MENU
TH EN
Title Thumbnail & Hero Image: วัดถนนจีน, ที่มา: เว็บไซต์อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา www.qrcode.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง 30 พฤษภาคม 2564.
064. วัดจีน หรือ วัดถนนจีน01.
First revision: Jun.03, 2020
Last change: May 30, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

          วัดถนนจีน เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมือง ซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านชาวจีนใกล้กับคลองในไก่ คำว่า “ในไก่” นี้นักประวัติศาสตร์บางท่านสันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจาก “นายก่าย” นามของชาวจีน ซึ่งอาจจะเคยตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณนี้ นอกจากนั้นยังมีประตูในไก่เป็นประตูน้ำ ชักน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านเข้ามาตามคลองในไก่ไปออกแม่น้ำป่าสัก ถัดจากประตูในไก่ไปตามลำน้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกจะมีป้อมอกไก่ และประตูจีน ซึ่งเป็นประตูน้ำชักน้ำเข้าไปตามคลองประตูจีน (คลองข้าวเปลือก).

          ในสมัยอยุธยา วัดถนนจีนน่าจะเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของชาวจีน ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ระหว่างคลองประตูจีน (คลองข้าวเปลือก) กับคลองในไก่ และเชื่อว่าคงจะเป็นหมู่บ้านใหญ่มาก พระยาโบราณราชธานินทร์ได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยาว่า “ย่านบ้านแห ขายแหแลเปลป่านด้ายตะกอแลลวด มีตลาดขายของคาว ปลาสด เช้าเย็น อยู่ในบ้านแขกใหญ่ ชื่อตลาดจีน ๑… ย่านบ้านวัดน้อยประตูจีน ขายปรอท ทองเหลืองเคลือบ ๑ ย่านในไก่เชิงสะพานประตูจีนไปเชิงสะพานประตูในไก่ เป็นย่านจีนอยู่ตึกทั้งสองฟากถนนหลวง นั่งร้านขายของสรรพเครื่องสำเภา ไหม แพร ทองขาว ทองเหลือง ถ้วย โถ ชาม เครื่องสำเภาครบ …จีนทำเครื่องจันอับ แลขนม ทำโต๊ะเตียงและถังน้อยใหญ่ และทำสรรพเครื่องเหล็ก…02.

          นามของหมู่บ้านชาวจีนมีกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารสมัยอยุธยาหลายตอน อย่างเช่น ในช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พุทธศักราช 2269 เจ้าฟ้าอภัยสั่งให้ข้าราชการวังหลวงจัดแจงผู้คนกะเกณฑ์กระทำการตั้งค่ายคู ดูตรวจตราค่ายรายเรียงไปตามคลอง แต่ประตูข้าวเปลือกจนถึงประตูจีน03. และในช่วงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พุทธศักราช 2298 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระยาราชสุภาวดีบ้านประตูจีน เป็นเจ้าพระยาอภัยราชาว่าที่สมุหนายก04.

          ถ้าพิจารณาตามชื่อวัด สันนิษฐานได้ว่าน่าจะตั้งอยู่ริมถนนจีน ซึ่งเป็นถนนคู่ขนานกับถนนป่าโทน แต่ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้สร้าง ปัจจุบันเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 58 ตอนที่ 16 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2484 แต่ยังไม่ได้ทำการขุดแต่งบูรณะ สภาพทั่วไปของวัดถนนจีนเท่าที่ปรากฏในปัจจุบันคงมีแต่ปรางค์ 1 องค์ อยู่ในสภาพชำรุด มีต้นไม้ปกคลุม มีเนินโบราณสถานอยู่ทางทิศตะวันออก ส่วนด้านทิศเหนือของโบราณสถานวัดถนนจีนนี้ มีคูน้ำเป็นแนวยาว ทางด้านทิศตะวันตกเป็นสระน้ำค่อนข้างใหญ่ และทางด้านทิศใต้เป็นบ้านอยู่อาศัยของประชาชน ซึ่งใกล้กับองค์ปรางค์มากจนดูเหมือนว่าปรางค์ของวัดถนนจีนเป็นส่วนหนึ่งของบริเวณบ้าน.

          ปรางค์ของวัดถนนจีน เป็นปรางค์ขนาดใหญ่ก่อด้วยอิฐ อยู่ในสภาพชำรุดมาก อิฐชั้นนอกหลุดกระเทาะออกจนเกือบหมด เห็นแต่แนวอิฐชั้นในซึ่งก่ออิฐสอดินเป็นโครงทรงสี่เหลี่ยม มีร่องรอยของซุ้มเรือนธาตุ ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ ซุ้มด้านทิศตะวันออกถูกขุดทำลายเป็นช่องกว้างใหญ่มากจนสามารถเห็นห้องกรุภายในเรือนธาตุ สังเกตได้ว่าโครงสร้างภายในของปรางค์วัดถนนจีนนี้เป็นทรงสี่เหลี่ยม ทำซ้อนกันเป็นผังรูปกากบาท ช่องว่างระหว่างกากบาทใส่ดินกรุอัดแน่นเป็นการประหยัดอิฐ และช่วยเสริมให้โครงสร้างแข็งแรงยิ่งขึ้นอีกด้วย.

          ส่วนบนของเรือนธาตุยังคงมีแนวปูนฉาบอยู่ด้านข้าง ทำให้เห็นร่องรอยลักษณะของทรงปรางค์ซึ่งน่าจะมีรูปแบบเหมือนซ้อนทรงสี่เหลี่ยมเรียงลดหลั่นกันขึ้นไป รูปแบบศิลปกรรมอย่างนี้น่าจะอายุอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-21.

          ในบริเวณผิวดินรอบ ๆ วัดถนนจีนแห่งนี้ ได้พบศิลปวัตถุเป็นชิ้นส่วนของพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ อยู่ในสภาพชำรุด ซึ่งหัวหน้านครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาในขณะนั้น05. ได้นำไปเก็บรักษาไว้ ณ ที่ทำการของหน่วยศิลปากร เมื่อพุทธศักราช 2533 ลักษณะเป็นพระพุทธรูปนุ่งห่มดองหรือเฉวียงบ่า เห็นริ้วรอยของชายผ้าห้อยอยู่ที่พระพาหาซ้าย สายรัดประคดห้อยอยู่ที่หน้าพระอุทร 2 สาย เป็นรูปแบบการนุ่งห่มอย่างพระพุทธรูปจีน อยู่ในท่าประทับนั่งสมาธิราบ พระหัตถ์แสดงปารมารวิชัย พบเฉพาะส่วนพระอุระลงมาถึงพระเพลา ซึ่งเป็นก้อนศิลาเรียงต่อกัน ส่วนพระเศียรหักหายไป ต่อมาได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนถึงปัจจุบัน.
                      
          นอกจากนี้ยังได้พบส่วนของพระอุระถึงบั้นพระองค์ มีลูกประคำห้อยอยู่ที่พระอุระ รูปแบบพระพุทธรูปนุ่งห่มอย่างจีนนี้ที่จัดเป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยา ยังไม่เคยได้พบมาก่อน ฉะนั้น การจะกำหนดอายุได้แน่นอนว่าเป็นพุทธศิลปะช่วงใดของสมัยอยุธยา ต้องอาศัยพิจารณาองค์ประกอบอย่างอื่นเป็นเครื่องช่วยตัดสิน ถ้าจะอาศัยการพิจารณาจากเนื้อศิลา หรือวิธีการนำศิลาท่อนมีขนาดต่าง ๆ กันมาต่อประสานแล้วสลักเป็นพระพุทธรูปก่อนฉาบปูนหรือลงรักปิดทองอย่างพระพุทธรูปที่พบ ณ วัดถนนจีนนี้ ในสมัยอยุธยาก็นิยมทำกันมาทุกยุคทุกสมัย นับตั้งแต่ยุคแรกเป็นต้นมา.

          หากพิจารณาจากรูปทรงขององค์พระพุทธรูป ซึ่งมีรูปร่างค่อนข้างสูง นิ้วพระหัตถ์มีลักษณะเหมือนนิ้วมนุษย์ อาจสันนิษฐานได้ในเบื้องต้นว่า น่าจะอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น คือ พุทธศตวรรษที่ 20-21 เช่นเดียวกัน.

          วัดถนนจีนยังไม่ได้รับการขุดแต่ง จึงพบเห็นซากอิฐอยู่บนผิวดินโดยทั่วไป ซึ่งชาวบ้านแถบนั้นเล่าว่า จะขุดดินเพื่อทำการเพาะปลูกก็ไม่สามารถทำได้  เนื่องจากมีแต่เศษอิฐเต็มไปหมด   ดังนั้นหากโบราณสถานแห่งนี้ได้รับการขุดแต่งบูรณะเมื่อใด  อาจมีข้อมูลอีกมากมายเป็นหลักฐานทางโบราณคดีประวัติศาสตร์ของชาติต่อไป.
 
 

ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. เว็บไซต์อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา www.qrcode.finearts.go.th, นางสาวก่องแก้ว วีระประจักษ์ เป็นผู้ค้นคว้าเรียบเรียง วันที่เข้าถึง 30 พฤษภาคม 2564.
02. จาก
กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 63 เรื่องกรุงเก่า (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ
คุณหญิงอุเทนเทพโกสินทร์  26 มีนาคม 2499). หน้า 207.
03. จาก. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา. พิมพ์ครั้งที่ 6. พระนคร, ห้างหุ้นส่วนศิวพร, 2511. หน้า 548
04. จาก. เรื่องเดิม. หน้า 567.
05. จาก. นายปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ ปัจจุบันหน่วยงานแห่งนี้ใช้ชื่อว่า สำนักงานศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา.
และ 02-05 เป็นอ้างอิงที่มาจากการค้นคว้าเรียบเรียงของ นางสาวก่องแก้ว วีระประจักษ์.



 
info@huexonline.com