Title Thumbnail: วัดเจ้าพราหมณ์ หรือ วัดพราหมณ์ (ถ่ายปี พ.ศ.2533-2534), Hero Image: พระลักษมี (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ พช.เจ้าสามพระยา) ที่มา: Facebook เพจ "ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา," อ้างถึง ห้อง "ตามรอยเก่า ลุ่มน้ำลพบุรี", เมื่อ 9 สิงหาคม 2563. เครดิตภาพ: อ.ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์
035. วัดขุนพราหมณ์ หรือ วัดเจ้าพราหมณ์01,02.
First revision: Jun.02, 2020
Last change: May 25, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา
วัดเจ้าพราหมณ์ หรือ วัดพราหมณ์ (ข้อมูลของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ เรียก วัดขุนพราหมณ์) ตั้งอยู่ในบริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา.
บริเวณนี้แต่เดิมเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยเกษตรกรรม ได้เคยถูกปรับที่ปลูกสวนทดลองของนักเรียนมาแล้ว ต่อมาได้มีการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นสวนสมเด็จ ขุดลอกคูคลองเดิมใกล้ ๆ บริเวณวัด ซึ่งติดกับถนนเหล็กหรือถนนตลาดเหล็ก พบเบ้าโลหะขนาดต่าง ๆ ตกเกลื่อนกลาด และมีคลองฉะไกรใหญ่ (ปัจจุบันคนทั่วไปเรียกว่าคลองท่อ) ผ่านด้านหน้าวัด.
ในหนังสือประชุมพงศาวดาร เล่ม 37 เรื่องกรุงเก่า (ต่อ) หน้า 201 กล่าวว่า “คลองปตูปากท่อ ตรงมาออกประตูฉะไกรใหญ่ มีตะพานไม้ชื่อตะพานขุนโลก 1 มีตะพานไม้ตรงถนนวัดขวิด (วัดเจ้าพราหมณ์) ข้ามไปวัดกุฎีฉลัก 1 (วัดส้ม)” ปัจจุบันนี้ยังแลเห็นแนวลำคลองฉะไกรใหญ่ในบางส่วนอยู่.
สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ดำเนินการขุดสำรวจบริเวณวัดโดยรอบนี้เมื่อประมาณ ต้นปี พ.ศ.2534 ในบริเวณแนววิหารเดิมด้านทิศใต้พบชิ้นส่วนต้นพระพาหาด้านซ้ายของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ทำด้วยหิน เหลืออยู่ยาวประมาณ 21.5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 13.5 เซนติเมตร บนท่อนพระพาหาสลักรูปพระพุทธรูปปางสมาธิ ซ้อนกันเป็นชั้นเห็นอยู่ 4 ชั้น เป็นศิลปะลพบุรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ลักษณะคล้ายกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี พบที่ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และพระโพธิสัตว์อวโลกิเตเศวรเปล่งรัศมี พบที่โกสินารายณ์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี จังหวัดราชบุรี.
นอกจากนี้ยังได้พบประติมากรรมสำริดรูป"พระลักษมี" ที่บริเวณด้านหน้าองค์ปรางค์ ขนาดสูง 5.9 เซนติเมตร ฐานกว้าง 2 เซนติเมตร ศิลปะอินเดียใต้ สมัยราชวงศ์โจฬะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 ประทับยืนแบบตริภังค์(เอียงสะโพกซ้าย) อยู่บนฐานบัวรองรับด้วยฐานสี่เหลี่ยม พระกรซ้ายห้อยชิดพระองค์ พระกรขวาถือดอกบัวชูขึ้น นุ่งพัสตราภรณ์ห้อยหน้าปล่อยชายออก 2 ข้าง และขมวดที่ชายพกปล่อยทิ้งชายไว้ด้านขวามือ อาภรณ์ประดับคาดกลางพระอุระ ต้นพระพาหา และข้อพระกร ใส่กุณฑลเป็นตุ้มใหญ่ เกล้าเกศาสูงรัดเกล้าคล้ายบัวสี่กลีบ ด้านหลังรัดเป็นจุก ประติมากรรมชิ้นนี้สวยงามมาก.
และบริเวณใกล้เคียงกันยังได้พบกำไลสำริด 1 คู่ ทำเป็นรูปงูอ้าปากตามลำตัวเป็นเกล็ด เป็นกำไลขนาดเล็กน่าจะเป็นกำไลสำหรับเด็ก โบราณวัตถุทั้ง 3 ชิ้นเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมากรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งบูรณะโบราณสถานแห่งนี้อีกครั้งเมื่อ พ.ศ.2541.
โบราณสถานที่สำคัญของวัดเจ้าพราหมณ์ที่ยังเหลืออยู่ คือปรางค์ที่กล่าวมาข้างต้น ฐานที่ก่ออิฐเรียงอยู่บนแนวฐานล่างซึ่งก่อด้วยศิลาแลง ลวดลายปูนปั้นติดอยู่ที่ซุ้มชั้นบนของซุ้มทางเข้าด้านหน้าของปรางค์ สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ลักษณะของชิ้นส่วนปูนปั้นบ่งชี้ว่าเป็นงานสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นเช่นกัน โดยอาจเทียบรูปแบบได้กับลวดลายปูนปั้นประดับปรางค์ในสมัยนั้นเช่นปรางค์วัดส้ม.
เดิมวัดเจ้าพราหมณ์อาจเป็นศาสนสถานฮินดู อย่างไรก็ดีภายในคูหาปรางค์ได้พบชิ้นส่วนพระหัตถ์ทำด้วยปูนปั้น ลักษณะของชิ้นส่วนที่พบนี้ควรเป็นพระหัตถ์ของพระพุทธรูป ดังนั้นจึงเชื่อว่า หากปรางค์แห่งนี้สร้างให้เป็นเทวสถานก็คงแปลงเป็นพุทธสถานในภายหลัง03 และไม่พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหรืออื่นใดนอกจากนี้เลย อาจเป็นเพราะได้ถูกรื้อพื้นที่เพื่อปรับเป็นที่ทำการเกษตรกรรมเมื่อครั้งวิทยาลัยเกษตรกรรมตั้งอยู่จนไม่มีอะไรเหลือไว้อีก แต่จากการขุดค้นของสำนักโบราณคดีที่พบวัตถุทั้ง ๓ ชิ้น ทำให้พอจะสันนิษฐานได้ว่า วัดเจ้าพราหมณ์เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น หรืออาจจะมีอายุเก่าขึ้นไปถึงสมัยก่อนพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานีก็เป็นได้.
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดเจ้าพราหมณ์ เป็นโบราณสถานสำคัญสำหรับชาติ โดยประกาศลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 60 ตอนที่ 59 วันที่ 20 กรกฎาคม พุทธศักราช 2486.
- เครดิต ภาพ อ.ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์
- เครดิตข้อมูล
http://www.qrcode.finearts.go.th/…/ayutthaya-02-002/item/29…
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. Facebook เพจ "ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา," อ้างถึง เพจ "ตามรอยเก่า ลุ่มน้ำลพบุรี", เมื่อ 9 สิงหาคม 2563. เครดิตภาพ: อ.ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ - เครดิตข้อมูล http://www.qrcode.finearts.go.th/…/ayutthaya-02-002/item/29…
02. จาก. เว็บไซต์อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา, www.qrcode.finearts.go.th, คุณส่งศรี ประพัฒน์ทอง ค้นคว้าเรียบเรียง, วันที่เข้าถึง 25 พฤษภาคม 2564.
03. ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงประทานความเห็นไว้เมื่อครั้งมาสำรวจเพื่อเรียบเรียง ใน พ.ศ. 2534
PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01: วัดเจ้าพราหมณ์ หรือ วัดพราหมณ์ (ถ่ายปี พ.ศ.2533-2534), ที่มา: Facebook ห้อง "ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา" อ้างถึง ห้อง "ตามรอยเก่า ลุ่มน้ำลพบุรี", เมื่อ 9 สิงหาคม 2563. เครดิตภาพ: อ.ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์
ภาพที่ 02: พระลักษมี (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ พช.เจ้าสามพระยา), ที่มา: Facebook ห้อง "ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา" อ้างถึง ห้อง "ตามรอยเก่า ลุ่มน้ำลพบุรี", เมื่อ 9 สิงหาคม 2563. เครดิตภาพ: อ.ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์