MENU
TH EN
Title Thumbnail: หญิงชาวขแมร์, ที่มา: เว็บไซต์ประตูสู่อีสาน (www.isangate.com), วันที่เข้าถึง 8 สิงหาคม 2564. Hero Image: ชนชาวขแมร์, จาก. Facebook เพจ "กลุ่มศึกษาลาว-อีสานเพื่อเผ่าพันธุ์ลาว," โดยผู้ใช้นามว่า สรคม อึ๊งแสงภากรณ์, วันที่เข้าถึง 8 สิงหาคม 2564.
003. ขแมร์01,02.
First revision: Aug.08, 2021
Last change: Aug.08, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

เขมรถิ่นไทย03.
       เขมรถิ่นไทย เป็นชื่อทางวิชาการได้กำหนดขึ้น เพื่อเรียกผู้ที่พูดภาษาเขมรซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยทั่วไปชาวเขมรถิ่นไทยเรียกตัวเองว่า "คแมร์" หรือ ขแมร์ หรือ "คแมร์-ลือ" หรือ ขแมร์ลือ แปลว่า เขมรสูง เรียกภาษากัมพูชาและชาวกัมพูชาในประเทศกัมพูชาว่า "คแมร์-กรอม" หรือ "ขแมร์กรอม" แปลว่า เขมรต่ำ และเรียกคนไทยว่า "ซีม" ซึ่งตรงกับคำว่า "สยาม" ในภาษาไทย เมื่อพิจารณาเขตการปกครอง นักภาษาศาสตร์ได้แบ่งภาษาของชาวกัมพูชาเป็น 3 กลุ่ม คือ
  1. ภาษาเขมรเหนือ หรือ เขมรสูง (เขมรถิ่นไทย)
  2. ภาษาเขมรกลาง เป็นภาษาของผู้ที่อยู่ใน กัมพูชา
  3. ภาษาเขมรใต้ เป็นภาษาของคนเวียดนามเชื้อสายกัมพูชา
       ปัจจุบันพบชาวเขมรถิ่นไทยอาศัยอยู่ใน จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ปราจีนบุรี ตราด จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี สันนิษฐานว่า บริเวณที่ราบสูงโคราช เคยเป็นที่อยู่ของชาวกัมพูชาโบราณ ดูจากกลุ่มปราสาทโบราณ ศิลาจารึก ประติมากรรมที่พบมากในบริเวณดังกล่าวเช่น ปราสาทภูมิโปน ปราสาทพนมวัน ปราสาทหินพิมาย เป็นต้น ชาวเขมรถิ่นไทยน่าจะอพยพมาสมัยหลังในช่วง พ.ศ.2324-2325.

       ชาวเขมรสูง ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตภาคอีสานตอนใต้มาแต่โบราณกาลแล้ว และได้สืบเชื้อสายต่อเนื่องกันมาถึงปัจจุบัน โดยในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในปี พ.ศ.2324 เมืองกัมพูชาเกิดจลาจล จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปปราบ ในสงครามครั้งนี้ เมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ และเมืองสังขะ ได้ร่วมยกกองทัพไปตีเมืองเสียมเรียบ กำพงสวาย บันทายเพชร บันทายมาศ และได้นำชาวกัมพูชาจำนวนมากมาไว้ที่ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ชาวเขมรรุ่นสุดท้าย ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดศีรษะเกษ เมื่อปี พ.ศ.2410.

       ครอบครัวของชาวกัมพูชา มีความคล้ายคลึงกับครอบครัวไทยพื้นเมือง คือ พ่อบ้านเป็นหัวหน้าครอบครัว แม่บ้านดูแลภายในบ้าน ให้เกียรติแก่เพศชายในการดำเนินกิจกรรม หรือ ตัดสินเรื่องต่าง ๆ และมีการอยู่รวมกันหลายครอบครัว อาจประกอบด้วยปู่ย่า-ตายาย ลุงป้า-น้าอา พ่อแม่ ลูกหลาน พี่น้องจำนวนมากครอบครัวใดที่มีลูกสาวหลายคน สมาชิกก็มีแนวโน้มขยายมากขึ้น การแต่งงานของชาวเขมรถิ่นไทย ฝ่ายชายต้องเสียเงินและบรรณาการให้ฝ่ายหญิง โดยต้องจัดขันหมากไปให้ฝ่ายหญิง ประกอบด้วย หมู เหล้า ขนม ข้าวต้ม ผลไม้และเงินทอง ฝ่ายหญิงต้องล้างเท้าให้ฝ่ายชายก่อนขึ้นบ้าน ชาวเขมรสูง ส่วนมากอยู่ในชนบทมีชีวิตเรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ว่างจากการทำนา ทำไร่ จะเดินทางไปรับจ้างในตัวเมือง และในกรุงเทพฯ เมื่อถึงฤดูเพาะปลูกก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนา ประกอบอาชีพหลักของตน.


พิธีกรรมการโจลมะม๊วด หรือ มอม๊วด กลองกันตรึม
       ชาวเขมรถิ่นไทยนับถือศาสนาพุทธ ช่วงเข้าพรรษาจะมีประเพณี "กันซง" ซึ่งเป็นประเพณีการถือศีล นำอาหารไปทำบุญ ที่วัด 8 วัน หรือ 15 วัน นอกจากนั้นยังมีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ จะมีประเพณีไหว้บรรพบุรุษ เรียกว่า ประเพณีเบ็น หรืองาน แคเบ็น ซึ่งตรงกับสารทไทย พิธีมงก็วลจองได เป็นพิธีสู่ขวัญแบบพื้นบ้าน นิยมจัดในงานมงคล เช่น งานมงคลสมรส ขวัญนาค โกนจุก ยกเสาเอก ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น เมื่อบรรพบุรุษเสียชีวิต ชาวกัมพูชาจะตั้งโกศบรรจุกระดูกผู้ล่วงลับไว้ในบริเวณบ้าน ในระยะหลังจะนิยมไปไว้ที่วัดมากกว่า.

       พิธีมอม็วด เป็นพิธีที่ทำเพื่อหาสาเหตุการเจ็บป่วย โดยผู้เข้าทรงจะเชิญวิญญาณมาเข้าสู่ร่าง และจะมีผู้คอยซักถามว่าเหตุใดถึงได้เจ็บป่วย นอกจากนั้นชาวเขมรถิ่นไทยยังเชื่อเรื่องโชคลาง ของขลัง ฤกษ์ยาม เครื่องรางของขลังบางอย่างสามารถป้องกันภัยและรักษาโรคได้.


การแต่งกาย ของชาวเขมรถิ่นไทย
       ผู้หญิงจะนุ่งผ้าถุง ซึ่งเป็นผ้าไหมพื้นเมืองที่มีชื่อเสียง คือ ผ้าโฮล ผ้าอำปรุม ผ้าอัลลุยซีม ผ้าซาคู ส่วนผู้ชายนุ่งโสร่ง สำหรับเสื้อ ผู้หญิงใส่เสื้อแขนกระบอก ผู้ชายใส่เสื้อคอกลม เครื่องประดับจะเป็นเครื่องเงิน เรียกว่า ประเกือม (ประคำ) นำมาร้อยเป็นสร้อย ต่างหู เป็นต้น.

       เขมรถิ่นไทยมีการละเล่นพื้นบ้าน ได้แก่ จเรียง เป็นการขับร้อง หรือแหล่กลอนสด เนียะจเรียง หมายถึง ผู้ขับร้อง ภาษาที่ใช้เป็นภาษากัมพูชา จเรียงมีด้วยกันหลายประเภท เช่น
  • จเรียงนอรแกว เป็นการร้องโต้ตอบระหว่าง ชายหญิง
  • จเรียงอาไย มีการรำประกอบการร้อง
  • จเรียงซันตูจ เป็นการสนุกสนานของหนุ่มสาวซึ่งไปช่วยแต่งงาน และงานมงคลในยามค่ำคืน
  • จเรียงตรัว จะเป็นการร้องประกอบเสียงซอ
  • จเรียงจรวง เป็นการร้อง ประกอบเสียงปี่
       นอกจากนั้นยังมี กันตรึม รำตรุษ เล่นในเทศกาลสงกรานต์ รำสาก เป็น การรำประกอบเสียงดนตรี และเสียงกระทบสาก ผู้รำประกอบด้วยชายหญิงรำเป็นคู่ๆ รอบวงกระทบสาก.

       กันตรึมพื้นบ้าน มีความสนิทแนบแน่นกับพิธีกรรม และวิถีชีวิตพื้นบ้านของชาวอีสานใต้ซึ่งมีเชื้อสายกัมพูชา ชาวบ้านใช้กันตรึมในงานพิธีต่าง ๆ กันตรึมมีเนื้อร้องเป็นภาษากัมพูชา ทำนองของดนตรีที่เป็นเสียงโจ๊ะ04. ตรึม ตรึม จึงสันนิษฐานว่าเป็นที่มาของชื่อ กันตรึม นั่นเอง.

      การเล่นเพลงกันตรึมในสมัยก่อน เพื่อประกอบพิธีกรรมการเจ็บไข้ได้ป่วยมาจาก เทวดาอารักษ์ลงโทษ เพราะผู้ป่วยทำผิด ในสมัยนั้นจึงเรียกว่า เพลงอารักษ์ การเล่นเพลงทุกครั้งต้องขึ้นด้วยเพลงไหว้ครูทุกครั้ง จากนั้นจะเล่นทำนองแห่ พิธีการ เบ็ดเตล็ดขึ้นอยู่กับลักษณะของงาน วงดนตรีประกอบด้วยกลองเสียงทุ้มกับเสียงแหลม ซอ ปีอ้อ และจะเสริมด้วยฉิ่ง ฉาบเล็ก และกรับตามความเหมาะสม แต่ปัจจุบันคนสนใจสืบทอดกันตรึมน้อยลง อาจารย์อนันต์ สบฤกษ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมมือกับผู้รู้ ครูเพลงพื้นบ้าน นักดนตรี รวบรวมเพลงกันตรึม เพราะมองเห็นคุณค่าวัฒนธรรม และให้ดนตรีเหล่านี้สืบทอดไปยังลูกหลานสืบไป.


เรือมตร๊ด (รำตรุษ)
       เป็นการรำของชาวเขมรถิ่นไทย นิยมเล่นในเทศกาลออกพรรษา งานกฐิน และเดือนห้า (แคแจ๊ด) โดยตระเวนเล่นไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อบอกบุญขอบริจาคทรัพย์สมทบกองทุนผ้าป่า กองดอกไม้ กองกฐิน ประกอบด้วยเครื่องดนตรีคือ กลอง ปี่อ้อ ขลุ่ย ฆ้องใหญ่ กระพรวนวัว ซออู้ ผู้เล่นชายร้องเพลงคนหนึ่ง ฝ่ายหญิงคนหนึ่ง มีลูกคู่ช่วยกันร้องประกอบ นางรำแล้วแต่เหมาะสม ประมาณ 10-12 คน ร่ายรำตามจังหวะเพลง มีนาฎลีลาอ่อนช้อยเนิบนาบ นักร้องชายหญิงร้องสลับกัน ผู้รำจะเดินเป็นแถว จำนวน 15-20 คน เดินไปตามบ้านเหมือนกับการเซิ้งแผ่เงิน (เรี่ยไร).

       การแต่งกายสวมชุดพื้นเมือง เช่น ผ้าโสร่ง สวมเสื้อหลากสี เมื่อไปถึงหน้าบ้านผู้ใดก็จะเริ่มตีกลอง ผู้ร้องนำก็จะเริ่มร้องขับ แล้วผู้ร้องตามก็จะร้องพร้อมกัน พร้อมกับจังหวะการรำไปทางซ้ายทีขวาที กระทุ้งด้วยไม้ผูกกระพรวนให้ได้ยินถึงเจ้าของบ้าน เมื่อคณะรำตร๊ดไปถึงบ้านใครก็จะหาน้ำให้ดื่ม ให้สุราและถวายจตุปัจจัยเพื่อร่วมทำบุญ หลังจากนั้นคณะรำตร๊ดก็จะร้องเพลงอวยพรให้มีความสุขความเจริญ.


เรียมอายัย (รำอายัย)
       ที่เป็นการร้องโต้ตอบกัน ทำนองเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาวชาวเขมรถิ่นไทยในเทศกาล งานรื่นเริงสนุกสนาน โดยผู้รำนั้นจะไหว้ครูพร้อมกัน เสร็จแล้วเดินออกมาโต้ตอบกันเป็นคู่ ๆ มีลูกคู่รองรับ เมื่อร้องจบในแต่ละวรรคดนตรีก็จะบรรเลงรับ ผู้แสดงทั้งหญิงและชายจะรำเกี้ยวพาราสีกัน ลูกคู่จะปรบมือสนับสนุน เมื่อดนตรีจบคู่ใหม่ก็ออกมาร้องทุกคู่จนครบ และร้องบทลาในตอนจบ การรำไม่มีแบบแผนตายตัว เป็นการฟ้อนรำให้เข้ากับจังหวะดนตรี ท่ารำส่วนใหญ่เป็นท่าจีบ และแบมือเรียกว่า อายัย รำแบบในท่าฟ้อนเกี้ยว ท่ารำของฝ่ายหญิงจะเป็นท่าที่คอยปัด หรือท่าปกป้องระวังการถูกเนื้อต้องตัว.

การแต่งกาย ใช้ผ้าทอพื้นบ้าน นุ่งผ้าถุง สวมเสื้อแขนกระบอก มีผ้าสไบคล้องคอ ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าไหมคาดที่เอว
เครื่องดนตรี มีกลอง (สก็วล) 1 คู่ ปี่อ้อ 1 เลา ซอ 1 - 2 คัน ฉิ่ง ฉาบ กรับ ทำนองที่บรรเลงเร้าใจ สนุกสนาน


นาฎศิลป์และดนตรี
       นาฎศิลป์และดนตรีของชาวกัมพูชา หรือ ขแมร์นั้น แยกไม่ออกจากนาฎศิลป์และดนตรีของชาวอีสานทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นลาว เขมร ส่วย เยอ ดนตรีหลักของชาวลาว คือพิณ แคน ให้จังหวะด้วยกลอง ดนตรีหลักของชาวเขมรคือ ซอ ปี่ ระนาด ตะโพน ฉิ่ง ส่วนชาวส่วยและเยอยึดเอาดนตรีของชนเผ่าที่ตนอยู่ใกล้มาใช้ โดยเฉพาะ พิณ และแคน.

ประเพณีแซนการ์ (การแต่งงาน)
       พิธีแต่งงานชาวขแมร์ จะจัด "พิธีแซนการ์" จะกำหนดงาน 2-3 วัน โดยแบ่งเป็นวันรวมญาติพี่น้อง หรือวันสุขดิบ วันแต่ง และวันส่งตัว เป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของทุกคน เพราะเป็นวันแห่งการสร้างสถาบันครอบครัว สร้างอาชีพ สร้างทายาทของวงศ์ตระกูล หนุ่มสาวไทยขแมร์ในปัจจุบัน มีอิสระในการเลือกคู่ เมื่อรักใคร่กันแน่นอนแล้ว พ่อแม่ฝ่ายชายก็จะมาเยี่ยมเยียน ทำความคุ้นเคย จากนั้นก็จะส่งเฒ่าแก่ไปทำการ "ซูร์" (หมั้น) เริ่มด้วยการทาบทาม ด้วยเหล้า 1 ขวด หมากพลู 1 พาน เทียน 1 คู่ ฝ่ายหญิงจะเรียกค่าสินสอดตามแต่จะพอใจ ถ้าตกลงกันได้ก็จะนัดกำหนดวันแต่งงาน

สาวชาวขแมร์ สุรินทร์, เว็บไซต์ประตูสู่อีสาน (www.isangate.com), วันที่เข้าถึง 8 สิงหาคม 2564.

ไงแซน (วันแต่งงาน) ที่บ้านเจ้าสาว ต้องมี "อาจารย์" เจ้าพิธี จัดเตรียม บายศรี หรือ บายแสร็ย พร้อมเครื่องบริวาร มีดอกไม้ เทียน ข้าวต้มมัด กล้วย ขนมตามความพอใจ มีด้ายผูกข้อมือ ในปะรำพิธี มีเสากลางตกแต่งด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย และดอกไม้ สำหรับเซ่นสรวงเทพ มี "ปะต็วล" แขวนหัวเสา ด้านหน้ามี ฟูกสำหรับกราบบนฟูกวางหมอนหันไปทาง "ปะต็วล" วางเครื่องบริวารที่เตรียมไว้โดยรอบ เช่น พานผ้าไหม เงิน หมากพลู กรวย ดอกไม้ ขันข้าวขวัญ (ข้าวสุกปั้น) ไข่ต้ม มีกรวยใบตองคว่ำไว้ ขันน้ำมนตร์ เป็นต้น.

การแห่ขันหมาก มีมโหรีนำหน้าขบวน แห่พานบายศรี เครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษพร้อมบริวาร ถาดขนม สินสอด ขันหมาก เข้าสู่ปะรำพิธี ฝ่ายหญิงจะมารับ นำเข้าสู่ปะรำพิธี เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว เจ้าสาวจะออกมามอบหมากพลูให้เจ้าบ่าว จากนั้นเฒ่าแก่ฝ่ายชายจะมอบ "เฮ็บ" และ "ท็อง" คือ พานหมากพลู พ่อแม่เจ้าสาวก็จะแก้ห่อผ้าออกหยิบกินเป็นการยอมรับ บ่าวสาวลงนั่งบนฟูก กราบอาจารย์ แล้ววางมือคว่ำลงบนเต้าปูนเหนือหมอน เจ้าบ่าววางทับบนหลังมือเจ้าสาว การเซ่นผี อาจารย์เป็นผู้ทำพิธีจุดเทียน เชิญผีบรรพบุรุษมารับเครื่องเซ่น ผู้เฒ่าจะมารินน้ำรินเหล้าใส่เครื่องเซ่นแล้วยกออกไป.

การส่งตัวเจ้าสาว เจ้าสาวหาบน้ำ เจ้าบ่าวแบกฟืน หางขบวนช่วยกันแบกฟูก หมอน และผ้าไหว้ แห่ไปบ้านเจ้าบ่าว มอบหมากพลูขอทางผ่าน ฝ่ายเจ้าบ่าวจะรับน้ำ และฟืนไป เจ้าบ่าวเกี่ยวก้อยเจ้าสาวขึ้นเรือน ญาติฝ่ายชายจะนำน้ำขมิ้นมาล้างเท้าให้คู่บ่าวสาว แล้วให้เหยียบบนกระเชอใส่ข้าวเปลือก เหล้า ผ้าขาว และขวาน เป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรือง พอขึ้นเรือนผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะนำน้ำขมิ้น และหม้อข้าวเก่ามาให้เจ้าสาวล้างก้นหม้อ แสดงความพร้อมใจจะเป็นแม่ศรีเรือน แล้วมอบฟูกหมอนให้พ่อแม่เจ้าบ่าว นำน้ำที่เจ้าสาวหาบมาจากบ้านมาอาบให้พ่อแม่ฝ่ายชาย แล้วมอบผ้าสมมาให้ผลัดเปลี่ยนนุ่งห่มใหม่ไหว้ และมอบผ้าสมมาให้ญาติเจ้าบ่าว ซึ่งจะได้รับเงินของขวัญตอบแทนจนคุ้ม จากนั้นจึงไหว้เจ้าบ่าวด้วยโสร่ง เสื้อขาวคอกลม สไบสองผืน เจ้าบ่าวจะมอบของขวัญให้เมื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จ เจ้าสาวจัดขนม ผลไม้ น้ำ เหล้าให้กิน.

การเสี่ยงทาย จะมีสำรับอาหารตั้งไว้ให้บ่าวสาวตักป้อนกันและกัน ใครตักข้าวก่อนตักกับข้าว แสดงว่ารู้จักอดออม ประหยัด ใครตักกับก่อนแสดงว่าฟุ่มเฟือย ญาติจะเตือนฝ่ายหญิงให้รู้จักอดออมให้มาก การแต่งงานของชาวสุรินทร์ เน้นการขอบคุณ และระลึกถึงเทพ ผีบรรพบุรุษ จะพบว่า ปะต็วล เป็นสัญลักษณ์เด่นที่สุดในปะรำพิธี เป็นเครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษ ที่จะลืมไม่ได้ในพิธีแซนการ์.


ประเพณีงานเดือนห้า
       เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณที่ประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์ยังคงยึดถือปฏิบัติอยู่ ในวันขึ้น 1 ค่ำของเดือนห้า ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ ทุกครัวเรือนจะพากันหยุดงานโดยพร้อมเพรียงกัน มีกำหนด 3 วันเพื่อพักผ่อน และไปนมัสการพระพุทธบาทจำลองเขาสวาย ซึ่งได้จำลองจากพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี พอถึงวันขึ้น 14 ค่ำ จะมีพิธีก่อเจดีย์ทรายตามวัดวาอารามทั่ว ๆ ไป มีพระสงฆ์สวดมนต์ฉลองเจดีย์ทราย และมีการละเล่นต่าง ๆ เช่น รำกระทบสาก เป็นต้น พอรุ่งเช้าในวันขึ้น 15 ค่ำ มีการทำบุญตักบาตรอย่างพร้อมเพรียงกัน และจากวันแรม 1 ค่ำเป็นต้นไป ตามประเพณีให้หยุด.
 
งานเดือนสิบ
       โดยทั่ว ๆ ไป เรียกว่า "วันสารท" มี 2 ระยะ ในระยะแรกตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ประชาชนจะพากันไปทำบุญตักบาตรที่วัด ในระยะหลังตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ สำหรับในวันนี้ทุกครัวเรือนจะทำพิธีเซ่นไหว้เรียกวิญญาณของญาติพี่น้องที่ได้ล้มตายไปแล้ว ให้มารับของทาน เป็นต้นว่า ขนมนมเนยและสิ่งของต่าง ๆ พิธีอย่างนี้ชาวบ้านเรียกว่า "แซนโดนตา" กลางคืนไปฟังพระสวดที่วัด มีการทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลผลบุญต่าง ๆ ให้ญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว รุ่งเช้าในวันแรม 15 ค่ำ ไปทำบุญตักบาตรที่วัดโดยพร้อมเพรียงกัน.

      คนไทยส่วนใหญ่เรียกชื่อว่า ขอม มากกว่า เขมร ซึ่งจะแยกฐานะของคำเรียก จะใช้คำว่า ขอม เมื่อต้องการยกยอชมเชย เช่น ศิลปะขอม ภาษาขอม และคนขอม เป็นต้น แต่เมื่อไดใช้คำว่า เขมร จะใช้ในเชิงไม่ดี เหยียดหยาม เช่น เขมรป่าดง เขมรดงดิบ และไสยศาสตร์เขมร เป็นต้น .


       คำว่าเขมรน่าจะเป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า กุมาร สันนิษฐานว่ามีการโยงความสัมพันธ์กับบันทึกของชาวจีนที่กล่าวไว้ว่า อาณาจักรฟูนันมีผู้ปกครองชื่อนางลิวเย อภิเษกกับพราหมณ์จากอินเดีย ซึ่งเดินทางมายังดินแดนแห่งนี้นามหวั่นเทียน ซึ่งตรงกับคำว่า โกญฑัญญะ นางลิวเย มีชื่อเรียกในสมัยต่อมาว่า พระนางโสมา โกฑัญญะและพระนางโสมา เป็นปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรฟูนัน.

       ชนชาติมอญ - แขมร์ มีถิ่นฐานเดิมที่ประเทศอินเดีย อาณาจักรแรกเมื่ออพยพมาเรียกตามศิลาจารึกสันสกฤตว่า "วฺรวฺน"(พระพนม) พงศาวดารจีนเรียกฟูนัน ตั้งอยู่ฝั่งทะเลแห่งหนึ่ง ทางทิศตะวันออกจดกับประเทศลินยี่ (จัมปา) ทิศตะวันตกจดกับประเทศกิมลิน (สุวรรณภูมิ) ราชธานีของอาณาจักรนี้เรียกว่ากรุงโคกธลอก ในสมัยของพระทองนางนาค (โกญฑัญญะ นางโสมา) ราชวงศ์นี้มีอำนาจประมาณ 300 ปี จนถึง พ.ศ. 1027.

       ต่อมาในยุคที่กษัตริย์ที่ลงท้ายพระนามว่า "วรมัน" เริ่มต้นด้วยพระเจ้าเกาณฑินยะชัยวรมัน (พ.ศ.1028 - 1057) ชาวอินเดียใต้ร่วมกับพวกกบฎเข้าโจมตีกรุงโคกธลอก แล้วย้ายเมืองหลวงเข้าไปตามฝั่งแม่น้ำใหญ่ 500 ลี้ตั้งชื่อเมืองหลวงว่าวยาธปุระ (เมืองแห่งนายพราน) ส่วนพวกราชวงศ์เดิมก็ย้ายขึ้นไปทางเหนือ สร้างเมืองใหม่ริมฝั่งแม่น้ำโขงชื่อศัมภปุระและภวปุระ (ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตอนล่าง พ.ศ.1093) เกิดจลาจลในกรุงวยาธปุระ เจ้าชายภววรมันแห่งเมืองภวปุระ และเจ้าชายจิตรเสนแห่งศัมภปุระ สายราชวงศ์เดิมได้ครอบครองวยาธปุระและรวมเข้ากับอาณาจักรเจนละ.

       ในสมัยของพระเจ้าภววรมันนี้เองได้แผ่ขยายอำนาจเข้าไปในเขตบริเวณภูเขาดงเร็กและลุ่มแม่น้ำมูล ต่อมาเจ้าชายจิตรเสนได้อภิเษกเป็นกษัตริย์ ทรงพระนาม มเหนทรวรมัน ทรงย้ายเมืองหลวงกลับมาอยู่ที่วยาธปุระ พ.ศ.1143 - 1154 ได้ขยายดินแดนเข้ามาในเขตลุ่มน้ำมูลและภูเขาดงเร็ก มีการสร้างเทวสถานขึ้นในบริเวณนี้หลายแห่ง.

       ตั้งแต่สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 เป็นต้นมา ได้มีการสร้างปราสาทต่าง ๆ ต่อเนื่องมาเป็นลำดับหลายรัชกาล จนถึงกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นการสร้างปราสาทเขาพระวิหารปราสาทหินสระกำแพงใหญ่ ซึ่งศิลาจารึกเขาพระวิหารหลักที่ 1 หลักที่ 2 ชี้ให้เห็นถึงการมีอำนาจของกัมพูชาโบราณ ได้ระบุว่ามีการสร้างเกษตราธิคม สร้างปราสาทหิน ขุดสระน้ำ และการถวายข้าทาสไว้ดูแลทำนุบำรุงศาสนสถานเป็นจำนวนมาก.

       ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นี้ ทรงขยายอำนาจครอบคลุมทั้งภูมิภาคสุวรรณภูมิ มีเมืองในอำนาจกระจายไปทั่วภูมิภาค ประชาชนชาวขแมร์ได้ไหลหลั่งกระจายเข้าอาศัยอยู่ตลอดอาณาเขต ทั้งในอาณาเขตไทยและลาว (ในปัจจุบัน).
 
       จนกระทั่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สวรรคตในพ.ศ.1761 อำนาจจักรวรรดิ์ขแมร์ได้เสื่อมลง ชนพื้นเมืองในดินแดนที่เคยถูกขแมร์ครอบครองได้ลุกขึ้นต่อต้านขับไล่ ต้องถอยร่นลงไปรวมกันอยู่ในอาณาเขตกัมพูชาปัจจุบัน บางส่วนที่หนีไม่ทัน ก็อพยพเข้าป่าขึ้นเขา กลายเป็นชนกลุ่มน้อยในลาวในปัจจุบัน ที่เรียกโดยรวมว่าลาวเทิง.

       สำหรับในไทยก็เช่นเดียวกัน ชาวขแมร์ถูกขับไล่ตั้งแต่ตอนเหนือจนถึงอีสานตอนบนดังปรากฏในพงศาวดารลาวยวน ตำนานพระร่วง และตำนานเมืองหนองหาร ถอยร่นลงไปรวมกันที่พระนครหลวง อาณาเขตกัมพูชาในปัจจุบันนี้.

       ส่วนในเขตอีสานใต้จากที่กล่าวมาแล้ว ชาวขแมร์ลือเข้ามาตั้งถิ่นฐานแต่โบราณแล้ว และประชากรชาวขแมร์ได้สืบเชื้อสายต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะ จ.ศรีสะเกษ จะอยู่ในเขตท้องที่ อ.กันทรลักษ์ ด้านที่ติดกับเขาพนมดงเร็ก แถบบ้านทุ่งใหญ่ บ้านประทาย บ้านบึงมะลู บ้านโดนเอาว์ บ้านรุง บ้านทุ่งยาว และบริเวณบ้านบักดอง บ้านพราน บ้านทุ่งเลน บ้านสำโรงเกียรติ บ้านไพร บ้านกระมัล บ้านกราม บ้านกันทรอม อ.ขุนหาญ บ้านไพรบึง บ้านพราน บ้านสำโรงพลัน บ้านไทร อ.ไพรบึง บ้านสำโรงระวี บ้านศรีแก้ว อ.ศรีรัตนะ ชุมชนดังกล่าวเป็นชุมชนบริเวณโดยรอบของปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งอาศัยอยู่แถบห้วยขะยุง และห้วยทา.

       ส่วนอีกบริเวณหนึ่งที่พบว่ามีชาวขแมร์อาศัยอยู่จำนวนมาก คือ บริเวณแถบที่ราบลุ่มห้วยสำราญ อ.ขุขันธ์ ปรางค์กู่ บริเวณนี้มีชาวขแมร์อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ในเขตท้องที่ต.กันทรารมย์ หัวเสือ ใจดี โคกเพชร สะเดาใหญ่ อ.ขุขันธ์ ต.ละลม อ.ภูสิงห์ ต.ตูม สำโรงปราสาท อ.ปรางค์กู่ จนศรีสะเกษได้ชื่อว่าเมืองเขมรป่าดง.

       ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ.2324 กัมพูชาเกิดจลาจล เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) และออกญาวิบูลราช (ชู) เป็นกบฎ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯ ให้เจ้าพระยาจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกกองทัพไปปราบ แต่ยังทำการไม่สำเร็จก็เกิดเหตุจลาจลในกรุงธนบุรี ต้องยกทัพกลับ สงครามครั้งนี้ เมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ ได้ร่วมยกกองทัพไปตีเมืองเสียมเรียบ กำพงสวาย บันทายเพชร บันทายมาศ และนำชาวกัมพูชาจำนวนมากมาไว้ที่สุรินทร์ บุรีรัมย์.

       ต่อมาหลวงสุรินทร์ภักดีเจ้าเมืองสุรินทร์ ได้ให้บุตรชายของตนชื่อสุ่น แต่งงานกับบุตรีเจ้าเมืองบันทายเพชร ชื่อดามมาตไว ซึ่งอพยพตามกองทัพมา ภายหลังนางได้เป็นชายาของเจ้าเมือง จึงนำเอาภาษากัมพูชา และราชพิธีสำนักกัมพูชามาใช้ต่อมาจนถึงรุ่นหลาน และอาจติดต่อมาถึงขุขันธ์ เพราะใน พ.ศ.2371 เมื่อโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสังขะบุรี (เกา) มาเป็นพระยาขุขันธ์ภักดีนครศรีลำดวน ปกครองเมืองขุขันธ์ มีชาวสังขะอพยพติดตามมาเป็นจำนวนมาก.

       ชาวขแมร์รุ่นสุดท้ายจำนวนหนึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อ พ.ศ.2410 พระยาขุขันธ์ ฯ (วัง) ได้กราบทูลขอตั้งบ้านลำห้วยแสนไพรอาบาล กับบ้านกันตวด ตำบลห้วยอุทุมพร ริมเชิงเขาตกขึ้นเป็นเมือง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านลำห้วยแสนไพรอาบาล เป็นเมืองกันทรลักษ์ ยกบ้านกันตวด ห้วยอุทุมพร เชิงเขาตกเป็นเมืองอุทุมพรพิสัย ถึงรัชกาชที่ 5 ผู้สำเร็จราชการอินโดจีนฝรั่งเศส ได้มีหนังสือทักท้วงต่อรัฐบาลสยามว่า ฝ่ายไทยตั้งเมืองรุกล้ำเข้าไปในดินแดนของฝรั่งเศส หลังจากตรวจสอบ โปรดฯ ให้ย้ายเมืองกันทรลักษ์ มาตั้งที่บ้านบักดอง ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ อ.ขุนหาญ ส่วนเมืองอุทุมพรพิสัย ย้ายมาตั้งที่บ้านผือ ต.เมือง อ.กันทรลักษ์ในปัจจุบัน มีการอพยพไพร่พลและราษฎรขแมร์มาด้วยจำนวนหนึ่ง.

       ขแมร์ส่วนมากอยู่ในชนบทมีชีวิตเรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนาทำไร่ หนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ว่างจากการทำนาทำไร่ จะเดินทางไปรับจ้างทำงานในตัวเมืองหรือในเมืองหลวง และเมื่อถึงฤดูกาลเพาะปลูก ก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อประกอบอาชีพหลักของตน เป็นเช่นนี้เรื่อยไป.

       ในสมัยโบราณ จากหลักฐานจดหมายเหตุจีนกล่าวถึง คนในอาณาจักรฟูนั้นว่า คนในอาณาจักรฟูนันนั้น หน้าตาน่าเกลียด ผิวดำ ผมหยิก ไม่สวมเสื้อผ้าและรองเท้า ปลูกบ้ายกพื้นสูง มีการกีฬาชนไก่และชนสุกร มีการค้าขายทอง เงินและผ้าไหมกับจีน มีอาชีพเพาะปลูก มีแหล่งน้ำใช้ร่วมกัน มีการโกนหนวดและผมในระหว่างการไว้ทุกข์ มีประเพณีการประกอบพิธีบูชาเทพเจ้าบนยอดเขา.

       จากหลักฐานดังกล่าว ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวฟูนันและขแมร์ปัจจุบันมีส่วนคล้ายกันพอสมควร เช่นลักษณะผิวค่อนข้างดำและผมหยิก มีอาชีพเพาะปลูก มีการไว้ทุกข์ด้วยการโกนผม และมีประเพณีขึ้นเขา เช่น ที่เขาสวาย จ.สุรินทร์ และที่เขาพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นประเพณีที่จัดขึ้นทุกปี ในชนบทที่ขแมร์ลืออาศัยอยู่มีการเลี้ยงหมูไว้ทั่วไปโดยปล่อยให้หากินเอง.

       แม้ว่าชีวิตความเป็นอยู่ของชาวขแมร์ลือในชนบทมีลักษณะคล้ายคนไทยในท้องถิ่นทั่วไป แต่ถ้าจะเปรียบกับชาวขแมร์กรอมในกัมพูชาแล้ว ความเป็นอยู่ ประเพณีและความเชื่อต่าง ๆ ของชาวขแมร์ลือ จะมีส่วนคล้ายกับชาวขแมร์กรอมในประเทศกัมพูชามาก เช่น ลักษณะบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด การตาย การแต่งงาน การนับเวลา วันเดือนปี การเชื่อถือโชคลาง ฤกษ์ยาม การรักษาโรคแบบพื้นบ้าน การประกอบอาชีพ การละเล่นต่าง ๆ ตลอดจนอุปนิสัยเป็นต้น.

       อาหารหลักของชาวขแมร์คือข้าวเจ้า ส่วนอาหารพื้นเมืองที่รู้จักคือ ปลาเฮาะเขมร (ปลาร้าเขมร) ปลาจ่อม ปลาแห้ง ปลาย่าง ปลาต้ม น้ำพริกจิ้มผัก เนื้อสัตว์ ผัก ส่วนอาหารว่าง ส่วนมากจะเป็นผลไม้ และขนมพื้นเมืองที่นิยมได้แก่ ขนมกันเตรียม ขนมโชค ขนมเนียล ขนมกันตางราง ขนมกระมอล ขนมมุก ขนมเนียงเล็ด เป็นต้น ซึ่งชื่อขนมเหล่านี้ล้วนเป็นชื่อในภาษาเขมรทั้งสิ้น




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. Facebook เพจ "กลุ่มศึกษาลาว-อีสานเพื่อเผ่าพันธุ์ลาว," โดยผู้ใช้นามว่า สรคม อึ๊งแสงภากรณ์, วันที่เข้าถึง 8 สิงหาคม 2564.
02. จาก. เว็บไซต์ประตูสู่อีสาน (www.isangate.com), วันที่เข้าถึง 8 สิงหาคม 2564.
03.  ในเว็บไซต์นี้ พยายามเลี่ยงคำว่า เขมร เพราะมีน้ำหนักไปทางดูหมิ่นชนกลุ่มน้อย เว้นเสียแต่มีการบัญญัติอย่างทางการเช่น เขมรถิ่นไทย และหลีกเลี่ยงกับการใช้คำว่า ขอม โดยจะเรียกเป็นกัมพูชาโบราณแทน ทั้งนี้คำว่าขอม นักวิชาการยังมีการถกถียงกันมาก และมีแนวโน้มสรุปว่า ขอม เป็นกลุ่มชนในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี่เอง.
04. เสียงโจ๊ะ นี้ เป็นที่นิยมกันมาก มาใช้ทำนองเพลงของคุณลี (หญิงลี ศรีจุมพล) "ขอใจเธอแลกเบอร์โทร" ประพันธ์เนื้อร้อง-แต่งทำนองโดย บอย เขมราฐ และเรียบเรียงโดย สวัสดิ์ สารคาม
จัดจำหน่ายเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.2555 "....ท่านกำลังเข้าสู่บริการรับฝากหัวใจ..." 
 
info@huexonline.com