MENU
TH EN
240. วัดท่ายักษ์ หรือ วัดพยัคฆ์01,02.
First revision: Apr.27, 2020
Last change: May 26, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

       วัดท่ายักษ์/วัดพยัคฆ์​(ร้าง) จ.พระนคร​ศรี​อยุธยา​ ตั้งอยู่นอกแผนที่อยุธยาอยู่ริมคลองขวด (แม่น้ำลพบุรีสายเก่า) นอกเกาะเมืองทางด้านทิศเหนือ ริมคลองหัวรอ พบรูปทรงคล้ายกันคือ วัดสามจีน ที่มีรูปทรงแบบวิหารถ้ำ​ องค์​ปรางค์​หันหน้าออกริมแม่น้ำทางด้านทิศตะวันตก.

       มีนักวิชาการพิจารณาและสรุปว่าเป็น "ศิลปะการก่อสร้างแบบพุกาม" ปัจจุบัน เหลือแต่สิ่งก่อสร้างที่เป็นห้องมณฑปก่อเป็นรูปสี่เหลี่ยม โดยมีร่องรอยการต่อเติมเป็นทางเดินซุ้มวงโค้ง แต่ว่าทางเดินทั้งสามข้างนั้นพังไปแล้ว ทำให้เหลือแต่แกนมณฑป ส่วนด้านบนของมณฑปนั้นมีร่องรอยการต่อยอดเป็นเครื่องบน ไม่ทราบว่าด้านบนนั้นจะมียอดเป็นอย่างไร แต่มีชุดฐานที่ปรากฎว่าพยายามจะต่อเป็นเครื่องบน

       ภายในมณฑปปรากฏพระพุทธรูปแบบยืนยกพระหัตถ์ปางประธานอภัย ชาวบ้านในพื้นที่ขนานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่าว่า "พระพุทธพยัคฆ์ราชแผ่นดิน" (หลวงพ่อพุทธพยัคฆ์ราชแผ่นดิน) สิ่งก่อสร้างที่เหลืออยู่มีลักษณะที่ไม่ปรากฎในวัดอื่น ๆ เลยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือเมืองสำคัญต่าง ๆ แม้แต่ในสุโขทัยก็ตาม

       เป็นไปได้ว่าผู้สร้างพยายามจะเลียนคติ "ศิลปะในพุกาม" คือ ถือคติการสร้างพระยืนอยู่ในเจดีย์ วิหาร และมีทางเดินประทักษิณซึ่งเดินได้โดยรอบ โดยมีทางเข้าหลักอยู่ทิศตะวันออก เพื่อให้สาธุชนได้กราบสักการะบูชาเสร็จแล้วจึงเวียนเทียน. จากสิ่งก่อสร้างนั่นมีขนาดเล็ก ทางเดินด้านหน้าจึงไม่สามารถทำได้ ผู้สร้างจึงอาจตั้งใจให้สักการะพระทางด้านหน้า จากนั้นก็สามารถเดินทักษิณาวรรตได้โดยรอบ บริเวณช่องเจาะทั้งสองข้างยังพบร่องรอยรูคาน ของเครื่องไม้ที่คาดว่าจะเป็นประตูทั้งทางด้านซ้าย และทางด้านขวา ดังนั้นจึงเป็นการจำลอง หรือถ่ายแบบมาอย่างง่ายเท่านั้น

       ในทางปฎิบัติบริเวณพื้นทีด้านหน้ามณฑป ควรจะมีหลังคาคลุมด้วย เพื่อให้สะดวกต่อการกราบไหว้สักการะ เป็นไปได้จะมี อาคาร วิหาร ขนาดเล็กที่สร้างด้วยเครื่องไม้คลุมไปทางด้านหน้าอีกทีหนึ่ง โบราณสถานจึงกำหนดได้เพียงคราวๆ ว่าสร้างในสมัยอยุธยา เนื่องจากมีร่องรอยการต่อเติมบูรณะ จึงมีความเป็นไปได้ว่ามีการก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 20 - 21 จากนั้นจึงต่อเติมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 - 23 โดยเกิดจากการที่ กลุ่มคนที่อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ อาจเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพม่ามาก่อน ทำให้คุ้นชินกับคติ และรูปแบบศิลปกรรมที่เคยสร้างไว้.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. ปรับเสริมจาก. Facebook เพจ "คนรักเจดีย์ (I love Pagoda)," วันที่เข้าถึง 27 เมษายน 2563.
02. ปรับเสริมจาก. Facebook เพจ "ราชธานีศรีอยุธยา," วันที่เข้าถึง 26 พฤษภาคม 2564.




PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01-12จาก. Facebook เพจ "คนรักเจดีย์ (I love Pagoda)," วันที่เข้าถึง 27 เมษายน 2563.
ภาพที่ 13: จาก. Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา," วันที่เข้าถึง 2 พฤษภาคม 2563.

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com