MENU
TH EN
Title Thumbnail & Hero Image: วัดนางกุย, ถ่ายไว้เมื่อ 31 พฤษภาคม 2563
101. วัดนางกุย01,02.
First revision: Jun.01, 2020
Last change: Jun.25, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

       วัดนางกุย ตั้งอยู่เลขที่ 30 หมู่ 5 ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่นอกเกาะเมือง ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้ อยู่ด้านตะวันตกของวัดใหม่บางกระจะ ห่างกันราว ๆ 800 เมตร ในศาลาวัดหลังใหม่ ได้อัญเชิญ "หลวงพ่อยิ้ม" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปแกะจากไม้สักทองและลงรักปิดทอง เป็นพระเก่าแก่ที่อยู่คู่วัดมานาน ตามตำนานเล่าว่า หลวงพ่อยิ้มลอยน้ำมาตามแม่น้ำเจ้าพระยามาติดอยู่บริเวณหน้าวัด ชาวบ้านพระภิกษุและผู้ศรัทธาจึงได้อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานภายในวัด01.

       จากหลักฐานของกรมศิลปากรได้สันนิษฐานว่าวัดนางกุย ได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2130 ผู้ที่สร้างถวายวัดชื่อ "นางกุย" ซึ่งเป็นสตรีที่มีทรัพย์สินเงินทอง ได้สร้างวัดนี้ไว้ทางทิศใต้ของเกาะเมืองอยุธยา. กล่าวกันว่าวัดนี้ในอดีตเจริญรุ่งเรืองมาก หลังจากการเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2310 วัดนี้ได้รับความเสียหาย ถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรม ต่อมาในสมัย ร.3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการบูรณะซ่อมแซมขึ้น (ไม่ทราบปี).

       วัดนี้มีพระอุโบสถขนาด 13.40 * 23.60 เมตร หันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา
 ก่ออิฐฉาบปูน เป็นฐานเขียงยกสูงขนาด 6 ห้อง หลังคาจั่วลดชั้นเดียว ด้านข้างต่อปีกรับด้วยเสาเหลี่ยม 8 ต้น ระหว่างเสาก่อเป็นกำแพงช่องลูกกรง ด้านหน้าก่อมุขลดชั้น ส่วนด้านหลังต่อปีก หน้าบันเป็นลายปูนปั้นเขียนสีรูปนารายณ์ทรงครุฑและลายเครือเถา หน้าบันมุขหน้าเป็นรูปเทพพนมล้อมรอบด้วยลายเครือเถา ช่อฟ้าปั้นปูนลอยตัวรูปนาค โดยรอบอุโบสถตั้งฐานใบเสมา 8 ฐาน บูรณะแล้วเป็นฐานสิงห์ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งใบเสมาคู่ทำด้วยหินฉนวนสีเทา

       ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลา สมัยทวารวดี ปางสมาธิ และหลวงพ่อยิ้ม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่แกะสลักจากไม้สักทองและลงรักปิดทองอย่างสวยงาม เป็นพระเก่าแก่อยู่คู่กับวัดมาช้านาน จากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่ว่า สมัยก่อน หลวงพ่อยิ้มได้ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยามาติดอยู่บริเวณหน้าวัด ทางเจ้าอาวาสและชาวบ้านได้อัญเชิญหลวงพ่อยิ้มไปประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดนางกุย

       นอกจากนี้ ด้านหน้าของอุโบสถยังมี เจ้าแม่ตะเคียนทอง แกะสลักจากต้นตะเคียนทอง ที่อยู่คู่วัดมานานกว่า 400 ปี ต่อมาต้นตะเคียนใหญ่ได้ยืนต้นตายเมื่อประมาณปี พ.ศ.2540 ทางวัดจึงได้นำไปแกะสลักเป็นรูปแม่ตะเคียนทอง และนำมาวางไว้บนตอตะเคียนต้นเดิม เพื่อให้คนได้สักการบูชา ปัจจุบันมีผู้คนมากราบไหว้ ขอโชคลาภจากแม่ตะเคียนทองมากมาย

       นับได้ว่าวัดนางกุยเป็นอีกวัดหนึ่งที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากและเป็นวัดที่มีความสำคัญในสมัยอยุธยา เป็นโบราณสถานที่เหมาะสำหรับศึกษาหาความรู้ด้านประวัติศาสตร์และศิลปกรรมเป็นอย่างยิ่งเพราะมีโบราณสถาน โบราณวัตถุหลายชิ้น ที่สะท้อนให้เห็นถึงผลงาน ที่บรรพบุรุษสร้างสรรค์ขึ้น และทิ้งไว้ให้ลูกหลาน เช่น พระประธานก่ออิฐถือปูนในอุโบสถ ที่สร้างในสมัยอยุธยา เป็นอุโบสถที่ไม่เหมือนกับที่วัดไหน ๆ คือ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ที่สร้างเป็นรูปเศียรพญานาค ซึ่งไม่ค่อยพบเห็นโดยทั่วไป

  
       กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน วัดนางกุย ไว้เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2484




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. ปรับปรุงจาก. Facebook เพจ "ชมรมเที่ยวถ่ายภาพทั่วไทย," ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก Unseentour Thailand, วันที่เข้าถึง 26 พฤษภาคม 2564.
02. จาก. thai-history-art-tourism.blogspot.com, วันที่เข้าถึง 25 มิถุนายน 2564. โดยได้อ้างอิงข้อมูลจาก:- 

        ก. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. (2554). อุโบสถวัดนางกุย. ค้นข้อมูลเมื่อ 15 มกราคม 2557. จาก http://www.m-culture.in.th/moc_new/album/115753/
       ข. แหล่งท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. โบราณสถานวัดนางกุย. ค้นข้อมูลเมื่อ 15 มกราคม 2557. จาก http://thai.tourismthailand.org/
       ค. โอเคเนชั่น. (2550). พระยิ้มและโบราณสถานวัดนางกุย. ค้นข้อมูลเมื่อ 15 มกราคม 2557. จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=27606

 
info@huexonline.com