอฟท์) ไปแล้ว แต่ยังมีธุรกิจอีกสองสาขาที่ได้รับความสนใจอย่างมาก นั่นคือ ธุรกิจบริการสุขภาพกับโทรคมนาคม ปัจจุบันราคายางสูงเกินต้นทุนการผลิตเสียจนคุ้มค่าที่บริษัทยาจะทุ่มเงินมหาศาลในการหว่านล้อมให้แพทย์และผู้ป่วยใช้ยา ค่าใช้จ่ายทางการตลาดตอนนี้สูงกว่าค่าวิจัยและพัฒนายาเสียอีก
  • เมื่อใดก็ตามที่ค่าเช่าถูกสร้างจากอำนาจผูกขาด เศรษฐกิจก็ถูกบิดเบือนมหาศาล ราคาจะสูงเกินไป ข้อจำกัดในการผลิตจะจูงใจให้ (ผู้เล่นหน้าใหม่) ย้ายออกจากผลิตภัณฑ์ผูกขาดไปสู่สินค้าอื่น น่าตกใจว่าถึงแม้อเมริกาจะอ้างว่ามีเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูง แต่ธุรกิจบางสาขายังโกยกำไรเกินควรอยู่เหมือนเดิม.
  • บางครั้ง การบิดเบือนของผู้แสวงหาค่าเช่านั้นเป็นสิ่งที่มองออกยากและไม่ได้สะท้อนอยู่ในจีดีพี เนื่องจากจีดีพีไม่สะท้อนต้นทุนต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเพียงพอ จีดีพีไม่ได้ประเมินความยั่งยืนของการเติบโตที่เกิดขึ้น เมื่อจีดีพีโตจากการตักตวงทรัพยากรใต้ดิน เราก็ควรบันทึกว่า ความมั่งคั่งของประเทศลดลง ยกเว้นว่าความมั่งคั่งดังกล่าวจะถูกนำไปลงทุนใหม่ในทุนมนุษย์หรือสินค้าทุน แต่ตัววัดของเราไม่คำนวณแบบนั้น การเติบโตที่เกิดจากการตักตวงทรัพยากรทางทะเลหรือน้ำใต้ดินนั้นไม่ยั่งยืน แต่ตัววัดของเราไม่ได้บอกข้อมูลเหล่านี้ ระบบราคาของเราบกพร่อง เพราะมันไม่สะท้อนความหายากของทรัพยากรธรรมชาติหลายชนิด และในเมื่อจีดีพีตั้งอยู่บนราคาตลาด ตัววัดจีดีพีของเราจึงบกพร่องเช่นกัน.
  • "บัญชีจีดีพีสีเขียว" เป็นแนวคิดที่ท่านผู้เขียนเสนอ ซึ่งสะท้อนถึงความร่อยหรอของทรัพยากรและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม แต่อุตสาหกรรมถ่านหินรู้ดีว่ามันหมายความว่าอะไร พวกเขาใช้อิทธิพลที่มีอยู่สูงในสภาคองเกรสเพื่อขู่ว่าจะตัดเงินอุดหนุนแก่ใครก็ตามที่พยายามนิยามจีดีพีสีเขียว ทั้งในโครงการนี้และโครงการอื่น ๆ ด้วย.
  • อเมริกามีรัฐบาลของนักกฎหมาย โดยนักกฎหมาย และเพื่อนักกฎหมาย ประธานาธิบดี 26 คน จาก 44 คนที่ผ่านมา เคยเป็นนักกฎหมาย ร้อยละ 26 จาก 44 คนที่มา.
  • ประเทศที่มีนักกฎหมายน้อยกว่า (เทียบกับจำนวนประชากร) เติบโตได้เร็วกว่าประเทศอื่น งานวิจัยชิ้นอื่นชี้ว่า การมีสัดส่วนนักกฎหมายสูง ๆ ในสังคมก่อความเสียหายต่อเศรษฐกิจ เพราะมันชักจูงคนเก่ง ๆ ออกจากกิจกรรมที่มีนวัตกรรมมากกว่า (อย่างเช่น วิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์) นี่เป็นข้อค้นพบที่สอดคล้องกับบทสนทนาก่อนหน้านี้ของเราว่าด้วยการเงิน.

อัลเฟรด มาร์แชล (Alfred Marshall), Neoclassical economics,
ชาวอังกฤษ (26 กรกฎาคม พ.ศ.2385 - 13 กรกฎาคม พ.ศ.2467)
  • กฎพื้นฐานข้อหนึ่งของเศรษฐศาสตร์แรงงาน ซึ่งถูกสรุปรวมอยู่ในทฤษฎีค่าจ้างมีประสิทธิภาพ (Efficiency wage theory) ทฤษฎีนี้บอกว่าวิธีที่ปฏิบัติต่อคนงาน รวมทั้งค่าจ้างที่คนงานได้รับ ส่งต่อผลิตภาพ ที่จริงทฤษฎีนี้มีมาเกือบหนึ่งศตวรรษแล้ว ผู้คิดค้นคือ อัลเฟรด มาร์แชล (Alfred Marshall) นักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่เขาเขียนในปี พ.ศ.2438 ว่า "แรงงานที่ได้ค่าตอบแทนสูง ๆ โดยทั่วไปนั้นมีประสิทธิภาพ และดังนั้นจึงไม่ใช่แรงงานหายาก".
  • การฟื้นคืนของทฤษฎีนี้เริ่มต้นในสาขาเศรษฐศาสตร์พัฒนาซึ่งนักทฤษฎีตระหนักว่าคนงานที่อดอยากนั้นมีผลิตภาพน้อยกว่า.
  • นักการศึกษาชี้ว่า ความหิวโหยและโภชนาการที่ไม่เพียงพอเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้.
  • นักเศรษฐศาสตร์ เซนดิล มุลไลนาธาน (Sendhil Mullainathan) และนักจิตวิทยา เอลดาร์ ชาฟีร์ (Eldar Shafir) พบหลักฐานจากการทดลองว่าการใช้ชีวิตในภาวะขาดแคลนมักจะชักนำให้คนตัดสินใจในทางที่ซ้ำเติมภาวะขาดแคลนให้เลวร้ายลง "คนจนกู้เงินกู้ดอกเบี้ยโหดและยังจนต่อไป คนไม่มีเวลาผัดผ่อนงานออกไปเพียงเพื่อที่จะยุ่งกว่าเดิม".
  • ความเครียดและความวิตกกังวลสามารถลิดรอนการแสวงทักษะและความรู้ใหม่ ๆ ด้วย ถ้าหากการเรียนถูกลิดรอน ผลิตภาพก็จะเพิ่มได้ช้าลง และนี่เป็นข่าวร้ายสำหรับเศรษฐกิจในระยะยาว.
  • ปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันในการจูงใจให้คนทำงานคือ ความรู้สึกว่าพวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ถึงแม้จะไม่ชัดเจนนักว่าความเป็นธรรมคืออะไร และการตัดสินเรื่องนี้อาจมีอคติเข้าข้างตัวเอง แต่คนก็รู้สึกว่าความแตกต่างของค่าจ้างทุกวันนี้ไม่เป็นธรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อผู้บริหารให้เหตุผลว่าต้องลดค่าแรงหรือต้องไล่คนงานออกเพื่อให้บริษัทแข่งขันได้ แต่ขณะเดียวกันก็เพิ่มค่าตอบแทนให้ตัวเอง คนงานก็จะมองว่าสถานการณ์นี้ไม่เป็นธรรม ความรู้สึกนี้จะส่งผลต่อการลงแรงทำงานของพวกเขาในวันนี้ ส่งผลต่อความจงรักภักดี ความเต็มใจที่จะร่วมมือกับคนอื่น และความยินดีที่จะลงทุนเพื่ออนาคตของบริษัท ทุกบริษัทรู้ดีว่าพนักงานที่มีความสุขคือพนักงานที่มีผลิตภาพดีกว่า และพนักงานที่เชื่อว่าบริษัทจ่ายพนักงานระดับสูงมากเกินไปเมื่อเทียบกับสิ่งที่คนอื่นได้รับก็ไม่น่าจะเป็นพนักงานที่มีความสุข.
  • [ประเด็นในข้อนี้ อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในประเทศไทย ที่มีความรู้สึกแบ่งแยก ไพร่ต่างจังหวัดกับผู้ดีในกรุง การปกครองแบบเดิม กับประชาธิปไตยเต็มที่ ที่ทำให้พวกอนุรักษ์นิยมในประเทศไทยด้อยความสำคัญลง รับไม่ได้] นักการเมืองมีตัวตายตัวแทน มีลูกสมุนที่ไม่เคยคิดจะลงสนามเลือกตั้ง แต่ทำงานเพื่อสนับสนุนความคิดบางอย่างและท้าทายความคิดของคู่แข่ง โดยใช้หลักฐานและข้อถกเถียงที่ได้รับการรวบรวมมาจากทั้งสองฟากความคิด.
  • "สงความความคิด" มีเป้าหมายสองประการ (เช่นเดียวกับโฆษณาทั่วไป) นั่นคือ ปลุกเร้าคนที่เชื่อมั่นศรัทธาอย่างแรงกล้าอยู่แล้วและหว่านล้อมคนที่ยังไม่ตัดสินใจ เป้าหมายข้อแรกหมายถึงการสร้างขวัญกำลังใจให้กับกองเชียร์และตอกตรึงความทุ่มเทของพวกเขา การปลุกเร้า "ฐานเสียง" มีความสำคัญยิ่งในระบอบที่การเลือกตั้งต้องการใช้เงินเยอะมากอย่างในสหรัฐอเมริกา เพราะผลลัพธ์ของการเลือกตั้งมักจะขึ้นอยู่กับการระดมเงินบริจาคและการกระตุ้นให้คนออกไปใช้สิทธิ การแขวนป้าย "เสรีนิยม" หรือ "อนุรักษ์นิยมใหม่" ให้คู่แข่งอาจกระตุ้นให้คนออกไปหย่อนบัตร แม้ว่าผู้สมัครของฝ่ายเราจะไม่ได้เรื่องก็ตาม.
  • การหว่านล้อมคนที่ยังไม่ตัดสินใจส่วนใหญ่คือการแย่งชิง "พลังเงียบ" ในสังคม การแย่งเสียงของพวกเขาด้วยการพูดซ้ำ ๆ ถึงเรื่องราวง่าย ๆ แต่บิดเบือน อาจได้ผลดีกว่าการสื่อสารเรื่องราวที่ซับซ้อน การสื่อสารที่ปลุกเร้าอารมณ์ผู้ฟังมักจะได้ผลดีกว่าการนำเสนอเหตุผล นักโฆษณาเก่งเรื่องการย่อยสารต่าง ๆ ลงเหลือหกสิบวินาที ซึ่งเป็นการตอบสนองทางอารมณ์ที่ดูเหมือนจะมี "เหตุผล" รองรับ.
  • เมดิแคร์ (Medicare) ระบบประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงวัยในอเมริกา เป็นระบบแบบเหมาจ่ายคนเดียว (Single-payer system) คือรัฐบาลออกเงิน แต่ประชาชนเลือกผู้ให้บริการเอง ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ชอบระบบนี้ แต่หลายคนก็เชื่อว่ารัฐไม่มีทางให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพได้ เลยเชื่อว่าเมดิแคร์ควรต้องเปลี่ยนเป็นระบบเอกชน.
  • เราต้องไม่ตกหลุมพรางของลัทธิบูชาจีดีพี ...เพราะจีดีพีไม่ใช่ตัววัดทางเศรษฐกิจที่ดี มันไม่ได้แสดงการเปลี่ยนแปลงในมาตรฐานความเป็นอยู่ของพลเมืองส่วนใหญ่อย่างเที่ยงตรง (เมื่อนิยามอย่างกว้างที่สุด) มันไม่ได้บอกเราว่าการเติบโตที่เราเผชิญอยู่นั้นยั่งยืนหรือไม่.
 
วาระการปฏิรูปเศรษฐกิจ
 
  • วาระการปฏิรูปเศรษฐกิจที่แท้จริงจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ความเป็นธรรม และโอกาสไปพร้อมกัน คน...1 ส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์ คนที่เสียประโยชน์อาจมีแค่บางคนในกลุ่ม 1 เปอร์เซ็นต์ อย่างเช่นคนที่รายได้ขึ้นอยู่กับการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจและพรรคพวกที่พึ่งพาพวกเขา การปฏิรูปควรทำตามผลการวินิจฉัยของเราที่ว่า เรามีปัญหาทั้งระดับบนสุด กลาง และล่างสุด ทางออกง่าย ๆ ไม่เพียงพอ เราได้ระบุแล้วว่า มีปัจจัยอะไรบ้างซึ่งผลิตสร้างความเหลื่อมล้ำระดับสูงและโอกาสระดับต่ำในสังคม.
  • นักเศรษฐศาสตร์มักจะเถียงกันเรื่องระดับความสำคัญโดยเปรียบเทียบของปัจจัยเหล่านี้ ซึ่งการตอบคำถามนี้ยากมาก ความเหลื่อมล้ำของโอกาสใน... ก็เลวร้ายเสียจนเราต้องทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อแก้ไข. สาเหตุของความเหลื่อมล้ำบางอย่างอาจอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา บางอย่างเราอาจค่อยเปลี่ยนในระยะยาว แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่เราจัดการได้ทันที.
  • เราจะต้องจัดการปัญหาอย่างครบวงจร ผู้เขียนได้แจกแจงองค์ประกอบบางส่วนดังนี้:-
หยุดความฟุ้งเฟ้อของคนบนสุด
  • ด้วยความมั่งคั่งมหาศาลของคนรวยสุดนั้นมาจากการแสวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจและกฎกติกาซึ่งโน้มเอียงไปเข้าข้างคนรวยสุดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง.
  • การบิดเบือนและความวิปริตต่าง ๆ แผ่ซ่านไปทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจของเรา แต่การปฏิรูปเจ็ดเรื่องต่อไปนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้
  1. ยับยั้งภาคการเงิน
  2. กฎหมายคุ้มครองการแข่งขันที่เข้มแข็งกว่าเดิมและการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิผลกว่าเดิม
  3. การปรับปรุงธรรมาภิบาล โดยเฉพาะเพื่อจำกัดอำนาจของซีอีโอในการเบียดบังทรัพยากรของบริษัทไปใช้เอื้อประโยชน์ส่วนตัว
  4. การปฏิรูปกฎหมายล้มละลายอย่างรอบด้าน ตั้งแต่การจัดการกับตราสารอนุพันธ์ไปจนถึงบ้านที่ผ่อนไม่ได้และเงินกู้เพื่อการศึกษา
  5. หยุดการแจกฟรีของภาครัฐ ไม่ว่าจะในรูปการแจกสมบัติสาธารณะในราคาถูกหรือการจัดซื้อจัดจ้างราคาแพง
  6. หยุดการให้สวัสดิการบรรษัท รวมถึงเงินอุดหนุนซ่อนเร้นต่าง ๆ
  7. การปฏิรูปกฎหมายด้วยการทำให้การเข้าถึงความยุติธรรมมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และลดการแข่งขันการสะสมอาวุธ
การปฏิรูปภาษี
 
  1. สร้างระบบภาษีบุคคลและนิติบุคคลที่ก้าวหน้าและมีช่องโหว่น้อยลง
  2. สร้างระบบภาษีมรดกที่มีประสิทธิผลและบังคับใช้ได้จริง เพื่อป้องกันการเกิดขึ้นของคณาธิปไตยกลุ่มใหม่

หมายเหตุ

1.     ในบางช่วงตอน ผู้ศึกษาขอใช้เครื่องหมาย ... เพราะต้นฉบับและหนังสือแปลนั้น จะอ้างถึงคนอเมริกัน/อเมริกา จึงขอใช้เครื่องหมาย ... แทนคนอเมริกัน/อเมริกา เพราะประโยชน์ของเนื้อหาในหนังสือนี้ น่าจะปรับใช้กับประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศที่มีสังคมแบบบริโภคนิยม และมีความเป็นกึ่งศักดินากึ่งเมืองขึ้นกึ่งนายทุนมาตั้งแต่ไหนแต่ไรได้เป็นอย่างดี.

 
info@huexonline.com