MENU
TH EN
Title Thumbnail & Hero Image: วัดจักรวรรดิ์ (วัดเจ้ามอญ) ถ่ายไว้เมื่อ 23 พฤษภาคม 2563.
Hero Image: วัดจักรวรรดิ์ (วัดเจ้ามอญ): จาก Facebook ห้อง "ชมรมอนุรักษ์วัดและโบราณสถานแห่งกรุงศรีอยุธยา" ถ่ายไว้เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2542, วันที่เข้าถึง 24 มิถุนายน 2563.

207. วัดจักรวรรดิ์ บ้างเรียก วัดจักรวรรดิ (วัดเจ้ามอญ)01,02.
First revision: May 23, 2020
Last change: May 23, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

       วัดจักรวรรดิ์หรือวัดเจ้ามอญ ตั้งอยู่ที่ตำบลหันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา บริเวณนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดร้างที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ต้องร้างลงเมื่อสิ้นกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 และปรักหักพังไปตามกาลเวลาโดยธรรมชาติและฝีมือมนุษย์จนกระทั่งกรมศิลปากรได้เข้ามาดำเนินการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดีในปี พ.ศ.2542-2544 การดำเนินงานครั้งนี้ได้พบโบราณวัตถุทั้งสมัยอยุธยาตอนต้นและอยุธยาตอนปลาย และเมื่อขุดแต่งซากโบราณสถานทั้งสิ้นเสร็จแล้วพบว่าวัดจักรวรรดิ์เป็นวัดขนาดกลาง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ด้าน คือ ด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก ประกอบด้วยเจดีย์ประธาน 1 องค์ อุโบสถ 1 หลัง เจดีย์ราย 23 องค์ และกำแพง 3 ชั้น.

       ในการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดีพบว่าวัดจักรวรรดิ์สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น บูรณะครั้งใหญ่และก่อสร้างเพิ่มเติมในสมัยอยุธยาตอนปลาย เมื่อแรกสร้างวัดนี้มีขอบเขตพื้นที่เล็กกว่าปัจจุบัน มีเพียงเจดีย์ประธาน 1 องค์ เจดีย์บริวารที่มุมและด้านของเจดีย์ประธาน 11 องค์ และวิหาร 1 หลัง ต่อมาเมื่อมีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีการก่อสร้างวิหารขนาดเล็ก 1 หลัง และสร้างอุโบสถขนาดใหญ่ทับลงบนฐานวิหารเดิม และสร้างเจดีย์ประธานขึ้นใหม่ขนาดใหญ่กว่าองค์เดิมทับลงบนฐานเจดีย์ประธานเก่า พร้อมทั้งสร้างเจดีย์บริวารบนฐานเจดีย์ประธานขึ้นใหม่อีก 2 องค์.

       นอกจากการบูรณะดังกล่าวแล้ว ยังพบหลักฐานว่ามีการขยายพื้นที่วัดออกไปทางทิศเหนือและทิศใต้ของวัด โดยสร้างกำแพงวัดขึ้นใหม่กั้นขอบเขตพื้นที่ที่ขยายออกไป การบูรณะครั้งนี้สันนิษฐานว่าน่าจะบูรณะในคราวเดียวกันกับการบูรณะวัดใกล้เคียง เช่น วัดกุฎีดาว ซึ่งพงศาวดารระบุว่า บูรณะในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ และหลังจากการบูรณะครั้งใหญ่แล้วมีการสร้างอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเจดีย์ประธาน 1 หลัง และสร้างเจดีย์รายเพิ่มขึ้นอีกหลายองค์.

       หลังการขุดค้นขุดแต่ง ทางโบราณคดีในปี พ.ศ.2542-2543 แล้ว กรมศิลปากรได้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมและบูรณะสถานภายในวัดจักรวรรดิ์ทั้งหมดตามรูปแบบที่ปรากฎให้เห็นภายหลังการขุดแต่ง โดยการเสริมความมั่นคงแต่ต่อเติมบางส่วนตามรูปแบบที่นักวิชาการได้ศึกษาวิเคราะห์แล้ว ปัจจุบันโบราณสถานวัดจักรวรรดิ์ประกอบด้วย สิ่งก่อสร้างที่บูรณะแล้วดังนี้:

       1) เจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ สูงประมาณ 26 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 22 x 22 เมตร ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียง ฐานปัทม์ มาลัยเถา องค์เจดีย์ทรงระฆังกลมป้อม มีร่องรอยของลวดลายบัวที่คอระฆัง เหนือระฆังบัลลังก์แปดเหลี่ยม ก้านฉัตรและป้องไฉนขนาดใหญ่คล้ายกับเจดีย์ประธานวัดกุฎีดาว ซึ่งสัญนิษฐานว่าได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยเดียวกัน.

       2) อุโบสถ เหลือเฉพาะส่วนฐานขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 16*30 เมตร  มีประตูเข้าออกทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตก ด้านละ 2 ทาง
       3) วิหาร เหลือเฉพาะส่วนฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 10*18 เมตร ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอุโบสถ
       4) ศาลา หรือเจดีย์ขนาดเล็กเหลือเพียงส่วนฐานอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 10*10 เมตร ตรงแนวกำแพงชั้นในและชั้นกลางทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัด  อาจเป็นฐานรากของศาลาลงสู่ท่าน้ำหรือเจดีย์ขนาดเล็ก

       5) เจดีย์ราย รอบเจดีย์ประธานมีเจดีย์รายรอบอยู่ 16 องค์ ซึ่งก่อนการบูรณะอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมทั้งหมด ส่วนใหญ่เหลือเพียงฐานราก ที่เหลือสภาพมองเห็นรูปแบบได้ชัดเจนมี 4 องค์คือ
              เจดีย์ทรงกลมฐานแปดเหลี่ยมที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือ
 ส่วนบนตั้งแต่ก้านฉัตรถึงปลียอดหักไป ที่ฐานเจาะเป็นช่องคูหาโค้งยอดแหลม ถัดจากชั้นฐานเป็นชุดมาลัยเถา บัวปากระฆัง องค์เจดีย์ทรงระฆังกลมเพรียวสูงประมาณ 11.50 เมตร จากการขุดตรวจทางโบราณคดีพบหลักฐานว่า เจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นก่อนเจดีย์ประธานองค์ปัจจุบัน
              เจดีย์ทรงกลมฐานแปดเหลี่ยม 2 องค์ ทางด้านทิศใต้ องค์หนึ่งสูงประมาณ 9 เมตร ถัดจากฐานเขียงเป็นฐานประดับลายแข้งสิงห์ บัวปากระฆัง และองค์เจดีย์บัลลังก์แปดเหลี่ยม  รูปแบบของเจดีย์เป็นแบบศิลปะที่นิยมสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย

              นอกจากเจดีย์บริวารแล้ว  บนลานปูอิฐทางด้านตะวันออกของเจดีย์ประธานมีฐานรากของเจดีย์รายขนาดเล็กตั้งเรียงรายกันตามแนวทิศเหนือ-ใต้  และฐานรากของเจดีย์รายขนาดเล็กที่มุมกำแพงวัดอีก 4 องค์

         6) กำแพง หลังจากการขุดแต่งแล้วเสร็จพบแนวกำแพงแสดงขอบเขตบริเวณของวัดและกั้นขอบเขตสิ่งก่อสร้างสำคัญดังนี้
               กำแพงขั้นนอกหรือกำแพงวัดมี 3 ด้าน ยกเว้นด้านตะวันออก แนวกำแพงด้านกว้างยาว 50 เมตร ด้านยาวยาว 105 เมตร มีประตูทางเข้าออกวัดที่ด้านใต้และด้านตะวันตก
กำแพงชั้นในหรือกำแพงแก้วรอบเจดีย์ประธานองค์เดิม ขอบเขตกำแพงกว้าง 35 เมตร ยาว 55 เมตร


       วัดจักรวรรดิ์หรือวัดเจ้ามอญ เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งสมัยอยุธยา แต่น่าเสียดายที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างปรักหักพังเป็นระยะเวลายาวนาน แม้ปัจจุบันได้รับการบูรณะและปรับปรุงให้อยู่ในสภาพมั่นคงแล้วก็ตาม แต่สิ่งก่อสร้างสำคัญในวัดส่วนใหญ่ได้หักพังเสียหายจนไม่สามารถบูรณะให้เห็นสภาพเดิมได้ทั้งหมด.01,02.

ภาพสันนิษฐานวัดจักรวรรดิ์, ที่มา: เว็บไซต์อุทยานประวัติศาสตร์ (http://virtualhostoricalpark.finearts.go.th/index.php/th/),
ผ่าน th.readme.me, วันที่เข้าถึง 24 พฤษภาคม 2563


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. Facebook ห้อง "เที่ยวเมืองกรุงเก่า", "วัดจักรวรรดิ์" หรือ "วัดเจ้ามอญ" จากอดีตสู่ปัจจุบัน ประมาณปี พ.ศ.2527-2558, วันที่เข้าถึง 14 พฤษภาคม 2564.
02. จาก. เว็บไซต์อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา, qrcode.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง 23 พฤษภาคม 2564.

 
info@huexonline.com