MENU
TH EN
Title Thumbnail & Hero Image: วัดพนมยงค์, ถ่ายไว้เมื่อ 21 มิถุนายน 2563.
145. วัดพนมยงค์01,02.
First revision: Jul.08, 2020
Last change: Apr.22, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       วัดพนมยงค์ ตั้งอยู่เลขที่ ท.47 บ้านคลองเมือง ถนนอู่ทอง หมู่ที่ 4 ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย เนื้อที่ 12 ไร่. วัดพนมยงค์นี้มีหลักฐานแน่ชัดว่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อราว พ.ศ.2198 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง.

       ที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มอยู่ริมคลองเมือง หรือแม่น้ำลพบุรีเดิมและถนนสายอยุธยา-อ่างทอง
          - อุโบสถกว้าง 7.25 เมตร ยาว 23 เมตร โครงสร้างก่ออิฐถือปูน
          - วิหารกว้าง 9 เมตร ยาว 23 เมตร ก่ออิฐถือปูน
          - ศาลาการเปรียญกว้าง 9 เมตร ยาว 15 เมตร เป็นอาคารไม้ 
          - กุฎิสงฆ์จำนวน 7 หลัง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้
          - หอระฆัง และ
          - ฌาปนสถาน

       จากข้อมูลในป้ายของวัดพนมยงค์ ระบุว่าสร้างขึ้นในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่าง พ.ศ.2171-2198 (ซึ่งแตกต่างจากในหลักฐานอื่น ระบุว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2199-2231) อันเป็นสมัยอยุธยาตอนกลาง เดิมบริเวณวัดเป็นสวนของพระนมในราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชองค์หนึ่ง มีนามว่า "โยง" หรือ "ยง" เมื่อพระนมโยงได้ถึงแก่อนิจกรรม พระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ได้ระลึกถึงอุปการคุณ จึงได้สร้างวัดขึ้นบนที่สวนของพระนม อุทิศส่วนกุศลแด่พระนม ได้ขนานนามวัดนี้ว่า "วัดพระนมโยง" ต่อมาเรียกขานกันว่า "วัดพนมโยง" บ้าง "วัดจอมมะยงค์" บ้าง ต่อมาเรียกขานว่า "วัดพนมยงค์".

       เมื่อคราวเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2 วัดนี้ได้ถูกทำลายและผุพังเป็นสภาพร้างไป เช่นเดียวกับวัดต่าง ๆ หลายวัด ต่อมาได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์.     

       พระนอนวัดพนมยงค์ – วัดพนมยงค์ เมีพระอุโบสถทรงที่เรียกว่า ท้องสำเภา อันเป็นคติทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่แฝงอยู่กับคติเถรวาท อันหมายถึงพุทธศาสนาเป็นดั่งสำเภาที่จะพาปุถุชนข้ามโอฆสังสารไปสู่ความสิ้น ทุกข์ พระพุทธรูปในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง (น่าจะหมายความว่าคงเป็นวัดเก่ามาก่อนที่จะบูรณะขึ้นทั้งวัดในสมัยอยุธยาตอนกลาง).

       พระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ประดิษฐานอยู่ใน วิหารโปร่ง คือมีฝาผนังตันที่ด้านหัวและท้ายของตัววิหารชั้นเดียว ฐานเตี้ย ผนังด้านข้างโปร่งทั้งสองข้าง
หลังจากสงครามเสียกรุงในปี พ.ศ. 2310 วัดพนมยงค์ได้ชำรุดทรุดโทรมและมีการปฏิสังขรณ์โบสถ์วิหารขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนพระพุทธไสยาสน์องค์นี้พร้อมวิหารได้รับการปฏิสังขรณ์ให้งดงาม ช่วงปี 2538-2540 จากการถูกทอดทิ้งมานับแต่สงครามเสียกรุง.

       พระพุทธไสยาสน์องค์นี้มีรูปแบบเป็นศิลปะ สุโขทัยที่มีความยาวน่าจะประมาณไม่น้อยกว่า 16 เมตร พิจารณาจากการวางแขนหนุนพระเศียรและมีพระเกศา (ผม) เป็นรูปหอยขม และประดิษฐานอยู่ในพระวิหารโปร่งที่ดูเสมือนมีต้นไม้ใหญ่อยู่ส่วนหัวและส่วน ท้ายของพระวิหาร.

       พระเศียรหันไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ พระพักตร์หันไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ อนุมานได้ว่าน่าจะเป็นปางปรินิพพานคติแห่งพระปรินิพพานตามปรินิพพานสูตรที่ สำคัญมี 2 ประการ คือ การเทศนาครั้งสุดท้ายที่ได้ตรัสเป็นบาลีและปัจฉิมเทศนาครั้งสุดท้ายว่า

       “อานนท์ เธออย่าเศร้าโศก ร่ำไรไปเลย เราได้บอกไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า ความเป็นต่างๆ ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่นจากของรัก ของชอบใจทั้งสิ้น ต้องมี เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในของรักของชอบใจนี้แต่ที่ไหน สิ่งใดเกิดแล้วมีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่าขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้”

       และ “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีล เป็นอย่างดี มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาจิตของตนเองในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วจักละชาตสังสารทำที่สุดแห่งทุกข์ได้” 



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. ปรับเสริม (โดยหาข้อมูลเพิ่มเติม) จาก. ป้ายภายในวัดพนมยงค์ ด้านข้างพระอุโบสถ, วันที่เข้าถึง 21 มิถุนายน 2563.
02. จาก. www.khaosod.co.th/lifestyle/travel/news_2073880 โดยผ่าน Facebook เพจ "ราชธานีศรีอยุธยา," วันที่เข้าถึง 22 เมษายน 2565.

 
info@huexonline.com