MENU
TH EN

020. ปราสาทวัดกำแพงแลง จ.เพชรบุรี

Title Thumbnail: ภาพปราสาทกำแพงแลงในสมัยรัชกาลที่ 5 , จาก oknation.nationtv.tv, โดยอาจารย์วรณัย  Hero Image: ที่มา: goodlifeupdate.com, วันที่เข้าถึง 17 ธันวาคม 2562.
020. ปราสาทวัดกำแพงแลง - เพชรบุรี01, 02
First revision: Dec.17, 2019
Last change:Feb.15, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

วัดกำแพงแลง ศาสนสถานแบบกัมพูชาโบราณบายนยุคพระเจ้าชัยวรมัน (บ้างก็เรียก ชัยวรมเทวะ) ที่ 7

       ราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 เกิดศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองขนาดใหญ่ที่เมืองพระนครในดินแดนกัมพูชา ความเชื่อทางศาสนาฮินดูและพุทธแบบมหายาน ได้ส่งอิทธิพลต่อรูปแบบศิลปะและสถาปัตยกรรมของบ้านเมืองต่าง ๆ รวมถึงในดินแดนประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะในภาคอีสานหรือเขมรสูงที่คั่นด้วยเทือกเขาพนมดงเร็กต่อกับเขมรต่ำซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพระนคร ดังปรากฏปราสาทหินแบบกัมพูชาโบราณจำนวนมาก แม้ในภาคกลางของประเทศไทยก็ยังมีการตีความไปว่า ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองของกัมพูชาโบราณสมัยพระเจ้าชัยวรมัน (บ้างก็เรียกชยวรมเทวะ) ที่ 7 ดังที่อ้างจารึกสมัยนี้กล่าวถึงการสร้างอโรคยศาลตามหัวเมืองต่าง ๆ และว่าบางแห่งอยู่ในภูมิภาคตะวันตก เช่น ที่สามชุก สระโกสินารายณ์ เมืองสิงห์ ราชบุรี และเพชรบุรี เป็นต้น

       แต่การวิเคราะห์ดังกล่าวไม่มีหลักฐานสนับสนุนทั้งในเรื่องรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของอโรคยศาลที่มีแบบแผนแน่นอนตายตัวตามปราสาทหินหรือศาสนสถานในพื้นที่นั้น นอกจากอิทธิพลทางศิลปกรรมความเชื่อการนับถือพุทธศาสนาแบบมหายาน และทั้งไม่มีข้อมูลหลักฐานอิทธิพลทางการเมืองที่น่าเชื่อว่าบ้านเมืองในแถบภาคกลางนี้ตกอยู่ในอำนาจทางการเมืองของกัมพูชาโบราณโดยเด็ดขาดจนถึงกับต้องต่อสู้เพื่อเอกราชดังที่เคยเข้าใจกันมา หากแต่มีความสัมพันธ์ด้วยการกินดองหรือแต่งงานเป็นเครือญาติร่วมกับกษัตริย์ผู้ปกครองจากบ้านเมืองที่มีความเข้มแข็งกว่าในช่วงเวลาสั้น ๆ ตามเวลาในการครองราชย์ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ในระดับเครือญาติและอิทธิพลทางศาสนาและสังคมวัฒนธรรม.

       อย่างไรก็ตาม การสร้างปราสาทแบบกัมพูชาโบราณที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเนื่องในศาสนาพุทธแบบมหายานทั้งที่ปราสาทเมืองสิงห์ และที่วัดกำแพงแลงน่าจะรับผ่านมาจากเมืองลพบุรี จึงเรียกช่วงเวลาในราวพุทธศตวรรษที่ 18-19.

       ปราสาทกำแพงแลงที่เพชรบุรีตั้งอยู่ห่างจากฝั่งแม่น้ำทางตะวันออกราว 1 กิโลเมตร ปราสาทก่อด้วยศิลาแลงและทำศิลาแลงล้อมรอบ และมีปูนปั้นประดับ แต่เดิมเป็นโบราณสถานร้างเมื่อสร้างวัดรุ่นใหม่จึงได้ชื่อว่ามาว่า วัดเทพปราสาทศิลาแลง.

       ผังของปราสาทวัดกำแพงแลงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในกำแพงมีปราสาท 4 องค์ ปราสาท 3 องค์ทางด้านหน้าเรียงกันในแนวเหนือและใต้ โดยปราสาทประธานมีขนาดสูงใหญ่กว่าอีก 2 องค์ ส่วนปราสาทองค์ที่ 4 ตั้งอยู่ด้านหลังของปราสาทประธานทางทิศตะวันออก และมีซุ้มประตูทางเข้าหรือโคปุระ 1 หลัง ยอดเป็นปราสาท และมีบันทึกว่าเคยมีสระน้ำกรุขอบอยู่ชิดขอบกำแพงทางทิศตะวันออก ศิลปสถาปัตยกรรมเนื่องในศาสนาพุทธแบบมหายานที่วัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี ได้รับอิทธิพลจากการสร้างปราสาทพระขรรค์และมีรูปแบบศิลปะทางพุทธศาสนาแบบมหายานในสมัยพระเจ้าชัยวรมัน (บ้างก็เรียก ชัยวรมเทวะ) ที่ 7 พบประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสี่กร พระวัชรสัตว์นาคปรก นางปรัชญาปารมิตา ซึ่งทั้งหมดอยู่ในสภาพชำรุดและอยู่ในการครอบครองของเอกชน.

       ซึ่งการเรียงตัวของปรางค์สามหลังคล้ายการวางผังที่พระปรางค์สามยอด ลพบุรี อยู่ในอิทธิพลของพุทธศาสนาแบบมหายานรูปแบบเดียวกันโดยประดิษฐานรูปเคารพหลักทั้งสามตามคติพระตรัยรัตนมหายานแบบวัชรยานในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมัน (บ้างก็เรียก ชัยวรมเทวะ) ที่ 7 แม้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมจะคล้ายคลึงกันในทุกสัดส่วน แต่ปราสาทที่วัดกำแพงแลงเรือนธาตุและมุขที่ยื่นออกมาเท่านั้น ไม่มีส่วนของมณฑปและมุขกระสันที่เชื่อมต่อห้องกลางปราสาทหรือเรือนธาตุตามแบบปราสาทกัมพูชาโบราณทั่วไป ซึ่งเป็นธรรมดาของการรับวัฒนธรรมจากแหล่งหนึ่งมาสู่บ้านเมืองที่ห่างไกลที่จะมีการปรับรับหรือดัดแปลงไปตามสถานการณ์หรือค่านิยมที่แตกต่างกัน.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. ปรับปรุงจาก. Facebook เพจ: สยามเทศะ โดยมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, วันที่เข้าถึง 17 ธันวาคม 2562.



PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01-02 : วัดกำแพงแลง อ.เมือง จ.เพชรบุรี ถ่ายเมื่อ 23 มกราคม พ.ศ.2491, ที่มา: Facebook เพจ "สำรวจปราสาทอารยธรรม "เขมรโบราณ"", วันที่เข้าถึง 8 กรกฎาคม 2564.

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com