MENU
TH EN

พระเดชพระคุณเจ้า ติช นัห์ท ฮันห์ แห่งหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส

First revision: Jul.01, 2012
Last revision: Jan.19, 2014

ข้าพเจ้าได้เคยอ่านงานของท่าน ในหนังสือชื่อ "ปาฎิหารย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ" ของสำนักพิมพ์โกมล คีมทอง สมัยเรียนปริญญาตรีที่ท่าพระจันทร์ ร่วม 20 กว่าปีมาแล้ว รู้สึกว่าตัวเองยังไม่ลึกซึ้่งและดื่มด่ำกับเนื้อหาเท่าที่ควร วันเวลาก็ผ่านไป...

เมื่อวันวิสาขบูชา เดือนปลายพฤษภาคม 2550 ได้มีโอกาสไปนั่งฟังท่านแสดงธรรม (ท่านได้ไปมาเกือบทั่วโลกแล้ว และนี่ก็เป็นโอกาสสำคัญที่ท่านได้เดินทางมาประเทศไทย) ณ หอประชุมพุทธมณฑล จ.นครปฐม

ขณะที่ท่านเดินอย่างช้า ๆ อย่างสงบ ตามติดด้วยศิยานุศิษย์ เข้ามาบนเวที ทุกคนในหอประชุมเงียบกันหมด ข้าพเจ้าน้ำตาไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว

พร้อมกันนั้น ข้าพเจ้าก็ตั้งใจพร้อมที่จะรับคำสั่งสอนจากพระเดชพระคุณเจ้าด้วยในทันที โดยไม่มีอาการทะนง อหังการ มมังการ โอหังแต่ประการใด

บทความข้อเขียนที่ได้รวบรวมมาซึ่งจะแสดงต่อไปนี้นั้น แม้อาจเป็นเพียงเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของหลักธรรมทั้งหมดที่ข้าพเจ้าพอจะรวบรวมมาได้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจได้บ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งเป็นการปันองค์ความรู้ ความศรัทธา ปรัชญาและพุทธศาสนา นิกายมหายาน  ดังจะแสดงต่อไปดังนี้ (โปรดกด More..)

หากท่านผู้ใดต้องการเสนอแนะ เพิ่ม เสริม ปรับปรุง ตัดทอน เพื่อความเหมาะสมและความสมบูรณ์ของข้อมูล เชิญส่งข้อความมาได้ที่ info@huexonline.com หรือ www.facebook.com/human.excellence ขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้

อภิรักษ์ กาญจนคงคา




 
First revision: Jul.01, 2012
Last revision: Jan.19, 2014

เมื่อ ๓๙ ปีที่แล้ว
ฉันออกจากเวียดนามมายังประเทศโลกตะวันตก
เพื่อยุติการรบในประเทศของฉัน
ฉันเปรียบเสมือนเซลล์เล็ก ๆ ในร่างกายแห่งสังฆะที่ถูกแยกออกมา
          หากมีเหตุใดที่ทำให้พลังในตัวฉันไม่หมดลง
          นั่นคงเป็นด้วยการปฏิบัติภาวนาภายในของฉัน
          แม่ของฉัน อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เคยบอกกับฉันว่า
          เวลาที่ลูกคิดถึงแม่ ให้ยกฝ่ามือดู แม่อยู่ในนั้น
ช่วงเวลา ๓๙ ปีที่ผ่านมา เวลาคิดถึงแม่ ฉันยกฝ่ามือขึ้นดู
แม่ไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย
แต่แม่มีปัญญาสอนลูกว่า แม่อยู่ในมือของลูก
เวลาเราอพยพไปอเมริกา ไปฝรั่งเศส
แม่ของฉัน บรรพบุรุษของฉันก็อยู่กับฉันตลอดเวลา.


บทกัลยาณธรรมเพื่อการฝึกฝนตน
 
 
 
  • เธออย่าพึงติดยึดอยู่ด้วยลัทธิ ทฤษฎีหรืออุดมการณ์ใด แม้แต่พระพุทธศาสนา ให้ถือว่าพระพุทธศาสนาเป็นเพียง เครื่องนำทางเท่านั้น หาใช่สัจจะอันสูงสุดไม่.
  • เธออย่าพึงยึดมั่นในความรู้ที่มีอยู่ว่าเป็นสัจจะสูงสุดอันไม่เปลี่ยนแปลง ขออย่าได้มีจิตใจอันคับแคบ และยึดมั่นอยู่กับความคิดที่มีอยู่ จงฝึกฝนตนให้เป็นคนไม่ยึดมั่นถือมั่น ในความคิดเห็นที่มีอยู่ จงฝึกฝนตนให้เป็นคนที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในความคิดเห็น เพื่อที่จะเป็นผู้ที่มีจิตใจอันกว้างขวางและยอมรับทัศนะของผู้อื่น สัจจะที่แท้จริงจะพบได้จากชีวิตเท่านั้น ไม่ใช่จากความนึกคิดคาดเอา จงพร้อมที่จะเรียนรู้ไปจนตลอดชีวิตและต้องสำรวจความเป็นจริงภายในตนและโลกอยู่ตลอดเวลา.
  • ขอเธอจงอย่าบังคับขู่เข็ญผู้อื่น แม้แต่เด็กเล็ก ๆ โดยวิธีการใด ๆ ไม่ว่าจะด้วยอำนาจ การบีบบังคับ เงินตรา การโฆษณาชวนเชื่อ หรือด้วยการศึกษา แต่ควรใช้การสนทนา อันประกอบด้วยความเมตตาเพื่อช่วยให้ผู้อื่นลดทอนทิฏฐิ ความหลงและความใจแคบ.
  • เธอไม่ควรหลบหนีจากการสัมพันธ์กับความทุกข์ หรือทำเป็นเมินเฉย อย่าได้หลงลืมความทุกข์ของสรรพชีวิตในโลก หาทางออกไปสู่ผู้ทุกข์ยากเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นโดยการพบปะเยี่ยมเยียนเป็นส่วนตัว การติดต่อทางภาพที่แลเห็นหรือเสียงที่ได้ยิน เธอควรปลุกสำนึกของตนเองและผู้อื่นให้ตื่นขึ้น เพื่อรับรู้ต่อความทุกข์ของผู้คนในโลก
  • เธอจงอย่าเก็บความโกรธ และความเกลียดไว้ในใจ ในทันทีที่ความโกรธและความเกลียดผุดขึ้นมา จงนั่งสมาธิกำหนดเอาเมตตาเป็นอารมณ์ เพื่อที่จะได้แผ่ความรักให้แก่ผู้ซึ่งเรานึกโกรธและเกลียด จงฝึกฝนที่จะมองดูผู้อื่นด้วยสายตาแห่งความเมตตากรุณา.
  • ขอเธออย่าได้ติดจมอยู่กับความฟุ้งซ่านและสิ่งแวดล้อม จงศึกษาการหายใจ เพื่อที่จะกลับไปควบคุมกายและจิตอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งเพื่อเจริญสติพัฒนาสมาธิและเพิ่มพูนปรีชาญาณ.
  • ขอเธออย่ากล่าวคำที่จะก่อให้เกิดความบาดหมาง และเป็นเหตุให้หมู่คณะแตกแยกกัน จงพยายามทุกวิถีทางที่จะให้เกิดความปรองดอง และแก้ไขความขัดแย้ง แม้จะเป็นเพียงความขัดแย้งที่เล็กน้อยเพียงใดก็ตาม.
  • เธอจงอย่ากล่าววาจาอสัตย์ เพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อให้คนเลื่อมใส อย่ากล่าวคำพูดที่ก่อให้เกิดการแบ่งแยกและเกลียดชัง อย่ากระจายข่าวที่เธอยังไม่รู้แน่ชัด จงพูดแต่ความจริง และสิ่งที่สร้างสรรค์ จงกล้าพูดถึงเรื่องของความอยุติธรรม แม้ว่าการพูดนั้นจะทำให้เธอต้องตกอยู่ในอันตรายก็ตาม.
  • ขอเธออย่าได้ประกอบอาชีวะ อันก่อให้เกิดภัยต่อมนุษย์และธรรมชาติ อย่าเข้าร่วมงานในสำนักงานที่กำจัดโอกาสในการหาเลี้ยงชีวิตของผู้อื่น จงเลือกอาชีวะที่ช่วยให้เธอสามารถแผ่ขยายเมตตาธรรม ออกสู่หมู่ชน.

 

ประวัติพระเดชพระคุณเจ้า ติช นัท ฮันห์

    ติช นัท ฮันห์ เป็นฉายาในทางศาสนา โดยคำว่า "ติช"  เป็นคำใช้เรียกพระ ส่วน "นัท ฮันห์" เป็นนามทางธรรมที่มีความหมายว่า "การกระทำเพียงหนึ่ง (One Action)"

    ท่านถือกำเนิดในภาคกลางของประเทศเวียดนาม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๙ บวชเป็นพระในนิกายเซ็น เมื่อย่างเข้าวัยรุ่น เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนเพื่อบริการสังคม มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแวนฮันห์ (VanHan Buddhist University) คณะเทียบหิน (คณะดำรงอยู่ระหว่างกันและกัน Order of interbeing) ท่านได้สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และมหาวิทยาลัยซอร์บอน เป็นประธานของคณะกรรมการชาวพุทธเวียดนามเพื่อสันติภาพให้กับการเจรจาสันติภาพกรุงปารีส (Vietnamese Buddhist Peace Delegation to Paris)

    ท่านลี้ภัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๙ ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ จูเนียร์ ได้เสนอชื่อของท่านเพื่อเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยกล่าวว่า "ข้าพเจ้าไม่รู้จักใครเป็นการส่วนตัวอีก ที่จะมีคุณค่าพอสำหรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ นอกเหนือจากพระผู้อ่อนโยนจากเวียดนามรูปนี้"

    ปัจจุบันท่านมีสิริอายุรวม ๘๖ ปี พำนักอยู่ในชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในประเทศฝรั่งเศส (ดูรายละเอียดได้ใน www.plumvillage.org และ www.thaiplumvillage.org) ซึ่งท่านได้ใช้เป็นที่อบรม เขียนหนังสือ และบทกวี ทำสวนและทำงานต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้อพยพทั่วโลก หลายปีต่อเนื่องที่ผ่านมานี้ ท่านได้จัดอบรมภาวนาเกี่ยวกับการเจริญสติทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือ รวมทั้งจัดอบรมภาวนาให้แก่ทหารผ่านศึก แพทย์ ศิลปิน นักจิตบำบัด นักสิ่งแวดล้อม และเด็ก ๆ ด้วย



หมายเหตุ

ที่มา. จาก Thich Nhat Hanh, หนังสือเริ่มต้นใหม่ (Begining a New) เรียบเรียงโดย หมอนไม้: เรื่องและภาพ.
ที่มา. จาก Thich Nhat Hanh เอกสาร-กระดาษแจกในวันวิสาขบูชา ณ หอประชุมพุทธมณฑล จ.นครปฐม, ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐
ปรับปรุง เรียบเรียงจาก th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕ และ ติช นัท ฮันห์ เขียน พระประชา ปสนฺนธมฺโม แปล,
(๒๕๔๙). ปาฏิหารย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ, (หน้า ๑๖๑-๑๖๒). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมล คีมทอง.



 
info@huexonline.com