MENU
TH EN

054. กุฏิฤๅษีโคกเมือง - อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์

Title Thumbnail: กุฎิฤๅษีโคกเมือง ที่มา: bankokmuang.in.th, วันที่เข้าถึง 29 มิถุนายน 2564. Hero Image: กุฎิฤๅษีโคกเมือง, ที่มา:th.wikipedia.org วันที่เข้าถึง 29 มิถุนายน 2564.
054. กุฎิฤๅษีโคกเมือง - อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์01.
First revision: Jun.29, 2021
Last change: Jun.29, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       กุฎิฤๅษีโคกเมือง หรือ กุฏิฤๅษีเมืองต่ำ ปัจจุบันตั้งอยู่ ณ บ้านโคกเมือง หมู่ 6 ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นปราสาทในวัฒนธรรมกัมพูชาโบราณโบราณ ประเภท “อโรคยาศาล” หรือศาสนสถานประจำโรงพยาบาล ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7 อายุพุทธศตวรรษที่ 18 หรือประมาณ 800 ปีมาแล้ว โดยตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของชุมชนบ้านโคกเมือง ห่างจากปราสาทเมืองต่ำไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 800 เมตร และอยู่ตรงข้ามกับบารายเมืองต่ำ ประมาณ 300 เมตร ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อ พ.ศ.2541 (โดยประกาศรวมอยู่ในเขตโบราณสถานปราสาทเมืองต่ำ) มีการขุดค้นขุดแต่งเมื่อ พ.ศ.2543 และบูรณะแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2544.

       กุฏิฤๅษีโคกเมือง ก่อสร้างด้วยศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก มีหินทรายในส่วนที่เป็นกรอบประตูและทับหลัง มีแผนผังตามรูปแบบอโรคยาศาลอย่างครบถ้วน ประกอบด้วย ปราสาทประธานหันหน้าไปทิศตะวันออก มีบรรณาลัย 1 หลัง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีโคปุระ (ซุ้มประตู) ด้านทิศตะวันออก 1 แห่ง และมีสระน้ำกรุด้วยศิลาแลงที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 1 สระ และยังพบว่ามีการนำวัสดุจากปราสาทสมัยเก่ากลับมาใช้ซ้ำ (re-used) เช่น กรอบหน้าบันหินทรายสลักรูปนาค 5 เศียร ซึ่งเป็นนาคเศียรโล้น (หรือที่คนท้องถิ่นอิสานเรียก "งูซวง") ตามรูปแบบศิลปะกัมพูชาแบบบาปวน ในพุทธศตวรรษที่ 16.

       ข้อความตอนหนึ่งจากจารึกปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา ได้กล่าวถึง “อโรคยาศาล” ที่พระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น จำนวน 102 แห่งตาม “วิษัย” หรือเมืองสำคัญทั่วราชอาณาจักรของพระองค์ ปัจจุบันในดินแดนประเทศไทยได้ค้นพบอโรคยาศาลมากกว่า 30 แห่ง กระจายตัวอยู่ในหลายจังหวัดในภาคอีสานและภาคตะวันออก เช่น
            - กุฏิฤๅษีพิมาย
            - ปรางค์พลสงคราม จังหวัดนครราชสีมา
            - ปราสาทตาเมือนโต๊จ
            - ปราสาทจอมพระ จังหวัดสุรินทร์
            - ปราสาทบ้านน้อยห้วยพะใย จังหวัดสระแก้ว
            - ปราสาทโคกงิ้ว
            - กุฏิฤๅษีหนองบัวราย
            - กุฏิฤๅษีโคกเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น

       เป็นที่น่าสังเกตว่าที่ตั้งของ “อโรคยาศาล” เหล่านี้ จะมีระยะทางห่างกันตั้งแต่ประมาณ 20 ไปจนถึง 100 กิโลเมตร แต่ทว่า กุฏิฤๅษีโคกเมืองและกุฏิฤๅษีหนองบัวราย ตั้งอยู่ห่างกันเพียง 4 กิโลเมตร เท่านั้น นับเป็นอโรคยาศาลที่ตั้งอยู่ใกล้กันที่สุด บ่งบอกได้ถึงบทบาทและความสำคัญของทั้ง “ชุมชนโบราณพนมรุ้ง (ที่มีกุฏิฤๅษีหนองบัวราย)” และ “ชุมชนโบราณเมืองต่ำ (ที่มีกุฏิฤๅษีโคกเมือง)” ว่าต่างก็เป็น “วิษัย” หรือเมืองใหญ่ เมืองสำคัญ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว.


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. ปรับเสริมโดยอิงจากการเรียบเรียงโดย : นายพงศธร ดาวกระจาย ผู้ช่วยนักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อันมีเอกสารอ้างอิง :
     01.1 บริษัทปรียะธุรกิจ. รายงานการบูรณะโบราณสถานกุฏิฤๅษี (บ้านโคกเมือง) ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์. เสนอ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา กรมศิลปากร, 2544.
     01.2 รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล. “อโรคยาศาล : ความรู้ทั่วไปและข้อสังเกตเบื้องต้น.” เมืองโบราณ 30, 3 (กรกฎาคม – กันยายน 2547):
     01.3 15-53. ห้างหุ้นส่วนจำกัดไพรลดา. รายงานการขุดแต่งกุฏิฤๅษีเมืองต่ำ ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์. เสนอ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา กรมศิลปากร, 2543.
     ทั้งนี้ได้สืบค้นโดยผ่าน facebook ห้อง "อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง Phanom Rung Historical Park", วันที่เข้าถึง 29 มิถุนายน 2564.


 
info@huexonline.com