MENU
TH EN

052. ปราสาทภูมิโปน - อ.สังขะ จ.สุรินทร์

Title Thumbnail: ที่มา: travel.mthai.com, วันที่เข้าถึง 20 มิถุนายน 2564Hero Image: ที่มา:tnews.co.th, วันที่เข้าถึง 20 มิถุนายน 2564.
052. ปราสาทภูมิโปน - อ.สังขะ จ.สุรินทร์01,02. 
First revision: Jun.20, 2021
Last change: Jun.20, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       ปราสาทภูมิโปน (ภูมิ แปลว่า ดินแดน หรือ หมู่บ้าน โปน แปลว่า หลบซ่อน หรือ มะกอก) ตั้งอยู่ที่ ต.ดม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ สามารถเดินทางได้โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 2077 (สุรินทร์ - สังขะ) ระยะทาง 49 กิโลเมตร จากแยก อ.สังขะ เข้าทางหลวง หมายเลข 2124 (สังขะ-บัวเชด) ตรงต่อไป จนถึง ชุมชนบ้านภูมิโปน ระยะทางอีก 10 กิโลเมตร จะเห็นปราสาท ตั้งอยู่ริมถนนด้านซ้ายมือ
       ปราสาทภูมิโปนได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 


ลักษณะปราสาท
       
ปราสาทภูมิโปน ประกอบด้วย โบราณสถาน 4 หลัง คือ
       ปราสาทก่ออิฐ 3 หลัง และ
       ปราสาทศิลาแลง 1 หลัง


       มีอายุการก่อสร้าง อย่างน้อย 2 สมัย ปราสาทก่ออิฐหลังใหญ่ และหลังทางทิศเหนือสุด นับเป็นปราสาท แบบศิลปะเขมร ที่มีอายุเก่าที่สุด ในประเทศไทย คือราวพุทธศตวรรษที่ 13
ส่วนปราสาทอิฐหลังเล็ก ที่ตั้งตรงกลาง และปราสาทที่มีฐานศิลาแลง ด้านทิศใต้นั้น สร้างขึ้นในสมัย หลังปราสาทภูมิโปน คงจะสร้างขึ้น เป็นศาสนสถาน ในศาสนาฮินดู ไศวนิกาย เช่นเดียวกับศาสนสถานอื่น ๆ ในรุ่นเดียวกัน แม้จะไม่พบ รูปเคารพ ซึ่งควรจะเป็นศิวลึงค์ อยู่ภายในองค์ปรางค์.

       แต่ที่ปรางค์องค์ใหญ่ยังมี ท่อโสมสูตร คือ ท่อน้ำมนต์ ที่ต่อออกมา จากแท่นฐานรูปเคารพ ในห้องกลาง ติดอยู่ที่ผนังในระดับพื้นห้อง.

ตำนานปราสาทภูมิโปน
       ตำนาน เนียง ด็อฮฺ ธม ราชธิดาขอมผู้ปกครองเมืองภูมิโปนองค์สุดท้าย เป็นตำนานของปราสาทภูมิโปน อ.สังขะ จ.สุรินทร์ มีเรื่องเล่าว่า ที่สระลำเจียก ห่างจากตัวปราสาทไปทางทิศตะวันออกประมาณ 200 เมตร มีกลุ่มต้นลำเจียกขึ้นเป็นพุ่ม ๆ ต้นลำเจียกที่สระน้ำแห่งนี้ไม่เคยมีดอกเลย ในขณะที่ต้นอื่น ๆ นอกสระต่างก็มีดอกปกติ ความผิดปกติของต้นลำเจียกที่สระลำเจียกหน้าปราสาทจึงเป็นที่มาของตำนานปราสาทภูมิโปน การสร้างเมืองและการลี้ภัยของราชธิดาขอม.

       กษัตริย์ขอมองค์หนึ่งได้สร้างเมืองลับไว้กลางป่าใหญ่ชื่อว่าปราสาทภูมิโปน ต่อมาเมื่อเมืองหลวงเกิดความไม่สงบ มีข้าศึกมาประชิดเมือง กษัตริย์ขอมจึงส่งพระราชธิดาพร้อมไพร่พลจำนวนหนึ่งมาหลบซ่อนลี้ภัยที่ภูมิโปน พระราชธิดานั้นมีพระนามว่า พระนางศรีจันทร์หรือ เนียง ด็อฮฺ ธม แต่คนทั่วไปมักเรียกนางว่า พระนางนมใหญ่.

       กล่าวถึงเจ้าเมืองอีกเมืองหนึ่งได้ส่งพรานป่าเจ็ดคน พร้อมเสบียงกรังและช้าง 1 เชือก ออกล่าจับสัตว์ป่าเพื่อจะนำมาเลี้ยงในอุทยานของพระองค์ พรานป่ารอนแรมจนมาหยุดพักตั้งห้างล่าสัตว์อยู่ที่ ตระเบีย็ง เปรียน แปลว่าหนองน้ำของนายพราน ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านตาพรม ในปัจจุบันในที่สุดกลุ่มพรานสามในเจ็ดคน ก็ดั้นด้นจนไปพบปราสาทภูมิโปน และไปได้ยินกิตติศัพท์ความงามของพระนางศรีจันทร์เข้า พรานทั้งเจ็ดจึงได้ลักลอบแอบดูพระนางศรีจันทร์สรงน้ำ และเห็นว่านางมีความงามสมคำร่ำลือจริง จึงรีบเดินทางกลับเพื่อไปรายงานพระราชา พระราชายินดีปรีดามาก รีบจัดเตรียมกองทัพเพื่อไปรับนางมาเป็นพระชายาคู่บารมี.

       ฝ่ายพระนางศรีจันทร์หลังจากวันที่ไปสรงน้ำก็เกิดลางสังหรณ์ กระสับกระส่ายว่ามีคนมาพบที่ซ่อนของนางแล้ว เมื่อบรรทมก็ฝันว่าได้ทำกระทงเสี่ยงทาย ใส่เส้นผมเจ็ดเส้น อันมีกลิ่นหอมและเขียนสาส์นใจความว่าใครเก็บกระทงของนางได้ นางจะยอมเป็นคู่ครอง ในกระทงยังให้ช่างเขียนรูปของนางใส่ลงไปด้วย เมื่อตื่นขึ้นมานางจึงได้จัดการทำตามความฝัน (ด้วยการที่นางเอาผมใส่ในผอบเครื่องหอม ผมนางจึงหอม นางจึงได้ชื่อว่า เนียง ช็อก กระโอบ หรือนางผมหอมอีกชื่อหนึ่ง) และนำกระทงไปลอย ณ สระลำเจียกหน้าปราสาท กระทงของนางได้ลอยไปยังอีกเมืองหนึ่งชื่อว่าเมืองโฮลมาน และราชโอรสของเมืองนี้ได้เก็บกระทงของนางได้ ทันทีที่เจ้าชายเปิดผอบก็หลงรักนางทันที เจ้าชายโอลมานนั้นมีรูปร่างไม่หล่อเหลา แต่มีฤทธานุภาพมากในเรื่องเวทมนตร์คาถาและได้ชื่อว่ารักษาคำสัตย์เป็นที่ตั้ง พระองค์จึงไปสู่ขอนางตามประเพณีเพราะเป็นผู้เก็บผอบได้ แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร เมื่อพระนางศรีจันทร์ได้เห็นรูปร่างของเจ้าชายโฮลมานนางจึงได้แต่นิ่งอึ้งและร้องไห้ เจ้าชายโฮลมานทรงเข้าพระทัยดีเพราะรู้ตัวว่าตัวเองมีรูปร่างอัปลักษณ์ แต่ด้วยความรักที่พระองค์มีต่อพระนางศรีจันทร์ พระองค์จึงไม่บังคับที่จะเอาตัวนางมาเป็นชายา กลับช่วยพระนางขุดสระสร้างกำแพงเมือง และสร้างกลองชัยเอาไว้ เพื่อให้พระนางตียามมีเหตุเดือดร้อนต้องการให้พระองค์ช่วยเหลือ พระองค์จะมาช่วยเหลือนางโดยทันที โดยห้ามตีด้วยเหตุไม่จำเป็นเป็นอันขาด.

       กล่าวถึงชายหนุ่มอีกคนหนึ่งที่มาหลงรักพระนางศรีจันทร์ นั่นคือบุญจันทร์นายทหารคนสนิท ที่พระราชบิดาของพระนางศรีจันทร์ไว้วางพระราชหฤทัย ให้รับใช้ใกล้ชิดพระนางศรีจันทร์ ด้วยความใกล้ชิดทำให้บุญจันทร์หลงรักพระนางศรีจันทร์ แต่พระนางศรีจันทร์ก็ไม่ได้มีใจตอบกับบุญจันทร์ ยังคงคิดกับบุญจันทร์แค่เพื่อนสนิทเท่านั้น วันหนึ่งบุญจันทร์ได้เห็นกลองชัยที่เจ้าชายโฮลมานให้พระนางไว้ ก็นึกอยากตี จึงไปร่ำร้องกับพระนางทุกเช้าเย็น อยากจะขอลองตีกลอง พระนางทนไม่ไหวพูดประชดทำนองว่า ถ้าอยากตีก็ตีไป เพราะคงจะไม่ได้พบกันอีกแล้ว บุญจันทร์หน้ามืดตามัวด้วยคิดว่านางมีใจให้เจ้าชายโฮลมาน ก็ไปตีกลอง เจ้าชายโฮลมานและไพร่พลก็ปรากฏตัวขึ้นทันที เพราะนึกว่าพระนางศรีจันทร์มีเหตุร้าย พระนางศรีจันทร์เสียใจมาก เมื่อต้องบอกถึงเหตุผลที่ตีกลองให้เจ้าชายทราบ เจ้าชายโฮลมานตำหนิพระนาง และเป็นอันสิ้นสุดสัญญาที่ให้ไว้กับพระนางทันที พระองค์จะไม่มาช่วยเหลือพระนางอีกแล้วแม้จะตีกลองเท่าไหร่ก็ตาม.

       กล่าวฝ่ายพระราชาที่ส่งพรานป่าเจ็ดคน มาล่าสัตว์แล้วมาพบพระนางในตอนแรกนั้น ก็ส่งทัพมาล้อมเมืองภูมิโปนไว้ พระนางจึงหนีเข้าไปหลบภัยในปราสาทและคิดที่จะยอมตายเสียดีกว่า เพราะคนที่มาหลงรักพระนางแต่ละคนนั้น คนหนึ่งแม้จะเพียบพร้อมก็มีความอัปลักษณ์ คนหนึ่งก็มีความต่างศักดิ์ ด้านชนชั้นจนไม่อาจจะรักกันได้ และยังมีข้าศึกมาประชิดเมืองหมายจะเอาพระนางไปเป็นชายาอีก พระนางจึงพยายามหลบไปด้านที่มีการยิงปืนใหญ่ ตั้งใจจะโดนกระสุนให้ตาย แต่พระนางก็กลับไม่ตายแต่ได้รับบาดเจ็บ แขนซ้ายหักและมีแผลเหนือราวนมด้านซ้ายเล็กน้อย (ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านดม-ภูมิโปนจะสังเกตเด็กผู้หญิงคนใดมีลักษณะแขนด้านซ้ายเหมือนเคยหัก และมีแผลเป็นเหนือราวนมด้านซ้าย จะสันนิษฐานว่าพระนางด็อฮฺ ธม กลับชาติมาเกิด) เมื่อพระราชาตีเข้าเมืองได้จึงรีบรักษานาง ไม่ช้าพระนางก็หาย พระราชาจึงเตรียมยกทัพกลับและจะนำพระนางกลับเมืองด้วย พระนางจึงขออนุญาตพระราชาเป็นครั้งสุดท้ายขอไปอาบน้ำที่สระลำเจียก และปลูกต้นลำเจียกไว้กอหนึ่ง พร้อมกับอธิษฐานว่าถ้าพระนางยังไม่กลับมาที่นี่ขอให้ต้นลำเจียก อย่าได้ออกดอกอีกเลย หลังจากนั้นพระนางก็ถูกนำสู่นครทางทิศตะวันตก ไปทางบ้านศรีจรูก พักทัพและฆ่าหมูกินที่นั่น (ซี จรูกแปลว่ากินหมู) ทัพหลังตามไปทันที่บ้านทัพทัน (ซึ่งกลายเป็นชื่อบ้านในปัจจุบัน) และเดินทางต่อมายังบ้านลำดวน พักนอนที่นั่น มีการเลี้ยงฉลองรำไปล้มไป รำล้มในภาษาเขมรคือ เรือ็ม ดูล ซึ่งเป็นชื่อของ อ.ลำดวนในปัจจุบัน.

หลักฐานที่พบ
       1). ณ โบราณสถานหมายเลข 1: จารึกปราสาทภูมิโปน 2
            อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต อายุ: พศว.ที่ 12 วัสดุ: หินทราย
            จารึกปราสาทภูมิโปน 3
            อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต อายุ: พศว.ที่ 12 วัสดุ: หินทราย

       2). ณ โบราณสถานหมายเลข 2: จารึกปราสาทภูมิโปน 4
            อักษรกัมพูชาโบราณ ภาษาสันสกฤต อายุ: พศว.ที่ 16 วัสดุ: หินทราย ที่มา: พบบริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของโบราณสถาน หมายเลข 2.
       3). ณ โบราณสถานหมายเลข 3: มีลักษณะเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยม ก่อด้วยศิลาแลง เว้นช่องว่างรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสไว้บริเวณกึ่งกลางและมีร่องรอยของหลุมเสาอยู่ที่มุมทั้ง 4 ด้าน.
       4). ณ โบราณสถานหมายเลข 4: ชิ้นส่วนเสาประดับกรอบประตู 
            รูปแบบ: เสากลม สลักตกแต่งลายพวงมาลัยสลับพวงอุบะและลายลูกประคำ อายุสมัย: พศว.ที่ 12-13. วัสดุ: หินทราย.

  
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 20 มิถุนายน 2564.
02. จาก. กรมศิลปากร, ประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์, กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง.
03. จาก. กรมศิลปากร, รายงานสรุปผลการขุดแต่ง และค้ำยันปราสาทมภูมิโปน บ้านภูมิโปน ต.ดม อ.สังขะ จ.สุรินทร์, 2561.
04. จาก. เชษฐ์ ติงสัญชลี, ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รูปแบบ พัฒนาการ ความหมาย, นนทบุรี, มิวเซียมเพรส, 2558. 


 
humanexcellence.thailand@gmail.com