MENU
TH EN
Title Thumbnail & Hero Image: วัดเจดีย์แดง, ที่มา: watjaydeedang.watportal.com, วันที่เข้าถึง 23 พฤษภาคม 2564
185. วัดเจดีย์แดง01.
First revision: Jul.23, 2020
Last change: May 23, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

       วัดเจดีย์แดง หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดแดง” ตั้งอยู่ที่บ้านแดง หมู่ที่ 4 ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่ 19 ไร่ 3 ตารางวา พื้นที่เป็นที่ราบลุ่มประกอบด้วยสิ่งก่อสร้าง หรืออาคาร เสนาสนะ ศาสนสถานสำคัญ ๆ คือ อุโบสถก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 24 เมตร ศาลาการเปรียญสร้างด้วยไม้ ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 30 เมตร กุฏิ 7 หลัง เป็นอาคารไม้ 4 หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ 3 หลัง และหอระฆังก่ออิฐถือปูน02.

       เมื่อพิจารณาแผนผังของวัดพบว่า ด้านหน้าของวัดหันไปทางทิศตะวันออก ด้านหลังอยู่ใกล้กับแม่น้ำลพบุรีซึ่งเป็นเส้นทางไปออกโพธิ์สามต้น มีการแบ่งเขตออกเป็นเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาสด้วยทางเดินถนนคอนกรีตขนาดเล็ก เขตพุทธาวาสประกอบด้วยอุโบสถ เจดีย์ใหญ่ด้านหลังอุโบสถ และสระน้ำโบราณทางทิศใต้ขนาดใหญ่เกือบเท่าความกว้างยาวของอุโบสถ สิ่งก่อสร้างทั้งสามนี้มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ส่วนศาลาเล็กระหว่างอุโบสถและเจดีย์ใหญ่ ตลอดจนเมรุเผาศพ สร้างเพิ่มสมัยปัจจุบัน ส่วนเขตสังฆาวาสประกอบด้วย หมู่กุฏิ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ หอระฆังและเจดีย์ขนาดเล็กทรงหกเหลี่ยม และทรงแปดเหลี่ยม รวม 2 องค์ ล้วนเป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์

       ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับได้กล่าวถึงวัดนี้ว่า เป็นสถานที่ตั้งค่ายและชุมนุมพลของทั้งกองทัพไทยและกองทัพพม่า รวม 3 ครั้งด้วยกัน
       ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2293 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ.2275-2301) กรุงกัมพูชาหรือเขมรเกิดความไม่สงบ เจ้านายเขมรคือ นักพระรามาธิบดีกับนักพระศรีไชยเชษฐา สู้รบกับญวนไม่ได้ จึงพาพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการและชาวเขมรหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารทางเมืองปราจีนบุรี สมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงเมืองปราจีนบุรีไปรับเข้ามายังพระนคร แล้วมีพระบรมราชโองการให้พระยาราชสุภาวดีเป็นแม่ทัพเกณฑ์คนจำนวนหนึ่งหมื่นคน โดยตั้งชุมนุมพลที่วัดพระเจดีย์แดง ยกทัพไปตีกรุงกัมพูชาสำเร็จ เขมรจึงตกเป็นประเทศราชของไทยอีกครั้งจนถึงเสียกรุง03.

       ครั้งที่ 2 และ 3 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศหรือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาสน์อัมรินทร์ (พ.ศ. 2301 - 2310) กล่าวคือ
          เมื่อ พ.ศ.2302 กองทัพพม่าภายใต้การควบคุมของพระเจ้ามังลอก (ทรงส่งทัพหน้าซึ่งตั้งค่ายใหญ่ ณ ตำบลโพธิ์สามต้น มีเนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพ ไล่กองทัพไทยภายใต้การนำของหมื่นทิพเสนา ปลัดกรมพระตำรวจในขวา และกองพลทหารจีนที่มาช่วยรบจนสามารถเข้ามาตั้งค่ายที่เพนียด วัดพระเจดีย์แดง และวัดสามพิหาร แล้วบังคับคนไทยให้ทำบันไดเป็นจำนวนมากสำหรับใช้พาดกำแพงปีนเพื่อปล้นเอาเมือง04.
         ต่อมาใน พ.ศ.2308 ทัพพม่ายกเข้ามาทุกทิศทุกทาง พระเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้เกณฑ์กองทัพไปตั้งรับพม่า ณ ที่ต่าง ๆ ทัพหนึ่งจากเมืองนครราชสีมาตั้งค่ายอยู่ใกล้วัดพระเจดีย์แดง ทัพเมืองนครราชสีมาลงไปรักษาเมืองธนบุรี เมื่อทัพพม่าจุดไฟเผาปราสาทที่เพนียดแล้ว ก็ตั้งค่ายลงที่เพนียด วัดพระเจดีย์แดง วัดสามพิหาร ซึ่งตั้งอยู่ในเส้นทางเดียวกัน รวมทั้งที่วัดใกล้เคียงอื่น ๆ โดยปลูกหอรบตั้งปืนใหญ่ยิงเข้ามาในกรุงทุก ๆ ค่าย05
 
          โบราณสถานที่น่าชมภายในวัดเจดีย์แดง ได้แก่
          1). อุโบสถ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคามุงกระเบื้องดินเผาที่เรียกว่า “กระเบื้องกาบกล้วย” ลวดลายประดับหน้าบันรวมทั้งช่อฟ้าใบระกาชำรุดหักพังไปหมด ด้านข้างมีชายคายื่นออกมาเล็กน้อย ด้านหน้าและด้านหลังมีมุข มุขแต่ละข้างมีเสารองรับสี่ต้น สองต้นติดกับผนังอุโบสถ และอีกสองต้นรองรับชายคา เป็นเสาสี่เหลี่ยมมีบัวหัวเสา ผนังเจาะเป็นช่องหน้าต่างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าข้างละ 6 ช่อง เจาะช่องประตูด้านละ 2 ช่อง ฐานอุโบสถมีลักษณะอ่อนโค้งแบบหย่อนท้องช้าง
          บนลานประทักษิณที่ยกสูงจากพื้นดินประมาณ 60-70 เซนติเมตร เป็นที่ตั้งเสมาล้อมรอบ 8 ทิศ เป็นเสมาเดี่ยวทำด้วยหินทราย ขนาดเล็กไม่มีลวดลาย แต่มีกระหนกที่เอว ตั้งอยู่บนฐานสูงก่ออิฐถือปูน ฐานเสมาประกอบด้วย ฐานเขียง ฐานสิงห์ ฐานบัว และฐานบัวกลุ่ม มีขนาดลดหลั่นกันขึ้นไปจนถึงตัวใบเสมา
          ลักษณะอุโบสถและใบเสมา  แสดงให้เห็นว่าเป็นศิลปะอยุธยาตอนปลาย (กำหนดอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 24).

         2). เจดีย์ใหญ่หลังอุโบสถ  ปัจจุบันได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากรแล้วด้วยการพอกปูนและทาสีใหม่ แต่ยังคงรูปแบบเดิมไว้ จากการสอบถามพระภิกษุ และชาวบ้าน ทราบว่าเรียกชื่อวัดตามลักษณะของเจดีย์องค์นี้ก่อนที่จะได้รับการซ่อมแซมที่มองเห็นเป็นสีแดง เจดีย์แดงเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน (อิฐที่ใช้มีขนาดเล็กกว่าอิฐสมัยอยุธยาตอนต้นและตอนกลาง) ประกอบด้วยฐานประทักษิณสูงลานแคบมาก ฐานสิงห์ย่อมุมไม้ยี่สิบ คือย่อด้านละห้ามุมลดหลั่นกันขึ้นไป ถัดไปเป็นบัวกลุ่มปากระฆัง องค์ระฆังทรงกลมรูปทรงเพรียว จากนั้นเป็นบัลลังก์ ปล้องไฉนเป็นบัวกลุ่มซ้อนลดหลั่นกัน 11 ชั้น ปลีและเม็ดน้ำค้างเป็นลักษณะของเจดีย์สมัยอยุธยาตอนปลายที่ให้อิทธิพลต่อมายังเจดีย์ทรงเครื่องสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น นอกจากนี้จะเห็นว่าลวดลายปูนปั้นประดับฐานสิงห์และลายเฟื่องอุบะ ประดับส่วนบนขององค์ระฆัง อาจทำขึ้นเพิ่มเติมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น บริเวณฐานเจดีย์ พบเศียรพระพุทธรูปสลักจากหินทรายสีขาว ขนาดไม่ใหญ่นัก สลักยังไม่เสร็จ พร้อมกับชิ้นส่วนใบเสมาหินทรายสีขาว ที่ส่วนปลายและกลางใบหรืออกเสมาสลักเป็นลวดลายดอกไม้ภายในเส้นขอบรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน  ลักษณะคล้ายกับใบเสมาที่วัดช่องนนทรี  กรุงเทพฯ  ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199-2231)  ทั้งเศียรพระพุทธรูปและใบเสมา06.  คงสร้างขึ้นในยุคสมัยเดียวกัน

       จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ศิลปะและโบราณคดีที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดสามารถสันนิษฐานได้ว่า วัดเจดีย์แดง เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ก่อนปลายพุทธศตวรรษที่ 22 และเมื่อทรุดโทรมได้รับการบูรณะพัฒนามาโดยลำดับ.
 
 


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. ปรับเสริมจาก. เว็บไซต์อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา qrcode.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง 23 พฤษภาคม 2564.
02. จาก. กรมการศาสนา, ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2525), หน้า 91.
03. จาก. กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา และพงศาวดารเหนือ เล่ม 2 (พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2504), หน้า 246.
04.  เรื่องเดียวกัน, หน้า 264.
05. เรื่องเดียวกัน, หน้า 270.
06. จาก. น. ณ ปากน้ำ,  ศิลปบนใบเสมา  (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2524), หน้า 175.



 
info@huexonline.com