MENU
TH EN
ภาพ Title Thumbnail: สังเค็ดไม้ หรือ ธรรมาสน์ยาวไม้ และ Hero Image: ศาลาการเปรียญ ถ่ายเมื่อ 30 มิถุนายน 2561 คราวไป Survey กรุงเก่า
146. วัดเชิงท่า01.
First revision: Jan.03, 2020
Last change: May 26, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

     วัดเชิงท่า บ้างก็เรียก "วัดตีนท่า" หรือ วัดติณ หรือ วัดคลัง หรือ วัดโกษาวาส (บ้างก็เรียก โกษาวาสน์)  

ที่ตั้ง:  ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเกาะเมือง ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำลพบุรี ใกล้กับ คูไม้ร้อง ซึ่งเป็นอู่เก็บเรือพระที่นั่ง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ฝั่งตรงข้ามวัด คือ ป้อมท้ายสนม และปากคลองท่อ ซึ่งเป็นท่าข้ามเรือของฝั่งเกาะเมือง มาขึ้นฝั่งที่ท่าน้ำหน้าวัดเชิงท่า

สร้างเมื่อ: ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง แต่ไม่ปรากฎหลักฐานว่าผู้ใดเป็นผู้สร้าง

 

แบบสันนิษฐานวิหารวัดเชิงท่า, ที่มา: pantip.com, วันที่เข้าถึง 01 กุมภาพันธ์ 2563.
 

แบบสันนิษฐานวิหารวัดเชิงท่า, ที่มา: pantip.com, วันที่เข้าถึง 01 กุมภาพันธ์ 2563.
 

ภาพจำลองกราฟิกวิหารวัดเชิงท่า, โดย Mr.You Design, ที่มา: pantip.com, วันที่เข้าถึง 01 กุมภาพันธ์ 2563.

 

ภาพจำลองกราฟิกวิหารวัดเชิงท่า, โดย Mr.You Design, ที่มา: pantip.com, วันที่เข้าถึง 01 กุมภาพันธ์ 2563.
 

ภาพจำลองกราฟิกวิหารวัดเชิงท่า, โดย Mr.You Design, ที่มา: pantip.com, วันที่เข้าถึง 01 กุมภาพันธ์ 2563.
 
       วัดเชิงท่า เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเกาะเมืองริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำลพบุรี ใกล้กับคูไม้ร้องซึ่งเป็นอู่เก็บเรือพระที่นั่ง ที่ตั้งวัดนี้อยู่ฝั่งตรงข้ามกับป้อมท้ายสนมและปากคลองท่อ ซึ่งเป็นท่าข้ามเรือของฝั่งเกาะเมืองมาขึ้นฝั่งที่วัดเชิงท่า ด้วยเหตุนี้จึงเรียกชื่อว่า วัดตีนท่าอีกด้วย.

       ประวัติของวัดเชิงท่า ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้สร้าง คงปรากฏเพียงตำนานเล่าสืบ ๆ กันมาว่า เศรษฐีผู้หนึ่งสร้างเรือนหอให้แก่บุตรสาวซึ่งหนีตามชายคนรักไปแล้วไม่ย้อนกลับ เศรษฐีผู้บิดาคอยบุตรสาวอยู่นานไม่เห็นกลับมาจึงได้ถวายเรือนหอนั้นให้แก่วัดที่ตนสร้างขึ้น จึงได้ชื่อว่า วัดคอยท่า เรื่องที่เล่าสืบกันมานี้ หลวงจักรปาณี ได้นำมาประพันธ์ไว้ใน นิราศทวารวดี มีความตอนหนึ่งว่า:
                    พิหารมีสี่มุขทั้งสี่ด้าน
          ดูโอฬารลดหลั่นน่าหรรษา
          เหมือนปราสาทราชวังอลังการ์
          มุขเด็จหน้าดั่งหนึ่งท้องพระโรงทรง
          ที่ท่ามกลางมีพระปรางค์เป็นองค์ปลอด
          ดูใหญ่ยอดสูงเฉิดระเหิดระหง
          ที่เชิงปรางค์ข้างต่ำมีถ้ำลง
          เขาว่าตรงออกช่องคลองสระปทุม
          ผู้ใหญ่เขาเล่ามาก็น่าเชื่อ
          ว่าครั้งเมื่อเมืองสนุกยังสุขสม
          มีเศรษฐีมีมั่งตั้งรวบรุม
          เงินตวงตุ่มเหลือล้นพ้นประมาณ
          มีบุตรสาวเล่าก็ไม่ให้ใครเห็น
          จึงสร้างเป็นปรางค์มาศราชฐาน
          อันนี้ไว้ให้ธิดาอยู่มานาน
          แต่หญิงพาลตามชายสูญหายไป
          เศรษฐีแสนแค้นคะนึงถึงลูกสาว
          ไม่ได้ข่าวคอยท่าน้ำตาไหล
          จึงอุทิศปรางค์มาศปราสาทชัย
          อันนี้ให้เป็นวิหารทำทานทุน
          ให้เรียกวัดคอยท่ามาชัดชัด
          กลับเป็นวัดเชิงท่านึกน่าหุน 
02

          ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่างพุทธศักราช 2199-2231 มีหลักฐานว่าเมื่อครั้งเจ้าพระยาโกษาปานเป็นราชทูต กลับจากประเทศฝรั่งเศสแล้วได้ปฏิสังขรณ์วัดนี้และเปลี่ยนชื่อเป็น วัดโกษาวาส.

          ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเพทราชาลงมาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ.2231-2301) บริเวณวัดนี้คงจะเป็นที่รวบรวมหญ้า เพื่อนำข้ามฝั่งไปให้ช้างม้าในวัง จึงนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดติณ.

          "ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้มีการปฏิสังขรณ์วัดนี้อีกครั้งหนึ่ง และจากหนังสือเรื่องของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2487 หน้า 1 บันทึกไว้ว่า วัดโกษาวาสแห่งนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดคลัง กับมีเรื่องเล่าว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์มีนามว่า สิน ขณะพระชนมายุได้ 9 พรรษา เจ้าพระยาจักรีได้นำไปฝากให้เป็นศิษย์ของพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส ให้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย ขอม และคัมภีร์พระไตรปิฎก เมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ในวันหนึ่ง นายสินคิดตั้งตนเป็นเจ้ามือบ่อนถั่ว ชักชวนบรรดาศิษย์วัดเล่นการพนัน พระอาจารย์ทองดีทราบเรื่องจึงลงโทษทุกคน เฉพาะนายสินเป็นเจ้ามือถูกลงโทษหนักมากกว่าคนอื่น ให้มัดมือคร่อมกับบันไดท่าน้ำประจานให้เข็ดหลาบ นายสินถูกมัดแช่น้ำตั้งแต่เวลาพลบค่ำ พอดีเป็นช่วงเวลาน้ำขึ้น พระอาจารย์ทองดีไปสวดพระพุทธมนต์ลืมนายสิน จนประมาณยามเศษ พระอาจารย์นึกขึ้นได้จึงให้พระภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นอันเตวาสิก ช่วยกันจุดไต้ค้นหาก็พบนายสินอยู่ริมตลิ่ง มือยังผูกมัดติดอยู่กับบันได แต่ตัวบันไดกลับหลุดถอนขึ้นมาได้อย่างอัศจรรย์ เมื่อพระภิกษุสงฆ์ช่วยกันแก้มัดนายสินแล้ว พระอาจารย์ทองดีจึงพาตัวนายสินไปยังอุโบสถให้นั่งลงท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์ แล้วพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายสวดพระพุทธมนต์ด้วยชัยมงคลคาถาเป็นการรับขวัญ.

          ต่อมาเมื่อนายสินเรียนจบการศึกษา เจ้าพระยาจักรีก็ได้นำไปถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กในราชสำนักสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จนอายุได้ 21 ปี ก็ได้อุปสมบทอยู่กับอาจารย์ทองดี ณ วัดโกษาวาส และบวชอยู่นานถึง 3 พรรษา ในระหว่างนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งมีพระนามเดิมว่า ทองด้วง เป็นพระสหายกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ขณะนั้นก็บวชอยู่ ณ วัดมหาทลาย (วัดไฟไหม้).
"03.

          วัดมหาทลาย ตั้งอยู่ใกล้กับวัดพระญาติการาม ด้านทิศใต้ในท้องที่ตำบลไผ่ลิง อำเภอพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเป็นวัดร้าง สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัดชำรุดทรุดโทรมปรักหักพังไปหมดสิ้นแล้ว คงเหลือแต่รากฐานเจดีย์เท่านั้น.

          ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดตีนท่า (วัดคอยท่า) หรือวัดติณ  รือวัดโกษาวาส (วัดคลัง) นี้ ใช้นามว่า วัดเชิงท่า ทั้งนี้อาศัยข้อสังเกตจากบทประพันธ์เรื่อง นิราศทวารวดี หน้า 21 ของหลวงจักรปาณี (ฤกษ์) ซึ่งเป็นกวีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 3-5) ความว่า
               “ครั้นรุ่งสางสว่างโพยมโทมนัส         ข้ามไปวัดเชิงท่าด้วยอาลัย
               เที่ยวดำเนินเดินยืนตามพื้นล่าง         เห็นที่ร้างเราเอ๋ยเคยอาศัย
               กระฎีคร่ำชำรุดเขารื้อไป                   ไม่มีใครอุปถัมภ์มานำพา


          ปัจจุบันวัดเชิงท่าอยู่ในตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา และยังเป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาตลอดมา สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ได้กำหนดให้วัดเชิงท่า เป็นแหล่งโบราณสถานของชาติ นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้เนื่องจากภายในบริเวณวัดมีงานศิลปกรรมไทยสมัยอยุธยาตอนปลายในรูปแบบสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรมหลายอย่าง สมควรที่จะใช้เป็นแบบอย่างในการศึกษาอารยธรรมโบราณ จึงได้กำหนดเป็นโบราณสถานที่สำคัญ ในปีพุทธศักราช 2540 กรมศิลปากรได้ดำเนินโครงการขุดแต่งเพื่อออกแบบบูรณะวัดเชิงท่า เนื่องจากโบราณสถานมีสภาพทรุดโทรม อาคารหลายหลังถูกขุดเจาะทำลายเพื่อหาโบราณวัตถุรวมทั้งการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา.

          วัดเชิงท่าแบ่งพื้นที่ได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนกลุ่มโบราณสถาน และส่วนสังฆาวาส

         
 ส่วนโบราณสถาน ประกอบด้วย  ปรางค์  วิหาร  เจดีย์  ศาลาการเปรียญ  อุโบสถ  หอระฆัง และแนวกำแพงแก้ว

          โบราณสถานที่สำคัญ

          1). ปรางค์ประธาน ลักษณะเป็นปรางค์สมัยอยุธยา มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 22 พิจารณาจากแผนผังของปรางค์ประธานวัดเชิงท่านี้ คล้ายกับแผนผังปรางค์ประธานวัดไชยวัฒนาราม ถึงแม้จะปรากฏร่องรอยการบูรณปฏิสังขรณ์และต่อเติมในสมัยหลังหลายครั้ง กล่าวคือ องค์ปรางค์ตั้งอยู่บนฐานไพที เป็นฐานสูงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 9.70 เมตร บนฐานไพทีประดับด้วยปรางค์มุขขนาดเล็ก จึงทำให้เห็นเป็นปรางค์ 5 ยอด และมีส่วนฐานที่ยื่นออกเป็นมุขจากองค์ปรางค์อีก 3 ด้าน คือ ด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศเหนือ ส่วนด้านทิศใต้มีวิหารเชื่อมต่อออกมาแทนตำแหน่งที่เป็นมุข.
          ปรางค์ประธานมียอดนพศูลทำด้วยสำริดรูปลักษณะเหมือนฝักเพกา ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดี ส่วนปลียอดประกอบด้วยกลีบขนุนมีขนาดเท่ากันเรียงซ้อนขึ้นไป 5 ชั้น ที่บริเวณชั้นเชิงบาตรทั้ง 4 ด้าน ประดับด้วยประติมากรรมปูนปั้นรูปครุฑและยักษ์ยืนถือตะบอง ซึ่งส่วนมากพังทลายเกือบหมด ยักษ์ปราศจากเศียร ส่วนครุฑเหลือเพียงลำตัว ส่วนที่เป็นเรือนธาตุมีซุ้ม ภายในซุ้มทั้ง 4 ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ปางประทานอภัย ทำด้วยปูนปั้นนูนสูง ศิลปะอยุธยา ที่หน้าบันเหนือซุ้มประดิษฐาน พระพุทธรูปปางมารวิชัย ทำด้วยปูนปั้นนูนสูงเช่นเดียวกัน ที่มุมฐานไพทีมีปรางค์มุขขนาดเล็กประดิษฐานอยู่ทั้ง 4 มุม พระพุทธรูปปูนปั้นรวมทั้งปรางค์มุมอยู่ในสภาพชำรุดแตกร้าว บางส่วนปรักหักพังไปมาก.

          2). มุขปรางค์ทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านทิศตะวันออก ด้านทิศตะวันตก และด้านทิศเหนือ มีประตูเข้ามุขปรางค์อยู่ทางด้านทิศเหนือเหมือนกันทั้ง 3 มุข ภายในมุขปรางค์มีเสาแปดเหลี่ยม ก่ออิฐถือปูนมุขละ 2 เสา ในมุขปรางค์ด้านทิศตะวันออกและตะวันตกมีพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนแสดงปางประทานอภัย ประดิษฐานอยู่ภายในจระนำซุ้ม ส่วนในมุขปรางค์ด้านทิศเหนือ มีพระพุทธรูปปูนปั้นศิลาทรายสีแดงปางลีลา ชำรุด พระเศียรหักหาย (ปัจจุบันหายไปหมดแล้ว) กับมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลาสภาพชำรุดมากเช่นเดียวกัน ลักษณะพระพุทธรูปในมุขปรางค์ทั้ง 3 ด้าน มีสภาพชำรุด เฉพาะองค์ที่อยู่ด้านทิศใต้เห็นรอยปูนซ่อมพอกเพิ่มของเดิมชัดเจน.

          3). วิหาร เป็นส่วนที่เชื่อมต่อจากมุขปรางค์ไปทางทิศใต้ มีขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 22 เมตร อยู่ในสภาพชำรุดเหลือแต่ผนังด้านยาว 2 ข้าง หน้าวิหารหันไปทางทิศใต้ ตรงสู่แม่น้ำลพบุรี ผนังวิหารด้านตะวันตก และตะวันออกเจาะช่องข้างละ 3 ช่อง โดยเจาะช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง สอบขึ้นด้านบน กรอบหน้าต่างทางด้านนอกปั้นปูนเป็นซุ้มหน้าต่างเป็นลวดลายแข้งสิงห์ทรงสูง ตรงกลางมีนมสิงห์ กรอบหน้าต่างทำคล้ายเสาหลอก หน้าบันของซุ้มหน้าต่างปั้นปูนเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษา แต่หลุดร่วงเกือบหมด ซุ้มหน้าต่างด้านทิศตะวันตกไม่เหลือลวดลายปูนปั้นแล้ว ยังคงเหลือเพียงเล็กน้อยที่ซุ้มหน้าต่างของผนังวิหารด้านทิศตะวันออก ลวดลายแข้งสิงห์ทรงสูงดังกล่าวเป็นลวดลายที่ปรากฏในศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ผนังด้านนอกของวิหารมีเสาหลอกซึ่งฉาบปูนและปั้นปูนเป็นบัวหัวเสา ลักษณะเช่นเดียวกับหัวเสาของซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปที่มุขปรางค์ ด้านหน้าวิหารมีระเบียงเล็ก ๆ มีบันไดขึ้น 3 ทาง ทางด้านหน้า และด้านข้าง 2 ด้าน แต่เป็นสิ่งที่ทำขึ้นใหม่ ส่วนหลังคาของเดิมพังทลาย ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่หล่อขึ้นใหม่ จำนวน 2 องค์.

          4). เจดีย์ราย บริเวณหน้าวิหารและอุโบสถมีเจดีย์หลายรูปแบบจำนวนมาก ทั้งเจดีย์เหลี่ยม เจดีย์กลม และองค์ระฆังเป็นกลีบมะเฟือง เป็นต้น กลุ่มเจดีย์ดังกล่าว ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุดปรักหักพัง ที่น่าสนใจและควรกล่าวถึงคือ เจดีย์ทรงเครื่องซึ่งเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นลักษณะเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ฐานเจดีย์ทำเป็นฐานสิงห์ซ้อนกัน 3 ชั้น  มีบัวกลุ่มอยู่เหนือฐานสิงห์รองรับองค์ระฆัง ทำเป็นริ้วแนวตั้งโดยรอบ หรือที่เรียกว่ากลีบมะเฟือง รูปแบบของเจดีย์นั้นจัดอยู่ในศิลปะสมัยอยุธยา ประมาณพุทธศตวรรษที่ 23 หรือรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ.

          5). ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารสร้างใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ประมาณรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีหลักฐานตามประวัติบันทึกไว้ว่า นางแดง (โยมแดง) มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสร้าง โดยมอบให้ ขุนกลั่นทิพย์ ชาวตำบลท่าวาสุกรี บ้านอยู่ใต้วัดใหม่ชัยวิชิตฝั่งเกาะเมือง เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ลักษณะเป็นอาคารทรงเดียวกับอุโบสถ มีความยาวไปตามลำแม่น้ำหันหน้าไปทางทิศตะวันออก กว้าง 11.30 เมตร ยาว 37.12 เมตร ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูง บริเวณผนังอาคารเจาะเป็นช่องหน้าต่าง 7 ช่อง ส่วนที่เป็นฐานก่อซุ้มโค้งเป็นช่องตรงกับหน้าต่าง ลักษณะเป็นใต้ถุนโปร่งให้ลมผ่านได้ รูปแบบสถาปัตยกรรมอย่างนี้คล้ายกับศาลาการเปรียญที่วัดกุฎีดาว พื้นและหลังคาเป็นเครื่องไม้ มุงกระเบื้องลด 3 ชั้น ส่วนที่เป็นหน้าบันแกะจำหลักด้วยลวดลายกระหนก ประกอบภาพเทพนมตรงกลาง นอกจากนั้นยังมีเครื่องลำยอง อันได้แก่ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และที่ใต้หน้าบันมีสาหร่ายรวงผึ้งจำหลักลายประดับกระจกสี (ปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุด) ภาพจำหลักไม้เหล่านี้เป็นฝีมือช่างเก่าที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ประมาณรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งแต่เดิมอยู่ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ และได้นำมาใช้กับศาลาที่วัดเชิงท่านี้.
          ภายในศาลาตกแต่งด้วยภาพเขียน เป็นผลงานจิตรกรรมอันงดงามทรงคุณค่ายิ่ง ส่วนบานประตูด้านนอกทั้งด้านหน้าและด้านหลังเป็นภาพเซี่ยวกางกับทวารบาล (ปัจจุบันลบเลือนหมดแล้ว) ส่วนบานประตูด้านในทั้งด้านหน้าด้านหลังเป็นภาพแบบจีน บานหน้าต่างด้านทิศใต้ (ติดแม่น้ำ) เขียนเป็นภาพแบบจีนมีลายม่านประกอบสัญลักษณ์ ฮก ลก ซิ่ว (ด้านนอกลบเลือนหมดแล้ว) ส่วนหน้าต่างด้านทิศเหนือ ซึ่งมีอาสนะสงฆ์ยกพื้นสูงนั้นมีลักษณะเป็นแผงไม้เรียงกันเป็นบานเกล็ด และเขียนภาพจิตรกรรมบนแผงไม้นั้นด้วย ที่ผนังอาคารมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ตอนบนเป็นภาพเทพชุมนุม ตอนล่างเขียนภาพเล่าเรื่องทศชาติชาดกและพุทธประวัติ ภาพกลุ่มนี้เป็นฝีมือของพระอาจารย์ธรรมเจ้าอาวาสในสมัยนั้น กับครูแข ช่างเขียนชาวบ้านตำบลท่าวาสุกรี.

          ครูแขเป็นช่างเขียนที่มีความสามารถยิ่งผู้หนึ่ง ซึ่งพระยาโบราณราชธานินทร์ได้มอบหมายให้ร่วมมือกับพันเที่ยง คัดลอกภาพเขียนจากผนังพระอุโบสถวัดยม ลงบนสมุดข่อยเมื่อ พ.ศ. 2440 ผลงานของครูแขยังปรากฏอยู่ที่พระอุโบสถวัดใหม่ชัยวิชิต วัดธรรมิกราช และที่ประตูวัดญาณเสน เป็นต้น.

          นอกจากนั้น ภายในศาลายังมีภาพเขียนปรากฏอยู่ที่เพดานและเสา ซึ่งทำเป็นเสากลม จำนวน 14 ต้น ตัวเสาเขียนลายก้านแย่ง มีภาพเทพนมดอกลอยอยู่ระหว่างลายกับทั้งมีชื่อจิตรกรผู้เขียนภาพจารึกไว้ที่ส่วนล่างของลายประดับเสาทุกต้น  ปรากฏชื่อเรียงตามแผนผังเสาในศาลา  ดังนี้

                    1          2       3         4        5         6
                    14                                                7
                    13       12      11       10       9         8

 
                 คำจารึก                                             คำอ่าน
1.  ต้นนีคูนภีนวัทษาลาปุญเขิยน              ต้นนี้คุณภีน  วัดศาลาปูน  เขียน
2.  ตํนนิคูนแกววัทพรเมรเขิยน                  ต้นนี้คุณแก้ว  วัดพระเมรุ  เขียน
3.  ตํนนิคูนแกววัทพรเมรเขิยน                  ต้นนี้คุณแก้ว  วัดพระเมรุ  เขียน
4.  ต้นนินายอินวัทใมพรเขิยน                    ต้นนี้นายอิน  วัดใหม่  เขียน
5.  ต้นนีคูนแก้ววัทหน้าพรเมรเขิยน            ต้นนี้คุณแก้ว  วัดหน้าพระเมรุ  เขียน
6.  …(ลบเลือนอ่านไม่ได้)…
7.  ต้นนีคุนษรรวัทบอระโพชเขียน              ต้นนี้คุณษรร  วัดวรโพธิ์  เขียน
8.  ต้นนีคูนทำวัดพรเมรเขียน                     ต้นนี้คุณทำ  วัดพระเมรุ  เขียน
9.  ต้นนีคุนทาวัดหนาพระเมรเขียน             ต้นนี้คุณทา  วัดหน้าพระเมรุ เขียน
10. ต้นนีนายอินวัท…(ลบเลือน)…
11. ต้นนิคูนเยนวัทสาลาปุญเขิยน              ต้นนี้คุณเย็น  วัดศาลาปูน เขียน
12. ต้นนินายถูบบ้านป้อมเขิยน                  ต้นนี้นายถูบ บ้านป้อม เขียน
13. ต้นนีคูนภีนวัทษาลาปุญเขิยน              ต้นนี้คุณภีน  วัดศาลาปูน เขียน
14. …(ลบเลือนอ่านไม่ได้)...
 
         ภายในศาลาด้านตะวันตกเป็นอาสนะสงฆ์ ยกพื้นสูงประมาณ 70 เซนติเมตร ตรงหน้ากระดานอาสนะสงฆ์เขียนภาพพื้นบ้าน มีธรรมาสน์ยอดบุษบกและสังเค็ดจำหลักไม้ ประดับกระจกงดงามพิจารณาจากลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมและลวดลายเป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยา ในพุทธศตวรรษที่ 23 มีส่วนที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ เส้นอ่อนโค้งที่ฐานและหลังคา อาจพบทั่วไปในโบสถ์วิหารที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา นอกจากนี้การตกแต่งหลังคาสังเค็ดก็กระทำเช่นเดียวกับการตกแต่งเครื่องบนหลังคาของโบสถ์วิหาร ซึ่งประกอบด้วยเครื่องลำยองและหน้าบันที่จำหลักด้วยไม้อย่างงดงาม อันอาจถือเป็นแบบอย่างในการศึกษาสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาที่สมบูรณ์ที่สุดชิ้นหนึ่ง ดังที่ น. ณ ปากน้ำ ได้กล่าวไว้ว่า  “ฝีมือจำหลักไม้ดีเยี่ยม เห็นแบบบราลีที่หลังคาเป็นยอดแหลม ๆ ซึ่งไม่เคยเห็นที่ไหน” 04.

          6). อุโบสถ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระปรางค์ หันหน้าไปทางทิศใต้ มีขนาดกว้าง 7.5 เมตร ยาว 18 เมตร ลักษณะฐานแอ่นเป็นท้องสำเภา ซึ่งเป็นลักษณะของฐานอุโบสถในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่เนื่องจากสภาพโดยทั่วไปชำรุดมาก ทางวัดจึงดำเนินการซ่อมแซมใหม่ รูปทรงภายนอกและภายใน จึงเปลี่ยนไปจนไม่เห็นเค้าเดิมที่เป็นศิลปะสมัยอยุธยา คงมีเฉพาะพระประธานภายในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย ทำด้วยปูนปั้นปิดทองทึบ ที่ยังคงพุทธลักษณะของศิลปกรรมสมัยอยุธยาปรากฏให้เห็นอยู่ และยังมีใบเสมาลักษณะใกล้เคียงกับใบเสมาของวัดพนมยงค์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ชำรุดแตกหักไปมากแล้วเช่นเดียวกัน.

          7). หอระฆัง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระปรางค์ สร้างแบบก่ออิฐถือปูน ทรงมณฑป ผนังทั้ง 4 ด้านเปิดโล่งเป็นช่องรูปกลีบบัว ตกแต่งขอบด้วยการปั้นปูนเป็นเส้นเกลียวประดับลายกนกผักกูด ที่มุมทั้ง 4 ทำเป็นเสาหลอก ปลายเสาเป็นกลีบบัวจงกลหรือบัวแวง ยอดเป็นบัวคลุ่มหรือบัวกลุ่ม ส่วนปลียอดหักพังไปแล้ว เหลือเพียงลวดลายปูนปั้นพันธุ์พฤกษาบางส่วนเท่านั้น ฐานก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่รองรับชุดฐานบัวคว่ำบัวหงายซึ่งยืดส่วนหน้ากระดานจนสูงเพื่อรองรับส่วนที่เป็นที่แขวนระฆังอีกชั้นหนึ่ง.
   
          8). วิหารน้อย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระปรางค์และวิหาร เป็นอาคารเล็ก ๆ ก่ออิฐสอปูน แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวตามแนวแกนทิศเหนือ – ใต้  สภาพเดิมเหลือเพียงฐาน.

          9). ส่วนสังฆาวาส เป็นที่ตั้งของอาคารเสนาสนะ กุฏิสงฆ์ ตั้งอยู่บริเวณนอกกำแพงแก้วทางด้านทิศตะวันออก.
 


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. เว็บไซต์อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา qrcode.finearts.go.th, โดย นางสาวก่องแก้ว วีระประจักษ์ เป็นผู้ค้นคว้าเรียบเรียง, วันที่เข้าถึง 26 พฤษภาคม 2564.
02. หลวงจักรปาณี. นิราศทวารวดี. พระนคร : กรุงเทพการพิมพ์, 2512. หน้า 22-23 (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราช ทานเพลิงศพ นายเอิบ ทังสุบุตร ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 20 ธันวาคม 2512. ซึ่งนางสาวก่องแก้ว วีระประจักษ์ เป็นผู้ค้นคว้าเรียบเรียง.
03. ในเครื่องหมายคำพูด "" ตัวอักษรสีน้ำตาล นั้น นักวิชาการมีความเห็นแตกต่างออกไป ซึ่งจะต้องมีการศึกษาวิจัยกันต่อไป.
04. 
น. ณ ปากน้ำ. ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2529. หน้า 75.



PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01-08: จาก. Facebook ห้อง "มองหลายมุมเรื่องกรุงเก่า", วันที่เข้าถึง 3 มกราคม 2563.
ภาพที่ 09-10:
cr.CUIR โครงการศูนย์รูปธรรมศึกษาโปษยะจินดาและหอนิทรรศน์รัตกสิกร, ส่วนมุขบริเวณเรือนธาตุขององค์ปรางค์ประธาน วัดเชิงท่า ลักษณะทำเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืน บริเวณหน้าบันมีลักษณะเป็นซุ้มบันแถลงประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นนูนสูงปางมารวิชัยประทับนั่งบนดอกบัว จาก..Facebook ห้อง "เที่ยวเมืองกรุงเก่า", วันที่เข้าถึง 4 กรกฎาคม 2563.

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com