MENU
TH EN
วัดมเหยงคณ์: Title Thumbnail และ Hero Image ถ่ายไว้เมื่อ 23 พฤษภาคม 2563.
210. วัดมเหยงคณ์01, 02
First revision: Jan.08, 2020
Last change: Jan.17, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

 
ประวัติวัดมเหยงคณ์
     วัดมเหยงคณ์ เดิมเป็นพระอารามหลวง และกลายเป็นวัดร้างไปภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ.2310 วัดนี้ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 5 ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา ที่มาของชื่อ "วัดมเหยงคณ์" มาจากศัพท์ภาษาบาลีว่า "มหิยังค์" (แผลงสระอิ เป็นสระเอ จะได้คำว่า มเหยงคณ์) ซึ่งแปลว่า ภูเขา หรือเนินดิน หรืออาจตั้งชื่อตามสถานที่ในลังกา คือ "มหิยังคเจดีย์" (ซึ่งนำมาเป็นแบบสร้างเจดีย์ช้างล้อมในวัดมเหยงคณ์)
      วัดมเหยงคณ์ มีฐานะเป็นพระอารามหลวงฝ่ายอรัญญาวาสี ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เพราะพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงโปรดให้สร้างและปฏิสังขรณ์ และอยู่ห่างไกลจากพระนคร พระสงฆ์ปฏิบัติทางวิปัสสนาธุระ.
      เมื่อคราวพระเจ้าบุเรงนองกรีฑาทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาในคราวเสียกรุงฯ ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2112 นั้น พระเจ้าบุเรงนองได้มาตั้งทัพหลวงบัญชาการอยู่ที่วัดมเหยงคณ์ เมื่อคราวเสียกรุงฯ นั้นตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระมหินทราธิราชและได้ถูกคุมพระองค์ออกไปถวายพระเจ้าบุเรงนอง ณ พลับพลา วัดมเหยงคณ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งทัพหลวง เมื่อพระเจ้าบุเรงนองกลับไปพม่า ได้พาสมเด็จพระมหินทราธิราชไปด้วย แต่ไปไม่ถึงพม่า ได้สวรรคตเสียกลางทาง ณ ดินแดนเมืองแครง.


     วัดมเหยงคณ์ เดิมเป็นพระอารามหลวงฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่เคยสำคัญยิ่งมาในอดีตสมัยอยุธยา โดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ทรงสร้างขึ้นและได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้งในหลายสมัย แต่ก็ได้กลายเป็นวัดร้าง เข้าใจว่านับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2310 รวมเวลาล่วงเลยมา 200 กว่าปี จากการที่วัดมเหยงคณ์เคยเป็นวัดร้าง สภาพโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ยังหลงเหลือนั้นได้ปรักหักพังไปมาก แต่ก็พอมีเค้าเป็นหลักฐานบ่งบอกถึงศิลปะการก่อสร้างอันประณีตงดงามมโหฬารและระดับความสำคัญของพระอารามแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี  

แนวคิดทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเกี่ยวกับการสร้างวัดมเหยงคณ์ ได้แตกออกเป็น 3 แนวทางคือ
- ตามพงศาวดารเหนือได้บันทึกไว้ว่า พระนางกัลยาณี มเหสีของพระเจ้าธรรมราชา (พ.ศ.1844-1853) กษัตริย์องค์ที่ 8 ของอโยธยาเป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์ ซึ่งแสดงว่าวัดมเหยงคณ์สร้างในสมัยอโยธยาก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาอย่างน้อย 40 ปี.
- ส่วนพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่าศักราช 786 มะโรงศก (พ.ศ.1967) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า (เจ้าสามพระยา) กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์ ขณะที่พงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวว่าศักราช 800 มะเมียศก (พ.ศ.1981) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า (เจ้าสามพระยา) เป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์

     มีการพิเคราะห์กันว่าวัดมเหยงคณ์นั้น ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งอโยธยา แต่ชำรุดทรุดโทรมเมื่อเวลาผ่านไปกว่า 100 ปี ครั้นถึงสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ทรงเห็นว่าเป็นวัดเก่าแก่ จึงบูรณะและสร้างเพิ่มเติมให้ใหญ่โตจากโครงสร้างเดิมที่มีอยู่แล้ว

     วัดมเหยงคณ์ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในสมัยกษัตริย์พระนามว่า พระภูมิมหาราช (พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) ในปีฉลูเอกศก (สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ.2252) วัดมเหยงคณ์ได้เจริญรุ่งเรืองมากเรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาแตกในครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2310.

     ภายในวัดมเหยงคณ์ มีพระอุโบสถตั้งอยู่บนฐานสูงสองชั้นลดหลั่นกัน ขนาดพระอุโบสถกว้าง 18 เมตร ยาว 36 เมตร นับว่าเป็นพระอุโบสถที่ใหญ่ที่สุดในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังพระอุโบสถทางทิศตะวันตกพ้นเขตกำแพงแก้ว จะพบพระเจดีย์ฐานช้างล้อม ซึ่งเป็นเจดีย์องค์ประธานของวัดมเหยงคณ์ ตั้งอยู่บนฐานทักษิณสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างยาวด้านละ 32 เมตร มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ทิศ ที่ฐานทักษิณมีรูปช้างปูนปั้นยืนประดับอยู่ตามซุ้มรอบฐานรวม 80 เชือก องค์เจดีย์ประธานยอดเจดีย์หัก ตั้งแต่ใต้บัลลังก์ลงมา ฐานชั้นล่างของพระเจดีย์มีซุ้มพระพุทธรูปจตุรทิศยื่นออกมาเห็นชัดเจน.




ที่มา คำศัพท์และคำอธิบาย
01. ที่มา: www.weloveayutthaya.com, วันที่สืบค้น 03 มกราคม 2559.
02. ปรับปรุงจาก. watmahaeyong.org, วันที่เข้าถึง 24 มกราคม 2563.


PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01-16: ถ่ายไว้เมื่อ 23 พฤษภาคม 2563.
ภาพที่ 01: ทางเข้าในบริเวณวัดเดิม มีป้าย มีการสแกน ข้อกำหนดต่าง ๆ ในยุค COVID-19
ภาพที่ 02: ฉนวนทางเข้าอุโบสถ ซึ่ง "ฉนวน" หมายถึง ทางเดินที่มีกำแพงตั้งอยู่ทั้งสองข้างทางเดิน เชื่อมระหว่างซุ้มประตูทางเข้าและพระอุโบสถ ลักษณะกำแพงเป็นกำแพงที่มีบัวประดับอยู่ด้านบนคล้ายกำแพงแก้ว เป็นทางเดินสำหรับพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูงเสด็จเข้าออก. ที่มา: ป้ายระบุอธิบายไว้ที่ข้าง ๆ ฉนวน.



 

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com