MENU
TH EN

ครูชบ ยอดแก้ว - มูฮัมหมัด ยูนุสเมืองไทย

บทความนี้ ขอเชิดชูเกียรติและขอขอบคุณคุณสฤณี อาชวานันทกุล ที่เขียนและแปลบทความด้านแนวคิด ประเด็นการยกระดับความเป็นอยู่ของผู้ยากไร้ เช่น ธนาคารคนจน, ไมโครไฟแนนซ์, มูฮัมมัส ยูนูส และราคาของความเหลื่อมล้ำ (The Price of Inequality) และบทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอดและอย่างต่อเนื่อง และนี่ก็เป็นอีกบทความหนึ่ง ที่ใคร่ขออนุญาตคุณสฤณี (www.thaipublica.org) ในการนำบทความ "อาลัยครูชบ ยอดแก้ว-ผู้บุกเบิกสวัสดิการชุมชนไทย" ที่เธอเขียนไว้ในกรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ มา ณ ที่นี้ด้วย

                                                       เคารพและขอขอบคุณครับ

                                                              อภิรักษ์ กาญจนคงคา

                                                              ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๖

อาลัยครูชบ ยอดแก้ว ผู้บุกเบิกสวัสดิการชุมชนไทย



 

        วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖ คนไทยทั่วประเทศฉลองหยุดวันแรงงาน แต่มีน้อยคนที่จะรู้ว่า ประเทศไทยได้สูญเสีย "ผู้ประกอบการเพื่อสังคม" ชั้นครู และนักบุกเบิกการเงินชุมชนไทยไปหนึ่งคน

       วันนั้น ครูชบ ยอดแก้ว เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคมะเร็ง ในวัน ๗๘ ปี ที่จังหวัดสงขลาบ้านเกิดของท่าน

        ผู้เขียน (คุณสฤณี) ขออุทิศพื้นที่คอลัมน์ในวันนี้ให้กับชีวิตและผลงานของปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ชุมชนไทย ผู้คิดค้น "นวัตกรรมสังคม" ที่น่าทึ่งบนฐานคิดและวิถีชีวิตของคนไทยและปัจจุบันแนวคิดของท่านก็ขยายผลเติบโตทั่วประเทศ

        ครูชบ ยอดแก้ว เป็นคนจังหวัดสงขลา เรียนหนังสือระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนประชาบาล ตำบลแค อำเภอจะนะ ระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนประชานุกูล อำเภอนาทวี ความที่โรงเรียนอยู่ไกลจากบ้านหลายกิโลเมตรและครอบครัวมีฐานะยากจน จึงต้องอาศัยวัดเป็นที่พัก อดมื้อกินมื้อ แต่เนื่องจากเป็นคนมีความจำดีเลิศและปฏิภาณฉับไว จึงมีผลการเรียนดีเด่นเสมอมา ศึกษาด้วยตนเองจนสอบได้วุฒิพิเศษมัธยม (พ.ม.) และไปศึกษาต่อที่คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏสงขลา (วิทยาลัยครูสงขลาในสมัยนั้น) และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีครุศาสตรบัณฑิตในปี พ.ศ.๒๕๒๕

        ครูชบเริ่มต้นชีวิตการงานด้วยการเป็นครูในโรงเรียนประถมศึกษา เพราะเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาขั้นพื้นฐาน

        เช่นเดียวกับคนเก่งจำนวนมากในระบบราชการไทยที่ไม่ชอบ "เล่นการเมือง" - ตลอดระยะเวลา ๒๓ ปีที่ครูชบเป็นครูผู้สอน ท่านได้เลื่อนขั้น ๒ ขั้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ถึงแม้จะทำงานหนักกว่าครูคนอื่นในโรงเรียนมาก

        ปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าประเทศไทยในขณะนั้น มีส่วนซ้ำเติมปัญหาสังคมในชนบท ตั้งแต่ปัญหาอบายมุข อาชญากรรม และความแตกแยกในชุมชน ทางการ "แก้ปัญหา" ด้วยการส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ หรือที่เรียกว่า "หน่วยเฉพาะกิจ" เข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการที่ตำบลน้ำขาว

        ครูชบไม่สบายใจกับวิธีนี้ ท่านมองว่าการที่ทางการใช้ไม้แข็งมาปราบปรามคนในชุมชนก็เท่ากับปราบปรามญาติพี่น้องของตนเอง ครูชบจึงขอร้องกับทางการไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับชาวบ้าน และรับว่าจะหาทางแก้ปัญหาเอง

        ต้นตอของปัญหาที่ครูชบมองเห็น คือ ความยากจน ซึ่งท่านได้ประสบด้วยตนเองตั้งแต่เด็ก และเชื่อว่าคนจะพัฒนาได้ ต้องใช้กระบวนการศึกษา ถ้าปัญหาเกิดจากคนก็ต้องแก้ที่คน ดังพุทธวาจาที่ว่า "เหตุเกิดที่ไหน ต้องแก้ที่นั่น"

        ฉะนั้นในปี พ.ศ.๒๕๒๑ เมื่อมีโอกาสมาช่วยราชการที่สำนักงานหมวดการศึกษา อำเภอจะนะ ท่านจึงขออนุญาตนายอำเภอไปเป็นผู้บริหารโรงเรียน เพื่อใช้โรงเรียนเป็นฐานในการทดลองแก้ปัญหาให้กับคนในโรงเรียนก่อน ถ้าสำเร็จแล้วจะได้ขยายผลไปสู่ชุมชนต่อไป
     
        เมื่อนายอำเภอเห็นชอบ ปลายปีนั้น ครูชบจึงเดินทางไปรับตำแหน่งครูใหญ่ที่โรงเรียนวัดน้ำขาว อำเภอจะนะ ริเริ่มโครงการพัฒนา ๘ โครงการในโรงเรียน โครงการที่เห็นผลเป็นรูปธรรมที่สุดภายในเวลาเพียงปีกว่า ๆ คือ โครงการสหกรณ์และออมทรัพย์ในโรงเรียนซึ่งทำให้ครูสามารถกู้เงินดอกเบี้ยต่ำ แก้ปัญหาหนี้สินของครูได้ ส่วนเด็กนักเรียน เมื่อจบจากโรงเรียนไปแล้วก็มีเงินก้อน นอกจากนี้กลุ่มออมทรัพย์ยังจัดสวัสดิการ อาทิ ค่ารักษาพยาบาล ให้กับทั้งเด็กและครูอีกด้วย

        ปี ๒๕๒๓ ชาวบ้านในชุมชนเห็นว่าโครงการของครูชบประสบความสำเร็จ อยากมีเงินออม เช่นเดียวกับโรงเรียนบ้าง ครูชบจึงนำแนวคิดมาขยายผลออกนอกโรงเรียนสู่ชุมชน พัฒนารูปแบบเป็น "สัจจะออมทรัพย์แบบพัฒนาครบวงจรชีวิต" หรือเรียกในภาษาการเงินสมัยใหม่ว่า "ไมโครอินชัวรันซ์" หรือประกันขนาดจิ๋ว แต่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครเพราะใช้ทุนทางสังคมและวัฒนธรรมแบบไทย ๆ


 


        ผ่านมา ๓๐ ปี ปัจจุบันสัจจะออมทรัพย์ในแนวที่ครูชบริเริ่มและแนวอื่นที่ได้แรงบันดาลใจจากครูชบ มีจำนวนกว่า ๔๐,๐๐๐ กลุ่มทั่วประเทศ มีเงินออมรวมกับนับหมื่นล้านบาท กลุ่มขนาดใหญ่บางกลุ่มมีสมาชิกนับพันคน มีเงินออมรวมกันหลายสิบล้านหรือเกินร้อยล้านบาท และมีการนำเงินออมไปลงทุนในวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ อาทิ โรงสีชุมชน โรงยาง ฯลฯ

        นับเป็นผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ คือชักจูงให้ชาวบ้านออมเงินกับกลุ่มอย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง จากการ "ลดรายจ่ายวันละบาท" ซึ่งที่มาของแนวคิดนี้มาจากการสังเกตลองผิดลองถูกของครูชบเองว่า ถ้าบอกให้คน "ออมเงิน" เขาคิดทันทีว่าต้องไป 'หารายได้เพิ่ม" แต่ถ้าเปลี่ยนโจทย์เป็น 'ลดรายจ่าย" วันละบาทเดียว แบบนี้คนจนจะรู้สึกมีกำลังใจว่าทำได้

        "โมเดลธุรกิจ" ของครูชบนั้นเรียบง่าย คือ นำเงินสัจจะไปปล่อยกู้ให้กับสมาชิก เป้าหมายเงินกู้จะพิจารณาตามความจำเป็นก่อนหลัง โดยให้ความสำคัญเรื่องของการรักษาโรคภัยไข้เจ็บเป็นอันดับแรก ตามด้วยการกู้ไปปลดหนี้ และเพื่อการศึกษาตามลำดับ เรื่องอื่นนอกเหนือจากนี้ต้องตกลงกันเองระหว่างสมาชิกในกลุ่ม

        สิ้นปีกลุ่มออมทรัพย์จะนำผลกำไรมาแบ่งเป็น ๒ ส่วนเท่า ๆ กัน ครึ่งหนึ่งปันผลให้สมาชิก อีกครึ่งหนึ่งนำมาเป็นกองทุนสวัสดิการ ช่วยเหลือสมาชิกตั้งแต่เกิดจนตาย อาทิ การคลอดบุตร การรักษาพยาบาล การศึกษา การฌาปนกิจ เป็นต้น แต่มีข้อแม้ว่า สมาชิกต้องออมเงินกับกลุ่มให้ได้ติดต่อกัน ๑๒ เดือน จึงจะมีสิทธิได้รับสวัสดิการ (ดูโมเดลธุรกิจในภาพประกอบ)

        พูดง่าย ๆ คือ สมาชิกต้องรักษา "สัจจะ" จึงจะได้ประโยชน์ ตามหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขในชุมชน

        แนวคิด "สัจจะลดรายจ่ายวันละบาท" ของครูชบจึงเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่น่าทึ่งเพราะสามารถสร้างแรงจูงใจให้คนจนเก็บออมเงินได้สำเร็จ

        อาจารย์ภีม ภคเมธาวี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้คลุกคลีใกล้ชิดกับครูชบและวงการการเงินฐานรากไทย (หรือ Microfinance บ้างก็เรียกว่า องค์กรการเงินระดับจุลภาค - admin.) มานาน เล่าให้ผู้เขียนฟังว่าครูชบไม่ใช่คนแรกที่ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ แต่กลุ่มอื่นอย่างกลุ่มออมทรัพย์ของกรมพัฒนาชุมชนในตำบลน้ำขาวล้มเหลว เนื่องจากไม่เน้นสวัสดิการ เน้นการปล่อยกู้ อีกทั้งยังกำหนดระยะเวลานานและเงินก้อนโตเกินกำลังของชาวบ้าน เช่น ต้องออมให้ได้ถึง 1 แสนบาท ภายใน ๕ ปี จึงจะได้กู้

        "ครูชบเห็นว่า [วิธีนี้] เป็นการเอารวมเงินชาวบ้านไปฝากธนาคาร ทำให้ธนาคารสบายเพราะมีกลุ่มช่วยรวบรวมเงินก้อนมาฝากธนาคาร ดอกเบี้ยก็ถูกมาก ชาวบ้านไม่ได้เรียนรู้อะไร และไม่เกิดประโยชน์ด้านการเงินสักเท่าไร

        ครูชบตั้งกลุ่มสัจจะให้ออมเสร็จก็ปล่อยกู้เลย มีเท่าไรก็ปล่อยกู้เท่านั้น ถือเป็นการฝึกสมาชิกจากเงินน้อย ๆ ไม่ต้องไปฝากธนาคาร เรียนรู้จากตัวเลขง่าย ๆ ก่อนและฝึกไว้เนื้อเชื่อใจกัน จากจำนวนเงินน้อย ๆ ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามกำลัง ทำให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ทั้งการเรียนรู้และการเงิน คือได้ช่วยเหลือกันจริง ๆ ด้วย นี่เป็นประเด็นแรก

        อีกประเด็นคือ กลุ่มครูชบเน้นสวัสดิการ โดยปล่อยกู้ตามสภาพจริงของชุมชนที่มีเงินกู้นอกระบบร้อยละ ๕ - ๑๐ หรือ ๒๐ ต่อเดือน โดยปล่อยกู้ร้อยละ ๕ ต่อเดือน แต่กำไรหักเป็นสวัสดิการ ๕๐% อีก ๕๐% ปันผลสมาชิก จากนั้นเมื่อกลุ่มโตขึ้นก็ค่อย ๆ ลดดอกเบี้ยลงตามสภาพชุมชนที่ดอกเบี้ยนอกระบบลดลง
"

        เมื่อถามว่าอะไรคือคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของของครูชบต่อสังคมไทย อาจารย์ภีม ตอบว่า

        "ความเห็นผมคิดว่า คุณูปการของครูชบ [คือ] เรื่องออมทรัพย์ ที่เห็นว่าคนเล็กคนน้อย ควรออมเงินคนละเล็กละน้อยเพื่อช่วยเหลือพึ่งพากัน สำหรับสวัสดิการลดรายจ่ายวันละ ๑ บาท เป็นแนวคิดที่มองไกลกว่าคนเล็กคนน้อย แต่เป็นประเด็นที่คนทุคนมีความเท่าเทียมกัน โดยใช้ความไร้ค่าของเงิน ๑ บาท จากการลดรายจ่ายซึ่งทำได้ทุกคน มาเป็นสวัสดิการช่วยเหลือกัน แต่ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ถ้าครูชบมีเวลามากกว่านี้คิดว่าแกคงก้าวไปถึงสวัสดิการเรื่องการดูแลสุขภาพและจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่เข้มแข็งของครูชบ"

        น่าเสียดายที่รัฐบาลทุกยุคที่ผ่านมายังไม่เคยนำข้อเสนอของครูชบที่ให้รัฐสมทบทุนของสวัสดิการชุมชนในอัตรา ๑ ต่อ ๑ และสนับสนุนให้ชาวบ้านจัดการสวัสดิการกันเอง มาปฏิบัติอย่างจริงจัง อีกทั้งนโยบายด้านการเงินขนาดจิ๋วหรือไมโครไฟแนนซ์ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามผลักดันตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ ก็ยังไม่เคยเหลียวแลหรือศึกษาหาช่องทางที่จะมา "ติดต่อ" กับกลุ่มการเงินชุมชนไทย เพราะเน้นแต่การกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน (นอนแบงค์) ปล่อยสินเชื่อขนาดจิ๋ว ทั้งที่โครงสร้างต้นทุนของสถาบันเหล่านี้ก็มิได้เข้าใจความต้องการและวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างถ่องแท้ และไม่สนใจบทบาทของการจัดสวัสดิการชุมชน เช่นเดียวกับครูชบ ยอดแก้ว

        ผู้พิสูจน์ว่า "เงิน" ถ้าจัดการอย่างถูกทางก็สามารถช่วย "พัฒนา" คนและสังคมได้

        ผู้คู่ควรกับสมญา "มูฮัมหมัด ยูนุสเมืองไทย" ด้วยประการทั้งปวง

 

 
คุณสฤณี อาชวานันทกุล

 
info@huexonline.com