ที่มา: advocatetanmoy.com, วันที่เข้าถึง: 27 กรกฎาคม 2565.
11. สฺตรีบรรพ01,01,02,03,04.
First revision: Jul.27, 2022
Last change: Nov.21, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
218
ข่าวการปราชัยของนักรบฝ่ายเการพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมรณกรรมของทุรโยธน์และอนุชาทั้ง 99 องค์ ได้สร้างความวิปโยคโศกสลดให้แก่พระประยูรญาติและบรรดาสตรีในราชสำนัก ณ นครหัสตินาปุระอย่างสุดซึ้ง เสียงพิลาปร่ำไห้และเสียงคร่ำครวญสะอึกสะอื้นดังก้องไปทั่วพระราชฐานชั้นใน เด็กใหญ่เด็กน้อยต่างก็ร้องไห้พิไรร่ำกันอยู่ ดูเป็นที่น่าเวทยายิ่งนัก.
แม้แต่ท้าวธฤตราษฎร์เองก็ทรงกลั้นน้ำพระเนตรไว้ไม่อยู่ พระองค์ทรงพระกันแสงปานประหนึ่งกุมารน้อยผู้ไร้เดียงสา และทรงปริเทวนาคร่ำครวญถึงพระโอรสอยู่นั่นแล้ว มิรู้จักสุดสิ้น.
สารถีสัญชัยได้เห็นสภาพของเจ้านายผู้มีพระเนตรพิการเป็นเช่นนั้น ก็ให้เกิดความเวทนาเป็นกำลัง จึงเข้าไปถวายอัญชลี ณ ที่ใกล้ แล้วทูลขึ้นว่า.
"ขอใต้ฝ่าพระบาทอย่าได้ทรงเศร้าโศกจนเกินไปนักเลย จะเป็นอันตรายต่อพระอนามัย ทุกสิ่งทุกอย่างได้ผ่านไปแล้ว และสิ่งที่ผ่านไปแล้วจะไม่สามารถกลับคืนมาได้อีกขอได้โปรดรีบจัดพิธีสังสการพระศพเถิดพระเจ้าค่ะ".
มหามติวิทูรก็ได้กล่าวคำปลอบพระทัยกษัตริย์ผู้เป็นชนกแห่งภราดาเการพเช่นเดียวกัน ตอนหนึ่งอำมาตย์เฒ่าผู้เรืองปัญญาผู้นี้ได้กราบทูลขึ้นว่า.
"ข้าพระพุทธเจ้าได้พยายามห้ามพระโอรสครั้งแล้วครั้งเล่า มิให้ก่อสงครามกับฝ่ายปาณฑพ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ต้องถือว่าเป็นกรรมเก่าของทั้งสองฝ่ายอย่างแน่นอน ขอใต้ฝ่าพระบาทจงระลึกถึงกฎแห่งกรรม แล้วก็ทรงคลายความเศร้าโศกเสียเถิดพ่ะย่ะค่ะ".
---------------
01. ภายหลังที่มหาภารตยุทธได้สิ้นสุดลงด้วยมรณกรรมของพี่น้องเการพทั้ง 100 องค์แล้ว บรรดาฝ่ายในคือสตรีแห่งราชสำนักเการพ ณ นครหัสตินาปุระ ก็เกิดความเศร้าโศกาดูรอย่างสุดซึ้ง ดังมีความพรรณนาอยู่ในบรรพนี้ เพราะฉะนั้น บรรพนี้จึงมีชื่อว่า สฺตรีบรรพ.
219
ฤๅษีวฺยาสผู้เฝ้าติดตามดูเหตุการณ์อยู่ทุกระยะ และทราบดีถึงมูลเหตุอันแท้จริงของสงครามครั้งนี้ ก็ได้สู้อุตส่าห์สละเวลาเดินทางจากอาศรมในป่ามาปลอบพระทัยท้าวธฤตราษฎร์ถึงนครหัสตินาปุระ โดยได้ทูลว่า.
"ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีวันเกิดแล้วก็มีวันดับ มนุษย์เราก็หนีจากกฎแห่งธรรมชาตินี้ไปไม่พ้น พระกฤษณะผู้เป็นอวตารปางที่ 8 ของพระวิษณุเทพเจ้าได้ตรัสไว้กับอาตมภาพว่า สงครามครั้งนี้อุบัติขึ้นเพื่อชำระล้างมลทินในโลก และเพื่อโลกจะได้บริสุทธิ์สะอาดยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ย่อมไม่มีผู้ใดจะสามารถยับยั้งสงครามมหาประลัยครั้งนี้ได้ ขอมหาบพิตรจงทำพระทัยให้สงบ และคลายความโศกเศร้าเสียเถิด".
เมื่อได้สดับคำเตือนสติของผู้มีทั้งอาวุโส และทั้งทรงศีลเช่นนี้ ท้าวธฤตราษฎร์ก็ค่อยคลายความโศกสลดลงบ้าง ครั้นแล้ว ท้าวเธอก็เสด็จไปยังสมรภูมิ กุรุเกษตร ในท่ามกลางการแห่ห้อมของเหล่าอิสตรีแห่งราชสำนัก ซึ่งแสดงอาการพิลาปร่ำกำสรวลไห้ตีอกชกใจไปตลอดทาง.
ระหว่างทาง ท้าวธฤตราษฎร์ได้พบกับกฤปาจารย์ อัศวัตถามา และกฤตวรมัน ผู้กำลังผละมาจากการเยี่ยมพระศพทุรโยธน์ ดังความปรากฎแล้วในเสาปฺติกบรรพ กฤปาจารย์ได้ทูลให้ท้าวธฤตราษฎร์ทรงทราบด้วยวาจาอันแสดงความเครียดว่า.
"โอรสของฝ่าพระบาทได้จากโลกนี้ไปสู่สรวงสวรรค์กันหมดแล้ว พวกเขาได้เสียชีวิตในสนามรบเยี่ยงชายในวรรณะกษัตริย์อย่างน่าสรรเสริญ แม้ฝ่ายเราจะมีเหลือเพียง 3 คน เท่าที่เห็นอยู่ที่นี่ แต่ฝ่ายปาณฑพก็มีเหลืออยู่เพียง 7 คนเท่านั้น ที่สำคัญก็คือ เราได้ตามไปล้างแค้นให้ทุรโยธน์โอรสของฝ่าพระบาทถึงในกระโจมที่พักของฝ่ายปาณฑพ แต่ขณะนี้ฝ่ายศัตรูมีกำลังเหนือกว่าฝ่ายเรา เราจึงต้องหลบหนีมาเช่นนี้".
ทูลเสร็จ ทั้ง 3 คนก็รีบควบม้าแยกย้ายกันไป กฤปาจารย์นั้นกลับเข้าสู่นครหัสตินาปุระ ข้างกฤตวรมันหลบไปซ่อนอยู่ ณ แคว้นโภชอันเป็นถิ่นของตน ส่วนอัศวัตถามาหนีไปอยู่ในอาศรมของฤๅษีวฺยาส ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคาใกล้ภูเขาหิมาลัย.
เมื่อได้เห็นทูลกระหม่อมลุง คือ ท้าวธฤตราษฎร์พร้อมด้วยฝ่ายในเสด็จไปถึงสมรภูมิเช่นนั้น องค์ยุธิษฐิระและอนุชาทั้ง 4 อีกทั้งพระกฤษณะก็รีบออกไปกระทำปัจจุคมนาการด้วยความนอบน้อม.
220
ท้าวธฤตราษฎร์ทรงสวมกอดยุธิษฐิระไว้คล้ายกับว่า ได้ทรงลืมความหลังเสียทั้งสิ้น แต่โดยแท้จริงแล้ว ในห้วงลึกแห่งพระทัยของกษัตริย์ชราผู้พระเนตรพิการพระองค์นี้ ยังร้อนระอุไปด้วยความเคียดแค้นชิงชังที่มีต่อภราดาปาณฑพ อันเนื่องมาจากการสูญเสียโอรสทั้ง 100 ของพระองค์ไปอย่างมิรู้จักจบสิ้น.
พระกฤษณะทรงทราบด้วยญาณวิเศษว่า ท้าวธฤตราษฎร์นั้นแม้จะอยู่ในวัยชรา แต่ก็มีพลังประดุจช้างสาร ท้าวธฤตราษฎร์ทรงชิงชังภีมะเป็นพิเศษ เพราะทุรโยธน์โอรสหัวปีของพระองค์สิ้นชีพลงด้วยน้ำมือของภีมะ และท้าวธฤตราษฎร์ต้องการจะแก้แค้นแทนทุรโยธน์ผู้ปิโยรสอยู่ทุกขณะ จึงแสร้งทำเป็นโอบกอดแล้วก็จะรัดองค์ภีมะให้ตาย ในเมื่อภีมะเข้าไปถวายบังคมเช่นเดียวกับปาณฑพองค์อื่น ๆ แต่พระกฤษณะทรงทราบความในพระทัยของท้าวธฤตราษฎร์ได้ล่วงหน้าเป็นอย่างดี ดังนั้นพระองค์จึงเตรียมให้มีการหล่อประติมาของภีมะขึ้นด้วยเหล็ก เมื่อท้าวธฤตราษฎร์ทรงสวมกอดประติมาเหล็กนั้นด้วยพลังเยี่ยงพญาช้างสาร ประติมาเหล็กกล้านั้นจึงถึงแก่การแตกสลาย ครั้นแล้ว ด้วยความสำนึกบาปและเศร้าพระทัยว่า พระองค์ได้ฆ่านัดดาของพระองค์เองเสียแล้ว ท้าวธฤตราษฎร์ก็ทรงพระกันแสงเสียงดังอย่างคลุ้มคลั่งคล้ายคนวิกลจริต.
พระกฤษณะตระหนักในพระทัยและความนึกคิดของท้าวธฤตราษฎร์เป็นอย่างดี จึงตรัสขึ้นว่า.
"ดูก่อนราชัน! ฝ่าพระบาทไม่ต้องเสียพระทัยหรอก สิ่งแตกสลายไปนี้เป็นเพียงประติมาของภีมเสนเท่านั้น หาใช่เป็นภีมเสนตัวจริงไม่ ภีมเสนตัวจริงนั้นยังมีชีวิตอยู่".
คำตรัสของพระกฤษณะ ทำให้ท้าวธฤตราษฎร์ค่อยคลายพระทัยอันหม่นไหม้ลงได้บ้าง.
ต่อจากนั้น ฤๅษีวฺยาส พระกฤษณะ และกษัตริย์ปาณฑพทั้ง 5 ก็พากันไปเฝ้านางคานธารีของเการพ เพื่อปลอบพระทัย.
ฤๅษีวฺยาสได้กล่าวอารัมภกถาเป็นคนแรกว่า.
221
"เทวี! อย่าได้เศร้าโศกเสียพระทัยไปเลย ฝ่าพระบาทมิใช่หรือที่ได้ตรัสไว้ว่า ธรรมะอยู่ที่ไหน ชัยชนะย่อมอยู่ที่นั่น (ยโต ธรฺมสฺตโต ชยะ) บัดนี้เหตุการณ์ก็ได้พิสูจน์ความจริงข้อนี้ให้เป็นที่ประจักษ์แจ้งแล้ว ขอฝ่าพระบาทจงอย่าได้ทรงหวั่นไหวไปกับเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นเลย!".
นางคานธารีค้อมกายลงถวายอัญชลีฤๅษีวฺยาส แล้วตรัสว่า.
"พระคุณเจ้า! เป็นพระเดชพระคุณอย่างล้นพ้นที่พระคุณเจ้าอุตส่าห์เดินทางจากป่า มาปลอบใจข้าพเจ้าถึงที่นี่ ข้าพเจ้าทราบดีว่า ความหายนะอันใหญ่หลวงครั้งนี้เกิดจากความโลภ ความโกรธ และความหลงของลูก ๆ ของข้าพเจ้า และของศกุนิพี่ชายของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าไม่ถือโทษโกรธหลาน ๆ ปาณฑพเลย โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้ารักและเมตตาเด็กเหล่านี้เหมือนลูกของข้าพเจ้าเอง แต่ข้าพเจ้าขอบันทึกความลำเอียงของพระกฤษณะที่เข้าข้างฝ่ายปาณฑพไว้ ณ ที่นี้ เพราะทุก ๆ ท่านย่อมทราบดีจากพฤติการณ์ที่ได้ผ่านมาเป็นลำดับ นับแต่สงครามล้างโคตรนี้ได้ตั้งเค้าขึ้นมาแล้ว ข้าพเจ้าขอสาปแช่งให้กรรมนี้จงตามสนองพระกฤษณะ กล่าวคือ นับแต่นี้ไปถึง 36 ปี ขอให้พระกฤษณะและประยูรญาติอีกทั้งเสาวกามาตย์ราชบริพารตลอดจนโอรส จงรบราฆ่าฟันกันเอง และขอให้พระกฤษณะต้องซัดเซพเนจรไปจนสิ้นชีวิตลงในป่า โดยไม่มีใครรู้จักและช่วยเหลือ ขอพระกฤษณะจงประสบชะตากรรมเช่นที่พวกเรากำลังต้องประสบอยู่ในขณะนี้เถิด!".
คำสาปแช่งของนางคานธารีสตรีผู้ยึดมั่นในธรรมะ ทำให้พระกฤษณะและทุกคนซึ่งอยู่ ณ ที่นั้น ต่างหันไปมองหน้ากันอย่างตกตะลึง ทั้งนี้เพราะทุกคนทราบดีว่า วาจาของนางนั้นศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก กล่าวอย่างใดก็ต้องเป็นอย่างนั้น ทั้งนี้เนื่องจากอานิสงส์ที่นางได้บำเพ็ญไว้นานัปการ เป็นต้นว่า การที่นางยอมเสียสละเพื่อสวามี กล่าวคือ ยอมไม่มีเนตร โดยใช้ผ้าผูกนัยน์ตาของนางเองไว้ตลอดมา นับตั้งแต่ได้อภิเษกสมรสกับกษัตริย์ธฤตราษฎร์ ผู้มีพระเนตรเสียแต่กำเนิด.
ภีมเสนรีบเข้าไปกราบ ณ แทบบาทของนางคานธารี แล้วกล่าวขอขมาโดยอ้างว่า ที่ตนต้องรบนอกกติกาก็เพราะทุรโยธน์เป็นยอดของนักรบ หากต่อสู้กันด้วยวิธีธรรมดาแล้ว จะไม่มีทางเอาชนะทุรโยธน์ได้เป็นอันขาด ขอนางได้โปรดประทานอภัยแก่ตนด้วย.
222
"ภีมเสนลูกแม่! ถึงอย่างไร ๆ พวกเจ้าก็ไม่น่าจะประหัตประหารลูก ๆ ของแม่จนหมดสิ้นถึง 100 คนเช่นนี้! พวกเจ้าน่าจะเหลือไว้สักคนหนึ่ง เพื่อจะได้ทำบุญกรวดน้ำไปให้แม่ในเมื่อแม่หาบุญไม่ นี่พวกเจ้าฆ่าลูกแม่เสียหมดเลย แล้วแม่จะนอนตายตาหลับได้อย่างไรเล่า" พูดพลางนางคานธารีก็กันแสงสะอึกสะอื้นจนผืนผ้าที่นางใช้ปิดดวงเนตรทั้งสองข้างเปียกโชกไปหมด.
ต่อจากนั้นพราหมณ์เธามฺยะซึ่งเป็นปุโรหิตของฝ่ายปาณฑพ และพราหมณ์สุธรรมผู้ปุโรหิตของฝ่ายเการพ พร้อมทั้งมหามติวิทูรและสารถีสัญชัย ก็ได้ช่วยกันจัดพิธีสังสการศพนักรบผู้ที่เสียชีวิตในมหาสงคราม ท่ามกลางเสียงคร่ำครวญหวนไห้ของญาติมิตรผู้อยู่เบื้องหลัง ดูเป็นที่น่าเวทนาและน่าเศร้าสลดใจยิ่งนัก.
หลังจากที่ได้คลายความโศกเศร้าลงบ้างแล้ว นางคานธารีก็ได้พบนางเทฺราปที และได้กล่าวคำปลอบโยนในการที่นางเทฺราปที ก็ต้องสูญเสียโอรสทั้ง 5 เนื่องจากการที่อัศวัตถามาได้ลอบเข้าไปสังหารชีวิตธฤษฏะทฺยุมัน ในค่ายของปาณฑพ ดังได้พรรณนามาแล้ว ตอนหนึ่งนางคานธารีได้ตรัสว่า.
"เทฺราปทีลูกรัก! ทั้งเจ้าและแม่ต้องประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน ก็ใครเล่าจะเห็นหัวอกของแม่ นอกจากผู้ที่เป็นแม่ด้วยกันเท่านั้น ขอให้คิดเสียว่า เป็นกรรมเก่าของเราก็แล้วกันนะลูกนะ".
สมควรจะกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ตลอดเวลา 18 วันที่สงครามมหาภารตะดำเนินอยู่นั้น แม้ว่านางคานธารีจะได้ใช้ผ้าผูกเนตรทั้งสองข้างของนางเพื่อมิให้เห็นสิ่งไร เช่นท้าวธฤตราษฎร์ผู้สวามีตามที่ได้กล่าวมาแล้วก็ตาม แต่ด้วยอานุภาพแห่งการรักษาศีลและบำเพ็ญตนตามหลักคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัด ฤๅษีวฺยาสก็ได้ประทานพรให้นางมีดวงตาทิพย์ สามารถมองเห็นเหตุการณ์ในสนามรบได้เช่นสัญชัยผู้เป็นทั้งสารถีและที่ปรึกษาของท้าวธฤตราษฎร์เหมือนกัน.
มหามติวิทูรได้เตือนภราดาปาณฑพและนางเทฺราปทีให้ไปเฝ้านางกุนตีซึ่งกำลังรอพบอยู่ด้วยความเร่าร้อนใจ คงจะจำกันได้ว่า นางกุนตีผู้เป็นชนนีของยุธิษฐิระ ภีมเสน และอรชุน ได้รับการขอร้องจากมหามติวิทูรให้อยู่เสียด้วยกันในนครหัสตินาปุระ ระหว่างที่พี่น้องปาณฑพต้องร่อนเร่พเนจรอยู่ในป่าดงพงไพรตามเงื่อนไขแห่งการเล่นสกาแพ้ฝ่ายเการพ ทั้งนี้ก็เพราะนางกุนตีชรามากแล้ว มหามติวิทูรเกรงว่านางจะทนสู้กับความทุกข์ยากภายในป่าไม่ได้.
223
พอเห็นหน้า แม่ลูกก็โผเข้าสวมกอดกันด้วยน้ำตานองหน้า.
นางกุนตีได้เล่าให้ลูก ๆ ฟังว่า กรรณะนักรบผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งสิ้นชีวิตลงด้วยฝีมือของอรชุนนั้น แท้ที่จริงก็หาใช่ใครอื่นไม่ หากเป็นเชษฐภราดาของยุธิษฐิระ ภีมะและอรชุนนั่นเอง ต่อจากนั้น นางก็ได้เล่าชีวิตในอดีตของนางก่อนที่จะได้อภิเษกกับกษัตริย์ปาณฑุให้ลูกทั้ง 5 ฟัง ซึ่งปรากฎอยู่แล้วในบรรพที่ 1 และที่ 5 ตอนที่นางขอร้องมิให้กรรณะรบกับฝ่ายปาณฑพ ซึ่งความจริงข้อนี้ยิ่งสร้างความหม่นหมองใจให้แก่ภราดาปาณฑพเป็นทวีคูณ.
จบบรรพที่ 11: สฺตรีบรรพ
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic," ISBN: 978-0-2412-6434-8, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดัม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02. จาก. "มหาภารตยุทธ," แปลและเรียบเรียงโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, ISBN 974-85553-1-3, พิมพ์ครั้งที่สอง มกราคม 2533, สำนักพิมพ์บริษัท เคล็ดไทย จำกัด.
03. จาก. "The Mahābhārata," An abridged translation by JOHN D. SMITH, ISBN: 978-0-140-44681-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน บุ๊คส์, พ.ศ.2552. สหรัฐอเมริกา. www.penguin.com.
04. จาก. "The Mahabharata: Complete 18 volume," Veda Vyasa, Kisari Mohan Ganguli, แปล (เป็นภาษาอังกฤษ) [พ.ศ.2426-2439], ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2564 โดยสำนักพิมพ์ ซานซานิ.