MENU
TH EN
Title Thumbnail จาก: Chinsangtrip.com, และ Hero Image: จาก: Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า,",วันที่เข้าถึง 10 มกราคม 2563.
233. วัดใหญ่ชัยมงคล
First revision: Jan.08, 2020
Last change: Sep.14, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

     วัดใหญ่ชัยมงคล เดิมชื่อ "วัดป่าแก้ว" หรือ "วัดเจ้าไท" (จากการได้ฟังคำบรรยายของ อาจารย์ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร "ล้านนามหาปกรณัม" ช่วงระหว่างปลายเดือนธันวาคม 2563 - กลางปี 2564 ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ท่านกล่าวว่า คำว่า "เจ้าไท" หมายถึงพระผู้ใหญ่ที่เป็นตัวแทนฝ่ายสงฆ์ ขณะที่มีการพิจารณาคดีความต่าง ๆ ในสมัยโบราณทั้งในกรุงศรีอยุธยาและทางสุโขทัย) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะพระนคร ปัจจุบันเป็นพื้นที่ตำบลคลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา จุดเด่นที่เป็น Signature ของวัดนี้คือ เจดีย์องค์ใหญ่ที่มีความเชื่อกันว่า ได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช (พระ-นะ-เรศ-วอ-ระ-ราชา-ธิ-ราช) ภายในเจดีย์ได้มีการค้นพบชัยมงคลคาถา บรรจุอยู่ภายในอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชัยมงคล พระประธานที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัด
     นอกจากนี้แล้ว ภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐานศาลสมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช ที่ก่อสร้างขึ้นใน พ.ศ.2366 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2544 อีกด้วย.

     
ประเพณีการห่มผ้าพระเจดีย์ ได้เริ่มมีประมาณปี ๒๕๒๔ เพื่อเป็นการระลึกถึงมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรวรราชาธิราช ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนให้เกิดความศรัทธาและได้เข้าวัดเพื่อทำบุญทำทานกัน
     ประเพณีห่มผ้าพระเจดีย์นี้จะมีพิธีบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรวรราชาธิราชตอนประมาณกลางเดือน ๔ ของทุกปี แล้วจึงมีประเพณีห่มผ้าในกลางเดือน ๖ ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา พิธีจะเริ่มประมาณ ๘ โมงเช้า จะมีพิธีสงฆ์ ทำบุญใส่บาตร หลังจากนั้นก็นำผ้าห่มพระเจดีย์แห่ไปรอบเกาะเมือง แล้วจึงนำกลับมายังวัดแห่รอบพระเจดีย์อีกจนครบ ๓ รอบ แล้วกล่าวคำถวายผ้าห่ม อัญเชิญผ้าขึ้นห่มองค์พระเจดีย์ ระหว่างนี้พระสงฆ์สวดชยัญโตจนกว่าจะห่มผ้าเสร็จ ก็เป็นอันเสร็จพิธีการห่มผ้าพระเจดีย์.01
          
ที่มา: 01 และ 02

       เดิมทางทิศตะวันออกของพระเจดีย์ประธาน ข้างบันไดทางขึ้นองค์พระเจดีย์ มีวิหารน้อยไว้ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นทั้งสองด้าน ในอดีตเป็นที่ไว้พระพุทธรูปปางยืน คาดว่ามีพระพุทธลักษณะน่าจะใกล้เคียงกับ "พระอัฏฐารส" ของวัดมหาธาตุที่สุโขทัย.03.
ที่มา 03.
 

พระนอน ในวัดใหญ่ชัยมงคล, ถ่ายไว้เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2564.

วิหารพระนอน04
       พระรัศมีหรือเรียกว่า ศิรประภา มีความหมายถึง ปัญญาอันมีเหนือมนุษย์ เป็นสัญลักษณ์ที่นายช่างศิลปะประดิษฐ์ขึ้นให้แตกต่างกว่าคนสามัญ.

       พระพุทธรูปของอินเดียในสมัยแรก ๆ เช่น สมัยคุปต ะก็มีปุ่มยื่นขึ้นข้างบนที่เรียกว่าพระเมาลี ที่จริงพระพุทธเจ้าเมื่อทรงบรรพชาได้ใช้พระแสงขรรค์ตัดพระเมาลีครั้งเดียว เส้นพระเกศาก็จะคุดเป็นรูปก้นหอยและไม่ยาวอีกเลย จึงไม่มีพระเมาลี พระเศียรของพระองค์ก็เช่นเดียวกับพระภิกษุทั่วไป มีข้ออ้างจากพระไตรปิฎก ซึ่งมีผู้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่แวดล้อมด้วยบรรดาสาวก แต่ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าองค์ใดเป็นพระพุทธเจ้า ทั้งนี้ย่อมแสดงว่าพระองค์มิได้มีอะไรพิเศษผิดไปจากพระภิกษุองค์อื่น ๆ การที่นายช่างทำเป็นปุ่มเมาลีนูนสูงขึ้นเหนือพระเศียรก็ประสงค์จะแสดงว่า พระองค์มีพระปัญญาอันล้ำเลิศเหนือบุคคลอื่น.

       มาภายหลังนายช่างปฏิมาของไทยสมัยอู่ทอง สมัยอโยธยา และลพบุรี ได้ทำรูปศิรประภาเป็นต่อมแหลมใหญ่เหนือพระเมาลีขึ้นไป เดิมก็เป็นรูปดอกบัวตูม แต่ภายหลังปุ่มนี้กว้างแหลมยาวขึ้นแต่ก็แข็ง แล้วประดิษฐ์เป็นเส้นเหมือนเปลวแข็ง ยิ่งมาสมัยสุโขทัยก็ยิ่งทำเป็นเปลวเพลิงแหลมสูงที่ศิรประภา แสดงถึงพระปัญญาอันเหนือคนอื่น อันปัญญานี้มีสัญลักษณ์ของธาตุไฟ จึงมักเปรียบเทียบว่ามีปัญญาโชติช่วงสว่างไสวเหมือนโคมไฟที่ขจัดความมืด หรือประทีปที่ให้ความสว่างแก่มนุษย์ เปลวไฟจึงหมายถึงปัญญา.

       ศิรประภายอดแหลมเป็นเปลวเพลิงแหลมดังเช่นสมัยสุโขทัย และอู่ทองตอนปลายนั้น น่าจะเป็นลักษณะพิเศษของศิลปะไทย แต่ละชาติก็มีศิลปะประจำชาติ และมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนใคร ศิลปะไทยมักมียอดแหลม เช่น ยอดสถูปเจดีย์ ยอดปราสาท ปลายกระหนกเปลวที่แหลม และยอดช่อฟ้าที่เรียวระหงแหลมกลืนไปกับอากาศ ลักษณะศิรประภาของพระพุทธรูปไทยก็เป็นแบบแผนพิเศษของศิลปะไทย ที่มีที่มาของรสนิยมประจำชาติไม่เหมือนใคร คือชอบลักษณะเรียวแหลม.




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01.  จาก. Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า," วันที่เข้าถึง 12 มกราคม 2563
02.  จาก. Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา," วันที่เข้าถึง 17 กุมภาพันธ์ 2563
03.  จาก. Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า," วันที่เข้าถึง 2 พฤษภาคม 2564.
04.  บทความจาก น. ณ ปากน้ำ โดยผ่าน Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า," วันที่เข้าถึง 14 กันยายน 2564.





PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01: เจดีย์ประธานวัดใหญ่ชัยมงคล ถ่ายไว้เมื่อ พ.ศ.2508, Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า," วันที่เข้าถึง 12 มกราคม 2563
ภาพที่ 02: เจดีย์ประธานวัดใหญ่ชัยมงคล ถ่ายไว้เมื่อ พ.ศ.2441, Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า," วันที่เข้าถึง 12 มกราคม 2563
ภาพที่ 03: วัดใหญ่ชัยมงคล หรือวัดป่าแก้ว ไม่ทราบปีที่ถ่าย cr. Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา," วันที่เข้าถึง 17 กุมภาพันธ์ 2563
ภาพที่ 04: วัดใหญ่ชัยมงคล หรือวัดป่าแก้ว cr. Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา," วันที่เข้าถึง 17 กุมภาพันธ์ 2563
ภาพที่ 05: วัดใหญ่ชัยมงคล หรือวัดป่าแก้ว เมื่อปี พ.ศ.2441 (ค.ศ.1898), cr.77PPP และ Facebook เพจ "กรุงเก่าของชาวสยาม: The Kingdom and People of Siam," วันที่เข้าถึง 12 กรกฎาคม 2563.
ภาพที่ 06: วัดใหญ่ชัยมงคล จาก.Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า," วันที่เข้าถึง 14 สิงหาคม 2563.

PHOTO
GALLERY
humanexcellence.thailand@gmail.com