MENU
TH EN
เมืองเสมา ตอนที่ 1
First revision: Jan.07, 2020
Last change: Jan.07, 2020

     "เมืองโบราณเสมา" ที่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา มี 3 ระยะ
     ระยะแรกเริ่มขึ้นเป็นชุมชน"สมัยก่อนประวัติศาสตร์"
     ระยะที่ 2 มาพัฒนารุ่งเรืองขึ้นในช่วงรับ"วัฒนธรรมทวารวดี"และ
     ระยะที่ 3 จนถึงยุคสุดท้ายรับ"วัฒนธรรมเขมรโบราณ"

     ผลการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีที่ "เมืองโบราณเสมา" ได้ข้อสรุปว่าชุมชนโบราณแห่งนี้มีการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์และมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับชุมชนโบราณในภูมิภาคอื่น ๆ โดยสามารถแบ่งพัฒนาการทางวัฒนธรรมของเมืองโบราณเสมาได้เป็น 3 ระยะดังนี้

     ระยะที่ 1 ราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 พบหลักฐานว่ามีชุมชนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเริ่มแรก โดยเป็นชุมชนที่มีพัฒนาการทางวัฒนธรรมสืบต่อมาจากชุมชนใน "วัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์" ตอนปลายที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำมูล หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญที่แสดงถึงวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับชุมชนโบราณร่วมสมัยบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลและชุมชนโบราณบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก ได้แก่ ภาชนะดินเผาแบบสีดำขัดมันหรือแบบพิมายดำ ซึ่งเป็นรูปแบบภาชนะดินเผาที่พบแพร่หลายในชุมชนโบราณบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนบนและพบการแพร่กระจายไปยังชุมชนโบราณบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก ภาชนะดินเผาแบบร้อยเอ็ดซึ่งเป็นภาชนะดินเผาที่พบหนาแน่นบริเวณตอนกลางของแม่น้ำมูล

     ระยะที่ 2 ราวพุทธศตวรรษที่ 12-15 เป็นช่วงที่ชุมชนมีการอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น มีหลักฐานแสดงถึงการรับอิทธิพล"วัฒนธรรมทวารวดี"จากภาคกลางอย่างเด่นชัด คือ การนับถือพุทธศาสนา (เถรวาทและมหายาน) ในช่วงเวลานี้ชุมชนได้สร้างศาสนสถานและศาสนวัตถุเนื่องในศาสนาพุทธขึ้นทั้งภายในเมืองชั้นในและชั้นนอก ได้แก่ เจดีย์ วิหาร ใบเสมาหินทราย พระพุทธรูป ธรรมจักรศิลา ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลศิลปะทวารวดีผสมศิลปะพื้นเมือง ส่วนหลักฐานโบราณคดีอื่น ๆ ที่สำคัญ อาทิ หม้อน้ำมีพวยซึ่งเป็นรูปแบบที่เหมือนกับที่พบในชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในภาคกลางของประเทศไทย ลูกปัดแก้วสีเดียว ตะคันดินเผา เบี้ยดินเผา หม้อมีสัน ฯลฯ

     ระยะที่ 3 ราวพุทธศตวรรษที่ 15-18 ชุมชนโบราณแห่งนี้ได้รับอิทธิพล "วัฒนธรรมเขมรโบราณ" เข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมทวารวดี เนื่องจากพบหลักฐานของสถาปัตยกรรมและประติมากรรมในวัฒนธรรมร่วมแบบเขมร และมีร่องรอยการปรับเปลี่ยนพุทธสถานเป็นเทวสถาน ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงว่าศาสนาพราหมณ์เริ่มเข้ามามีบทบาทแทนที่ศาสนาพุทธ สอดคล้องกับหลักฐานศิลาจารึกที่พบในเมืองเสมา นอกจากนี้ยังปรากฏรูปแบบภาชนะดินเผาแบบเขมรหรือเครื่องเคลือบแบบเขมรแทนที่ภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมทวารวดีซึ่งเป็นรูปแบบภาชนะดินเผาที่พบแพร่หลายในชุมชนโบราณที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ในช่วงเวลานี้มีการขยายชุมชนขึ้นไปทางทิศเหนือของเมืองชั้นในและมีการขุดคูน้ำรูปสี่เหลี่ยมขึ้นในส่วนของเมืองที่ขยายออกไป หลักฐานที่แสดงถึงการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนโบราณนอกภูมิภาคที่พบในช่วงเวลานี้ คือ เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ่งและหยวน หลังจากพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นไป เมืองเสมาจึงถูกทิ้งร้างไป

แบบแผนการดำรงชีวิตและคติความเชื่อ
     จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าชุมชนโบราณแห่งนี้ดำรงชีพด้วยการทำกสิกรรมและประกอบกิจกรรมด้านต่าง ๆ ดังนี้

     กิจกรรมด้านการผลิตภาชนะดินเผา พบหลักฐานในชั้นการอยู่อาศัยระยะที่ 2 เป็นลานดินเผาไฟแต่ไม่หนาแน่นมากนักและก้อนอิฐขนาดใหญ่มีแกลบข้าวเป็นส่วนผสมโดยมีการบากที่มุมทั้ง 2 ด้าน ซึ่งอาจใช้เป็นที่กันไฟเนื่องจากมีรอยไหม้ นอกจากนี้ยังพบก้อนดินเผาจำนวนหนึ่งมีร่องรอยโครงไม้ไผ่ทาบติดเนื้อดิน สันนิษฐานว่าอาจเป็นโครงสร้างหลังคาเตาเผา และยังพบหลักฐานที่เป็นอุปกรณ์ในการผลิตภาชนะดินเผา คือ หินดุ อีกด้วย แต่จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานได้ว่าเป็นการผลิตเพื่อใช้ในชุมชน (เขมิกา หวังสุข 2543 : 155-156)

     กิจกรรมด้านโลหกรรม พบหลักฐานเป็นตะกรันเหล็กซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทุกชั้นดินในชั้นการอยู่อาศัยระยะที่ 1-2 แต่ไม่หนาแน่นมากนักจึงสันนิษฐานว่าเป็นการผลิตเพื่อใช้ในชุมชนเองเท่านั้น เป็นเครื่องใช้ประเภทอาวุธ เช่น ใบหอกขนาดเล็ก ขวาน/พลั่วมีบ้อง เป็นต้น (เขมิกา หวังสุข 2543 : 156)

     ประเพณีการปลงศพ พบประเพณีการปลงศพ 2 แบบ
     แบบที่ 1 เป็นการปลงศพแบบฝังนอนหงายเหยียดยาวในวัฒนธรรมสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ มีการอุทิศของให้แก่ศพ ได้แก่ สร้อยลูกปัดแก้วและจี้ลูกปัดกระดูกที่คอและข้อมือขวา แหวนสำริด เครื่องมือเครื่องใช้ทำจากเหล็ก และภาชนะดินเผาสีดำขัดมันหรือภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ
     แบบที่ 2 เป็นการปลงศพฝังในภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมสมัยทวารวดี เป็นการบรรจุโครงกระดูกเด็กในภาชนะดินเผาแบบหม้อมีสัน พบของอุทิศให้แก่ศพ คือ เมล็ดข้าวสารดำและกระดูกปลา (เขมิกา หวังสุข 2543 : 150)

     ศาสนาและคติความเชื่อ
     จากร่องรอยของโบราณสถานและหลักฐานโบราณวัตถุที่พบในเมืองเสมาแสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อทางศาสนาพุทธ (เถรวาทและมหายาน) และศาสนาพราหมณ์ (ไศวนิกาย) ที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมทวารวดี และวัฒนธรรมเขมร

- ศาสนาพุทธ
     หลักฐานที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาในเมืองเสมานี้แสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลพุทธศาสนาจากเมืองโบราณสมัยทวารวดีในภาคกลาง และเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าศาสนาพุทธคงเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 หรือ 13 เป็นต้นมา (มยุรี วีระประเสริฐ 2545 : 108) โดยพบศาสนาสถานกระจายอยู่ภายในเมืองชั้นในและชั้นนอก ได้แก่ โบราณสถานหมายเลข 2 โบราณสถานหมายเลข 3 โบราณสถานหมายเลข 4 โบราณสถานหมายเลข 5 โบราณสถานหมายเลข 7 โบราณสถานหมายเลข 8 และโบราณสถานหมายเลข 9 ลักษณะของศาสนสถานมีทั้งประเภทเจดีย์ วิหาร และอาคารทรงปราสาท (หจก.ปุราณรักษ์ 2542 : 241-242, เขมิกา หวังสุข 2543 : 44-46) นอกจากนี้ยังพบศาสนสถานนอกเมือง คือ พระนอนที่วัดธรรมจักรเสมาราม และเจดีย์ที่วัดแก่นท้าว

 

     พระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ (ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ 2534 ; ธวัช ปุณโณทก 2542) เป็นพระนอนหินทรายที่มีขนาดใหญ่ที่พบในประเทศไทย สร้างด้วยก้อนหินทรายแดงขนาดใหญ่หลายก้อนประกอบกันขึ้นตามแนวทิศเหนือ-ใต้ มีการสลักหินทรายให้เป็นรูปทรงพระนอน สภาพโดยรวมชำรุด ความยาวตลอดองค์พระนอนประมาณ 13.3 เมตร สูง 2.8 เมตร นอนตะแคงขวา พระเศียรหันไปทางทิศใต้ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก
      ส่วนพระพักตร์ประกอบด้วยด้วยหินทราย 4 แผ่นซ้อนกัน พระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม พระขนงสลักเป็นสันนูนต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำลง พระนาสิกค่อนข้างกว้าง มุมพระโอษฐ์ชี้ขึ้นแย้มพระสรวล พระศกขมวดเป็นก้นหอยสภาพแตกชำรุด ด้านหลังพระเศียรสลักโกลนไว้อย่างคร่าว ๆ มีเฉพาะพระหัตถ์ที่รองรับพระเศียร ส่วนพระศอเป็นหินกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 90 เซนติเมตร พระวรกายประกอบด้วยหินทรายขนาดใหญ่ยาวตลอดเป็นแผ่นเดียวกัน (ปัจจุบันมีการคลุมผ้าคลุมส่วนพระวรกาย) ส่วนพระนาภีลงมาถึงข้อพระบาทแตกหักชำรุดส่วนพระบาททั้งสองข้างชิดติดเสมอกัน มีสภาพดีเป็นรูปพระบาทและฝ่าพระบาทชัดเจน มีการก่อแท่นอิฐหนุนส่วนพระขนอง (หลัง) องค์พระ รูปแบบศิลปะของพระพุทธไสยาสน์นี้คงได้รับอิทธิพลของศิลปะแบบทวารวดีปะปนกับศิลปะพื้นเมือง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15

     บัณฑิต ลิ่วชัยชาญ และคณะ (2553 : 206-209) กล่าวว่าคติการสร้างพระพุทธไสยาสน์ของเมืองเสมานี้ เหมือนกับพระพุทธไสยาสน์เมืองโปโลนนารุวะ กล่าวคือ (1) หันพระเศียรไปทางทิศใต้ (2) สร้างพระพุทธไสยาสน์ภายในคันธกุฎีที่เป็นอาคารแคบๆ
วิหารพระนอน (ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ 2534 ; ธวัช ปุณโณทก 2542) หรือคันธกุฎี จากการขุดแต่งของกรมศิลปากรพบว่าแต่เดิมนั้นมีอาคารประดิษฐานพระนอน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยอิฐ ขนาดกว้าง 6.5 เมตร ยาว 26 เมตร ยาวตลอดองค์พระ ลักษณะฐานประกอบด้วยฐานเขียงเตี้ยๆ ถัดขึ้นมาเป็นกระดานบัวคว่ำ ท้องไม้ และบัวหงาย โดยช่วงรอยต่อของส่วนต่างๆ จะก่ออิฐเป็นแนวหรือก้อนเป็นตัวเชื่อม ช่วงรอยต่อระหว่างบัวหงายถึงผนังอาคารของชุดฐานบัวนั้น ไม่มีหน้ากระดานบนเหมือนอย่างชุดฐานโบราณสถานแบบศิลปะเขมร จึงมีความสูงเพียง 80 เซนติเมตร ส่วนผนังที่ต่อขึ้นไป ปัจจุบันยังคงเหนือส่วนที่สูงที่สุดเพียง 50 เซนติเมตร และยังได้พบแนวการพังทลายลงมาของอิฐเป็นชั้นๆ โดยมีแนวหินทรายสลักเป็นรูปฉากมีลวดลายกลีบบัวอยู่ด้านนอกวางอยู่บนสุดของผนังอาคาร จึงสันนิษฐานได้ว่าแต่เดิมนั้นผนังอาคารโดยรอบคงไม่สูงเกินกว่า 1 เมตร
ศาสนสถานประเภทเจดีย์ที่พบมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม (โบราณสถานหมายเลข 2) ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส (โบราณสถานหมายเลข 5) ผังรูปแปดเหลี่ยม (โบราณสถานหมายเลข 3) และผังกลม (โบราณสถานหมายเลข 8) ส่วนศาสนสถานประเภทวิหารมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (โบราณสถานหมายเลข 4 โบราณสถานหมายเลข 3 หลังที่ 2 และโบราณสถานหมายเลข 9) มีร่องรอยการประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นทั้งที่เป็นรูปสัตว์และรูปดอกไม้ ศาสนสถานอีกประเภทหนึ่ง คือ อาคารทรงปราสาท มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ส่วนฐานประดับลวดลายปูนปั้น (โบราณสถานหมายเลข 7)
เทคนิคการก่อสร้าง โบราณสถานทุกหลังก่อด้วยอิฐขนาดค่อนข้างใหญ่มีแกลบข้าวปนไม่สอปูนอันเป็นลักษณะของศาสนสถานในวัฒนธรรมทวารวดี
ศาสนสถานเนื่องในศาสนาพุทธที่พบในเมืองเสมาสามารถเทียบได้กับโบราณสถานหลายแห่งในเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองโบราณโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ และเมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์
ประติมากรรมเนื่องในพุทธศาสนาที่พบส่วนใหญ่เป็นใบเสมาหินทรายขนาดใหญ่ ไม่มีลวดลายสลัก โดยปักอยู่เป็นคู่โดยรอบศาสนสถานประเภทวิหาร นอกจากนี้จากการขุดแต่งโบราณสถานได้พบประติมากรรมหลายชิ้น ที่สำคัญได้แก่ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทราย พบที่โบราณสถานหมายเลข 1 โดยถูกนำมาทำเป็นฐานกำแพงแก้ว มีลักษณะเหมือนกับพระพุทธรูปสมัยทวารวดีที่ได้รับอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบคุปตะและหลังคุปตะ ชิ้นส่วนธรรมจักร ทำจากหินทราย พบที่โบราณสถานหมายเลข 2 สลักทึบทั้งสองด้าน บริเวณขอบโดยรอบสลักลวดลายผักกูด ถัดเข้ามาเป็นลายดอกวงกลมสลับรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มีลักษณะคล้ายคลึงกับธรรมจักรศิลาพบที่วัดธรรมาจักรเสมาราม

     ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
     พบหลักฐานการนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวนิกายในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมาเมื่อชุมชนโบราณเมืองเสมาได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร และพบจารึกที่กล่าวถึงกิจกรรมทางศาสนาพราหมณ์ ระบุอายุในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 15-ต้นพุทธศตวรรษที่ 16 อย่างไรก็ตามข้อความในจารึกทำให้ทราบว่ามีการนับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธควบคู่กัน
     ศาสนสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ที่พบในเมืองเสมา คือ โบราณสถานหมายเลข 1 เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ที่สุดในเมือง ประกอบด้วยปราสาทประธานแบบเขมรก่อด้วยอิฐ 1 หลัง ขนาบข้างด้วยวิหาร 2 หลัง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ เทคนิคการก่อสร้างมีการใช้อิฐเนื้อค่อนข้างละเอียดไม่มีแกลบข้าวปนอันเป็นลักษณะของอิฐที่ใช้ก่อสร้างศาสนสถานในวัฒนธรรมร่วมแบบเขมร โดยไม่สอปูน จากการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 1 พบประติมากรรมเนื่องในศาสนาพราหมณ์หลายชิ้น ได้แก่ ชิ้นส่วนศิวลึงค์ศิลา เศียรเทวรูป ชิ้นส่วนรูปเคารพ ฐานรูปเคารพ ชิ้นส่วนโคนนทิ ท่อโสมสูตร

ที่มาข้อมูล ศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธร

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com