MENU
TH EN
Title Thumbnail & Hero Image: ข่า หรือ ลาวเทิง, ที่มา: Facebook ห้อง "กลุ่มศึกษาลาว-อีสานเพื่อเผ่าพันธุ์ลาว", โดยผู้ใช้นามว่า ห้างทองเที่ยงธรรม เยาวราช, ไม่ทราบผู้ถ่าย, ไม่ทราบปีที่ถ่าย (ค.ศ.1819 ???) วันที่เข้าถึง 21 กรกฎาคม 2564.
055. ข่า ลาวเทิง หรือ บรู01, 02.
First revision: Jul.21, 2021
Last change: Jul.21, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       ชาวข่า (บรู) เป็นกลุ่มชาติพันธ์หนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร ชาวข่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในแขวงสุวรณเขต แขวงสาลวันและแขวงอัตปือของ สปป.ลาว ซึ่งเมื่อร้อยปีก่อน (ก่อน พ.ศ.2436) ยังเป็นดินแดนของราชอาณาจักรไทย ชาวข่าอพยพมาอยู่ในท้องที่จังหวัดมุกดาหาร ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นส่วนมาก นักมานุษยวิทยาถือว่าชาวข่าเป็นชนเผ่าดั้งเดิมเผ่าหนึ่งในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งอาจจะสืบเชื้อสายมาจากกัมพูชาโบราณซึ่งเคยอยู่ในดินแดนของอาณาจักรเจนละ ซึ่งต่อมาเป็นอาณาจักรกัมพูชาและอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ซึ่งกัมพูชาโบราณเคยมีอิทธิพลครอบคลุมขึ้นมาถึง แล้วเสื่อมอำนาจลง ซึ่งพวกข่าอยู่ในตระกูล เดียวกับกัมพูชาและมอญเขมร ภาษาข่าเป็นภาษาในกระกูลเดียวกับขอมและมอญเขมร ภาษาข่าเป็นภาษาในตระกูล ออสโตรอาเซียติค สาขามอญ เขมร ชาวข่ายังแบ่งแยกกันอีกเป็นหลายเผ่าพันธ์ เช่น ข่าย่าเหิน ข่าบริเวณ ข่าสุ ข่าตะโอด ข่าสอก ข่าสปวน ฯลฯ เป็นต้น.

       ชาวข่ามีได้เรียกตัวเองว่า ข่า แต่เรียกตัวเองเป็นพวกบรู ซึ่งแปลว่าภูเขา คำว่าข่าเป็นชื่อที่ชาวอีสานใช้เรียกขานพวกบรู คำว่าข่า อาจจะมาจากคำว่า ข้าทาส ซึ่งชาวอีสานชอบเรียนพวกข้าทาสว่า ข่า หรือ ข่อย แต่ชอบออกเสียงไม้โทเป็นไม้เอก คือคำว่า ข้าเป็นข่า เพราะว่าในอดีตชายไทยในแถบลุ่มแม่น้ำโขงชอบไปจับเอาพวกข่า (บรู) ตามป่าดงมาเป็นข้าทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงประกาศห้ามมิให้ไปจับพวกข่ามาเป็นข้าทาสอีก ส่วนในประเทศเวียดนามเรียกพวกข่า ว่าพวกมอย (Moi).

       ชาวข่าดั่งเดิมมักจะมีผิวดำคล้ำ ผมหยิก ทั้งหญิงและชาย ผู้ชายแต่งกายด้วยการนุ่งผ้าเตี่ยวมีผมม้ายาว ประบ่าและนิยมใช้ผ้าแดงผูกคล้องคอ หรือ โพกศีรษะเป็นเอกลักษณ์ตามประวัติเล่าว่าเนื่องจากบรรพบุรุษของชาวข่า ได้ใช้ผ้าชุบเลือดสีแดงแนบติดกายไว้ก่อนสิ้นชีวิตในการต่อสู้แย่งชิงถิ่นที่อยู่ กับชาวผู้ไทในอดีตในดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง พวกข่าจึงถือว่าผ้าแดงเป็นเอกลักษณ์ของเขา ส่วนผู้หญิงนิยมแต่งกายด้วยการนุ่งผ้าซิ่นยาว ถึงข้อเท้าแต่เปลือยอกท่อนบน ผู้ชายข่าเคยมีประวัติว่าเป็นนักรบที่ห้าวหาญ มีหน้าไม้พร้อมลูกดอกอาบยาพิษยางน่อง (ยางไม้ที่มียาพิษ) เป็นอาวุธประจำกายแม้ในสมัยที่ดินแดนลาวยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส อยู่ทหารข่าของฝรั่งเศสบางหน่วยยังนิยมใช้หน้าไม้เป็นอาวุธ ปัจจุบันในแขวงอัตปืดของลาว ก็ยังมีข้าราชการที่เป็นพวกข่า รับราชการอยู่ในตำแหน่งสูง ๆ อยู่ไม่น้อย.
 
        ในจังหวัดมุกดาหาร เขตอำเภอเมืองมุกดาหาร ยังมีชาวไทยเชื้อสายข่าอยู่ที่บ้านพังคองและบ้านนาเสือหลาย ในท้องที่อำเภอดอนตาล มีชาวไทยเชื้อสายข่า อยู่ที่บ้านบากในท้องที่อำเภอดงหลวง มีชาวไทยเชื้อสายข่าอยู่ที่ตำบลกกตูม บ้านส่านแว บ้านคำผักกูด บ้านโดกกุง บ้านปากช่อง บ้านหินกอง ซึ่งอยู่ในเขตภูพาน ต่อเขตกับจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดสกลนคร จนมีคำกล่าวในอดีตว่า บ้านคำผักแพว แปวป่องฟ้า พาเซโต โซไม้แก่น แท่นหินลับ ซับห้วยแข้ แง้หอยมะบาน ด่านสามหัวขัว น้ำบ่อบุ้น ยางสามต้น อ้นสามขุย ซึ่งปัจจุบันทางนิคม สร้างตนเองของกรมประชาสงเคราะห์ ที่อำเภอนิคมนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร ได้อพยพพวกไทยข่า (บรู) จากภูพานซึ่งเป็นเขตรอยต่อ 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ สกลนครนครพนมและมุกดาหาร จำนวน 171 ครอบครัวไป อยู่ที่ หมู่บ้านร่มเกล้า ของนิคมสร้างตนเองคำสร้อย โดยได้จัดสรรที่ดินให้ทำกินและปลูกบ้านเรือนให้เป็นหมู่บ้านชาวไทยข่า ตลอดทั่วได้ช่วยเหลือให้ราษฎรเหล่านี้สามารถเลี่ยวตัวเองได้และพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านที่เท่าเทียมกับหมู่บ้านอื่น ๆ

จารีตประเพณีของชาวข่า (บรู) 
       
การสู่ขอเพื่อขอแต่งงานต้องมีล่าม 4 คน (ชาย 2 หญิง 2) เทียน 4 เล่มและเงินหนัก 5 บาทเมื่อแต่งงานต้องมีเหล้าอุ (เหล้าไห) 2 ไห ไก่ 2 ตัว ไข่ 8 ฟอง เงินหนัก 2 บาท หมู 1 ตัว และกำไลเงิน 1 คู่.

       การทำผิดประเพณี(ผิดผี) เช่น ห้ามลูกสะไภ้เข้าห้องนอนก่อนผัว ห้ามลูกสะไภ้รับของจากพ่อผัว ห้ามลูกเขยที่เข้าออกในบ้านออกจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่ง ลูกเขยพกมีดหรือสวมหมวกเข้าบ้านพ่อตา หรือกินข้าวร่วมกับแม่ยาย การผิดจารีตประเพณี (ผิดผี) เช่นนี้ ลูกเขยต้องใช้เงิน 5 บาท หมู 1 ตัว ดอกไม้ ธูปเทียน 2 คู่ บุหรี่พื้นบ้านมวนด้วยใบตอง 2 มวน หมากพลู 2 คำ นำไปคาระวะต่อผี(วิญญาน)ของบรรพบุรุษทีมุมบ้านด้านตะวันออกหรือที่เตาไฟ หากเป็นลูกสะไภ้ก็ต้องใช้ผาขาวม้า 1 ผืน ผ้าซิ่น 1 ผืน ดอกไม้ ธูปเทียน 2 คู่หมายพลู 2 คำ บุหรี่ใบตอง 2 มวน ไปคารวะต่อผีเช่นเดียวกัน.01.



ชนชาวข่า ลาวเทิง: การกดขี่ สังหารหมู่ ที่ถูกลืม02.
       “ประวัติของพวกลาวเทิงนั้น ทั้งน่ามหัศจรรย์จับใจและน่าเศร้าสลด พวกลาวเทิงแตกแยกออกเป็นเผ่าต่าง ๆ ถึงราวสี่สิบเผ่า ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามป่าเขาทางลาวใต้ และในที่ราบสูงที่เรียกว่า ที่ราบสูงบริเวณ (Bolevens Plateau).

       “ในสมัยหนึ่งนั้น ข่าเผ่าเดียวเคยมีจำนวนคนถึง 300,000 คน แต่ได้ถูกลดจำนวนลงจนเหลือเพียงไม่กี่พัน เพราะการสังหารหมู่ของพวกคนไทย นิยายเก่า ๆ ของลาวเทิงยังมีเล่ารำลึกถึงทุ่งนาที่นองไปด้วยเลือด แม่น้ำลำธารอึดตันและหุบเขากองท่วมท้นไปด้วยซากศพ พวกที่รอดพ้นการสังหารหมู่มาได้ก็ถูกพวกคนไทยกวาดต้อนไปเป็นข้าทาสหรือขายให้แก่ลาวลุ่มเพื่อใช้เป็นทาส นี่แหละคือที่มาแห่งนามของเขา ที่เรียกว่า ข่า”.

       วิลเฟรด เบอร์เชตต์ นักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษกล่าว (Wilfred Burchett, Mekong Upstream – จากคำแปลของ จิตร ภูมิศักดิ์)
       ในประวัติศาสตร์ของไทยนั้น มีการเล่าถึงชนชาว “ข่า” หรือ “ลาวเทิง” ไว้น้อยมาก โดยเฉพาะในเอกสารของส่วนกลางซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับพวกเขามากนัก ที่น่าจะผ่านหูผ่านตาบ้าง (เล็กน้อย) น่าจะเป็นกรณีที่เรียกได้ว่าเป็น “ปฐมบท” ของศึกเจ้าอนุวงศ์.

       เหตุการณ์คราวนั้นเกิดขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โดยในพระราชพงศาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้บันทึกไว้ว่า เจ้านครจำปาศัก (หมาน้อย) (จำปาศักบ้างสะกดว่า จำปาศักดิ์ หรือ จำปาสัก ในบทความนี้ขอใช้ว่า จำปาศักตามพระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาฯ ไปตลอดทั้งเรื่อง ยกเว้นตัวสะกดตามเอกสารต้นฉบับอื่น ๆ) ได้ส่งทูตนำสาส์นมายังราชสำนักกรุงเทพฯ เพื่อแจ้งว่า
“อ้ายสาเกียดโง้งลาว ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษมีบุญสำแดงวิชาให้พวกข่าเห็น พวกข่าสาละวัน ข่าคำทอง ข่าอัตปือ เข้าเกลี้ยกล่อมอ้ายสาเกียดโง้งประมาณแปดพันคน ยกมาตั้งอยู่ ณ ทุ่งนาหวา ไกลเมืองจำปาศักทางสามคืน เมื่อ ณ วันอาทิตย์เดือนสาม ขึ้นแปดค่ำ ข้าพเจ้า (เจ้าจำปาศัก) ขอให้ท้าวเพี้ยคุมไพร่ข้ามฟากไปตั้งอยู่บ้านนพโพ ได้รบกันตั้งหนึ่ง เหลือกำลังรับไม่ได้ ถอยข้ามมาตั้งอยู่ฝั่งแม่น้ำโขงตะวันออก ณ วันเดือนสาม ขึ้นเก้าค่ำ อ้ายสาเกียดโง้งยกเข้ามาตั้งอยู่ฝั่งแม่น้ำไกลเมืองจำปาศัก ข้าพเจ้าแต่งให้เจ้าสุวรรณสารเพี้ยเมืองกลาง เพี้ยหมื่นน่า เพี้ยไชยภาพ เป็นแม่ทัพกับท้าวเพี้ยคุมไพร่พันเศษ ยกไปตั้งฝั่งแม่น้ำโขงให้ลาดระเวนทางบกทางเรือ

       “ครั้นถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือนสาม ขึ้นสิบสองค่ำ อ้ายสาเกียดโง้งยกข้ามน้ำมา คนประมาณหกพันเศษจุดเผาเมืองจำปาศัก ผู้คนแตกกระจัดกระจาย ข้าพเจ้าคอยกองทัพเมืองอุบลราชธานี เมืองยโสธร เมืองเขมราฐ ก็ไม่มา ไพร่ที่เมืองจำปาศักน้อยนักข้าพเจ้าเห็นว่าจะต่อสู้มิได้ ณ วันศุกร์ เดือนสาม ขึ้นสิบสามค่ำ อ้ายสาเกียดโง้งยกเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองจำปาศัก ข้าพเจ้าพาครอบครัวหนีขึ้นมาอยู่บ้านเจียมแขวงเมืองอุบล เมืองเขมราฐต่อกัน เรื่องความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงมีตราโปรดให้เจ้าพระยานครราชสีมา กับเจ้าอนุเมืองเวียงจันทน์ ยกทัพขึ้นไปจับอ้ายสาเกียดโง้ง ๆ สู้ไม่ได้ ก็จับตัวอ้ายสาเกียดโง้งจำส่งลงมากรุงเทพมหานครกับครอบครัวข่าเป็นอันมาก อ้ายสาเกียดโง้งนั้นให้จำไว้ ณ คุก พวกครอบครัวข่านั้นโปรดให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้าง ตั้งบ้านอยู่ที่บางบอนจึงเรียกข่าตะพุ่นหญ้าช้างมาจนทุกวันนี้ ที่เมืองจำปาศักโปรดให้ราชบุตร ๆ เจ้าเวียงจันทน์ไปเป็นเจ้าเมืองในเดือนสี่นั้น”

       ในความส่วนนี้จึงเล่าเพียงแต่ว่า อ้ายสาเกียดโง้งตั้งตนเป็นผู้วิเศษหาสมัครพรรคพวกไปยึดเมืองจำปาศัก แต่ก็ไม่ได้ให้เบื้องหลังความเป็นมาว่า เหตุใดอ้ายสาเกียดโง้งกับชาวข่ากว่า 8,000 คน ถึงได้ตั้งตนเป็นกบฏยึดเมืองจำปาศัก?.

       ด้าน จิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวว่า แต่เดิมนั้น จำปาศัก เป็นถิ่นฐานของชาวข่าระแด ชนชาติในตระกูลภาษาชวา-มลายู และเป็นพลเมืองจามสาขาหนึ่ง จึงได้ชื่อว่าเป็น นครจามปา ภายหลังตกอยู่ใต้อำนาจเขมร เมื่อเขมรเสื่อมอำนาจลง ชาวระแดก็ปกครองกันเองแต่ต้องจ่ายส่วยให้ทั้งเจ้าเวียงจันทน์และเจ้าอยุธยา และภายหลังเจ้าจากลาวก็แพร่อิทธิพลเข้ามา จน พ.ศ. 2237 ราชวงศ์ลาวที่หมดอำนาจในเวียงจันทน์ก็ลี้ภัยมาอยู่จำปาศัก จนในที่สุดข่าระแดก็กลายเป็น “ข้า” ที่ถูกปกครองโดยเจ้าเชื้อลาวไป.

       คำว่า “ข่า” ในภาษาลาวก็คือ ข้า หรือ ทาส ในภาษาไทยนั่นเอง
       ครั้นถึงรัชสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์ได้ยกทัพมาตีนครจำปาศักไปเป็นประเทศราช โดยมีกำลังสำคัญเป็นข่าจากเมืองสุรินทร์ ทำให้อำนาจของราชสำนักจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาขึ้นมามีอำนาจโดยตรงในจำปาศัก.

       ล่วงมายุครัตนโกสินทร์ มีคำสั่งจากส่วนกลางไปยังเจ้าผู้ปกครองข่าให้เรียกเก็บส่วย และเร่งรัดให้มีการสักเลขข่าไพร่ ข่าส่วย อย่างหนักหนา จนชาวข่าทนไม่ไหวลุกฮือขึ้นต่อต้านการขูดรีดใน พ.ศ. 2334 นำโดย “เชียงแก้ว” ซึ่งอาศัยพุทธคุณสร้างศรัทธาจากชาวบ้านรวมกำลังกันไปยึดอำนาจปกครองจำปาศักคืนจากเจ้าลาว.

       เจ้าไชยกุมารผู้ครองจำปาศักจึงหนีออกจากเมือง แต่ด้วยความชราภาพจึงทิวงคตระหว่างทาง ชาวข่าจึงยึดจำปาศักเอาไว้ได้ แต่ฝ่ายไทยไม่ยอมรับการปกครองชาวข่าโดยชาวข่า จึงใช้กำลังไทย-ลาวเข้าปราบปรามกลุ่มชาวข่าลง และผลของการก่อกบฏก็ยิ่งทำให้การขูดรีดชาวข่าหนักมือยิ่งขึ้น

      เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) สมัยที่ยังเป็นพระพรหมยกกระบัตรคือหนึ่งในกองกำลังปราบข่าในคราวนั้น แต่กว่าที่จะยกทัพไปถึงก็พบว่า กลุ่มอาญาสี่เมืองอุบลได้ทำการปราบปรามกบฏเชียงแก้วลงได้เรียบร้อยแล้ว แต่เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเที่ยว.

      “พอกองทัพเมืองนครราชสีมายกไปถึงก็พากันไปเมืองจำปาศักดิ์ แลพากันยกไปตีพวกข่าชาติกระเสงสวางจะรายระแดร์ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งโขงตะวันออกจับได้มาเป็นอันมาก จึ่งได้มีไพร่ข่าและประเพณีตีข่ามาแต่ครั้งนั้น” (พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ).

       หากไปดู “พื้นเวียง” หรือพงศาวดารเวียงจันทน์เอกสารบันทึกจากฝั่งลาวประกอบก็จะยิ่งทำให้เห็นถึงปัญหาคอร์รัปชันและการกดขี่ประชาชนแต่กลับได้ดิบได้ดีในระบบศักดินาของกรุงเทพฯ ดังบันทึกที่กล่าวว่า “หลวงยกบัตรเมืองโคราชขออนุญาตราชสำนักสยามเพื่อขอปราบไล่พวกข่าอยู่ดอนโขงบ้านด่าน บาดได้ฮับพระบรมราชานุญาต หลวงยกบัตรกะได้ออกมาขูดฮีดซาวบ้านซาวเมือง ยกทัพไปโจมตีซาวพื้นเมือง คนล้มตายเป็นจำนวนหลาย.

       “พระยาไกรเจ้าเมืองภูขันบ่ยอมอ่อนต่อเมืองโคราชกะได้ฮ้องมายังสำนักสยาม ราชสำนักสยามกะได้ส่งคุณมหาอมาตย์ขึ้นไปไต่สวนความ บ่พ่อกับหลวงยกบัตรเมืองโคราชกะได้พ่อคำเว่าเพ็ดทูลแล้วได้ฮับสินบน คุณมหาอามาตย์กะเดินทางต่อเพราะสิไปรายงานต่อราชสำนัก พระยาไกรกะได้ฮ้องไปอีก คุณมหาอามาตย์กะได้เดินทางไปอีกคือเก่า หลวงยกบัตรเพิ่นกะได้จัดแต่งเครื่องบรรณาการข้าทาสถวายราชสำนักนำ หลวงยกบัตรได้ฮับแต่งตั้งให้เป็นพระยาพรหมภักดีแล้วสัญญาว่าพอเจาเมื่องโคราชฮอดแกกรรมแล้วสิให้พรหมพระยาภักดีขึ้นครองเมืองแทน พระยาพรหมภักดีเพิ่นได้เป็นคนโปรดของราชสำนักสยาม ได้กดขี่ขูดฮีดซาวเมืองหลายขึ้น” (สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น).

       กล่าวได้ว่า การเข่นฆ่าขูดรีดชนพื้นเมืองไม่ได้เป็นสิ่งที่ส่วนกลางให้ความสนใจ เมื่อมีข้อร้องเรียนมา ผู้ถูกร้องเรียนก็ให้สินบนและเครื่องบรรณาการเป็นการตอบแทน เรื่องร้องเรียนก็เป็นอันตกไป ฝ่ายผู้ถูกร้องกลับมีความดีความชอบ จนภายหลังได้รับคำมั่นว่าจะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองโคราช
การกดขี่ของไทย ทำให้ชาวข่ารวมตัวขึ้นต่อต้านกันอีกครั้งใน พ.ศ.2358 โดยมีแกนนำเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งนามว่า “สา” เอกสารไทยระบุว่าเป็น “อลัชชี” และเรียกพระรูปนี้ว่า “อ้ายสาเกียดโง้ง” โดยมิได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ชาวข่าต้องออกมาต่อต้านการปกครองของฝ่ายไทยแต่ประการใด แล้วยกให้เป็นเรื่องของภิกษุชั่วและประชาชนโง่ที่ถูกหลอก.

       “ลุจุลศักราช ๑๑๗๙ ปีฉลูนพศก มีภิกษุอลัชชีรูปหนึ่งชื่อสา อยู่บ้านหลุบเลาเตาปูนแขวงเมืองสารบุรี เดินธุดงค์มาหยุดพักอาไศรยอยู่ที่เขาเกียดโง้งฝั่งโขงตวันออก ซึ่งเปนแขวงเมืองจำปาศักดิแต่ก่อน อ้ายสาแสดงตัวว่าเปนคนมีวิชาฤทธานุภาพต่าง ๆ เปนต้นว่าเอาแว่นแก้วมาส่องกับแดดให้ติดเชื้อเปนไฟลุกขึ้นแล้วอวดว่าเรียก ไฟฟ้าได้ แลสามารถที่จะเรียกให้ไฟนั้นมาเผาบ้านเมือง แลมนุษย์ เดรัจฉาน ให้ไหม้วินาศฉิบหายไปทั้งโลกย์ก็ได้ ฝ่ายคนในประเทศเหล่านั้น มีพวกข่าเปนต้น อันประกอบไปด้วยสันดานความเขลา มิรู้เท่าเล่ห์กลอ้ายสา ครั้นเห็นอ้ายสาแสดงวิชาดังนั้นก็เห็นเปนอัศจรรย์ ต่างมีความกลัวเกรงก็พากันยินดีนิยมเชื่อถือ เข้าเปนพวกอ้ายสาเกียดโง้งเปนอันมาก” (พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ).

       ขณะที่จิตรชี้ว่า “การเคลื่อนไหวของภิกษุสาคงใช้ไสยศาสตร์และอภินิหารตามทำเนียมของยุคสมัย และโดยเฉพาะก็ต้องอาศัยอิทธิพลของพุทธศาสนา” และยังให้ความเห็นเสริมด้วยว่า “พงศาวดารมักเขียนว่า อ้ายสาเกียดโง้งใช้เล่ห์เหลี่ยมกลอุบายหลอกลวงให้พวกข่าเชื่อ มีใครบ้างที่จะยอมให้ถูกหลอกไปตายเป็นพัน ๆ ผู้จดพงศาวดารพยายามปกปิดสาเหตุที่แท้จริงแห่งการลุกฮือขึ้น จึงต้องออกทางเหมาให้พวกข่าโง่ หลงกลถูกหลอก เขียนอย่างดูถูกปัญญามนุษย์ และวิญญาณการต่อสู้ของพวกข่าจนเกินไป!”.

       กำลังพลของภิกษุสามากพอที่จะยึดนครจำปาศักได้ ฝ่ายเจ้านครจำปาศักได้แต่หนีและมาถึงพิลาไลยที่กรุงเทพฯ ส่วนเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) พงศาวดารฝ่ายไทยเล่าว่า ขณะที่กำลังเกิดเหตุวุ่นวายในจำปาศัก เขากำลัง “กำลังเทียวกำจัด ตีข่าพวกเสม็ดกันชา ข่าประไรนบ ประไรต่าง อยู่ณแขวงเมืองโขง”.

       ฝ่ายไทย-ลาวร่วมกันตีกองกำลังของภิกษุสาให้แตกพ่ายจากนครจำปาศักไปได้ โดยผู้ที่ปราบภิกษุสาได้เด็ดขาดก็คือ “เจ้าอนุเวียงจันท์ยกกำลังทัพเที่ยวตามจับอ้ายสาเกียดโง้ง กองเจ้าราชบุตร (โย่) บุตรเจ้าอนุเวียงจันท์จับตัวอ้ายสาเกียดโง้งได้ส่งลงมากรุงเทพ ฯ”

      เรื่องเล่าของฝ่ายไทยไม่มีการไล่เลียงต่อไปว่า การก่อกบฏของภิกษุสานั้นเป็นมาอย่างไร? มีผู้สมรู้ร่วมคิดอื่นอีกหรือไม่? ขณะที่พื้นเวียงเล่าว่า
“ได้สอบสวนเจ้าหัวสากะสารภาพว่าพระยาพรหมภักดีเป็นผู้ยุแหย่ แต่พระยาพรหมภักดีเพิ่นกะว่าบ่ได้เฮ็ด “จากเหตุดั่งกล่าวเฮ็ดให้ทั้งสองขัดแย้งกันหลายกว่าเกิดจากการสอบสวนแม่ว่าพระยาพรหมภักดีสิมีความผิดแต่กะทรงเป็นว่ามีคุณต่อแผ่นดินกะยกความผิดให้ พระอนุรุทธาธิราชทูลขอให้ราชบุตรของพระองค์ครองเมืองจำปาศักดิ์กะทรงอนุญาต”.

       ก็แปลว่า เจ้าพระยานครราชสีมา หรือขณะนั้นคือ พระยาพรหมภักดีถือเป็นหนึ่งในผู้สมรู้ร่วมคิดในการ “กบฏ” กับภิกษุสานั่นเอง แต่พระยาพรหมภักดีกลับมิต้องรับโทษใด ๆ สุดท้ายได้รับการยกย่องให้เป็นเจ้าพระยานครราชสีมาอีก และต้องการแข่งอิทธิพลกับฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ โดยยุแหย่ว่า การให้เจ้าราชบุตรครองเมืองจำปาศักจะทำให้ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์มีอำนาจมากเกินไป ควรให้มีการสักเลขชาวลาวเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวลาวในภาคอีสานกลับไปเข้ากับฝ่ายเจ้าอนุวงศ์.

       “พระยาพรหมภักดีกะเห็นว่าพระยาอนุรุทธาธิราช (เจ้าอนุวงศ์) สิมีอำนาจขึ้นสุมื่อ พวกลาวสิกลับไปวังเวียงได้เบิด ทางแก้กะคือสักเลกพวกลาวไว้ก่อน ทางราชสำนักสยามก็เห็นนำจั่งใดสั่งโปรดให้หมื่นภักดี หมื่นพิทักษ์ไปเป็นแม่กองสักเลกพวกลวงอยู่กาฬสิน ละคร เหมราษฐ์บังมุขอุบล ฯ” เอกสารพื้นเวียงระบุ.

       นอกจากนี้ เอกสารพื้นเวียงยังกล่าวถึงพฤติกรรมของเจ้าพระยานครราชสีมาหรืออดีตพระยาพรหมภักดีต่อไปว่า “เจ้าเมืองโคราชถึงแก่อสัญกรรม พระยาพรหมภักดีได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให่เพิ่นได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน พญาพรหมภักดีเฮ็ดความเดือดฮ้อนให้กับซาวลาวและข่าหลายขึ้นเมื่อ พระอนุรุทธาธิราชเจ้าเมืองเวียงจันทร์ได้ยกทัพมาเพื่อจับนายกองสักเลกแล้วกะได้กดขี่ราษฎรฆ่าเสีย แล้วหลายสิล้มอำนาจพระยาพรหมภักดีนำ” แสดงให้เห็นว่า เจ้าพระยานครราชสีมานั้นมีพฤติกรรมกดขี่ชาวบ้านอย่างรุนแรง ตั้งแต่เป็นยกกระบัตร เป็นผู้ให้กำเนิด “ประเพณีตีข่า” และยิ่งมีอำนาจมากก็ยิ่งแสดงความทารุณหนักมือขึ้น ทำให้เจ้าอนุวงศ์ต้องยกทัพลงมาปราบ ซึ่งเป็นการให้ภาพที่ต่างไปจากพงศาวดารฝั่งไทยอย่างสิ้นเชิง.

       “เจ้าเมืองโคราชถึงแก่อสัญกรรม พระยาพรหมภักดีได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให่เพิ่นได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน พญาพรหมภักดีเฮ็ดความเดือดฮ้อนให้กับซาวลาวและข่าหลายขึ้นสุมื่อ พระอนุรุทธาธิราชเจ้าเมืองเวียงจันทร์ได้ยกทัพมาเพื่อจับนายกองสักเลกแล้วกะได้กดขี่ราษฎรฆ่าเสีย แล้วหลายสิล้มอำนาจพระยาพรหมภักดีนำ” เอกสารพื้นเวียงระบุ.

       จากที่กล่าวมาเห็นได้ว่า ทางกรุงเทพฯ มิได้สนใจความเป็นอยู่ของชาวข่าเท่าใดนัก นอกจากจะเห็นเป็นเพียงแหล่งรายได้และทรัพย์สิน จึงปล่อยให้มีการกดขี่ชาวข่าอย่างรุนแรง นำไปสู่การก่อกบฏในระยะเวลาห่างกันไม่นาน และการปราบปรามนั้นก็น่าจะรุนแรงจนทำให้กำลังของชาวข่าอ่อนแรง และกระจัดกระจายจนรวมตัวกันได้ยาก ชาวข่าที่ไม่ยอมตกเป็นไพร่ส่วย หรือเป็นผู้ถูกล่าไปเป็นทาสก็ต้องหลบหนีไปอยู่ตามป่าเขา และเรื่องราวการต่อสู้ของพวกเขาก็เป็นได้เพียงเรื่องเล่ารอง หรือมิได้ถูกเล่าเสียเลยในบันทึกของผู้กระทำ.




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. ปรับเสริมจาก. เว็บไซต์สำนักงานวัมนธรรมจังหวัดมุกดาหาร, https://www.m-culture.go.th/mukdahan/ewt_news.php?nid=458&filename=index, วันที่เข้าถึง 21 กรกฎาคม 2564.
02.  จาก. facebook ห้อง "กลุ่มศึกษาลาว-อีสานเพื่อเผ่าพันธุ์ลาว", โดยผู้ใช้นามว่า ห้างทองเที่ยงธรรม เยาวราช, วันที่เข้าถึง 21 กรกฎาคม 2564.



       
info@huexonline.com