Title Thumbnail: ภาพจากเอกสารเดิมภาษาฝรั่งเศส ไม่ทราบชื่อหนังสือ, ที่มา: Facebook จากผู้ใช้ชื่อ Lotus Kpp, วันที่เข้าถึง 2 เมษายน 2563, และ Hero Image: วัดช้างรอบ, ถ่ายไว้เมื่อ 31 ตุลาคม 2564.
93. วัดช้างรอบ - กำแพงเพชร01.
First revision: Nov.22, 2019
Last change: Nov.06, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
วัดช้างรอบ เป็นวัดขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ ในเขตอรัญญิก นอกกำแพงเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองกำแพงเพชร ไม่ปรากฎหลักฐานประวัติการก่อสร้าง.
ขอบเขตของวัดค่อนข้างกว้างขวางโดยมีแนวกำแพงก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยม ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงสองด้าน คือทิศตะวันออกกับทิศใต้ ภายในกำแพงวัดมีโบราณสถานประกอบด้วย พระวิหารซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นวิหารขนาดเจ็ดห้อง ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 17 เมตร ยาว 34 เมตร ฐานวิหารสูง 1.50 เมตร มีมุขยื่นออกทางด้านหน้า ด้านหน้าของวิหารมีสระน้ำขนาดใหญ่ มีเจดีย์ช้างล้อมขนาดใหญ่เป็นประธาน ตั้งต่อเนื่องกับพระวิหารมาด้านหลัง ทางด้านทิศใต้ของเจดีย์ประธานมีเจดีย์รายตั้งเรียงรายอยู่ 10 องค์ ถัดไปเป็นฐานอาคารซึ่งเข้าใจว่าเป็นวิหารหลังเล็ก พระอุโบสถตั้งอยู่ด้านหน้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัด เป็นพระอุโบสถขนาดเล็ก กว้าง 8 เมตร ยาว 13 เมตร มีใบเสมาโกลนเกลี้ยง ไม่มีลวดลายปักอยู่โดยรอบ.
ด้านหน้าวิหารกล่าวกันว่าเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งสันนิษฐานว่าได้นำดินซึ่งเป็นศิลาแลงในสระนี้ นำไปก่อสร้างวัดช้างรอบด้วย, ถ่ายไว้เมื่อ 31 ตุลาคม 2564.
โบราณสถานสำคัญและน่าสนใจที่สุดในวัดช้างรอบคือ เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์แบบช้างล้อมขนาดใหญ่ มีสภาพชำรุดยอดหักหายไป องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดกว้างด้านละ 32 เมตร สูง 7 เมตร มีบันไดทางขึ้นกึ่งกลางฐานทั้งสี่ด้าน แบบแผนของเจดีย์วัดช้างรอบแห่งนี้ประกอบด้วย ฐานล่างสุดเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกันสามชั้น รองรับฐานปัทม์สี่เหลี่ยมลูกแก้วอกไก่สองเส้น เหนือขึ้นไปเป็นชั้นฐานปัทม์สี่เหลี่ยมที่มีประติมากรรมปูนปั้นรูปช้างทรงเครื่องยืนสองขาหน้าและโผล่หัวออกมาจากผนังครึ่งตัวประดับอยู่โดยรอบฐาน ด้านละ 16 เชือก และที่มุมอีก 4 เชือก รวมจำนวนทั้งสิ้น 68 เชือก ช้างปูนปั้นทุกเชือกมีลักษณะเป็นช้างทรงเครื่อง ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นที่แผงคอ ต้นขา ข้อเท้า และงวง.
ส่วนพื้นที่ผนังด้านหลังระหว่างช้างแต่ละเชือกมีลวดลายปูนปั้นคล้ายต้นโพธิ์ ลักษณะใบยาวประดับอยู่ บนต้นไม้มีสัตว์คล้ายกระรอกกำลังกระโดดบางต้นมีนกเกาะ บางต้นมีผลไม้ติดอยู่ด้วย แต่บางต้นมีแค่กิ่งและใบเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีภาพเทวดา นางฟ้า และยักษ์อยู่ด้วย เนื่องจากได้พบชิ้นส่วนประติมากรรมเหล่านี้จำนวนมากในระหว่างการขุดแต่งและบูรณะโดยกรมศิลปากร ปัจจุบันลวดลายปูนปั้นเหล่านี้ได้ลบเลือนไปมากแล้ว.
ช้างปูนปั้นทรงเครื่อง ประดับฐานเจดีย์วัดช้างรอบ (สังเกตระหว่างช้างแต่ละเชือกมีลายพฤกษาปูนปั้นอยู่ด้วย), ถ่ายไว้เมื่อ 31 ตุลาคม 2564.
เหนือจากฐานช้างล้อมขึ้นไปเป็นลานประทักษิณ บริเวณกึ่งกลางของฐานประทักษิณทั้งสี่ด้านเป็นบันไดทางขึ้นไปสู่ลานประทักษิณ ที่เชิงบันไดแต่ละด้านมีรูปสิงห์และทวารบาลปูนปั้นตั้งอยู่ทั้งสองข้าง ปัจจุบันรูปสิงห์เหล่านี้ไม่มีแล้ว คงเหลือจัดแสดงส่วนหนึ่งไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร ลักษณะของสิงห์จะคล้ายคลึงกับสิงห์ปูนปั้นประดับฐานเจดีย์ที่กรุงศรีอยุธยา เช่นที่เจดีย์วัดธรรมิกราช ด้านบนสุดของบันไดมีซุ้มประตูอยู่ทั้งสี่ด้าน ลักษณะของซุ้มเป็นแบบจั่วสามเหลี่ยม ด้านหน้าของซุ้มมีรูปสิงห์ปูนปั้นตั้งอยู่ทั้งสองข้าง แต่ปัจจุบันซุ้มประตูและสิงห์ปูนปั้นเหล่านี้พังทลายสูญหายหมดแล้ว.
สิงห์ ปูนปั้น (ปัจจุบันเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานกำแพงเพชร) ส่วนใบหน้าและลำตัวเป็นของเดิม ศิลปะอยุธยา พศว.ที่ 21-22 ได้จากวัดช้างรอบ, ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564.
องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนลานประทักษิณมีสภาพชำรุด เหลืออยู่เฉพาะส่วนฐาน ไม่มีองค์ระฆังและส่วนยอด ส่วนที่เหลืออยู่ประกอบด้วยฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม รองรับฐานปัทฒ์แปดเหลี่ยม ทางด้านทิศตะวันออกมีบันไดจากลานประทักษิณขึ้นไปสู่ฐานกลมด้านบน ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานกลมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปสามชั้น ที่ฐานหน้ากระดานกลมชั้นล่างสุดประดับด้วยหงส์ดินเผาอยู่โดยรอบ และหน้ากระดานกลมชั้นถัดขึ้นไปทำเป็นช่องสี่เหลี่ยมเรียงรายรอบฐาน มีอยู่ทั้งหมด 44 ช่อง แต่ละช่องประดับลวดลายปูนปั้นเป็นภาพพุทธประวัติ แต่ภาพเหล่านี้ชำรุดไปเกือบหมดแล้ว เหนือขึ้นไปจากชั้นหน้ากระดานเป็นส่วนที่พังทลาย แต่ร่องรอยที่เหลืออยู่บางด้านแสดงให้เห็นว่ามีลักษณะเป็นฐานปัทม์กลมซ้อนกันขึ้นไปสองชั้น จึงสันนิษฐานว่าส่วนเหนือขึ้นไปน่าจะเป็นชั้นมาลัยเถาที่เป็นแบบบัวถลาสามชั้น รองรับองค์ระฆังกลม และบังลังก์เป็นฐานปัทม์สี่เหลี่ยม มีก้านฉัตร ปล้องไฉน และปลียอด.
รูปแบบของเจดีย์ประธานที่ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณดังที่กล่าวมาแล้วมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมฐานสูง เนื่องจากมีการเสริมฐานปัทม์ขึ้นถึงสองชั้นเพื่อรองรับมาลัยเถาใต้องค์ระฆัง ดังนั้นพระเจดีย์จึงมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมแบบทรงสูงเหมือนกับเจดีย์ทรงกลมในเมืองกำแพงเพชรหลายแห่ง เช่น เจดีย์ประธานวัดพระธาตุ เจดีย์ทรงกลมหลายองค์ในวัดพระแก้ว เป็นต้น ซึ่งเจดีย์ทรงกลมแบบทรงสูงนี้เป็นลักษณะของเจดีย์แบบหนึ่งในศิลปะสุโขทัย และเป็นศิลปะแบบผสมระหว่างสุโขทัยกับอยุธยาที่มีพัฒนาการเกิดขึ้นในราวครึ่งหลังของ พศว.ที่ 20 เป็นต้นมา.
อย่างไรก็ตามเจดีย์วัดช้างรอบแห่งนี้เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นอย่างใหญ่โตตามแบบแผนของวัดในศิลปะอยุธยา ขณะเดียวกันร่องรอยของประติมากรรมรูปสิงห์และทวารบาลประดับบริเวณบันไดทางข้นไปสู่ลานประทักษิณก็มีลักษณะเป็นแบบแผนที่นิยมอยู่ในศิลปะอยุธยา และบรรดาโบราณศิลปวัตถุที่ได้จากการขุดแต่งโบราณสถานแห่งนี้ เช่น ชิ้นส่วนดินเผารูปนางรำ ยักษ์ หงส์ หน้าเทวดา และมนุษย์ ก็มีรูปแบบทางศิลปะอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้นหรือสุโขทัยตอนปลาย ดังนั้นเจดีย์วัดช้างรอบแห่งนี้จึงน่าจะมีอายุการก่อสร้างอยู่ในราวครึ่งแรกของพศว.ที่ 21 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยาและมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด.
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. ประวัติศาสตร์และศิลปะสุโขทัย, หน้าที่ 148-152, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล, สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ISBN 978-616-465-018-3, พิมพ์ครั้งแรก, กันยายน 2562.