MENU
TH EN
Title Thumbnail: ไทพวน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ที่มา: thairath.co.th, วันที่เข้าถึง 11 สิงหาคม 2564., Hero Image: หอธรรมาสน์ วัดบ้านมาง เมืองสุย แขวงเชียงขวาง ศิลปะฝีมือช่างพวน จากหนังสือของสำนักฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศ (EFEO), ไม่ทราบปีที่พิมพ์ Cr.ผู้ถ่าย โดยผ่าน Facebook เพจ "ศิลปะวัฒนธรรมประเพณีประวัติศาสตร์ลาว-อีสานเพื่อเผ่าพันธุ์ลาว," วันที่เข้าถึง 11 สิงหาคม 2564. 
004. ไทพวน หรือ ลาวพวน 
First revision: Aug.11, 2021
Last change: Aug.28, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       ชาวพวน หมายถึง กลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาในตระกูลไทย-ลาว หลักแหล่งอยู่ที่เมืองพวน ใกล้ทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง สปป.ลาว.
 
     คำว่า พวน (ພວນ
) ตรงกับคำว่า โพน (ໂພນ) ในภาษาลาว และพูนในภาษาไทย หมายถึง เมืองอันตั้งอยู่บริเวณพื้นที่สูงหรือที่ราบสูง01,02. พวน เป็นชื่อสมมติของคนกลุ่มหนึ่งที่พูดภาษาไทย - ลาว สำเนียงพวนมีหลักแหล่งดั้งเดิมอยู่เมืองพวน ใกล้ทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวางในลาว ติดพรมแดนลาว-เวียดนาม ซึ่งเป็นเขตที่ราบสูงตระกูลภาษาไทย - ลาว เก่าสุดราว 3,000 ปีมาแล้ว อยู่บริเวณมณฑลกวางสีในจีน (ติดกับเวียดนาม) เป็นภาษากลางทางการค้าภายในไม่น้อยกว่า 2,500 ปีมาแล้ว สำเนียงพวนก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย.

       คนพวน คือ บรรดาผู้คนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่รวมเป็นที่สูง หรือที่ราบสูง (ซึ่งคำพื้นเมืองดั้งเดิมเรียกว่า พวน) ต่อมาเรียก ไทยพวน หมายถึง ชาวพวน 
 

ภาพสตรีชาวเชียงขวาง เมืองพวนหรือพวนเชียงขวาง มีการเกล้าผมที่แปลกตา ที่วัดศรีพรหม เชียงขวาง ในพิธีบายศรีสู่ขวัญแด่สาธุบาทเจ้าไชยวงศ์ ผู้ครองเมืองพวน ราว พ.ศ. 2463-2472 (ค.ศ.1920-1929)03.

       ชาวพวน คือชาวลาวซึ่งพูดสำเนียงต่างกับชาวหลวงพระบางเพียงเล็กน้อย และพวกชาวเวียงจันทน์ ปัจจุบันก็มาจากเมืองพวน (ราชอาณาจักรลาว ของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2503) มีร่องรอยและหลักฐานหลายอย่างยืนยันตรงกันว่า ชาวพวนทยอยเคลื่อนย้ายจากเมืองพวนไปตั้งหลักแหล่งใหม่ทางสองฝั่งโขง บริเวณเวียงจันถึงอีสานเหนือนานมาแล้วนับร้อย ๆ ปี นอกจากนั้นยังมีบางกลุ่มเคลื่อนย้ายลงไปอยู่ภาคกลางทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างน้อยตั้งแต่ยุคสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก่อนมีศึกเจ้าอนุวงศ์ สมัย ร.5 เรียกบริเวณอีสานเหนือทางอุดรธานี - หนองคาย ว่ามณฑลลาวพวน นับแต่นั้นเลยพากันเรียกคนพวนทั่วไปว่าลาวพวนด้วย.

       ลาวลงไทยครั้งใหญ่ และครั้งสำคัญมาก มีขึ้นราวหลัง พ.ศ.1600 แล้วมีต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย ทั้งนี้ด้วยเหตุผลทางการค้าภายในภูมิภาค เพราะเรือเดินสมุทรชนิดใหม่ คือ สำเภาจีน มีระวางบรรทุกสูงขึ้น และมีบทบาทในการค้าทางทะเลมากขึ้น ทั้งจากทะเลจีนและมหาสมุทรอินเดีย จึงต้องการสินค้าของป่าในไทยและลาวกับดินแดนใกล้เคียงมากกว่าแต่ก่อน ชาวลาวตั้งภูมิลำเนาในหุบเขาน้อยใหญ่ เมื่อมีประชากรมากขึ้น อาหารที่ผลิตได้ไม่เพียงพอ ก็ต้องพึ่งพาการค้าทางไกล จึงเกิดความเคลื่อนไหวโยกย้ายถิ่นฐาน โดยรับขนส่งทรัพยากรจากสองฝั่งโขงลงสองฝั่งเจ้าพระยาให้บ้านเมืองรัฐใหญ่ใกล้ทะเลค้าขายกับจีน และอินเดีย (ประวัติศาสตร์แห่งชาติ ของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2549).

       ความเคลื่อนไหวลาวลงไทย มีร่องรอยอยู่ในพงศาวดารล้านช้าง เมื่อขุนบูลม (ขุนบรม) ให้ลูกชายคนที่ห้า ชื่อ งัวอิน ไปสร้างเมืองชาวใต้อโยธยา หมายถึง อยุธยา-สุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ส่งผลให้วัฒนธรรมลาวสองฝั่งโขงมีในราชสำนักอยุธยาสืบมา เช่น โคลงสองฝั่งโขงในโองการแช่งน้ำ เซิ้งในระเบ็ง ขับเสภา ฯลฯ นอกจากนั้น ยังมีการเคลื่อนย้ายลาวลงไทย อยู่ในยวนพ่ายโคลงดั้น เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เล่าเรื่องเมื่อลาวลงชัยนาถ (หมายถึง เมืองพิษณุโลก) ด้วยสาเหตุความขัดแย้งทางการเมืองว่า "แถลงปางเมื่อลาวลง ... ชัยนาภ นั้นฤๅ".

       คนพวนกลุ่มหนึ่งจากเวียงจันทน์ และบริเวณสองฝั่งโขง ถูกกวาดต้อนมาในสมัย ร.3 คราวศึกเจ้าอนุเวียงจัน (เจ้าอนุวงศ์ แห่งเมืองเวียงจันทน์) เมื่อ พ.ศ.2369 ให้ลงไปตั้งบ้านเรือนหลักแหล่งใหม่อยู่บริเวณป่าดงทางตะวันออกของกรุงเทพฯ ตั้งแต่นครนายก ปราจีนบุรี จนถึงฉะเชิงเทรา คนพวนถูกกวาดต้อนไปหลายแหล่ง โดยเฉพาะเขตดงศรีมหาโพธิ ให้ตั้งบ้านเรือนตั้งแต่ลำน้ำปราจีนบุรี ที่ต่อไปจะได้ชื่อ อ.ศรีมหาโพธิ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี กระจัดกระจายต่อเนื่องถึงเขตดงยาง บริเวณลำน้ำท่าลาด ที่ต่อไปจะได้ชื่อ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา นอกจากนั้นยังมีลาวอีกกลุ่มหนึ่งไปตั้งบ้านเรือนอยู่ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี.

       หลักศึกเจ้าอนุเวียงจัน มีคนพวนในลาวและในอีสานรับรู้ถึงหลักแหล่งใหม่ของคนพวนในไทยว่า ทำมาหากินราบรื่นดี ก็พากันทยอยเคลื่อนย้ายอย่างสมัครใจมาอยู่ร่วมเครือญาติด้วยกันกับพวกที่มาอยู่ก่อน คนพวนก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการสื่อสารสัมพันธ์กันกับถิ่นกำเนิดชาติพันธุ์โดยตลอด.

       ชาวลาว รวมทั้งคนพวน ก็นำวัฒนธรรมเรื่องราวภูมิหลังชาติพันธุ์ของตนไปด้วย เช่น นิทานชาดกเรื่องพระมโหสถ กับนิทานบรรพชนเรื่องพระรถเมรี ที่ดงศรีมหาโพธิ์ แล้วเรียกเมืองโบราณที่มีมาก่อนให้เข้ากับนิทานนั้นว่า เมืองพระรถบ้าง เมืองมโหสถบ้าง ในเขต อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี04.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก.  http://www.oknation.net/blog/insanetheater/2013/01/21/entry-1, วันที่เข้าถึง 11 สิงหาคม 2564.
02. และจาก. หนังสือ กาพย์เมืองพวน ฉบับพิมพ์โดยคณะค้นคว้าภาควิชาภาษาลาว-วรรณคดี คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว, พ.ศ.2544, หน้า 1.
03.  จาก. Facebook เพจ "เชียงใหม่ที่คุณไม่เคยเห็น," วันที่เข้าถึง 18 สิงหาคม 2564. 
04. ปรับปริวรรตจาก. "พวนมาจากไหน - สุจิตต์ วงษ์เทศ" ผ่าน Facebook เพจ "กลุ่มศิลปะวัฒนธรรมประเพณี ประวัติศาสตร์ลาว-อีสานเพื่อเผ่าพันธุ์ลาว," โดยผู้ใช้นามว่า สรคม อึ๊งแสงภากรณ์ วันที่เข้าถึง 28 สิงหาคม 2564.


 
info@huexonline.com