MENU
TH EN

(ภาพจากอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ประกอบเรื่องเท่านั้น)


เรื่องราวของ "เจ๊กุ่ย", "ป้าณีย์" และ "น้าองุ่น"  เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมา โดยประสมประสาน ประสบการณ์ ตัวละคร ผู้ที่ข้าพเจ้าได้พบปะ โคจรมาเจอกันในฐานะ บทบาทที่แตกต่างกัน ช่วงเวลาที่สั้นบ้างยาวบ้าง มีทั้งความประทับใจ ขมขื่น ชื่นชม ปิติ หัวเราะ ฯ แต่ข้าพเจ้าก็ถือว่าเป็นคุณค่าที่ได้รับ เข้าใจโลก ชีวิต และความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น และถือว่า ทุก ๆ อย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตมีประโยชน์มีเหตุผลของมัน และ (ข้าพเจ้าได้ฟังมาจากที่ไหนไม่ทราบ นานแล้วแต่ยังจำได้เสมอมาว่า สิ่งที่เราได้ตัดสินใจเลือกไว้แล้วนั้น ถูกต้องเสมอ..!!)

หากบางบทบางตอน หรือบางชื่อของตัวละครไปซ้ำหรือพ้องชื่อกับใครบางท่าน หรืออาจจะมีเนื้อหาไปกระทบกับใครบางคน ก็ต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ และขอให้ท่านอโหสิ รวมทั้งถือว่าเป็นการปันประสบการณ์แก่ผู้อ่านทั่วไปด้วยนะครับ...

หวังว่าผู้อ่านคงได้รับประโยชน์ในเชิงสังคมวิทยา (Sociology) และคงสอดคล้องกับพุทธศาสนสุภาษิต ที่ว่า "สัตว์ทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่มีกรรมเป็นทายาท และมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์" บ้างไม่มากก็น้อย

อภิรักษ์ กาญจนคงคา
3 ตุลาคม 2552 (ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 24 ส.ค.56)



ประวัติชีวิตของเจ๊กุ่ย (นางสาวกุ่ย แซ่ตั้ง)

 

บทที่ 1 เหตุการณ์สำคัญก่อนเกิด

 

            นางสาวกุ่ย แซ่ตั้ง (ซึ่งต่อไปนี้ผู้ศึกษาจะเรียกว่า เจ๊กุ่ย) ก่อนที่ เจ๊กุ่ยจะเกิดนั้น ได้มีเหตุการณ์ที่สำคัญดังนี้

บิดามารดาซึ่งเป็นชาวจีนแต้จิ๋วได้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากเมืองซัวเถา จีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากช่วงนั้น ราวปี พ.. 2455 จีนแผ่นดินใหญ่มีปัญหาด้านทุพภิกขภัยแห้งแล้ง เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ประชาชนอดอยาก และที่สำคัญคือมีปัญหาทางการเมือง ซึ่งอยู่ในช่วงรอยต่อความขัดแย้งระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับระบอบการปกครองเดิม เกิดสุญญากาศในการถ่ายโอนอำนาจจากเดิมที่มีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภายใต้ราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty) เปลี่ยนถ่ายมาเป็นระบอบสาธารณรัฐและเกิดการช่วงชิงอำนาจกันในระหว่างขุนศึกในมณฑลต่าง ๆ ทั่วทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งพรรคก๊กมินตั๋งไทเปภายใต้การนำของ นายพลเจียงไคเช็ค (Chiang Kai-Shek) ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา

ราว ๆ ปี พ.ศ. 2479-80 บิดาและมารดาได้ทราบข่าวจากเพื่อน ๆ ที่อพยพมาอยู่เมืองไทยว่ามาแล้วก็จะรอดตาย บิดามารดาซึ่งรักชอบพอกัน ก็หนีตามกันมา ซึ่งก็ไม่ได้รับการทัดทานใด ๆ จากทางญาติทั้งสองฝ่าย เนื่องด้วยบ้านเมืองระส่ำระสาย ต่างคนต่างเอาตัวรอด ญาติพี่น้องกระจัดกระจาย การเดินทางมาเมืองไทยของบิดาและมารดานั้น ท่านมาโดยสำเภาจีนแบบเดิม ต้องพกอาหารแห้ง และแตงร้านขึ้นมาบนเรือด้วย เหตุที่ผกแตงร้านมาด้วย ก็เพราะเป็นความเชื่อว่า หากเรืออับปาง แตงร้านจะลอยน้ำ สามารถกอดพยุงไว้ไม่ให้จมน้ำได้ ทั้งสองท่านได้เดินทางรอนแรมทางเรือมาหลายวัน มีชาวจีนหลายสิบคนที่มากับเรือขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะที่เมืองดานัง (Da Nang) ซึ่งเป็นเมืองท่าและเมืองที่ทำการประมง และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ขึ้นฝั่งประเทศกัมพูชา และได้เดินทางเข้ามาทำมาหากินในพนมเปญ (Phnom Penh) และที่เกาะกง (Koh Kong) ชาวจีนอีกส่วนหนึ่งก็เลยไปขึ้นตามหัวเมืองปักษ์ใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และปัตตานี (โดยเฉพาะที่สายบุรี) เป็นต้น

บิดาและมารดาของเจ๊กุ่ยได้ตัดสินใจเลือกลงเมืองไทย และมาตั้งรกรากที่มหาชัยนี้เอง บิดาเริ่มต้นจากการเป็นลูกเรือหาปลาในอ่าวไทยระยะหนึ่งก่อนได้ประมาณ 2 ปี ก็หันมาร่วมลงทุนกับเพื่อน ๆ ที่มาจากเมืองจีนด้วยกัน ส่วนมารดาได้เป็นชาวประมงหาปลาตามชายฝั่งและขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ ในตลาดมหาชัยและรับจ้างทั่วไป บิดานั้นได้ร่วมกับเพื่อนค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปตามจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือแถบพิจิตร สวรรคโลก สุโขทัย และพิษณุโลก ทำเช่นนี้ได้ประมาณ 10 กว่าปี ก็มีกำไรเพียงพอมาจุนเจือครอบครัว

 

บทที่ 2 วัยเด็กก่อนวัยเรียน

 

และเมื่อบิดาลงหลักปักฐานได้ 2 ปี เจ๊กุ่ยก็ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 12 กรกฎาคม ปี พ.ศ.2484 ปีมะเส็ง ที่อำเภอเมืองสมุทรสาครหรือเมืองมหาชัย   จังหวัดสมุทรสาคร (ซึ่งเจ๊กุ่ยจำได้แม่นยำอย่างน่าประหลาด)  และเจ๊กุ่ยก็เริ่มมีน้องคลานตามกันมาห่าง ๆ อีก 3 คน คือ สมสวัสดิ์ อรทัย และชัยพร ช่วงหลัง ๆ มา กำไรจากการขายสินค้าอุปโภคบริโภคก็เริ่มร่อยหรอ เกิดการทะเลาะและโกงกันในหมู่เพื่อน ๆ ของบิดาที่มาจากเมืองจีนด้วยกัน บิดาหมดเนื้อหมดตัวซมซานกลับมามหาชัย เจ๊กุ่ยยังจำเหตุการณ์วันนั้นได้บ้าง และได้รับคำบอกเล่าจากมารดาในภายหลัง ประมวลเรื่องราวแล้วบรรยายได้ว่า ด้วยในบ่ายวันหนึ่ง บิดาเดินเข้ามาในบ้านที่มหาชัยเงียบ ๆ ใบหน้าตึงเครียด มีกลิ่นเหล้าคละคลุ้ง เจ๊กุ่ยได้เห็นบิดาและมารดาคุยด้วยกันพักใหญ่ ๆ ตรงเฉลียงที่หันไปริมแม่น้ำท่าจีน สักครู่มารดาก็ร้องไห้

บิดาอยู่บ้านเฉย ๆ ได้ ประมาณ 5-6 เดือน ก็ตัดสินใจมายึดอาชีพเดิม เป็นไต้ก๋งเรือ นำเรือขนาดกลาง  มีลูกเรือราว 15-20 คนออกทะเลไป นานราวหนึ่งถึงสองเดือน บิดาจะกลับมาบ้านที่มหาชัยสักครั้งหนึ่ง มีรายได้จากการขายปลาตามท่าเรือ และแพต่าง ๆ รายทางที่เรือผ่านแถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี และชุมพร การกลับมาจากทะเลครั้งหนึ่ง ๆ ก็ได้เงินมาร่วมหมื่นกว่าบาท เงินหมื่นบาทสมัยนั้นมีค่ามาก ถือว่าฐานะทางบ้านของเจ๊กุ่ยช่วงนั้นอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต่อมาวิถีชีวิตของเจ๊กุ่ยก็พลิกผัน ด้วยบิดาได้สูญหายไปในทะเล เมื่อครั้งเจ๊กุ่ยยังเล็ก ตอนที่อายุได้ 12 ขวบ ทราบจากมารดาว่ามีไต้ฝุ่นลูกใหญ่เข้ามาในอ่าวไทย เรือหลบพายุเข้าฝั่งไม่ทัน เรือได้อับปางลงลูกเรือเสียชีวิตทั้งหมด เจ๊กุ่ยจึงกำพร้าพ่อ ต้องอยู่กับมารดาพร้อมน้อง ๆ อีก 3 คน ช่วงหลังจากที่ได้เสียบิดาไปไม่นาน เงินทองที่มีอยู่ก็เริ่มหมดลง มารดาก็เจ็บออด ๆ แอด ๆ ทำงานหนักไม่ค่อยไหว ได้แต่รับจ้างถักสานงานเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่กับบ้าน เจ๊กุ่ยซึ่งเป็นพี่สาวคนโต จึงรับบทเป็นหัวหน้าครอบครัวโดยปริยาย  เหตุการณ์และสภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ทุกคนที่โตและมีกำลังพอ จะต้องทำงานรับจ้างทั่วไปทำทุกอย่างไม่เลือกงาน ตั้งแต่เช้ายันค่ำที่สะพานปลาเก่าในตลาดมหาชัยบ้าง สถานีรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัยบ้าง สถานี บขส.บ้าง เช่น เป็นกุลีประมง ขนย้ายเข่งใส่สัตว์น้ำ ขอดเกล็ดปลา ผ่าล้วงไส้ปลา (โดยเฉพาะปลาทู) ขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ น้ำแข็งใส ชา โอเลี้ยง เป็นต้น พี่น้องทุกคนต้องทำงานตัวเป็นเกลียว แต่ก็รักใคร่กันดี ซึ่งมักจะทานข้าวเย็นร่วมกัน ตามขนบธรรมเนียมประเพณีของคนจีนทั่ว ๆ ไป

            บ่อยครั้งเจ๊กุ่ยต้องพายเรือแจวข้ามแม่น้ำท่าจีน ช่วงบริเวณท่าฉลอมกับฝั่งวัดโกรกกราก (ที่มีพระประธานวัดเป็นหลวงพ่อใส่แว่นตาสีดำ) บางครั้งก็มีอันตราย เพราะบางขณะที่พายเรืออยู่ คลื่นลมสงบ จู่ ๆ ก็ท้องฟ้าแปรปรวนกะทันหัน ทำให้มีคลื่นลมแรง ๆ ในแม่น้ำท่าจีน จึงต้องประคองพายเรือเข้าฝั่งอย่างทุลักทุเลอยู่บ่อย ๆ  การพายเรือข้ามแม่น้ำท่าจีนนี้ก็เพื่อ จับกุ้ง ปลา ปูตามริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งมีชุกชุม บางครั้งก็นำมาดองเค็มแล้วนำมาขายในตลาดเก่ามหาชัย แต่ไม่ได้ราคานัก เนื่องด้วยมีขนาดเล็ก

บางครั้ง ช่วงที่ไม่ค่อยมีปลาให้จับ ก็ทำห่อหมกปลาช่อนหรือปลาทะเลตัวเล็ก ๆ ที่ราคาถูก มาเร่ขายในตลาด หรือริมทางรถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่บ้าง ช่างเป็นช่วงชีวิตที่ลำเค็ญ ไม่รู้เหมือนกันว่าผ่านชีวิตเช่นนี้มาได้อย่างไร แต่ก็มีความสุขตามอัตภาพ ยังกินอิ่มนอนหลับกันทุกคนกับน้อง ๆ และมารดา

5 ปีต่อมา หลังจากที่บิดาเสียชีวิตลงในทะเล มารดาซึ่งเจ็บออด ๆ แอด ๆ อยู่นั้น ก็มีอาการทรุดลง เจ๊กุ่ยได้นำมารดามารักษาในโรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่เนื่องจากระบบสาธารณสุขและหยูกยาสมัยนั้นไม่ค่อยดีนัก กอปรกับอาการของมารดาเป็นหนักมากแล้ว จึงไม่อาจยื้อชีวิตของมารดาไว้ได้ มารดาได้สิ้นลมอย่างสงบ แม้ว่าจะไม่สบายเจ็บหนักก็ตาม ขณะนั้นเจ๊กุ่ยอายุ 17 ปี ซึ่งตรงกับปี พ..2501

ขณะนั้นประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ขึ้น  และก็มีกระแสการเมือง สงครามเย็น การกลัวภัยคอมมิวนิสต์หรือภัยเหลือง กลัวการเกิดทฤษฎีโดมิโน มีการเกรงกันว่าจะลุกลามใหญ่โต ประเทศในแถบอาเซียนหรือสมัยนั้นเรียกว่าเอเชียอาคเนย์ จะเปลี่ยนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์กันหมด มีการกลัวคนจีนที่มาจากแผ่นดินใหญ่

            เจ๊กุ่ยต้องรับภาระหลายด้านซึ่งเป็นช่วงที่เจ๊กุ่ยลำบากมาก ไม่มีญาติพี่น้องที่ไหนอีกแล้ว เปรียบตนเองเป็นหัวเรือหรือผู้นำครอบครัวทำหน้าที่แทนบิดาและมารดาเต็มสองบ่า รายได้ไม่สู้ดีนักแต่ไม่ถึงกับอดมื้อกินมื้อ เจ๊กุ่ยรักใคร่เอ็นดูชัยพร น้องคนสุดท้องเป็นพิเศษ อุตส่าห์เก็บหอมรอบริบส่งให้น้องทั้งสาม สมสวัสดิ์ อรทัยและชัยพรได้เรียนหนังสือ สมสวัสดิ์และอรทัยได้เรียนที่โรงเรียนประถมประจำจังหวัด ส่วนชัยพรได้เข้าเรียนเบื้องต้นร่วมกับลูกศิษย์วัด และลูกหลานชาวบ้านแถบโรงเรียนวัดโกรกกราก ซึ่งอยู่ตรงปลาย ๆ ปากแม่น้ำท่าจีนก่อนออกอ่าวไทย

            เจ๊กุ่ยจะมารับส่งชัยพรแทบทุกวัน บางครั้งก็แจวเรือมาส่งบ้าง ขี่จักรยานมาส่งบ้าง (เจ๊กุ่ยเล่าไป ก็มีน้ำซึมคลอหน่วยอยู่ในเบ้าตา ซึ่งก็เกิดจากความปิติ ความรักที่มีต่อน้องชายคนสุดท้องคนนี้อยู่ในที)

เมื่อเข้าสู่วัยสาว เจ๊กุ่ยซึ่งมีผิวขาว หน้าตาอยู่ในเกณฑ์ดี ขยันขันแข็ง มีหนุ่ม ๆ ที่อยู่ในตลาดมหาชัย และหนุ่มเรือตังเกทั่วไป รวมทั้งไต๋เรือหนุ่ม ๆ บางคนก็มาแวะเวียนมาจีบเกี้ยวพาราสีอยู่เนือง ๆ  มาดักพบที่ตลาดบ้าง คอยที่ท่าเรือบ้าง จนกล่าวได้ว่าแวะเวียนมาจีบจนหัวกระไดไม่แห้ง

            แต่เจ๊กุ่ยก็ไม่สนใจใคร เพราะเห็นว่าตนเองมีภาระต้องเลี้ยงดูน้อง ๆ ให้อยู่รอดให้ได้ก่อน แม้ว่าจะขัดกับความรู้สึกที่ธรรมชาติเรียกร้องก็ตาม

 

บทที่ 3 วัยเรียน

 

เจ๊กุ่ยได้เรียนภาษาจีนกลางกับอาจารย์ (เล่าซือ) ที่มาจากเมืองซัวเถา และก็ได้เรียนภาษาไทยกับครูไทยด้วย เจ๊กุ่ยเก่งเรื่องการคำนวณ เรื่องตัวเลข การเรียนภาษาจีนนั้น เป็นผลดีกับเจ๊กุ่ยต่อมาในภายหลัง เพราะได้ช่วยน้องชายเจรจาการค้าขาย แต่การเรียนภาษาจีนก็ต้องแอบเรียน เพราะขณะนั้นประเทศไทยและโลกอยู่ในช่วงสงครามเย็น มองว่าผู้ที่เรียนภาษาจีนนั้นฝักใฝ่การเป็นคอมมิวนิสต์

 เจ๊กุ่ยมานึกอีกทีภายหลังว่า ทำไมตอนนั้นถึงไม่เลิกเรียนภาษาจีนเสีย เพราะขณะนั้นมีอุปสรรคหลายอย่างในการเรียน และในขณะนั้นก็ยังไม่เห็นความจำเป็น แต่ก็คงเป็นความสนใจ ความรักการเรียนเมื่อมีโอกาสของเจ๊กุ่ย จึงมุ่งมุมานะเรียนภาษาจีนจนอ่านออกเขียนได้

การเรียนภาษาจีนกับเล่าซือนั้นเรียนได้ 4 ปี แม้ว่าจะต้องดิ้นรนหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว แต่ก็พยายามมาเล่าเรียนมิได้ขาด เล่าซือก็ชมเจ๊กุ่ยอยู่เสมอว่าลายมือสวย การอ่านออกสำเนียงภาษาจีนกลางหรือแมนเดอรินก็ไพเราะ เจ๊กุ่ยสามารถเขียน อ่านและพูดภาษาจีนกลางได้ดี และมีส่วนสำคัญในการเจรจาต่อรองทางธุรกิจการค้าให้กับห้องเย็นของชัยพรในช่วงต่อ ๆ มา

            เจ๊กุ่ยต้องเรียนไปค้าขายไปในตลาดมหาชัย บางครั้งต้องเร่ร่อนไปขายของถึงแม่กลองหรือสมุทรสงคราม อาจนับได้ว่าข้อด้อยประการสำคัญของเจ๊กุ่ยก็คือ เป็นคนใจอ่อน และการชอบทำบุญทำทาน ซึ่งบางครั้งก็ทำมากจนเดือดร้อน เจ๊กุ่ยเริ่มมีฐานะและเริ่มเป็นที่รู้จักกันในบรรดาพ่อค้าเชื้อสายจีนในตลาดมหาชัย ด้วยความเป็นคนใจกว้าง ซื่อสัตย์ เปิดเผย ขยันขันแข็ง ผู้ใหญ่ที่เป็นพ่อค้าเชื้อสายจีนในตลาดมหาชัย (โดยเฉพาะเฮียเจียง เมืองผลิตผล) ก็เลือกให้เจ๊กุ่ยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและเลขานุการสมาคมผู้ค้าสัตว์น้ำสะพานปลามหาชัย และด้วยเพราะตนเองเป็นถึงเลขานุการสมาคมฯ นี้เอง บางครั้งต้องออกหน้าจ่ายค่าใช้จ่ายบางรายการของสมาคมฯ ไปก่อนในเรื่องบางเรื่อง และได้ใช้เงินส่วนตัวจ่ายไปก็ไม่น้อย (ผู้ศึกษาสังเกตอากัปกิริยาและใบหน้าพบว่า เจ๊กุ่ยมีสีหน้าตึง ๆ และถอนหายใจเป็นบางครั้ง) วันที่สัมภาษณ์ครั้งนี้เป็นวันที่สอง อากาศกำลังสบาย  แม้ว่าจะเป็นหน้าร้อนก็ตาม เจ๊กุ่ยแต่งตัวเรียบง่าย อยู่กับบ้านเรียบร้อยสมวัย หลานชายอยู่บนบ้าน ส่วนสมหมาย (ซึ่งเป็นหญิงวัย 40 ปีเศษเป็นผู้ช่วยคนสนิทคอยติดตาม) ก็ทำงานง่วนอยู่ในครัว บ้านพักของเจ๊กุ่ย เป็นบ้านเดี่ยวมีบริเวณเนื้อที่ราว 200 ตารางวา สองชั้น   เจ๊กุ่ย อยู่กับหลานชายและสมหมาย  ได้ปลูกต้นไม้ไว้มากพอสมควร เป็นทั้งพืชยืนต้นใหญ่ ๆ เช่น ต้นขนุน มะม่วงมัน และชมพู่ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีพืชประดับล้มลุกเล็ก ๆ และที่ขาดไม่ได้ก็คือต้นโป๊ยเซียน เท่าที่ผู้ศึกษาสังเกตดูก็มีราว ๆ 10 -15 ต้น ปลูกใส่กระถางไว้ วางบนไม้เป็นชั้น ๆ กลางแจ้ง สวยงามดีมีหลายสีและเป็นช่อชุดใหญ่ ๆ บางช่อก็มี 10-16 ดอกเรียงเป็นกลุ่มกัน ทั้งนี้เนื่องจากตอนที่เจ๊กุ่ยทำโรงงานน้ำปลาที่มหาชัย บริเวณชานด้านริมแม่น้ำท่าจีนนั้น ก็ได้ปลูกต้นโป๊ยเซียน ไว้หลายสิบต้น ยามว่าง เย็น ๆ  เจ๊กุ่ยก็จะลงมาดูแล ตัดแต่ง และถือว่าต้นโป๊ยเซียนเป็นพืชมงคล

             

บทที่ 4 การครองเรือน

 

            เมื่อตอนที่เจ๊กุ่ยอายุได้ 23 ปี หรือราว ๆ ปี พ.. 2507 ก็ได้รู้จักไต๋เรือที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ชื่อ สุชาติสุชาติมักจะออกเรือไปหาปลาในทะเล ตั้งแต่อ่าวไทย จนถึงอินโดนีเซีย ชอบพอและได้อยู่กิน แต่ไม่ได้แต่งงานกัน แม้ว่าน้อง ๆ จะไม่ค่อยชอบใจนายสุชาตินัก เพราะเห็นว่าต้องเดินทางไปในทะเล เสี่ยงอันตราย และติดสุรา บางครั้งก็พูดจาโผงผาง

            ประมาณ 1-2 เดือน สุชาติ จะขึ้นบกกลับมามหาชัยครั้งหนึ่ง และอยู่ที่มหาชัยได้สักสัปดาห์ ช่วงนั้น เจ๊กุ่ยมีความสุขมาก (ช่วงที่กล่าวถึงเรื่องนี้ ตาเธอจะเป็นประกายและอมยิ้ม เขิน ๆ เล็กน้อย ดูมีความสุข ใบหน้าเปล่งปลั่งอ่อนวัยขึ้นอย่างชัดเจน แย้งกับอายุปัจจุบัน) ด้วยความรักและความคิดถึง ช่วงไหนที่สุชาติ ออกทะเลใกล้ ๆ 3-4 วัน ไปแค่อ่าวไทย เพื่อจับปลาทู เจ๊กุ่ยก็จะออกทะเลไปด้วย บางครั้งก็มีเหตุการณ์น่าสะพรึงกลัว เจอคลื่นทะเลแรง ๆ เรือแกว่งไปแกว่งมาทั้งลำ ต้องเห็นความกลาหลในการชันเรือเพื่ออุดรอยรั่วบ้าง ทั้ง ๆ ที่อยู่ในอ่าวไทยใกล้ ๆ ชายฝั่ง และก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่ชั่วโมงทะเลจะดูสงบก็ตาม ลูกเรือบางคน เมาสุรา ตกทะเลหาศพไม่เจอก็มี เจ๊กุ่ยเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ของคนเรือดี เพราะสัมผัสมาตั้งแต่เด็ก ๆ มีเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง ในช่วงนั้นเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการเดินเรือยังไม่ดีนัก ระบบอุตุนิยมวิทยา การพยากรณ์อากาศยังไม่แม่นยำ มักจะมีการสูญเสียชีวิตของลูกเรือ และเรือล่มอยู่เนือง ๆ

            เจ๊กุ่ยคบหากับสุชาติได้ 3 ปีกว่า ๆ แต่ก็ไม่ได้มีบุตรด้วยกัน มีอยู่คราวหนึ่ง นายสุชาติต้องออกเรือไปตอนเหนือของอินโดนีเซียใกล้ ๆ กับเกาะบอร์เนียว (ชาวประมงไทยในช่วงนั้นไม่สามารถออกทะเลไปทางเวียดนามหรือทางตอนใต้ของกัมพูชาได้ เพราะช่วงนั้นเกิดสงครามเวียดนาม เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย จึงต้องเบนเข็มมาหาปลาแถบน่านน้ำของอินโดนีเซียแทน) เมื่อคราวไปส่งสุชาติที่ท่าเรือ เจ๊กุ่ยรู้สึกสังหรณ์ใจประหลาดอยู่ สีหน้าสุชาติดูหม่น ๆ แต่งชุดไต๋เรือกางเกงขาก๊วยสีดำ เสื้อยืดก็สีดำ ซึ่งปกติแล้ว นายสุชาติมักจะแต่งกายชุดสีสดใสเสมอ เหมือนจะเป็นลางสังหรณ์อะไรสักอย่าง

            สองสัปดาห์ต่อมา เจ๊กุ่ยก็ทราบข่าวจากทางท่าเรือที่ติดต่อประสานงานกับทางอินโดนีเซียว่า สุชาติเสียชีวิตแล้ว โดยพลัดหล่นลงในทะเล เจ๊กุ่ยทราบว่าโดยแท้จริงแล้ว (สุชาติมักจะบ่น ๆ ให้ฟังเสมอถึงเรื่องมีลูกเรือบางคนแข็งข้อ ไม่ค่อยเชื่อฟังและประสงค์ร้าย)  เกิดการจลาจลในเรือ ลูกเรือจำนวนหนึ่งทำร้ายและผลักสุชาติตกทะเล แต่ก็เอาผิดอะไรไม่ได้ ไม่มีหลักฐาน เจ๊กุ่ยได้แต่กำมัดและขบกรามแน่น ญาติ ๆ ของสุชาติซึ่งมีเชื่อสายจีนอยู่ที่อีสาน พอทราบข่าว ก็จะเอาเรื่องเอาราวกับลูกเรือ แต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไร เพราะลูกเรือต่างให้การตรงกันว่าสุชาติผลัดตกทะเลไปเอง และลูกเรือบางคนที่จะเป็นพยานสำคัญให้ได้ก็ลาออกไป หาตัวไม่เจอ จึงคว้าน้ำเหลวที่จะเอาผิดลูกเรือเหล่านี้ได้ ญาติ ๆ ทั้งฝ่ายสุชาติและน้อง ๆ ของเจ๊กุ่ย ต่างก็เข้ามาปลอบใจ เจ๊กุ่ยก็นึกขอบคุณกับความเห็นอกเห็นใจที่มีให้

            เจ๊กุ่ยรู้สึกเศร้าใจมาก ร้องห่มร้องไห้หลายวัน ดูเหมือนว่าโลกนี้ช่างร้ายเหลือทน ทุกอย่างดูดำมืดไปหมด ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน เวลานาทีหยุดนิ่งไม่เคลื่อนไหว ไม่มีกำลังใจและเรี่ยวแรงพอที่จะดำเนินชีวิตต่อไป เมื่อตื่นนอนทีไรก็ยังจำหน้าและนึกถึงสุชาติได้ตลอด ต้องนั่งสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ บางครั้งก็นั่งรถ บ.ข.ส. คนเดียวไปถึงอุดรธานี ได้นั่งสมาธิกับหลวงพ่อที่สำนักสงฆ์สายวิปัสสนาอยู่เกือบเดือน จนจิตใจสงบทุเลาลง และพอจะตัดใจได้ พอมีกำลังที่จะลุกขึ้นสู้ชีวิตต่อไป ตั้งแต่นั้นมา เจ๊กุ่ยก็ไม่เคยสนใจมองชายคนไหนอีกเลย แม้ว่าตนเองยังสาวอยู่ และมีหนุ่ม ๆ มาจีบหลายคน แต่ก็ถือว่าหัวใจของตัวเองได้ปิดลงแล้ว นับแต่นี้ต่อไปจะมุ่งทำงานและทำมาหากินเพื่อเลี้ยงดูน้อง ๆ ให้เติบโตและเรียนหนังสือให้สูงที่สุดเท่าที่จะส่งได้ น้อง ๆ จะได้อยู่อย่างมีหน้ามีตาในสังคมคนมหาชัยต่อไป

 

บทที่ 5 วัยทำงาน

 

            หลังจากการที่ได้ขายอาหารทะเลแห้งในมหาชัยมาหลายสิบปี เจ๊กุ่ยก็เล็งเห็นว่าในมหาชัยเป็นทำเลที่เหมาะสมในการทำโรงงานน้ำปลา เพราะมีวัตถุดิบมาก เช่น ปลากะตะ ที่ชาวประมงจับปลามา เศษหัวปลา เหงือกปลา ไส้ปลาที่เหลือจากการแปรรูปในโรงงานเล็ก ๆ สองฝั่งแม่น้ำท่าจีน หากนำมาขายก็มีราคาไม่มากนัก ควรนำมาแปรรูปเป็นสินค้าอย่างอื่นจะดีกว่า นั่นก็คือ น้ำปลา กุ้งฝอยก็มีมาก ไส้ เกล็ด ก็างและเหงือกปลาที่เหลือจากตลาดสดและโรงงานแปรรูปปลาทั่วไปก็มีมาก ตลอดจนเกลือสมุทรก็มีคุณภาพดี ราคาถูก สามารถหาได้ง่าย ๆ จากแถบแม่กลองหรือสมุทรสงคราม ที่มีนาเกลือเป็นพื้นที่กว้างขวาง อยู่ห่างจากมหาชัยไม่ไกลนัก ประมาณ 20 กว่ากิโลเมตร เจ๊กุ่ยได้ศึกษา พูดคุยหารือกับผู้รู้ต่าง ๆ คนที่ทำโรงงานน้ำปลาอยู่แล้ว เป็นเพื่อนกัน และเพื่อน ๆ นั้นก็ทำน้ำปลาส่งไม่ทัน ตลาดต่างจังหวัดที่ต้องการน้ำปลาคุณภาพดี แต่ราคาไม่แพงยังมีอยู่มาก (กอปรกับช่วงนั้น มีการสร้างถนนมิตรภาพในภาคอีสาน การคมนาคมดีขึ้นมาก อีสานจึงเป็นตลาดสำคัญในการส่งน้ำปลาไปจำหน่าย รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศก็เริ่มดีขึ้น ด้วยเงินดอลล่าร์ ที่ได้มาจากการตั้งฐานทัพของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย เพื่อทำสงครามในเวียดนาม)  เจ๊กุ่ยจึงเริ่มทำธุรกิจโรงน้ำปลา โดยมีสมสวัสดิ์ น้องชายคนที่สองเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคอยช่วยเหลือ เริ่มต้นเป็นโรงน้ำปลาเล็ก ๆ ใกล้ ๆ แม่น้ำท่าจีน ทำไปก็เรียนรู้ไป ลองผิดลองถูก หลายครั้งหลายหนที่เมื่อหมักปลาแล้ว พอนำมาต้มมากรอง คุณภาพไม่ดี เสีย ต้องเททิ้ง ขาดทุนไปไม่น้อยในช่วงปีแรก ๆ โรงงานน้ำปลาที่ตั้งขึ้นใช้ชื่อว่าโรงน้ำปลา ทิพย์สุวรรณถัดจากปีแรกที่ลองผิดลองถูก เจ๊กุ่ยก็ได้เรียนรู้และจับทางได้ สามารถพัฒนาสูตรได้เอง กิจการเริ่มดีขึ้น เป็นที่รู้จัก มีลูกค้ามากขึ้น มีทั้งลูกค้าขาประจำและขาจร เจ๊กุ่ยเน้นขายส่งมากกว่าขายปลีก เพราะไม่มีกำลังคนมากพอที่จะมาเปิดหน้าร้านขายเป็นขวด ๆ  

ต่อมาจำนวนลูกค้ามีมากขึ้น ลูกค้าแต่ละรายก็สั่งซื้อเป็นปริมาณมากด้วยเช่นกัน น้ำปลาได้จัดจำหน่ายไปทั่วประเทศ บางรายมาซื้อและไปผสมใหม่ ด้วยการเติมน้ำต้มกระดูกวัวลงไป ติดยี่ห้อใหม่ขายในตลาดระดับล่าง ให้แก่ผู้ใช้แรงงานต่าง ๆ เป็นต้น

ฐานะความเป็นอยู่ของเจ๊กุ่ยและน้อง ๆ ก็ดีขึ้นเป็นลำดับ ตั้งตัวได้ สามารถส่งน้อง ๆ เรียนหนังสือที่กรุงเทพ โดยให้พักที่หอ และนั่งรถไฟสายวงเวียนใหญ่-แม่กลองกลับมหาชัยทุกเสาร์-อาทิตย์

มีอีกเรื่องหนึ่งที่เจ๊กุ่ย ภูมิใจกับ อรทัยน้องสาวคนรองสุดท้องมาก อรทัยเป็นน้องที่น่ารัก ฉลาด หัวดี ได้เรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ จบมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสตรีวิทยา และสอบเรียนแพทย์จนจบจากมหาวิทยาลัยมหิดล ศิริราชพยาบาลได้ ปัจจุบันเป็นแพทย์ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แต่เจ๊กุ่ยก็แปลกใจเหมือนกันว่า เวลาอรทัยกลับมาบ้านหรืออยู่ที่หอพัก ก็เอาแต่นอนแล้วก็อ่านหนังสือ จะหนักไปทางเอาแต่นอนมากกว่า เพียงไม่กี่ปี เผลอแป๊บเดียว อรทัยก็เรียนจบแพทย์แล้ว ผู้ศึกษาสังเกตเห็นเจ๊กุ่ยหัวเราะดีใจออกมาดัง ๆ  

เจ๊กุ่ยยุ่งมาก สนุกกับงาน จนไม่มีเวลาคิดถึงเรื่องความรัก เรื่องของตัวเอง ทำงานไปก็เพราะน้อง ๆ และหวังเอาชนะต่อคำเย้ยยัน ถากถางของคนไทยเชื้อสายจีนที่อยู่ในตลาดมหาชัยด้วยกันเอง

ต่อมากลางปี พ.. 2512 น้องชายคนสุดท้องชื่อ ชัยพรซึ่งเจ๊กุ่ยรักมากนั้น หลังจากที่ได้จบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัยแล้ว ก็ไม่อยากเรียนหนังสือต่อ ต้องการจะออกทะเลเป็นไต๋เรือ เจ๊กุ่ยห้ามเท่าไรก็ไม่ฟัง เพราะมีประสบการณ์ที่ไม่ดีสะเทือนใจที่ได้เสียบิดาและสุชาติไปในทะเล ก็เสียใจมาก ชัยพรตกลงใจจะเป็นไต๋เรือให้ได้

ชัยพรเป็นหนุ่มน้อยที่มีหน้าตาดี ผิวขาว สูง แข็งแรง อุปนิสัยนักเลง ไม่ยอมคน มีลักษณะเป็นผู้นำ แต่มีนิสัยซื่อตรง ตรงไปตรงมา ออกจะใจร้อน ได้ออกทะเลไป โดยดูแลลูกเรือนับสิบคน ช่วงแรก ๆ ก็วนเวียนในอ่าวไทย พอคล่องและคุ้นกับทะเลมากขึ้นก็ล่องเรืออ้อมช่องแคบมะละกาไปถึงทะเลอันดามัน แถบกระบี่ สตูล ภูเก็ต และวกกลับมายังตอนเหนือของอินโดนีเซีย เมืองอาเจะห์ (Aceh)  เกาะสุมาตรา เกาะชวา แถบเกาะบอร์เนียว ซาราวัค บางครั้งก็ล้ำน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้านเข้าไปถึงติมอร์ และหมู่เกาะนิวกินี ชัยพรก็ส่งข่าวสารมาบ้างเป็นระยะ ๆ ชัยพรเคยออกทะเลไปถึงทะเลอาหรับแถบตะวันออกกลาง เยเมน โอมาน (ซึ่งต่อมาชัยพรก็มีธุรกิจ ร่วมค้าหรือ Joint Venture กับผู้ประกอบการโอมาน เยเมน ในช่วงสิบปีต่อมา จนถึงปัจจุบัน)

เจ๊กุ่ยก็ทำงานตามปรกติ และมีสมสวัสดิ์น้องชายคนที่สองคอยช่วยงาน ทำให้กิจการโรงงานน้ำปลาก็ดีขึ้นตามลำดับ เป็นโรงงานน้ำปลาระดับแนวหน้าของจังหวัด จากนางสาวกุ่ย หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า กุ่ยก็เริ่มเป็นที่รู้จักว่า เจ๊กุ่ยๆ ก็เริ่มมีบทบาทในสังคมข้าราชการ คหบดี ผู้ประกอบการทั่วไปในจังหวัดสมุทรสาครหรือมหาชัย เจ๊กุ่ยได้เป็นถึงกรรมการและเลขานุการสมาคมผู้ค้าสัตว์น้ำสะพานปลามหาชัย อีกหลายสมาคมและหลายชมรมในจังหวัดสมุทรสาคร

ข้าง ๆ โรงงานน้ำปลาของเจ๊กุ่ย ก็มีครอบครัวชาวจีนใหญ่รายหนึ่งที่มี เฮียเจียงเป็นผู้นำครอบครัวและเป็นต้นตระกูล เมืองผลิตผลมีธุรกิจมากมาย มักคุ้นกับเจ๊กุ่ยดี ต่อมาเฮียเจียงได้ลงสมัครเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ที่ช่วงหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค เฮียเจียงได้รับเลือกตั้งเป็น ส.. มหาชัยหรือจังหวัดสมุทรสาครหลายสมัยต่อเนื่องกันถึง 6 สมัย ทำให้ส่งผลต่อบารมีและชื่อเสียงของเจ๊กุ่ยไปด้วย ในฐานะที่เป็นคนใกล้ชิด แต่เป็นหัวคะแนนสำคัญให้แก่เฮียเจียง (ซึ่งปัจจุบันเฮียเจียง เมืองผลิตผลได้ถึงแก่กรรมไปหลายปีแล้ว)

ผู้ศึกษาสังเกตอากัปกิริยา รวมทั้งสีหน้า น้ำเสียงและการหัวเราะของเจ๊กุ่ย ก็ทราบได้ว่าเจ๊กุ่ยรู้สึกชื่นชมและขอบคุณเฮียเจียงอยู่มาก ที่มีส่วนสำคัญส่งเสริมให้ตนสามารถยืนหยัดเป็นนักธุรกิจระดับแนวหน้าที่มีชื่อเสียงรายหนึ่งในมหาชัย

ในช่วงประมาณปี พ..2520-2526 นับเป็นช่วงชีวิตที่เจ๊กุ่ยรุ่งโรจน์มาก มีทั้งเกียรติ บารมี และฐานะก็เริ่มเป็นปึกแผ่น ชัยพรน้องชายคนเล็กก็ขึ้นบก หลังจากเป็นไต๋เรืออยู่ได้ร่วม 12 ปี ไม่ออกทะเลไปหาปลาไกล ๆ อีกแล้ว ชัยพรก็คิดจะทำห้องเย็นเก็บฝากสินค้าทางทะเล เพราะตนเองเติบโตมากับน้ำเค็ม รวมทั้งเห็นช่องทางธุรกิจว่า ปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ ที่ได้จากเรือประมงนั้นยังขาดแคลนที่เก็บ

ในช่วงเริ่มแรกชัยพรก็เช่าที่ที่เป็นที่รกร้างใกล้ ๆ สะพานปลาซึ่งเป็นของเจ๊กุ่ยซึ่งซื้อเก็บไว้นานแล้ว ใช้เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ก่อสร้างห้องเย็นขึ้นมา โดยใช้เงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 5 ล้านบาท ซึ่งในช่วงนั้น ปี พ.ศ.2523 ถือว่ามากสำหรับเจ๊กุ่ย เงินที่นำมาลงทุนนั้นก็มาจากการที่ชัยพรเก็บหอมรอมริบบ้าง ไปหยิบยืมร้านค้าต่าง ๆ ในตลาดมหาชัยบ้าง ขอยืมเจ๊กุ่ยบ้าง ซึ่งเจ๊กุ่ยก็ได้ดุว่าชัยพร ว่าใช้เงินเปลืองไม่กลัวเจ๊งหรือ แม้จะดุว่าอย่างไร ด้วยความรัก เจ๊กุ่ยก็ใจอ่อน หาเงินมาร่วมลงทุนให้ชัยพรน้องชายคนสุดท้องจนได้ และก็ได้เงินทุนส่วนหนึ่งจากสมสวัสดิ์ น้องชายคนที่สองมาช่วยลงทุนด้วย

กิจการห้องเย็นในช่วงเริ่มต้น ปีสองปีแรกนั้นไม่ดีเลย ขาดทุน ด้วยความที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้เรื่องการจัดการ ความเป็นมือใหม่ ขาดการวางแผนที่ดี ช่วงนั้นตึงเครียดมาก แต่ชัยพรก็ดึงดันทำกิจการห้องเย็นต่อไป เพราะด้วยนิสัยไม่ยอมแพ้ กล้าได้กล้าเสีย อดทนทำต่อไป

ชัยพรได้ชักชวนญาติของเพื่อนที่เคยอยู่เรือด้วยกัน ซึ่งญาติของเพื่อนสองคนนี้ คนหนึ่งจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมโยธา และอีกคนจบปริญญาตรีด้านการตลาด มาช่วยกันทำห้องเย็น

ด้วยความบากบั่น สู้ไม่ถอย จิตใจนักเลง กอปรกับความเข้าใจคน ละเอียดกับบุคลากร คนไหนทำงานดีก็จะให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม จริงใจกับลูกน้อง แม้ว่าตนเองจะลำบาก ยังไง ๆ ลูกน้องต้องอิ่มท้องก่อน ได้เงินเดือนค่าจ้างครบและตรงตามกำหนดทุกสิ้นเดือน ทำให้กิจการห้องเย็นในช่วง 3-4 ปีต่อมา เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ และญาติของเพื่อนทั้งสองคนก็มีบทบาทสำคัญต่อการขยายกิจการให้รุดหน้าไปเรื่อย ๆ บริษัทนานาชาติของญี่ปุ่นมาตกลงทำสัญญาจ้างให้ห้องเย็นผลิตอาหารทะเลแปรรูปให้ โดยได้จัดส่งใส่ตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกตรงไปญี่ปุ่น โดยเฉพาะบริษัทอิโตชู (Itoshu Inc.) ซึ่งเป็นบรรษัทนานาชาติขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นซึ่งมีกิจการมากมายหลากหลาย รวมทั้งธุรกิจการค้าด้านอาหารทะเล ทำให้ฐานะทางการเงินของห้องเย็นมั่นคงขึ้น

และชัยพรก็ได้พันธมิตรทางการค้าที่เป็นหุ้นส่วนสำคัญในการทำให้ห้องเย็นในช่วงเริ่มต้น ดำเนินไปได้ด้วยดีมั่นคงมากยิ่งขึ้นไปอีก นั่นก็คือได้ คุณบรรพจ ผู้เป็นเจ้าของกิจการการค้า Broker ที่มีฐานลูกค้าสำคัญในสหรัฐอเมริกาทั้งฝั่งตะวันออก (East Coast) และฝั่งตะวันตก (West Coast) มาร่วมทำธุรกิจด้วย

จากห้องเย็นรับฝากสินค้าทางทะเลธรรมดา ๆ ก็เปลี่ยนเป็นบริษัท มีกระบวนการผลิตแปรรูปสินค้าทางทะเล โดยเฉพาะการแล่ปลากระพงแดง (Red Snapper) ที่จับได้จากแถบน่านน้ำทางตอนเหนือของออสเตรเลีย แถบเมืองดาร์วิน และทะเลแถบเกรทแบรี่รีฟ ยอดขายเริ่มมากขึ้น ลูกค้าเริ่มหลากหลายมีลูกค้าทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเซีย ตลอดจนลูกค้าในประเทศ

จากเดิมห้องเย็นมีคนงานแค่สิบกว่าคน ปัจจุบันมีมากถึง 800 คน เจ๊กุ่ยดีใจและภูมิใจกับ ชัยพรนี้มาก แต่ก่อนหน้าที่กิจการจะเติบโตถึงขนาดนี้ได้ก็ผ่านวิกฤตการณ์ชีวิตและวิกฤตการณ์ทางการเงินมาหลายครั้ง ครั้งใหญ่ ๆ ก็คือในช่วงปี พ.. 2527-2528 ช่วงนั้นมีการลดค่าเงินบาท ซึ่งตรงกับสมัยรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ชัยพรได้กู้เงินจากสถาบันการเงินเป็นจำนวนมาก กู้มากที่สุดเท่าที่จะกู้ได้ เพราะกิจการห้องเย็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนสูง และเป็นสกุลเงินยูเอสดอลล่าร์ ทำให้ยอดหนี้คงค้างสูงเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว กิจการห้องเย็นต้องประสบปัญหาอย่างหนักในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย

เจ๊กุ่ยต้องช่วยเหลือน้อง โดยนำเงินสดสำรองที่เก็บหอมรอบริบไว้ และต้องขายที่ดิน ทรัพย์สินบางรายการมาประคับประคองธุรกิจของชัยพรเอาไว้ บ่อยครั้งที่ตึงเครียด ทะเลาะกัน มีการขึ้นปากขึ้นเสียงกับชัยพร ๆ ต้องร้องไห้เอาบ่อย ๆ แต่ก็ผ่านวิกฤตการณ์นี้มาได้ ผู้ศึกษาได้สังเกตเห็นว่าในระหว่างที่สนทนาในเรื่องนี้ เจ๊กุ่ยถอนหายใจยาว สีหน้าตึง ๆ และเหม่อมองออกไปข้างนอกเป็นบางครั้ง

            และในช่วงปี พ..2526-2528 นั้นเอง โชคร้ายก็ซ้ำเติมเจ๊กุ่ยอีกครั้ง ลูกหนี้การค้าและเพื่อนที่สนิทบางคน มาหยิบยืมเงินไปแล้วไม่คืน พอทวงก็เฉย ๆ และจะขอยืมเงินเพิ่มเติมอีกก็มี บางรายก็หนีหน้าไปเลย เจ๊กุ่ยซึมเศร้ามาก การเงินมีปัญหา กลุ้มใจ ซึ่งเจ๊กุ่ยวิจารณ์ตนเองว่า นับเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของตน การใจอ่อน การไว้ใจเพื่อน คนสนิท การรู้สึกอยากจะให้ ไม่อยากเอาเปรียบใครแต่ก็กลับกลายเป็นบูมเมอแรงเหวียงกลับมาหาเจ๊กุ่ยในภายหลัง (ผู้ศึกษารู้สึกแปลกใจที่เจ๊กุ่ยกล่าวถึงบูมเมอแรง-Boomerang ที่เป็นอาวุธของชาวอะบอริจิ้น (Aborigin) ชนพื้นเมืองของออสเตรเลีย ซึ่งอนุมานว่า เจ๊กุ่ยซึมซับและได้ศึกษามาจากการไปเที่ยวต่างประเทศกับเพื่อน ๆ นั่นเอง)  ซึ่งทำให้เจ๊กุ่ยไม่อยากทำอะไร อยากอยู่เฉย ๆ ดูแลหลาน ทำบุญ ไม่อยากรับรู้เรื่องธุรกิจของ ชัยพร

            ต่อมาก่อนปี พ.. 2530 ชัยพรก็แต่งงานมีครอบครัว มีบุตรธิดารวม 4 คน ชัยพรจึงใช้เวลากับงานและครอบครัวมากขึ้น ไม่ค่อยสุงสิงเอาใจใส่กับเจ๊กุ่ยเหมือนแต่ก่อน บางครั้งก็มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันในครอบครัวของชัยพรเอง และครอบครัวของน้อง ๆ คนอื่น ๆ ต้องมาให้เจ๊กุ่ยรับทราบและตัดสินปัญหา และบางครั้งก็ต้องช่วยเหลือทางการเงินด้วยบ้าง หลัง ๆ มา ก็เป็นการขอความช่วยเหลือเรื่องเงินทองจากเจ๊กุ่ยถี่ขึ้น เป็นการขอยืมเงินแล้วไม่ให้คืน นั่นก็คือถือเสียว่าเป็นการให้ไปเลย ด้วยความรักน้อง ๆ และหลาน ๆ ก็ไม่รู้จะปฏิเสธอย่างไร

            ลูกชายคนเล็กคนหนึ่งของชัยพร ชื่อพัทเตอร์มีปัญหาพิการเป็นใบ้มาแต่กำเนิด หน้าตาน่ารัก ชัยพรและภรรยา (ซ้อจรรยา) หนักใจและวิตกกับบุตรชายคนนี้มาก เวลาคุยถึงเรื่องลูกคนโตและลูกคนอื่น ๆ ชัยพรและจรรยาจะพูดถึงด้วยความชื่มชม หัวเราะ ยกเรื่องตลกขบขัน ความน่ารักต่าง ๆ มาเล่า แต่พอกล่าวถึง พัทเตอร์ ทั้งชัยพรและจรรยา จะเงียบนิ่ง สีหน้าเครียดขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด (เจ๊กุ่ยเล่าให้ทราบ ซึ่งผู้ศึกษาไม่ได้สังเกตเห็นจริง) ปัจจุบันพัทเตอร์อายุ 7 ขวบ ด้วยความรักและความเอ็นดูต่อหลานชาย ประจวบกับตนเองเป็นหม่าย ไม่มีบุตร เจ๊กุ่ยจึงรับพัทเตอร์ ไว้เป็นบุตรบุญธรรม

 

บทที่ 6 วัยเกษียณ และชีวิตความเป็นอยู่ปัจจุบัน

 

            เจ๊กุ่ยรู้สึกเหนื่อยอ่อน ไม่มีแรง ไม่อยากจะรับรู้ปัญหา การขอความช่วยเหลือจากญาติ ๆ เพื่อนสนิท สัพเพเหระ มโนสาเร่ ต่าง ๆ รวมทั้งการก่อสร้างการลงทุนที่ไม่รู้จักหยุดจักหย่อนของ ชัยพร (ซึ่งเรื่องนี้ ก็จะกล่าวโทษชัยพรฝ่ายเดียวไม่ได้ ทั้งนี้เพราะโดยลักษณะธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปเพื่อส่งออกนั้น จำเป็นต้องอาศัยเงินทุนหมุนเวียนในเกณฑ์สูง บางครั้งต้องกล้าลงทุน หรือประมูลซื้อปลาล็อตใหญ่ ๆ มาแปรรูปแล้วจำหน่าย เนื่องจากปริมาณสัตว์น้ำในท้องทะเลร่อยหรอ และมีจำกัด คู่แข่งขันรายใหญ่และรายย่อยก็มีมากขึ้น พร้อมทั้งต้องพัฒนาสายผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อธำรงความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเอาไว้) ทั้ง ๆ ที่มีโรงงานใหญ่โตพร้อมมูลอยู่แล้ว ก็ยังจะให้เจ๊กุ่ยร่วมลงทุนเพิ่มเติมเข้าไปอีก เจ๊กุ่ยเป็นห่วงก็เป็นห่วง อยากจะหนีก็อยากจะหนี จึงมอบโรงน้ำปลาให้สมสวัสดิ์ดูแลต่อ แล้วจึงตัดสินใจมาซื้อบ้านเดี่ยวสองชั้น มีเนื้อที่กว้างขวางพอสมควรในหมู่บ้านพุทธธานี แถว ๆ พุทธมณฑลสาย 4 อยู่กันสามคน มีเจ๊กุ่ย พัทเตอร์ และสมหมาย

            และข้อดีประการหนึ่งที่สำคัญในการย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านนี้ก็คือ เป็นการวางแผนให้ พัทเตอร์ เข้าเรียนที่วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล แถว  ๆ ศาลายา ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาสำหรับผู้พิการต่อไป

และทุกปี เจ๊กุ่ยจะไปเที่ยวต่างประเทศไปไกลถึงอเมริกา ออสเตรเลียและยุโรป (ตลอดจนเคยคิดจะไปภูฐาน จะไปพบเจ้าชายจิ๊กมี่ เจ๊กุ่ยหัวเราะอย่างอารมณ์ดี และเปิดเผย แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่ได้ไป) กับเพื่อน ๆ 4-5 คนที่เป็นก๊วนเดียวกันและคบกันมานานที่มหาชัย ซึ่งท่องเที่ยวไปก็เล่นไพ่รัมมี่ไปบ้าง สนุกสนามตามประสา ตามวัย ตามฐานะ  ได้ให้พัทเตอร์กลับบ้านไปเยี่ยมชัยพรและซ้อจรรยาที่มหาชัย ส่วนสมหมายนั้น ก็อยู่ดูแลบ้านที่พุทธมณฑล ซึ่งก็ไม่น่าเป็นห่วงอะไร

 

บทที่ 7 ความคาดหวังในอนาคต

 

            เจ๊กุ่ยไม่ได้หวังอะไรมากในชีวิตของตนเอง เพราะขณะนี้ก็อายุไม่ใช่น้อย หากจะตายไปก็ขอให้ไปอย่างมีสติ แต่ก็เป็นห่วงน้อง ๆ และหลาน ๆ อยากให้ทุกคนมีความสุขสบายเอาตัวรอดกันทุกคน ที่ห่วงมากที่สุดคือ พัทเตอร์ เพราะยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

ตอนนี้ก็ได้ทำพินัยกรรมไว้แล้ว ผู้ศึกษาได้ซักถามต่อไปว่าแบ่งทรัพย์สมบัติกันอย่างไร เจ๊กุ่ยได้แต่อมยิ้ม นิ่ง ไม่ตอบ ผู้ศึกษาจึงไม่อยากจะซักก้าวล่วงต่อไปมากกว่านี้

 

บทที่ 8 สิ่งสำคัญของชีวิต

 

            สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือ หวังให้น้อง ๆ หลาน ๆ เอาตัวรอด เจริญรุ่งเรืองกันทุกคน รวมทั้งบริษัทของน้องชาย ชัยพรก็ขอให้เจริญก็าวหน้าไปเรื่อย ๆ สามารถฝ่าฟันวิกฤติ นำพาบริษัทและพนักงานทุกคนไปรอดได้ ส่วนตนเองนั้นไม่ขออะไรอีกแล้ว

ตอนนี้ก็สวดมนตร์ ไหว้เจ้าแม่กวนอิมทุกคืน สวมสร้อยเป็นวัตถุมงคลเจ้าแม่กวนอิม และไม่รับประทานเนื้อวัว ถือศีลกินเจทุกปี ทำเช่นนี้มา 15 ปีแล้ว

ทุก ๆ ปี ก่อนวันที่ 5 เมษายน หรือวันเช็งเม้ง ราว ๆ หนึ่งสัปดาห์ เจ๊กุ่ยจะไปร่วมเซ่นไหว้บรรพบุรุษกับน้อง ๆ หลาน ๆ ญาติและเพื่อนสนิทกันที่สุสานชลบุรีเสมอมิได้ขาด เจ๊กุ่ยจะรับหน้าที่เตรียมอาหาร ส่วนน้อง ๆ จะเตรียมสุราจีน กระดาษกงเต๊กกัน ถือเป็นปีละครั้งที่ได้เจอญาติ น้อง ๆ หลาน ๆ พร้อมหน้าพร้อมตากัน แต่เจ๊กุ่ยก็ยังลำบากใจ อาจกล่าวได้ว่ามองหน้าไม่ติดกับญาติ ๆ และสะใภ้ของน้อง ๆ บางคนซึ่งมักจะสร้างเรื่องให้เจ๊กุ่ยเดือดเนื้อร้อนใจมาตลอด โดยการชักจูงโน้มน้าวให้เจ๊กุ่ยร่วมลงทุนในกิจการต่าง ๆ ที่เจ๊กุ่ยไม่คุ้นเคย ไม่สามารถติดตามผลการดำเนินงานได้และไม่เข้าใจกระบวนการธุรกิจ ต่อมาก็เงียบหาย เงินลงทุนสูญ ขาดทุน ไม่มีการเอ่ยถึง หรือคืนเงินต่อเจ๊กุ่ยแต่อย่างใด

ในพิธีเซ่นไหว้ เจ๊กุ่ยจะช่วยดายหญ้าตัดต้นไม้ที่รกรุงรังในสุสานด้วย แม้ว่าจะจ้างเจ้าหน้าที่ดูแลสุสานไว้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เรียบร้อย เจ๊กุ่ยต้องดายหญ้า ถอนวัชพืช ตกแต่งดูแลรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะดูเป็นเรื่องที่เล็กน้อย แต่เจ๊กุ่ยก็ยินดีทำ เพราะถือว่าเป็นการแสดงเจตนา สนองคุณแก่บิดามารดาและบรรพชนด้วยความเต็มใจ ด้วยความเคารพและระลึกถึง

ในทุก ๆ วัน ถ้าไม่เป็นวันพระ วันที่ฝนตกหนัก ตอนเช้าราว ๆ 7 โมง เจ๊กุ่ยก็จะมาร่วมตักบาตรถวายพระ ที่เดินบิณฑบาตรมาจากวัดนครชื่นชุ่ม กับเพื่อนบ้านอีก 4-5 คน ที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกันที่บริเวณหัวมุมซอย 11 ในหมู่บ้านพุทธธานี

หลังจากตักบาตรเสร็จ ก็พูดคุยทักทายกันเพื่อนบ้าน แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร วิพากษ์วิจารณ์การเมืองบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านที่ชื่อนางฐปณีย์นั้น จะให้ข้อมูลการบ้านการเมืองมากที่สุด ประมาณสัก 20 นาที ก็เดินกลับบ้าน โดยมีสมหมายคอยเดินตามและช่วยถือตะกร้าใส่บาตรกลับบ้าน เป็นเช่นนี้มาหลายปีแล้ว และเจ๊กุ่ยก็อยากให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ซึ่งเพียงพอแล้วสำหรับชีวิตของ นางสาวกุ่ย แซ่ตั้ง

 

===========

info@huexonline.com