MENU
TH EN

TH - จารึกหลักที่ 1: จารึกพ่อขุนรามคำแหง

Title Thumbnail: จารึกพ่อขุนรามคำแหง, ที่มา: Facebook ห้อง "ศฺรีทฺวารวตีศฺวร ปุณฺย", เครดิตผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ส่งภาพให้เป็นวิทยาทาน, วันที่เข้าถึง 23 สิงหาคม 2563. Hero Image: จารึกพ่อขุนรามคำแหง, ที่มา: www.silpa-mag.com, วันที่เข้าถึง 4 กันยายน 2563.
TH - จารึกหลักที่ 1: จารึกพ่อขุนรามคำแหง01.
First revision: Aug.23, 2020
Last change: Sep.04, 2020
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา
 
   ชื่อจารึก  จารึกพ่อขุนรามคำแหง
   ชื่อจารึกแบบ  หลักที่ 1 ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย
   อื่น ๆ  ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง พุทธศักราช 1835
   อักษรที่มีในจารึก  ไทยสุโขทัย
   ศักราช  พุทธศักราช 1835
   ภาษา  ไทย
   ด้าน/บรรทัด  จำนวน 4 ด้าน รวมมี 127 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 35 บรรทัด, ด้านที่ 2 มี 35 บรรทัด, ด้านที่ 3 มี 27 บรรทัด, และด้านที่ 4 มี 27 บรรทัด.
   วัตถุจารึก  หินทรายแป้งเนื้อละเอียด
   ลักษณะวัตถุ  หลักสี่เหลี่ยมด้านเท่า ทรงกระโจม
   ขนาดวัตถุ  กว้างด้านละ 35 ซม. สูง 111 ซม.
   บัญชี/ทะเบียนวัตถุ  1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น "สท.1"
 2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 กำหนดเป็น "หลักที่ 1 ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย"
 3) ในหนังสือ จารึกสมัยสุโขทัย กำหนดเป็น "ศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหง พุทธศักราช 1835"
   ปีที่พบจารึก  พุทธศักราช 2376
   สถานที่พบ  เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย
   ผู้พบ  รัชกาลที่ 4
   ปัจจุบันอยู่ที่  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร
   พิมพ์เผยแพร่  1) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 (กรุงเทพฯ): สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), 15-32.
 2) จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2526), 4-20.
   ประวัติ   ในรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และได้ออกเสด็จจาริกธุดงค์ไปยังหัวเมืองเหนือในราวปี พ.ศ. 2376 เมื่อครั้งเสด็จถึงเมืองเก่าสุโขทัย ทรงพบศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร (สท. 3) หลักที่ 4 และ พระแท่นมนังศิลาบาตร ที่เนินปราสาทเก่าสุโขทัย ทอดพระเนตรเห็นว่าโบราณวัตถุเหล่านี้เป็น “โบราณวัตถุที่สำคัญ” จึงโปรดฯ ให้นำลงมาเก็บรักษาไว้ที่วัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) หนังสือศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 1 จารึกพ่อขุนรามคำแหง ฉบับหอสมุดแห่งชาติ จัดสัมมนา พ.ศ. 2520 ได้กล่าวถึงประวัติศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ไว้ดังนี้ “ปรากฎในสมุดจดหมายเหตุ ซึ่งเดิมเก็บอยู่ ณ กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ซึ่งได้มาจากราชเลขาธิการในพระบรมมหาราชวัง ก่อนเปลี่ยนการปกครอง) และในสมุดไทย ซึ่งเดิมเป็นของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ มีข้อความตรงกันว่า “เมื่อศักราช 1195 ปีมเสง เบญศก (ตรงกับ พ.ศ. 2376 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ ณ วัดราชาธิวาส เดิมเรียกว่าวัดสมอราย) จะเสด็จขึ้นไปประภาสเมืองเหนือมัศการเจตียสฐานต่างๆ ... ครั้น ณ วันขึ้นหกค่ำกลับมาลงเรือ เจ็ดค่ำเวลาเที่ยงถึงท่าธานี เดินขึ้นไปเมืองศุโขทัยถึงเวลาเยน อยู่ที่นั้นสองวัน เสด็จไปเที่ยวประภาษพบแท่นสีลาแห่งหนึ่ง อยู่ริมเนินปราสาทก่อไว้เปนแท่นหักพังลงมาตะแคงอยู่ที่เหล่านั้น ชาวเมืองเขาเครพย์ (เคารพ) สำคัญเป็นสานเจ้า เขามีมวยสมโพธทุกปี ... รับสั่งให้ฉลองลงมา ก่อเปนแท่นขึ้นไว้ใต้ต้นมะขามที่วัดสมอราย กับเสาสิลาที่จารึกเปนหนังสือเขมรฯ ที่อยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เอามาคราวเดียวกับแท่นสีลา” “ ในสมุดไทยฉบับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ยังได้กล่าวถึง “เสาสิลา” อีกเสาหนึ่ง ว่าเป็นเสาศิลาที่มาแต่เมืองสุโขทัย มีข้อความเกี่ยวกับหนังสือไทยแรกมีขึ้นในเมืองนั้น และพรรณนาข้อความที่ปรากฎในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ด้านที่ 4 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โปรดให้ย้ายศิลาจารึกทั้งสองหลักไปที่วัดบวรนิเวศวิหาร คงจะได้ทรงพากเพียรอ่านคำจารึกอักษรไทยในช่วงเวลานี้ ส่วนจารึกภาษาเขมรนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงอ่านและแปล ครั้นเสด็จเสวยราชย์แล้ว โปรดเกล้าฯ ให้นำศิลาจารึกไปตั้งไว้ที่ศาลารายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ข้างด้านเหนือพระอุโบสถหลังที่สองนับจากตะวันตก จนถึง พ.ศ. 2466  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมารวมกับศิลาจารึกหลักอื่น ๆ ที่ได้พบภายหลังเก็บไว้ที่ตึกถาวรวัตถุหน้าวัดมหาธาตุฯ ซึ่งเป็นที่ทำการหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ครั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายหนังสือตัวเขียน และศิลาจารึกของหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร มาเก็บไว้ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ในพระราชวังบวรสถานมงคล ให้พระที่นั่งนั้น เป็นที่ทำการของหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครต่อไป พระราชทานนามตึกถาวรวัตถุใหม่ว่า หอพระสมุดวชิราวุธ ผู้ซึ่งอ่านจารึกได้เป็นคนแรก คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2379 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นแม่กองควบคุมคณะนักปราชญ์ราชบัณฑิต คัดอักษรจากศิลาจารึก ครั้นเมื่อปีพุทธศักราช 2398 เซอร์ ยอห์น โบวริง ได้เข้ามาในเมืองไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานสำเนาคัดอักษรพิมพ์หิน พร้อมด้วยแปลเป็นภาษาอังกฤษบางคำ เซอร์ ยอห์น โบวริง ได้นำตัวอย่างลงตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ “เดอะ คิงส์ดัม แอนด พีพึล อ๊อบว ไซแอม” นอกจากนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว ยังได้พระราชทานสำเนาคำอ่านศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง แก่ราชฑูตฝรั่งเศสอีกชุดหนึ่ง ครั้นต่อมาภายหลัง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ได้จ้างชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งคือ ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ มารับราชการเป็นบรรณารักษ์ใหญ่ มีหน้าที่เป็นผู้ตรวจค้นสอบสวนและอ่าน แปลศิลาจารึกต่าง ๆ ซึ่งหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครได้ให้พิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปีพุทธศักราช 2467 เนื่องในงานทำบุญฉลองอายุครบ 4 ครบ ของพระยาราชนกูล (อวบ เปาโรหิตย์) ให้ชื่อหนังสือว่า “ประชุมจารึกสยาม ภาคที่ 1 จารึกกรุงสุโขทัย” พิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศส การพิมพ์คำอ่าน-คำปัจจุบัน และอธิบายคำจารึกพ่อขุนรามคำแหงคราวนี้ ใช้ฉบับที่ได้จากการประชุมสัมมนา ซึ่งกองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรจัดทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2516 เป็นต้นฉบับ
   เนื้อหาโดยสังเขป  เรื่องที่มีในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงนี้แบ่งออกได้เป็นสามตอน ตอนที่ 1 ตั้งแต่บรรทัดที่ 1 ถึง 18 เป็นเรื่องพ่อขุนรามคำแหงเล่าประวัติของพระองค์ ตั้งแต่ประสูติจนได้เสวยราชสมบัติใช้คำว่า “กู” เป็นพื้น ตอนที่ 2 ไม่ได้ใช้คำว่า “กู” เลย ใช้คำว่า “พ่อขุนรามคำแหง” เล่าเรื่องประพฤติเหตุต่าง ๆ และธรรมเนียมในเมืองสุโขทัย เรื่องสร้างพระแท่นมนังศิลาเมื่อ ม.ศ. 1214 เรื่องสร้างพระธาตุเมืองศรีสัชนาลัย เมื่อ ม.ศ. 1207 และที่สุดเรื่องประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นเมื่อ ม.ศ. 1205 ตอนที่ 3 ตั้งแต่ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 12 ถึงบรรทัดสุดท้าย เข้าใจว่าได้จารึกภายหลังหลายปี เพราะตัวหนังสือไม่เหมือนกับตอนที่ 1 และที่ 2 คือตัวพยัญชนะลีบกว่าทั้งสระที่ใช้ก็ต่างกันบ้าง ตอนที่ 3 นี้ เป็นคำสรรเสริญ และยอพระเกียรติคุณของพ่อขุนรามคำแหง และกล่าวถึงอาณาเขตเมืองสุโขทัยที่แผ่ออกไปครั้งกระโน้น
   ผู้สร้าง  พ่อขุนรามคำแหง
   การกำหนดอายุ  กำหนดอายุตามปีศักราชที่ระบุไว้ในจารึก พ.ศ.1835
   ข้อมูลอ้างอิง    เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศมส., 2546, จาก :
๑) ยอร์ช เซเดส์, “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง,” ใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 4-20.
๒) ยอร์ช เซเดส์, “หลักที่ 1 ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 : เป็นจารึกกรุงสุโขทัยที่ได้พบก่อน พ.ศ. 2467 ([กรุงเทพฯ] : คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), 27-36.
 

ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. db.sac.or.th, วันที่เข้าถึง 4 กันยายน 2563.



PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01: จารึกพ่อขุนรามคำแหง, ที่มา: Facebook ห้อง "ศฺรีทฺวารวตีศฺวร ปุณฺย", เครดิตผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ส่งภาพให้เป็นวิทยาทาน, วันที่เข้าถึง 23 สิงหาคม 2563.
ภาพที่ 02-05: จารึกพ่อขุนรามคำแหง ด้านที่ 1-4, ที่มา: db.sac.or.th, วันที่เข้าถึง 4 กันยายน 2563.

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com