MENU
TH EN

Title Thumbnail: วัดราชประดิษฐาน, ที่มา: www.edtguide.com/travel/89813/wat-rat-praditthan, วันที่เข้าถึง 15 กรกฎาคม 2563.
005. วัดราชประดิษฐาน01.

First revision: May 24, 2020
Last change: Sep.14, 2021
สืบคัน รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       วัดราชประดิษฐาน ปัจจุบันได้ผนวกรวมเอาวัดท่าทราย (ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก) และวัดสุวรรณาวาส (ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก) ไว้ด้วย. วัดราชประดิษฐาน ตั้งอยู่ที่ถนนอู่ทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ริมปากคลองประตูข้าวเปลือกฝั่งตะวันตก ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวถึงวัดนี้ไว้หลายครั้ง แต่ไม่ปรากฎหลักฐานว่าผู้ใดสร้าง และในสมัยใด ปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์.  มีพระประธานชื่อ "พระบรมไตรโลกนาถ"02.เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง

       
ประวัติ
       วัดราชประดิษฐาน เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี วัดราชประดิษฐาน มีความหมายว่า วัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง จึงมีข้อสันนิษฐานว่า ผู้สร้างวัดนี้คงเป็นพระเจ้าแผ่นดินแน่นอน.

        วัดราชประดิษฐานถูกกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง โดยเมื่อครั้งสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคต  พระยอดฟ้าเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในขณะที่พระชนมายุยังน้อย พระเฑียรราชาจึงอยู่ในฐานะที่อาจก่อความระแวงว่าจะแย่งชิงราชสมบัติได้ ดังนั้นพระองค์จึงเสด็จออกผนวชที่วัดราชประดิษฐาน พระองค์ได้ลาผนวชและเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหาจักรพรรดิ หลังจากที่ขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์ถูกปลงพระชนม์.

       หลังจากนี้ วัดราชประดิษฐานยังถูกกล่าวถึงเมื่อพระศรีศิลป์ พระราชโอรสในสมเด็จพระไชยราชาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์มีพระชันษาได้ประมาณ 14 พรรษา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงทรงให้ออกผนวชเป็นสามเณร ณ วัดราชประดิษฐาน แต่พระศรีศิลป์ก่อขบถต้องปืนสิ้นพระชนม์เสียก่อน.

       นอกจากนี้ วัดราชประดิษฐานยังใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ในขณะที่พระองค์ผนวชเป็นพระภิกษุ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วัดราชประดิษฐานถูกปล่อยร้างเรื่อยมา จนกระทั่ง ร.6  ให้ขุนศรีสงครามเป็นแม่กองบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2460 และได้รับพระราชทานวิสุงคามเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2497 ปัจจุบันวัดราชประดิษฐานมีถาวรวัตถุคือ พระอุโบสถ พระเจดีย์ย่อมุมทรงกลีบมะเฟือง และพระประโทนจำลอง.

       ปัจจุบันพื้นที่ของวัดราชประดิษฐาน ได้รวมเอาพื้นที่ของวัดท่าทรายไว้ด้วย ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออก ฝั่งตรงข้ามของคลองประตูข้าวเปลือก โดยถูกกล่าวถึงในพงศาวดารว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้ลดยศและให้สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ไปอยู่เรือนเสาไม้ไผ่ 2 ห้อง 2 หลังริมวัดท่าทราย และให้คนรับใช้ไว้ 2 คนแต่พออยู่ตักน้ำหุงข้าว ภายหลังก่อกบฏจึงถูกสำเร็จโทษ และเคยเป็นที่จำพรรษาของพระมหานาค กวีสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ผู้แต่งบุณโณวาทคำฉันท์ ปัจจุบันวัดท่าทรายเหลือ พระอุโบสถ หอสมณธรรม เจดีย์ทรงปรางค์แปดเหลี่ยม เจดีย์ทรงกลม พระพุทธบาท-พระพุทธฉายจำลอง และหอระฆัง.

       นอกจากพื้นที่ของวัดท่าทรายแล้ว วัดราชประดิษฐานยังได้รวมพื้นที่ของวัดสุวรรณาวาส ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดราชประดิษฐาน ซึ่งไม่ทราบประวัติความเป็นมา แต่บริเวณนี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นป่าตะกั่วและป่ามะพร้าวและเป็นที่ตั้งของโรงช้างหลวง จึงสันนิษฐานได้ว่าวัดนี้อาจเป็นวัดที่ผู้ดีมีตระกูลซึ่งรับราชการอยู่ในกรมพระคชบาลในสมัยอยุธยาเป็นผู้สร้างขึ้น ปัจจุบันวัดสุวรรณาวาสเหลือ ซากพระวิหาร ซากพระอุโบสถ เจดีย์ทรงระฆังกลม เจดีย์ทรงกลมบนฐานแปดเหลี่ยม.

       ที่ผนังอุโบสถเก่าของวัดมีภาพเขียนสมัยกรุงศรีฯ ร.4 เคยเสด็จทอดพระเนตร และให้กรมขุนราชสีหวิกรมถ่ายภาพเก็บไว้ และต่อมาในสมัย ร.5 ได้เสด็จชมภาพเขียนนี้ถึง 2 ครั้ง ปัจจุบันภาพเขียนดังกล่าวลบเลือนไปหมด ด้วยเพราะอุโบสถไม่มีหลังคา และพระอุโบสถนี้ ทางวัดได้รื้อถอนไปเมื่อ พ.ศ.250703.




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 14 กันยายน 2564.
02จาก: chillpainai.com, วันที่เข้าถึง 14 กันยายน 2564.
03.  จาก: touronthai.com, วันที่เข้าถึง 14 กันยายน 2564.

 

info@huexonline.com