MENU
TH EN
Thumbnail image เป็นรูปเดิมก่อนการบูรณะ และป้ายเดิมแสดงชื่อว่า วัดวรเชษฐาราม, ที่มา: จาก Facebook จากผู้ใช้ชื่อว่า Jack Scheider, วันที่เข้าถึง 13 พฤศจิกายน 2562. Hero image จาก Facebook กลุ่มประวัติศาสตร์หลังเที่ยงคืน, วันที่เข้าถึง 13 พฤศจิกายน 2562.
029. วัดวรเชษฐาราม (ในเกาะ)01, 02.
First revision: Nov.13, 2019
Last change: Jun.25, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       วัดวรเชษฐาราม หรือ วัดวรเชษฐ์ ตั้งอยู่ในเกาะเมือง อยู่ระหว่างวัดโลกยสุธา (บ้างก็เรียกวัดโลกยสุธาราม) และ วัดวรโพธิ์  ตรงตำบลประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา มีฐานะเป็นพระอารามหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ เมื่อปี พ.ศ.2136 เพื่อถวายพระราชกุศลต่อพระเชษฐา โดยบรรจุพระบรมอัฐิไว้ภายในวัดเชษฐารามแลเป็นที่ถวายเพลิงพระบรมศพ  แต่เกิดความขัดแย้งทางเอกสาร เพราะ วัดวรเชษฐาราม มี 2 แห่ง มีในเกาะเมือง และ นอกเกาะเมือง ทำให้มิอาจเชื่อได้ว่าเป็นที่ใดกันแน่ ตามหลักฐานก็ว่าเป็นวัดวรเชษฐารามแห่งนี้ บ้างก็ว่าเป็นวัดวรเชษฐาเกาะนอก.

       ตาม
พงศาวดารกล่าวว่า "สร้างพระวรเชษฐารามรามมหาวิหารอันรจนาพระพุทธิปฏิมามหาเจดีย์ บรรจุพระสารีริกธาตุสำเร็จ กุฎีสถานปราการสมด้วยอรัญวาสี แล้วก็สร้างพระไตรปิฎกธรรมจบบริบูรณ์ทั้งพระบาลีอรรถกถาฏีกาคันถีวีวรณ์ทั้งปวง จึงแต่งหอพระสัทธรรมเสร็จ ก็นิมนต์พระสงฆ์อรัญวาสีผู้ทรงศีลาทิคุณอันวิเศษมาอยู่ครองพระวรเชษฐารามนั้นแล้ว ก็แต่งขุนหมื่นข้าหลวงไว้สำหรับอารามนั้น แล้วจำหน่ายพระราชทรัพย์ไว้ให้แต่งจตุปัจจัยไทยทาน ถวายแก่พระสงฆ์เป็นนิจกาล แล้วให้แต่งฉทานศาลา แล้วประสาทพระราชทรัพย์ให้แต่งโภชนาหารจังหันถวายแก่ภิกษุสงฆ์ เป็นนิตยภัตรรับมิได้ขาด".

       เมื่อสมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช พระเชษฐาของสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้ยกทัพจะไปตีเมืองตองอู เมื่อเสด็จถึงตำบลทุ่งแก้ว เมืองหางหลวง ปัจจุบันอยู่ในเขตแดนพม่า ใกล้เขตแดนไทยทางทิศตะวันตกของอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ก็ทรงพระประชวรหนัก และเสด็จสวรรคต ณ ที่นั้น สมเด็จพระเอกาทศรถจึงโปรด ให้เชิญพระศพมายังกรุงศรีอยุธยา และให้แต่งพระเมรุมาศสูงเส้น 17 วา แล้วเสด็จไปถวายพระเพลิงพระศพ ให้นิมนต์พระสงฆ์มาร่วมในพิธี 10,000 องค์ ซึ่งเข้าใจว่าถวายพระเพลิงพระศพที่วัดวรเชษฐารามนี้




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. Facebook กลุ่มประวัติศาสตร์หลังเที่ยงคืน #แอดมินซินโดรม สาธุ99, วันที่เข้าถึง 13 พฤศจิกายน 2562.
02. จาก. เว็บไซต์อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา, qrcode.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง 25 มิถุนายน 2564.
info@huexonline.com