MENU
TH EN
Title Thumbnail: อุโบสถวัดธรรมาราม, Hero Image: วิหารด้านหน้าของวัดธรรมาราม, ถ่ายไว้เมื่อ 31 พฤษภาคม 2563.
137. วัดธรรมาราม01,02.
First revision: May 19, 2020
Last change: Dec.23, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย: อภิรักษ์ กาญจนคงคา

     วัดธรรมาราม ตั้งอยู่ตำบลบ้านป้อม หมู่ที่ 6 นอกเกาะเมืองด้านทิศตะวันตก อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา เยื้อง ๆ เจดีย์ศรีสุริโยทัย ใกล้กับวัดกษัตราธิราช เดิมชื่อ วัดธรรมา เรียก วัดธรรมาวาศ บ้าง วัดราชธรรมาวาศวรวิหาร บ้าง.

     วัดธรรมาราม ปรากฎชื่อครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระมหินทราธิราช ครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2112 กองทัพบางส่วนตั้งมั่นอยู่ที่วัดธรรมาราม แสดงให้เห็นว่าวัดธรรมารามได้สร้างขึ้นแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา คือ เป็นสถานที่จำพรรษาของพระอุบาลีมหาเถระ กับพระอริยมุนีมหาเถระ ซึ่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์แห่งวัดพุทไธศวรรย์แต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาจารย์ออกไปลังกาทวีป เมื่อ พ.ศ.2296 เพื่อให้อุปสมบทกุลบุตรชาวลังกา เนื่องจากพุทธศาสนาได้เสื่อมหายไปจากดินแดนแห่งนี้ ตามพระราชโองการของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทำให้พระพุทธศาสนาลัทธิสยามวงศ์อุบัติขึ้น ณ ลังกาทวีปตั้งแต่นั้นมา.

     ปัจจุบันวัดธรรมารามเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วนคือเขตพุทธาวาส ประกอบด้วยเจดีย์ทรงระฆังเป็นประธาน มีวิหารอยู่ทางทิศตะวันออก และอุโบสถอยู่ทางทิศตะวันตก ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ส่วนเขตสังฆาวาส ประกอบด้วย หอไตร หอระฆัง หมู่กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ และศาลาท่าน้ำ.
         
     วัดธรรมาราม เป็นพระอารามเล็ก ๆ สร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไม่มีข้อมูลว่าผู้ใดสร้าง ภายในวัดมีพระอุโบสถเป็นศิลปะอยุธยาตอนปลาย บานประตูแกะสลักเป็นลวดลายต้นไม้ นก อันวิจิตรด้วยฝีมือชั้นครู ก่อผนังหุ้มกลองหน้าหลังเชื่อมผนังเป็นหน้าบันยันอกไก่ และปั้นปูนเป็นรูปลายเครือเถา ประดับถ้วยชาม และปั้นปูนลวดลายในตรงที่เป็นช่อฟ้า ใบระกา


          วัดธรรมาราม ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านป้อม หมู่ที่ 6 นอกเกาะเมืองด้านทิศตะวันตกอยู่ติดกับ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเยื้อง ๆ กับเจดีย์ศรีสุริโยทัยใกล้กับวัดกษัตราธิราช ปัจจุบันหากมองจากบนฝั่งเกาะเมืองตรงบริเวณเจดีย์ศรีสุริโยทัย จะเห็นกุฏิโบราณก่ออิฐถือปูนหลังหนึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ในพระราชพงศาวดารฉบับ 1 ได้กล่าวนามถึงวัดธรรมารามเป็นครั้งแรกเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระมหินทราธิราช ครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีพุทธศักราช 2112 นั้น ทัพบางส่วนก็ได้มาตั้งมั่นอยู่ที่วัดธรรมารามแห่งนี้ด้วยดังปรากฏข้อความในพระราชพงศาวดารตอนหนึ่งว่า.

           “สมเด็จพระมหาธรรมราชาแต่งคนให้ลอบไปปล่อยพระยาจักรีเข้าไปในกรุงทั้งสังขลิกพันธนา เจ้าหน้าที่พระยาธาระมา ตรงหน้าวัดสบสวรรค์ในเวลากลางคืน ครั้นรุ่งเช้าพระเจ้าหงสาวตีทำเป็นให้ค้นหาพระยาจักรีทุกกองทัพ ไม่พบแล้วก็ให้เอาผู้คุมสามสิบคนไปตระเวณรอบกองทัพแล้วประหารชีวิตเสียไว้หน้าค่ายวัดธรรมา...

          และต่อมาในแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในจดหมายเหตุประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป ได้กล่าวถึงวัดธรรมารามนี้อีกครั้งหนึ่งว่า

           “ลุศักราช 1115 (พ.ศ.2296) ปีระกาเบญจศก ฝ่ายพระเจ้ากิตติศิริราชสีห์ ได้เสวยสมบัติในเมืองสิงขัณฑนคร เป็นอิศราธิบดีในลังกาทวีปและครั้งนั้น พระพุทธศาสนาในเกาะลังกาหาพระภิกษุสงฆ์มิได้ จึงแต่งให้ศิริวัฒนอำมาตย์เป็นราชทูตกับอุปทูต ตรีทูต จำทูลพระราชสาส์นคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการมีพระบรมสารีริกธาตุ เป็นอาทิมากับกำปั่นโอลันขาพานิชวิลันดา เข้ามาจำเริญทางพระราชไมตรี ณ กรุงเทพมหานคร จะขอพระภิกษุสงฆ์ออกไปให้อุปสมบทบวชกุลบุตรสืบพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป ทรงพระกรุณาดำรัสสั่งให้จัตแจงรับทูตานุทูตลังกาตามธรรมเนียม แล้วให้เปิดทูตเข้าเฝ้ากราบถวายบังคม เสด็จออกแขกเมือง ณ มุขเด็จพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ตรัสพระราชปฎิสันถารสามนัดตามขัติยประเพณี แล้วพระราชทานรางวัลแก่ทูตานุทูตโดยสมควร จึงทรงพระกรุณาโปรดให้แต่งข้าหลวงเป็นทูตานุทูตจำทูลพระราชสาส์นคุมเครื่องราชบรรณาการตอบออกไปถึงพระเจ้าลังกา แล้วโปรดให้อาราธนาพระอุบาลี พระอริยมุนี พระราชาคณะสององค์ ซึ่งเป็นผู้แตกฉานในท้องพระไตรปิฎก และวิปัสสนาธุระ ตามคำแนะนำของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์ กับทั้งพระสงฆ์อันดับสิบสองรูป ออกไปตั้งพระพุทธศาสนาบวชกุลบุตรไว้ในลังกาทวีป และให้สมเด็จพระสังฆราชวัดมหาเกตุ แต่งสมณะสาส์นออกไปด้วยอีกฉบับหนึ่ง แล้วให้แต่งกำปั่นลำหนึ่งให้ทูตานุทูตไทยกับทั้งพระสงฆ์สิบสี่รูปและพระราชสาส์น เครื่องราชบรรณาการลงกำปั่นนั้นไปกับด้วยกำปั่นทูตานุทูตอันมาแต่ลังกานั้น

          การไปลังกาทวีปของพระอุบาลี พระอริยมุนีกับพระเปรียญ ที่ไปเป็นพระกรรมวาจาจารย์อีก 5 รูป พระอันดับอีก 11 รูป และสามเณร 7 รูป ครั้งนั้นเป็นการเลื่องลือกันมาก เพราะตามความคิดของคนไทยในสมัยนั้น เข้าใจว่าลังกาทวีปอยู่ไกลสุดหล้าฟ้าเขียว การไปลังกาทวีปของพระอุบาลี พระอริยมุนีกับพระกรรมวาจาจารย์ พระอันดับ เท่ากับยอมถวายชีวิตให้แก่พระพุทธศาสนาน่าสรรเสริญ เพราะเรือได้ไปถูกพายุแตกต้องกลับมาแล้วออกเดินทางไปใหม่ ดังปรากฏเรื่องอยู่ในพระราชพงศาวดารแล้ว.

          เมื่อคณะสมณะทูตจากสยามประเทศไปถึงลังกาทวีป สมเด็จพระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์ พระเจ้ากรุงลังกาโปรดเกล้าฯ ให้พระอุบาลีกับคณะเข้าเฝ้าถวายพระพร เมื่อเดือน 7 แรม 8 ค่ำ และโปรดเกล้าฯ ให้จำพรรษาอยู่ ณ วัดมาลาวดี (วัดบุปผาราม) ตามหลักฐานว่าท่านได้ให้อุปสมบทพระภิกษุได้ 700 รูปบรรพชาเป็นสามเณรได้ 3,000 รูป ครั้นแล้วท่านก็ถึงแก่มรณภาพ เมื่อพุทธศักราช 2298 ณ วัดบุปผาราม กรุงลังกาทวีป พระเจ้ากรุงลังกาโปรดเกล้าฯพระราชทานเพลิงแล้ว บรรจุอัฐิธาตุไว้บนยอดเขา ซึ่งยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้.

          ส่วนพระอริยมุนี เมื่อได้ร่วมกันประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีปเป็นการมั่นคงแล้ว ก็ถวายพระพรลาพระเจ้ากรุงลังกากลับกรุงศรีอยุธยาพร้อมด้วยพระสงฆ์ชุดแรก อีก 7 รูป (ได้มรณภาพที่กรุงลังกาเสีย 10 รูป) สามเณร 2 องค์ ออกจากกรุงลังกาปลายเดือนยี่ ข้างแรม ปีกุน จุลศักราช 1117 ถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันจันทร์ แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ปีขาล พุทธศักราช 2299 และได้จำพรรษาอยู่ ณ วัดธรรมารามจนกระทั่งมรณภาพ.

          ในภูมิแผนที่พระนครศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงวัดธรรมารามไว้ดังนี้
           “ด้านขื่อประจิมทิศ เรือจ้างบ้านชีย์ข้ามไปออกวัดไชยราม (วัดไชยวัฒนาราม) 1 เรือจ้างวังหลังข้ามไปออกวัดลอดฉอง (วัดลอดช่อง) 1 เรือจ้างด่านข้ามออกไปกระษัตรา 1 เรือจ้างข้ามไปออกไปพระมา 1 ด้านขื่อประจิมทิศมีเรือจ้างสี่ตำบล

          ภายหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.2310 แล้ว วัดธรรมารามคงถูกทอดทิ้งให้รกร้างไร้ผู้ดูแลรักษา ตราบจนกระทั่ง ในปี พ.ศ.2350 มีหลักฐานกล่าวถึงวัดธรรมาราม ในนิราศพระบาทของสุนทรภู่ ตอนหนึ่งว่า
                    เห็นวัดวาอารามตามตลิ่ง              ออกแจ้งจริงเหลือจะจำในคำเขียน
               พระเจดีย์ดูกลาดดาษเดียร            การเปรียญโบสถ์กุฏิ์ชำรุดพัง
               ถึงวัดธารมาใหม่ใจระย่อ               ของพระหน่อสุริย์วงศ์พระวังหลัง
               อุตส่าห์ทรงศรัทธามาประทัง         อารามรั้งหรือมางามอร่ามทอง
               สังเวชวัดธารมาที่อาศัย                 ถึงสร้างใหม่ชื่อยังธาระมาหมอง
               เหมือนทุกข์พี่ถึงจะมีจินดาครอง    มงกุฎทองสร้อยสะอิ้งมาใส่กายา


          ถ้อยความในกลอนแสดงให้เห็นชัดว่า “พระวังหลัง” เสด็จมาปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ พระวังหลังพระองค์นั้นจะเป็นผู้อื่นใดไม่ได้ นอกจากสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ (ทองอิน) ซึ่งประสูติเมื่อปีขาล พุทธศักราช 2289 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งคงจะได้เห็นความสำคัญของวัดธรรมาราม จึงได้มาบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นในราวปี พ.ศ. 2328-2348 ก่อนหน้าที่จะทิวงคตในปี พ.ศ.2350.

          ภายหลังจากการบูรณปฏิสังขรณ์ของกรมพระราชวังหลังครั้งรัชกาลที่ 1 แล้ว วัดนี้คงจะได้มีพระสงฆ์จำพรรษาสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เพราะกุฏิที่ตั้งอยู่ริมน้ำที่เป็นกุฏิสองชั้นนั้นปัจจุบันคือหอไตร เป็นอาคารทรงไทยภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน เป็นเรื่องพุทธประวัติเทพชุมนุม การปลงอสุภกรรมฐาน และพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 5.

          อย่างไรก็ตาม วัดธรรมารามยังคงอยู่ในความทรงจำของพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวลังกา ด้วยเหตุที่พระอุปัชฌาจารย์องค์แรกของนิกายสยามวงศ์ คือพระอุบาลี ซึ่งเคยได้สถิตจำพรรษาอยู่ ณ วัดนี้ และในทุก ๆ ครั้งที่พวกเขาเหล่านั้นได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยจึงอดมิได้ที่จะต้องเดินทางมานมัสการปูชนียสถานที่วัดธรรมารามแห่งนี้ ด้วยถือว่าเป็นวัดแห่งบรมคูรของพวกเขา เมื่อได้มาพบเห็นสภาพอันชำรุดทรุดโทรมแห่งเสนาสนะ ก็พากันบริจาคเงินเพื่อทำนุบำรุงให้ยั่งยืนสืบไป ทั้งนี้ทางวัดได้เริ่มทำการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาตั้งแต่ป็ พ.ศ.2525 โดยความควบคุมและดูแลให้การแนะนำจากหน่วยศิลปากรที่ 1 และอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน.

          ภายในวัดมีเจดีย์ประธานทรงกลมบนฐานประทักษิณสี่เหลี่ยมเป็นประธานของวัด มีพระวิหารตั้งอยู่ทางทิศดะวันออก และพระอุโบสถตั้งอยู่ทางดัานหลังของเจดีย์ประธานทางทิศตะวันตก ส่วนหอไตรและหอระฆังดั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำทางทิศดะวันออก ในเขตสังฆาวาส03.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. ปรับจาก. Facebook เพจ "ยอยศยิ่งฟ้าอยุธยามรดกโลก," วันที่เข้าถึง 19 พฤษภาคม 2563.
02. จาก. ป้ายแสดงรายละเอียดของวัดธรรมาราม, ถ่ายเก็บข้อมูลไว้เมื่อ 31 พฤษภาคม 2563.
03. จาก. เว็บไซต์อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา www.qrcode.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง 28 พฤษภาคม 2564.


 
info@huexonline.com