MENU
TH EN
Title Thumbnail: สถูปเขาคลังนอกเมืองโบราณศรีเทพ (เพชรบูรณ์) สร้างในพุทธศตวรรษที่ 14, ถ่ายไว้เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2566
เมืองศรีเทพ ตอนที่  1
First revision: Dec.21, 2019
Last change: Nov.28, 2023
เมืองศรีเทพ (เพชรบูรณ์)
       คุณสุจิตต์ วงค์เทศ อดีตบรรณาธิการหนังสือศิลปวัฒนธรรม อธิบายว่า พุทธศตวรรษที่ 10 ชนชั้นปกครองของแคว้นลุ่มน้ำมูล (เมืองศรีเทพ- ละโว้- เสมา- บุรีรัมย์) เป็นเครือญาติกัน (บุรีรัมย์คือเมืองประโคนชัย)
       พุทธศตวรรษที่ 17 เมืองศรีเทพ- อู่ทอง- นครชัยศรี- ศรีมโหสถ ลดความสำคัญลง เพราะเกิดเมืองอโยธยา ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าแห่งใหม่ คนจากเมืองศรีเทพจึงโยกย้ายไปอยู่เมืองอโยธยา
       พล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล อธิบายว่า เมืองศรีเทพเป็นศูนย์กลางการปกครองตอนบนของแคว้นฟูนัน เมืองเวียงสระ (สุราษฎร์ธานี) หรือ เมืองเชี๊ยะโท้วเป็นศูนย์กลางการปกครองตอนล่างของแคว้นฟูนัน
       Srivijaya Yava อธิบายว่า เมืองเซี๊ยะโท้ว คือ กรุงศรีวิชัย ตั้งอยู่ที่ ต.ชะแล้ อ.สิงหนคร จ.สงขลา
       จารึกบ้านวังไผ่ (จารึกศรีเทพ พช./2) พุทธศตวรรษที่ 12 ระบุว่า ศรีปฤทถีวีนทรวรมัน แต่งงานกับ มเหสีชาวศรีเทพ มีโอรสพระนามว่าพระเจ้าภววรมันที่ 1 (พระเจ้าภววรมันที่ 1 เป็นผู้ก่อตั้งแคว้นเจนละ)
       คุณ Yong Boonjitpitak มีความเห็นว่า มเหสีชาวศรีเทพเป็นชาวละว้า (มอญโบราณ) หรือขอมดำ (เผ่ากูยอินเดีย) ซึ่งเป็นชนชั้นปกครองของเมืองศรีเทพ ส่วน "ศรีปฤทถีวีนทรวรมัน" เป็นแขกอินเดียตะวันออกเผ่าศกะ เผ่าศกะในภาคใต้เรียกแขกศรีวิชัย ในภาคกลางเรียกมอญทวารวดี01.



ว่าด้วยชื่อเมืองศรีเทพ : ข้อสังเกตเพิ่มเติม02.
       “…สืบถามต่อไปถึงชื่อเมืองอภัยสาลี แกว่าเป็นแต่พระธุดงค์บอกชื่อให้ หม่อมฉันจึงยุติว่าเมืองสีเทพ หรือศรีเทพหรือสีห์เทพ คงเป็นชื่อเมืองโบราณนั้น”
นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2447 เมืองโบราณร้างขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำป่าสักก็ถูกรู้จักในนาม “เมืองศรีเทพ” จากพระวินิจฉัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งเสด็จไปตรวจราชการที่เพชรบูรณ์ ในนิทานโบราณคดี เรื่องความไข้เมืองเพชรบูรณ์ระบุว่า. “…ทรงสืบหาเมืองโบราณแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า “ศรีเทพ” เนื่องจากพระองค์เคยพบชื่อเมืองศรีเทพจากทำในทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมืองและสมุดดำต้นร่างกะทางให้คนเชิญตราไปบอกข่าวสิ้นรัชกาลที่ 2” เมื่อพบกับพระยาประเสริฐสงคราม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดวิเชียรบุรี ได้ความว่า เมืองวิเชียรบุรีแต่เดิมมีชื่อเป็น 2 อย่าง คือเมืองท่าโรง และเมืองศรีเทพ โดยเรียกตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดว่า “พระศรีถมอรัตน์” จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดให้ยกเมืองศรีเทพขึ้นเป็นเมืองตรี เปลี่ยนนามเมืองเป็นวิเชียรบุรี ส่วนชื่อเมืองอภัยสาลีเป็นชื่อที่พระธุดงค์เรียกจะเอาเป็นไม่ได้.

       แล้วเหตุใดจึงมีพระวินิจฉัยว่า เมืองโบราณขนาดใหญ่ใกล้เมืองวิเชียรบุรีจึงเป็นเมืองศรีเทพ ?

       ในเรื่องความไข้เมืองเพชรบูรณ์ได้ระบุข้อความที่น่าสนใจว่า “...มาถึงบ้านนาตะกุด อันเป็นท่าที่จะขึ้นเดินบกไปยังเมืองโบราณในวันนั้น ให้เรียกพวกชาวบ้านศรีเทพอันอยู่ใกล้เมืองโบราณมาถามถึงเบาะแส...” และ “...เมืองโบราณนั้นพวกพราหมณ์จะขนานชื่อว่ากระไรก็ตาม เป็นมูลของชื่อเก่าเมืองวิเชียรที่เรียกว่า เมืองศรีเทพ เพราะยังเรียกเป็นชื่อตำบลบ้านชานเมืองมาจนบัดนี้…”.

       จากข้อความข้างต้นชวนให้คิดสงสัยว่า “ศรีเทพ” นั้นเป็นชื่อของชุมชนที่อยู่ใกล้เมืองโบราณ (แต่ยังมิได้เรียกเมืองโบราณดังกล่าวว่าเมืองศรีเทพ) จึงเป็นเหตุให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสันนิษฐานว่าเป็นมูลของชื่อเก่าเมืองวิเชียรบุรี.

       ต่อมาในปีพ.ศ.2478 กรมศิลปากรได้ทำการประกาศขึ้นทะเบียนเมืองศรีเทพหรือไพศาลีเป็นโบราณสถาน และในปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานชื่อเดิมของเมือง เมืองโบราณแห่งนี้จึงยังคงชื่อเมืองศรีเทพไปก่อน.

       ถึงกระนั้น จากเรื่องราวการเสด็จเมืองวิเชียรบุรีของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทำให้มองเห็น ‘ร่องรอย’ ความสัมพันธ์ของเมืองวิเชียรบุรีและเมืองโบราณศรีเทพ เมื่อชื่อเดิมของตำแหน่งเจ้าเมืองวิเชียรบุรีเรียก “พระศรีถมอรัตน์” อันเป็นชื่อของภูเขาศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกและเป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งจากการค้นคว้าเพิ่มเติม พบชื่อ พระศรีสมอรัตนราชภักดีศรีบวรพัช เมืองท่าโรง ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหารหัวเมือง ตรงกับที่พระยาประเสริฐสงครามให้ข้อมูลไว้ว่าเมืองท่าโรงมีพระศรีถมอรัตน์เป็นเจ้าเมือง ทว่าเมื่อค้นคว้าชื่อเมืองศรีเทพ กลับพบว่าในเอกสารบางฉบับกล่าวถึงชื่อเมืองศรีเทพแยกออกจากเมืองท่าโรง อาทิ คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม กล่าวถึงเจ้าคณะซ้ายเมืองเหนือ ความว่า “… เมืองไชยบาดาล 1 เมืองสระบุรี 1 เมืองท่าโรง 1 เมืองนครราชสีมา 1 เมืองนางรอง 1 เมืองพิมาย 1 เมืองศรีเทพ 1…” และจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 ความว่า “...แตบัวชุมไปศรีเทพวัน แต่สิเทพไปถาโรงครึ่งวัน แตทาโรงไปกองทูนวัน...”.

       นักวิชาการบางท่านได้ตั้งข้อสังเกตถึงชื่อตำแหน่งขุนนางว่า ศรีเทพ ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่น ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหารหัวเมือง ตำแหน่งหมอศรีเทพ กรมหมอช้าง และขุนสีเทพ สังกัดกรมพระคลังวิเศศ ,พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ตำแหน่งพันบุตรศรีเทพ พนักงานเฝ้าหอพระ และในพงศาวดาร ฉบับไมเคิล วิกเคอรี กล่าวถึงทหารผู้สมคบคิดกับพระยาแก้วพระยาไทยก่อกบฏลอบปรงพระชนม์สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ความว่า “...นายง้วศรีนายศรีหวิไชย นายศรีเทพศุก นายเจดห้วอิกห้วพันหัวปากนาย” คำว่านายศรีเทพศุก ก็อาจเป็นคำเรียกชื่อตำแหน่งทหารเช่นเดียวกัน (ผู้เรียบเรียง).

       ถึงแม้คำว่า “ศรีเทพ” จะปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณหลายฉบับ จนขณะนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่จะเชื่อมโยงถึงเมืองโบราณศรีเทพ อันเป็นเมืองในวัฒนธรรมทวารวดีแต่อย่างใด เพราะจากหลักฐานทางโบราณคดีบอกว่า เมืองศรีเทพค่อย ๆ ถูกลดความสำคัญลงและถูกทิ้งร้างไปในที่สุดในพุทธศตวรรษที่ 18 ก่อนอาณาจักรอยุธยาถือกำเนิดขึ้นราว 200 ปี.

       อย่างไรก็ตาม มีเพียงร่องรอยเดียวที่แสดงความสัมพันธ์อันเป็นปริศนาระหว่างเมืองโบราณศรีเทพ และเมืองวิเชียรบุรี นั่นก็คือ ชื่อเขาถมอรัตน์ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์อันเป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณศรีเทพ (สมัยทวารวดี) และเป็นมงคลนามเรียกเจ้าเมือง จนนำไปสู่การตั้งชื่อเมืองวิเชียรบุรี (สมัยอยุธยา) เรียกสืบมาจนถึงปัจจุบัน.


ศ.ดร.พิริยะเสนอ 'ทวารวดี' เป็น 'ราชธานีแห่งแรก' เมื่อ 1,400 ปีก่อน ฟันธงอยู่ที่ 'ศรีเทพ' ไม่ใช่นครปฐม03.
       ‘ศ.ดร.พิริยะ’ เสนอ ‘ทวารวดี’ เป็น ‘ราชธานีแห่งแรก’ ของสยาม ฟันธงอยู่ที่ ‘ศรีเทพ’ เพชรบูรณ์ ไม่ใช่นครปฐม-อู่ทอง ยกหลักฐานสอดคล้อง ‘กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา’ นามเดิมกรุงเก่า-ยันนับถือพราหมณ์ไม่ใช่พุทธ เจอเทวรูปพระกฤษณะผู้สร้างเมืองทวารวดีแห่งเดียวในประเทศ.

       เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมเสนอแนวคิด จารึกพ่อขุนรามคำแหง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อราวพ.ศ.2530 หรือกว่า 30 ปีก่อน???? ประกาศข้อเสนอใหม่เกี่ยวกับ ‘ทวารวดี’ ว่าตั้งอยู่ที่เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ไม่ใช่เมืองนครปฐมโบราณหรือเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีตามที่นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อกันในปัจจุบัน.

       ศ.ดร.พิริยะ กล่าวว่า เมืองศรีเทพ ตั้งอยู่บนลุ่มน้ำป่าสัก ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา อายุราว 1,400 ปีมาแล้ว เป็นแหล่งโบราณคดีเก่าแก่เพียงแห่งเดียวในไทยที่พบเทวรูปพระกฤษณะ ซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้ก่อตั้งเมืองทวารวดีในคัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์ ดังนั้นเมืองศรีเทพจึงน่าจะเป็นราชธานีของทวารวดี เนื่องจากหลักฐานต่าง ๆ บ่งชี้ว่าทวารวดี นับถือศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาหลักไม่ใช่ศาสนาพุทธ ในขณะที่เมืองนครปฐมและอู่ทอง นับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก.

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.ดร.พิริยะ ยกหลักฐานจากศิลาจารึกภาษาสันสกฤต 2 หลัก พบที่เมืองศรีเทพ มีข้อความเกี่ยวข้องพระกฤษณะในชื่อ ‘ฤษีวยาสะ’ เมื่อมีกำเนิดได้นามว่า ‘กฤษณไทวปายน’ นอกจากนี้ยังพบเทวรูปศาสนาพราหมณ์พบในเมืองศรีเทพ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทวารวดีเมืองศักดิ์สิทธิ์ของพระกฤษณะ ได้แก่ เทวรูปพระกฤษณะ 3 องค์ ซึ่งเป็นอวตารที่ 8 ของพระวิษณุ แกะจากหินแกรนิตพบ แห่งเดียวในเมืองศรีเทพ แต่ไม่พบในเมืองนครปฐมโบราณ รวมถึงเทวรูปพระวิษณุ 2 องค์ พบในเมืองศรีเทพ ซึ่งพระวิษณุ หรือพระนารายณ์อวตารเป็นพระกฤษณะผู้สร้างทวารวดี แต่ไม่พบเทวรูปพระวิษณุในเมืองนครปฐมโบราณ นอกจากนี้ หลักฐานที่พบใหม่เมื่อ พ.ศ.2562 คือ จารึกวัดพระงาม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตปรากฏข้อความในบรรทัดที่ 5 ซึ่งอ่าน-แปลได้ว่า ‘ทวารวดีที่ยิ่งใหญ่ เจริญรุ่งเรืองเหมือนเมืองพระวิษณุ’.

       ศ.ดร.พิริยะกล่าวว่า แหล่งโบราณคดีที่อาจถือได้ว่าเป็นแหล่งที่เป็นที่ตั้งหรือศูนย์กลางของทวารวดีนั้น มีเพียง ’เมืองศรีเทพ’ เท่านั้นที่สอดคล้องกับนามเดิมของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเมื่อแรกสถาปนามีนามอย่างเป็นทางการว่า ‘กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา’.

       “จารึกเมืองศรีเทพ ให้ข้อมูลว่าลัทธิไวษณพเจริญรุ่งเรืองที่ทวารวดี จารึกวัดพระงาม นครปฐม ก็ให้ข้อมูลว่า ทวารวดี เป็นเมืองในลัทธิไวษณพ ศรีเทพตั้งอยู่ตอนกลางของแม่น้ำป่าสัก สอดคล้องกับนามของกรุงศรีอยุธยาว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยามากกว่าอู่ทองและนครปฐมในลุ่มแม่น้ำท่าจีน หรือคูบัวในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จะเอาทวารวดีไปไว้ในลุ่มน้ำอื่นคงไม่ได้ เพราะเกี่ยวดองกับกรุงศรีอยุธยา และเมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ไปแล้ว ก็ยังคงเรียกชื่อราชธานีใหม่ว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา ดังปรากฏในศิลาจารึกเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ที่วัดพระพุทธโฆษาจารย์ กรุงพนมเปญ สมัยรัชกาลที่ 3” ศ.ดร.พิริยะกล่าว.

       ศ.ดร.พิริยะ กล่าวว่า แนวคิดเรื่องทวารวดีอยู่ที่เมืองศรีเทพนี้ ศ.โคล้ด ฌาคส์ (Claude Jacques) ผู้เชี่ยวชาญการอ่านศิลาจารึกกัมพูชา เคยเสนอไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2552 โดยให้เหตุผลว่าทวารวดีเป็นเมืองของพระกฤษณะ อวตารที่ 8 ของพระวิษณุ และเทวรูปพระกฤษณะและพระวิษณุก็พบที่ศรีเทพ อีกทั้งเป็นแหล่งเดียวในไทยที่พบเทวรูปพระกฤษณะที่เป็นผู้ก่อตั้งเมืองทวารกา ซึ่งก็คืออีกชื่อหนึ่งของทวารวดี ตนจึงนําความคิดนี้มาผนวกกับข้อวินิจฉัยของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร ที่ทรงพระนิพนธ์ในวารสารของสยามสมาคม (Journal of the Siam Society) เมื่อ พ.ศ.2482 (1939) ว่าทวารวดีเป็นชื่อของกรุงศรีอยุธยาเมื่อแรกสถาปนาจนเสียกรุง และเนื่องด้วยว่าศรีเทพตั้งอยู่ตอนกลางของแม่น้ำป่าสัก ซึ่งปลายน้ำอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา จึงเข้าใจได้ว่า ดินแดนแถบนั้นในอดีตกาลเป็นภูมิลําเนาของชาวสยามและเป็นส่วนหนึ่งของทวารวดี.

       “ด้วยเหตุนี้ จึงขอเสนอว่าเมืองศรีเทพในอดีตคือกรุงทวารวดีซึ่งรุ่งเรืองอยู่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12-กลางพุทธศตวรรษที่ 13 ไม่ใช่นครปฐมตามที่เข้าใจกันทุกวันนี้ ศรีเทพสมควรที่จะเป็นราชธานีของอาณาจักรทวารวดี เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งเดียวที่พบเทวรูปพระกฤษณะผู้สถาปนากรุงทวารกาหรือทวารวดีแล้ว ศรีเทพยังตั้งอยู่บนแม่น้ำป่าสักซึ่งปลายน้ำอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา.

       เมื่อศรีเทพเป็นราชธานีของอาณาจักรทวารวดีซึ่งเป็นอาณาจักรแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่มีความมั่งคั่งและเจริญรุ่งเรืองจนเป็นที่กล่าวขานของชาวต่างประเทศ จึงสมควรที่จะยกย่องให้ศรีเทพเป็นราชธานีแห่งแรกของสยาม” ศ.ดร.พิริยะกล่าว.

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.ดร.พิริยะ ได้นำเสนอแนวคิดดังกล่าวในงานบรรยายประจำปี 2564 มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์ ณ โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมาอีกด้วย ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องที่ตั้งและศูนย์กลางของทวารวดีเป็นที่ถกเถียงกันมานาน โดย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส สันนิษฐานว่าทวารวดีมีศูนย์กลางอยู่เมืองนครปฐมโบราณ ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมา นายมานิต วัลลิโภดม ข้าราชการกองโบราณคดี กรมศิลปากร แสดงหลักฐานวิชาการว่าโตโลโปตีในเอกสารจีน คือ ทวารวดีอยู่เมืองละโว้ (ลพบุรี) ลุ่มน้ำป่าสัก-ลพบุรี ส่วนนครปฐมโบราณคือลังเกียฉู่ในเอกสารจีน โดยเขียนบทความลงในนิตยสารศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ. 2515
ด้านนายพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากรเขียนบทความในนิตยสารศิลปากร (ฉบับมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 หน้า 49-55) ว่าการพบเหรียญเงินที่นครปฐม เพียง 1 เหรียญ มีตัวอักษรคำว่า ‘ทวารวดี’ ไม่นับเป็นหลักฐานยืนยันว่านครปฐมโบราณชื่อทวารวดี เพราะเหรียญเงินเป็นวัตถุขนาดเล็กที่คนพกพามาจากที่ไหนก็ได้ ขณะเดียวกันเหรียญเงินมีอักษรว่า ‘ทวารวดี’ ยังพบที่อื่นด้วย เช่น เมืองโบราณอู่ตะเภา อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ซึ่งไม่ใช่หลักฐานยืนยันว่าเมืองโบราณอู่ตะเภามีชื่อเดิมว่าทวารวดี



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. จาก. Facebook ผู้ใช้นามว่า "Yong Boonjitpitak", วันที่เข้าถึง 21 ธันวาคม 2562.
02
จาก. Facebook เพจ "คนรักประวัติศาสตร์ไทย (welovethaihistory)," เรียบเรียงโดย นางสาวธนัชญา เทียนดี นักโบราณคดีปฏิบัติการ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ, วันที่เข้าถึง 9 กรกฎาคม 2563.
03. จาก. https://www.matichon.co.th/entertainment/arts-culture/news_3107083, บทความบันทึกไว้ ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2564, วันที่เข้าถึง 1 มกราคม 2565.



PHOT GALLERY
ภาพที่ 1: เศียรเทวรูป เขาถมอรัตน์ เมืองศรีเทพ
ภาพที่ 2: พระพิมพ์จากศรีเทพ มีจารึกทั้งด้านหน้าและหลัง ด้านหน้าอักษรแบบหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ อาจารย์ชะเอม แก้วคล้าย อ่านด้านขอบริมขวาได้สองคำว่า..โลก, และ...สันตติวงศ์ ด้านหลังเป็นอักษรจีน ๑ แถว ประพิน มโนมัยวิบูลย์อ่านว่า...พระภิกษุ (เหวินเซียง) ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ ลพบุรี, ที่มา: Facebook ห้อง "สยามเทศะ โดยมูลนิธีเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์"
ภาพที่ 3.1(ด้านซ้ายสุด): สุริยะเทพที่พบจากศรีเทพจะมีรูปลักษณ์คิ้วหนาต่อกันเป็นรูปปีกกา ตาโต บางองค์มีหนวดโง้งเคราหนา ซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับบุคคลเชื้อสายเปอร์เซีย  สวมหมวกทรงสูงมีลวดลายคล้ายทรงสามเหลี่ยมเป็นลายงดงามประดับอยู่ทั้งสามด้าน ประทับยืน พระกรหักหาย แต่เห็นลักษณะงอข้อศอก สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงถือดอกบัว สวมต่างหูใหญ่เป็นรูปกลีบดอกไม้ ประดับกรองศอเป็นแผ่นรูปสามเหลี่ยมและบางองค์มีสายคาดเอวหรืออวยังคะชัดเจน และมีประภามณฑลด้านหลังพระเศียร 
ภาพที่ 3.2:
ภาพที่ 3.3:
ภาพที่ 3.4(ด้านขวาสุด): เทวรูปรุ่นเก่าสวมหมวกทรงกระบอก พบที่เมืองศรีเทพคือพระวิษณุ แกะจากหินสูงกว่า 207 เซนติเมตร ลักษณะเป็นประติมากรรมลอยตัวพระกรทั้งสี่ยกขึ้นไม่ติดกับส่วนองค์ แต่หักหายไป นุ่งผ้าโจงกระเบนสั้นซึ่งเป็นอิทธิพลวัฒนธรรมแบบเขมร (ถกเขมร) ยืนเองตามแบบตริภังค์ และคล้ายกับที่พบพระวิษณุสวมหมวกแขก ที่พบจากเมืองโบราณที่ดงศรีมหาโพธิ์ ปราจีนบุรี เป็นหลักฐานของการนับถือศาสนาพราหมณ์ ฮินดูในช่วงยุคแรก ๆ บนแผ่นดินไทย
ภาพที่ 4 เทวรูปพระรามแผลงศรทรงหนุมาน พบที่ อ.ศรีเทพ เพชรบูรณ์ เมื่อคราวกรมศิลปากรบูรณะ เมื่อปี พ.ศ.2508 มีส่วนสูง 45 ซม.
ภาพที่ 5-8: จาก Facebook เพจ "คนรักประวัติศาสตร์ไทย (welovethaihistory)," วันที่เข้าถึง 9 กรกฎาคม 2563.

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com