MENU
TH EN
Title Thumbnail & Hero Image: วัดตะไกร ที่มา: go.ayutthaya.go.th, วันที่เข้าถึง 29 พฤษภาคม 2564.
151. วัดตะไกร
First revision: Jul.09, 2020
Last change: May 29, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

          วัดตะไกร (วัดกะไตร) 01, 02. สภาพปัจจุบันเป็นวัดร้าง ส่วนใครเป็นผู้สร้างวัดนี้นั้นยังไม่พบหลักฐาน โดยทั่วไปแล้วผู้ที่จะสร้างวัดก็มีแต่พระราชาธิบดี ขุนนางผู้ใหญ่แลคหบดีผู้มีทรัพย์เท่านั้น ได้ค้นในทำเนียบวัด (พระอารามหลวง) ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าไม่พบชื่อวัดตะไกร จึงทำให้คิดว่าน่าจะเป็นเพียงวัดราษฎร์ วัดตะไกรมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 25 ไร่เศษ ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสระบัว อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ห่างจากฝั่งตะวันตกของคลองสระบัวประมาณ 100 เมตร และห่างจากวัดหน้าพระเมรุไปทางทิศเหนือประมาณ 300 เมตรเศษ.

          จากหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ 63 ตอนว่าด้วยแผนที่กรุงศรีอยุธยา ฉบับพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาโบราณราชธานินทร์ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2479 หน้า 166-167 ได้กล่าวถึงตลาดบกนอกกรุงว่า ที่หน้าวัดตะไกรเป็นตลาดลงท่าน้ำที่หน้าวัดพระเมรุแห่งหนึ่ง ในจำนวนตลาดนอกกรุงซึ่งมีอยู่ถึง 23 แห่ง ประกอบกับหลักฐานทางด้านวรรณคดีเรื่อง “เสภาขุนช้างขุนแผน”  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ได้ทรงสันนิษฐานโดยอาศัยพงศาวดารและคำให้การชาวกรุงเก่าไว้ว่า มีเค้ามาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 คือ ระหว่าง พ.ศ.2034 ถึง พ.ศ.2072 ได้กล่าวถึงความสำคัญของวัดตะไกรไว้ดังนี้

                         “ครานั้นสายทองผู้เป็นพี่       ครั้นฟื้นสมประดีขึ้นมาได้
               คิดถึงน้องน้อยละห้อยใจ                น้ำตาไหลหลั่งละลุมลง
               จึงอำลาศรีประจันแล้วครรไล           ลงเรือร่ำไห้อาลัยหลง
               มาถึงกรุงไกรด้วยใจจง                   ตรงไปบ้านขุนแผนผู้แว่นไว
               ครั้นถึงเข้าไปที่ในห้อง                   ถามว่าศพวันทองน้องอยู่ไหน
               ขุนแผนบอกว่าฝังวัดตะไกร          แล้วให้คนนำไปโดยฉับพลั


          เรื่องราวในบทเสภานี้ได้กล่าวอ้างถึงวัดตะไกรว่า เป็นที่ฝังและทำฌาปนกิจศพของนางวันทอง ผู้ต้องคำพิพากษาถึงประหารชีวิต แล้วนำศพไปฝังยังวัดตะไกร ดังจะเห็นได้จากบทเสภาดังกล่าวอีกตอนหนึ่งที่ว่า
              “ครั้นถึงจึงแวะวัดตะไกร        จอดเรือเข้าไว้ที่ตีนท่า

          อันเป็นตอนที่ขุนช้างได้ทราบข่าวว่า ได้จัดทำศพนางวันทองที่วัดตระไกร จึงได้เตรียมผ้าไตรและเครื่องไทยทานไปร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศให้แก่นางวันทอง

ที่มา: go.ayutthaya.go.th, วันที่เข้าถึง 29 พฤษภาคม 2564.

          เรื่องพระพันวษา ขุนแผน วัดตะไกร เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงและมีจริง ขุนแผนได้เป็นแม่ทัพไปทำศึกกับเชียงใหม่และได้ชัยชนะจึงมีชื่อเสียงและเป็นคนสำคัญ เรื่องการทำศึกกับหัวเมืองเชียงใหม่ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระพันวษา) นี้พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ได้บันทึกไว้ว่า

          “ศักราช 877 กุนศก (พ.ศ.2058) วัน 3 15 11 ค่ำ เพลารุ่งแล้ว 8 ชั้น 3 ฤกษ์ 9 ฤกษ์ สมเด็จพระรามาธิบดีเสด็จยกทัพหลวงไปตีได้เมืองน (คร) ฯ ลำ (ภารได้) เมือง” หลังจากที่สมเด็จพระรามาธิบดีเสด็จยกทัพหลวงไปตีได้เมืองลำปางแล้วพวกเชียงใหม่ก็ไม่ลงมาทำอะไรวุ่นวายอีก ทีนี้กล่าวถึงเรื่องการประหารชีวิตนางวันทองบ้างว่าเกิดขึ้นเมื่อใด ข้อนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสันนิษฐานไว้ว่า นางวันทองต้องโทษประหารก่อน ส่วนขุนแผนนั้นต้องโทษจำคุกในฐานที่ฆ่าข้าหลวง ต่อมาเกิดศึกเชียงใหม่ จมื่นศรีฯ พยายามทูลยกย่องขุนแผน ขุนแผนจึงพ้นโทษด้วยจะให้ไปทำศึก ในระยะเวลาที่พูดถึงนี้ ซึ่งวัดตะไกรมีอยู่แล้ว จึงน่าสันนิษฐานว่าวัดตะไกรนี้ต้องสร้างก่อนปี 2058 อันเป็นปีที่เสร็จศึกเชียงใหม่.

            นอกจากนี้ถ้าพิจารณาจากสิ่งก่อสร้าง อันเป็นหลักของวัดที่ปรากฏอยู่และโบราณวัตถุล้วนเป็นของที่ทำขึ้นในสมัยอยุธยายุคที่ 203. เป็นส่วนใหญ่ คือ เป็นของที่สร้างในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ขึ้นมาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.2006 ถึง พ.ศ.2170) กล่าวคือ เจดีย์หลักของวัดและเจดีย์รายเป็นเจดีย์ที่มีลักษณะและแบบการก่อสร้างเหมือนกันทั้งสิ้น  เป็นเจดีย์ฐานต่ำบัวฐานเป็นแปดเหลี่ยม องค์ระฆังสูงแบบเจดีย์ลังกา จัดเป็นเจดีย์ยุคที่ 2 อันเป็นรูปแบบที่นิยมสร้างกันในสมัยกรุงศรีอยุธยา สำหรับพระพุทธรูปประธานในวิหารและอุโบสถ เป็นแบบพระพุทธรูปสมัยอยุธยารุ่นที่ 2 มีอิทธิพลสุโขทัยเจือปนอยู่มาก เช่น พระพักตร์รูปไข่หรือผลมะะตูม ผ้าสังฆาฏิปลายเขี้ยวตะขาบ เป็นต้น จากการสำรวจวัดตะไกรเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน  พ.ศ.2534 หาได้ปรากฏร่องรอยของพระพุทธรูปที่กล่าวข้างต้นนี้ไม่.

          เหตุผลทั้งสองประการนี้ ทำให้น่าเชื่อได้ว่าวัดตะไกรคงสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.2006 ถึง พ.ศ.217004.

          พุทธศักราช 2542 กรมศิลปากร ได้ดำเนินการขุดแต่งบูรณะและปรับปรุงสภาพแวดล้อมโบราณสถานกลุ่มคลองสระบัว วัดตะไกรซึ่งเป็นวัดหนึ่งในกลุ่มโบราณสถานดังกล่าวก็ได้รับการขุดแต่งในครั้งนี้ด้วย สภาพก่อนการขุดแต่งนั้นมีสภาพรกร้างเต็มไปด้วยไม้ยืนต้นและวัชพืชปกคลุมโบราณสถาน มีเศษอิฐหักและดินทับถมสูง โบราณสถานบางหลังไม่ทราบลักษณะและขอบเขตที่ชัดเจน ขณะเดียวกันก็มีโบราณสถานจำนวนหนึ่งที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ได้แก่ เจดีย์ประธาน วิหาร เจดีย์ทรงปรางค์ เจดียราย อุโบสถ กำแพงแก้ว กำแพงวัดและสระน้ำ เป็นต้น.

            ภายหลังการขุดแต่ง พบว่า วัดตะไกรประกอบด้วยพื้นที่เขตพุทธาวาสและสังฆาวาส สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น และเป็นวัดสืบเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย ทิ้งร้างไปชั่วระยะหนึ่ง ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 และมีผู้คนมาใช้พื้นที่อีกในช่วงรัตนโกสินทร์ ประมาณรัชกาลที่ 4-5 เรื่อยมา จนถูกทิ้งร้างอีกครั้งหนึ่งเมื่อไม่กี่สิบปีมานี่เอง ทำให้พบร่องรอยของการบูรณะและก่อสร้างเพิ่มเติมในภายหลัง นักโบราณคดีแบ่งการสร้างวัดตระไกรเป็น 3 สมัย ได้แก่ 
               สมัยที่ 1 ประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 - 21 
               สมัยที่ 2 ราวพุทธศตวรรษที่ 22 และ
               สมัยที่ 3 พุทธศตวรรษที่ 23-24

         
โบราณสถานที่สำคัญ
          1). เจดีย์ประธาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของกลุ่มโบราณสถาน เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมตั้งบนฐานเขียงสี่เหลี่ยม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7.4 เมตร ความสูงปัจจุบันประมาณ 17 เมตร ก่ออิฐสอปูน แต่แกนเจดีย์ไม่สอปูน จากการขุดแต่งพบว่าเจดีย์ประธานมีการสร้าง 2 สมัย องค์ที่เห็นปัจจุบันเป็นเจดีย์สมัยที่ 2 ซึ่งสร้างพอกทับฐานเขียงแปดเหลี่ยมด้วยฐานเขียงสี่เหลี่ยม ฐานนี้เชื่อมเจดีย์ประธานกับวิหารเข้าด้วยกัน และมีการพอกทับฐานบัวลูกฟัก 2 ฐานล่างให้มีขนาดใหญ่ขึ้น.

          2). วิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน วิหารก่ออิฐสอปูน สภาพพังทลายเหลือเฉพาะส่วนฐานและแนวผนังเล็กน้อย ขนาดวิหารกว้างประมาณ 12 เมตร ยาวประมาณ 26 เมตร มีมุขหน้า–หลัง มุขหลังสร้างบนฐานเขียงสี่เหลี่ยมที่เชื่อมเจดีย์ประธานกับวิหาร มีพาไล 2 ข้าง ร่องรอยผนังแสดงให้เห็นว่าใช้ช่องแสงแทนช่องหน้าต่าง ประตูทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก 3 ประตู ภายในมีเสาแปดเหลี่ยม มีฐานชุกชีติดผนังด้านทิศตะวันตก จากการขุดแต่งพบแนวอิฐมีทั้งหมด 3 สมัย สมัยแรกเมื่อแรกสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 20-21 อยู่ล่างสุด ต่อมาคงรื้อและสร้างใหม่บริเวณที่เดิม น่าจะราวสมัยอยุธยาตอนกลาง เนื่องจากการทำช่องแสงที่ผนัง และการทำพาไลด้านข้างเพื่อรองรับชายคาปีกนก ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนต้น–อยุธยาตอนกลาง วิหารนี้ได้รับการบูรณะซ่อมแซมในสมัยต่อมา เนื่องจากพบหลักฐานว่ามีการสร้างมุขหลังบนฐานไพที และปรับเปลี่ยนฐานชุกชีใหม่.

          3). กำแพงแก้ว เป็นกำแพงล้อมรอบเขตพุทธาวาส สภาพทั่วไปชำรุดหักพังมาก บางช่วงเหลือเพียงส่วนฐาน ขนาดกว้างประมาณ 35 เมตร ยาวประมาณ 58 เมตร ลักษณะกำแพงก่ออิฐขึ้นมาตรง ๆ ไม่มีบัวคว่ำที่ด้านล่าง บริเวณส่วนบนจะถากอิฐเป็นอกไก่เพื่อโบกปูนให้เป็นปากแล ถัดขึ้นไปเป็นบัวหงายหน้ากระดานบนและสันกำแพง ไม่มีใบเสมาดินเผา หรือโคมไฟประดับ ที่มุมทั้ง 4 ประดับด้วยเสาหัวเม็ด เสาหัวเม็ด 2 ต้นทางด้านหน้าวัดทำย่อมุม 12 มุม ในขณะที่ด้านหลังไม่ย่อมุม มีซุ้มประตูทางทิศตะวันออกและทิศใต้ ด้านละ 1 ประตู สภาพหักพังไม่เหลือส่วนยอดให้เห็น จากการขุดแต่งพบว่ากำแพงแก้วสร้างในสมัยแรกสร้างวัด.

          4). เจดีย์ราย อยู่ภายในกำแพงแก้วของวิหาร ตั้งเรียงรายเริ่มจากบริเวณด้านทิศใต้ของเจดีย์ประธานและรอบวิหาร ตั้งในระยะใกล้ชิดกันมาก จำนวน 16 องค์ เป็นเจดีย์ก่ออิฐสอปูน ส่วนใหญ่สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น และก่อสร้างเพิ่มเติมในสมัยอยุธยาตอนกลางและตอนปลาย รวมทั้งก่อพอกทับอีกด้วย เจดีย์ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุดหักพังเหลือเพียงฐาน มีเพียงไม่กี่องค์ที่อยู่ในสภาพค่อนข้างเห็นลักษณะทางศิลปกรรมชัดเจน ได้แก่ เจดีย์หมายเลข 7 และหมายเลข 16 รายละเอียดแต่ละองค์ มีดังนี้

             - เจดีย์รายหมายเลข 1 นับจากทางทิศใต้ของเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.2 เมตร ก่ออิฐสอปูน สภาพชำรุดหักพังเหลือเพียงฐานบัวลูกแก้วอกไก่ชั้นล่างสุด พบว่ามีการสร้างทับกัน 2 สมัย กล่าวคือสมัยแรกสร้างวัดในสมัยอยุธยาตอนต้นราวพุทธศตวรรษที่ 20 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 21 และสมัยที่ 2 น่าจะราวสมัยอยุธยาตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 23 เนื่องจากเจดีย์แปดเหลี่ยมที่ทำฐานบัวลูกแก้วอกไก่ 1 เส้น รองรับองค์ระฆังซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย.
            - เจดีย์รายหมายเลข 2 อยู่ห่างจากเจดีย์รายหมายเลข 1 มาทางทิศตะวันออกประมาณ 25 เซนติเมตร ก่ออิฐสอปูน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เมตร สภาพชำรุดเหลือเพียงฐานเขียงและบางส่วนของฐานบัวลูกฟักชั้นล่างสุด น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้นราวพุทธศตวรรษที่ 20 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 21 และมีการก่อพอกทับในราวพุทธศตวรรษที่ 23 หรือสมัยอยุธยาตอนปลาย.
            - เจดีย์รายหมายเลข 3 อยู่ห่างจากเจดีย์รายหมายเลข 2 มาทางทิศตะวันออกประมาณ 25 เซนติเมตร ก่ออิฐสอปูน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.7 เมตร สภาพชำรุดหักพังเหลือเพียงฐานเขียงและบางส่วนของฐานบัวลูกฟัก 2 เส้น มีร่องรอยการก่อสร้าง 2 สมัย คือ สมัยอยุธยาตอนต้น และก่อพอกทับสมัยอยุธยาตอนปลาย.
            - เจดีย์รายหมายเลข 4 อยู่ถัดจากเจดีย์รายหมายเลข 3 มาทางทิศตะวันออกประมาณ 30 เซนติเมตร ก่ออิฐสอปูน สภาพชำรุดเหลือเฉพาะส่วนฐานเขียงและฐานบัวลูกแก้วอกไก่ 1 เส้น มีร่องรอยการก่อสร้าง 2 สมัย ได้แก่สมัยอยุธยาตอนต้น และสมัยอยุธยาตอนปลาย.
            - เจดีย์รายหมายเลข 5 อยู่ถัดจากเจดีย์รายหมายเลข 4 มาทางทิศตะวันออกประมาณ 40 เซนติเมตร เป็นเจดีย์ก่ออิฐสอปูน มีร่องรอยการสร้าง 2 สมัยเช่นเดียวกัน ได้แก่สมัยอยุธยาตอนต้น และสมัยอยุธยาตอนปลาย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.7 เมตร สภาพชำรุดเหลือเพียงฐานเขียงและฐานบัวลูกฟัก 2 เส้น ในผังแปดเหลี่ยม ปูนฉาบค่อนข้างสมบูรณ์ มีการพอกขยายส่วนฐานเขียงของเจดีย์ออกมาด้วย ส่วนใหญ่หลุดร่วงเหลือให้เห็นบางส่วน.       
            - เจดีย์รายหมายเลข 6 อยู่ถัดจากเจดีย์รายหมายเลข 5 ประมาณ 25 เซนติเมตร เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม ก่ออิฐสอปูน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.7 เมตร สภาพชำรุดเหลือเฉพาะฐานเขียงและฐานบัวชั้นล่างสุด กำหนดอายุในสมัยอยุธยาตอนต้น ไม่พบร่อยรอยการก่อพอกทับในสมัยหลัง.
            - เจดีย์รายหมายเลข 7 อยู่ถัดมาทางทิศตะวันออกของเจดีย์รายหมายเลข 6 ประมาณ 30 เซนติเมตร มีการก่อสร้าง 2 สมัย ได้แก่สมัยอยุธยาตอนต้น และสมัยอยุธยาตอนปลาย  สภาพค่อนข้างสมบูรณ์กว่าเจดีย์รายองค์อื่น ๆ ปูนฉาบค่อนข้างสมบูรณ์.
            - เจดีย์รายหมายเลข 8 อยู่ถัดมาจากเจดีย์รายหมายเลข 7 ทางทิศตะวันออกประมาณ 30 เซนติเมตร สภาพเจดีย์ชำรุดมากเหลือเพียงฐานเขียงและฐานบัว ปูนฉาบหลุดร่วงเกือบหมด น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง และมีการก่อพอกในสมัยอยุธยาตอนปลาย.
            - เจดีย์รายหมายเลข 9 อยู่ถัดมาจากเจดีย์รายหมายเลข 8 ประมาณ 30 เซนติเมตร สภาพเหลือเฉพาะฐานเขียงและหน้ากระดานล่างและบัวคว่ำของฐานชั้นล่างสุด ทั้งหมดอยู่ในผังแปดเหลี่ยม องค์เจดีย์ก่อกลวงข้างในเป็นโพรง แนวอิฐทางด้านทิศใต้ถูกรื้อทำลายเป็นโพรงขนาดใหญ่ น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง.
            - เจดีย์รายหมายเลข 10 อยู่ห่างจากเจดีย์รายหมายเลข 9 ประมาณ 30 เซนติเมตร สภาพเหลือเพียงฐานเขียงและบางส่วนของฐานบัวล่างสุด ทั้งหมดอยู่ในผังแปดเหลี่ยม น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลางและก่อพอกในสมัยอยุธยาตอนปลาย.
            - เจดีย์รายหมายเลข 11 ห่างจากเจดีย์รายหมายเลข 10 ประมาณ 25 เซนติเมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.8 เมตร เหลือเพียงฐานเขียงในผังแปดเหลี่ยมชั้นล่างสุด น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลางและก่อพอกในสมัยอยุธยาตอนปลาย.
            - เจดีย์รายหมายเลข 12 ห่างจากเจดีย์รายหมายเลข 11 ประมาณ 30 เซนติเมตร เป็นเจดีย์ทรงกลมบนฐานแปดเหลี่ยม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.8 เมตร สภาพหักพังเหลือเฉพาะฐานเขียงแปดเหลี่ยม รองรับเจดีย์ทรงกลม น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย พร้อม ๆ กับการก่อพอกเจดีย์รายองค์อื่น ๆ .
            - เจดีย์รายหมายเลข 13 เจดีย์นี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวิหาร ก่ออิฐสอปูน เป็นเจดีย์ทรงกลมบนฐานแปดเหลี่ยม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เมตร สภาพชำรุดเหลือเฉพาะฐานเขียงแปดเหลี่ยมรองรับองค์เจดีย์ น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายพร้อม ๆ กับการก่อพอกเจดีย์รายอื่น ๆ .
            - เจดีย์รายหมายเลข 14 อยู่ห่างออกไปทางทิศเหนือของวิหาร ประมาณ 3 เมตร เป็นเจดีย์ทรงกลมบนฐานแปดเหลี่ยม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4.4 เมตร สภาพชำรุดเหลือเพียงฐานเฉพาะส่วนใต้องค์ระฆัง ไม่พบร่องรอยการก่อพอกในสมัยหลัง น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย พร้อม ๆ กับการก่อพอกเจดีย์รายองค์อื่น ๆ .
            - เจดีย์รายหมายเลข 15 ห่างจากเจดีย์รายหมายเลข 14 มาทางทิศตะวันตก ประมาณ 20 เมตร เป็นเจดีย์ทรงกลมบนฐานแปดเหลี่ยม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4.4 เมตร ก่ออิฐถือปูนข้างในก่อตัน สภาพชำรุดมาก น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย พร้อม ๆ กับการก่อพอกเจดีย์รายองค์อื่น ๆ .
            - เจดีย์รายหมายเลข 16 เป็นเจดีย์ทรงปรางค์ ตั้งอยู่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกำแพงแก้ว สภาพชำรุดหักพัง ยอดปรางค์หักหาย องค์เจดีย์เอนมาทางทิศใต้ รูปแบบปรางค์เป็นแบบอยุธยาตอนปลาย.

          5). สระน้ำ นอกกำแพงแก้ววิหารด้านทิศตะวันออกมีสระน้ำจำนวน 2 สระ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ 1 สระ ขนาดกว้างประมาณ 12 เมตร ยาวประมาณ 13 เมตร ขอบสระทั้ง 4 ด้านก่อด้วยอิฐไม่สอปูน อีกสระหนึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ สระนี้มีขนาดใหญ่กว่า กว้างประมาณ 19 เมตร ขอบสระทั้ง 4 ด้านก่อด้วยอิฐไม่สอปูนเช่นเดียวกัน น่าจะสร้างเมื่อสมัยแรกสร้างวัดในพุทธศตวรรษที่ 20-21.

          6). อาคารด้านทิศใต้ของเขตพุทธาวาส ทางทิศใต้ห่างจากกำแพงแก้ววิหารประมาณ 3 เมตร มีอาคารขนาดกว้างประมาณ 5 เมตร ยาวประมาณ 8 เมตร ก่ออิฐสอปูน สภาพชำรุดมากเหลือเพียงฐาน น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง.

          7). อาคารด้านทิศเหนือของเจดีย์ประธาน ทางทิศเหนือของเจดีย์ประธาน มีอาคารก่ออิฐสอปูนขนาดกว้างประมาณ 4.4 เมตร ยาวประมาณ 5 เมตร สภาพชำรุดมากเหลือเฉพาะส่วนฐาน กำหนดอายุน่าจะอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น.

          8). อาคารด้านทิศตะวันออกของสระน้ำ ทางทิศตะวันออกของสระน้ำ มีอาคารก่ออิฐสอปูนขนาดกว้างประมาณ 8.4 เมตร ยาวประมาณ 13 เมตร มีบันไดด้านทิศใต้ สภาพเหลือเพียงเฉพาะส่วนฐาน กำหนดอายุน่าจะอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น.

          9). อุโบสถ อยู่ห่างจากสระน้ำมาทางทิศใต้ประมาณ 10 เมตร สภาพชำรุดหักพัง หลังคาพังทลาย อิฐและปูนฉาบบางบริเวณหลุดร่วง จากลักษณะทางสถาปัตยกรรม สันนิษฐานได้ว่า น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายเนื่องจากรูปแบบเหมือนอุโบสถสมัยอยุธยาตอนปลายโดยทั่วไป การใช้ช่องหน้าต่างแทนช่องแสง ลวดลายที่ใช้ประดับ และลักษณะใบเสมา เป็นต้น.
          อุโบสถก่อด้วยอิฐสอปูน ขนาดกว้างประมาณ 12 เมตร ยาวประมาณ 16 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีระเบียงทั้ง 4 ด้าน ประตูทางเข้าอยู่ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกด้านละ 2 ประตู ผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้มีหน้าต่างด้านละ 2 บาน มีเสาติดผนัง 6 ต้น ด้านในอุโบสถมีเสารอบรับโครงหลังคา 8 ต้น ตรงกลางยกพื้นให้สูงขึ้นประมาณ 20 เซนติเมตร เพื่อเป็นอาสน์สงฆ์ ซึ่งจากการขุดตรวจพบว่าอาสน์สงฆ์นี้ทำขึ้นภายหลัง ด้านล่างของผนังทำเป็นฐานบัวลูกแล้วอกไก่ ด้านหลังติดแนวผนังด้านทิศตะวันตกมีบริเวณฐานชุกชี จากการขุดแต่งพบว่าหลังคามุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วย รอบ ๆ มีฐานใบเสมาโดยรอบทั้ง 8 ทิศ. 
          อุโบสถล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว กว้างประมาณ 23 เมตร ยาวประมาณ 30 เมตร มีซุ้มประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก แนวกำแพงแก้วนี้ชำรุดและถูกรื้อทำลายเป็นส่วนมาก เหลือให้เห็นชัดเจนบางช่วงด้านทิศใต้.

          10). กำแพงวัด ล้อมรอบวัดทั้ง 4 ด้าน แนวกำแพงก่ออิฐสอปูน ขนาดกว้างประมาณ 84 เมตร ยาวประมาณ 135 เมตร เหลือเพียงส่วนฐานของกำแพง และซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก 2 ซุ้ม ด้านอื่นคงถูกทำลายไปแล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะมีซุ้มประตูด้านทิศตะวันตกอีก 2 ซุ้ม ทิศเหนือและทิศใต้อีก 1 ซุ้ม กำหนดอายุการสร้างน่าจะอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 23-24.

          นอกจากโบราณสถานที่กล่าวมายังพบฐานสิ่งก่อสร้างอีกหลายแห่ง อาทิ บริเวณแนวกำแพงแก้วเขตพุทธาวาส บริเวณเขตสังฆาวาสและแนวกำแพงแก้วรอบอุโบสถ สภาพชำรุดเหลือเพียงฐาน กำหนดอายุการสร้างน่าจะอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จากลักษณะทางสถาปัตยกรรม สันนิษฐานว่าสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ไม่น่าจะมีหลังคาคลุม อาจเป็นเพียงแท่นฐานสี่เหลี่ยมไว้สำหรับวางสิ่งของ เพราะแท่นฐานมีขนาดเล็กไม่สามารถรองรับจำนวนคนได้ ยกเว้นฐานสิ่งก่อสร้างซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของอาคารด้านทิศใต้ของเขตพุทธาวาส ฐานมีขนาดกว้าง 4.8 เมตร ยาว 10.10 เมตร สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอาคารโถง พื้นก่ออิฐฉาบปูน มีเสาไม้รองรับโครงหลังคาซึ่งมุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วย มีปีกนกทั้ง 4 ด้าน.

          วัดตระไกร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถนของชาติไทยโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 60 ตอนที่ 59 วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2486.
 


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. เว็บไซต์ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา www.qrcode.finearts.go.th, นางสุนิสา มั่นคง ค้นคว้าเรียบเรียง, วันที่เข้าถึง 29 พฤษภาคม 2564.
02. จาก. อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา กับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณราชธานินทร์ และเรื่องศิลปและภูมิสถานอยุธยา ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2509.

03. การแบ่งยุคศิลปะสมัยอยุธยา โดยมากกำหนดลักษณะสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นหลัก ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล นักโบราณคดี แบ่งเป็น 4 ยุค ได้แก่
         ยุคที่ 1     เริ่มตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ.1893 จนถึงสิ้นรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ใน พ.ศ.2031.
         ยุคที่ 2     เริ่มตั้งแต่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นไปเสวยราชย์ ณ เมืองพิษณุโลก พ.ศ.2006.
         ยุคที่ 3     เริ่มตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
         ยุคที่ 4     เริ่มตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.2275) จนถึงเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ.2310.

04. จาก. กรมศิลปากร, พระราชวังและวัดโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (พระนคร : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี. 2500). หน้า 129-133.
ทั้งนี้ข้อ 01-04 ข้างต้น เป็นการสืบค้นรวบรวม เรียบเรียงของ นางสุนิสา มั่นคง ทั้งสิ้น.

     
humanexcellence.thailand@gmail.com