Title Thumbnail & Hero Image: วัดพระแก้ว กำแพงเพชร, ถ่ายไว้เมื่อ 30 ตุลาคม 2564.
87. วัดพระแก้ว - กำแพงเพชร
First revision: Nov.21, 2019
Last change: Nov.06, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา
วัดพระแก้ว กำแพงเพชร01. เป็นวัดหลัก เป็นวัดที่มีความสำคัญ สังเกตได้ว่าตั้งติดกับบริเวณที่เป็นวัง ทำนองเดียวกันกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ที่กรุงเก่าอยุธยา วัดพระแก้วนี้ ตั้งอยู่กลางเมืองกำแพงเพชรในเขตกำแพงเมืองเป็นวัดขนาดใหญ่ที่มีสิ่งก่อสร้างเรียงเป็นแนวยาวในแกนทิศตะวันออก – ตะวันตก โดยสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ นั้นคงมีการสร้างเพิ่มเติมต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ ในหลายสมัย ด้านหน้าสุดทางทิศตะวันออกของวัดเป็นวิหารขนาดใหญ่ที่มีการยกพื้นสูงมาก ที่ฐานชุกชียังเหลือร่องรอยของโกลนพระพุทธรูปศิลาแลง ด้านหลังวิหารเป็นอาคารที่มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกันสันนิษฐานว่าเป็นมณฑป ถัดจากนั้นเป็นฐานย่อมุม 3 ชั้น ด้านบนพังทลายหมดแล้วซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพระปรางค์ซึ่งฐานนี้เชื่อกันว่าเป็นฐานบุษบกที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกต ถัดมาในส่วนตรงกลางของวัดเป็นเจดีย์ประธานทรงระฆัง (กลมแบบลังกา) ที่ฐานทำเป็นซุ้มคูหาโดยรอบมีประติมากรรมพระพุทธรูปและรูปสิงห์อยู่ในซุ้มแต่ชำรุดหมด ถัดมาเป็นวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 3 องค์ เป็นพระพุทธรูปไสยาสน์ 1 องค์และพระพุทธรูปมารวิชัย 2 องค์ซึ่งพระพักตร์ของพระพุทธรูปเป็นพระพักตร์เหลี่ยมซึ่งเป็นอิทธิพลจากศิลปะอยุธยาตอนต้น ด้านหลังสุดของวัดเป็นกลุ่มเจดีย์ที่มีเจดีย์ประธานทรงระฆังที่มีฐานช้างล้อมรอบ เรียกกันว่า เจดีย์ช้างเผือก จากการขุดแต่งวัดพระแก้วพบฐานเจดีย์แบบต่าง ๆ กัน รวม 35 ฐาน วิหาร 10 วิหาร ฐานโบสถ์ 1 แห่ง แสดงถึงความเป็นวัดใหญ่และมีความสำคัญมากจากรูปแบบศิลปะและหลักฐานที่พบ สันนิษฐานว่าวัดพระแก้วมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 – 22 ในสมัยอยุธยาที่มีศิลปะสุโขทัยและอยุธยาผสมอยู่.
ปัจจุบันงานนบพระเล่นเพลง และงานวันสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพงเพชร ก็จัดให้มีขึ้นในบริเวณวัดพระแก้วแห่งนี้02.
รูปแบบสันนิษฐานของวัดพระแก้ว, ถ่ายไว้ ณ วัดพระแก้ว กำแพงเพชร เมื่อ 30 ตุลาคม 2564.
วัดพระแก้วนี้มีลักษณะผสมระหว่างศิลปะสุโขทัยกับอยุธยา03 เข้าใจกันว่าวัดนี้ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาเช่นเดียวกับวัดมหาธาตุ สุโขทัย เพราะมีเพียงเขตพุทธาวาส ประวัติของวัดแห่งนี้ไม่ปรากฎหลักฐานการก่อสร้างและชื่อเดิมของวัด แต่เชื่อกันว่า วัดนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระพุทธสิหิงค์ ดังนั้นจึงเรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดพระแก้ว.
มีเรื่องราวของวัดพระแก้วปรากฎอยู่ใน เที่ยวเมืองพระร่วง พระราชนิพนธ์ใน ร.6 ว่า: "ที่ข้างวังตวันตก มีวัดใหญ่อยู่วัดหนึ่ง...วัดริมวังนั้น เดิมข้าพเจ้าเดาว่าน่าจะเปนวัดพระแก้ว คือวัดที่ได้ประดิษฐานพระมณีรัตนปฏิมากร เมื่อได้ไปอยู่ ณ เมืองกำแพงเพ็ชร์ตามที่กล่าวไว้ในตำนานพระแก้วมรกฎนั้น แต่ก็ไม่มีหลักฐานอย่างไร ต่อมาเมื่อได้ทราบกระแสพระราชดำริห์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องเมืองเก่า จึงได้กลับความคิด เห็นว่าพระแก้วมรกฎคงจะได้มาประดิษฐานไว้ที่ในวัดใดวัดหนึ่งในเมืองนครปุ คือเมื่อพระแก้วมรกฎมาอยู่กำแพงเพ็ชร์นั้น เมืองกำแพงเพ็ชร์ใหม่ยังไม่ได้สร้างขึ้น ครั้นได้ตรวจหนังสือในหลักสิลาจาฤกว่าด้วยสุโขทัยมีปรากฎอยู่ว่า เมื่อพระมหาสามีสังฆราชไปจากลังกาขึ้นไปที่ศุโขทัยนั้น ได้ขึ้นบกที่เมืองเชียงทอง ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ห่างลำน้ำแควน้อย จึ่งได้ไปขึ้นถึงที่เชียงทอง ซึ่งเข้าใจอยู่ว่าอยู่เหนือกำแพงเพ็ชร์ขึ้นไป".
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. เว็บไซต์อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร, qrcode.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง 10 มิถุนายน 2564
02. จาก. th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 10 มิถุนายน 2564.
03. จาก. ประวัติศาสตร์และศิลปะสุโขทัย, หน้าที่ 143 - 146, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล, สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ISBN 978-616-465-018-3, พิมพ์ครั้งแรก, กันยายน 2562.
PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01: เสมาจำหลักพบที่วัดพระแก้ว ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร, ที่มา: Facebook เพจ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร," วันที่เข้าถึง 1 ตุลาคม 2564.