MENU
TH EN
Title Thumbnail: กลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าปะโอ, ที่มา: Facebook เพจ "กลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าปะโอ," วันที่เข้าถึง 13 สิงหาคม 2564.
056. ปะโอ01,02.
First revision: Aug.13, 2021
Last change: Aug.13, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย 
 อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

      กลุ่มชาติพันธุ์ปะโอ ชาวปะโอ หรือต่องสูนั้น มีถิ่นฐานเดิมแถบเมืองตองยี ในรัฐฉาน ประเทศเมียนม่าร์ ทั้งนี้ ชาวปะโอมี เขตปกครองตนเองปะโอ (Pa-O Self-Administered Zone หรือ PAZ) ตั้งอยู่ในรัฐฉาน ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมาร์ ห่างจากพรมแดนไทยจังหวัดเชียงรายไปทางเหนือ ประมาณ 570 กิโลเมตร (ถ้าวิ่งตามเส้นทางถนน) ตั้งอยู่ไม่ไกลจาก เมือง “ตองยี” เมืองเอกของรัฐฉาน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญเมียนมาปี พ.ศ.2551 กำหนดให้ปะโอมีทั้งหมด 3 เมืองคือ “สี่แส่ง โหโปง ป๋างลอง”03.

      ความเป็นมาของชนชาติปะโอ และปกรณัมเล่าสืบต่อกันมา 
       มีปรากฏในนิทานปรัมปราของชนเผ่าว่า สมัยพระเจ้าติสสะครองเมืองสุภินนคร รัฐอปรันตกะ อำมาตย์ผู้หนึ่งมีบุตรสองคน ชื่อ ติสสะกับชัยยะ เมื่อเติบโตขึ้นทั้งสองคนเบื่อหน่ายในเพศฆราวาส จึงบวชเป็นฤาษีที่ภูเขาคัชชคีรี ครั้งนั้นมีวิชาธรตนหนึ่งร่วมประเวณีกับนางนาค นางนาคได้คลอดไข่ 2 ฟอง นางนาคมีความละอายจึงทิ้งไข่นั้นเสีย.

       ฤาษีติสสะได้ไข่มาแล้วจึงแบ่งให้ฤๅษีชัยยะเก็บไว้คนละฟอง เวลาล่วงไปไข่ทั้งสองฟองก็แตกออกเป็นกุมารสองคน เมื่อทั้งสองกุมารมีวัย 10 ขวบ กุมารผู้น้องถึงแก่กรรม ได้ไปเกิดเป็นกุมารชื่อ ควัมปติ ในเมืองมิถิลา มัชฌิมประเทศ ควัมปติกุมารเมื่ออายุได้ 7 ขวบ ได้บรรพชาในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่นานก็สำเร็จอรหันต์.

       ฝ่ายกุมารผู้เป็นพี่ เมื่ออายุได้ 12 ขวบ ท้าวสักกะราชได้มาหา แล้วสร้างเมืองขึ้นในรัฐรามัญชื่อ สุธรรมปุระ แล้วให้กุมารนั้นครองราชสมบัติในเมืองนั้น ตั้งพระนามว่าพระเจ้าสีหราช (ศิลาจารึกว่า พระเจ้าสิริมาโสก) ฝ่ายพระควัมปติเถระอยากจะเห็นมารดา (คือนางนาค) จึงเดินทางออกจากมิถิลานคร ครั้งนั้นท่านได้ทราบด้วยญาณทิพย์ว่า มารดาถึงแก่กรรมเสียแล้ว จึงพิจารณาดูว่า เดี๋ยวนี้มารดาไปเกิดที่ไหน ก็ทราบว่าไปเกิดในภูมิประเทศซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวประมง ท่านคิดว่าถ้าเราไม่ไปตักเตือนมารดา ก็จะสร้างบาปอันนำไปสู่อบาย แล้วก็จะต้องไปเกิดในอบายทั้งสี่ จึงเหาะมายังรัฐรามัญ.

       เมื่อมาถึงเมืองสุธรรมปุระแล้ว ท่านก็แสดงธรรมแก่ชาวเมืองพร้อมด้วยพระเจ้าสิหราชผู้เป็นพี่ชาย ให้ตั้งอยู่ในศีลห้า ครั้งนั้นพระเจ้าสีหราชตรัสว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ท่านเป็นผู้ประเสริฐกว่าใคร ในโลกนี้ ควัมปติเถระกล่าวว่า มหาบพิตร อาตมาภาพมิใช่เป็นคนประเสริฐกว่าใคร ๆ ครูของอาตมาชื่อโคตมะ ผู้เสมือนมงกุฏของสัตว์โลกทั้งปวงในไตรภพ ขณะนี้พระองค์ประทับอยู่เมืองราชคฤหมัชฌิมประเทศ พระเจ้าสีหราชตรัสถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เมื่อเป็นเช่นนี้อาจข้าควรเห็นครูของท่านหรือไม่ พระควัมปติกล่าวว่า ควรแล้วมหาบพิตร อาตมาจะทูลขอร้องให้พระองค์เสด็จมา.

       ครั้นแล้วควัมปติเถระจึงทูลขอร้องพระผู้มีพระภาคให้เสด็จมา ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อได้ตรัสรู้แล้วต่อมาในปีที่แปดได้เสด็จมาทางอากาศสู่เมืองสุธรรมปุระ รัฐรามัญ พร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก ครั้นเสด็จมาแล้วพระผู้มีพระเจ้าประทับนั่งในรัตนมณฑป ทรงประทานอมตรสแก่ชาวเมืองทั้งหลายพร้อมด้วยพระราชา ให้ตั้งมั่นอยู่ในสรณะสามและศีลห้า แล้วพระองค์ทรงประทานพระเกศาธาตุ 6 องค์ แก่ฤาษี 6 ตนซึ่งมาเฝ้า เพื่อเอาไปบูชา ภายหลังจากนั้น พระควัมปติเถระอัญเชิญพระทันตธาตุ 33 องค์ จากจิตกาธานตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งพระทัยไว้ในเวลาปรินิพพาน บูชาอยู่ 37 ปี แล้วนำมาสู่เมืองสุธรรมปุระมอบให้แก่พระเจ้าสีหราชให้ประดิษฐานพระเจดีย์ 33 องค์ ในรามัญประเทศ.

       ชนเผ่าปะโอมีความเชื่อว่าว่ามีวิชาธรเป็นพ่อ หรือเรียกว่าซอจี และมีนางพญานาคเป็นแม่ มีสัญลักษณ์ประจำเผ่าคือวิชาธรกับนางนาค และเอาพระเจ้าสีหราชในตำนานเป็นปฐมกษัตริย์.

ข้อมูลทั่วไป
       ชาวปะโอเชื่อว่า เดิมมีอาณาจักรปะโอมีความเป็นปึกแผ่นอยู่ที่เมืองสะถุ่นหรือสะเทิม มีความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนา กษัตริย์มะนุหะของชาวปะโอแพ้สงครามให้กับพระเจ้าอโนรธาแห่งนครปะกัน (พุกาม) ของพม่าเมื่อศตวรรษที่ 11 เสียเมืองสะถุ่ง (หรือสะถุ่น) ให้แก่พม่า กวาดต้อนเอาผู้คนชาวปะโอไปสร้างเจดีย์ที่เมืองพะโค ปะโอส่วนหนึ่งได้แตกหนีกระจัดกระจายไปอาศัยตามป่าเขาเมืองต่าง ๆ ในรัฐฉาน ทำให้ชาวปะโอเศร้าโศกเสียใจจึงพร้อมใจกันแต่งชุดสีดำและสีน้ำเงินเท่านั้น แต่ชาวปะโอที่อาศัยอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนกลับมีชุดแต่งกายหลากหลายสีสันแตกต่างจากที่อื่น ๆ.

       ชาวพม่าเรียกชาวปะโอว่าต่องตู (Taungthu) ส่วนชาวไทใหญ่เรียกว่า ต่องซู (Taungsu) หรือตองซู (Tongsu) มีความหมายว่า “คนทางใต้” ซึ่งกล่าวถึงชาวปะโอที่อาศัยอยู่ที่เมืองท่าตอนทางตอนใต้ของประเทศพม่า นอกจากนี้ชาวปะโอ ยังถูกเรียกในเชิงดูถูกว่าเป็นพวก “ชาวไร่ ชาวนา” ในขณะที่ชาวปะโอเรียกตัวเองว่า “ปะโอ” ซึ่งแปลว่าคนที่อาศัยอยู่บนดอย.

       ด้านภาษา ปะโอเป็นเพียงชนกลุ่มเดียวที่มีการพัฒนาภาษาเขียนขึ้นโดย Scott James Jorge กล่าวไว้ว่า “ชาวต่องตู มีภาษาเขียนเป็นที่แน่ชัด แต่ผู้ที่สามารถอ่านได้นั้นน้อยยิ่งนัก แม้กระทั่งตอนนี้ไม่มีใครใช้ภาษานี้แล้วในรัฐฉาน” (James, Scott Jorge, and The Pa-O of Burma: 5) Hackett (William Dunn,1953 ) ผู้ซึ่งเคยอาศัยอยู่ท่ามกลางชาวปะโอ ทางตอนใต้ของเมืองตองจี ระบุไว้ใน “The Pa-O people of Shan State, Union of Myanmar” เชื่อว่าภาษาเขียนปะโอมีอายุเป็นร้อย ๆ ปี บางแหล่งเชื่อว่า เดิมทีชนเผ่าปะโออาศัยอยู่ที่ประเทศทิเบต ต่อมาอพยพลงมาตามแม่น้ำโขง มาอาศัยอยู่ในประเทศพม่า บริเวณรัฐฉาน รัฐมอญ รัฐกะเหรี่ยง และกระจายอยู่ทั่วไปในประเทศพม่า มีประชากรโดยรวมกว่า 5,000,000 คน.

       สำหรับคนในประเทศไทยแล้วมักจะรู้จักกันในนามชนเผ่าตองสู้ และจัดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่ง แต่สำหรับในประเทศพม่าแล้วกลุ่มชาติพันธุ์ปะโอเป็นที่รู้จักแพร่หลายว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่จำนวนมากรองเป็นอันดับสองจากลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในพม่าและอาศัยในแถมทะเลสาบอินเลและกระจายตัวอาศัยตามพื้นที่สูงในเขตรัฐฉานของประเทศพม่า.

       เนื่องจากชาวต่องสู้ตั้งถิ่นฐานร่วมกับชาวไทใหญ่ โดยชาวต่องสู้อยู่บนดอยและที่ราบเชิงเขา ส่วนชาวไทใหญ่อยู่บริเวณที่ราบ ดังนั้นชาวต่องสู้จึงมีความสัมพันธ์กับชาวไทใหญ่ และมีวัฒนธรรมคล้ายไทใหญ่ ชาวไทใหญ่เรียกชาวต่องสู้ว่า “ต่องสู้ ” พม่าเรียกว่า “ต่องตู่ ” แปลว่า “ชาวดอย” หรือ “คนหลอย” แต่ชาวต่องสู้ไม่ชอบให้เรียกคำนี้ เพราะถือว่าเป็นคำไม่สุภาพ ชาวต่องสู้เรียกเชื้อชาติของตนเองว่า “ ป่ะโอ่ ” หรือ ปะโอ แปลว่าชาวดอยเหมือนกัน.

       จากหนังสือ คนไทยในพม่า ของอาจารย์บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ กล่าวถึงชาวต่องสู้ที่อยู่ในรัฐฉาน ว่าชาวต่องสู้อยู่ในเขตเมืองต่องกี ตะถุ่ง ยองเสว่ ย่องเหว ( ยองห้วย ) อ่องบาน สี่กีบ เมืองจิต เมืองหนอง น่ำคก โหปง จ๋ามะก๋ากะลอ ลายค่า (ไล้ข้า) เมืองนาย สีแสง หนองบ๋อน เมืองกิ๋ง ใกล้เคียงหนองอ่างเล หรือทะเลสาบอินทะ แต่พบชาวต่องสู้มากที่สุดที่เมืองหลอยโหลง เมืองหมอกใหม่ เมืองต่องกี เมืองตะถุ่ง ป๋างลอง หม่อระแหม่ง ( มะละแหม่ง ) และเมืองเปกูหรือหงสาวดี.

       มีนิทานเล่าเรื่องของชาวต่องสู้ว่า เดิมได้สาบานเป็นพี่น้องกับชาวกะเหรี่ยง เมื่อได้สิ่งของก็แบ่งปันกัน ต่อมากะเหรี่ยงจับได้เม่น จึงแบ่งเนื้อนำมาฝาก ชาวต่องสู้ไม่พอใจที่เนื้อเม่นน้อย เพราะคิดว่าขนเม่นหนามีขนาดใหญ่ ตัวคงโตมาก ชาวกะเหรี่ยงคงขี้โกงแบ่งให้นิดเดียว จึงโกรธทะเลาะกัน กะเหรี่ยงจึงเรียกต่องสู้ว่า พวกไม่กินเนื้อเม่น.

       ชาวต่องสู้มีความสัมพันธ์ติดต่อกับชาวไทใหญ่ จึงมีวัฒนธรรมหลายอย่างเหมือนชาวไทใหญ่ จนบางครั้งเข้าใจผิดว่าปะโอต่องสูเป็นชนชาติเดียวกับไทยใหญ่ การแต่งกายของชาวต่องสู้นุ่งห่มด้วยฝ้าฝ้ายทอมือย้อมด้วยมะเกลือ มีวิธีการทอผ้าเหมือนชาวกะเหรี่ยง คือผู้หญิงนั่งเหยียดเท้าทอผ้าด้วยลำตัวผูกกับเอว โดยไม่ใช้กี่ ผู้ชายแต่งกายคล้ายชาวไทใหญ่ สวมกางเกงเป้าหย่อนที่เรียกว่าเตี่ยวโหย่ง หรือโก๋นโฮง เสื้อคอกลมแขนกระบอก ผ่าอกตลอด กระดุมผ้าสอดเป็นห่วงแบบจีน ผู้หญิงนุ่งผ้าถุงสีดำยาว สวมเสื้อคอวีแขนสั้น ชายเสื้อคลุมตะโพก คล้ายเสื้อกะเหรี่ยง เสื้อชั้นนอกสวมทับ แขนยาว เอวลอย ผ่าอกตลอด คอจีน มีลายแดงยาวพาดขวางเป็นระยะ พันหน้าแข้งเหมือนผู้หญิงชาวมูเซอ เครื่องประดับสวมกำไล สร้อยคอ ด้วยโลหะเงิน การโพกหัวของชาวต่องสู้แตกต่างจากกลุ่มชนต่าง ๆ ในพม่า ไม่เหมือนทั้งชาวพม่า มอญและไทใหญ่.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. Facebook เพจ "กลุ่มศิลปะวัฒนธรรมประเพณีประวัติศาสตร์ลาว-อีสานเพื่อเผ่าพันธุ์ลาว," โดยผู้ใช้นามว่า สรคม อึ๊งแสงภากรณ์, วันที่เข้าถึง 13 สิงหาคม 2564.
02. จาก. thainews.prd.go.th, ผู้เรียบเรียง: นนทพร แก้วกา, วันที่เข้าถึง 13 สิงหาคม 2564.
03. จาก. thairath.co.th, วันที่เข้าถึง 13 สิงหาคม 2564.



 
humanexcellence.thailand@gmail.com