Title Thumbnail คือ งานจำหลักไม้บานประตูพระอุโบสถ วัดศาลาปูน งามหาตัวจับยาก แกะเป็นรูปเทพในคติพราหมณ์ บนสุดเป็นอุ เมฆ จันทร์ ศูนย์ ตัวแทนพระอิศวรในบุษบก ไล่ลำดับเป็นพระพรหม พระนารายณ์ ท้าวเวสสุวรรณ, ที่มา: Facebook เพจ "มองหลายมุมเรื่องกรุงเก่า," วันที่เข้าถึง 8 มกราคม 2563, Hero Image: ภายในอุโบสถ, ที่มา: นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา, วันที่เข้าถึง 4 กุมภาพันธ์ 2563. (ขออนุญาตเจ้าของภาพครับ)
144. วัดศาลาปูนวรวิหาร01.
First revision: Jan.08, 2020
Last change: Apr.22, 2020.
สิบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
วัดศาลาปูน ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้สร้าง แต่มีหลักฐานปรากฎว่าตั้งแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 วัดศาลาปูนเป็นวัดร้าง จนกระทั้งในสมัยรัชกาลที่ 2 วัดศาลาปูนได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2359
สิ่งก่อสร้างภายในวัดประกอบด้วย พระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูน เครื่องบนเป็นหลังคาเครื่องไม้หน้าจั่วเป็นชั้นลดสามชั้น มีพระปรางค์ย่อมุมไม้ยี่สิบประดิษฐานขนาบข้างบริเวณด้านหน้าพระอุโบสถ ด้านหลังพระอุโบสถมีเจดีย์ทรงระฆัง บนฐานประทักษิณสูง.
พระอุโบสถ (ภาพที่ 12) ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน เครื่องบนเป็นหลังคาเครื่องไม้ทรงสูงหน้าจั่วเป็นชั้นลดสามชั้น มีทำมุขยื่นออกมาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีประตูทางเข้าสามประตู เสาของพระอุโบสถเป็นเสาแปดเหลี่ยมบัวหัวเสาเป็นบัวแวง
ประตูกลางเป็นประตูซุ้มยอดมณฑป (ภาพที่ 13) ซุ้มประตูกลาง เป็นซุ้มทรงปราสาทยอด ลักษณะคล้ายกับการซ้อนชั้นหลังคาของอาคาร ในแต่ละชั้นมีการประดับบันแถลง ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย บานประตูกลาง (ภาพที่ 14) ตัวบานประตูเป็นงานไม้แกะสลักลายกระหนกพรรณพฤกษา และเทพพนม ตัวลายละเอียดอ่อนช้อยงดงามมาก กรอบเสาด้านข้างทำเป็นย่อมุมไม้สิบสอง ประดับลวดลายปูนปั้นพรรณพฤกษา
ประตูด้านข้าง (ภาพที่ 15) ลักษณะเป็นซุ้มหน้าบันทรงบันแถลง กรอบซุ้มประตูประดับปูนปั้น ช่อฟ้า ใบระกา ภายในกรอบหน้าบันประดับปูนปั้นลวดลาย ดอกไม้ ใบไม้
เสาพาไล (ภาพที่ 17-18) รองรับมุขด้านหน้าของพระอุโบสถลักษณะเป็นเสาแปดเหลี่ยม บัวหัวเสาเป็นบัวแวงประดับคันทวยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก รองรับเครื่องไม้บนหลังคาพระอุโบสถช่วยในการรับน้ำหนัก
ลายดาวเพดานประดับภายในพระอุโบสถ (ภาพที่ 22) ลักษณะเป็นงานไม้จำหลักปิดทอง มีลายกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อมุมไม้สิบสองล้อมรอบดาวเพดานใหญ่ และมีลายดาวเพดานเล็กล้อมกรอบอีกชั้นหนึ่ง
ใบเสมา (ภาพที่ 23) ตัวใบเสมาทำจากหินชนวน สลักลายกรอบสามเหลี่ยมที่ด้านล่างและด้านบนของใบเสมา ภายในกรอบประดับลายพรรณพฤกษาเชื่อมต่อกันด้วยเส้นกลาง กลางใบเสมาประดับทับทรวงลวดลายพรรณพฤกษาเช่นเดียวกัน ตัวใบเสมาตั้งอยู่บนฐานบัว สันนิษฐานว่าเป็นงานในสมัยอยุธยาตอนปลาย
เจดีย์รายและปรางค์ราย (ภาพที่ 25) ประดิษฐานบริเวณด้านหน้าพระอุโบสถ องค์เจดีย์เป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองซ้อน ประกอบด้วยส่วนฐานเขียงสี่เหลี่ยมต่อด้วยชุดฐานสิงห์ในผังสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองซ้อนกันสามฐาน ถัดขึ้นไปคือองค์ระฆังในผังสี่เหลี่ยมย่อมุมเช่นกัน ตัวองค์ระฆังยืดสูงรองรับบัลลังก์ในผังย่อมุม ต่อด้วยส่วนยอดซึ่งคล้ายกับเป็นกลุ่มบัวคลุ่มเถาขนาดเล็กซ้อนชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป
ส่วนองค์ปรางค์นั้น (ภาพที่ 26) เป็นปรางค์ย่อมุมไม้ยี่สิบ ส่วนฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียงรองรับชุดฐานสิงห์ในผังย่อมุมไม้ยี่สิบซ้อนกันสามฐาน ต่อด้วยองค์เรือนธาตุในผังย่อมุมเช่นกัน ส่วนเรือนธาตุมีการประดับซุ้มจระนำทั้งสี่ด้าน เหนือขึ้นไปคือส่วนยอดซึ่งประกอบด้วย กลีบขนุน และบันแถลงซ้อนกันสองชั้น ลดหลั่นกันขึ้นไป ภายในกรอบหน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นลายก้านขดพรรณพฤกษา
สัตว์หิมพานต์ (ภาพที่ 27) ประดับเป็นคู่หน้าพระอุโบสถ วัดศาลาปูน
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า," ซึ่งนำมาจาก "CUIR โครงการศูนย์รูปธรรมศึกษาโปษยะจินดาและหอนิทรรศน์รัตนกสิกร," วันที่เข้าถึง 9 เมษายน 2563.
PHOTO GALLERY:
ภาพที่ 1-6: จาก Facebook เพจ "มองหลายมุมเรื่องกรุงเก่า," วันที่เข้าถึง 8 มกราคม 2563
ภาพที่ 7-9: จาก Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า," วันที่เข้าถึง 9 เมษายน 2563.
ภาพที่ 10-27: จาก Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า," ซึ่งนำมาจาก "CUIR โครงการศูนย์รูปธรรมศึกษาโปษยะจินดาและหอนิทรรศน์รัตนกสิกร" วันที่เข้าถึง 9 เมษายน 2563.
ภาพที่ 28: หอไตร หรือ หอพระไตรปิฎก วัดศาลาปูน ช่วง พ.ศ.2514-2519, จาก Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา," ซึ่งนำมาจาก "CUIR โครงการศูนย์รูปธรรมศึกษาโปษยะจินดาและหอนิทรรศน์รัตนกสิกร" วันที่เข้าถึง 22 เมษายน 2563.