MENU
TH EN
Title Thumbnail: จาก Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา," วันที่เข้าถึง 21 มีนาคม 2563. และ Hero Image: ถ่ายไว้เมื่อ 23 พฤษภาคม 2563.
215. วัดสมณโกฏฐาราม
First revision: Mar.21, 2020
Last change: Mar.20, 2024

สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา

       วัดสมณโกฏฐาราม ปัจจุบันเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ โดยสร้างเสนาสนะไว้ทางด้านทิศใต้ของโบราณสถาน ไม่ปรากฎหลักฐานเอกสารเกี่ยวกับประวัติการสร้างวัดนี้ ในจดหมายจดหมายเหตุของแกมเฟอร์ ระบุว่าได้รับการบูรณะโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ โดยเรียกชื่อว่า "วัดพระยาคลัง" และระบุว่าสมเด็จพระเพทราชาเสด็จไปพระราชทานเพลิงศพเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ซึ่งเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อปี พ.ศ.2233 ที่วัดสมณโกฎฐาราม (บ้างก็เรียกสั้น ๆ ว่า วัดสมณโกศ) นี้ด้วย จึงพอจะสันนิษฐานได้ว่าวัดนี้น่าจะเป็นวัดที่เจ้าพระยาโกษาธิบดีทั้งสองท่าน ปฏิสังขรณ์เพื่อให้เป็นวัดประจำตระกูล.
       ภายในวัดประกอบด้วยฐานปรางค์ขนาดใหญ่ ล้อมรอบด้วยระเบียงคดรูปสี่เหลี่ยม จากการขุดแต่งพบว่าปรางค์ดังกล่าวเป็นปรางค์ที่สร้างขึ้นในราวปลายสมัยอยุธยาตอนกลาง ซึ่งสร้างครอบทับเจดีย์ทรงระฆังกลมที่ตั้งอยู่บนลานประทักษิณที่ต่อเชื่อมกับเจดีย์ประจำมุมทั้งสี่และมีกำแพงแก้วล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง อันเป็นงานที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้นไว้ ถัดออกมาทางด้านทิศตะวันออกนอกระเบียงคด มีวิหารขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับการบูรณะเพิ่มเติมอีกครั้งในสมัยอยุธยาตอนปลาย เช่นเดียวกับ พระอุโบสถซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวัดในแนวเดียวกัน02.

 

 

 

พระปรางค์วัดสมณโกฐารามในรูปแบบโฟโตแกรม ทั้งสามภาพข้างต้น ได้มาจาก Facebook เพจ "Nutchapon Chaipinit," วันที่เข้าถึง: 20 มีนาคม 2567.

       จาก Title Thumbnail: ภาพถ่ายเก่าของปรางค์วัดสมณโกฏฐาราม จ.พระนครอยุธยา (ปัจจุบันพังทลายลงหมดแล้ว) จากฟีล์มกระจก ซึ่งกรมศิลปากรได้จัดพิมพ์เผยแพร่ในรูปหนังสือ
เห็นได้ว่ารูปแบบเป็นปรางค์รุ่นเก่ามาก ดูจาก
       (1) มุมประธานของห้องเรือนธาตุที่เห็นเด่นชัด มุมย่อยที่แตกออกมาเป็นซุ้มจระนำมีขนาดเล็ก และมีจำนวนไม่กี่มุม ผนังเรือนธาตุตั้งตรง
       (2) ลวดบัวรัดเกล้าที่เรือนธาตุส่วนบนซึ่งเหลืออยู่ (ลวดบัวเชิงด้านล่างในภาพเห็นว่าทลายไปไม่เห็นแล้ว)ยังเป็นเส้นแถบลวดบัวนูนหนา
       ซึ่งทั้งสองประการเป็นสิ่งสืบทอดจากปราสาทแบบเขมร ยังเห็นได้ชัดมากกว่าปรางค์รุ่นต้นของอยุธยาหลายองค์ที่ใช้ปูนปั้นเป็นแนวเส้นเล็กๆกลืนไปกับผนังที่เอนลาดเข้าหาศูนย์กลาง  น่าเสียดายที่ช่องจระนำซึ่งปิดตันไม่สามารถแลเห็นรายละเอียดได้ชัดว่า เป็นรูปประตูหลอก หรือประติมากรรมอะไร
       ส่วนยอดนั้นแม้กลีบขนุนและบันแถลงจะเริ่มชิดเข้ามากับชั้น  ซ้อนจนทรวดทรงค่อนข้างเพรียวหากเทียบกับปราสาทแบบเขมร แต่ยังไม่ติดกับยอด เป็นทรงออกพุ่มสูง คือเห็นกลีบขนุนและบันแถลงแยกออกจากชั้นซ้อนได้ชัดเจนอยู่
       ลักษณะที่กล่าวมา ปรางค์วัดสมณโกฏฐารามจึงคล้ายคลึงกับปรางค์รุ่นแรกที่เมืองลพบุรีที่มีอายุราวต้นถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นอันมาก มีนักวิชาการ (ดร.ฉันทัศ เพียรธรรม) ให้ความเห็นว่า เจดีย์องค์นี้เป็นศิลปะสุโขทัยหนึ่งเดียวในอยุธยา
       และโดยตำแหน่งที่ตั้ง วัดแห่งนี้อาจเคยอยู่ในเมืองเดิมที่มักเรียกกันว่า อโยธยา ทางทิศตะวันออกของตัวเมืองอยุธยาที่สถาปนาขึ้นปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งจะสัมพันธ์กับหลักฐานอื่นๆที่แสดงสายใยระหว่างเมืองลพบุรีกับพื้นที่ตั้งอยุธยาที่มีชุมชนมาแล้วตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.1893
       จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดจนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 ชาวกรุงศรีอยุธยาจึงบันทึกคำให้การว่า พระมหาธาตุวัดสมณโกฏฐาราม เป็นสิ่งอันเปนหลักพระนครอันหนึ่งเช่นเดียวกับพระมหาธาตุทรงปรางค์องค์อื่นๆในกรุงศรีอยุธยา เช่น วัดพระราม วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ
       อนึ่ง วัดนี้มีเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัยสร้างไว้ด้านตะวันตกของปรางค์(ไม่เห็นในภาพ) ยิ่งสะท้อนว่าเมื่อสุโขทัยมีบทบาทกับราชวงศ์ของทางอยุธยา วัดนี้คงเป็นวัดสำคัญมากวัดหนึ่งด้วย01.
Cr. ภาพจาก #หนังสือฟิล์มกระจกจดหมายเหตุหนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์
 

พระอุโบสถด้านหน้า, ถ่ายไว้เมื่อ 23 พฤษภาคม 2563
 



พระอุโบสถด้านหลัง, ถ่ายไว้เมื่อ 23 พฤษภาคม 2563

 

พระประะธานในอุโบสถ "พระศรีสมณโกฎบพิตร" ถ่ายไว้เมื่อ 23 พฤษภาคม 2563.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. จาก. Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา," วันที่เข้าถึง 21 มีนาคม 2563.
02. จาก. Facebook เพจ "อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา - Ayutthaya Historical Park," เรียบเรียงโดยนายบพิตร พวงยี่โถ นักวิชาการวัฒนธรรม รวบรวมข้อมูลโดย นางสาวสุรางคณาต์ สุดชะดา นายอนุศิษย์ รามาส, วันที่เข้าถึง 6 พฤษภาคม 2564.



PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01-04: ลายปูนปั้นประดับที่บัลลังก์ขององค์เจดีย์ทรงระฆัง วัดสมณโกฏฐาราม ลักษณะเป็นการประดับลายดอกไม้และเครือเถาภายในกรอบสี่เหลี่ยมรอบตัวบัลลังก์ โดยประดับด้านละ 2 ช่อง แต่ละช่องตัวลายไม่เหมือนกัน ส่วนองค์เจดีย์นั้นเป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม รูปทรงค่อนข้างเตี้ย สันนิษฐานว่าอาจเป็นงานในสมัยอยุธยาตอนต้นหรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย, ที่มา: CUIR - Chulalongkorn University Intellectual Repository ผ่าน Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า," วันที่เข้าถึง 29 กรกฎาคม 2563.
ภาพที่ 05-07: ใบเสมา วัดสมณโกฏฐาราม ทำจากหินทรายแดง มีขนาด ๖๖ x ๔๖ x ๑๒ เซนติเมตร ส่วนล่างสุดสลักแถวลายดอกสี่กลีบประดับ เหนือขึ้นมาเป็นลายกรอบสามเหลี่ยม ภายในประดับลายพรรณพฤกษา กรอบสามเหลี่ยมด้านบนและด้านล่างเชื่อมต่อกันด้วยเส้นกลางแบบบาง กรอบตัวใบเสมามีการสลักแถวลายเม็ดกลมขนาดเล็กประดับ สันนิษฐานว่าเป็นงานในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้นหรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย  (ถาม...ทราบได้อย่างไรว่าเป็นใบเสมาในช่วงอยุธยาตอนต้นหรือก่อนหน้านั้น ตอบ...ใบเสมาสมัยอู่ทอง สมัยอโยธยา สมัยสุพรรณภูมิ ส่วนใหญ่ทำด้วยหินทรายสีแดง อาจจะมีหินทรายขาวบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย)
ข้อมูลและภาพ จาก หนังสือ ถาม-ตอบ ศิลปะไทย และ Chulalongkorn University Intellectual Repository ผ่าน Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า," วันที่เข้าถึง 29 กรกฎาคม 2563.

ภาพที่ 08-09: พระปรางค์ วัดสมณโกฏฐาราม ที่มา: Facebook เพจ "กลุ่มคนรักประวัติศาสตร์," โดย Kittirat Kanjanaprakasit, วันที่เข้าถึง 21 มีนาคม 2566.

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com