MENU
TH EN
Title Thumbnail & Hero Image: วัดโคกขมิ้น, ที่มา: Facebook เพจ "ตามรอยวัดเก่า ลุ่มน้ำลพบุรี," เป็นภาพที่โพสต์เมื่อ 25 ธันวาคม 2560, วันที่เข้าถึง 22 พฤษภาคม 2564.
084. วัดโคกขมิ้น
First revision: Jun.09, 2020
Last change: May 23, 2021
สืบค้น เรียบเรียง รวบรวม และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

       วัดโคกขมิ้น เป็นวัดร้างนอกเกาะเมือง ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การเดินทางไปวัดนี้ เมื่อข้ามสะพานออกจากเกาะเมืองไปตามเส้นทางสู่สุพรรณบุรีจะมีทางแยกซ้ายมือเพื่อไปยังวัดไชยวัฒนาราม เมื่อเลี้ยวไปตามเส้นทางดังกล่าวเลยทางแยกเข้าวัดเซนต์โยเซฟเล็กน้อย มองทางด้านขวามือจะเห็นเนินดินซึ่งมีต้นไม้น้อยใหญ่ปกคลุมเป็นกลุ่มทึบห่างจากถนนใหญ่ประมาณ 500 เมตร ซากโบราณสถานวัดโคกขมิ้นจะอยู่ในดงไม้ดังกล่าว

          เนินหรือโคกโบราณสถานวัดโคกขมิ้นนี้ยังไม่ได้รับการขุดแต่งและบูรณปฏิสังขรณ์ ดังนั้นจึงมีสภาพรก ถูกปกคุลมด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยและวัชพืชจนกระทั่งมองจากถนนใหญ่ไม่เห็น การเข้าไปชมหรือสำรวจบริเวณ แม้ว่าจะเป็นฤดูแล้ง  คือระหว่างเดือนธันวาคม – พฤษภาคม ก็ยังค่อนข้างลำบาก เพราะต้องบุกป่าเข้าไป ยิ่งเป็นฤดูฝนหรือหน้าน้ำ การเข้าไปวัดโคกขมิ้นจะยิ่งทวีความลำบากยิ่งขึ้น เนื่องจากต้องเดินผ่านทุ่งนาซึ่งมีน้ำท่วมระดับสูงเกือบถึงเอว และต้องฝ่าดงข้าวในนา ดังนั้นผู้ที่จะเข้าไปชมวัดโคกขมิ้นจึงต้องรอให้ถึงฤดูแล้งหลังจากน้ำลดและชาวนาเกี่ยวข้าวแล้ว คือตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไปจนถึงประมาณเดือนพฤษภาคม.

          การที่วัดโคกขมิ้นยังไม่ได้รับการดำเนินงานทางโบราณคดีและอยู่ค่อนข้างลับตาในที่ไกลชุมชนนี้เอง เป็นโอกาสให้พวกมิจฉาชีพขุดรื้อทำลายฐานเจดีย์ ฐานพระพุทธรูป และบริเวณเนินเพื่อหาโบราณวัตถุ หรือสิ่งมีค่าต่าง ๆ ที่เชื่อว่ามีบรรจุอยู่ในกรุใต้เจดีย์หรือฐานพระพุทธรูป ปรากฏร่องรอยการขุดให้เห็นอยู่ทั่วไป หากบุคคลดังกล่าวได้โบราณวัตถุหรือสิ่งมีค่าจากวัดโคกขมิ้นไปบ้างแล้ว ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าหลักฐานสำคัญของโบราณสถานแห่งนี้บางส่วนได้ถูกทำลายกระจัดกระจายหายสูญไป.

          วัดโคกขมิ้น จะมีประวัติความเป็นมาอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐาน เนื่องด้วยไม่มีเอกสารสมัยอยุธยาหรือสมัยหลังฉบับใดกล่าวถึง สันนิษฐานว่าคงจะเป็นวัดราษฎร์ และจากลักษณะทางศิลปกรรมของซากโบราณสถานที่เหลืออยู่ ทำให้เข้าใจว่าคงจะสร้างประมาณสมัยอยุธยาตอนปลายแล้วร้างไปก่อนหรือหลังกรุงศรีอยุธยาเสียเอกราชแม่พม่าใน พ.ศ.2310 ประกอบกับกาลเวลาและการทำลายจากนักล่าสมบัติ  วัดโคกขมิ้นจึงกลายสภาพเป็นเนินดินขนาดใหญ่  มีวัชพืชและต้นไม้ใหญ่ปกคลุมทั่วไป สิ่งที่พอจะเห็นชัดบนเนินนี้ได้แก่ ฐานเจดีย์ 1 องค์ ปรางค์ 1 องค์ และฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 1 ฐาน อยู่ค่อนมาทางทิศตะวันออกของพื้นที่  ดังนี้

          1. ฐานเจดีย์ มีลักษณะเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้ 12 ขนาดไม่ใหญ่นัก ก่อด้วยอิฐสอปูน สภาพปรักหักพังเหลือเพียงฐานส่วนล่าง
          2. ฐานปรางค์ ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของเจดีย์ในแนวเดียวกัน เป็นปรางค์ก่ออิฐสอปูนขนาดย่อม ฐานที่เหลือมีสภาพปรักหักพัง มีความสูงเท่าที่เหลือประมาณ 3.50 เมตร มีลักษณะเป็นฐานเหลี่ยมย่อมุมไม้ 20 ยังมีลายปูนปั้นเป็นฐานสิงห์ให้เห็นค่อนข้างชัดเจนบางส่วน เท่าที่เหลือมีฐานสิงห์ซ้อนกัน 2 ชั้น ลายปูนปั้นที่น่าสนใจคือลายที่หน้ากระดานที่เหนือหลังสิงห์ ที่ท้องสิงห์ และเท้าสิงห์ เป็นลายปูนปั้นที่ละเอียดอ่อนช้อยงดงามยิ่ง น่าเสียดายที่หลุดร่วงเหลือเพียงเล็กน้อยไม่ครบทั้ง 4 ด้านของปรางค์ ลายปูนปั้นกาบเท้าสิงห์ของฐานชั้นล่างสุดของสภาพปรางค์ปัจจุบัน เป็นลายกระหนกที่ซ้อนกันหลายชั้น แต่มีความละเอียด ประณีตดูโปร่งตาไม่เทอะทะ เหนือหลังสิงห์ประดับด้วยลายกระจังปูนปั้นขนาดใหญ่ทำเป็นซุ้มหยักโค้งปลายแหลม ภายในซุ้มเฉพาะที่ประดับตามย่อมุมของฐานจะทำเป็นรูปสิงห์อัด ซุ้มนอกนั้นภายในเป็นรูปครุฑ ลายที่หน้ากระดานถัดขึ้นไปเป็นลายเกลียวกระหนกซึ่งเหลืออยู่ไม่มากนัก ต่อไปเป็นหน้ากระดานล่างของฐานสิงห์ชั้นที่ 2 ส่วนนี้ยังมีลายปูนปั้นเป็นกระจัง หรือซุ้มหยักปลายแหลมประดับอยู่เพียงเล็กน้อย และมีลายปูนปั้นที่ท้องสิงห์ ลายครีบที่น่องสิงห์ให้เห็นอยู่บ้าง ถัดจากนั้นเป็นลายที่หน้ากระดานบนซึ่งมองไม่ชัดเพราะสภาพรกถูกปกคลุมด้วยวัชพืช ลายปูนปั้นดังกล่าวมานี้มีทีท่าว่าจะหลุดร่วงหรือถูกทำลายต่อไปอีก เพราะฐานตอนช่วงกลาง ๆ ได้ถูกมิจฉาชีพเจาะเป็นช่อง และฐานส่วนล่างได้ถูกขุดหาสมบัติทั้ง 4 ด้าน จนกระทั่งมองเห็นโครงสร้างของคูหากรุเป็นรูปกากบาทชัดเจน
          3. ฐานพระพุทธรูป  อยู่ห่างจากฐานเจดีย์และปรางค์ไปทางตะวันตกเล็กน้อย เป็นฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ สร้างด้วยอิฐก่อสอปูน พระพุทธรูปก็เป็นปูนปั้นเช่นกัน สร้างหันหน้าไปทางทิศเหนือ สภาพปัจจุบันปรักหักพังเหลือเพียงส่วนหน้าตักของพระพุทธรูป ฐานบัวที่รองรับพระพุทธรูปมีเฉพาะบัวหงาย ไม่มีบัวคว่ำ กลีบบัวมีลักษณะเหมือนกลีบบัวจริงขนาดใหญ่ซ้อนสับหว่างกัน มีกลีบขนาดเล็กรองรับอยู่ด้านนอก ฐานชุกชีตอนล่างเป็นฐานสิงห์ซึ่งลวดลายประดับคงจะหลุดหายไปแล้ว ตอนล่างของฐานถูกขุดทำลายเป็นโพรงบริเวณโดยรอบฐานเป็นเนินอิฐและกากปูน ด้วยความรกของพื้นที่จนไม่อาจทราบได้ว่า พระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานในอาคารหรือกลางแจ้ง

          บนบริเวณเนินอิฐหักกากปูนด้านหน้าฐานพระพุทธรูปไม่ไกลนัก ได้พบชิ้นส่วนของพระเกตุมาลาหรือพระรัศมีของพระพุทธรูปทำด้วยปูนปั้น 1 ชิ้น เข้าใจว่าอาจเป็นชิ้นส่วนของพระพุทธรูปองค์ที่เหลือฐานให้เห็นก็ได้ นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงกันได้พบเศียรพระพุทธรูปหินทรายเศียรหนึ่ง เหลือเพียงซีกด้านขวา ส่วนพระพักตร์แตกกะเทาะหายไป เข้าใจว่าคงเป็นชิ้นส่วนของพระพุทธรูปที่ประดิษฐานในวัดโคกขมิ้น ไม่ได้นำมาจากที่อื่น

          บริเวณเนินดินหลังฐานพระพุทธรูปออกไปทางทิศตะวันตกเป็นป่าค่อนข้างรกรุงรังมาก คาดว่าหากได้รับการแผ้วถางและขุดค้นคงจะพบหลักฐานด้านวัตถุและเสิ่งก่อสร้างของวัดโคกขมิ้นเพิ่มขึ้น ปัจจุบันกรมศิลปากรยังไม่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดโคกขมิ้นเป็นโบราณสถานแหงชาติ อย่างไรก็ตาม จากสิ่งที่เหลืออยู่แม้จะเป็นส่วนน้อยของสิ่งที่เคยมีในอดีต คือลวดลายปูนปั้น ตามขอบตามมุมของชั้นฐานของปรางค์ แม้ลวดลายเหล่านี้ชำรุดหักหายไปมากแล้ว แต่ก็ยังเห็นร่องรอยของความประณีต พิถีพิถันของช่างกรุงศรีอยุธยา
01.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. เว็บไซต์อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา, qrcode.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง 22 พฤษภาคม 2564.
 
info@huexonline.com