MENU
TH EN
Title Thumbnail: วัดกระช้าย ที่มา: Facebook ห้อง "กรุงเก่าเล่าเรื่อง", วันที่เข้าถึง 10 กรกฎาคม 2563.
Hero Image: ที่มา: www.qrcode.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง 10 กรกฎาคม 2563.

133. วัดกระซ้าย01.
First revision: Jul.04, 2020
Last change: Jul.11, 2020
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และรจนาเพิ่มเติมโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

     วัดกระซ้าย บ้างก็เรียก วัดกะชาย วัดกระช้าย หรือ วัดเจ้าชาย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา บริเวณทุ่งปากกราน ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเป็นวัดร้างที่ยังไม้ได้มีการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน อยู่บนกลางทุ่งนา สันนิษฐานว่าสมัยก่อนมีคูน้ำล้อมรอบบริเวณวัด ปัจจุบันคูน้ำได้เปลี่ยนสภาพเป็นทุ่งนาไปหมดแล้ว เมื่อถึงฤดูทำนาจะมีน้ำเจิ่งนองล้อมรอบวัดและมีความลึกพอสมควร ไม่สามารถเดินทางด้วยเท้าเข้าถึงวัดได้.
     วัดกระซ้าย สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 อาจจะเป็นวัดสมัยเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับวัดสามปลื้ม วัดสุวรรณาวาส วัดนางคำ วัดจงกลม วัดหลังคาขาว และวัดพระรามที่อยู่บริเวณทุ่งขวัญ เพราะต่างมีเจดีย์ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกัน กล่าวคือเจดีย์ทรงสูง ก่ออิฐไม่สอปูน ฐานแปดเหลี่ยม ระฆังกลม บัลลังก์แปดเหลี่ยม ข้างในกลวง มีการกล่าวถึงวัดนี้ในสมัยอยุธยาตอนปลายแล้วในหนังสือ "คำให้การขุนหลวงหาวัด" เกี่ยวกับการประหารชีวิตพระศรีศิลป์ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ความว่า

     "มีพระราชนัดดาองค์หนึ่งเป็นโอรสของพระเชษฐา ชื่อพระศรีศิลป์กุมาร ชันษาได้ 15 ปี จึ่งคิดเป็นขบถกับพระปิตุฉา จักมาสังหารชีวิตให้บรรลัย เอาพระแสงจะแทงพระนารายณ์ พระองค์จึ่งฉวยปลายกั้นหยั่งไว้ได้ทันที จึ่งจับตัวไว้ที่ทิมดาบ พระองค์ทรงแต่กำราบมิให้ตาย พระองค์สงสารกับกุมารนั้นว่า ไร้ปิตุเรศมารดา แล้วเห็นแก่พระไชยาทิตย์ด้วยรักใคร่สนิทสนมกัน เพราะเป็นเชษฐาได้ฝากพระศรีศิลป์ไว้แต่เมื่อใกล้จะสิ้นชีพพิราลัย จึ่งสั่งให้ออกจากโทษ พระองค์โปรดเลี้ยงไว้ตามที่ ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง พระศรีศิลป์จึ่งคิดร้ายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระนารายณ์เสด็จออกว่าราชการเมืองอยู่ที่สีหบัญชร จึ่งพระศรีศิลป์ใจหาญนั้น ถือพระแสงแล้วแฝงใบบานประตูอยู่ที่ห้องเสด็จเข้าไป ผู้ใดมิได้ล่วงรู้เห็น อันพระนารายณ์นั้นออกไปว่าราชการ จึ่งเรียกช้างพระที่นั่งเข้ามาดู พระองค์ก็เสด็จทรงช้าง แล้วเสด็จเข้ามาทางหนึง อันพระศรีศิลป์นั้นยืนแอบประตูอยู่ จนพนักงานนั้นเชิญเครื่องเข้ามา จึ่งเห็นพระศรีศิลป์ถือพระแสงและแฝงประตูอยู่ อันพนักงานเครื่องนั้นจึ่งกราบทูลตามที่เห็น พระองค์จึ่งเสด็จตรงออกมา แล้วก็จับตัวกุมารได้ทันใด จึ่งตรัสสั่งนายเพชฌฆาตให้สังหารเสียให้ตักษัย นายเพชฌฆาตจึ่งให้คุมตัวพระศรีศิลป์ไป จึ่งเอาตัวนั้นมัดผูกพัน แล้วใส่ลงใสแม่ขันสาคร แล้วจึ่งเอาใส่ลงในถุงแดง แล้วก็แห่หามไปยังวัดกระซ้าย แล้วจึ่งขุดหลุมฝังเสียทั้งเป็น..."

 

วัดกระซ้าย, ที่มา: Facebook ห้อง "ประวัติศาสตร์อยุธยา", วันที่เข้าถึง 11 กรกฎาคม 2563 (ดูจากวันที่โพสต์ข้อความ สันนิษฐานว่าภาพนี้ ถ่ายไว้ก่อนวันที่ 26 เมษายน 2561).

     "อันนี้เป็นธรรมเนียมกษัตริย์แต่ก่อนทำสืบกันมาเป็นอย่างนี้ แล้วจึงมีคนเฝ้ารักษาอยู่ได้ครบเจ็ดวันแล้วจึงไป แต่ถ้าศรีศิลป์นี้ยังไม่ตาย ด้วยมหาดเล็กที่พระศรีศิลป์รักใคร่มีใจภักดีต่อกุมาร ครั้นผู้รักษามาสิ้นแล้ว ก็ไปขุดดินขึ้นมาดูตามปรารถนา ก็พบพระศรีศิลป์นั้น จึงเอาขึ้นมาแล้วก็พาเอามาซ่อนไว้ในบ้านตลาดบัวขาว จึงได้ชาวเพชรบุรีเป็นไส้ศึก แล้วจึงกลับช่องสุมทหารชาญชัย ครั้นได้คนดีแล้วก็ยกมา จึงค่อยลอบผ่อนเข้าไปในกรุง พระศรีศิลป์นั้นจึงลอบเข้าไปหาพระกำแพง พระกำแพงจึงเข้ารับเป็นสมัครพรรคพวกในกุมาร แต่บรรดาขุนนางข้างในนั้น ก็เข้าเป็นพวกด้วยพระศรีศิลป์เป็นอันมาก พระยานันทะยอแฝงนายโขลงนี้ ก็เลือกเอาช้างโรงมาถวาย ทั้งหมื่นราชและนายทรงบาศ ทั้งซ้ายขวา ทั้งเทพโยธาและนายพลพัน ทั้งหลวงจ่าแสนบดี ทั้งราชาบาลด้วยกัน จึงคิดอ่านทำการเป็นกวดขัน ครั้นได้ฤกษ์นามอันดีแล้ว เพลาพลบค่ำก็ยกเข้ามา อันพระศรีศิลป์นั้น ทรงช้างพลายพิษณุพงศ์ แล้วยกมาทางถนนเจ้าพรหม แล้วจึงเข้าประตูปราบไตรจักร จึงมาในถนนหน้าจักรวรรดิ์ หักประตูแดง แล้วตรงเข้ามา ก็เข้าได้ในวังชั้นใน จึงหลวงเทพสมบัติกับหมื่นไวย ครั้นรู้ก็เข้าไปปลุกพระประทมถึงที่ พระนารายณ์นั้นทรงนำทางข้างในออกมาทางประตูมหาโภคราชทั้งตำรวจในและมหาดเล็ก ทั้งขุนนางบรรดาที่นอนเวรทั้งสิ้นก็ตามเสด็จห้อมล้อมออกมา พระองค์เสด็จเข้าอยู่ในวังหลวง แล้วจึงตั้งค่ายรายขวากเป็นมั่นคง บ้างก็กะเกณฑ์ทัพ บ้างก็จับคนปลอม บ้างก็หาคนดีเข้ามาบ้าง บ้างก็กินช้างม้าผู้คนให้เข้าตาทัพ บ้างตั้งรับอยู่ทางตรอกและถนนใหญ่ ครั้นรุ่งสว่างแล้ว พระองค์ก็ยกทัพเข้าไป จึงทรงช้างพลายกุญชรจำนง พอรู้ว่าราชศัตรูมาหน้าหลัง จึงเสด็จยืนช้างพระที่นั่งอยู่ที่หน้าวังทิศบูรพา จึงตรัสสั่งกับทหารเสนาให้เร่งยกพลเข้าล้อมไว้ อันพระศรีศิลป์นั้นจะตกแต่งป้องกันตัวก็หาไม่ แต่เหล่าที่เข้าพวกด้วยมันจึงออกเที่ยวตรวจตราบรรดาการทั้งปวงก็ได้รบกัน อยู่ไม่นานพระนารายณ์จึงยกทัพหักโหมเข้าไป แล้วก็ทลายประตูเข้าไปได้ บ้างก็ยิงปืนน้อยและปืนใหญ่บ้างก็โห่ร้องประโคมฆ้องกลองอื้ออึงสนั่นครั่นครื้นดังไปทุกทิศา อันเหล่าปัจมิตรนั้นต้านมิได้ ด้วยพระเดชานุภาพพระนารายณ์ ก็กราบแล้วร้องขอโทษ ก็มิได้ยากลำบาก ใจที่จะพิจารณาโยธาทั้งปวง จึงล้อมแล้วก็จับเอาตัวไว้ อันภาษีสินนั้นพระองค์สั่งให้ทำโทษอย่างใหม่ ให้ทุบด้วยท่อนจันทน์ให้ตายแล้ว จริงใส่ในขันสาครแล้วให้ใส่ถุงแดงแล้วให้ฝังเสีย นายเพชฌฆาตก็ทำตามรับสั่ง การมีมาแต่ครั้งนั้นก็เป็นอย่างมาจนบัดนี้ อันสมัครพรรคพวกพระศรีศิลป์ทั้งนั้น พระองค์ให้สั่งให้ฆ่าเสียทั้งเจ็ดชั่วโคตร พระพรหม จึงทูลขอครัวไว้มิให้ตาย ให้จ่ายตามโทษที่มีอันชาวเพชรบุรีเป็นต้นเหตุจึงให้จ่ายหญ้าช้างที่ในกรุง เหตุฉะนี้ตะพุนหญ้าช้างก็มีมาแต่ครั้งนั้นฯ"02.

     และเมื่อตอนใกล้จะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พม่าได้ใช้วัดกระซ้ายเป็นที่ตั้งทัพ โจมตีกรุงศรีอยุธยาด้วยปืนใหญ่ ดังความในพระราชพงศาวดาร กล่าวว่า

     "อยู่มาวันหนึ่ง จึงมีพระศรีสุริยพาห ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาป้อมท้ายกบให้บรรจุปืน มหากาลมฤตยูราชสองนัดสองลูกยิงค่ายพม่าวัดภูเขาทอง และยิงออกไปได้นัดหนึ่งปืนก็ร้าวราน ครั้นเพลาค่ำไทยหนีเข้ามาในกรุงได้คนหนึ่งให้การว่าปืนใหญ่ซึ่งยิงออกไปนั้น ต้องเรือรบพม่าล่มลงสองลำ คนตายเป็นหลายคน ครั้งรุ่งขึ้นเนเมียวแม่ทัพเกณฑ์ให้นายทัพนายกอง ทั้งปวงยกเจ้ามาตั้งค่าย ณ วัดกระซ้าย วัดพลับพลาชัย วัดเต่า วัดสุเรนทร์ วัดแดง ให้ปลูกหอรบขึ้นทุก ๆ ค่าย เอาปืนใหญ่น้อยขึ้นระดมยิงเข้ามาในกรุง..."

     จากการขุดแต่งโบราณสถานวัดกระซ้าย เมื่อปี พ.ศ.2544 พบหลักฐานหลายอย่างเป็นข้อมูลว่า วัดกระซ้ายแห่งนี้แบ่งพื้นที่ออกเป็นเขตพุทธาวาสกับเขตสังฆาวาส เขตพุทธาวาสเป็นที่ตั้งของโบราณสถานต่าง ๆ ตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก โดยมีเจดีย์ทรงระฆังกลมตั้งบนฐานปัทม์แปดเหลี่ยมเป็นประธาน ด้านหน้าเจดีย์ประธานทางทิศตะวันออกเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สันนิษฐานว่าเป็นอุโบสถ เพราะจากการขุดแต่งพบฐานเสมาและใบเสมา รอบเจดีย์ประธานพบฐานเจดีย์ราย 4 องค์ล้อมรอบด้วยกำแพงวัด โบราณสถานต่าง ๆ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ด้านหน้าประธานทางทิศตะวันออก นอกจากเขตพุทธาวาสแล้ว เนินดินทางทิศใต้ขององค์เจดีย์ประธานพบเศษภาชนะดินเผาประเภท หม้อทะนน เตาเชิงกราน ไหจากเตาแม่น้ำน้อย และแหล่งเตาบ้านบางปูน ส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน รวมทั้งเศษกระเบื้องมุงหลังคา แต่ไม่พบรูปเคารพทางศาสนา สันนิษฐานว่า เนินดินบริเวณนี้เป็นเขตสังฆาวาส.

     จากการขุดแต่งยังพบว่าวัดกระซ้ายมีการปรับพื้นที่ในเขตพุทธาวาสหลายครั้งด้วยกัน
     ในสมัยแรก มีการปรับพื้นที่โดยนำดินเหนียวท้องนามาถมปรับพื้นที่ให้สูงขึ้นจากเดิม เพื่อให้พ้นจากน้ำท่วม จากหลักฐานที่ขุดค้นพบว่าในสมัยแรกยังไม่มีการสร้างเจดีย์ประธาน และตั้งอยู่ห่างไกลจากชุมชน โดยเป็นพื้นที่โล่งอยู่นอกเมือง โบราณวัตถุที่พบในดินช่วงนี้มีน้อยมาก
     สมัยที่สอง มีเจดีย์ประธานฐานแปดเหลี่ยมเป็นประธาน มีวิหารอยู่ทางด้านหน้าเจดีย์ประธาน โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นคตินิยมของการสร้างวัดในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 ในสมัยนั้นเจดีย์ประธานมีทั้งที่เป็นเจดีย์ทรงกลม เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม หรือปรางค์ เช่น วัดส้มใช้ปรางค์เป็นประธาน วัดพลับพลาชัยใช้เจดีย์ทรงกลมเป็นประธาน ส่วนการใช้เจดีย์ฐานแปดเหลี่ยมเป็นประธานแบบวัดกระซ้าย ได้แก่ วัดหัสดาวาส วัดตะไกร วังจงกลม เป็นต้น ซึ่งวัดทั้งสามนี้ ขุดค้นขุดแต่งระบุได้ว่าสร้างขึ้นในช่วงพศว.ที่ 20 ถึงต้น พศว.21
     ต่อมาในสมัยที่สาม มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นและก่อสร้างสิ่งใหม่เพิ่มเติมคือ วิหารที่อยู่ด้านหน้าของเจดีย์ประธานถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นอุโบสถ มีการสร้างเจดีย์รายและกำแพงแก้วรอบอุโบสถ.

     การเปลี่ยนแปลงวิหารให้กลายเป็นอุโบสถ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญกับอุโบสถ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ปรากฎขึ้นอย่างชัดเจนในสมัยอยุธยาตอนกลาง ราวปลายพศว.ที่ 21 เป็นต้นไป เช่น วัดวังชัย สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ต่อมาเมื่อถึง พศว.23 ความสำคัญของอุโบสถยิ่งมีมากขึ้น วัดที่สร้างขึ้นในช่วงนี้จะสร้างอุโบสถเป็นประธานของวัด เช่น วัดบรมพุทธาราม ที่สร้างสมัยสมเด็จพระเพทราชา และหากเป็นวัดที่ปฏิสังขรณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว ก็มักแปลงจากวิหารที่เคยตั้งอยู่หน้าเจดีย์ประธานให้กลายเป็นอุโบสถ เช่น วัดมเหยงคณ์ ที่ปฏิสังขรณ์ในสมัยสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ พ.ศ.2254.

     วัดกระซ้ายในช่วงนี้ได้มีการก่อพอกเฉพาะส่วนฐานของเจดีย์ประธาน แปลงจากแปดเหลี่ยมเป็นสี่เหลี่ยม เพื่อค้ำองค์เจดีย์ไม่ให้ทรุดไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ก่อกำแพงรอบโบราณสถานตั้งแต่อุโบสถ เจดีย์รายทั้งสี่องค์รวมทั้งเจดีย์ประธานและได้ขยายพื้นที่โบราณสถานไปทางทิศตะวันตก จากรูปแบบสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุทั้งจากการขุดค้นและขุดแต่ง พอจะกำหนดอายุสมัยได้ว่าอยู่ในช่วงหลังพศว.ที่ 23 ลงมา.

     ช่วงเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 แถบวัดกระซ้าย วัดเต่า วัดสุเรนทร์ เป็นที่ตั้งทัพของพม่า จากการขุดแต่งพบโบราณวัตถุประเภทอาวุธ เช่น มีด หอก ดาบ ทวน ลูกกระสุนปืนใหญ่ เป็นหลักฐานสำคัญที่สนับสนุนข้อมูลทางประวัติศาสตร์ว่าวัดกระซ้าย ใช้เป็นที่ตั้งทัพสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 นอกจากโบราณวัตถุประเภทอาวุธแล้ว ยังพบโบราณวัตถุที่เป็นส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม เช่น กระเบื้องมุงหลังคาแบบกาบกล้วย กระเบื้องเชิงชายเป็นลายเส้นโค้งประกอบกันเป็นรูปสามเหลี่ยม พระพิมพ์ดินเผาแบบพระแผง และโบราณวัตถุที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้.

     เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แล้ว วัดกระซ้ายคงเป็นวัดร้าง จากข้อมูลที่ได้จากการขุดแต่งขุดค้นประกอบกับหลักฐานทางเอกสาร แสดงให้เห็นว่า วัดกระซ้ายมีการสร้างมาตั้งแต่ พศว.19-20 และดำรงเป็นวัดอยู่จนเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2

     อนึ่งวัดกระซ้ายแห่งนี้มีชาวบ้านแถบวัดกลางทุ่งปากกราน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดกระซ้าย เคยเข้ามาขุดกรุที่องค์เจดีย์ได้โบราณวัตถุเป็นพระพิมพ์ดินเผา ลักษณะของพระพิมพ์เป็นดินเผารูปห้าเหลี่ยมด้านไม่เท่ากัน พิมพ์เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิบรรจุอยู่ 3 แถว แถวละ 3 องค์ และอยู่บนสุดอีก 1 องค์ พระพิมพ์ที่ขุดได้มี 2 ขนาด คือ ขนาด 17*10*1.5 เซนติเมตร กับขนาด 11*6.5*1.5 เซนติเมตร พระพิมพ์วัดกระซ้ายนี้ ชาวบ้านแถบนั้นมีความเคารพนับถือว่ามีความศักดิ์สิทธิมาก.




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. จาก. www.qrcode.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง 10-11 กรกฎาคม 2563.
02. เป็นบทความที่ต่อจาก 01. เป็นคำให้การขุนหลวงหาวัด ที่มา: Facebook ห้อง "ประวัติศาสตร์อยุธยา", วันที่เข้าถึง 11 กรกฎาคม 2563.




PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01-04: ที่มา: Facebook ห้อง "กรุงเก่าเล่าเรื่อง", วันที่เข้าถึง 10 กรกฎาคม 2563.
ภาพที่ 05: ที่มา: www.qrcode.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง 10 กรกฎาคม 2563.

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com