MENU
TH EN
Title Thumbnail: วิหารหลังเก่า ถ่ายไว้เมื่อ 23 พฤษภาคม 2563, Hero Image: เจดีย์ประธาน ถ่ายไว้เมื่อ 23 พฤษภาคม 2563
203. วัดดุสิดาราม หรือ วัดดุสิตาราม
First revision: May 23, 2020
Last change: May 29, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

       วัดดุสิดาราม01. ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดมีเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ ปัจจุบันมีพระภิกษุจำพรรษา สังกัดคณะมหานิกาย.

       หนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 4 ของกรมการศาสนา กล่าวถึงประวัติการสร้างวัดดุสิดารามว่า สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2100 และรับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.211002.  หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ตอนที่กล่าวถึงพระอารามหลวงในกรุงศรีอยุธยา ระบุชื่อวัดแห่งหนึ่งว่า วัดดุสิตมหาพระนเรศวรทรงสร้าง03. สันนิษฐานว่า หมายถึงวัดดุสิดาราม.

          วัดนี้มีเจดีย์สูงใหญ่เป็นโบราณสถานสำคัญของวัด น. ณ ปากน้ำ ได้กล่าวถึงเจดีย์องค์นี้ว่า มีลักษณะเช่นเดียวกับเจดีย์วัดใหญ่ไชยมงคลแต่มีขนาดเล็กกว่า04. แต่ฐานของเจดีย์วัดดุสิดารามนั้น เป็นฐานแปดเหลี่ยม และปรากฏร่องรอยว่ามีการก่อสร้างเพิ่มเติมภายหลัง คล้ายคลึงกับส่วนฐานของเจดีย์ทองแดงวัดมเหยงคณ์ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ต่อมากรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอน 59 ง ลงวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2538.

          จากหลักฐานดังกล่าวและลักษณะโบราณสถานที่ปรากฏ สรุปได้ว่า วัดดุสิดารามสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง และได้มีการบูรณะซ่อมแซมในสมัยอยุธยาตอนปลาย.

          กล่าวกันว่าวัดดุสิดารามมีความเกี่ยวเนื่องกับบุคคลในประวัติศาสตร์ผู้หนึ่งคือ เจ้าแม่วัดดุสิต ผู้เป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) กับเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) และเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เจ้าแม่วัดดุสิตผู้นี้ มีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าทางสายสมเด็จพระมหาธรรมราชา05. สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงกล่าวถึงเจ้าแม่วัดดุสิตไว้ในหนังสือราชนิกูล รัชกาลที่ 5 ว่ามีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าชื่อบัว06. ส่วนพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงกล่าวถึงเจ้าแม่ดุสิตไว้ในเรื่องเจ้าชีวิต ว่าเป็นหม่อมเจ้า ทรงพระนามว่า อำไพ ซึ่งต่อมาบวชเป็นชีได้รับขนานสมญาว่า เจ้าแม่วัดดุสิต07.

          จากหลักฐานที่กล่าวแล้ว พอสรุปความได้ว่า เจ้าแม่วัดดุสิตนั้นเป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) กับเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) และเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ท่านผู้นี้ได้มาสร้างตำหนักไว้ใกล้ ๆ วัดดุสิดาราม จึงได้ชื่อว่าเจ้าแม่วัดดุสิต และตำหนักแห่งนี้ต่อมาเป็นที่ประทับของกรมพระเทพามาตย์ พระมเหสีของพระเพทราชา ดังความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตอนที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในรัชสมัยพระเจ้าเสือว่า

          “ในขณะนั้น สมเด็จพระอัครมเหสีแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ ซึ่งเป็นพระราชมารดาเลี้ยงของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ได้อภิบาลบำรุงรักษาพระองค์มาแต่ยังทรงพระเยาว์นั้น ครั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว จึงทูลลาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินออกไปตั้งพระตำหนักอยู่ในที่ใกล้พระอารามวัดดุสิต และที่พระตำหนักวัดดุสิตนี้เป็นที่พระตำหนักมาก่อน ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า และเจ้าแม่ผู้เฒ่าซึ่งเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าและเป็นมารดาเจ้าพระยาโกษาเหล็ก เจ้าพระยาโกษาปาน ซึ่งได้ขึ้นช่วยกราบบังคมทูลขอพระราชทานโทษสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินขณะเป็นที่หลวงสรศักดิ์ และชกเอาปากเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ครั้งนั้น และเจ้าแม่ผู้เฒ่าก็ได้ตั้งตำหนักอยู่ในที่นี้ ครั้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้และสมเด็จพระราชมารดาเลี้ยงก็เสด็จตั้งพระตำหนักอยู่ในที่นี้สืบต่อกันมา แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งเป็นกรมพระเทพามาตย์08.

          วัดดุสิตที่กล่าวถึง เมื่อพิจารณาจากภูมิสถานที่ตั้งแล้ว น่าจะหมายถึงวัดดุสิดาราม แต่ตำหนักเจ้าแม่วัดดุสิต และตำหนักของกรมพระเทพามาตย์ที่กล่าวถึงนั้นไม่ปรากฏร่องรอย.

        
 โบราณสถานที่สำคัญ
          1). เจดีย์ประธาน เป็นโบราณสถานสำคัญที่สุดภายในวัด รูปทรงสูงใหญ่ ตัวเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม ฐานชั้นถัดไปอีกสามชั้นเป็นรูปแปดเหลี่ยม ฐานช่วงกลางประดับแข้งสิงห์  ถัดจากฐานแปดเหลี่ยมเป็นบัวลูกแก้ว ตัวองค์ระฆังเป็นทรงเรียว ตรงบัลลังก์ย่อมุมไม้สิบสอง มีเสาหาน ถัดขึ้นไปเป็นปล้องไฉนและปลียอด มีบันไดทางขึ้นลงด้านทิศใต้ สภาพเจดีย์ชำรุด มีต้นไม้ปกคุลม.
          จากโครงสร้างขององค์เจดีย์ แสดงว่าเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง แล้วมีการบูรณะซ่อมแซมในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยเฉพาะส่วนฐานชั้นล่างมีร่องรอยการซ่อมแซมอย่างชัดเจน เจดีย์องค์นี้นับเป็นสิ่งก่อสร้างที่สำคัญเป็นประธานของวัด ตรงมุมทั้งสี่ของเจดีย์ประธาน มีเจดีย์บริวารมุมละองค์ ทั้งฐานชั้นบนและฐานชั้นล่าง โดยเฉพาะฐานชั้นล่างได้ก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน (2 องค์) ส่วนของเดิมชำรุดพังทลาย.

          2). อุโบสถ อุโบสถวัดดุสิดารามมีขนาดเล็กซึ่งเป็นลักษณะการสร้างอุโบสถในสมัยอยุธยาตอนปลาย ฐานอุโบสถแอ่นเป็นท้องสำเภา ด้านหน้ามีพาไลและหลังคามีประตูทางเข้าด้านหน้าสองข้าง ด้านข้างเจาะหน้าต่างข้างละบาน มีเสาประดับผนังประดับกลีบบัว หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ประดับช่อฟ้าใบระกาทำด้วยไม้ หน้าบันเป็นไม้แกะสลักลายกระหนก ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นสมัยอยุธยา อุโบสถทรุดโทรมมาก แต่ปัจจุบันยังใช้ประกอบพิธีสำคัญทางศาสนา เช่น บวชนาค ส่วนการทำบุญในวันธรรมสวนะใช้ศาลาการเปรียญ.

          3). เสมารอบอุโบสถ เป็นเสมาสมัยอยุธยาตอนปลาย สร้างด้วยหินทรายสีขาว รูปทรงเรียวมีลายดอกไม้ประดับตรงกลางด้านบนและด้านล่าง ตั้งอยู่บนฐานรูปดอกบัว แต่ตัวฐานเป็นของที่ทำขึ้นใหม่ ใบเสมามีร่องรอยว่าประดับกระจกแต่หลุดหายไปเกือบหมด.

          เนื่องจากอุโบสถมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่แสดงว่าสร้างขึ้นหลังเจดีย์ประธาน สันนิษฐานว่า อุโบสถหลังนี้คงสร้างขึ้นแทนอุโบสถหลังเก่า ซึ่งคงจะทรุดโทรมลง. ต่อมาในปี 2539 ทางวัดได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ทางด้านหน้าวัดติดถนน ปัจจุบัน (2547) ยังไม่แล้วเสร็จ.

          4). ศาลา ด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ มีศาลาโถงหลังหนึ่งเป็นศาลาที่สร้างขึ้นใหม่ ภายในประดิษฐานสิ่งสำคัญคือ รอยพระพุทธบาทและใบเสมาหินทรายแดง.

          5). รอยพระพุทธบาท สร้างด้วยหินทรายสีขาว ขนาดยาวประมาณหนึ่งเมตร กว้างประมาณครึ่งเมตร ตรงกลางรอยพระพุทธบาทเป็นรูปธรรมจักร นอกธรรมจักรทำเป็นตารางสี่เหลี่ยม ภายในสลักภาพมงคล เป็นลักษณะการสร้างรอยพระพุทธบาทในสมัยอยุธยาตอนปลาย รูปแบบคล้าย ๆ กับรอยพระพุทธบาทที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศส่งไปถวายกษัตริย์ลังกา09.   รอยพระพุทธบาทได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดดุสิดารามมาแต่เดิม ชาวบ้านพบอยู่ในแอ่งน้ำในบริเวณใกล้วัด จึงนำมาไว้ที่วัดนี้เมื่อประมาณ พ.ศ. 2508 หรือ 250910.

          สันนิษฐานว่า รอยพระพุทธบาทแห่งนี้เดิมน่าจะประดิษฐานอยู่ที่วัดสมณโกฏฐาราม ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดดุสิดารามนัก ดังหลักฐานประกอบคือ:

          วัดสมณโกฎฐาราม เป็นวัดซึ่งเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เป็นผู้ปฏิสังขรณ์ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาในสมัยพระเพทราชาได้ใช้เป็นที่เผาศพแม่นมของเจ้าพระยาโกษาธิบดี11. วัดสมณโกฏฐารามนี้ในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์ เรียกว่า วัดพระยาพระคลัง จากการอธิบายแผนผังของวัดและรอยพระพุทธบาท12. สันนิษฐานว่ารอยพระพุทธบาทที่กล่าวถึงในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์ว่า ประดิษฐานอยู่ที่วัดสมณโกฏฐารามนั้น น่าจะหมายถึงรอยพระพุทธบาทซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดดุสิดารามในปัจจุบัน.

          เสมาหินทราย อยู่ทางด้านหน้าศาลา ใบเสมาตั้งอยู่บนฐานสูง เจ้าอาวาสวัดดุสิดาราม (พระเฉลิม ฐิตสังวโร) บอกว่าได้มาจากบริเวณใกล้ ๆ วัด จากรูปแบบและลวดลายมีผู้สันนิษฐานว่า  เป็นใบเสมาสมัยอโยธยา13.  ซึ่งยังไม่เป็นข้อสรุป เพราะลักษณะทางศิลปะชวนให้คิดว่าเป็นงานในสมัยอยุธยาราวพุทธศตวรรษ 20-21 ได้ด้วย.

          นอกจากนี้ยังมีสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ เช่น  กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง และเมรุเผาศพ.

          อนึ่ง เมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2547 เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน (พระอรรถชัย  กตปุญโญ) ได้พบฐานอิฐทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากอุโบสเก่าประมาณ 150 เมตร ติดทางรถไฟ สันนิษฐานว่าจะเป็นฐานมณฑป ซึ่งชาวบ้านแถบนั้นเล่าว่าเคยมีมณฑปในบริเวณวัดแห่งนี้ ทั้งนี้ทางวัดได้แจ้งไปยังกรมศิลปากรเพื่อสำรวจแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งหากเป็นซากโบราณสถานก็จะเป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่นักโบราณคดีต้องศึกษาค้นคว้าและเป็นแนววิเคราะห์วัดแห่งนี้ต่อไป.

 

เจดีย์ประธาน ถ่ายไว้เมื่อ 23 พฤษภาคม 2563.
 

ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. เว็บไซต์อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา www.qrcode.finearts.go.th, โดยนายธีระ แก้วประจันทร์ เป็นผู้ค้นคว้าเรียบเรียง, วันที่เข้าถึง 29 พฤษภาคม 2564.
02. จาก. กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 4. 2528. หน้า 115.
03. จาก. กรมศิลปากร. คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด  และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. 2507. หน้า 216.
04. จาก. น. ณ ปากน้ำ “วัดนอกตัวเกาะอยุธยา” ช่อฟ้า. ปีที่ 1 เล่ม 7 มิถุนายน 2509 หน้า 24.
05. จาก. ม.ร.ว.ศึกฤธิ์ ปราโมช. โครงกระดูกในตู้. 2514. หน้า 18.
06. จาก. สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช. ราชนิกูลรัชกาลที่ 5. 2510. หน้า 3.
07. จาก. พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์. เจ้าชีวิต. 2504. หน้า 83.
08. จาก. กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. 2535. หน้า 89.
09. จาก. นันทนา ชุติวงศ์. รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์. 2533. หน้า 54.
10. สัมภาษณ์ พระเฉลิม ฐิตสังวโร. เจ้าอาวาสวัดดุสิดาราม ในขณะนั้น เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2535.
11. จาก. กรมศิลปากร. ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์. 2508 หน้า 16.
12. แหล่งเดิม. หน้า 52-55.
13. จาก. น. ณ ปากน้ำ. วิวัฒนาการลายไทย. 2524. หน้า 61-65.

และทั้งนี้ ตั้งแต่ข้อ 02-13. นั้น นายธีระ แก้วประจันทร์ เป็นผู้ค้นคว้า เรียบเรียง สัมภาษณ์ ประกอบในแหล่งอ้างอิงหลัก ข้อ 01.


PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01: วิหารหลังเก่า จาก: Facebook ห้อง "นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา", อ้าง Cr.ข้อมูลจากหนังสือ วัดดุสิดาราม: ภาพถ่ายเก่าจากเพจ. khaosod.co.th, วันที่เข้าถึง 06 มิถุนายน 2563.
ภาพที่ 02-05: ภาพถ่ายพระประธานภายในวิหารหลังเก่า และภาพด้านหน้าวิหารหลังเก่า เมื่อ 12 สิงหาคม 2553 ที่มา: Facebook ห้อง "ชมรมอนุรักษ์วัดและโบราณสถานแห่งกรุงศรีอยุธยา", วันที่เข้าถึง 4 สิงหาคม 2563. เครดิต: ผู้ใช้นามว่า "ชายศรี ดิษฐพิทักษ์".

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com