MENU
TH EN

คำสอน คำกลอนจากปฏิทินธรรม ปี ๒๕๕๖

ชีวิตแท้ งามงดและสดชื่น
ชีวิตเหลือ แต่ความเย็น เป็นนิพพาน


                        จากปกแรกของปฏิทินธรรม ปี ๒๕๕๖
                        จัดทำโดย ธรรมทานมูลนิธิ


ปฏิทินธรรม ปี พ.ศ.๒๕๕๖
 
 
 
การงาน - การสนุก
 
 การงานนั้น      น่ารัก      เพราะเป็นครู
สอนให้รู้      ให้ฉลาด      ไปทุกสิ่ง
ยิ่งทำแล้ว      ยิ่งฉลาด      มิหวาดประวิง
เป็นผู้ดิ่ง      พ้นผิด      จิตเจริญ,


ยิ่งกว่านั้น      ดูให้ดี      มีค่าลึก
เป็นการฝึก      ธรรมะกล้า      น่าสรรเสริญ
มีสติ      ฉันทะ      ทมะ      ฯลฯ      เกิน
แสนเพลิดเพลิน      จิตวาง      ทางนิพพาน,


 ยิ่งประเสริฐ      ก็คือว่า      น่าสนุก
ไม่มีทุกข์      เป็นการทำ      กรรมฐาน
ทำชีวิต      ให้สดใส      ใจเบิกบาน
ในการงาน      ประจำวัน      นั่นเอง      เอย.
 






ความสุขในงาน.

พวกเด็ก ๆ      พอใจ      รับใช้เรื่อย
ไม่รู้เหนื่อย      เก็บผัก      หักบุปผา
มาต้มแกง      จัดแจง,      ประดับประดา
ตามเวลา,      ไม่มีเบื่อ      ดีเหลือใจ ฯ

ความศุขมี      ในตัวงาน      ท่านว่าไว้
ใครหาได้      ได้เปรียบ       เป็นไหน ๆ
ไม่ต้องเร่      ร่อนหา      ให้บ้าใจ
ในป่าไพร      ก็หาได้      ไม่สิ้นเลย ฯ

อันความสุข      หาได้      ไม่ยากเย็น
ทำงานเป็น      เป็นสุข      ในใจเหวย
ความศุขใน      การงาน      ท่านเปรียบเปรย,
อย่าเยาะเย้ย,      เพชรในหัว-      คางคกมี ฯ









เหงื่อ คือน้ำมันที่แท้จริง!

@ เหงื่อนั่นแหละ      คือน้ำมนต์      ให้ผลเลิศ
นำให้เกิด      สุขสวัสดิ์      พิพัฒน์ผล
น้ำมนต์รด      รดเท่าไร      ไม่ช่วยคน
จนกว่าตน      จะมีเหงื่อ      เมื่อทำจริงฯ


@ จงรักเหงื่อ      เชื่อมั่น      บากบั่นเถิด
หน้าที่เกิด      สมบูรณ์ดี      มีผลยิ่ง
เป็นพระเจ้า      มาช่วยเรา      อย่าประวิง
จะเป็นมิ่ง      ขวัญแท้      แก่ทุกคนฯ


@ พระพุทธองค์      ทรงเคารพ      ซึ่งหน้าที่
ทำให้ดี      เหงื่อออกมา      มหาผล
ใช้บูชา      พระพุทธองค์      มิ่งมงคล
สาธุชน      มีศุขเหลือ      เพราะเหงื่อเอยฯ







ค่า มี ที่ ตรง ไหน.

ค่ากระดาษ      แผ่นหนึ่ง      ไม่ถึงสตางค์
พอวาดวาง      ด้วยอักษร      ประเสริฐศรี
มีเนื้อหา      แห่งพระธรรม      คำดี ๆ
มันกลับมี      ค่าอนันต์      เหลือพรรณนา

เพียงกระดาษ      ลายเซ็น      เป็นที่ระลึก
คนโง่ยึก      แย่งกัน      ซื้อสรรหา ;
ส่วนผู้ฉลาด      มาตร์ใหญ่      ใฝ่ธรรมา
แผ่นกระดาษ      สูงค่า      มาเพราะธรรม;

แม้กระดาษ      ห่อของ      ตรองดูเถิด
ค่ามันเกิด      เพราะอะไร;      ไยมิขำ ?
แม้กายเน่า      ที่คู่เคล้า      เฝ้าลูบคลำ
เมื่อมีธรรม      ก็หมดเน่า      ไม่เศร้าเลย ฯ






ระวัง  ส่วน  เกิน.

เกิดส่วนเกิน      เกี่ยวกับกิน      จนลิ้นหลง
ตบแต่งองค์      เกินไป      จนใจเหลิง
บำเรอกาม      เกินไปจน      ใจละเลิง
หลงบันเทิง      เมามาย      ไม่เหนื่อยตน ฯ

อย่าให้เกิน      มันจะดี      ที่เศรษฐกิจ
สุขภาพ      กายจิต      จักเพิ่มผล
ทั้งสติ      ปัญญา      พาพิมล
มัธยัสถ์มีเวลา      ฝึกฝน      บทพระธรรม
 
มีทรัพย์เหลือ      ไว้ให้ปัน      เป็นผลทาน
ทั้งต่อต้าน      ลัทธิ      ที่บ้าระห่ำ
ไม่ทำลาย      โลกทรัพย์      ยับระยำ
มีชั่วโมง      เย็นฉ่ำ       กว่าน้ำเย็น ฯ

ขอเชิญชวน      พวกเรา      เหล่าชาวพุทธ์
มีหลักยุด :    มัธยัสถ์       ถนัดเห็น -
ว่า "ส่วนเกิน      ให้เกิดทุกข์      ทุกประเด็น"
แล้วงดเว้น     ส่วนที่เกิน      เพลินพอดี! ฯ





เมา   ดี   หรือ   จ๊ะ ?

พอดื่มเหล้า      จนความเมา      เข้าสิงใจ
คนเปลี่ยนไป      มากมาย      จนคล้ายผี
มนุษย์กลาย      เป็นยักษ์      รักต่อตี
แม้สามี      ภรรยา      ชี้หน้ากัน

ไม่เท่าไหร      โรคร้าย      ได้ก่อหวอด
ทั้งตับปอด      เปลี่ยนไป      ไม่คงมั่น
เสียค่าเหล้า      ค่ายา      รักษามัน
ค่าทำขวัญ      ค่าปรับ      นับหลายเพลง

มึนแล้วเมา      อ้อแอ้      เหม็นแย่ไป
เห็นหน้าใคร      ปากเปราะ      เคาะโฉงเฉง
เกาะแกะแก่      แม้สะใภ้       ของนายเอง
ที่เกินเก่ง      พลาดถูก       ลูกสาวตัว

คนเหลือบเห็น      คนเมา      เขานึกแช่ง
ทุกหัวระแหง      ไม่ต้องดู      รู้ดีชั่ว
เป็นที่รวม      เรื่องบัดสี      ที่น่ากลัว
ท่วมหูหัว      ความกาลี      มีเพราะเมา ฯ







วัตถุนิยม.

"วัตถุนิยม"      มีนิยาม      ความหมายมาก :
(๑) มนุษย์บาก      บั่นวิเคราะห์      จำเพาะหา
อวกาศ      ปรมาณู      รู้ลึกมา
จนพัฒนา      วัตถุได้      คล้ายวิสสุกรรม

(๒) อีกทางหนึ่ง      เห็นทะลึ่ง      ไปหลงเห็น
วัตถุเป็น      บ่อเกิด      แห่งจิต, มิหนำ -
ว่าพัฒนา      แต่วัตถุ      เต็มกอบกำ
จิตจะด่ำ      ดื่มสุข      ทุกกรณี

(๓) ศาสตรอะไร      ล้วนอาศัย      หลักวัตถุ
เลยยิ่งมุ      ยึดมั่นมัน      ขันเต็มที่
(๔) กลายเป็นทาษ      เนื้อหนัง      คลั่งโลกีย์
เพราะเหตุที่      วัตถุกาม      ล่ามใจตน

จึงโลกเรา      เมาวัตถุ      อย่างดุเดือด
มโนธรรม      แห้งเหือด      น่าพองขน
มนุษย์ตาย      ลงเป็นเบือ      เหลือแต่คน
แมวสัปรดน      มันร้องหง่าว !      เย้าเล่นเอย ฯ






สติสัตว์ - สติมนุษย์

สติ "สัตว์"      ตามบัญญัติ      ว่า "สมปฤดี"
เพียงเท่านี้      มีกันได้      ไม่แปลกหนา
เพียงไม่เมา      ไม่สลบ      ไม่นิทรา
คนหรือปลา      ก็มีได้      ไม่แปลกกัน

สติ "มนุษย์"      สูงสุด      กว่านั้นนัก
มีปัญญา      อันประจักษ์      ประจวบมั่น
ระลึกอยู่      รู้สึกอยู่      และรู้ทัน
ไม่มีวัน      ที่จะเกิด      กิเลสมา :

ระลึกได้      ทันที      ที่มีอะไร -
มาปรุงให้      เกิดจิต      จริตบ้า
ว่า "ตัวกู";      หยุดอยู่;      รู้ธรรมดา ;
นี้เรียกว่า      สติของ      "มนุษย์แท้" ฯ






อินทรีย์เลิศ.
(อายตนะภายใน ๖)


ตา      ฉันชอบ      แต่รูป      ที่ไร้ภาพ
ท่านคงไม่      อาจทราบ      ว่ามันไฉน

หู      ฉันชอบ      เสียงเงียบ      เชียบสุดใจ
หูของท่าน      คงไม่      รู้จักฟัง

จมูก      ฉัน      ชอบกลิ่น      ที่ไร้กลิ่น
มิใช่เพราะ      จมูกวิ่น      อย่างสิ้นหวัง

ลิ้น      ของฉัน      ชอบรส      ที่ไม่รัง-
แต่จะรั้ง      น้ำลายออก      หลอกคนกิน

กาย      ฉันชอบ      สัมผัสเอก      อุเบกขา
เกินกว่านิ่ม      ธรรมดา      อย่าเพ่อฉิน

ใจ      ฉันชอบ      อารมณ์ว่าง      อย่างอกิญจน์
ดูให้สิ้น      กระแสเถิด      เลิศเหลือใจ ฯ


นี่ตาเลิศ      หูเลิศ      จมูกเลิศ
ลิ้นก็เลิศ      กายก็เลิศ      ประเสริฐใหญ่
ใจก็เลิศ      รวมกันเลิศ      ประเสริฐไกล
กว่าที่อะไร      จะอาจทำ      ให้ก่ำกาม ฯ







อารมณ์เลิศ.
(อายตนะภายนอก หก.)


รูป      งามเลิศ      คือรูป      ที่ไร้ภาพ
ท่านคงไม่      เคยทราบ      ว่าเป็นไฉน
เสียง      สุดเพราะ      คือเสียงเงียบ      เชียบสุดใจ
เสียงใด ๆ      ไม่ไพเราะ      กว่าเสียงนั้น,

กลิ่น      เอกอุตม์      สูงสุด      กว่ากลิ่นใด
คือกลิ่นไม่      ส่งกลิ่น      สักนิดนั่น
รส      อร่อย      กว่าทุกรส      คือรสอัน-
ไม่ผูกพัน      ลิ้นให้      หลงใหลรส

สัมผัส      ใด      ไม่นวลนิ่ม      เสน่หา
เท่าสัมผัส      อุเบกขา      อันหมดจด
ธรรมารมณ์      ใดใด      ไม่งามงด
เหมือนที่หมด      กิเลสกวน      รวนเร้าใจ.

นี่รูปเลิศ      เสียงเลิศ      กลิ่นก็เลิศ
รสก็เลิศ      สัมผัสเลิศ      ประเสริฐใหญ่
ธรรมารมณ์      รวมกันเลิศ      ประเสริฐวิไล
ไม่ทำใคร      ให้ก่ำกาม      งดงามจริง ฯ







ชีวิต  สมบูรณ์แบบ.

ผลุงขึ้นมา      จากนรก      ให้ฉับพลัน
แล้ว  นั่งพัก      บนสวรรค์      กันสักครู่
ต่อแต่นั้น      เนานิพพาน      นานโขอยู่
ชีวิตผู้      ประเสริฐศรี      อย่างนี้แล,

นี้หมายความ      ว่าอย่างไร      ให้ตรองดู
จนรอบรู้      กันทุกกลุ่ม      ทั้งหนุ่มแก่
เป็นแบบฉบับ      สำหรับใช้      ได้แท้ ๆ
มันดีแน่      กว่าแบบใด      ในไกวัลย์,

คิดดูเถิด      เพื่อนสัตว์      ทั้งหลายเอ๋ย
พวกเราเคย      โมหา      มามหันต์ :
ไม่รู้ว่า      เกิดมา      ทำไมกัน
บัดนี้ดื่ม      ธรรมรสอัน      ชั้นเลิศเอย ฯ







ชีวิตแท้.

ชีวิตแท้      งามงด      และสดชื่น
ไม่มีฝืน      ไม่มีหวั่น      ไม่สั่นเสียว
ไม่มีสิ่ง      หลงรัก      สักสิ่งเดียว
ไม่มีจิต      เกาะเกี่ยว ;      ทั้งบาปบุญ

ทรัพย์ในเรือน      เป็นเหมือน      ของเกลื่อนกลาด
ที่เป็นบาป      เก็บกวาด      ทิ้งใต้ถุน
ที่เป็นบุญ      มีไว้      เพียงเจือจุน
ให้เป็นคุณ      สะดวกดาย      คล้ายรถเรือ...

ไม่ยึดมั่น      สิ่งใด      เอาใจแบก
กลัวตายแตก      ใจประหวั่น      จนฟั่นเฝือ
เบาทั้งกาย      เบาทั้งใจ      ไม่มีเบือ
ชีวิตเหลือ      แต่ความเย็น      เป็นนิพพาน ฯ


สพฺพทานํ  ธมฺมานํ  ชินาติ
การให้ธรรมะ  ชนะการให้ทั้งปวง
The Gift of Truth Excels all other Gifts.

ธรรมบท ขุททกนิกาย เล่ม ๒๕ ข้อ ๓๔ หน้า ๖๓



มุ่งธรรมรส - งดกวี

คำประพันธ์      บทพระธรรม      ไม่จำเพาะ
ว่าจะต้อง      ไพเราะ      เพราะอักษร
หรือสมัผัส      ช้อยชด      แห่งบทกลอน
ที่อรชร      เชิงกวี      ตามนิยม ฯ

ขอแต่เพียง      ให้อรรถ      แห่งธรรมะ
ได้แจ่มจะ      ถนัดเห็น      เป็นปฐม
แล้วได้รส      แห่งพระธรรม      ด่ำอารมณ์
ที่อาจบ่ม      เบิกใจ      ให้เจริญ ฯ

ให้นิสัย      เปลี่ยนใหม่      จากก่อนเก่า
ไม่ซึมเศร้า,      สุขสง่า      น่าสรรเสริญ
เป็นจิตกล้า      สามารถ      ไม่ขาดเกิน ;
ขอชวนเชิญ      ชมธรรมรส,      งดกวี ฯ
(ขอชวนเชิญ      ชมรสธรรม,      ข้ามกวี)


 
info@huexonline.com