MENU
TH EN
Title Thumbnail & hero Image: ที่มา: Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา," วันที่เข้าถึง 21 มกราคม 2563
057. วัดบรมพุทธาราม01,02
First revision: Jan.10, 2020
Last change: Jun.06, 2020

สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

     วัดพระบรมพุทธาราม วัดประจำราชวงศ์บ้านพลูหลวง สร้างโดยพระเพทราชา หนึ่งในสองสิ่งก่อสร้างของไทยที่มุงหลังคาด้วยกระเบื้องเคลือบ ตื่นตากับอุโบสถไร้เสา เจดีย์เหลี่ยมที่ย่อมุมจนดูเผิน ๆ เหมือนเป็นทรงกลม และพระปรางค์องค์เล็กย่อมุมถี่สวยงามแปลกตา
     เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเพทราชายังเป็นเจ้ากรมพระคชบาล ท่านมีบ้านอยู่ในตำบลป่าตอง ภายในเขตกำแพงเมือง ระหว่างประตูชัยกับคลองฉะไกรน้อย ครั้นขึ้นครองราชย์ ทรงโปรดให้สร้างวัดขึ้นที่นิวาศสถานเดิมของท่าน ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2239 (ปีขาล อัฐศก) และพระราชทานนามว่า ‘วัดพระบรมพุทธาราม’ เป็นวัดของสงฆ์ฝ่ายคามวาสี เจ้าอาวาสองค์แรก คือ พระญาณสมโพธิราชา และเนื่องจากสมเด็จพระเพทราชาเป็นกษัตริย์องค์ต้น ๆ ของราชวงศ์บ้านพลูหลวง วัดนี้จึงนับเป็นวัดประจำราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั่นเอง
     ในพระราชพงศาวดารบันทึกเอาไว้ว่า สมเด็จพระเพทราชาโปรดให้หมื่นจันทรา ช่างทำเครื่องเคลือบที่ฝีมือดีมากในขณะนั้น ทำกระเบื้องเคลือบมุงหลังคาโบสถ์และวิหาร เป็นที่แปลกตา จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของวัด ชาวบ้านจึงเรียกขานกันว่า ‘วัดกระเบื้องเคลือบ’
    ทั้งนี้กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่าอาคารในสมัยนั้นโดยมากมุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา มีอาคารเพียง 2 แห่งในประเทศไทยที่มุงด้วยกระเบื้องเคลือบ ได้แก่ พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญปราสาท เมืองลพบุรี และที่วัดบรมพุทธารามแห่งนี้
     ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ทำการบูรณะวัดขึ้นมาอีกครั้ง อีกทั้งยังโปรดให้ทำบานประตูประดับมุกติดพระอุโบสถนปี พ.ศ. 2294 อีกด้วย ในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 3 เกิดไฟไหม้ที่วัดบรมพุทธาราม พระธรรมราชา (คุ้ม) จึงมีการลำเลียงประตูที่ยังเหลืออยู่ออกมาไว้ที่วัดศาลาปูน พระนครศรีอยุธยาเพื่อทำการบูรณะ จากนั้นทำไปไว้ในสถานที่ต่าง ๆ 3 แห่งด้วยกัน คือ
     1) หอมณเฑียรธรรม ประตูหน้า ลายกนกเปลว ออกช่อเป็นสัตว์ป่าหิมพานต์ ท้าวเวชสุวรรณ์ พระพตหมทรงหงส์ พระอินทร์ทรงช้างสามเศียร และนารายณ์ทรงสุบรรณ เป็นประตูบานที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงสร้างขึ้นคู่กับประตูมุกมณฑปพระพุทธบาทสระบุรี เดิมประตูบานนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 พ.ศ. 2475 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดฯ ให้นำมาเก็บไว้ที่หอมณเฑียรธรรม ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทว่าปัจจุบันได้ถอดเก็บในพิพิทธภัณฑ์แล้ว
     2) วัดเบญจมบพิตร เป็นประตูหน้าบานที่อยู่คู่กับบานแรก ไม่ปรากฎว่าใครเป็นผู้นำมาไว้ที่นี่
     3) พิพิทธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร ก่อนหน้านี้มีผู้ลักลอบขโมยบานประตูฝังมุกของวัดบรมพุทธารามไปทำเป็นตู้ใส่หนังสือ ลวดลายของประตูบานนี้เป็นลายกนกหางกินนร มีสัตว์หิมพานต์ออกจากช่อ เช่น คชสีห์ ราชสีห์ และหนุมาน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงได้ตู้หลังนี้มา ตัวตู้ทำจากบานประตูหนึ่งคู่ ตัดเป็นฝา 3 ด้าน บานประตู 2 บาน พระองค์ท่านประทานตู้หลังนี้ให้กับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร
     
มีผู้สนใจได้ศึกษาไว้ (ใน Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา," วันที่เข้าถึง 25 มกราคม 2563 โดยผู้ใช้นามว่า "Indrara Dayumana") ทำการเปรียบเทียบบานประตูมุกไฟแห่งวัดบรมพุทธาราม ซึ่งเป็นงานช่างฝีมือสุดประณีต แต่ครั้งรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร ได้ทดลองแต่งภาพทางคอมพิวเตอร์กับคืนสู่พระอุโบสถอีกครั้ง บานประตูทั้งคู่เข้ากันกับกรอบประตูได้สนิทดังภาพข้างต้น, ใคร่ขอขอบคุณ ผู้ใช้นามว่า "Indrara Dayumana" แทนคนไทยทั้งปวงที่สนใจใคร่ศึกษามา ณ ที่นี่

     เมื่อปี พ.ศ. 2484 กรมศิลปากรได้ประกาศให้วัดบรมพุทธาวาสเป็นโบราณสถาน หลังจากที่เข้าขุดแต่ง พบเศษกระเบื้องเคลือบสีเหลืองแกมเขียว ลวดลายครุฑ เทพพนม และหน้าสิงห์ แสดงว่าหลังคาวัดมุงด้วยกระเบื้องเคลือบจริงตามพงศาวดาร

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด
     พระอุโบสถ พระอุโบสถของวัดบรมพุทธาราม ยังมีผนังทั้ง 4 ด้าน ช่อประตูและหน้าต่างประดับซุ้มลายปูนปั้น จุดเด่นของอุโบสถ คือ ใช้ผนัง 4 ด้านรองรับหลังคา ภายในพระอุโบสถจึงไม่มีเสาแม้แต่ต้นเดียว
     พระปรางค์ประธาน ปรางค์ประธานของวัดมีขนาดเล็ก ทรงชะลูด อยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม 12 ผนังองค์ปรางค์ข่อมุม 28 (ย่อมุมถี่) สวยงามแปลกตา ฐานประทักษิณแอ่นโค้งตามแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย
     เจดีย์ องค์เจดีย์เป็นศิลปะอยุธยาตอนปลายที่นิยมย่อมุมเล็ก ๆ โดยองค์เจดีย์เป็นเจดีย์ 8 เหลี่ยม ย่อมุมขาสิงห์ 8 ชุด จนดูเผิน ๆ เหมือนเป็นเจดีย์ผนังกลม องค์เจดีย์อยู่บนฐานประทักษิณย่อมุม 12 นับเป็นเจดีย์ที่งามแปลกตา
     สะพานโบราณ หน้าวัดมีสะพานโบราณ เรียกกันว่าสะพานบ้านดินสอ สำหรับข้ามคลองฉะไกรน้อย ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลัก แม้ทุกวันนี้บริเวณดังกล่าวจะกลายเป็นคลองปิด แต่ก็มีสะพานเป็นเครื่องยืนยันการเป็นเส้นทางสัญจรหลักหน้าวัดนั่นเอง



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. ปรับปรุงจาก. talontiew.com, วันที่เข้าถึง 25 มกราคม 2563.
02. ข้อมูลจากป้ายแสดงสถานที่ต่าง ๆ ในราชภัฎพระนครศรีอยุธยา ระบุว่า วัดบรมพุทธาราม มีชื่อเรียกอีกว่า "วัดกระเบื้องเคลือบ"




PHOTO GALLERY
ภาพที่  1-2: ภาพพระอุโบสวัดพระบรมพุทธราม เมื่อคราวเตรียมการขุดค้นทางโบราณคดีโดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2499 (เครดิต: ข้อมูลจากหนังสือสมุดภาพเก่า พระนครศรีอยุธยา: ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ), สืบต่อจาก Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา," วันที่เข้าถึง 1 มีนาคม 2563.

 

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com