MENU
TH EN
Title Thumbnail & Hero Image: วัดตระเว็ด ถ่ายไว้เมื่อ พ.ศ.2549 cr. CUIR โครงการศูนย์รูปธรรมศึกษาโปษยะจินดาและหอนิทรรศน์รัตนกสิกร, ที่มา: Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า", วันที่เข้าถึง 4 กรกฎาคม 2563.
113. วัดตระเว็ด (หรือ เตว็ด หรือ ตะเว็ด)
First revision: Jun.24, 2020
Last change: Feb.20, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

       วัดตะเว็ด01. (บ้างก็เรียก ตระเว็ด หรือ เตว็ด) เป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ริมคลองประจาม ตำบลสำเภาล่ม อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกตัวเกาะอยุธยาไปทางทิศใต้.

     หลักฐานทางโบราณคดีของวัดตะเว็ดที่เหลืออยู่ในปัจจุบันมีเพียงผนังอาคารด้านสกัด มีจั่วเป็นรูปสามเหลี่ยมและเหลือเพียงด้านเดียว พอจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นอิทธิพลของสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศส สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 - 16  และไทยรับเอาอิทธิพลของศิลปะนี้เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื่องจากฝรั่งเศสกับไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน สถาปัตยกรรมแบบนี้ส่วนใหญ่เป็นอาคารสองชั้นก่ออิฐถือปูน ใช้ระบบผนังอาคารเป็นตัวรองรับน้ำหนักของหลังคา เจาะหน้าต่างเป็นรูปวงโค้ง ยกพื้นสูง (พื้นทำด้วยไม้) ข้างล่างใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ หน้าบันเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วก่ออิฐถือปูนประดับด้วยลวดลายปูนปั้น มีรูปแบบที่แสดงอิทธิพลศิลปะแบบยุโรปสมัยนั้น ผสมกับลวดลายไทยดูอ่อนหวานนุ่มนวล กล่าวคือ ขอบหน้าบันเป็นลายแบบยุโรป ส่วนที่เป็นหางหงส์ทำเป็นรูปศีรษะชาย ฝรั่งหันด้านข้างสวมวิกผมยาวเป็นลอน สวมเสื้อมีระบายผูกผ้าพันคอแทน ตรงกลางหน้าบันเป็นปูนปั้นรูปวิมานมีลายเครือเถาประดับ แต่ใบไม้ที่อยู่ในลายเครือเถาเป็นใบอะแคนตัสของกรีกโบราณ (ใบไม้ที่นิยมใช้เป็นลวดลายประดับมากในรัชสมัยพระจ้าหลุยส์ที่ 14 - 14 ของฝรั่งเศส) แทนลายกระหนกของไทย ส่วนแยกของลายมีลายนกคาบซึ่งเป็นลายไทยผสมเข้าไปด้วย ผนังด้านในเจาะเป็นรูปหน้าต่างโค้งยอดแหลม มีผู้สันนิษฐานว่าคงจะเป็นที่ไว้ตะเกียงแต่ระยะที่เจาะสูงเกินไปอาจใช้เป็นที่สำหรับไว้พระพุทธรูปสำหรับบูชา คล้ายกับโบสถ์ฝรั่งก็ได้.

          ส่วนประวัติของวัดนี้ ตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน กล่าวว่า  “ส่วนสมเด็จพระอัครมเหสีฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา แห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ ซึ่งทรงพระนามว่า กรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพนั้นก็ทูลลาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน แล้วพาเอาพระราชบุตร ซึ่งทรงพระนามว่าตรัสน้อยนั้น ออกไปตั้งพระตำหนักอยู่ในที่ใกล้พระอารามวัดพุทไธสวรรย์
(แต่ข้อมูลประวัติศาสตร์ที่เป็นมาตรฐานและรับรู้กันนั้น กรมหลวงโยธาทิพเป็นพระอัครมเหสีฝ่ายขวาของพระเพทราชา และกรมหลวงโยธาเทพเป็นอัครมเหสีฝ่ายซ้ายของพระเพทราชา)

          พระตำหนักที่เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธทิพ และเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพไปสร้างนี้คงจะอยู่ไม่ไกลจากวัดพุทไธสวรรย์มากนัก และคงจะมีขนาดใหญ่โต เนื่องจากจะต้องมีข้าทาสบริวารติดตามไปรับใช้ด้วยเป็นจำนวนมาก แบบอย่างสถาปัตยกรรมที่ใช้สร้างคงจะเป็นแบบอย่างสถาปัตยกรรมที่นิยมกันในราชสำนักขณะนั้น คือ ศิลปะแบบเรเนซองส์ในยุคเจริญรุ่งเรืองของฝรั่งเศส  ที่ตั้งพระตำหนักนี้ น. ณ ปากน้ำให้ข้อสังเกตว่า “การก่อสร้าง การปั้นปูน วิจิตรพิสดาร อาจเป็นที่ประทับของเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพละกระมัง ท่านบวชชีอยู่วัดพุทไธสวรรย์ สำนักนางชีย่อมจะอยู่ไม่ให้ไกลวัด อีกประการหนึ่ง เหล่านางข้าหลวงและนางบริวารก็คงจะบวชตามเสด็จจนเป็นสำนักนางชีใหญ่โต สมัยนั้นคงจะรุ่งเรืองมาก ตัวท่านเป็นเจ้านายที่พระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์กลัวเกรงมาก…”  และที่ตั้งวัดตะเว็ดนี้ดูเหมาะที่จะสันนิษฐานว่าเป็นพระตำหนักดังกล่าว ทั้งเรื่องระยะที่ตั้งซึ่งไม่ไกลไปจากวัดพุทไธสวรรย์มากนัก และความโอ่อ่าภูมิฐานคาดว่าเมื่อเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพ และเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพสิ้นพระชนม์ เหล่าข้าทาสบริวารคงจะแตกฉานซ่านเซ็นทิ้งให้พระตำหนักรกร้าง ติดต่อมาคงมีพระภิกษุเข้าไปครอบครองทำเป็นวัดในภายหลัง ส่วนชื่อวัด “ตะเว็ด” นั้นจะตั้งขึ้นสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน.

          จากการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีและหลักฐานจากประวัติศาสตร์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า วัดตะเว็ดคงจะสร้างขึ้นหลังรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปัจจุบันวัดตะเว็ดตั้งอยู่ในป่าละเมาะ มีหมู่บ้านชาวไทยอิสลามล้อมรอบ หากจะมีการขุดค้นเนินโบราณสถานบริเวณวัดตะเว็ดก็คงจะได้พบหลักฐานที่จะกำหนดอายุโบราณสถานได้ชัดเจนกว่านี้.
 

ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. เว็บไซต์อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา qrcode.finearts.go.th, ค้นคว้าและเรียบเรียงโดยนางจินตนา กระบวนแสง, วันที่เข้าถึง 30 พฤษภาคม 2564.


PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01-06: ผนังตำหนักวัดตะเว็ด ปัจจุบันเหลือผนังอยู่เพียงส่วนเดียว หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นอันน่าจะได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตกเข้ามาผสมกับลวดลายของศิลปะไทย, ถ่ายไว้เมื่อ พ.ศ.2549 cr. CUIR โครงการศูนย์รูปธรรมศึกษาโปษยะจินดาและหอนิทรรศน์รัตนกสิกร, ที่มา: Facebook ห้อง "เที่ยวเมืองกรุงเก่า," วันที่เข้าถึง 4 กรกฎาคม 2563.

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com