ภาพลงสี ทิวทัศน์ วัดเสนาสนาราม กรุงเก่า เป็นภาพถ่ายฟิล์มกระจกในสมัยรัชกาลที่ 4 ภาพถ่ายชุดนี้ถ่ายโดย จอห์น ทอมสัน (John Thomson) ช่างภาพชาวสกอตแลนด์ ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ.2408-2409 ภาพนี้ถ่ายจากดาดฟ้าหอพิสัยศัลยลักษณ์ ในพระราชวังจันทรเกษม เป็นภาพมุมกว้างทำให้เราได้เห็นสภาพของเกาะเมืองในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้อย่างน่าทึ่ง ในภาพยังปรากฎโบราณสถานสำคัญภายในเกาะเมือง เช่น วัดมหาธาตุ ที่องค์พระปรางค์ยังไม่พังทลายลงมา วัดราชบูรณะ ไปจนถึงเจดีย์สามองค์ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ อีกด้วย, ที่มา: Facebook เพจ "ตามรอยวัดเก่าลุ่มน้ำลพบุรี," วันที่เข้าถึง 2 กุมภาพันธ์ 2563.
079. วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร01
First revision: Feb.02, 2020
Last change: Jan.19, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
วัดเสนาสนาราม หรือ "วัดเสื่อ" (เสนาสนะ) เป็นวัดโบราณ สร้างตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา อยู่ในกำแพงหน้า หลังพระราชวังจันทรเกษม ไม่มีพระสงฆ์ตลอดสมัยอยุธยา ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด แต่มีกล่าวไว้ในพงศาวดารว่า วัดเสื่อ ได้สร้างขึ้นพร้อมพระราชวังจันทรเกษม โดยสร้างให้เป็นวัดประจำพระราชวัง ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (สมเด็จพระนเรศ-วอระ-มหาราช) ทรงพระยศเป็นมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก ได้โปรดเกล้าฯ สร้างพระราชวังจันทรเกษมให้เป็นที่ประทับในคราวเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงศรีอยุธยา เมื่อราวปี พ.ศ.2310 และต่อมาพระเจ้าปราสาททอง พระชนกนาถแห่งสมเด็จพระนารายณ์ ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ซึ่งพระองค์ได้ทรงแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระที่นั่ง นารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระอนุชาธิราช คือ พระเอกาทศรถ เป็นพระมหาอุปราช พระราชทานพระราชวังจันทรเกษมให้เป็นที่ประทับจนเป็นธรรมเนียมว่า พระราชวังจันทรเกษม เป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช โดยมีวัดเสื่อ เป็นวัดประจำพระราชวังตลอดมา.
พระประธานภายในอุโบสถวัดเสนาสนาราม "พระสัมพุทธมุนี", ถ่ายโดย Joaquim Antonio,
ที่มา: Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า," วันที่เข้าถึง 14 กุมภาพันธ์ 2563.
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถด้านหลังพระประธาน รอบ ๆ ซุ่มเรือนแก้วปูนปั้นปิดทอง เขียนภาพเทพชุมนุมหรือเหล่าเทวดานั่งประนมมือสักการะพระพุทธเจ้าพระประธานในพระอุโบสถ ผนังด้านหน้าพระประธานเขียนภาพเหล่าเทวดาเหาะลอยอยู่บนก้อนเมฆเต็มผนัง รวมถึงผนังด้านข้างทั้งสองในระดับเหนือหน้าต่างขึ้นไป ก็เขียนภาพเทพชุมนุมรูปแบบเดียวกันนี้เช่นกัน ส่วนผนังด้านล่างมุมทั้งสี่ เขียนภาพปริศนาธรรม และช่องว่างตามช่องหน้าต่างทั้ง 12 ช่อง เขียนเป็นภาพพระราชพิธี 12 เดือน การลำดับเรื่องเริ่มจากผนังทิศเหนือ ด้านซ้ายของพระประธานแล้ววนไปตามเข็มนาฬิกา ส่วนจิตรกรรมภายในพระวิหารพระอินทร์แปลง ผนังด้านบนเขียนภาพวิทยาธรและเทวดานั่งประนมมือหันหน้าไปทางพระประธานผนังด้านล่างด้านหนึ่งเข้าใจว่าเขียนภาพเรื่องพระอินทร์แปลง ส่วนอีกด้านเขียนเป็นภาพของวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร และวัดสำคัญอื่น ๆ
ภาพจิตรกรรมทั้งภายในพระอุโบสถและพระวิหารเขียนขึ้นพร้อมกันในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณปี พ.ศ.2427.02
ภาพรัชกาลที่ 4 ทรงส่องกล้องดูสุริยุปราคา ณ พระบรมมหาราชวัง
ภายในพระอุโบสถ วัดเสนาสนารามมีภาพเขียนบนผนังภายใน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชพิธีสิบสองเดือน ที่จิตรกรรังสรรค์จากพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์, ถ่ายไว้เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2560.
วัดเสื่อได้เจริญรุ่งเรืองมาพร้อมกับพระราชวังจันทรเกษม และก็ได้กลายเป็นวัดร้างพร้อมกับพระราชวังจันทรเกษมเหมือนกัน ในคราวเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2310.
ในสมัยราชวงศ์จักรี รัชกาลที่ 4 ครั้งเสวยราชสมบัติทรงระลึกถึงพระนารายณ์ราชนิเวศน์แล้ว ไม่สบายพระทัย ทั้งพระองค์ก็ประสงค์จะให้เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานสืบไป แต่ไม่อาจถือเอาโดยพลการได้ เพราะไม่ทรงแน่พระทัยว่า พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์และหมู่พระที่นั่งอื่น ๆ นั้น พระมหากษัตริย์แต่โบราณได้พระราชทานเป็นวิสุงคามสีมาหรือไม่ ที่สุดตกลงพระทัย ทำผาติกรรม คือ ตอบแทนให้มีค่าควรกันตามพระวินัย โดยมีพระราชวงศ์เธอกรมหมื่นรังษีสุริยพันธ์ เป็นประธานที่ประชุมสงฆ์ พร้อมใจถวายพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์และหมู่พระที่นั่งแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงได้พระราชทานทรัพย์มีมูลค่ามากกว่าพระราชวังหลายเท่าแล้วโปรดเกล้าฯ ให้นำพระราชทรัพย์ทั้งหมด ไปซื้อที่ดินคือนามีเนื้อที่ 40 ไร่ 2 งาน ทรงพระราชอุทิศถวายเป็นธรณีสงฆ์เท่าจำนวนเนื้อที่บริเวณพระนารายณ์ราชนิเวศน์ แต่จะถวายสงฆ์วัดใดไม่ปรากฎ แล้วสถาปนาวัดสำคัญที่ทรุดโทรมสามวัด เพื่อเป็นผาติกรรม โดยมีพระประสงค์จะให้เป็นที่อยู่ของพระรามัญวัดหนึ่ง เป็นที่อยู่วัดมหานิกายวัดหนึ่ง และเป็นที่อยู่ของวัดธรรมยุตวัดหนึ่ง คือ
- ปฏิสังขรณ์วัดขวิด ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ถวายเป็นพระอารามหลวงฝ่ายรามัญนิกาย พระราชทานนามว่า "วัดกวิศราราม"
- ปฏิสังขรณ์วัดชุมพลนิกายาราม ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถวายเป็นพระอารามหลวงฝ่ายมหานิกาย
- ปฏิสังขรณ์วัดเสื่อ ซึ่งร้างอยู่ท้ายพระราชวังจันทรเกษม ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถวายเป็นพระอารามหลวงฝ่ายธรรมยุตนิกาย พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร" เรียกสั้น ๆ ว่า "วัดเสนาสน์" คล้อยตามนามเก่าที่ว่า "วัดเสื่อ" ในปี พ.ศ.2406 สิ้นพระราชทรัพย์ 300 ชั่งเศษ
รัชกาลที่ 4 จึงได้อาราธนาพระครูพรหมเทพาจารย์ (บุญรอด พฺรหฺมเทโว) ซึ่งเป็นพระธรรมยุตนิกาย พร้อมทั้งลูกคณะซึ่งอยู่ ณ วัดขุนญวน อันเป็นวัดที่พระองค์เคยเสด็จประทับในสมัยเมื่อทรงผนวช ให้ย้ายมาอยู่ที่วัดเสนาสนารามแต่นั้นมา นับเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก
ส่วนวัดขุนญวน ซึ่งเป็นวัดฝ่ายมหานิกาย ปัจจุบันเปลี่ยนนามใหม่ว่า "วัดพรหมนิวาส" ซึ่งถ้าจะคำนวณอายุวัด เสนาสนารามฯ นับตั้งแต่การสร้างพระราชวังจันทรเกษม ตราบถึงการปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ 4 จะมีอายุไม่น้อยกว่า 300 ปี (นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2406 ถอยย้อนขึ้นไป).
ด้านขวาของพระประธานในอุโบสถ มีภาพเขียนรัชกาลที่ 5
เหมือนกับที่ปรากฎในหอประชุมใหญ่แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ถ่ายไว้เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2560.
ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2427 รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้ขยายเขตวิสุงคามสีมาให้กว้างออกไป แล้วโปรดฯ ให้สร้างกุฏิหลังละสี่ห้อง รวมเก้าหลัง ลงไว้ในที่นั้นด้วย ภายหลังโปรดฯ ให้สร้างขึ้นอีกห้าหลัง รวมเป็น 14 หลัง และโปรดให้กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป (พระองค์เจ้าไชยานุชิต ต้นสกุลชยางกูร ณ อยุธยา) เป็นผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถใหม่และเสนาสนะต่าง ๆ นอกจากนั้น มีเจ้านายและทายกทายิกาผู้มีจิตศรัทธารับสร้าง ปฏิสังขรณ์เสนาสนะในพระอารามเป็นลำดับ
ปัจจุบัน วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุตนิกาย และมีกฐินพระราชทานเป็นประจำทุกปี ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 20 ไร่ และมีธรณีสงฆ์ต่อจากคูวัดไปทิศตะวันตกอีก 80 ไร่เศษ.
พระอินทร์แปลง, ที่มา: Facebook เพจ "วัดวา," ผ่านเพจ "นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา," วันที่เข้าถึง 19 มกราคม 2564.
พระอินทร์แปลง (ພະອິນແປງ) วัดเสนาสนาราม อยุธยาฯ03.
พระอินทร์แปลง เป็นพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เชิญมาจากเมืองเวียงจันทน์เมื่อปี พ.ศ. 2401 ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ...ยังมีพระที่มีชื่อเอามาแต่เมืองเวียงจันทน์อีกสองพระองค์ พระอินแปลง น่าตัก 2 ศอกเศษ พระอรุณ น่าตักศอกเศษพระสององค์นี้องค์ที่ออกชื่อก่อนฉันจะรับประทานไปไว้เป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดมหาพฤฒาราม วัดตะเคียนที่ให้ไปสร้างขึ้นไว้ใหม่...
วัดมหาพฤฒารามหรือวัดตะเคียนที่ทรงออกชื่อในพระราชหัตถเลขา ว่าจะเชิญพระอินทร์แปลงไปเป็นพระประธานนี้ เป็นวัดเก่าที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงบูรณะเป็นการใหญ่ ตั้งแต่ต้นรัชกาล เล่ากันว่ามูลเหตุมาจากครั้งเมื่อยังทรงผนวชในรัชกาลที่ 3 เสด็จมาทรงทอดผ้าป่าที่วัดซึ่งขณะนั้นยังมีชื่อว่าวัดท่าเกวียน พระอธิการแก้วเจ้าอาวาสซึ่งมีอายุถึง 107 ปีแล้วได้ถวายพยากรณ์ว่า "จะได้เป็นเจ้าชีวิตเร็ว ๆ นี้" มีรับสั่งตอบว่า "ถ้าได้ครองแผ่นดินจริงจะมาสร้างวัดให้อยู่ใหม่"
เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์จึงทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดท่าเกวียนใหม่ทั้งพระอาราม ซึ่งใช้เวลายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ.2397 จนถึง พ.ศ.2409 เป็นเวลาถึง 12 ปี ส่วนพระอธิการแก้ว พระราชทานแต่งตั้งสมณะศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระมหาพฤฒารามตามสมณศักดิ์ของพระอธิการแก้ว
การที่ทรงตั้งพระทัยจะบูรณะวัดตะเคียนอย่างจริงจัง อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ทรงคิดว่าจะเอา "พระที่มีชื่อ" ไปไว้ แต่จะด้วยเหตุใดไม่แจ้ง ปรากฏว่าโปรดให้ประดิษฐานพระอินทร์แปลงไว้ ณ วัดเสนาสนาราม พระนครศรีอยุธยาแทน
วัดเสนาสนารามเดิมชื่อวัดเสื่อ เป็นวัดเก่ามีมาสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานว่า มีการบูรณะครั้งหนึ่งในรัชกาลพระเจ้าปราสาททองในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาใหม่ทั้งพระอารามในปี พ.ศ.2406 หากพิจารณาช่วงเวลาก็เห็นได้ว่าเมื่อเชิญพระอินทร์แปลงและพระพุทธรูปล้านช้างองค์อื่นๆ ลงมาในปี พ.ศ.2401 นั้นได้พักพระพุทธรูปดังกล่าวไว้ที่พระนครศรีอยุธยาก่อนขณะนั้นการปฏิสังขรณ์วัดมหาพฤฒารามเพิ่งดำเนินไป ได้เพียง 4 ปี และยังใช้เวลาต่อไปจากนั้นอีกถึง 8 ปี จึงแล้วเสร็จ
อนึ่งในระหว่างการก่อสร้างคงมีความไม่สะดวกอยู่มากภายในวัด ดังที่โปรดให้ภิกษุสามเณรย้ายไปอยู่ยังวัดปทุมคงคาชั่วคราว จึงอาจเป็นเหตุหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ ประดิษฐานพระอินทร์แปลงไปเป็นวัดเสนาสนารามที่พระนครศรีอยุธยานั้นเอง ซึ่งก็เป็นวัดที่ทรงปฏิสังขรณ์ใหญ่เช่นกันและแล้วเสร็จก่อนวัดมหาพฤฒาราม หลายปี
พระอินทร์แปลง เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ศิลปล้านช้างปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ หน้าตักกว้าง 2 ศอกเศษ สูงตลอดพระรัศมี 3 ศอก 3 นิ้ว (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเชิญมาแต่เมืองเวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ.2401) ประดิษฐานบนฐากซุกชี ด้านหลังทำเป็นรูปซุ้มศรีมหาโพธิ์ทำด้วยปูนปั้น เนื่องจากฐานเดิมมีพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ประดิษฐานอยู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวให้บูรณพระอาราม ไม่อาจจะนำพระอินทร์แปลงวางทับที่เดิมจึงทำซุ้มครอบองค์เดิม แล้วนำพระอินทร์แปลงประดิษฐานไว้ด้านหน้า ส่วนพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์อยู่ในซุ้มด้านหลังจะไม่มีลิงและช้างคอยอุปัฏฐาก เมื่อไม่มีลิงและช้าง สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 จึงทรงให้ช่างเขียนภาพช้างและลิงถูกนายพรานไล่ล่าไปจนหมด เพราะฉะนั้น พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ในวิหารนี้จึงไม่มีลิงและช้างให้เห็นอีกต่อไป
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. ปรับปรุงจาก.watsenasanaram.blogspot.com, วันที่เข้าถึง 4 กุมภาพันธ์ 2563.
02. ข้อมูลจาก. ป้ายที่แสดงภายในวัดเสนาสนาราม, วันที่เข้าถึง 26 พฤศจิกายน 2560. (เมื่อครั้งไปทริปกับชมรมประวัติศาสตร์ Soho ...กลุ่มผู้สนใจฟังบรรยายประวัติศาสตร์ที่ Starbucks สาขา Soho แถว รพ.หัวเฉียว... โดยมี อาจารย์เทพมนตรี ลิมปะพยอม เป็นวิทยากรหลัก)
03. ข้อมูลและภาพจาก. Facebook เพจ "วัดวา," ผ่านเพจ "นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา," วันที่เข้าถึง 19 มกราคม 2564.
PHOTO GALLERY
ภาพที่ 1: Ayuthia, Siam [Thailand]. Photograph, 1981, from a negative by John Thomson, 1865. ที่มา: wellcomecollection.org, วันที่เข้าถึง 2 กุมภาพันธ์ 2563.
ภาพที่ 2: พระอินทร์แปลง ถ่ายไว้เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2560.