MENU
TH EN

ภาพข้างต้น นำมาจาก www.usrsulasweeklywanders.com เมื่อ 6 กันยายน 2559 เพื่อนำมาประกอบเรื่องเท่านั้น


เรื่องราวของ "เจ๊กุ่ย", "ป้าณีย์" และ "น้าองุ่น"  เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมา โดยประสมประสาน ประสบการณ์ ตัวละคร ผู้ที่ข้าพเจ้าได้พบปะ โคจรมาเจอกันในฐานะ บทบาทที่แตกต่างกัน ช่วงเวลาที่สั้นบ้างยาวบ้าง มีทั้งความประทับใจ ขมขื่น ชื่นชม ปิติ หัวเราะ ฯ แต่ข้าพเจ้าก็ถือว่าเป็นคุณค่าที่ได้รับ เข้าใจโลก ชีวิต และความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น และถือว่า ทุก ๆ อย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตมีประโยชน์มีเหตุผลของมัน และ (ข้าพเจ้าได้ฟังมาจากที่ไหนไม่ทราบ นานแล้วแต่ยังจำได้เสมอมาว่า สิ่งที่เราได้ตัดสินใจเลือกไว้แล้วนั้น ถูกต้องเสมอ..!!)

หากบางบทบางตอน หรือบางชื่อของตัวละครไปซ้ำหรือพ้องชื่อกับใครบางท่าน หรืออาจจะมีเนื้อหาไปกระทบกับใครบางคน ก็ต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ และขอให้ท่านอโหสิ รวมทั้งถือว่าเป็นการปันประสบการณ์แก่ผู้อ่านทั่วไปด้วยนะครับ...

หวังว่าผู้อ่านคงได้รับประโยชน์ในเชิงสังคมวิทยา (Sociology) และคงสอดคล้องกับพุทธศาสนสุภาษิต ที่ว่า "สัตว์ทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่มีกรรมเป็นทายาท และมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์" บ้างไม่มากก็น้อย

อภิรักษ์ กาญจนคงคา
3 ตุลาคม 2552 (ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 24 ส.ค.56)


ประวัติชีวิตของป้าณีย์ สบพระ

 

บทที่ 1 เหตุการณ์สำคัญก่อนเกิด

 

            เหตุการณ์สำคัญก่อนหน้าที่ป้าณีย์จะเกิดนั้น มีดังนี้

·     การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เท่าที่ป้าณีย์ทราบจากการบอกเล่าของมารดาก็คือ เมื่อตอนบ่าย ๆ ของวันหนึ่งหลังจากวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ได้ไม่กี่วัน ทางอำเภอได้ประกาศข่าวทางไมโครโฟนกระจายเสียง ณ ที่หน้าว่าการอำเภอคลองท่อม ว่าขณะนี้ประเทศสยามได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว ให้ข้าราชการและราษฎรทุกคนทำงานและประกอบอาชีพตามปรกติ มีเสียงร่ำลือว่าในหลวง (รัชกาลที่ 7) ขณะนี้ยังอยู่ทรงประทับอยู่ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ขณะเดียวกันอภิมหาเสนาบดีในพระนครได้ถูกจำกัดบริเวณไว้ และมีใบปลิวโจมตีเจ้าและเชื้อพระวงศ์ต่าง ๆ ซึ่งบิดาและมารดาของป้าณีย์รู้สึกตื่นตระหนก ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อเหตุการณ์ได้ผ่านไป ก็มีการจับกลุ่มคุยกันบ้างตามร้านกาแฟในหมู่บ้าน (ที่มักจะทานโกปี๊กับเหย้าจาโก๊ยหรือข้าวเหนียวปิ้งกัน) (หมายเหตุ โกปี๊ ก็คือกาแฟดำร้อนซึ่งผันมาจากค๊อฟฟี่ -Coffee นั่นเอง ส่วน เหย้าจาโก๊ย ก็คือปาท่องโก๋ ที่คนไทยภาคกลางทั่ว ๆ ไปเรียกกัน ซึ่งเรียกกันผิด ปาท่องโก๋นั้นแท้จริงแล้วเป็นแป้งทอดที่บิดเป็นเกลียวแล้วเคลือบน้ำตาล แต่ก็เรียกมาผิด ๆ จนถึงปัจจุบัน) แต่พอผ่านมาได้หลายวันเข้า ก็ไม่มีใครสนใจอะไรมากนัก เพราะถือเป็นเรื่องไกลตัว  

·     สภาพเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก อันต่อเนื่องมาจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 1 มีหลายประเทศที่แพ้สงคราม ต้องเสียค่าปฏิกรณ์สงครามเป็นจำนวนเงินที่มหาศาล และหลายประเทศต้องใช้งบประมาณของรัฐมาซ่อมแซมทำนุบำรุงประเทศเป็นจำนวนเงินไม่น้อย ผลผลิตทางอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมก็ตกต่ำ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่บาดเจ็บล้มตายจากสงคราม ไร่นาและพื้นที่ทางการเกษตรก็เสียหาย โดยเฉพาะในยุโรป เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตก็พังชำรุดจนใช้การไม่ได้จำนวนมาก ซึ่งเป็นปัญหาและสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่มีข้าราชการบางกลุ่มเกิดความไม่พอใจพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) โดยที่พระองค์ได้ทรงลดเงินเดือนเบี้ยหวัดข้าราชการลง ตัดทอนรายจ่ายงบประมาณต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นลง เนื่องจากท้องพระคลังมีรายรับน้อย หากยังจ่ายตามงบประมาณเช่นเดิม ก็จะมีเงินไม่เพียงพอที่จะจ่ายได้ เกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง สินค้าบางรายการที่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลน เกิดการกักตุนสินค้า มีการเซ็งลี้ และฮั้วราคาสินค้ากัน บิดาและมารดาของป้าณีย์ต้องหุงข้าวปนเผือก มันและแกวให้ทาน แต่ป้าณีย์เป็นเด็กไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร รู้แต่ว่าอร่อยดี และคุณพ่อของป้าณีย์ก็เคยเล่าให้ฟังว่า ช่วงนั้นกาแฟต้องนำเข้า หายากและราคาแพงมาก เมื่อไปทานกาแฟในร้านโกปี๊ในเมือง ก็ได้แต่กินน้ำที่กรองจากเม็ดมะขามคั่ว แต่ก็ได้กลิ่นกาแฟจากการเผาคั่วผงกาแฟเล็กน้อยให้กลิ่นโชยหอมหวนทั่วทั้งร้าน ทั้ง ๆ ที่รู้ก็ยังหาโอกาสไปแวะทานกาแฟเช่นนี้อยู่บ่อย ๆ

·     ในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้เสด็จนิวัติประเทศอังกฤษพร้อมสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เพื่อรักษาพระเนตร และมีเชื้อพระวงศ์บางท่านได้เสด็จออกไปต่างประเทศ เช่น เสด็จในกรม กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ต้นตระกูลบริพัตร) ได้เสด็จไปเมืองปาเล็มบัง ประเทศชวา หรืออินโดนีเซียในสมัยปัจจุบัน

·     การเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2483  ซึ่งมีสาเหตุมาจากอะไรนั้น มีนักวิชาการวิเคราะห์และวิพากษ์กันหลายแนวทาง บ้างก็ว่า จอมพล ป.พิบูลสงครามได้ใช้นโยบายรัฐนิยม ต้องการรวมคนไทยให้เป็นหนึ่งเดียว เป็นรัฐเป็นชาติ ตามความหมายของคำว่า Nationมากกว่าที่เป็นชาติ ในความหมายที่เป็น Raceหรือสกุลรุนชาติ บ้างก็มีความเห็นว่าในยุคนั้นเป็นช่วงการล่าอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส ผู้นำประเทศต้องสร้างความเข้มแข็งตั้งชื่อประเทศให้เป็นสากลตามตะวันตกก็มี

 

บทที่ 2 วัยเด็กก่อนวัยเรียน

 

ป้าณีย์ เดิมชื่อ ผัน นามสกุลเดิมคือ เชียนหนู เกิดที่อำเภอคลองท่อม   จังหวัดกระบี่ เมื่อวันพุธที่ 8 เดือนสามหรือเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2476 ตรงกับปีวอก ต่อไปนี้จะเรียนท่านว่า ป้าณีย์

อำเภอคลองท่อมในสมัยนั้นมีสภาพเป็นป่ารกทึบ มีสิงสาราสัตว์สารพัด และกล่าวได้ว่าในช่วงสงครามเย็น อำเภอคลองท่อมนี้ เป็นแหล่งซ่องสุมของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อีกด้วย และที่กระบี่นี้เองก็ได้พบช้างเผือกที่ต้องคชลักษณะ คล้องได้ในป่าเมื่อปี พ.ศ.2499 และได้นำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับการถวายพระนามว่า พระเศวตอดุลยเดชพาหนปัจจุบันประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ปัจจุบันป้าณีย์มีอายุได้ 76 ปีเป็นบุตรีคนที่ห้าของบรรดาพี่น้องทั้งหมดเจ็ดคน ซึ่งบิดามารดามีอาชีพรับจ้างทั่วไป และทำสวนยาง ซึ่งได้อพยพโยกย้ายมาจากอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ชีวิตในช่วงนั้นป้าณีย์จำความได้ไม่มากนัก แต่ทราบว่ามีความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก บิดามารดาทะเลาะกันบ่อย และต้องติดตามมารดาและบรรดาพี่น้องไปเก็บลูกยางที่ตกใต้อยู่สวนยาง และรับจ้างทั่วไปในอำเภอคลองท่อมและอำเภอใกล้เคียง บางครั้งก็ต้องนอนศาลาวัดกับครอบครัว ปลูกเพิงพักนอนกันบ้าง นึก  ๆ ดู แล้วไม่รู้ว่ารอดมาได้อย่างไร

ป้าณีย์มาทราบภายหลัง เมื่อครั้งที่อายุได้ 17-18 ปี ถึงสาเหตุที่ทำไมบิดามารดาต้องอพยพมาจากจังหวัดพัทลุงมาอยู่ที่อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ก็เพราะเดิมบิดาชอบเล่นวัวชน คราวหนึ่งเล่นวัวชนชนะ และได้ทวงเงินพนันที่ชนะจากเจ้ามือ มีการทะเลาะพิพาทกล่าวหากันว่าโกง เรื่องรุนแรงถึงขั้นทำร้ายกันหวังเอาชีวิต บิดาจึงพาครอบครัวหนีหัวซุกหัวซุนมาอยู่ที่อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่นี้แทน

การที่บิดาชอบเล่นการพนันนี้ ก็อาจจะกล่าวได้ว่ามีสาเหตุมาจากบิดามีบุตรมาก หาเลี้ยงครอบครัวไม่พอกิน จึงประชดความยากจนด้วยการเล่นการพนัน การดื่มสุรา หรือทำตัวให้ลืมความทุกข์ที่เผชิญอยู่ในชีวิตจริง

เมื่อโตขึ้นป้าณีย์ได้ซักไซ้อย่างละเอียดกับบิดาว่า เรื่องราวเป็นอย่างไร ใครโกงใครกัน เจ้ามือโกง หรือว่า ผู้แทงวัวรวมหัวกันโกง บิดาก็ไม่ตอบ แต่เมื่อพิจารณาสังเกตพฤติกรรมของบิดาก็พอจะทราบคำตอบไปในตัว เพราะบิดามักจะติดสุรา ทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนที่ร่ำสุราด้วยกันบ่อย ๆ บรรดาเพื่อนเหล่านั้นก็กล่าวหาด่าทอบิดาด้วยภาษาที่หยาบคายผรุสวาทอยู่เนือง ๆ ว่า บิดาของนางผันนั้น โกงพวกตนในการเล่นไพ่  นั่นก็พอจะทราบแล้วว่า ใครกันแน่ที่โกง และใครกันแน่ที่ถูกโกง   

ตอนเด็ก ๆ บิดาและมารดาเคร่งครัดกับป้าณีย์มาก โดยเฉพาะมารดา เนื่องจากต้องทำงานหนัก ไม่ค่อยมีเวลาเลี้ยงดูลูก ต้องให้ลูกดูแลตัวเองช่วยเหลืองานบ้าน ทำให้การรักระเบียบวินัยติดตัวป้าณีย์มาตลอดจนปัจจุบัน แต่ก็แปร่งผิดเพี้ยนเหลวไหลไปบ้างตอนช่วงที่ป้าณีย์เป็นสาวรุ่น มาเรียนการเรือนที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะกล่าวต่อไปในเบื้องหน้า

            พี่สาวคนที่สองกับน้องชายซึ่งเป็นบุตรคนที่สี่นั้น บิดาและมารดาได้ยกให้เศรษฐีที่ดินแห่งหนึ่งที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชไปเป็นบุตรบุญธรรม และทั้งคู่ก็ไม่ได้ทราบข่าวคราวจากบุตรทั้งสองอีกเลย เหตุที่ยกให้ไปก็เพราะเลี้ยงดูไม่ไหว มีอยู่หลายครั้งหลังจากที่ป้าณีย์แต่งงานมีครอบครัวไปแล้ว ป้าณีย์เคยได้คุยกับมารดาถึงเรื่องนี้ มารดาน้ำตาซึมทุกครั้งด้วยความคิดถึงบุตรหญิงชายทั้งสอง รู้สึกเป็นบาดแผลลึกอยู่ในใจ เป็นแผลเป็นไม่หายขาด เป็นความผิด เป็นตราบาป เพราะในขณะนั้นทั้งบิดาและมารดาไม่มีทางเลือกจริง ๆ ด้วยมีบุตรมากถึงเจ็ดคน สภาพความเป็นอยู่ก็แร้นแค้นหมดที่พึ่ง จึงต้องตัดสินใจยกลูกสองคนให้เศรษฐีดังกล่าวไป

หลังจากนั้นแล้ว ป้าณีย์ก็ไม่เคยยกเรื่องนี้ขึ้นมาคุยกับมารดาอีกเลย เพราะมารดาพยายามลืมเสีย และเมื่อเห็นมารดาใส่บาตร มารดาก็จะสวดมนต์ขอพรจากพระภิกษุที่มาบิณฑบาตอยู่นานพอควร เหมือนกำลังจะขอกล่าวไถ่บาปความผิดที่ได้มอบบุตรทั้งสองให้เศรษฐีที่ปากพนังไปนั่นเอง

ป้าณีย์กับพี่ ๆ น้อง ๆ ที่เหลือก็ติดตามข่าวคราวพี่น้องทั้งสองเหมือนกัน แต่ไม่ทราบว่าจะติดต่ออย่างไร แต่ทราบจากชาวบ้านแถว ๆ ปากพนังว่าครอบครัวของเศรษฐีนั้นได้ย้ายไปที่อื่นแล้ว และที่ดินที่ปากพนังก็ขายเปลี่ยนมือไป กลายเป็นที่ดินไว้ปลูกต้นสนเพื่อนำไม้ไปขายเท่านั้น

 

บทที่ 3 วัยเรียน

 

            ตอนเยาว์วัย ป้าณีย์วิ่งเล่นกับพี่ ๆ น้อง ๆ ที่ชานบ้านและชายป่าที่คลองท่อมได้หลายปี พอถึงวัยที่จะต้องเข้าเรียน ก็มาเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนคลองท่อมใต้ (ปัจจุบันเรียกโรงเรียนคลองท่อมราษฎร์รังสรรค์) แถว ๆ บ้าน ป้าณีย์จำได้ว่าตนเองไม่มีรองเท้าใส่ ต้องเดินหรือวิ่งเท้าเปล่าไปเรียนหนังสือทุกวัน ป้าณีย์และพี่ชายคนที่สาม ลุงเผินมีหน้าที่อย่างหนึ่งคือ หลังจากโรงเรียนเลิกแล้วจะต้องเอาสุ่มจับปลา ปู หอยและสัตว์อื่น ๆ บางทีรวมทั้งกบ ในท้องนา หรือคูน้ำระหว่างทางกลับบ้านให้ได้จำนวนประมาณ 1 กะละมังเล็ก ๆ ซึ่งป้าณีย์และลุงเผินสามารถหาได้ไม่ยาก เพราะในสมัยนั้น มีอยู่มากดาษดื่น ท้องที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก เมื่อจับได้ก็นำมาล้างให้สะอาด และหุงข้าวเตรียมไว้ รอบิดามารดากลับมา ปรุงอาหารตามประเภทของสัตว์ที่ป้าณีย์และลุงเผินจับมาได้ ว่าจะทอด ผัด แกง ย่างหรือนึ่งดี และสมาชิกครอบครัวทุกคนก็จะล้อมวงทานข้าวเย็นด้วยกัน ซึ่งก็มีความสุขไปตามประสา คนหาเช้ากินค่ำในสมัยนั้น บางครั้งบิดาก็ไม่ได้มาร่วมทาน เพราะมักจะไปร่ำสุรากับเพื่อน ๆ ที่หน้าปากทางเข้าสวนยางแทน

            มีวันหนึ่ง ป้าณีย์เห็นบิดากับมารดาคุยกันเงียบ ๆ ที่หลังบ้าน ดูท่าทางจริงจังทั้งคู่ ผมเผ้าของบิดากระเซิง หน้าตาเหมือนจะอดนอน สะลึมสะลือ คุยกันเงียบ ๆ ได้พักหนึ่ง มารดาก็ร่ำไห้ หลังจากการวันนั้นเป็นต้นมา จากการบอกเล่าของมารดาป้าณีย์อีกที บิดาก็ตั้งสติขึ้นได้ เลิกดื่มสุราและเลิกเล่นการพนัน หันมาทำมาหากิน และรับจ้างตัดยางและรับจ้างทั่วไปมากขึ้น มารดาได้เปิดแผงขายของชำ ของใช้จำเป็น ๆ ในย่านนั้น

ภายในปีสองปีต่อมา แผงขายของชำก็เป็นร้านโชห่วยหรือร้านขายของชำมีข้าวของเพิ่มมากขึ้น บิดาเลิกรับจ้างทั่วไปแล้ว หันมาเปิดร้านตัดผมเล็ก ๆ ทำได้สองสามปีก็เห็นว่าเหนื่อยไม่ค่อยมีเงินเหลือเก็บ จึงมุ่งขยายร้านโชห่วย ขายข้าวสาร อาหารแห้งต่าง ๆ เพิ่มเติม ฐานะทางบ้านของป้าณีย์ก็เริ่มดีขึ้น พอมีพอใช้ เงินทองมีให้ใช้สะดวกขึ้น แต่ก็ไม่ถึงกับร่ำรวยอะไร กิจการร้านโชห่วยดีขึ้นเรื่อย ๆ  เพราะเป็นร้านเดียวในละแวกนั้น คนที่จะมาซื้อของก็เป็นชาวสวนยางและชาวประมง

บิดากับมารดาก็บ่น ๆ อยู่ว่าอยากจะมีที่สักแปลง แต่จนแล้วจนรอด บิดากับมารดาของป้าณีย์ก็ยังไม่เคยมีที่ดินเป็นของตนเองเลยจวบจนสิ้นชีวิต ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป

หลังจากป้าณีย์จบชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนคลองท่อมใต้แล้ว ก็มาเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาในเมืองจังหวัดกระบี่ โดยมาพักกับพี่ชายคนโต ที่มีครอบครัวแยกมาอยู่ต่างหากในตัวเมืองกระบี่ ป้าณีย์ชอบทำอาหาร เย็บปักถักร้อย และก็ชอบเที่ยวในเมืองโดยขี่จักรยานไปรอบ ๆ กับเพื่อนในวัยเดียวกัน ป้าณีย์ได้ทราบข้อมูลจากเพื่อน ๆ ในตัวจังหวัดและข่าวสารต่าง ๆ ทางละคอนวิทยุ หนังสือพิมพ์ ถึงความสนุกสนาน ความทันสมัยในกรุงเทพฯ จึงตัดสินใจมาสอบและก็ขึ้นมาเรียนที่กรุงเทพฯ ที่โรงเรียนการเรือน หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตในปัจจุบัน โดยป้าณีย์พักอยู่กับเพื่อนอีกสองคนที่หอพักหลังวัดตรีทศเทพ บางลำพู ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนการเรือนนัก ซึ่งขึ้นรถเมล์ใช้เวลาเพียง 15 นาทีก็ถึงแล้ว

ป้าณีย์เล่าต่อไปว่า บางทีอยู่ที่หอพัก ก็ได้กลิ่นเหม็นควันจากการเผาศพจากเมรุที่วัดตรีทศเทพโชยมา ขนาดปิดหน้าต่างก็แล้ว ปิดประตูก็แล้ว ยังคงได้กลิ่นเหม็นอยู่อีก ไม่รู้จะทำอย่างไร บางครั้งก้ต้องหลบออกมาหน้าหอพัก หรือมาเดินเล่นแถว ๆ ตลาดบางลำพู แถวถนนดินสอ หน้าวัดบวรนิเวศน์บ้างก็มี แต่ก็นึกแปลกใจว่าทำไมไม่คิดย้ายไปที่อื่น ทั้ง ๆ ที่มีหอพักอื่นใกล้ ๆ ราคาค่าเช่าก็ไม่แพงอยู่หลายแห่งในละแวกนั้น

ป้าณีย์เรียนการเรียนอยู่ได้ 2 ปี ทำอาหารการกินเป็นหลายอย่าง โดยเฉพาะอาหารฝรั่ง พวกขนมเค้ก ขนมปัง เบเกอรี่ พาย แยม เอแคลร์ ชี๊สเค้ก สลัดและน้ำสลัด เป็นต้น

ว่าง ๆ ก็มักจะมาดูหนังดูละคอนกับเพื่อน ๆ แถว ๆ เฉลิมกรุง พาหุรัด เฉลิมเขตร์ แต่ก็นึกละอายใจที่ช่วงนั้น ตนเองใช้เงินทองอย่างสะดวกสบายออกจะสุรุ่ยสุร่าย ทางบ้านก็ส่งเงินมาใช้ไม่ได้ขาด หากประหยัดเงินไม่รบกวนทางบ้านมากนัก บางทีทางบ้านอาจจะมีเงินเหลือเพียงพอที่จะซื้อที่ดิน สำหรับทำประโยชน์อื่นได้อีกมาก

ในช่วงนั้นก็มีหนุ่ม ๆ มาติดพันอยู่หลายคน เพราะโรงเรียนการเรือนนั้น อยู่ใกล้กับโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ราชดำเนิน ทุก ๆ เช้าจะเห็นนักเรียนนายร้อย จปร. เดินข้ามถนนราชดำเนินจากฝั่งหอพักข้ามมาเรียนหนังสืออีกฝากหนึ่งของถนน ดูสง่างาม เป็นระเบียบเรียบร้อย และก็มีนักเรียนนายร้อยบางคนเข้ายืนคอย รับส่งเพื่อน ๆ ของป้าณีย์ที่โรงเรียนการเรือนอยู่หลายคน แต่ป้าณีย์ยังไม่สนใจใคร  พอผู้ศึกษาได้สนทนาถึงเรื่องนี้ ป้าณีย์ก็หัวเราะ ดูมีความสุขเมื่อได้หวนระลึกเรื่องเก่าในอดีต

ป้าณีย์ได้เคยไปร่วมงานฉลองกระบี่หลังจบการศึกษาของนักเรียนนายร้อย จปร. สนุกสนานและมีความสุขมาก อาจจะกล่าวได้ว่าช่วงนั้น ป้าณีย์คบกับหนุ่ม ๆ หลายคน แต่ก็ไม่ได้เลยเถิดไปถึงไหน เป็นไปเพราะความสนุกในวัยสาวของป้าณีย์มากกว่า

 

บทที่ 4 วัยทำงาน

 

            หลังจากจบด้านการเรือนแล้ว เพื่อน ๆ ก็ชวนมาสมัครเป็นผู้ช่วยครูด้านคหกรรมศาสตร์ ที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ เพียงแต่มีกำแพงกั้นอยู่เท่านั้น

การทำงานก็เป็นแต่เพียงความสนุกสนาน อยากจะยื้ออยู่กรุงเทพฯ ต่อไปให้นานมากที่สุดเท่านั้น ทั้งนี้ทางบ้านได้ส่งจดหมายเรียกให้ป้าณีย์กลับกระบี่ มาหางานทำหรือช่วยงานร้านโชห่วยที่บ้าน และบิดามารดาก็มีอายุมากขึ้นแล้ว อยากให้ลูก ๆ อยู่ใกล้ ๆ ขณะนั้นเงินทองที่ทางบ้านมีก็เริ่มร่อยหรอ เพราะบิดาป่วยเป็นมะเร็งในปอดอ่อน ๆ อาการยังอยู่ในขั้นเบื้องต้น แต่ก็ต้องเข้าเมืองกระบี่ บางครั้งก็ให้พี่ชายคนโตพาบิดามารักษาที่หาดใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้ ป้าณีย์ทราบดี แต่ก็ยังใช้เงินเพลิดเพลินตามปกติ ไม่คิดกลับไปเยี่ยมที่บ้านแต่อย่างใด

เงินเดือนที่ได้รับจากการเป็นผู้ช่วยครูสอนคหกรรม ก็มักจะหมดก่อนสิ้นเดือน บางเดือนต้องขอเงินจากทางบ้านเพิ่มเติม บางครั้งก็หนีงานไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ ที่น้ำตกสาลิกาบ้าง บางแสนบ้าง ชะอำบ้าง หัวหินบ้าง หรือบางครั้งก็ไปไกลถึงเชียงใหม่

            ช่วงนั้น ป้าณีย์อายุได้ 21 ปี ราว ๆ ปี พ.ศ.2496 ก็ได้รู้จักกับ ลุงจิตรซึ่งเป็นทหารยศนายสิบ ระดับชั้นประทวน ประจำอยู่ที่กองพันทหารยานเกราะ แถวเกียกกาย (ปัจจุบันเรียกกองพันทหารม้าที่ 18) ช่วงแรก ๆ ป้าณีย์ไม่ชอบหน้าเอาเลย ลุงจิตรเป็นคนเงียบเฉย เฝ้าคอยมาหาที่หอพักหลังวัดตรีทศเทพ อยู่บ่อย ๆ บางทีก็เอาขนมไทย ประเภททองหยิบ ทองหยอด ขนมชั้น ปั้นสิบมาฝาก เมื่อลุงจิตรไปราชการต่างจังหวัด โดยติดตามผู้บังคับบัญชาที่กรมทหารยานเกราะไป ก็มักจะเอาของฝากที่มีชื่อในแต่ละจังหวัดที่ไปนั้นมาฝากเสมอ ๆ ลุงจิตรไม่พูดอะไร เอาแต่เงียบ

แต่ด้วยความเสมอต้นเสมอปลาย ป้าณีย์รู้สึกอบอุ่น ไว้ใจ ลุงจิตรแสดงความเป็นห่วงเป็นใยให้เห็นหลายต่อหลายครั้ง ใจกว้าง นิ่ง บางครั้งบางเรื่องลุงจิตรน่าจะโมโหหึงหวงป้าณีย์ แต่ลุงจิตรก็นิ่ง เช่น ป้าณีย์ไปเที่ยวดึก ๆ ดื่น ๆ กับเพื่อนที่มีผู้ชายร่วมไปเที่ยวด้วยแถว ๆ บางลำพู เพื่อนผู้ชายบางคนได้ชวนป้าณีย์ไปเที่ยวพาหุรัดกันสองต่อสอง ลุงจิตรก็ยังเฉย ยังคงเอาของ ขนมมาฝากอยู่สม่ำเสมอ สีหน้าเรียบเหมือนกระดาษเช่นเคย ป้าณีย์เล่าถึงตรงนี้ ก็หัวเราะ ทำให้ผู้ศึกษาอดยิ้มและหัวเราะตามไปด้วย

 

บทที่ 5 การครองเรือน

 

ลุงจิตร เป็นคนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีรูปร่างสูงใหญ่ ผิวขาว แข็งแรง หน้าตาจืด ๆ จีน ๆ  กระเดียดไปทางชาวเขาชาวดอยเสียด้วยซ้ำ พูดเสียงแปร่ง ๆ บางคำพูดไม่ชัด ผู้ฟังรู้ได้ทันทีว่าเป็นคนเหนือ ทางบ้านมีฐานะยากจน มีพี่น้องแปดคน การศึกษาไม่สูงนัก ลุงจิตรสมัครเรียนโรงเรียนนายสิบทหารบกค่ายภาณุรังษี ที่จังหวัดราชบุรี เมื่อจบการศึกษา ก็ได้มาประจำการที่กองพันทหารยานเกราะที่กรุงเทพฯ ด้วยความที่เป็นคนซื่อ สูงใหญ่ ไม่ค่อยพูดจา ผู้บังคับบัญชาในกองพันก็ให้ลุงจิตรเป็นทหารชั้นประทวนคอยติดตาม

ด้วยความรักที่สุกงอมเต็มที่ หลังจากที่ดูใจกันมาร่วม 3 ปีและในปลายปี พ.. 2499 ขณะนั้นป้าณีย์อายุได้ 24 ปี ก็ตัดสินใจร่วมชีวิตกับลุงจิตร โดยไม่ได้บอกให้ทางบ้านรู้ จดทะเบียนสมรสกัน เปลี่ยนนามสกุลจาก เชียนหนูเป็น สบพระตามสามี บิดามารดา ตลอดจนพี่ ๆ น้อง ๆ มาทราบภายหลัง ก็โกรธมาก แต่ป้าณีย์ก็ไม่ยี่หระ ไม่สะทกสะท้านอะไร

อยู่กินกับนายลุงจิตรได้หลายปี ยศของลุงจิตรก็เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังเป็นทหารชั้นผู้น้อย ยังคงติดตามผู้บังคับบัญชาเหมือนเดิม อำนาจหน้าที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามเลย ทั้งนี้อาจจะกล่าวได้ว่าผู้บังคับบัญชาดองเรื่องไว้ อยากจะให้ลุงจิตรติดตามคอยรับใช้ไปเรื่อย ๆ มากกว่า

ลุงจิตร หรือ สิบเอกจิตรต้องย้ายไปประจำการที่กองพันทหารราบที่ 15 จังหวัดนครราชสีมา (โคราช) กับผู้บังคับบัญชา ป้าณีย์ก็ตามลุงจิตรไปด้วย บ้านอยู่ในค่ายทหาร วัน ๆ แทบไม่ทำอะไร จึงทำขนมเค้ก เบเกอรี่ พายและขนมฝรั่ง ส่งขายในตลาดน้อยใหญ่กลางตัวเมืองโคราช และส่งแม่ค้าในร้านอาหารสวัสดิการในกรมทหาร ไปได้เรื่อย ๆ ไม่ค่อยมีกำรี้กำไรเท่าใดนัก

ลุงจิตรต้องติดตามผู้บังคับบัญชาไปตามจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน หกเจ็ดวันก็จะกลับมาบ้านสักครั้งหนึ่ง อยู่บ้านพักได้สองสามสัปดาห์ก็ต้องติดตามผู้บังคับบัญชา เป็นอยู่เช่นนี้ได้หลายปี

ลุงจิตรและป้าณีย์หลังจากแต่งงานได้สองปีก็มีบุตรชายด้วยกันคนหนึ่ง ชื่อว่า  พงศธรและในปีต่อมาก็ได้บุตรสาวชื่อ พงษ์ลดา ทั้งสองเติบโตในค่ายทหารและเรียนหนังสือที่โคราช ไม่มีปัญหาอะไร ป้าณีย์ดูแลบุตรทั้งสองอย่างใกล้ชิด

บ่อยครั้งที่ลุงจิตรต้องติดตามผู้บังคับบัญชาไปสนามกอล์ฟ ยามว่างได้ลองซ้อมเล่นกอล์ฟ ก็รู้สึกว่าเป็นกีฬาที่สนุก เพลิดเพลินในการให้บริการ นาย ไปด้วย ลุงจิตรได้ศึกษาและสังเกตเห็นว่าอุปกรณ์กอล์ฟนั้น มีราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นลูกกอล์ฟ ไม้หัวต่าง ๆ เหล็ก พัตเตอร์ รองเท้า ชุดออกรอบ ชุดซ้อมและถุงกอล์ฟ นึกแล้วก็ได้แต่ถอนหายใจ เพราะราคาสูงเกินกว่าที่ทหารชั้นประทวนเช่น ลุงจิตรจะหาซื้อได้ ก็ได้แต่ตาม นาย ไปเรื่อย ๆ

มีอยู่หลายครั้งที่ลุงจิตร ได้ซ่อมแซมอุปกรณ์กอล์ฟให้นายและเพื่อนนายทหารของนาย จนถึงขั้นซ่อมถุงกอล์ฟได้และดีเสียด้วย บางครั้งลุงจิตรก็นำถุงกอล์ฟที่เก่าแล้วมาดัดแปลง แต่งปรับเปลี่ยนใหม่ นำออกขายราคาถูก ๆ ให้แก่ผู้ที่สนใจได้หลายใบ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดและจุดพลิกผันที่ทำให้ทั้งสอง หันมาประกอบอาชีพทำถุงกอล์ฟจำหน่าย ซึ่งจะกล่าวต่อไปในเบื้องหน้า

ต่อมาในกลางปี พ.ศ. 2510 พี่ชายคนโตได้ส่งโทรเลขแจ้งให้ป้าณีย์ทราบว่า บิดาได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคตับแข็งและโรคอื่น ๆ แทรกซ้อน ป้าณีย์และลุงจิตรได้ขึ้นรถไฟเดินทางกลับกระบี่ เป็นการแสดงตัวสามีให้พี่น้องและญาติ ๆ เห็น เป็นการกลับไปอำเภอคลองท่อม  จังหวัดกระบี่ครั้งแรก หลังจากที่จบการเรือนที่สวนดุสิตมา

พี่น้องและญาติ ๆ ของป้าณีย์ต่างแสดงอาการเย็นชาให้เห็น เพราะป้าณีย์ไม่ติดต่อกับครอบครัวเลย ซึ่งเรื่องนี้เป็นปมหรือแผลลึกในใจ ที่ได้ละเลยบิดามารดา ทั้ง ๆ รู้อยู่ว่าท่านลำบาก แต่ตนเองเตลิดคะนองไปตามวัยสาวอยู่ในกรุงเทพฯ และแต่งงานมีครอบครัวไปอยู่โคราชได้หลายปี ป้าณีย์ก็อยากจะย้อนอดีตเพื่อแก้ไขความผิดพลาดในเรื่องนี้ แต่ก็เป็นไปไม่ได้แล้ว

ขณะนั้นภาระรับผิดชอบต่อลูกทั้งสองก็มีอยู่เต็มบ่า อาชีพการงานของสามี ก็เป็นเพียงทหารชั้นประทวนคอยรับใช้นายอยู่ ไม่มีความสามารถหรือกำลังพอที่จะมาจุนเจือช่วยเหลือบิดามารดาและพี่น้องที่กระบี่ได้แต่อย่างใด

หลังเสร็จจากพิธีศพของบิดา ป้าณีย์ก็ร่ำลามารดา และพี่ชายคนโต ตลอดจนได้นำภาพถ่ายและของใช้ของบิดาบางส่วนกลับมาไว้บูชาที่โคราชด้วย การกลับมาโคราชพร้อมลุงจิตรครั้งนั้น ป้าณีย์เงียบและซึมเศร้ามาก ทบทวนเหตุการณ์ในอดีต นึกโทษตัวเองที่ทำไมปล่อยไปเช่นนั้น ไม่เหลียวแลที่บ้านบ้างเลย

ต่อมาท่านได้เปลี่ยนชื่อจาก ผันเป็น ฐปณีย์จากการสอบถามและสังเกต ก็พอจะอนุมานได้ว่า ป้าณีย์ต้องการลืมเรื่องเก่า ๆ ที่ได้ทำผิดพลาดมา อยากจะเป็นคนใหม่ เกิดใหม่ จึงได้เปลี่ยนชื่อ

ลุงจิตรยังคงต้องติดตามนายไปจังหวัดและท้องที่ต่าง ๆ ในภาคอีสาน ส่วนป้าณีย์ก็ไม่ย้ายตามไปด้วย ยังอยู่โคราชเพราะต้องดูแลการเล่าเรียน การอยู่กินของลูกทั้งสองอยู่

เหตุที่ลุงจิตรต้องย้ายบ่อย ๆ ก็เพราะในขณะนั้นภาคอีสานของไทย มีการเติบโตของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อย่างก้าวกระโดด และการเข้าร่วมรบในสงครามเวียดนามของสหรัฐอเมริกา โดยมาตั้งฐานทัพหลายแห่ง ทั้งที่จังหวัดอุดรธานี  และอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น ลุงจิตรต้องเดินทางติดตามนายมากขึ้น รายได้เงินเดือน เบี้ยเลี้ยงก็พอประทังและส่งให้ลูกเรียนได้บ้าง แต่ก็ไม่มีเงินเหลือเก็บ

ทั้งคู่ได้หารือกัน ตกลงใจให้ลุงจิตรลาออกจากราชการเสีย ด้วยเหตุผลหลายประการ คือ หนึ่ง) รายได้จากการซ่อมถุงกอล์ฟของลุงจิตร ทำให้เกิดรายได้เสริมเกือบเป็นสองเท่าของเงินเดือน สอง) มีผู้สนใจให้ลุงจิตรทำถุงกอล์ฟส่งเป็นจำนวนที่มากพอควรและเป็นข้อตกลงระยะยาว และได้ทำถุงกอล์ฟส่งให้บ้างแล้วหลายใบ การเงินการทองก็ไม่เป็นปัญหา สาม) อาชีพรับราชการเป็นทหารคงไม่รุ่งแน่ เพราะจวบจนขณะนั้น ก็ยังเป็นแค่จ่าสิบโท นายที่ดูแลลุงจิตรก็เริ่มชรา ไม่ก้าวหน้าในสายอาชีพการทหาร ซึ่งก็ส่งผลต่อความไม่ก้าวหน้าในอาชีพของลุงจิตรด้วยเช่นกันและ สี่) การย้ายตามนายบ่อย ๆ ทำให้ครอบครัวกระจัดกระจาย หาเวลาอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตายาก และลูก ๆ ก็เติบโตย่างเข้าสู่วัยรุ่น ต้องเอาใจใส่ ต้องการเวลาดูแล กลัวจะเตลิดเที่ยวเสียการเรียนไปกับเพื่อน ๆ ที่เกกมะเหรกได้

หลังจากลุงจิตรลาออกจากการรับราชการทหารแล้ว ตอนต้นปี พ.ศ. 2514 ทั้งสองได้มาหาห้องแถวสองห้องติดกันอยู่ในซอยแถว ๆ บางนา กรุงเทพมหานคร ซึ่งเมื่อก่อนนั้นแถวบางนาจะเป็นป่าอ้อห่างไกลจากตัวเมืองมาก แต่เนื่องจากห้องแถวราคาไม่แพง ทั้งสองท่านมีกำลังพอที่จะซื้อได้ จึงตัดสินใจเลือกซื้อห้องแถวที่บางนานี้ ทำเป็นโรงงานผลิตถุงกอล์ฟขนาดเล็ก หาลูกจ้างได้ 2 คน ในละแวกนั้นมาช่วยกันทำถุงกอล์ฟกัน กิจการก็ดีขึ้นอย่างช้า ๆ เป็นไปเรื่อย ๆ จากที่เคยผลิตและจำหน่ายได้เดือนละ 7-8 ใบ ก็เป็นเดือนละ 20 กว่าใบ ภายใน 2 ปี ป้าณีย์ก็ช่วยสามีจัดซื้อ ตรวจสอบคุณภาพของงาน เจรจาการซื้อขายและส่งมอบกับลูกค้า ผู้ที่มาสั่งซื้อก็เอาแบบและลายผ้าหรือชนิดหนังมาให้ดู เพื่อจะไปติดยี่ห้อหรือตราสินค้าของเขาเอง กล่าวง่าย ๆ ก็คือ โรงงานของทั้งคู่ มีฐานะเป็นผู้รับจ้างผลิตหรือโออีเอ็ม (OEM-Original Equipment Manufacturers) นั่นเอง

ทั้งท่านสองท่าน ต่างช่วยกันทำงานตัวเป็นเกลียว เพราะถือว่าเป็นเดิมพันครั้งสำคัญ เป็นการตัดสินใจที่เมื่อได้ลาออกจากราชการแล้ว ทุกอย่างต้องเดินหน้า ทั้งสองท่านไม่ใช่คนตัวเปล่าเล่าเปลือย มีภาระต้องเลี้ยงบุตรสองคน และลูกจ้างอีกจำนวนหนึ่ง

และก็ช่างเป็นเรื่องโชคดีของลุงจิตรและป้าณีย์ประการหนึ่ง ก็คือ การที่บุตรชายหญิงทั้งสองเชื่อฟังอยู่ในโอวาท ผลการเรียนของทั้งสองอยู่ในเกณฑ์พอใช้ ออกจะอ่อนเล็กน้อย โดยที่พงศธร หลังจากจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่โคราชแล้ว ก็สามารถสอบเข้าเรียนเป็นช่างก่อสร้างที่เทคนิคไทย-เยอรมันได้ (สมัยนี้คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ) เป็นสถาบันการศึกษาฯ แถว ๆ บางกรวย เชิงสะพานพระรามหก ลุงจิตรได้หาหอพักให้พงศธรอยู่เพื่อจะเรียนได้สะดวก ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดต่าง ๆ พงศธรก็กลับมาช่วยงานโรงงานที่บางนา

เมื่อก่อนนั้นราว ๆ ปี พ.ศ. 2516 ระยะทางระหว่างบางกรวยกับบางนานั้นไกลกันลิบ การเดินทางไม่สะดวก ต้องนั่งรถเมล์หลายต่อ แต่ก็เฝ้าบอกให้ลูกอดทนเรียน เพราะเทคนิคไทย-เยอรมันในสมัยนั้น มีชื่อเสียงมาก เป็นโรงเรียนช่างแห่งใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของสหพันธรัฐเยอรมันตะวันตก

ส่วนลูกสาว พงษ์ลดานั้น ค่อนข้างจะเงียบ แต่ก็ลึก เคยเตลิดแอบไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ ที่สยามสแควร์ ไทยไดมารู และต่างจังหวัดหลายหน ทั้งสองท่านต้องหยุดงานทำถุงกอล์ฟพักหนึ่ง ออกไปตามหาลูกสาว (ผู้ศึกษาวิเคราะห์และตั้งสมมติฐานเอาเองว่าช่างเหมือนกับป้าณีย์ สมัยสาว ๆ ยังไงยังงั้น) แต่ก็ไม่พบ สามสี่วันต่อมา พงษ์ลดาก็กลับมาบ้านเอง ท่านทั้งคู่ต้องเอาไม้เรียวตีก้นหลายสิบที ดุด่าว่ากล่าวเอาพักใหญ่

คราวนั้นคราวเดียวที่ทั้งสองท่าน ตีพงษ์ลดาเต็มที่ และไม่เคยได้ตีอีกเลยตั้งแต่นั้นมา พงษ์ลดาก็เชื่อฟัง ช่วยบิดามารดาทำถุงกอล์ฟ ไปเงียบ ๆ ต่อมา เมื่อพงษ์ลดาอายุได้ 20 ปีเต็ม ก็มีครอบครัว ได้ชวนสามีเข้ามาร่วมทำถุงกอล์ฟช่วยที่บ้านด้วย จวบจนปัจจุบัน

ช่วงนั้นประมาณปี พ.ศ.2518-2519 ประเทศไทยกำลังมีเสรีภาพอันเบ่งบาน เป็นช่วงหลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มีการประท้วงของนักเรียนนิสิตนักศึกษา มีการปิดเรียน มีการประท้วงของตัวแทนชาวไร่ชาวนา เกษตรกร และผู้ใช้แรงงานต่าง ๆ มีดนตรีและเพลงเพื่อชีวิต

ส่วนพงศธรนั้น เมื่อเรียนที่เทคนิคไทย-เยอรมัน ก็ตามเพื่อน ประกอบกับความเลือดร้อนด้วยอยู่ในวัยคะนอง เคยมีเรื่องมีราวทะเลาะทุบตีกับโรงเรียนช่างกลอื่น ๆ ทั้งที่อยู่ใกล้เคียงและห่างออกไป เช่น ช่างกลบางซ่อน ช่างกลสยาม และโรงเรียนไพศาลศิลป์ เป็นต้น มีการไล่ตี ด้วยไม้และเหล็ก บางทีก็มีมีดด้วย ใช้ระเบิดขวดและระเบิดพลาสติกเขวียงปาใส่กัน

เช่นเคยเหมือนกับที่ได้ตามพงษ์ลดา ลุงจิตรก็ต้องหยุดทำถุงกอล์ฟ ปล่อยให้ป้าณีย์คุมงานไปพลาง ๆ เพื่อมาตามหาลูกชายที่โรงเรียนบ้าง บางกรวยบ้าง วงเวียนใหญ่บ้าง และสนามหลวงบ้าง เจอตัวบ้างไม่เจอตัวบ้าง แต่พงศธรก็โชคดี ไม่เป็นอันตรายหรือบาดเจ็บแต่อย่างใด  เชื่อฟังลุงจิตรเป็นพัก ๆ  เมื่อป้าณีย์เล่าถึงตอนนี้แล้ว เธอก็มีสีหน้าตึง ๆ นัยน์ตามีน้ำคลอหน่วยเล็กน้อย

หลังจากพงศธรจบช่างก่อสร้างที่เทคนิคไทย-เยอรมันแล้ว ก็ไม่ได้ช่วยงานที่บ้าน ได้มาสมัครเป็นพนักงานลูกจ้างโรงงานด้านผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แถว ๆ ถนนบางนา-ตราด กม.19 (ปัจจุบันเป็นบริษัทใหญ่ระดับนานาชาติของคนไทย ที่ชื่อ ไทยซัมมิท ออโต้พาร์ท อินดัสตรี้”) ที่บ้านก็นึกแปลกใจที่พงศธร จบด้านก่อสร้างมา กลับทำงานในโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ แต่ก็ไม่ได้ถามอะไรมาก เพราะทั้งสองท่านไม่เข้าใจ ความซับซ้อนหรือธุรกรรมกระบวนการผลิตในด้านนี้

พงศธรอยู่ทำงานเป็นพนักงานที่โรงงานแห่งนี้ได้ 20 กว่าปี ได้เออรี่ รีไทร์ (Early Retire) ไปเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมานี้เอง ได้รับเงินชดเชยก้อนโต พาครอบครัวย้ายไปตั้งรกรากที่จังหวัดอ่างทอง ทำธุรกิจอู่ซ่อมรถยนต์ จนถึงปัจจุบัน นาน ๆ ก็จะมาเยี่ยมลุงจิตรและป้าณีย์สักครั้งหนึ่ง แต่ก็ได้ส่งข่าวและมีของฝากมาให้ท่านทั้งสองเป็นประจำ

ทั้งสองท่านก็นึกดีใจที่พงศธร เอาตัวรอดมาได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้รู้สึกหวาดวิตกกับลูกชายคนนี้มาก ที่เคยเกเรมาก่อน แต่ก็พลิกกลับมาเป็นคนดี เป็นคนที่มีความรับผิดชอบได้

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2514-2520 กิจการทำถุงกอล์ฟก็ไปได้เรื่อย ๆ ลำพังทำถุงกอล์ฟอย่างเดียวนั้นไม่มีกำไรเหลือ ต้องเพิ่มการทำเข็มขัดหนังนักเรียนชาย เข็มขัดหนังสีน้ำตาลสำหรับชุดลูกเสือเพิ่มเติม ส่งให้ยี่ปั๊วที่มีการทำเข็มขัดด้วย แต่ทำไม่พอส่ง ต้องมาจ้างให้ลุงจิตรทำเพิ่มให้ และรวบรวมส่งแก่ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ที่ถนนราชดำเนินอีกทีหนึ่ง  

และในปี พ.ศ.2520 นั้นเอง ลุงจิตรและป้าณีย์ก็ได้รู้จักกับคนไทยเชื้อสายอินเดียคนหนึ่งชื่อ ราเชนระยะแรก ๆ ราเชนก็มารับถุงกอล์ฟไปจำหน่าย มีการสั่งซื้อก็เพิ่มขึ้น มีการชำระเงินตรงเวลาตามข้อตกลง ด้วยอัธยาศัยและการพูดจาที่ดีของราเชน ทำให้ทั้งลุงจิตรและป้าณีย์พอใจ และชักชวนให้ราเชนร่วมลงทุนด้วย ได้ให้ราเชนมีหุ้นโดยไม่ต้องชำระทุน หรือที่เรียกกันว่า หุ้นลมจำนวน 10% โดยจะแบ่งผลกำไรของโรงงานให้ทุก ๆ 6 เดือน ทุกอย่างก็เป็นไปได้ด้วยดี อีก 2 ปีต่อมา ราเชนได้เบิกถุงกอล์ฟไปจำหน่าย เพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ได้ชำระค่าถุงกอล์ฟงวดก่อน ๆ เป็นเช่นนี้สะสมมาเรื่อย มาก ๆ เข้าก็เป็นเงินร่วมล้านกว่าบาท ซึ่งในเวลานั้นนับเป็นมูลค่าที่สูงมาก และโรงงานก็ติดค้างชำระค่าวัสดุอุปกรณ์และค่าแรงบางส่วน เป็นเงินร่วม 6 แสนกว่าบาท โรงงานก็รอรับเงินจากราเชนอยู่ เพื่อจะมาชำระหนี้ที่คาราคาซังเหล่านี้

จู่ ๆ ราเชนก็หายตัวไป ติดตามตัวไม่เจอ ไปหาที่บ้าน ที่ ๆ ราเชนมักจะไป ถามเพื่อนฝูงต่าง ๆ ก็ไม่พบตัว ทั้งสองสามีภรรยาทราบได้ทันทีว่าถูกราเชนโกงเงินเข้าแล้ว ลุงจิตรและป้าณีย์แทบล้มทั้งยืน จำเป็นต้องกู้เงินนอกระบบและขายทรัพย์สิน รวมทั้งเครื่องจักรบางรายการไป เจรจากับเจ้าหนี้แบ่งการชำระหนี้เป็นงวด ๆ

ทั้งสองท่านต้องทำงานอย่างหนักอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะกลับมาตั้งหลักให้ได้ หากเป็นเมื่อก่อนนั้น ป้าณีย์นึกถึงเรื่องนี้แล้วแค้นใจมาก แต่จนถึงขณะนี้ก็ปลง วางเฉยไปแล้ว

บางครั้งทั้งสองท่าน ก็ขับรถมาไหว้พระที่ต่างจังหวัด เคยมาสะเดาะเคราะห์กับเกจิอาจารย์ดัง ๆ แถวอยุธยา ปราจีนบุรี และบางจังหวัดในภาคอีสานก็มี ก็พอจะทุเลาความกลัดกลุ้มไปได้บ้าง

พอปี พ.ศ.2523 ขณะนั้น ป้าณีย์อายุได้ 48 ปี ก็ได้รับโทรเลขจากพี่ชายที่กระบี่ แจ้งว่ามารดาป่วยหนักมาก ให้รีบกลับมาดูใจ ป้าณีย์รีบขึ้นรถทัวร์พาลูกสาวพงษ์ลดามากระบี่ด้วย ปล่อยให้ลุงจิตรและสามีของพงษ์ลดาอยู่ดูแลโรงงาน พอทั้งสองมาถึงกระบี่ ก็ดูแลปรนนิบัติหาหยูกยาให้มารดาทาน ตลอดจนบริการต่าง ๆ อย่างเต็มที่ มารดายื้อชีวิตอยู่ได้อีกเพียง 4 วัน ท่านก็สิ้นลมลงอย่างสงบด้วยโรคหอบ ที่โรงพยาบาลเอกชนในอำเภอเมืองกระบี่นั้นเอง เมื่อจัดงานศพประกอบพิธีทางศาสนาทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ก็ร่ำลาพี่ชาย น้อง ๆ ญาติ ๆ กลับมาทำงานที่โรงงานต่อ

ด้วยความมานะ ขยัน อดทน สู้ต่อ ลุงจิตรและป้าณีย์ก็ล้างหนี้เก่าอันเนื่องมาจากราเชนจนหมด ขณะเดียวกันกิจการทำถุงกอล์ฟและเข็มขัดนักเรียนก็ขายดีขึ้น มีลูกค้าประจำ ทำให้สามารถวางแผนรายรับรายจ่ายได้ หลัง ๆ มาก็เลิกทำเข็มขัดหนังนักเรียน เพราะคำนวณดูแล้วไม่คุ้มทุน โดนยี่ปั๊วกดราคา จนไม่มีกำไรเหลือ และเข็มขัดนักเรียนนั้นก็ไม่ใช่ว่านักเรียนทุกคนจะต้องซื้อทุกปี เข็มขัดเส้นหนึ่ง ๆ ใช้ได้นานหลายปี จึงตัดสินใจเลิกทำเข็มขัดหนังสำหรับนักเรียนเสีย

ราว ๆ ปี พ.ศ.2528 มีบริษัทด้านอุปกรณ์กีฬายักษ์ใหญ่ของคนไทยรายหนึ่ง เสนอขอซื้อกิจการโรงงานของท่านทั้งสอง โทรมาขู่ให้รีบขายกิจการแก่ตนในราคาถูก ๆ ตามที่ได้เสนอมา มิฉะนั้นจะมีอันตราย ซึ่งทั้งคู่ไม่ยอม

ลุงจิตรซึ่งปกติเป็นคนนิ่ง ๆ ก็ปฏิเสธด้วยอาการโกรธ เป็นฟืนเป็นไฟ ป้าณีย์ก็ตะลึงเอาเหมือนกัน แต่ก็เข้าใจลุงจิตร รู้สึกได้ว่าธุรกิจนี้ ลุงจิตรได้สร้างมันมากับมือ อยู่ ๆ ใครจะใช้อิทธิพลบีบให้ขายดื้อ ๆ ได้อย่างไร เพราะโรงงานนี้คือชีวิตของลุงจิตร

เรื่องก็เงียบหายไป จู่ ๆ ลุงจิตรก็ประสบอุบัติเหตุ รถกระบะพลิกคว่ำ บนถนนบางนา-ตราด ซึ่งเพิ่งเปิดใหม่ ๆ แถวบางปะกง ขณะที่กลับจากการนำถุงกอล์ฟไปส่งให้แก่ลูกค้าที่พัทยา ทำให้ขาซ้ายของลุงจิตรหัก กระดูกแทงเส้นประสาทสำคัญ ทำให้ขาซ้ายอัมพาต ต้องนั่งบนรถเข็นตลอดเวลา

ป้าณีย์นึกทบทวนว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับลุงจิตรนี้นั้น บริษัทด้านอุปกรณ์กีฬายักษ์ใหญ่ดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ แต่ก็ไม่มีหลักฐาน ไม่รู้จะเอาผิดกับใคร ได้แต่เพียงเงินชดเชยจากบริษัทประกันชีวิตและประกันภัยเท่านั้น โชคดีที่ท่านทั้งสองได้เก็บหอมรอบริบไว้มากพอควร จึงมีเงินทองใช้จ่ายยามที่ลุงจิตรพิการได้

ธุรกิจการทำถุงกอล์ฟ ก็ต้องปรับแผนการดำเนินการใหม่ ลดขนาดการผลิตลง ให้พงษ์ลดาและสามีทำงานเต็มตัวมากยิ่งขึ้น ลดงานที่ไม่ถนัดซึ่งต้องพึ่งฝีมือและแรงงานของลุงจิตรลง และเพิ่มงานที่พงษ์ลดาถนัด เช่น กระเป๋าหนังสตรีแบบต่าง ๆ จัดส่งให้ยี่ปั๊วแถว ๆ ประตูน้ำ ป้าณีย์ก็ลดการทำงานลง ดูแลลุงจิตรมากขึ้น งานทุกอย่างมอบหมายให้พงษ์ลดาและสามีของเธอดูแลทั้งหมด

แม้ว่าขาซ้ายของลุงจิตรจะเป็นอัมพาต แต่ก็ยังมีกำลังใจและเรี่ยวแรงที่จะทำโน้นทำนี่ ทั้งสองท่านอยู่ว่างไม่ได้ อาศัยว่าพอยังมีเงินเหลือเก็บและอาคารที่ดินที่ซื้อเก็บ ๆ ไว้อยู่หลายล้านบาท ทั้งสองท่านจึงตัดสินใจลงทุนทำทาวน์เฮาส์แถว ๆ ลาดพร้าวขาย

ท่านทั้งสองบริหารงานทำทาวน์เฮาส์ขายได้ 2 โครงการรวม 14 หลัง ก็ประสบความ สำเร็จ มีกำไรพอประมาณ และได้จ้างผู้บริหารมืออาชีพรับหน้าที่เป็นผู้จัดการทั่วไปและผู้จัดการโครงการ ทั้งสองท่านมีหน้าที่ให้แนวทาง ร่วมประชุมกำกับการทำงานบ้าง รู้สึกสนุกและเหนื่อย ดีกว่าอยู่เฉย ๆ

ต่อมาในปี พ.ศ.2539 ต่อกับปี พ.ศ.2540 ทั้งลุงจิตรและป้าณีย์ก็คิดการใหญ่โดยทำหมู่บ้านจัดสรรขนาดกลาง ได้กู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ร่วม 20 กว่าล้านบาท เป็นสกุลเงินยูเอสดอลล่าร์ เพราะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในเกณฑ์ต่ำและไม่มีความเสี่ยงอะไร รวมกับทุนที่ตนเองมีอยู่ ลงทุนในโครงการบ้านจัดสรรอย่างเต็มกำลัง ระหว่างที่กิจการกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี มีลูกค้ามาวางเงินมัดจำกันหลายสิบรายอยู่นั้น แต่พอเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2541 รัฐบาลประกาศปล่อยให้เงินบาทลอยตัว ภาระหนี้ที่ทั้งสองก่อไว้ก็เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ลูกค้าบางรายที่จองบ้านไว้ก็ทิ้งเงินจอง บางรายขอเลิกสัญญาจะขอเงินคืน

โครงการฯ ล้มไม่เป็นท่า ต้องเลิกจ้างพนักงาน หักลบกลบหนี้ชำระบัญชีแล้วก็เหลือแต่ตัวเปล่าและเมื่อตรวจสอบทรัพย์สิน รายการรับจ่ายต่าง ๆ โดยละเอียดแล้ว พบว่ามีเงินสดหลายรายการถูกยักยอกไป ทั้งสองท่านมีภาระหนี้ท่วมตัว ไม่อยากบอกให้ลูกทั้งสองรู้ เพราะอายและเกรงว่าลูก ๆ จะเป็นทุกข์

นับเป็นวิกฤตการณ์ชีวิตครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของท่านทั้งสอง ถือเป็นการหมดตัวครั้งสุดท้ายในยามชรา ขณะที่ลุงจิตรมีอายุได้ 69 ปี และป้าณีย์มีอายุได้ 66 ปี ตามลำดับ

 

 

 

 

 

บทที่ 6 วัยเกษียณ และชีวิตความเป็นอยู่ปัจจุบัน

 

แต่ทั้งสองก็ยังมีบ้านสองชั้นขนาดกะทัดรัดพร้อมที่ดินจำนวน 80 ตารางวาเหลืออยู่ ที่ป้าณีย์ซื้อเก็บไว้หลายปีแล้วและเก็บค่าเช่าอยู่ที่หมู่บ้านพุทธธานี เมื่อหมดสัญญาเช่า ทั้งสองสามีภรรยาก็เข้ามาอยู่แทน ตบแต่งดัดแปลงใหม่ ก็สามารถอยู่ได้แล้ว

ท้ายที่สุดลูกทั้งสองก็ทราบความจริงจนได้ ก็มาเยี่ยมและส่งเงินมาให้ใช้ทุกเดือน มิได้ขาด ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองท่านเข้าใจอยู่เต็มอกว่า ลูกทั้งสองมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว และประคับประคองธุรกิจที่ตนดูแลอยู่ฝ่าวิกฤติไปให้ได้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี พ.ศ.2541-2543

ป้าณีย์นึก ๆ แล้วก็อดร้องไห้ไม่ได้ ทบทวนเหตุการณ์ย้อนดูตนเอง ซึ่งช่วงสาว ๆ ไม่เหลียวแลบิดามารดาที่กระบี่เลย แต่ลูก ๆ ก็เป็นอภิชาตบุตร มีความกตัญญูมาก ช่วยเหลือท่านทั้งสองยามลำบากตอนเข้าสู่วัยชราแล้ว นับเป็นโชคของสองสามีภรรยา

เพียงปีเศษ ๆ หรือปลายปี พ.ศ. 2542 หลังจากโครงการบ้านจัดสรรล้ม ลุงจิตรก็สิ้นลม ด้วยอาการซึมเศร้าและความดันโลหิตสูง ป้าณีย์ก็ไม่เสียใจอะไรมาก เพราะทำใจมาตั้งแต่ต้น เห็นการหงอย การทรุดลงของลุงจิตรตามลำดับอยู่แล้ว ป้าณีย์ใจแข็งมาก ตั้งสติ ต่อไปนี้จะมีชีวิตที่สมบูรณ์ให้ถึงพร้อมต่อไป

หลังจากเสร็จงานศพ โดยจัดขึ้นที่วัดเพลินเพชรซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านฯ เล็กน้อย พงษ์ลดาก็พาลูกสาวซึ่งโตมากแล้วมาอยู่เป็นเพื่อนด้วย ปล่อยสามีดูแลกิจการทำถุงกอล์ฟต่อไป ซึ่งสามีของพงษ์ลดาก็แวะมาเยี่ยมอยู่เสมอมิได้ขาด

ปัจจุบันป้าณีย์มีอายุถึง 77 ปีแล้ว อยู่ที่หมู่บ้านฯ ก็ไม่เหงา มีเพื่อนบ้านอยู่ในวัยเดียวกันหลายคน สุขภาพแข็งแรงดี บางครั้งก็เดินออกกำลังกายและขี่จักรยานล้อเล็ก ๆ ในหมู่บ้านฯ ไปเยี่ยมพี่ชายที่กระบี่กับหลานสาวบ้าง เป็นกรรมการหมู่บ้านฯ บ้าง คอยช่วยเหลือเพื่อนบ้านเท่าที่จะทำได้ตามอัตภาพ

ทุกเช้าก็จะมาร่วมตักบาตรกับเพื่อน ๆ ในหมู่บ้านฯ ถวายพระภิกษุที่เดินบิณฑบาตมาจากวัดนครชื่นชุ่ม และพูดคุยเรื่องทั่วไป แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันตามปกติ

มีอยู่คราหนึ่ง เมื่อตอนต้นปี พ.ศ.2552 ตอนเย็น ๆ ขณะที่ได้ขี่จักรยายอยู่ ป้าณีย์โดนสุนัขในหมู่บ้านงับเอาที่น่อง พงษ์ลดาได้นำป้าฯ ไปให้หมอที่เปิดคลินิกหน้าหมู่บ้านฯ ทำความสะอาดแผล ต้องฉีดยาหลายเข็มและได้ยามาทาน ซึ่งก็ไม่เป็นอะไรมาก

ช่วงหลัง ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมา ป้าณีย์มีอาการเป็นโรคหัวใจบวม ต้องมาหาหมอที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งอยู่ติดกับพุทธมณฑล ทุกเดือนตามคำสั่งของหมอ มีพงษ์ลดาคอยรับ-ส่ง ซึ่งก็สะดวกดี

 

บทที่ 7 ความคาดหวังในอนาคต

 

ป้าณีย์ได้สมัครติดตั้งจานทีวีรับสัญญาณภาพของ ASTV ของกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองด้วย ท่านสนใจเหตุการณ์บ้านเมืองมาก ช่วงสามสี่ครั้งหลังที่ผู้ศึกษามาสัมภาษณ์ ก็เห็นป้าณีย์เปิดช่อง ASTV ดูอยู่ด้วยตลอด เปิดเสียงค่อนข้างดัง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะประสิทธิภาพการได้ยินของป้าณีย์เริ่มด้อยลง

ช่วงที่มีการขับไล่รัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์และนายสมัคร สุนทรเวชที่ทำเนียบรัฐบาลของกลุ่มพันธมิตรนั้น ป้าณีย์ก็ชวนเพื่อนบ้านอีกสองคนที่อยู่ในวัยเดียวกันและแข็งแรงพอไปร่วมประท้วงใช้มือตบที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย นอนที่หน้าทำเนียบอยู่หลายคืน ซึ่งก็ไม่มีอันตรายเหตุร้ายใด ๆ

ผู้ศึกษาได้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ป้าณีย์ก็จะคุยยืดยาวถึงความชั่วร้ายของระบอบทักษิณ จนผู้ศึกษาได้ปล่อยให้ท่านฯ พูดไปพักหนึ่ง และต้องแทรกให้กลับเข้าประเด็นเป็นระยะ ๆ ป้าณีย์คาดหวังว่า อยากจะให้ประเทศไทยสุขสงบไม่ทะเลาะกัน และอยากให้ลูกทั้งสองพร้อมครอบครัวมีความสุข เจริญก้าวหน้า และไม่เบียดเบียนใคร แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว ส่วนตนเองนั้นไม่เป็นไร ไม่คิดหวังอะไรมากไปกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้

 

บทที่ 8 สิ่งสำคัญของชีวิต

 

ป้าณีย์ เห็นว่าการที่ทุกคนได้ทำหน้าที่ของตน อยู่ในศีลอยู่ในสัตย์ ก็เป็นธรรมะแล้ว เป็นการทำให้โลกสงบ ทำจิตให้ผ่องใส ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ไม่ฟุ้งซ่านและพะวงกับเรื่องที่ยังมาไม่ถึง แค่นี้ก็เป็นสิ่งสำคัญของชีวิตและก็มากอย่างที่สุดแล้ว

ที่บ้านป้าณีย์ มีหนังสือและเทปธรรมะของพระภิกษุที่มีชื่อเสียงของประเทศหลายรูป โดยเฉพาะของท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีมากเป็นพิเศษ การคิดการพูดจาของท่านฯ ก็ได้รับอิทธิพล ความศรัทธา ความเชื่อมาจากท่านพุทธทาสภิกขุอยู่ไม่น้อย

 

bbbbbbaaaaaa

info@huexonline.com