MENU
TH EN
Title Thumbnail: วัดขุนแสน, ที่มา: vdo.not.go.th, วันที่เข้าถึง 20 เมษายน 2564.
Hero Image: แผนที่แสดงชุมชนมอญ พระยาเกียรติพระยาราม ในพระราชวังจันทรเกษม, ที่มา: Facebook เพจ "ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์," "วัดขุนแสน (ตอนที่ 1)", วันที่เข้าถึง 20 เมษายน 2564.

077. วัดขุนแสน
First revision: Jun.07, 2020
Last change: Apr.20, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

       วัดขุนแสน มีชื่อปรากฎครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา เมื่อพระเจ้าหงสาวดีทำอุบายหลอกลวงให้สมเด็จพระนเรศ ออกไปช่วยราชการสงครามตีกรุงอังวะและคิดจะกำจัดเสีย.
       และเมื่อเสร็จยกทัพไปถึงเมืองแครง นอกเมืองใกล้อารามของพระมหาเถรคันฉ่อง ฝ่ายพระยาเกียรติ พระยารามซึ่งถูกใช้ให้ลงไปรับพระนเรศและถ้าได้จังหวะปะทะทัพกันกับทัพหลวง ให้พระยาทั้งสองตีกระหนาบหลัง จับพระนเรศประหารเสีย.
       พระยาเกียรติ พระยาราม ก็ลงมารับพระนเรศที่เมืองแครงตามรับสั่ง แต่ได้แวะไปหามหาเถรคันฉ่องซึ่งเป็นมอญมาแจ้งความลับกับพระองค์เช่นนี้ เกรงจะมีอันตรายมาถึงอย่างแน่นอน.
       เมื่อทรงประกาศอิสรภาพ (ประเด็นนี้มีข้อถกเถียงว่าเป็นเหตุการณ์จริงหรือไม่ ช่างละม้ายกับประกาศของประธานาธิบดี เจฟเฟอร์สันของสหปาลีรัฐอเมริกา และการเขียนประกาศเช่นนี้ ก็ไม่เคยมีและไม่ได้เป็นธรรมเนียมของชนชาติในอุษาคเนย์แต่อย่างใด) ไม่ขึ้นกับหงสาวดี ที่เมืองแครงนั้น จึงพาพระมหาเถรคันฉ่อง ญาติโยม กับพระยาเกียรติ พระยารามและกวาดครอบครัวรามัญ ตามรายทางกลับเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี.
       เมื่อมาถึงกรุงพระนครศรีอยุธยา กราบทูลเรื่องราวสิ้นทั้งปวงแก่สมเด็จพระมหาธรรมราชาแล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระมหาเถรคันฉ่องมาจำพรรษาที่วัดมหาธาตุ ญาติโยม ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่หลัง "วัดนก" ใกล้วัดมหาธาตุ.
       ส่วนพระยาเกียรติและพระยาราม ให้อยู่ตำบลบ้านขมิ้น วัดขุนแสน ใกล้พระราชวังจันทรเกษม ที่ประทับของสมเด็จพระนเรศ.

       ช่วงสมัยรัตนโกสินทร์: ร.4 ทรงมีพระอักษรไปถึง เซอร์จอห์น เบาริ่ง เล่าให้ฟังว่า บรรพบุรุษของพระองค์เดิมเป็นชาวมอญ ได้ติดตามสมเด็จพระนเรศเข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยา ท่านผู้นั้นคือ พระยาเกียรติ ได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ "วัดขุนแสน" ลูกหลานคนหนึ่งของพระยาเกียรติ ได้แต่งงานกับเจ้าแม่ดุสิต ซึ่งเป็นพระนางที่มีตำแหน่งสูงในสำนักพระราชวัง.
       เจ้าแม่ดุสิตมีบุตร 3 คน คือ นายเหล็ก ผู้พี่ใหญ่ คนที่สองเป็นหญิง ชื่อ แช่ม ต่อมาเป็น ท้าวศรีสุดารักษ์ คนที่สาม ชื่อ นายปาน คือ คนที่สมเด็จพระนารายณ์ส่งไปเป็นทูต ณ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.2229.
       ต่อมาลูกหลานคนหนึ่งของโกษาปาน ได้รับราชการกับเจ้าพระยาพิษณุโลก ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระอักษรสุนทรเสมียนตรา ๆ มีลูกหลานหลายคน คนที่ 4 เป็นชาย ซึ่งต่อมาก็คือ ร.1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์.
       ร.4 โปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงคราม เป็นแม่งานเพื่อบูรณะวัดขุนแสนในปลายรัชกาลของพระองค์ (ประกาศลำดับที่ 319 ว่าด้วยปฏิสังขรณ์วัดขุนแสน) ..."พระมหาสถูปเจดีย์ ณ วัดขุนแสนเปนของสูงใหญ่อยู่ใกล้พระราชวังจันทร์เกษมเปนที่ประทับพระมหาสถูปเจดีย์นั้น ชำรุดทรุดโทรมมานาน ทอดพระเนตรเนือง ๆ ทรงรำคาญพระเนตรแลทรงเสียดายของใหญ่ของเก่า.
       จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งพระยาราชสงครามจ้างลูกจ้างปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ให้เขื่องใหญ่กว่าเก่า มั่นคงถาวรสืบไปในภายหน้า แลให้ปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวงสำหรับพระเจดีย์ แลกำแพงล้อม แลขุดคูล้อมถมดินให้ดอนด้วย.
       ค่าจ้างเท่าใดจะทรงบริจาคเปนพระพุทธบูชา"..."...ถ้าราษฎรนับถือพระมหาสถูปเจดีย์วัดขุนแสนมากก็ทรงพระโสมนัสยินดัด้วย โปรดพระราชทานช่องโอกาสแก่ราษฎรให้บำเพ็ญเปนพระพุทธบูชา ช่วยในการพระราชกุศลปฏิสังขรณ์ ตามแต่ศรัทธาอุสาหเถิด"
       ในวันอังคารเดือนอ้าย ขึ้น 3 ค่ำ แลวันพุธเดือนอ้าย ขึ้น 4 ค่ำ ปีฉลูสัปตสก (พ.ศ.2408) นี้ จะเสด็จพระราชดำเนินมาเริ่มการก่อเปนฤกษ์" แต่ยังไม่ทันสำเร็จ ร.4 ทรงสวรรคตเสียก่อน.

       พ.ศ.2484 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดขุนแสน เป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 ตอนที่ 16 วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2484. เนื่องจากความสลับซับซ้อนทางด้านตัวบทกฎหมาย กล่าวคือตัวโบราณสถานนั้น อยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากร ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535.
       ส่วนสถานที่ที่โบราณสถานตั้งอยู่นั้น อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการศาสนา ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535. และเพราะวัดขุนแสนเป็นวัดร้างที่มีกฎหมายควบคุมอยู่ 2 ฉบับมีหน่วยงานราชการดูแลรับผิดชอบ 2 แห่ง ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารและการจัดการหลายประการ.
       จนพื้นที่วัดถูกจัดสรรให้เช่าเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ขึ้นไปจนถึงบนเจดีย์ประธานองค์ใหญ่ และมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่เหมาะสม ฯ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2537 กรมศิลปากร โดยสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 3 ขณะนั้น ได้ทำการสำรวจศึกษาเพื่อออกแบบบูรณะและได้ดำเนินการบูรณะแล้วเสร็จใน พ.ศ.2539.
       การบูรณะได้ย้ายบ้านเรือนราษฎรที่ปลูกทับโบราณสถานออก ทำให้ปรากฎรากฐานของสิ่งก่อสร้างสำคัญในวัดเพิ่มเติมขึ้น คือ วิหาร เจดีย์ขนาดย่อม อีก 5 องค์ ซึ่งอาจจะมีเจดีย์องค์ใดองค์หนึ่ง ใช้เป็นที่บรรจุอัฐิของพระยาเกียรติพระยารามก็เป็นได้..01
  


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. ปริวรรตจาก. ข้อมูลใน Facebook เพจ "ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์," "วัดขุนแสน (ตอนที่ 1-3)", วันที่เข้าถึง 20 เมษายน 2564.  



 
humanexcellence.thailand@gmail.com