MENU
TH EN
Title Thumbnail: วัดท่าแค, ที่มา: www.qrcode.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง 22 พฤษภาคม 2564. 
181. วัดท่าแค
First revision: Jul.23,2020
Last change: May 22, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา
 
          วัดแค หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดร่างแค หรือวัดท่าแค เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเกาะเมือง ซีกด้านตะวันออกของคลองสระบัว บริเวณพื้นที่เดิมเรียกว่า เกาะทุ่งแก้ว พระยาโบราณราชธานินทร์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา ความว่า “…บ้านเกาะขาดหล่อผอบเต้าปูนทองเหลืองขาย บ้านวัดครุฑปั้นนางเลิ้งขาย บ้านริมวัดธรณีเลื่อยกระดานไม้งิ้ว ไม้อุโลกขาย บ้านวัดพร้าว พราหมณ์ไทยทำแป้งหอม น้ำมันหอม ธูปกระแจะ กระดาษขาย บ้านท่าโขลง ทำเหล็ก ตะปู ตะปลิงใหญ่น้อยขาย บ้านคนทีปั้นกระโถน ตะคัน ช้าง ม้า ตุ๊กตาน้อยใหญ่ขาย บ้านโรงฆ้อง ซื้อกล้วยตีบมาบ่มขาย และบ้านเจ็ดตำบลนี้อยู่ในเกาะทุ่งแก้ว…

          ในสมัยก่อน ทุ่งหลังบ้านคลองสระบัว มีทั้งสองฝั่ง คือ ฝั่งตะวันออก เรียกว่า เกาะทุ่งแก้ว ส่วนฝั่งตะวันตก เรียกว่า เกาะทุ่งขวัญ และบริเวณทุ่งกว้างหลังบ้านคลองสระบัวนี้ ก็น่าจะเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวลาว ซึ่งพระยาโบราณราชธานินทร์ได้อธิบายไว้ว่า “…มีตลาดบนบกนอกกำแพงกรุง แต่ในขนอนทั้งสี่ทิศเข้ามาจนริมแม่น้ำรอบกรุงนั้น คือ ตลาดวัดมหาธาตุหลังขนอนบางหลวง 1 ตลาดลาวเหนือวัดโคหาสวรรค์ 1…” กับได้วินิจฉัยเพิ่มเติมไว้อีกว่าตลาดลาว น่าจะอยู่แถวปลายคลองสระบัว

          อนึ่ง วัดแคแห่งนี้มีตำนานเล่าว่า เคยเป็นที่พักอาศัยของหลวงพ่อทวด เมื่อครั้งเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยา เพื่อศึกษาพระอภิธรรมที่วัดลุมพลีนาวาส หลวงพ่อทวดนี้เป็นพระภิกษุที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการพระราชทานที่กัลปนาแก่หัวเมืองพะโคะในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ และเป็นภิกษุผู้มีอิทธิปาฏิหาริย์อภิญญาแก่กล้าจนได้สมญานามว่า “หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” ทั้งยังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ด้วย

          ปัจจุบันวัดแคเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ริมถนนร่างแค – คลองวัดพร้าว ในตำบลท้องที่คลองสระบัว อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 60 ตอนที่ 29 เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2486

          ไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงวัดแค แต่จากรูปแบบของโบราณสถานและหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากที่พบ สามารถบอกความเป็นมาและความสำคัญของวัดแคในสมัยอยุธยาได้ดังนี้

          วัดแคเป็นวัดขนาดค่อนข้างใหญ่ เมื่อแรกสร้างมีสิ่งก่อสร้างไม่มากนัก ได้แก่ เจดีย์ประธานทรงกลมตั้งอยู่บนฐานกลมและฐานเขียงมีซุ้มคูหา 8 ทิศ   เจดีย์ราย 9 องค์ และอาคารซึ่งอาจจะเป็นโบสถ์ 1 หลัง กำหนดอายุได้ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ต่อมาประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 20 มีการวางผังใหม่ เปลี่ยนให้ตัววัดหันหน้าไปทางทิศเหนือ ปรับถมพื้นที่วัดและสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นใหม่อีกหลายสิ่ง ส่วนใหญ่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม ซึ่งอาจจะเป็นเพราะวัดแคมีความสำคัญมากขึ้นเช่น เป็นศูนย์กลางของชุมชนใหญ่และคงจะมีความสำคัญมาโดยตลอด จนกระะทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.2310 วัดแคจึงถูกทิ้งให้รกร้างปรักหักพังเรื่อยมา จนถึง พ.ศ.2542 กรมศิลปากรได้เข้าไปดำเนินการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดี ทำให้ได้เห็นรูปแบบศิลปะของโบราณสถาน โบราณวัตถุของวัดแค ซึ่งสามารถกำหนดอายุการสร้างและบูรณะวัดแคในสมัยอยุธยาได้เป็น 4 สมัย คือ สมัยเมื่อแรกสร้างวัดประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 สมัยที่ 2 เป็นสมัยที่เปลี่ยนหน้าวัดหันไปทางคลองบางขวด และสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่เช่นเจดีย์ประธาน สมัยที่ 3 ประมาณพุทธศตวรรษที่ 21-22 ลงมา เป็นช่วงที่มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และสร้างเจดีย์ประธานเพิ่ม สุดท้ายเป็นสมัยที่มีการบูรณะวัดครั้งสุดท้าย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 22-23 ลงมา จนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันกรมศิลปากรได้บูรณะพัฒนาสภาพแวดล้อมของวัดแคเสร็จแล้ว มีสิ่งก่อสร้างสำคัญดังนี้

          1. เจดีย์ทรงกลมฐานสูง (เจดีย์ประธานหมายเลข 1) สร้างอยู่บนฐานไพทีเดียวกับวิหารประธานและเชื่อมต่อกับฐานไพทีของเจดีย์รายทางด้านตะวันตก ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมและฐานบัวแปดเหลี่ยม มีร่องรอยการพอกฐานบัวสี่เหลี่ยมให้เป็นฐานทักษิณที่มีระเบียงด้านบน

          2. เจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา (เจดีย์ประธานหมายเลข 2) ตั้งอยู่ถัดจากเจดีย์ประธานหมายเลข 1 ไปทางตะวันออกเกือบจะกึ่งกลางวัด มีรูปแบบสถาปัตยกรรมคล้ายพระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยสุดท้ายของวัด โดยพอกขยายองค์เรือนธาตุเดิมให้มีขนาดใหญ่ขึ้นกำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา เป็นเจดีย์ที่มีรูปแบบแตกต่างไปจากเจดีย์ทรงกลมแบบภาคกลาง ซึ่งปรากฏทั่วไปในพระนครศรีอยุธยา และแปลกจากเจดีย์องค์อื่น ๆ ในวัดแคแห่งนี้ด้วย กล่าวคือ องค์เจดีย์ก่อด้วยอิฐสอปูนตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม เหนือฐานสี่เหลี่ยมมีชุดฐานบัวเรียงซ้อนกัน 3 ชั้น รองรับองค์ระฆังขนาดเล็กอีกต่อหนึ่ง ส่วนยอดเหนือองค์ระฆังหักหายไป ลักษณะของเจดีย์องค์นี้มีรูปทรงคล้ายกับเจดีย์ที่วัดปงสนุก อำเภอเชียงแสน  จังหวัดเชียงราย ซึ่งศาสตราจารย์สันติ เล็กสุขุม ได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง เจดีย์องค์ระฆังทรงกลม: ชุดฐานบัวรองรับองค์ระฆัง ว่า “…เจดีย์องค์ระฆังทรงกลมแบบภาคเหนือที่วัดท่าแค น่าจะสร้างขึ้นไล่เลี่ยหรือหลังกว่าเจดีย์ที่วัดปงสนุก เมืองเชียงแสนไม่นานนัก คงอยู่ในพุทธศตวรรษเดียวกัน คือ พุทธศตวรรษที่ 21…”  นอกจากนั้นยังพบว่าผิวนอกของเจดีย์มีร่องรอยการฉาบปูน ซึ่งถึงแม้จะกะเทาะออกไปมากแล้ว แต่ส่วนที่เหลือยังปรากฏรูเล็ก ๆ รายอยู่ทั่วไปโดยรอบองค์เจดีย์ รอยรูเล็ก ๆ เหล่านี้ นักโบราณคดีบางท่านให้ข้อสังเกตไว้เป็น 2 ประการ คือ
          ประการที่ 1 สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นรอยหมุดที่เกิดจากการตอกยึดแผ่นทองจังโกเพื่อประดับองค์เจดีย์ เหมือนเช่นการประดับองค์เจดีย์แบบล้านนาในภาคเหนือของประเทศไทย เช่น พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน เป็นต้น
          ประการที่ 2 สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นรอยของหมุดที่ทำขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องยึดปูนที่ฉาบผิวหรือช่วยกำหนดระดับความหนาของปูนที่ฉาบตกแต่ง                 นอกจากนั้น ที่บริเวณใกล้เคียงองค์เจดีย์นี้ ยังปรากฏรากฐานเจดีย์ขนาดเล็กอีก 4 องค์ อยู่ในตำแหน่งที่น่าจะเป็นเจดีย์มุมหรือเจดีย์ทิศซึ่งเป็นลักษณะของผังเจดีย์แบบล้านนาอย่างชัดเจน หลักฐานของอารยธรรมล้านนาที่ปรากฏอยู่กับสถาปัตยกรรมดังกล่าวแล้วนี้น่าจะเป็นเรื่องสนับสนุนให้สันนิษฐานว่า  บริเวณพื้นที่แถบทุ่งแก้วตามแนวคลองสระบัว น่าจะเคยเป็นที่อยู่ของชุนชนชาวลาวจากอาณาจักรล้านนา ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 และคงจะได้สร้างวัดแคแห่งนี้ขึ้นเป็นวัดประจำชุมชนด้วย

          3. เจดีย์ทรงกลมแบบลังกา (เจดีย์ประธานหมายเลข 3 และ 4) ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของวัด ตั้งอยู่บนฐานไพเดียวกันบนฐานเขียงสี่เหลี่ยม  เจดีย์ประธานหมายเลข 3 บูรณะไว้เพียงองค์ระฆัง เจดีย์ประธานหมายเลข 4 บูรณะถึงปล้องไฉน สร้างขึ้นในสมัยที่ 3 ของวัด และในสมัยสุดท้ายของวัด มีการบูรณะครั้งใหญ่โดยพอกขยายองค์เรือนธาตุให้ใหญ่ขึ้นเล็กน้อย รูปทรงเจดีย์เป็นแบบที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนกลาง

          4. วิหารประธาน เหลือเพียงรากฐาน ตั้งอยู่ด้านหน้าของเจดีย์ประธานหมายเลข 1 ลักษณะโครงสร้างเป็นแบบอาคารขนาด 6 ห้อง หลังคาลด 2 ชั้น  มีชานรอบอาคาร ภายในอาคารมีเสารองรับเครื่องหลังคา ฐานประดับด้วยลายแข้งสิงห์ พื้นปูด้วยแผ่นหินชนวนสลับกับพื้นอิฐ ฐานชุกชีประดับปูนปั้นรูปเทวดาเดินประทักษิณ สร้างขึ้นในสมัยที่ 2 ของวัด โดยสร้างทับลงบนวิหารเดิม

          5. วิหารราย เหลือเพียงรากฐานตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัด ลักษณะโครงสร้างและรูปแบบเหมือนวิหารประธานแต่ขนาดเล็กกว่า

           6. อุโบสถ เหลือเพียงรากฐานตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัด ลักษณะโครงสร้างเป็นแบบอาคารที่ใช้เสาติดผนังแทนเสากลางอาคาร สร้างในสมัยที่ 3  และบูรณะในสมัยสุดท้าย

           7. เจดีย์ราย ส่วนใหญ่เหลือเพียงรากฐาน มีทั้งหมด 6 องค์ องค์ที่ยังอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์  ตั้งอยู่ระหว่างกำแพงวัดด้านเหนือและด้านใต้  เป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม มีฐานกลมรองรับ องค์ระฆังกลมมีซุ้มคูหา 8 ทิศ สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ประธานสมัยเมื่อแรกสร้างวัด เจดีย์รายของวัดนี้ส่วนใหญ่สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้นเมื่อแรกสร้างวัด เป็นเจดีย์ทรงกลมแบบฐานเขียงสี่เหลี่ยมและฐานบัวสี่เหลี่ยม สำหรับองค์ที่สร้างสมัยหลังที่มุมด้านหน้าของวิหารประธานเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอด และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง

           8. ศาลาโถง มีหลายหลัง ส่วนใหญ่สภาพชำรุดมาก ที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ตั้งขนานกับกำแพงวัดด้านเหนือ เป็นอาคารแบบมีเสาติดผนังสร้างขึ้นในสมัยที่ 3 ของวัด

           9. กำแพงวัดและซุ้มประตู มีแนวกำแพงเห็นได้ชัดเจน ยกเว้นด้านทิศใต้ที่ทางการสร้างถนนทับ กำแพงด้านทิศเหนือซึ่งเป็นด้านหน้าวัดมีซุ้มประตูทางเข้าวัด 3 ซุ้ม

          10. แท่นบูชาหรือแท่นบรรจุกระดูก ส่วนใหญ่เหลือแต่ส่วนฐานราก เป็นแท่นก่ออิฐฉาบปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างตั้งแต่ 0.84-1.84 เมตร ยาวประมาณ 1-1.88 เมตร สูงประมาณ 16-57 เซนติเมตร เกือบทั้งหมดก่ออิฐสอดิน และสร้างขึ้นในสมัยที่ 3 ของวัด ตั้งกระจายอยู่บนฐานไพทีของเจดีย์ประธานและวิหารประธานของวัด บางแท่นพบอัฐิบรรจุอยู่ภายในแท่น บางแท่นบรรจุอยู่ที่ส่วนฐาน แท่นเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกถมปิดทับในสมัยสุดท้ายของวัด

          นอกจากสิ่งก่อสร้างดังกล่าวแล้วในการขุดค้นขุดแต่งวัดแคได้พบโบราณวัตถุประเภทต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งเป็นหลักฐานสนับสนุนอายุสมัยของการก่อสร้างและบูรณะวัดแคในช่วงเวลาต่าง ๆ เช่น ภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาสุโขทัย – ศรีสัชนาลัยที่ผลิตขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-222 เครื่องถ้วยชามจีนสมัยราชวงศ์หมิงที่ผลิตในสมัยพุทธศตวรรษที่ 22-23 พระพุทธรูปที่ทำจากหินทรายสมัยอยุธยาตอนกลาง พระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยาตอนปลาย  เป็นต้น

          วัดแคเป็นวัดขนาดค่อนข้างใหญ่ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ตั้งอยู่ในบริเวณที่น่าจะเคยเป็นชุมชนขนาดค่อนข้างใหญ่ในสมัยอยุธยา และมีความสัมพันธ์กับอาณาจักรล้านนา อาจเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวลำพูนที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จขึ้นไปตีเมืองลำพูน และเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.2069 เพราะเจดีย์ประธานขนาดใหญ่องค์หนึ่งของวัดที่ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน มีรูปแบบศิลปะแบบล้านนาคล้ายพระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน อย่างไรก็ตามวัดแคคงจะเป็นวัดที่มีความสำคัญในชุมชนมากวัดหนึ่ง เพราะมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ ซ่อมแซม และสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่เพิ่มขึ้นมาตลอดสมัยอยุธยา จนนับได้ว่าเป็นแหล่งรวมศิลปะอยุธยาหลายรูปแบบแห่งหนึ่ง01.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. www.qrcode.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง 22 พฤษภาคม 2564.

 
info@huexonline.com