MENU
TH EN

66. วัดจุฬามณี - พิษณุโลก

66. วัดจุฬามณี - พิษณุโลก01, 02.
First revision: Aug.04, 2021
Last change: Aug.04, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย 
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       วัดจุฬามณี ตั้งอยู่ที่ 50/3 หมู่ 2 ริมน้ำ ต.ท่าทอง อ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก 65000

       ก่อนที่จะมีการค้นพบศิลาจารึกวัดจุฬามณี เมื่อพุทธศักราช 2451 นั้น ไม่มีผู้ใดทราบว่าวัดจุฬามณีนั้นอยู่ที่ใด มีเอกสารที่กล่าวถึงชื่อวัดจุฬามณีเท่านั้น ในพงศาวดารเหนือ เรื่องพระเจ้าอู่ทอง ตอนเจ้าพัตตาสุจราช ครองราชย์สมบัติอยู่ที่เมืองศรีสัชนาลัย ทรงชราภาพมากแล้ว มีพระราชกุมารสองพระองค์ คือ เจ้าธรรมไตรโลก และอีกพระองค์หนึ่งชื่อบรมไตรโลก เมื่อสมเด็จพระเจ้าพัตตาสุจราชถึงทิวงคต เจ้าธรรมไตรโลกจึงราชาภิเษกขึ้นเป็นพระยาแทนบิดา ส่วนอีกพระองค์ใคร่จะออกผนวช จึงออกจากเมืองศรีสัชนาลัยมาถึงเมืองโอฆบุรี ซึ่งเป็นเมืองของพระญาติ ฝ่ายพระญาติพากันห้ามไม่ให้ทรงออกผนวช แต่พระองค์ไม่ฟัง ทรงผนวชที่เมืองโอฆบุรีนี้ สมเด็จพระเจ้าโกรพราช และบรรดาเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย จึงได้สร้างอารามถวายแก่พระองค์ และให้สร้างพระเจดีย์บรรจุพระเกศไว้ ให้ชื่อว่าวัดจุฬามณี.

       ตามข้อความในพงศาวดารเหนือ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีรับสั่งให้พระวิเชียรปรีชา (น้อย) เรียบเรียงขึ้น เมื่อพุทธศักราช 2350 และได้มีการตีพิมพ์ครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2412 ดังนี้

       “...เจ้าพัตตาสุจราช ผู้เป็นพระยาวรราช เสวยสมบัติในเมืองสัชนาไลยมีพระราชกุมารสองพระองค์ ๆ หนึ่งชื่อเจ้าธรรมไตรโลก พระองค์หนึ่งบรมไตรโลก และสมเด็จพระเจ้าพัตตาสุจราช ทรงชราภาพนักหนาแล้ว พระชนมายุได้ 160 ปีก็ถึงทิวงคต ณ วันศุกร์ เดือนสิบสอง ขึ้นห้าค่ำ ปีฉลู ครั้นทำสการศพพระบิดาแล้ว อำมาตย์เสนาทั้งหลายจึงราชาภิเษกเจ้าธรรมไตรโลก เป็นพระยาแทนบิดาเป็นช้านาน พระองค์เจ้ามาในพระทัยว่า ท่านผู้ใดให้ทานเป็นอันพอใจแลรักษาศีลเป็นอันมาก แลพระองค์จะใคร่ออกทรงบรรพชาให้ได้พระองค์จึงออกไปจากเมืองสัชนาไลยได้ 2 ราตรี ถึงเมืองโอฆบุรีเป็นเมืองแห่งพระญาติ และพระยาญาติห้ามมิฟัง จึงออก ๆ ไปกับพระยาทั้งหลายแห่ห้อมล้อมไปยังท้ายเมือง ตัดพระเกศาโกนเกล้า จึงพระยาญาติทั้งหลายก็เอาพระเกศาใส่ผอบทองบรรจุไว้ แลพระองค์เจ้าก็อุปสมบทพระอุบาฬีเถรเป็นพระอุปัชฌาย์ พระคิริมานนท์เป็นกรรมวาจา พระสุเมธังกรเป็นอนุสาวนะ ชุมนุมพระสงฆ์ 220 องค์ ทรงผนวช ณ วันพฤหัสบดี เดือนหก ขึ้นค่ำหนึ่ง เพลาเช้า ก็งามนักหนา ประดุจดังภิกษุอันได้ 60 พรรษา สมเด็จพระโกรพราช ยังอำมาตย์เสนาชวนกันสร้างอารามถวายแก่พระองค์..
       ...ครั้นพระเจ้าโกรพราชสร้างอารามถวายแล้ว พระองค์เจ้าตั้งเมตตาปฏิบัติกรรมฐาน แลพระสงฆ์ทั้งหลายให้ชื่ออริยสงฆ์แต่นั้นมา และพระเจ้าโกรพราชจึงให้สร้างพระเจดีย์บรรจุพระเกศไว้ จึงให้ชื่อว่าวัดจุฬามณีแต่นั้นมาถึงบัดนี้แล..


       จากข้อความในพงศาวดารเหนือ มีข้อปัญหาที่ต้องสืบค้นต่อไปอีกว่าเมืองโอฆบุรี คือ เมืองใด ในปัจจุบันเราทราบแล้วว่าวัดจุฬามณี ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองพิษณุโลก จึงมีความเป็นได้ว่า เมืองโอฆบุรี เป็นชื่อเมืองหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองพิษณุโลกบริเวณวัดจุฬามณี หรือเป็นอีกชื่อหนึ่งของเมืองพิษณุโลกได้เช่นกัน ซึ่งจะได้ค้นหากันต่อไป01.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. Facebook, เพจ "สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย," วันที่เข้าถึง: 04 สิงหาคม 2564.
       เอกสารอ้างอิง
       - วิเชียรปรีชา (น้อย), พระ. (2501). พระราชพงศาวดารเหนือ. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยเขษม. [ม.ร.ว.เจตจันทร์ ประวิตร ม.ร.ว.สุชาติจันทร์ ประวิตร ม.ร.ว.ธวัชจันทร์ ประวิตร อุภาศรี กฤษณามระ นะเพ็งพาแสง กฤษณามระ และ ม.ร.ว.เหมือนจิต ประวิตร พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาเสวกเอก เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (ม.ร.ว.มูล ดารากร) ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2501]
        เรื่อง: สรธัช โรจนารัตน์
02. จาก. เว็บไซต์ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.พิษณุโลก phitsanulok.mots.go.th, วันที่เข้าถึง: 04 สิงหาคม 2564.
info@huexonline.com