MENU
TH EN
Title Thumbnail : วัดนก (บึงพระราม)​ จ.พระนคร​ศรี​อยุธยา (ลวดลายปูนปั้นบนปรางค์​ที่เห็นเลือนลาง), ที่มา: Facebook เพจ"กรุงเก่าของชาวสยาม: The Kingdom and People of Siam," วันที่เข้าถึง 27 เมษายน 2563. Hero Image: วัดนก ถ่ายไว้เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2564.
239. วัดนก01, 02.
First revision: Apr. 27, 2020
Last change: Sep.23, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา


     ชื่อของวัดนกปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา โดยกล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช ได้ประกาศอิสรภาพที่เมืองแครงเมื่อ พ.ศ.2127 แล้วโปรดฯ ให้พระยาเกียรติ พระยาราม และพระมหาเถรคันฉ่อง พร้อมด้วยญาติโยมตามเสด็จมายังพระนครศรีอยุธยาด้วย

     .. เมื่อมาถึงพระนครศรีอยุธยาแล้ว พระราชทานให้พระยาเกียรติ พระยาราม อยู่ตำบลบ้านขมิ้น วัดขุนแสน ญาติโยมของพระมหาเถรคันฉ่องนั้น ให้อยู่ตำบลบ้านหลังวัดนก (กรมศิลปากร 2511 : 137)

      .. นอกจากนั้นพระยาโบราณราชธานินทร์ยังได้กล่าวถึงในคำอธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยาตอนหนึ่งว่า “ย่านหลังวัดนก หน้าวัดโพง มีร้านชำไทยมอญขายขัน ถาด พานน้อยใหญ่ สรรพเครื่องทองเหลืองครบ แลมีตลาดขายของสดเช้าเย็นอยู่ในย่านหน้าวัดนก” (กรมศิลปากร 2472 : 75)


     ปัจจุบันวัดนก เป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ในเขตตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ด้านขวาเยื้องไปด้านหลังของวัดมหาธาตุ สภาพทั่วไปของวัดนกคงมีแต่โบราณสถาน ประกอบด้วย ปรางค์ และวิหาร ซึ่งกรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะแล้ว ดังนี้

     1. ปรางค์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวิหาร บนฐานสี่เหลี่ยมมีฐานย่อมุมเรียงซ้อนขึ้นไป 3 ชั้น จึงเป็นเรือนธาตุ ซึ่งทำเป็นจระนำ 4 ทิศ เฉพาะด้านทิศตะวันออกทำเป็นมุขยื่นออกมาจากเรือนธาตุ และมีบันไดทางขึ้นเข้าสู่ห้องคูหาหรือครรภธาตุ ที่จระนำทั้ง 3 ด้าน ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ภายในเรือนแก้วเป็นพระพุทธรูปประทับยืน พระหัตถ์แสดงปางประทานอภัย ซึ่งชำรุดปรักหักพังไปบางส่วน ที่เรือนแก้วปั้นปูนเป็นลายกระหนก ลักษณะเป็นกระหนกที่ยังปรากฏร่องรอยของรูปแบบศิลปะ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลสืบต่อมาจากศิลปะสมัยลพบุรี บริเวณชั้นเรือนธาตุส่วนที่เป็นย่อมุมนั้น ยังปรากฏลวดลายให้เห็นอยู่บ้าง ซึ่งเป็นการปั้นปูนประดับ โดยเฉพาะลายบัวนั้นมีร่องรอยบ่งบอกว่ามีการสร้างซ่อมของเก่าอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ บัวหงายที่ปากฐานรองรับเรือนธาตุ ตรงย่อมุม ส่วนลักษณะที่เป็นบัวรุ่นเก่าวิวัฒนาการมาจากบัวในศิลปะแบบลพบุรี เหนือเรือนธาตุ ซ้อนทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมเรียงลดหลั่นกันขึ้นไป 3 ชั้น รูปทรงคล้ายฝักข้าวโพดเตี้ย เป็นลักษณะของหลังคาปรางค์ ซึ่งสืบทอดมาจากหลังคาปราสาทแบบเขมร แต่ละชั้นประดับด้วยกลีบขนุนซึ่งยังคงหลงเหลือให้เห็นได้บางส่วน รูปแบบของปูนปั้นประดับปรางค์ตามที่กล่าวมาข้างต้นเห็นได้ชัดว่า ปรางค์วัดนกนี้เมื่อแรกน่าจะได้สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 20 และต่อมาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ในพุทธศตวรรษที่ 22 และ 23 ตามลำดับ

     2. วิหาร ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของปรางค์ และหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเช่นเดียวกัน ลักษณะเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านผนังหุ้มกลองชำรุดหักพังไปทั้ง 2 ด้าน คงเหลือร่องรอยเฉพาะผนังด้านข้างขวาซ้าย ซึ่งเจาะช่องหน้าต่างไว้เพียงด้านละ 1 ช่อง ที่บริเวณผนังมีปูนปั้นรูปเสาประดับผนังด้านละ 7 เสา ปัจจุบันเหลือ 5 เสา และมีเสาแปดเหลี่ยมก่อด้วยอิฐ เห็นเพียงโคนเสาเรียง 2 แถว ๆ ละ 5 ต้น และที่ระเบียงข้างวิหารทิศเหนือก็มีเสา 7 ต้น รองรับชายคา ภายในวิหารมีอาสนะประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงอยู่ติดผนังทั้ง 2 ด้าน และในสุดมีฐานยกพื้นเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน สังเกตได้ว่าวิหารนี้น่าจะได้สร้างซ่อมเพิ่มเติมขึ้นใหม่ในยุคหลัง




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. Facebook เพจ"กรุงเก่าของชาวสยาม: The Kingdom and People of Siam," วันที่เข้าถึง 27 เมษายน 2563.
02. จาก.
Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า," วันที่เข้าถึง 1 กันยายน 2563.
03. จาก. เว็บไซต์อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา, qrcode.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง 29 มิถุนายน 264.





PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01-15: จาก. Facebook เพจ "กรุงเก่าของชาวสยาม: The Kingdom and People of Siam," วันที่เข้าถึง 27 เมษายน 2563.
ภาพที่ 16-18: จาก. Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า," วันที่เข้าถึง 1 กันยายน 2563.

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com