MENU
TH EN
Title Thumbnail: ภาพวัดกษัตราธิราชวรวิหาร ไม่ทราบปีที่ถ่าย, ที่มา: Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา," เครดิตเจ้าของภาพ, วันที่เข้าถึง 15 มีนาคม 2563., Hero Image: พระประธานวัดกษัตราธิราช เมื่อปี 2555 ที่มา: Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า," วันที่เข้าถึง 10 มกราคม 2563
136. วัดกษัตราธิราชวรวิหาร01.
First revision: Jan.10, 2020
Last change: Sep.11, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา
 
     วัดกษัตราธิราช ปรากฎนามในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2431 เดิมชื่อ "วัดกษัตรา" หรือ "วัดกระษัตราราม" วัดนี้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เลขที่ 15 หมู่ 7 ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา.

 

วัดกษัตราธิราชวรวิหาร, ถ่ายไว้เมื่อ 31 พฤษภาคม 2563.
 

พระพุทธบาท ในวิหารด้านทิศเหนือ หรือด้านหน้าซ้ายของวิหารพระธาน, ถ่ายไว้เมื่อ 31 พฤษภาคม 2563

      วัดกษัตราธิราช ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวออกชื่อวัดกษัตราธิราชเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2303 ในแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ความว่า: "ครั้น ณ เดือนห้า แรม 14 ค่ำ (ปีมะโรง โทศก จ.ศ.1122 พ.ศ.2303) พม่าเอาปืนใหญ่มาตั้ง ณ วัดราชพลี วัดกษัตรา ยิงเข้าในกรุงพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงช้างต้นพลายแสนพลพ่ายไปทอดพระเนตรกำชับหน้าที่ ณ วัดสวนหลวงสพสวรรค์ และป้อมมหาชัย ครั้นเพลาเย็นพม่าเลิกทัพข้ามฟากไปข้างวัดภูเขาทอง..." ทำให้บ้านเรือนเสียหายและราษฎรล้มตายมาก และวัดก็ร้างในเวลาต่อมา สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ระหว่าง พ.ศ.2328-2349 สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ (ทองอิน) ในรัชกาลที่ 1 ได้ศรัทธาปฏิสังขรณ์ และสร้างขึ้นใหม่เกือบทั้งพระอาราม และโปรดนามพระอารามใหม่ว่า "วัดกษัตราธิราช"

     ต่อมาใน พ.ศ.2361 ในรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ (เกศ) ก็ได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่อีกครั้งหนึ่งเข้าใจว่า น่าจะได้รับการปฏิสังขรณ์อีกในสมับรัชกาลที่ 5 เพราะลวดลายที่ประดับบนหน้าบันของศาลาตรีมุขเป็นลายพระเกี้ยว อันเป็นตราพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ 5.

     เนื่องจากอาคารโบสถ์วิหารต่าง ๆ ภายในวัดส่วนใหญ่ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่หมด และในปี พ.ศ.2534 ก็ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ใหม่อีก ดังนั้นรูปแบบอาคารภายนอก จึงเป้นรูปแบบศิลปสถาปัตยกรรมแบบประเพณีสมัยใหม่ แต่ยังปรากฎร่องรอยที่แสดงว่าเป้นวัดมาแต่โบราณ ได้แก่ พระอุโบสถ พระปรางค์ประธาน พระเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง และพระปรางค์เล็กด้านหน้าพระอุโบสถ หอระฆัง มีรูปแบบคล้ายหอระฆังที่สร้างในรัชกาลที่ 4 ด้วยอดมงกุฎ ศาลาตรีมุข และกุฏิตึกแบบฝรั่งสร้างในสมับรัชกาลที่ 5 ตามพระราชนิยม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า วัดกษัตราธิราชนี้ได้รับการดูแลทำนุบำรุง ปรับปรุง และปฏิสังขรณ์ สืบต่อมาเรื่อย ๆ จวบจนปัจจุบัน.

 

พระพุทธรูปสำคัญภายในวิหารด้านทิศใต้ หรือขวาหน้าของวิหารประธาน, ถ่ายไว้เมื่อ 31 พฤษภาคม 2563

พระอุโบสถ
     พระอุโบสถก่อด้วยอิฐถือปูน ยกพื้นสูงมีประตูทางเข้าด้านหน้า 2 ประตู อาคารพระอุโบสถมีขนาดกว้าง 22 เมตร ยาว 46 เมตร หลังคาซ้อม 2 ชั้น หน้าบันประดับหลายเครือเถา ลงรักปิดทองประดับกระจก ตัวพระอุโบสถก่ออิฐเป็นผนังหนา เพื่อรองรับหลังคา ด้านอกทำเป็นเสาในตัวตามแบบศิลปะอยุธยา ยอดเสาเป็นลายบัวแวง มีทวยไม้จำหลักรูปพญานาครองรับชายคาอยู่บนเสาทุกเสา ด้านหน้าประดับด้วยซุ้มบุษบกบัญชรตั้งอยู่บนแท่นใหญ่ ด้านหลังสร้างเป็นมุขขนาดเล็กเรียกมุขเด็จประดิษฐานพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ หน้าต่างเจาะเป็นช่องเล็ก ๆ ระหว่างช่วงหน้าต่างประดับด้วยลายดอกไม้เครือเถา ภายในพระอุโบสถบนฐานชุกชีประดิษฐานพระประธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับบนฐานบัวผ้าทิพย์02. พระนามว่า พระพุทธกษัตราธิราช เป็นพระพุทธรูปในศิลปะอยุธยา ที่เพดานและขื่อประดับลายจำหลักลงรักปิดทองเป็นช่องกระจกดอกจอกอย่างสวยงาม บนลานพระอุโบสถโดยรอบตั้งใบเสมาอยู่บนฐานบัว ลักษณะใบเสมาสลักจากหิน ตรงกลางสกัดเป็นเส้นโค้งคล้ายรูปหัวใจ มีแถบยาวตัดตรงกลางอันเป็นลักษณะของเสมาในสมัยอยุธยาตอนกลางถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย.


พระประธาน พระพุทธกษัตราธิราช และพระสำคัญต่าง ๆ ภายในวิหารประธาน, ถ่ายไว้เมื่อ 31 พฤษภาคม 2563

พระวิหาร
     ในวัดกษัตราธิราช มีพระวิหาร 4 หลัง คือ พระวิหารใหญ่ 2 หลัง คือ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ และพระวิหารน้อย 2 หลัง ซึ่งตั้งอยู่ตรงมุมกำแพงแก้วของพระอุโบสถด้านทิศตะวันออกและตะวันตก
     สำหรับพระวิหารใหญ่มีขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 13 เมตร 50 เซนติเมตร หลังคาเป็นชั้นลด 3 ชั้น พระวิหารหลังใต้ ด้านหน้าทำเป็นประตูซุ้มยอดมณฑป หน้าบันของวิหารด้านทิศเหนือ สลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ล้อมรอบด้วยลายกระหนก ภายในพระวิหารบนฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางถวายเนตร และปางประทานอภัย รวม 2 องค์ ที่ผนังโดยรอบมีร่องรอยเจาะเป็นช่องสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็ก แต่ปัจจุบันทำเป็นหน้าต่างด้านละ 3 บาน ส่วนหน้าบันของพระวิหารหลังใต้สลักภาพพราหมณ์อาลัมพายน์จับพญานาคภูริทัต ภายในพระวิหารด้านทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิเป็นพระประธาน และรูปพระศรีอาริยเมตไตรยจีวรดอก ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าของพระประธาน ที่ผนังเจาะเป็นช่องสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็ก ซึ่งลักษณะการเจาะผนังนี้นิยมมากในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. แต่สำหรับพระพุทธรูปและพระศรีอาริยเมตไตรยนั้น เป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น.

พระปรางค์
     พระปรางค์ประธาน มีขนาดสูง 22 เมตร 60 เซนติเมตร เชื่อกันว่าประดิษฐานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย พระปรางค์นี้ทรงฝักข้าวโพด ตรงเรือนธาตุมีจระนำซุ้มทั้ง 4 ด้าน ภายในจระนำมีรูปจำลองเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองประดับเป็นภาพนูนสูง ลายอุณาโลมประดับอยู่ในส่วนหน้าบันเหนือซุ้ม ทั้งลักษณะของพระปรางค์ และรูปเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง รวมทั้งอุณาโลมเป็นลักษณะศิลปะอยุธยา.

พระเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง
     พระเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง มี 4 องค์ อยู่ด้านหลังพระวิหาร และเป็นที่บรรจุอัฐิอดีตเจ้าอาวาส ลักษณะเจดีย์แสดงรูปศิลปะอยุธยาตอนปลาย.




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. จาก. www.qrcode.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง 25 กรกฎาคม 2563.
02. ผ้าทิพย์ เป็นงานศิลปะอีกแนวหนึ่ง ที่หาชมยาก ลวดลายนั้นมีความต่างกันไป ใต้หรือบัวของพระพุทธกษัตรา พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ วัดกษัตราธิราชวรวิหาร ลักษณะลายเป็นลายก้านขดออกตัวลายเป็นสัตว์หิมพานลายด้านล่างประดับลายกรวยเชิง

บัวผ้าทิพย์, หน้าฐานพระประธานวัดกษัตราธิราช, พระพุทธกษัตรา, ที่มา: โครงการศูนย์รูปธรรมศึกษาโปษยะจินดา และ หอนิทรรศนรัตกสิกร, ผ่าน Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา," วันที่เข้าถึง 11 กันยายน 2564.

PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01-04: วัดกษัตราธิราชวรวิหาร, ภาพจาก CUIR (Chulalongkorn University Intellectual Repository), ผ่าน Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า," วันที่เข้าถึง 25 กรกฎาคม 2563.
ภาพที่ 05: ภายในวิหารน้อยด้านทิศเหนือ หรือด้านหน้าซ้ายของพระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางถวายเนตร และปางประธานอภัย รวม 2 องค์, ถ่ายไว้เมื่อ 31 พฤษภาคม 2563.
ภาพที่ 06: หน้าบันของวิหารหลังใต้ หรือทางด้านหน้าขวาของพระอุโบสถ สลักภาพพราหมณ์อาลัมพายน์จับพญานาคภูริทัต, ถ่ายไว้เมื่อ 31 พฤษภาคม 2563. 

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com